Home>>รีวิว>>ครั้งแรกของผม กับโน้ตบุ๊กยี่ห้อ LG คือ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 จอ 16 นิ้ว รุ่นปี 2023 หนักแค่ 1.18kg ราคา 65,300 บาท แต่กดมาได้ 54,418 บาท
โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 เปิดใช้งานโปรแกรม Affinity Photo เพื่อตกแต่งภาพ
รีวิว

ครั้งแรกของผม กับโน้ตบุ๊กยี่ห้อ LG คือ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 จอ 16 นิ้ว รุ่นปี 2023 หนักแค่ 1.18kg ราคา 65,300 บาท แต่กดมาได้ 54,418 บาท

ผมเล็งโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ตัวนี้มาพักใหญ่ๆ แล้วแหละ เพราะอยากเปลี่ยนโน้ตบุ๊กใหม่เป็นจอใหญ่ และน้ำหนักเบาบ้าง เพราะสุดท้ายแล้ว โน้ตบุ๊กจอครึ่งอย่าง ASUS ZenBook Duo 14 UX482 ที่ผมใช้อยู่ แม้ว่ามันจะสะดวกดี เวลาที่พกไปใช้เครื่องเดียว เพราะจอ ScreenPad+ มันช่วยเรื่องการทำงานแบบ Multitasking ได้ค่อนข้างดี แต่หลังๆ เวลาผมออกไปทำงานนอกสถานที่ ผมจะเลือกพกจอพกพา (Portable display) ไปเลยดีกว่า เพราะผมมีจอ UPERFECT ทั้งตัว 15.6 นิ้ว QLED และตัว 17 นิ้วที่ผมซื้อมาใช้ที่บ้าน นี่ยังไม่นับจอ Lenovo L15 ที่ผมซื้อเอาไปใช้ที่ออฟฟิศอีกนะ ยังไงซะ 2 จอมันก็ดีกว่าจอครึ่งแน่นอน

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ตัวที่รีวิวตัวนี้ ผมซื้อมาใช้เองครับ ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือความเอื้อเฟื้อจากใคร กดมาช่วง 7.7 ของ Lazada นี่แหละ แต่ก็ดันไปพีคตรงเรื่อง Dynamic pricing ของ Lazada เขาอีก ใครอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง อ่านบล็อก ซื้อของวันเลขเบิ้ล ไม่ได้ถูกสุดเสมอไปแหละ ขอยืนยัน ของผมได้ครับ

ทำไมผมถึงเลือกซื้อ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6?

เอาจริงๆ ผมเล็ง ASUS ZenBook Pro Duo 14 OLED (UX8402VV) ที่ทาง ASUS เขาให้ผมยืมมารีวิวก่อนหน้านี้ครับ เพราะสเปกถูกใจมาก การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX4060 แรม 32GB คือ ทุกอย่างดีหมด ราคา 89,990 บาท ถ้าคิดว่าจะใช้ทำงานหลายปีก็สู้ได้อยู่ และถ้าใช้ตัวนี้ก็กะว่าจะขาย Intel NUC Phantom Canyon กับ ASUS ZenBook Duo 14 (UX482) ซะเลย ให้เหลือคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว แต่พอได้ลองใช้จริง แม้ว่าประสิทธิภาพจะผ่าน แต่มันไม่เหมาะกับรูปแบบการใช้งานของผมแฮะ อย่างแรกเลยคือ อะแดปเตอร์หนักมาก และเพราะสเปกมันแรง มันก็เลยกินพลังงานสูง จะไปใช้อะแดปเตอร์ GaN USB-C 100 วัตต์ ก็ยังได้แค่ Slow charging เท่านั้น การใช้งานแบบหยิบไปเสียบใช้ชั้นล่างกับชั้นสาม มันไม่สะดวกอย่างที่คิด (เว้นแต่ผมจะทุ่มทุน ซื้ออะแดปเตอร์มาอีกตัว) นอกจากนี้คือ ไม่สะดวกตอนพกพามากๆ เพราะน้ำหนักตัวเครื่องบวกอะแดปเตอร์คือ แบกหลังแอ่นครับ

สุดท้ายก็เลยลองคิดว่า เราก็ไม่ได้ต้องการสเปกแรงเวอร์ขนาดนั้นแหละ เราทำงานที่ต้องตกแต่งภาพบ้าง ตัดต่อวิดีโอบ้าง แต่ตอนใช้ ASUS ZenBook Pro Duo 14 (UX482) ก็ยังพอถูไถอยู่ และเครื่องหลัก Intel NUC Phantom Canyon ก็ยังตอบโจทย์อยู่ ฉะนั้น โน้ตบุ๊กตัวใหม่ เอาแค่ CPU ดีขึ้นมาอีกหน่อย และขอแรม 32GB ดีกว่า (หลังๆ พบว่า ใช้งานทีไร เครื่องช้าเพราะแรมโดนใช้เกือบ 100% ทุกที) ดูมาหลายตัวแล้ว ก็มีตัวเลือกคือ ASUS ExpertBook B9 (B9400CBA-KC0302X) กับ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 นี่แหละ

