Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS โน้ตบุ๊กสองจอ สำหรับสายครีเอเตอร์ และ Multitasking
รีวิว

รีวิว ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS โน้ตบุ๊กสองจอ สำหรับสายครีเอเตอร์ และ Multitasking

ASUS ZenBook Duo 14 UX482 นี่เป็นรุ่นที่สองของตระกูล ZenBook Duo ที่ได้รับการปรับปรุงในหลายๆ จุดมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับ ASUS ZenBook Duo 14 UX481 ที่ผมได้รีวิวไปเมื่อสองปีก่อนแล้ว ก็ต้องบอกเลยว่าประสบการณ์ในการใช้งานดีขึ้นจากเดิมแบบชัดเจนมากทีเดียวครับ จะเป็นยังไงบ้าง เดี๋ยวจะมาเขียนเล่าให้อ่านกันครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS ที่รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS Thailand โดยผมได้ยืมมารีวิวราวๆ สัปดาห์เศษๆ แต่ก็เอามาใช้ทำงานแทนเครื่องหลักดูเลยนะครับ และโชคดีว่าตอนที่ได้ยืมมานั้น Windows 11 ได้เปิดตัวแล้ว ก็เลยถือวิสาสะ อัปเกรดเครื่องจาก Windows 10 เป็น Windows 11 ซะเลยด้วยฮะ

แกะกล่องมาดูรอบๆ ตัวเครื่อง ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS

ตัวที่ผมได้ยืมมารีวิวเป็นสี Celestial Blue นะครับ ภายในกล่องเนี่ย ที่เห็นก็ประกอบไปด้วยตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook DUO 14 UX482EA-HY001TS กับอะแดปเตอร์ 65 วัตต์ แบบ USB-C มีความยาวสาย รวมหัวอะแดปเตอร์ประมาณ 2 เมตร สไตลัส แล้วก็ขาตั้ง แบบที่ติดกับตัวโน้ตบุ๊กเลย ซึ่งตัวเดโมยูนิตที่ผมได้มารีวิวนั้น เขาติดตั้งขาตั้งมาให้เรียบร้อยแล้ว

โน๊ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ที่แถมมาในกลุ่ม

ดีไซน์ของ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA เป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 14 นิ้วสมกับชื่อรุ่น ให้ความละเอียดระดับ Full HD 1920×1080 พิกเซล ดีไซน์แบบ NanoEdge ขอบจอบาง และให้ความสว่างได้สูงสุด 400 nits เป็นหน้าจอหลัก และมีหน้าจอ ScreenPad+ ขนาด 12.6 นิ้ว ความละเอียด 1920×515 พิกเซลเป็นหน้าจอที่ 2 ด้วย โดยทั้งคู่เป็นหน้าจอแบบสัมผัสครับ ด้านบนของหน้าจอ มีกล้องเว็บแคมแบบ HD พร้อม Infrared เพื่อรองรับ Windows Hello ด้วย

หน้าจอ ScreenPad+ และคีย์บอร์ดกับ TouchPad ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA

ด้วยความที่หน้าจอ ScreenPad+ มันกินเนื้อที่ไปเกือบครึ่งนึงของพื้นที่ที่ปกติจะเอาไว้วางคีย์บอร์ดแล้ว ทำให้ดีไซน์ของคีย์บอร์ดของ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA ออกแนวถูกกระชับพื้นที่นิดนึง เพราะโดนกินพื้นที่ด้านบนไปยังไม่พอ ด้านข้างก็โดน TouchPad กินพื้นที่ไปอีกด้วย แต่ว่าต่างจากรุ่นแรก UX481 คือ เขามีการลดขนาดของปุ่มลูกศรลง แล้วขยายขนาดของปุ่ม Shift ด้านขวาเพิ่ม ให้มีขนาดเต็ม คงเพราะมีคนบ่นแบบผมเยอะอะ ที่พิมพ์ลำบากขึ้นมาจาก จากขนาดของปุ่ม Shift ด้านขวาที่เล็กเกินไป

