ผลบุญแห่ง 9.9 ที่ผ่านมาชิ้นนึงของผมคือจอพกพา Lenovo L15 ตัวนี้ครับ จอพกพาตัวนี้มีขนาด 15.6 นิ้ว แต่มีน้ำหนักค่อนข้างเบา คือประมาณ 870 กรัม เชื่อมต่อสะดวกด้วยสาย USB-C to USB-C เส้นเดียว สามารถส่งผ่านได้ทั้งข้อมูลภาพและเสียง กับจ่ายไฟในตัว ขอแค่พอร์ตมันรองรับ DisplayLink/Display Port แถมใช้กับแบบที่เป็น Alt mode ก็ได้ ตัวนี้ราคาเต็ม 6,990 บาท แต่ผมโชคดี มาตอนเขามีคูปองส่วนลด กดๆ ไปแล้ว เหลือ 6,090 บาท รวมส่ง คุ้มอยู่นะ ซื้อมาใช้เสร็จแล้ว ก็ได้โอกาสรีวิวให้ได้อ่านกันด้วย เผื่อใครจะสนใจ (แต่ ณ ตอนที่เขียนรีวิวนี้ ราคามันกลับไป 6,990 บาท แล้ว อยากได้ถูกกว่านี้ก็อาจจะต้องรอช่วยโปรโมชันอีกทีนะ)
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
จอ Lenovo L15 ตัวนี้คือ ควักกระเป๋าซื้อมาใช้เองนะครับ แล้วพอใช้ไปได้ซักพักใหญ่ๆ ก็เลือกที่จะรีวิวให้ได้อ่านกันด้วย เผื่อใครที่อยากจะซื้อหามาใช้ จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มเติม
ก่อนอื่นต้องเล่าความเป็นมานิดนึงก่อนครับ คือผมมีจอพกพาโนเนมจากประเทศจีนอยู่ตัวนึงอยู่แล้ว มีข้อดีตรงที่มีแบตเตอรี่ในตัว สามารถใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง ดีงามมาก รองรับการเชื่อมต่อแบบ USB-C และ Mini HDMI ด้วย แต่มันมีข้อเสียตรงที่ แม้ว่ามันจะเชื่อมต่อกับ USB-C ผ่าน DisplayLink ได้ แต่มันต้องห้ามเป็นพอร์ต USB-C ที่เป็น Alt mode และมันยังต้องเสียบสาย USB-C จ่ายไฟอีกพอร์ตนึงอยู่ดี ผมก็เลยมองหาจอพกพาที่จะมาแทนที่ ในราคาที่สมเหตุสมผล เพราะผมเห็นหลายๆ ยี่ห้อมันขายกันแบบ 8,xxx เรื่อยไปจนถึงหลักหมื่น มันแพงไป๊ ภรรยาไม่อนุมัติ 🤣🤣 ก็มาจบที่ Lenovo L15 ตัวนี้แหละ

แกะกล่องออกมา ภายในกล่องสิ่งที่เราจะได้ก็จะมีจอพกพา Lenovo L15 ซองผ้าสำหรับใส่จอเพื่อเอาไว้พกไปมา สาย USB-C to USB-C และมันจะมีตัวคลิปพลาสติกมาให้ 2 อัน ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่ามันเอาไว้ทำอะไร จนกระทั่งได้อ่านคู่มือที่ติดมาให้ในกล่องนั่นแหละ
ดูสเปกคร่าวๆ กันก่อนว่า จอ Lenovo L15 นี่เป็นยังไงกันบ้าง
สเปก | คำอธิบาย |
---|---|
ขนาดหน้าจอ | 15.6 นิ้ว |
ความละเอียด | 1,920×1,080 (อัตราส่วนการแสดงผล 16:9) |
ความสว่าง | 250 cd/m2 (Typical) |
รีเฟรชเรต | 60Hz |
อัตราส่วนคอนทราสต์ | 1,000:1 |
ขอบเขตสี | 45% NTSC |
การเชื่อมต่อ | USB-C (All digitals with HDCP) |
ความเร็วในการตอบสนอง | 6ms (Extreme mode) / 14ms (Typical mode) |
ชนิดของจอภาพ | IPS LCD |
มุมมอง | 178 องศา / 178 องศา |
น้ำหนัก | ประมาณ 870 กรัม |
ดูจากสเปกแล้ว ก็ต้องบอกว่าโดยรวมถือว่าโอเค แต่อยากให้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 เรื่อง นั่นคือ ความว่างแค่ 250 cd/m2 นั่นหมายความว่า จอไม่ได้สว่างมากนะ เหมาะกับการใช้ในที่ร่มมากกว่าเอาไปใช้กลางแดดไม่ค่อยดีนะครับ อีกจุดนึงคือขอบเขตสีที่ให้มาแค่ 45% NTSC เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่า มันไม่น่าจะเหมาะที่จะเอามาทำเป็นจอสำหรับงานกราฟิกใดๆ