ปัจจัยเปรียบเทียบASUS ExpertBook B9LG Gram 16
สเปกIntel Core i7-1265U
Intel Iris Xe Graphics
แรม 32GB
SSD NVMe M.2 1TB PCIe 4.0
14″ Full HD 16:9
Intel Core i7-1360P
Intel Iris Xe Graphics
แรม 32GB
SSD NVMe M.2 1TB PCIe 4.0
16″ 2.5K 16:10
น้ำหนัก1kg1.18kg
ลูกเล่นอื่นๆASUS NumPad 2.0จอขอบเขตสี 99% DCI-P3
ราคา71,199 บาท65,300 บาท

เมื่อพิจารณาจากพวกปัจจัยหลักๆ รวมถึงราคาแล้ว ผมก็ตัดสินใจว่า LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 นี่แหละ น่าจะตรงใจที่สุด เพราะ CPU ก็รุ่นใหม่กว่า แรงกว่านิดหน่อย จอใหญ่กว่า ขอบเขตสีก็ดีงาม 99% DCI-P3 แถมราคาก็ถูกกว่าเกือบหกพันบาท

หน้าจอสรุปการซื้อโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ในราคา 54,418 บาท

แต่เอาจริงๆ ผมสอยตัวนี้มาได้ในราคาหลังหักส่วนลดต่างๆ แล้ว ที่ 54,418 บาทนะครับ เรียกว่าถูกกว่าราคาปกติกว่า 11,000 บาท แน่ะ แอบดีใจ (ถ้าไม่ใช่เพราะไปได้ยินจากคนที่ไปงาน Commart มาว่า โปรในงานคือ ราคาพอๆ กับที่ผมซื้อ แต่แถมจอ LG UltraGear ด้วย ก็คงจะดีใจกว่านี้ และผมอาจจะเปลี่ยนใจจ่ายแพงอีกนิด ซื้อรุ่นจอ 17 นิ้วด้วย เพราะเขาแถมจอ LG DualUp!!!🤣🤣)

แกะกล่อง LG Gram 16Z90R-G.AF78A6

หลังๆ โน้ตบุ๊กแบรนด์ที่ยังส่งมาให้ผมรีวิวจะเป็นแบรนด์ ASUS ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสไตล์ของ ASUS คือ กล่องใส่โน้ตบุ๊กของเขาก็จะมีความดูดีมีระดับประมาณนึง อยู่ที่รุ่นที่เราซื้อด้วยอะนะ ซึ่งพอเป็น LG Gram 16 ราคาเกินครึ่งแสนแบบนี้ผมก็คาดหวังว่ากล่องมันก็น่าจะต้องดูดีพอสมควร แต่ผมคิดผิดครับ คือ เขาออกแบบกล่องโน้ตบุ๊กมาตามเทรนด์รักษ์โลกในยุคนี้ เราจึงได้เห็นกล่องกระดาษสีน้ำตาล มีสกรีนตัวอักษร gram เอาไว้เรียบๆ แค่นั้น แล้วเขาก็มีแถมซองหนังสำหรับใส่ตัวโน้ตบุ๊ก เป็นซองหนังเย็น สีครีมตัดกับสีน้ำตาล และมี Microsoft 365 Personal แพ็กเกจ 12 เดือน มาให้อีกกล่องนึง มีแค่นี้จริงๆ

กล่องโน้ตบุ๊กและซองหนังใส่โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 พร้อมมีกล่อง Microsoft 365 Personal วางอยู่

โน้ตบุ๊กหลายตัวที่ผมใช้ตอนหลังๆ คือ จะไปซื้อตามงาน Commart บ้างล่ะ ร้านไอทีในห้างบ้างล่ะ พวกนี้เขามักจะแถมแพ็กเกจเริ่มต้นที่เป็นมาตรฐานมาให้ เช่น ผ้าไมโครไฟเบอร์ น้ำยาเช็ดจอ เมาส์ แผ่นรองเมาส์ อะไรพวกนี้ แต่ของ LG ที่ซื้อแบบออนไลน์มา คือ ไม่มีอะไรจริงๆ ครับ ก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ เพราะปกติก็ไม่ค่อยได้ใช้ของอะไรที่เขาแถมมาอยู่แล้ว หลายอย่างผมก็มีใช้ของผมอยู่แล้วด้วยอะนะ

โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 เมื่อพับหน้าจอปิดอยู่ ตรงกลางมีโลโก้เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า gram

มาดูรูปร่างหน้าตาของโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 กันก่อนครับ เป็นโน้ตบุ๊กที่ดูเรียบๆ จริงๆ ตรงฝาจอโน้ตบุ๊กมีแค่โลโก้ gram ติดเอาไว้ หน้าจอของโน้ตบุ๊กเป็นจอ IPS LCD แบบ Antiglare ลดแสงสะท้อนขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด 2,560×1,600 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผล 16:10 รีเฟรชเรต 60Hz ให้ความสว่างได้สูงสุด 350 nits

หน้าจอโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ในขณะกำลังล็อกอินเข้าระบบปฏิบัติการ Windows

ตัวจอแสดงผลมีขอบจอที่บางเองมากๆ ด้านบนของจอมีกล้องเว็บแคมความละเอียด Full HD พร้อม IR camera รองรับ Windows Hello และมีไมโครโฟนคู่สำหรับใช้บันทึกเสียงหรือสนทนาด้วย ข้อสังเกตคือ LG ไม่ได้ออกแบบให้มี Privacy shutter เอาไว้ปิดเลนส์กล้องเว็บแคมด้วย ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นอะไรหลังๆ เขามักจะใส่เข้ามา แต่ LG Gram นี่ไม่ใส่มาให้แฮะ

คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6

ตัวเครื่องส่วนที่เป็นคีย์บอร์ด ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กจอ 16 นิ้ว ก็เลยมีพื้นที่เยอะครับ เราเลยได้คีย์บอร์ดเกือบจะเต็มรูปแบบมาเลย พร้อมมี Numpad มาให้เรียบร้อย Touchpad ก็มีขนาดใหญ่มาก โดยรวมก็เรียกว่า ปุ่มต่างๆ เนี่ย ขนาดใหญ่กำลังดี น่าจะพิมพ์สะดวก แต่แอบมีสะดุดนิดๆ ตรง Numpad นี่แหละ เพราะนอกจากจะหายไปแถวนึง ทำให้ตำแหน่งของพวกปุ่ม บวก ลบ คูณ หาร เพี้ยนๆ แล้ว ปุ่ม Enter กับเลข 0 ก็มีขนาดเล็กกว่า Numpad ที่เราคุ้นเคย แอบรู้สึกว่าจะทำให้เรากดผิดได้ง่ายๆ

น่าสนใจตรงที่ เขาไม่ได้ติดสติกเกอร์อะไรให้รกมากมายเลย มีแค่สติกเกอร์มาตรฐาน Intel EVO ติดมาให้ดวงเดียวเท่านั้นเอง ที่เหลือคือ ดูเรียบง่ายไปหมด

มาดูที่รอบๆ ตัวเครื่องกันบ้าง ด้านซ้ายมีพอร์ต HDMI มาให้พอร์ตนึง เป็น HDMI เวอร์ชันไหนไม่บอกในสเปก แต่หาข้อมูลมา มันบอกว่า HDMI 2.0 ครับ นอกจากนี้ก็มี Thunderbolt 4/USB-C มาให้อีก 2 พอร์ต (USB-C เป็น USB 3.2 Gen 2) รองรับ Power delivery และ Display Port ด้วย และมีช่องเสียบออดิโอคอมโบแจ็ก 3.5 มิลลิเมตร ส่วนทางด้านขวา เราจะเห็นตัวล็อกแบบ Kensington กับพอร์ต USB-A อีกสองพอร์ต รองรับ USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ด้วย และมีสล็อตอ่าน MicroSD card มาให้

ด้านหลังของโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 บริเวณช่องระบายความร้อน

ด้านหลังของตัวเครื่อง บริเวณบานพับของจอโน้ตบุ๊กเป็นช่องระบายอากาศครับ ส่วนด้านใต้ตัวเครื่อง ก็มีช่องระบายอากาศสำหรับดูดอากาศเย็นเข้า มาแผ่นยางกันลื่นติดเอาไว้ และมีลำโพงเล็กๆ กำลังขับ 2 วัตต์ แบบสเตริโอ ติดอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา บริเวณค่อนไปทางด้านหน้าของตัวเครื่อง

ที่ประทับใจที่สุดกับตัว LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 นี่ ก็เห็นจะเป็นเรื่องน้ำหนักนี่แหละครับ 1.18 กิโลกรัม ในขณะที่ตัวโน้ตบุ๊กมีขนาด 16 นิ้ว คือ ใหญ่ แต่บางและเบามากๆ จริงๆ ครับ แต่ที่ทำให้ขัดใจที่สุด ก็คืออะแดปเตอร์ขนาด 65 วัตต์ ที่แถมมาด้วยนี่แหละ ไซส์ไม่เข้ากับดีไซน์บางเบาของตัวโน้ตบุ๊กเลย พกตัวอะแดปเตอร์ กับ สายไฟ AC อีกเส้นนึง เท่ากับแบกน้ำหนักเพิ่มอีก 375 กรัมครับ