ด้านใต้ของตัวเครื่อง เอาไว้ติดขาตั้งที่แถมมาในกล่องเพิ่มได้ ซึ่งตัวเดโมยูนิตที่ผมได้มารีวิว มีคนติดมาให้แล้ว ซึ่งออกแนวติดถาวรเลยด้วยกาว แต่แกะได้นะ ไม่ได้ทำให้ตัวเครื่องเสียหายแต่อย่างใด เดี๋ยวค่อยมาเล่าให้อ่านกันว่า ขาตั้งเอาไว้ทำไม แต่ที่แน่ๆ ไม่ต้องห่วงว่าการติดขาตั้งจะทำให้การระบายความร้อนของตัวเครื่องมีปัญหา เพราะ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA ตัวนี้ออกแบบการระบายความร้อนจากตอนเปิดหน้าจอขึ้นเป็นหลัก ลำโพงแบบสเตริโอของตัวเครื่อง จะอยู่ตรงบริเวณใต้เครื่อง ด้านหน้าทั้งซ้ายและขวาครับ

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS เมื่อเปิดฝาจอมาใช้งาน

เมื่อเปิดฝาจอ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA ขึ้นมา ดีไซน์แบบ ErgoLift ก็จะยกตัวเครื่องโน้ตบุ๊กขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้คีย์บอร์ดมันทำมุมได้เหมาะสมกับมือของเราเวลาจะพิมพ์ และในขณะเดียวกัน ตัวหน้าจอ ScreenPad+ ที่ได้รับการอัปเกรด มันก็จะยกตัวขึ้นมาเล็กน้อยด้วย เพื่อให้หน้าจอมันทำมุมกับสายตาของเราเวลาจะเหลือบมองได้ดีขึ้น ลดการสะท้อนของแสงจากเหนือหัวของเรา เวลาใช้งานด้วย เขาว่าอย่างนั้น และข้อดีอีกจุดนึงของดีไซน์แบบนี้คือ การระบายความร้อนนั่นเอง เพราะนวัตกรรมของ ASUS คือ Active Aerodynamic System Plus (AAS Plus) ดีไซน์พัดลมระบายความร้อนคู่ ร่วมกับหน้าจอ ScreenPad+ แบบยกตัวขึ้นมาได้ และ ErgoLift ทำให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนดีขึ้น 49% เขาว่ามาแบบนี้

ในแง่ของพอร์ตการเชื่อมต่อ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA ก็ให้มาครบครันนะ คือ ด้านซ้ายจะมีพอร์ต HDMI 1.4 มาให้พอร์ตนึง กับพอร์ต Thunderbolt 4 อีกสองพอร์ต ส่วนด้านขวาจะเป็นพอ์รต USB 3.2 Gen 1 แบบ USB-A กับช่องเสียบแจ็คเสียงคอมโบแบบ 3.5 มม. และสล็อตเสียบ MicroSD card อีกอัน แล้วก็มีไฟ LED แสดงสถานะการทำงานและการชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งผมก็แปลกใจว่าทำไมไม่ให้มันไปอยู่ข้างเดียวกันกับพอร์ต Thunderbolt 4 ที่เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่หว่า

แต่โดยรวมแล้ว ดีไซน์ของ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA เรียกว่าสวย ดูดีมีตระกูลมากๆ แต่ด้วยฟังก์ชันต่างๆ ที่ใส่เข้ามา ก็แลกมาด้วยน้ำหนักของตัวเครื่องที่แอบเรียกว่า “หนัก” เอาเรื่องอยู่สำหรับโน้ตบุ๊กยุคนี้สมัยนี้ ที่คนเราจะพกพาไปไหนมาไหน คือ 1.57 กิโลกรัม

สเปกอื่นๆ และประสบการณ์ใช้งาน ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA

ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA นี่มี 3 ตัวเลือก โดยแบ่งเป็นรุ่น Core i5, Core i7 และ Core i7 แบบมีการ์ดจอแยก ซึ่งสเปกส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน แต่ความแตกต่างหลักๆ จะอยู่ที่ตัว CPU, Storage และ การ์ดจอ ครับ คือ

• Core i5-1135G7 ความจุ Storage 512GB และการ์ดจอ Intel Iris Xe Graphics
• Core i7-1165G7 ความจุ Storage 1TB การ์ดจอ Intel Iris Xe Graphics
• Core i7-1165G7 ความจุ Storage 1TB การ์ดจอ nVidia GeForce MX450