ผมก็เลยต้องตัดใจ ซื้ออะแดปเตอร์ GaN แบบ 65 วัตต์ ที่มีขนาดเล็กกว่าเห็นๆ มาใช้แทนครับ พกร่วมกับสาย USB-C to USB-C ความยาว 2 เมตรอีกเส้น น้ำหนัก 175 กรัม เบาลงไป 2 ขีด!!! และประหยัดพื้นที่จัดเก็บไปอีกเยอะ แต่มันก็แลกมาด้วยความยาวของสายมันสั้นลงนะ อะแดปเตอร์ที่เขาแถมมาให้ สายยาวประมาณ 250 เซ็นติเมตรอะ แต่อะไรแบบนี้ผมว่ายอมรับได้ 🤣🤣

ดูที่สเปกของ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 กันก่อน

LG Gram รุ่นปี 2023 ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีด้วยกัน 4 รุ่นหลักๆ คือ Core i5-1340P และ Core i7-1360P กับแรม 16GB และแรม 32GB ครับ และมีให้เลือกแบบจอ 16 นิ้ว และจอ 17 นิ้ว ตัวที่ผมซื้อมาเนี่ยเป็นรุ่นจอ 16 นิ้ว ตัว Core i7-1360P แรม 32GB ครับ สเปกก็ตามตารางด้านล่างนี้เลย

สเปกรายละเอียด
CPUIntel® Core™ Processor i7-1360P
(12 Cores: 4P + 8E, P: 2.2 up to 5.0 GHz / E: 1.6 up to 3.7 GHz)
GraphicIntel Iris Xe Graphics
Display16″ 2,560×1,600 พิกเซล 60Hz 350 nits 99% DCI-P3
16:10 Aspect ratio Antiglare
RAM32GB LPDDR5 (Dual channel, 6,000MHz) on-bard
StorageNVMe SSD M.2 (2280) PCIe Gen 4 1TB
MicroSD card slot
ConnectivityIntel® Wireless-AX211 (802.11ax, 2×2, Dual Band)
Bluetooth 5.1
Ports2×Thunderbolt 4/USB 4 (USB 3.2 Gen 2)
2×USB-A (USB 3.2 Gen 2)
1×HDMI 2.0
3.5 mm Audio combo jack
Battery80Wh Li-ion

จุดเด่นของ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 (และรุ่นอื่นๆ ในซีรีส์นี้) คือ มันมีสล็อต M.2 มาให้ 2 สล็อตครับ เป็น PCIe 4.0 ทั้งคู่ ใครอยากจะอัปเกรดเพิ่มความจุ ก็สามารถเลือกจะเปลี่ยน SSD ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือจะเพิ่ม SSD เข้าไปอีกตัวก็ได้ แต่จะวุ่นวายตอนแกะฝาหลังออกหน่อยครับ เพราะเขาซ่อนน็อตเอาไว้ใต้แผ่นยางและแผ่นพลาสติกครับ คลิปวิดีโอด้านล่างจะแสดงให้ดูว่าแกะยังไง ของผมซื้อมาใหม่ๆ แถมตั้งครึ่งแสน ผมก็ไม่อยากจะแกะออกมาถ้าไม่จำเป็น แต่แรมนี่อัปเกรดไม่ได้ครับ แอบเสียดาย เพราะ LG Gram รุ่นก่อนหน้านี้ (น่าจะสองปีก่อน) มันยังเป็นสล็อตใส่แรม อัปเกรดได้อยู่เลย แต่ปัจจุบันมันเป็นโมดูลแรมบัดกรีติดบอร์ดไปเลย

ประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6

ดูจากสเปกของโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 แต่แรกก็รู้ได้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่รุ่นเน้นประสิทธิภาพมาก คือ CPU Intel รหัส P มันคือ Performance สำหรับรุ่นบางเบา มันแรงกว่ารหัส U แต่ Core i7-1360P มันก็ถือว่าแรงกว่า Core i5-1135G7 บน ASUS ZenBook Duo 14 UX482 ที่ผมใช้อยู่พอสมควรแหละ เพราะรุ่นก็ใหม่กว่า แถมเป็น Core i7 อีกตะหาก

ผลการวัดความเร็วของ SSD ในโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4