รายละเอียดสเปกคร่าวๆ และราคาของแต่ละรุ่นก็ตามรูปด้านล่างครับ

อย่างที่บอก ตัวที่ผมได้มารีวิวนั้นเป็นรุ่นเล็กสุด คือ Core i5-1135G7 ครับ ซึ่งมาพร้อมกับแรม 16GB แบบ On-board และตามสเปกเขาบอกว่าสามารถใส่ได้สูงสุด 32GB ก็เข้าใจว่าน่าจะหาใส่เพิ่มได้อีก 16GB ในด้านการเชื่อมต่อ ก็มาพร้อมกับ WiFi 6 (802.11ax) และ Bluetooth 5.0 ด้วย

อ้อ! CPU Intel ที่ใช้ใน ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA นี้ ได้รับมาตรฐาน Intel Evo ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของ Intel ที่พัฒนาต่อมาจาก Project Athena โดยคอมพิวเตอร์ที่ได้ผ่านมาตรฐานนี้ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ครับ

1️⃣ ใช้ CPU Intel Core i5 Gen 11 ขึ้นไป ที่มาพร้อมกับการ์ดจอ Intel Iris Xe
2️⃣ มีฟีเจอร์การล็อกอินด้วยระบบไบโอเมตริกซ์ (สแกนลายนิ้วมือ จดจำใบหน้า)
3️⃣ รองรับ WiFi 6 และ Thunderbolt 4
4️⃣ แบตเตอรี่ต้องสามารถใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุดนานกว่า 9 ชั่วโมง ในการแสดงผลแบบ Full HD
5️⃣ รองรับการชาร์จเร็ว คือ ชาร์จแบตเตอรี่ 30 นาทีแล้ว ต้องสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ 4 ชั่วโมง ต้องรองรับการชาร์จด้วย USB-C
6️⃣ ต้องมีแรม 8GB ขึ้นไป ส่วน Storage ต้องเป็น SSD แบบ NVMe ความจุ 256GB ขึ้นไป
7️⃣ สามารถตื่นจาก Sleep mode ได้ในเวลา 0.8 วินาที
8️⃣ กล้องเว็บแคม ต้องมีสเปกความละเอียดอย่างน้อย 720p ที่ 30fps
9️⃣ รองรับเทคโนโลย Far-field voice recognition, OpenVino และ WinML AI
🔟 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 หรือ Chrome OS

การได้รับรองมาตรฐาน Intel Evo ก็จะทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า โน้ตบุ๊กที่เราซื้อ มันมีสเปกที่รองรับมาตรฐานใหม่ๆ นับจากปี 2021 เป็นต้นไปนั่นเอง แบบนี้ก็วางใจได้สินะ แล้วการใช้งานจริงล่ะ?

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS พร้อมแมว

ขอเริ่มจากสิ่งที่ ASUS ZenBook Duo UX482EA นี่แตกต่างจากโน้ตบุ๊กตัวอื่นก่อนเลยนะครับ นั่นคือ ขนาดของคีย์บอร์ดที่ถูกกระชับพื้นที่ไปเยอะมาก แต่ด้วยความที่ ASUS ก็ยังสามารถออกแบบให้ขนาดของแต่ละแป้นพิมพ์ยังมีขนาดที่ใหญ่ได้ในระดับนึง เลยทำให้สามารถพิมพ์ได้อย่างค่อนข้างถนัดถนี่พอสมควร จะติดก็อยู่แค่ว่า แป้น Grave accent หรือไอ้แป้นตัวหนอน (~) ที่คนไทยส่วนใหญ่ตั้งเป็นแป้นสำหรับเปลี่ยนภาษาอะ มันค่อนข้างเล็ก และมักจะกดผิดไปกดแป้นเลข 1 ซะบ่อยๆ แต่ผมก็นึกไม่ออกแล้วว่าจะออกแบบยังไงให้แก้ปัญหานี้ได้ 🤣🤣 ยังดีที่ว่า ผมไม่รู้สึกว่ามันทำให้การพิมพ์ยุ่งยากกว่าการมีแป้น Shift ด้านขวาที่สั้นกว่าปกติ แบบตอน ASUS ZenBook Duo UX481 นะ และคนที่ชินกับการเปลี่ยนภาษาด้วยการกด Alt + Left shift หรือ Ctrl + Shift ซึ่งเป็นวิธีเปลี่ยนภาษาแบบทางเลือกของ Windows ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากตรงนี้