การวัดประสิทธิภาพ ก่อนอื่นก็ขอดูที่ความเร็วของ SSD ก่อนเลย ซึ่งเขาให้ SSD มาเป็นแบบ NVMe M.2 ความจุ 1TB และได้ความเร็วที่ไม่เสียทีที่ใช้ PCIe 4.0 แหละ คือ ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential อยู่ที่ 6,505MB/s และ 4,921.54MB/s ตามลำดับ แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential จะค่อนข้างสูง แต่ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Random จะไม่ได้สูงมากเท่าไหร่นัก อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า SSD ตัวนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับไฟล์ขนาดใหญ่ๆ มากกว่าขนาดยิบย่อยนะ

ถัดมา มาดูกันที่ประสิทธิภาพของ CPU กันบ้าง แน่นอน ผมก็คาดเดาเอาไว้แล้วว่า CPU Intel Core i7-1360P มันย่อมดีกว่า CPU Core i7-1165G7 ที่ออกมาก่อนหน้า 2 ปีแน่นอน นี่ยังไม่นับที่ว่าจำนวน Core และ Thread ก็เพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน คะแนนวัดกันแบบ Core ต่อ Core นี่อาจจะสูงกว่านิดหน่อย แต่พอคูณจำนวน Core และ Thread แล้ว คะแนนดีกว่ากันระดับเท่าตัวเลยทีเดียว เมื่อวัดด้วยโปรแกรม Cinebench R23

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ด้วยโปรแกรม PCMark 10

ปิดท้ายด้วยการทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมด้วยโปรแกรม PCMark 10 ครับ ผลคะแนนออกมาเห็นได้ว่า ส่วนของ Essentials ที่เป็นการใช้งานทั่วไป ไม่ว่าจะรันโปรแกรม ท่องเว็บ หรือประชุมออนไลน์ คะแนนค่อนข้างโอเค แต่ก็ยังถือว่าคะแนนด้อยกว่า ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ตัว Core i5-13500H ที่ผมเคยรีวิวไปนิดนึงนะ เพราะ CPU ประสิทธิภาพมันด้อยกว่า การเป็น Core i7 ไม่ได้หมายความว่าจะแรงกว่า Core i5 เสมอไปนะ มันต้องดูรหัสด้วยอะ

โดยรวมแล้ว ผลจากการวัดประสิทธิภาพที่ได้ ก็น่าจะสรุปได้ตามนี้ครับ

▶️ ประสิทธิภาพที่ได้คือไม่ค่อยสูงมากเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป อย่างที่เห็น ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ที่ค่าตัว 33,990 บาท (ถูกกว่ากันเกือบครึ่งนึง) ตอนผมรีวิวเมื่อต้นปี ยังประสิทธิภาพดีกว่าหน่อยนึงด้วยซ้ำ แต่นั่นคือสิ่งที่เราแลกมากับการที่แบกน้ำหนักน้อยลงไปครึ่งกิโลกรัม ในขณะที่ยังมีหน้าจอขนาดใหญ่ 16 นิ้วละนะ

▶️ ในแง่ของการตอบโจทย์การใช้งานของผม ก็ถือว่าโอเคแหละ เพราะถ้าเทียบกับประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กตัวเดิม เจ้านี่ก็ถือว่าประสิทธิภาพดีขึ้นมาประมาณนึง แต่ไม่ถึงกับดีกว่าเด่นชัดหรอกนะ แต่ก็ยังนับว่าเป็นการอัปเกรดเรื่องฮาร์ดแวร์ได้แหละ

ประสบการณ์ในการใช้งานโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6

มาพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานกันบ้างครับ ก่อนอื่นเลยคือการเปิดเครื่อง ดีไซน์มันออกแบบมาค่อนข้างดีทีเดียวนะ ตัวจอมีน้ำหนักไม่มากเมื่อเทียบกับตัวเครื่อง เวลาเราจะกางหน้าจอขึ้นมา เราใช้มือข้างเดียวก็จับหน้าจอกางขึ้นมาได้แล้วโดยที่ตัวเครื่องไม่มีกระดกขึ้นมาเลย

โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 เมื่อกางหน้าจอจนสุด

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ช่องระบายความร้อนของตัวเครื่องมันอยู่ตรงด้านหลัง ก็เลยทำให้ไม่สามารถออกแบบให้มันกางแบบ 180 องศาได้ สำหรับใครที่อยากได้โน้ตบุ๊กแบบนี้ก็อาจจะไม่ถูกใจเจ้านี่เท่าไหร่ มันกางได้ราวๆ 140 องศาเท่านั้นเอง

สำหรับเรื่องการพกพานั้น ตามสเปกเขาบอกว่าน้ำหนัก 1.18 กิโลกรัม ซึ่งไปชั่งน้ำหนักจริงๆ ได้ 1.207 กิโลกรัม ก็เรียกว่าใกล้เคียง น้ำหนักแบบนี้ กับโน้ตบุ๊กไซส์จอใหญ่ขนาดนี้ ถือว่าเบามากๆ ครับ ปกติพวกโน้ตบุ๊กหนัก 1 กิโลกรัมเนี่ย จะเจอกับหน้าจอ 14 นิ้วซะมากกว่า โน้ตบุ๊กที่เบาที่สุด (เบาเวอร์จริง) คือ Fujitsu UH-X ที่ผมซื้อให้ภรรยาใช้เมื่อต้นปีที่แล้ว หนักแค่ 750 กรัม

แต่อะแดปเตอร์นี่แหละ ตัวที่แถมมีแบบ 65 วัตต์ มันหนักตั้ง 375 กรัมแน่ะ สุดท้ายก็คือ ต้องซื้ออะแดปเตอร์ GaN มาแทน เพื่อให้น้ำหนักเบาลง ปัญหาคือเรื่องความยาวสายไฟ เพราะอะแดปเตอร์ที่แถมมามันได้สายยาวรวมๆ 250 เซ็นติเมตร ไอ้สาย USB-C ที่แถมมากับอะแดปเตอร์ส่วนใหญ่ จะยาวแค่ 100-120 เซ็นติเมตรเท่านั้น ก็ต้องไปซื้อสายแยกต่างหากมาอีก ผมเองก็หมดตังค์เพิ่มไปอีกราวๆ 1,000 บาทครับ (อะแดปเตอร์บวกสาย) ที่แพงหน่อยเพราะดันอยากได้อะแดปเตอร์สีฟ้าสวยๆ ของ Baseus ที่เคยซื้อให้ภรรยา และอยากได้สาย USB-C to USB-C ยาว 2 เมตรที่สีเข้ากันอะ 🤣🤣

โน

หน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊กในปัจจุบันมักจะแข่งกันที่ความละเอียดสูงครับ โดยความละเอียดระดับ Full HD 1920×1080 พิกเซล แทบจะเป็นมาตรฐานไปแล้ว แต่เอาจริงๆ ถ้าเราตั้งค่าหน้าจอที่ความละเอียดสูงๆ มันจะทำให้อะไรต่อมิอะไรมันเล็กไปหมด ทั้งไอคอน ทั้งตัวอักษร สุดท้ายเราก็ต้องไปตั้งค่าใน Display settings เพื่อปรับ Scale ไปที่ 150% เพื่อให้เราอ่านโน่นนี่ได้ง่ายขึ้น ผลที่ตามมาก็คือถ้าเป็นจอแสดงผลขนาดเล็กแบบ 14-15 นิ้ว มันจะมีพื้นที่การแสดงผลค่อนข้างจำกัด แต่ LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 นี่จอ 16 นิ้ว แต่เป็นอัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 ก็ทำให้แม้ผมจะ Scale ไปที่ 150% พื้นที่การแสดงผลก็ยังเรียกว่ามีเหลือเฟือดีอยู่

คีย์บอร์ดเนี่ย พิมพ์ถนัดมือดีมากครับ แต่เพราะเป็นโน้ตบุ๊กที่มี Numpad ตัวแรกหลังจากที่ใช้ ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T ที่ผมซื้อมาใช้เมื่อ 3 ปีก่อนครับ เลยทำให้ต้องสร้างความคุ้นเคยอยู่พักนึงแหละครับ แต่ไม่ได้รู้สึกติดขัดอะไรมาก นอกจากไอ้สิ่งที่เป็นไปตามคาด ก็คือ Numpad ที่มี Layout ของปุ่มตัวเลขแปลกๆ และพวกปุ่ม บวก ลบ คูณ หาร มันไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรจะเป็น มันไม่ใช่ Numpad ที่จะอำนวยความสะดวกคนที่ต้องคำนวณตัวเลขบ่อยๆ เท่าไหร่หรอก

โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ที่กำลังตัดต่อวิดีโอด้วยโปรแกรม DaVinci Resolve

ในแง่ของการใช้งานจริง ผมเอามาตกแต่งภาพ เอามาตัดต่อวิดีโอ ก็ถือว่าพอถูไถครับ คือ ถ้าเรามองที่หน่วยความจำ 32GB นี่คือเหลือเฟือสำหรับการใช้งานของผมครับ แต่ในแง่ของประสิทธิภาพเนี่ย คือต้องทำใจนะว่าการตัดต่อวิดีโอที่มีการใส่พวกเอฟเฟ็กต์ต่างๆ พวก Transition กับกราฟิกเข้าไปเนี่ย มันก็จะทำให้การ Playback กระตุกได้ เพราะ CPU มันไม่แรงพอที่จะประมวลผลแบบ Real-time ได้ทัน แต่ผมที่ใช้ DaVinci Resolve ก็แก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ Render cache ครับ