ส่วน TouchPad ที่ถูกย้ายมาด้านขวา และมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับพวกโน้ตบุ๊กตัวอื่นๆ มันก็เรียกว่ามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป คือ พื้นที่ที่แคบ ทำให้การลากเคอร์เซอร์จะต้องลากหลายทีกว่าปกติหน่อย แต่การที่ TouchPad มาอยู่ด้านขวา มันก็คล้ายๆ กับการใช้เมาส์แบบปกติอะ ก็ถนัดไปคนละแบบละเนอะ แต่เท่าที่ผมใช้ มันก็ไม่มีปัญหาใดๆ กับการใช้ Gesture ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใช้สองนิ้วแตะเพื่อ Scroll หน้าจอ หรือทำ Pinch zoom เป็นต้น แต่ถ้าเจอแบบ Gesture 3 หรือ 4 นิ้ว ก็จะแอบยุ่งแล้ว

การมีหน้าจอสัมผัส ช่วยให้การใช้งานสะดวกดีนะ การเลื่อนหน้าจอ การลากโน่นนี่นั่น เล็กๆ น้อยๆ ใช้การแตะหน้าจอช่วยอำนวยความสะดวกได้เยอะ นอกจากนี้ ฟีเจอร์หลายๆ อย่างของ Windows 10 และ Windows 11 ก็ออกแบบมารองรับ Gesture ของจอสัมผัสแล้วด้วย คือ มันไม่ใช่ฟีเจอร์ที่จำเป็นต้องมี แต่มีแล้วก็สะดวกนั่นเอง แต่ที่ ASUS ZenBook Duo UX482EA มี แล้วโน้ตบุ๊กตัวอื่นๆ ไม่มี ก็คือไอ้ ScreenPad+ นี่แหละ มันช่วยเพิ่มพื้นที่การแสดงผลให้ ภายใต้ข้อจำกัดของตัวโน้ตบุ๊กเอง

เราสามารถใช้ ScreenPad+ เป็น Extended desktop ได้ เวลาไปใช้งานนอกสถานที่ เราก็ไม่ต้องพก Portable display ไปเลย และ ASUS มีการออกแบบซอฟต์แวร์ เพื่อให้สามารถแบ่งหน้าต่างโปรแกรมมาแสดงบนหน้าจอ ScreenPad+ ได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มไอคอนทางลัดในการสลับหน้าจอ หรือ Gesture แบบสะบัดหน้าต่างโปรแกรมขึ้นลง เพื่อสลับหน้าจอ อันนี้หัดๆ ใช้ไป จะรู้สึกได้ว่าสะดวก อรรถประโยชน์ที่ได้จาก ScreenPad+ นี้ ก็จะคล้ายๆ กับการมีจอเสริมเพิ่มเข้ามา เพียงแต่ว่ามันจะไม่ได้สะดวกเท่ากับการมีจอ Full HD 16:9 มาต่อเสริมนะ แต่ถ้าจะเปิดเว็บ เปิดเอกสาร เพื่อเทียบข้อมูลดู มันก็ยังถือได้ว่าโอเคอยู่

App Navigator ของ ASUS ZenBook Duo UX482EA

ASUS มีการเพิ่มฟีเจอร์ App Navigator เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสลับระหว่างแอปที่เปิดอยู่ทั้งบนหน้าจอหลัก และหน้าจอ ScreenPad+ ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ใน Settings ของ ScreenPad+ และจริงๆ แล้ว มันมีฟีเจอร์อีกหลายอย่างที่ใช้ได้บนนี้ เช่น

• แตะหน้าจอ ScreenPad+ ด้วยสามนิ้ว จะทำให้หน้าจอกลายเป็น TouchPad ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถชดเชยข้อจำกัดของ TouchPad ที่มีขนาดเล็กได้พอสมควร ในกรณีที่เราต้องการเลื่อนเคอร์เซอร์สะดวกๆ
• สร้างไอคอนทางลัด สำหรับเปิดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมา โดยจะสามารถจัดได้เลยว่าจะให้โปรแกรมไหนอยู่ตรงไหนของหน้าจอ
• แสดงปุ่มทางลัดสำหรับ Shortcut ที่ใช้บ่อยๆ เช่น Copy, paste, select all อะไรแบบนี้ แต่ใครที่ชินกับการกด Shortcut พวกนี้ด้วยคีย์บอร์ดอยู่แล้ว ฟีเจอร์นี้่จะไม่ค่อยได้อำนวยความสะดวกอะไรนัก