ถ้ามองว่ามันตอบโจทย์การใช้งานของผม ที่เน้นทำงานแบบ เช็กอีเมล ท่องเว็บ เข้าโลกโซเชียลมีเดีย แล้วก็มีต้องทำงานเอกสาร งานนำเสนอ ตกแต่งกราฟิก ตัดต่อวิดีโอบ้าง โดยได้จอแสดงผลใหญ่ 16 นิ้ว และน้ำหนักเบามาก เวลาต้องเดินทางไปไหนมาไหนก็พกสะดวก คือดีงามอยู่แหละ ถ้าจังหวะไหนต้องใช้งานหลายจอ ผมก็ยินดีแบกหนักขึ้น พกจอเสริมออกไป 1-2 จอ ตามที่จำเป็นได้

ซอฟต์แวร์ LG Smart Assistant

และในปัจจุบันนี้ บอกตรงๆ ว่าพวกโน้ตบุ๊กหลายยี่ห้อเขาแข่งกันด้วยเรื่องของซอฟต์แวร์ครับ ซึ่ง LG เขาก็มีซอฟต์แวร์ชื่อ LG Smart Assistant ที่ใช้ในการปรับตั้งค่าต่างๆ บนตัวโน้ตบุ๊ก ซึ่งการฟีเจอร์ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจก็มีดังนี้ครับ

🤗 Extend Battery Life ที่จะจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่ที่ 80% เพื่อถนอมแบตเตอรี่ แล้วในหัวข้อแบตเตอรี่ของแอปตัวนี้ ยังแสดงสุขภาพของแบตเตอรี่ให้อีกด้วย ทำให้เรารู้ได้ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่

🤗 InstantBooting เมื่อเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ เวลาเรากางหน้าจอออก จะเท่ากับการกดปุ่ม Power เพื่อเปิดเครื่องเลย

🤗 AI Noise Cancelling ที่ใช้ตัดเสียงรบกวนทั้งจากไมโครโฟนของเรา และเสียงที่จะออกจากลำโพงของเรา เพื่อให้ได้เสียงที่ชัดเจนขึ้น โดยโหมดตัดเสียงรบกวนของไมโครโฟน สามารถเลือกได้ทั้งแบบให้โฟกัสที่เสียงของเราที่อยู่ตรงหน้าจอ หรือ โฟกัสรอบตัวเครื่องเลย (ในกรณีที่เราประชุมผ่านโน้ตบุ๊กตัวนี้พร้อมๆ กับทุกคนในห้องประชุม)

นอกจากนี้ LG ก็ยังมีการซื้อสิทธิ์การใช้งานฟีเจอร์กล้อง AI ของ Mirametrix มาเป็นฟีเจอร์ชื่อ LG Glance

หน้าจอการเปิดใช้งานฟีเจอร์ของ LG Glance

ฟีเจอร์ของ LG Glance ที่ผมชอบที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องของการปิดหน้าจอเมื่อไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ ซึ่งสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ล็อกหน้าจอ ทำจอให้มืดลง หรือ เปิด Screensaver และจะเปิดเมื่อไม่ได้อยู่ที่หน้าจอเป็นเวลานานแค่ไหน เลือกได้ 5 ช่วง ตั้งแต่ 1/15/30/45/60 วินาที

หน้าจอการตั้งค่าฟีเจอร์ Presence Detection ของ LG Glance

วิดีโอด้านล่างจาก LG Thailand คือ คำอธิบายฟีเจอร์ Presence Detection ว่ามันทำงานยังไงครับ

และอีกสองฟีเจอร์ที่ผมชอบ คือ Snap Windows ที่เวลาเราใช้เมาส์คลิกไปที่ Title bar ของหน้าต่างโปรแกรมเพื่อเตรียมลากไปวางที่หน้าจออื่น แล้วถ้าเราเปิดใช้ฟีเจอร์นี้อยู่ แค่เรามองไปที่หน้าจอที่เราจะลากโปรแกรมไปวาง หน้าจอโปรแกรมมันก็จะเด้งไปโผล่ที่หน้าจอนั้นทันที กับ Smart Pointer ที่หากเรามองไปที่หน้าจอเสริมที่เชื่อมต่ออยู่ ตัวเคอร์เซอร์เมาส์ก็จะไปโผล่ที่หน้าจอนั้นเลย คือ มันเหมือนเล็กน้อย แต่ฟีเจอร์นี้มันสะดวกจริงๆ ครับ