• สามารถสั่งปิดการทำงานของคีย์บอร์ดได้ เผื่อต้องการใช้สไตลัสขีดๆ เขียนๆ บน ScreenPad+ แต่ไม่อยากให้อุ้งมือไปโดนคีย์บอร์ดแล้วเผลอไปพิมพ์อะไรออกมา
• มีไอคอนทางลัดสำหรับเปิดใช้งานฟีเจอร์ Link to MyASUS

ใช้สไตลัสของ ASUS ZenBook Duo UX482EA ลองเขียนและวาดรูปบนโปรแกรม Paint

การใช้งานสไตลัสที่แถมมาด้วยนั้น สามารถนำมาใช้เขียนได้ทั้งบนจอหลัก และจอ ScreenPad+ เลย ซึ่งตัวปากกานั้นใช้แบตเตอรี่ขนาด AAAA จำนวน 1 ก้อน โดยตรวจจับแรงกดได้ถึง 4,096 ระดับ เท่าที่ลองเขียนดูแล้ว ก็ต้องบอกว่าสามารถใช้ได้ลื่นดีประมาณนึง ซึ่งหากใช้ร่วมกับโปรแกรมจำพวกวาดรูป ตัว ScreenPad+ จะสามารถตรวจจับอุ้งมือของเรา ทำให้เราสามารถวางอุ้งมือบนหน้าจอระหว่างเขียน จะได้เขียนได้สะดวกๆ

แต่ว่าต้องบอกให้ชัดเจนตรงนี้ก่อนนะครับว่า แม้ตัวสไตลัสจะสามารถเขียนได้บนทั้งสองหน้าจอ แต่การเขียนที่สะดวกจริงๆ คือเขียนบน ScreenPad+ เท่านั้น และพื้นที่ในการเขียนค่อนข้างจำกัดมากเลย ยิ่งถ้าเจอโปรแกรมที่เมนูมันเยอะๆ ใหญ่ๆ คือเกะกะอย่างมากครับ

ScreenPad+ จะมีประโยชน์ที่สุดตอนที่ใช้ร่วมกับโปรแกรมที่มีการออกแบบมารองรับ ScreenPad+ เช่น โปรแกรมชุด Adobe อย่าง Photoshop, Lightroom, Premier Pro หรือ Corel MultiCam ที่จะมีการออกแบบ User Interface บางส่วนให้ไปใช้พื้นที่บน ScreenPad+ ได้ หรือใช้โปรแกรมอย่าง Gimp ที่มี UI แบบ Multi window mode ที่แยกกล่องเครื่องมือต่างๆ ออกเป็นหน้าต่างโปรแกรมแยกออกจากกัน เราก็จะสามารถลากเอากล่องเครื่องมือไปวางไว้บน ScreenPad+ ได้

ฟีเจอร์ด้านเสียงของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA

ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA นี่ ถูกออกแบบมาสำหรับสายครีเอเตอร์และคนทำงานครับ ดังนั้น ก็จะมีฟีเจอร์ที่รองรับเรื่องการประชุมออนไลน์ด้วย เช่น AI Noise-Canceling Microphone ที่สามารถลดเสียงรบกวนในขณะที่พูดได้ (Basic reception optimization, Single presenter conference call) หรือ การปรับระดับเสียงของผู้พูดหลายๆ คน ให้ดังเท่าๆ กัน แม้จะอยู่ห่างจากไมโครโฟนไม่เท่ากัน (Multi-presenter conference call) ตัวลำโพงก็มีฟีเจอร์ AI Noise-Canceling Speaker เช่นกัน เพื่อให้ฟังเสียงคนได้ชัดขึ้น