ดูวิดีโอพากย์ไทยอธิบายฟีเจอร์ Smart Pointer กับ Snap Window ได้ที่คลิปด้านบนจาก LG Thailand ครับ

เซ็ตคอมพิวเตอร์ทำงานที่โต๊ะทำงานชั้นล่างของผม ที่เน้นว่าจะต้องเก็บของทุกอย่างเข้าลิ้นชักได้หมดก็เรียกว่าเหมาะกับโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 มากทีเดียวครับ พอร์ต USB-C ที่ให้มา 2 พอร์ต ใช้ต่อกับจอพกพาได้ตัวนึง และก็ยังมีเหลืออีกพอร์ตนึงเอาไว้เสียบสายชาร์จได้อีก ในขณะที่ยังเหลือพอร์ต USB-A อีกสองพอรืต ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps รองรับอุปกรณ์เสริมภายนอกต่างๆ ได้ ไม่ต้องหา Dongle มาเพิ่มเลย

โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่มีการวางโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 อยู่ตรงกลาง และมีจอพกพา 2 จอ วางอยู่ทางซ้ายและทางขวา

อีกฟีเจอร์นึงที่น่าสนใจคือ LG Security Guard ที่เราจะต้องผูกมันเข้ากับ Windows Hello ครับ เป็นฟีเจอร์ที่หาข้อมูลรายละเอียดไม่ได้เลย เพราะค้น Google ทีไร ผลการค้นหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ รปภ. ทุกที แต่เท่าที่อ่านจากการตั้งค่า มันคือ การใช้กล้องเว็บแคมของโน้ตบุ๊ก ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังให้เรา เวลาที่เราไม่อยู่ที่หน้าจอครับ คือ ถ้าเกิดมีคนแปลกหน้ามาใช้งานโน้ตบุ๊กของเรา มันจะแสดงหน้าจอเตือน แล้วก็มีการส่งอีเมลมาแจ้งเราด้วย

แต่ฟีเจอร์นี้น่าจะเหมาะกับคนที่คอมพิวเตอร์มีความลับมากๆ ไม่อยากให้ใครมายุ่งกับคอมพิวเตอร์ของเราเลย (ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็ไม่ควรทิ้งคอมพิวเตอร์ไว้แต่แรกป่าววะ 🤣🤣) ผมลองนึกถึงสถานการณ์ต่างๆ ในการใช้งานของผมแล้ว ก็นึกไม่ออกว่าเปิดใช้ฟีเจอร์นี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร มิน่าล่ะ ถึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน (นอกจากเว็บนึงที่สอนวิธี Uninstall มันออก)

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6

LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 ไม่ใช่โน้ตบุ๊กที่ประสิทธิภาพสูงมาก แม้ว่ามันจะเป็น Intel Core i7 ก็ตาม เพราะต้องเข้าใจว่ามันคือ Core i7 สำหรับโน้ตบุ๊กประเภทบางเบา หากคุณอยากได้ประสิทธิภาพสูงๆ ไปหา Intel Core i5 รหัส H อาจจะได้ในราคาถูกกว่าเกือบเท่าตัวด้วยซ้ำ แต่เหตุผลที่คุณจะควักกระเป๋าซื้อ โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ ก็คึอ คุณอยากได้โน้ตบุ๊กที่สเปกแรงพอที่จะทำงานส่วนใหญ่ได้ (เอกสาร ท่องเว็บ บันเทิง ตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอแบบไม่ซับซ้อน) โดยที่แบตเตอรี่ยังค่อนข้างอึดประมาณนึง และน้ำหนักเบามาก เมื่อเทียบกับขนาดตัวเครื่อง น้ำหนัก 1.18 กิโลกรัม เนี่ย ต่อให้เทียบกับโน้ตบุ๊กจอ 14 นิ้วส่วนใหญ่ก็คือยังถือว่าเบามากนะครับ และยังถือว่าราคาดีกว่า ASUS ExpertBook B9 (P9400) ที่สเปกด้อยกว่าด้วย (เทียบที่ราคากลาง สำหรับตัว Core i7 แรม 32GB)

แต่ถ้างบคุณน้อย อยากได้ประสิทธิภาพดี และยอมแบกหนักได้อีกหน่อย การยอมแบกน้ำหนักเพิ่มอีก 300-500 กรัมอาจทำให้คุณประหยัดเงินได้ 2 หมื่นบาทเลยทีเดียว แต่ถ้าใครอยากได้ตัวเดียวกับที่ผมซื้อนี่ คลิกลิงก์ในปุ่มด้านล่างได้ครับ แต่แนะนำให้รอราคาลงเหลือซัก 56,xxx บาท หรือ รอช่วงที่กดส่วนลดได้ดีๆ นะครับ อย่าใจร้อน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า