โปรแกรม MyASUS ในส่วนของการปรับตั้งค่าแบตเตอรี่

นอกจากนี้ โปรแกรม MyASUS นี่ก็ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับสีของการแสดงผลบนจอภาพ ปรับเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยประมวลผล และการปรับตั้งค่าการชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งปรับได้ทั้ง Full capacity mode (ชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม 100% เสมอ) Balanced mode (ชาร์จแบตเตอรี่ไว้ที่ระดับ 80% เพื่อให้มีแบตเตอรี่พร้อมพกไปใช้งานต่อได้ ในขณะที่ก็ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่) และ Maximum lifespan mode (ชาร์จแบตเตอรี่ไว้ทีระดับ 60% เพื่อยืดอายุแบตเตอรี่ให้นานที่สุด ไม่ให้เสื่อมไว)

ฟีเจอร์ Link to MyASUS เชื่อมต่อโน้ตบุ๊กกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ MyASUS ก็คือ Link to MyASUS ที่เป็นหนึ่งในไอคอนทางลัดบน ScreenPad+ นี่แหละครับ ถ้าเราลงแอป Link to MyASUS ไว้บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต (Android/iOS) แล้ว เราจะสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เพื่อใช้ถ่ายโอนไฟล์ หรือแม้แต่การดึงภาพหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาแสดงบนโน้ตบุ๊กได้แบบไร้สาย คล้ายๆ กับฟีเจอร์ Your Phone บน Windows 10/11 นั่นเอง แต่ที่เจ๋งคือ มันยังให้เราสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แล้วใช้เป็นหน้าจอเสริมแบบไร้สาย ทั้งแบบ Mirror หรือ Extend ได้ด้วย และในทางกลับกัน เราก็สามารถทำ Remote Access จากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาที่ตัวโน้ตบุ๊กได้ด้วย

อื่นๆ ที่ได้ลอง แล้วอยากพูดถึงก็น่าจะมี

• ประสิทธิภาพของ Intel Core i5-1135G7 แรม 16GB และการ์ดแสดงผล Intel Iris Xe Graphics เนี่ย ผมมองว่าเพียงพอสำหรับงานหลายๆ อย่างเลยนะ พวกท่องเว็บ ทำงานเอกสารนี่ไม่ต้องพูดถึง เอามาใช้ทำงานกราฟิกบ้าง ตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ ประเภทตัดฟุตเทจ ตัดเสียง อะไรพวกเนี้ย เหลือเฟืออยู่ (ผมใช้ DaVinci Resolve 17.3.1) มันไม่ถึงกับเพอร์เฟ็กต์ เพราะรู้สึกได้ว่าตอน Playback มันยังกระตุกๆ อยู่ ซึ่งน่าจะแก้ไขได้ด้วยการ Optimize คลิป หรือไม่ก็กำหนดแคช
• ตัว SSD NVMe 512GB ที่ใช้บนโน้ตบุ๊กตัวนี้ ความเร็วสูงปรี๊ดดีมาก คืออ่านและเขียนที่ระดับ 3.5GB/s และ 3GB/s ตามลำดับเลยครับ เข้าใจว่าเพื่อให้เร็วพอ เผื่อใครจะเอามาใช้งานร่วมกับพอร์ต Thunderbolt 4

ทดสอบความเร็วของ Storage ของ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA

• ถ้าไม่ได้คิดจะเชื่อมต่ออุปกรณ์อะไรยุ่งยากเยอะแยะมาก แทบจะไม่ต้องหาอุปกรณ์จำพวก USB-C dongle หรือ Docking มาเสริมเลย เพราะมันมี Thunderbolt 4 ให้สองพอร์ต รองรับอุปกรณ์สมัยใหม่แล้ว และยังมี USB-A รองรับ USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) มาให้อีกพอร์ต ไว้ใช้กับอุปกรณ์แบบเดิมๆ ด้วย พอร์ต HDMI สำหรับต่อออกจอแสดงผลภายนอกก็มีให้ ก็ครบเครื่องอยู่ ถ้าจะเสียดายก็แค่ตรงที่พอร์ต USB-A มันแค่ USB 3.2 Gen 1 นี่แหละ จริงๆ น่าจะให้ซัก USB 3.2 Gen 2 นะ
• พอร์ต Thunderbolt 4 พอร์ตนึง จะถูกเอาไปใช้เป็นพอร์ตสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ด้วยนะครับ แต่ที่เหลืออีกพอร์ตเดียวมันก็เหลือเฟือต่อการใช้งานแล้วนะผมว่า มี USB-C hub ดีๆ ซักตัว มาเสียบ ก็ได้พอร์ต USB-A 3 พอร์ต, พอร์ต LAN, HDMI, ตัวอ่าน SD card มาเพิ่มได้สบายๆ
• กล้องเว็บแคม ความละเอียด 720p ที่คุณภาพในการใช้งานค่อนข้างโอเค แต่ด้วยความที่จอมันค่อนข้างบางมาก มันก็เลยไม่มีฟีเจอร์สวิตช์สำหรับปิดเลนส์กล้องเว็บแคมมาให้นะ แต่ว่ามันมาพร้อมเซ็นเซอร์อินฟราเรดเอาไว้สแกนใบหน้า สำหรับฟีเจอร์ Windows Hello เพื่อใช้ล็อกอิน
• ความเร็วในการตื่นจาก Sleep mode ที่เขาว่ามาตรฐาน Intel Evo ต้องตื่นภายใน 0.8 วินาที ซึ่งในทางปฏิบัติ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเริ่มจับเวลาตอนไหนกันแน่ เพราะพอผมลองพับหน้าจอปิดเพื่อเข้าสู่ Sleep mode แล้วลองเปิดขึ้นมาใหม่ (ซึ่งก็ต้องกดปุ่ม Power เพื่อออกจาก Sleep mode ด้วยนะ) มันใช้เวลาราวๆ 2-3 วินาที นับตั้งแต่กดปุ่ม Power มาจนถึงตอนที่เข้าสู่หน้าล็อกอิน ฉะนั้น อย่าเพิ่งคาดหวังไว้เยอะกับ Intel Evo นะผมว่า
• แบตเตอรี่ก็เช่นกัน Intel Evo บอกว่า ต้องใช้ได้อย่างน้อย 9 ชั่วโมง ในโหมดการแสดงผลแบบ Full HD และ ASUS ก็บอกว่าแบตเตอรี่ของ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA มันใช้งานได้ต่อเนื่องนานสุด 17 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อนำมาใช้งานจริงๆ ทั้งท่องเว็บ เช็กอีเมล ประชุมออนไลน์ ในโหมดการทำงานแบบ Performance mode เพราะต้องการให้ชัวร์ว่าเครื่องจะประมวลผลเร็ว พร้อมใช้ตลอด ก็จะมีแบตเตอรี่อยู่ได้ราวๆ 3-4 ชั่วโมงครับ ถ้าอยากได้ยาวนานระดับ 9 ชั่วโมง อาจต้องยอมใช้แบบอืดๆ อะ

บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS

ผมว่าเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับคนที่ชอบใช้งานแบบมีหน้าจอ 2 จอ เพื่อที่จะได้ใช้ดูข้อมูลเปรียบเทียบ หรือดูข้อมูลจากหน้าจอนึงไปพิมพ์กรอกใส่อีกหน้าจอนึง อะไรแบบนี้ หรือคนที่ใช้โปรแกรมตระกูล Adobe ที่สามารถใช้ ScreenPad+ มาแสดงผลกล่องเครื่องมือควบคุม เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานโปรแกรมได้ แล้วมันพกง่าย พกสะดวกมากๆ แต่แลกมาด้วยการที่น้ำหนักของตัวเครื่องแอบหนักหน่อย คือ 1.57 กิโลกรัม และราคาที่แอบโหดกว่าโน้ตบุ๊กสเปกคล้ายๆ กันนี้จะอยู่ที่ราวๆ 29,000-30,000 บาท พอสมควรเลย แต่ถ้ามองว่า จอที่เพิ่มมา สเปกคล้ายๆ กันนี้ เขาก็ขายกันอยู่บน Aliexpress ราวๆ 6,000-7,000 บาท รวมๆ แล้ว ก็ถือว่าพอๆ กันนะ

สรุปว่า ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS แม้สเปกจะแค่ Core i5 แต่ก็ซื้อมาใช้งานทำโน่นนี่นั่นได้นะ กราฟิกหรือแม้แต่ตัดต่อวิดีโอก็พอไหว จุดตัดสินว่าจะซื้อหรือไม่ อยู่ที่ว่าคุณอยากได้จอเสริม ScreenPad+ หรือไม่มากกว่านะผมว่า

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า