อย่างที่ได้บอกไปในสเปก ตัวจอพกพา Lenovo L15 เป็นจอแสดงผลขนาด 15.6 นิ้ว มีขอบจอที่ค่อนข้างบางทีเดียว จะหาก็แค่ตรงส่วนที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอ ที่น่าจะเป็นจุดที่เขาใส่พวกแผงวงจรต่างๆ เยอะแยะ และมีโลโก้ Lenovo อยู่ตรงนั้น จอแสดงผลเป็นแบบลดการสะท้อนแสงครับ หมายความว่าก็ไม่ใช่จอสัมผัสนั่นเอง
ด้านหลังของจอพกพา Lenovo L15 เราจะเห็นอะไรที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างครับ อย่างแรกเลยก็คือ ด้านล่างของหน้าจออะ มันจะดูหนากว่าส่วนอื่น นั่นเพราะว่ามันมีฐานแบบพับได้อยู่ตรงนั้น คือ ตัวจอมันสามารถวางตั้งได้ โดยไม่ต้องใส่เคส หรือหาขาตั้งใดๆ มาเสริมเลย และเราจะเห็นแผ่นยางกันลื่นกันรอย ติดอยู่ตรง 4 มุมของฐานแบบพับได้อยู่

นอกจากนี้ เราจะเห็นรูเป็นช่องๆ อยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของฐานจอ นั่นคือลำโพงครับ ใช่เลย จอพกพา และก็มีลำโพงในตัวด้วย ซึ่งผมสังเกตว่าจอพกพาหลายๆ ยี่ห้อ หลายๆ รุ่น รวมถึงอิจอโนเนมของผม มันก็มีลำโพงในตัวนะ หลายคนอาจจะสงสัยว่า โน้ตบุ๊กมันก็มีลำโพงอยู่แล้ว จอมันจะมีลำโพงไปทำไม คำตอบก็คือ มันเผื่อกรณีที่เราต่อกับพวกอุปกรณ์จอเล็กๆ อย่างสมาร์ทโฟน หรือ ในกรณีที่เราใช้กับพวก Mini PC ที่ไม่มีจอในตัว พวกเนี้ย เราจะมองที่จอพกพานี่เป็นหลัก ดังนั้น เสียงมันควรจะออกจากลำโพงของจอดีกว่า
นอกจากนี้ เราจะเห็นตรงด้านล่างสุดของจอ ที่มันเป็นบานพับอีกอันเล็กๆ อันนี้เขาเอาไว้เพื่อกางออกมาปรับระดับการเงยของหน้าจอเพิ่มได้อีก ถ้าจำเป็น


บานพับของจอพกพา Lenovo L15 เนี่ย หนึบดีครับ สามารถกางได้ตั้งแต่ระดับ 0 องศา ค่อยๆ ปรับขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึง 90 องศาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะปรับละเอียดได้ระดับ 1 องศา อะไรแบบนั้นนะ แต่มันก็หนึบพอที่จะให้เราค่อยๆ กาง แล้วมันออกมาให้ได้มุมที่เราอยากใช้จริงๆ แต่ฐานเนี่ย มันกางได้แค่ 90 องศานะ ตอนแรกผมนึกว่ามันจะกางไปได้ถึง 180 องศาเลย แต่ก็นั่นแหละ มันจะกางไปทำไม 180 องศาวะ 🤣🤣

ด้านข้างของฐานทั้งสองข้าง จะมีพอร์ตการเชื่อมต่อ และปุ่มควบคุม ทั้งซ้ายและขวา มีพอร์ต USB-C ที่เอาไว้เสียบเพื่อเชื่อมต่อกับจอแสดงผลเหมือนกัน โดยพอร์ตนี้รองรับ Power Delivery ด้วย ดังนั้น หากพอร์ต USB-C ของเครื่องคอมพิวเตอร์รองรับ Power Delivery แล้วละก็ เสียบสาย USB-C เส้นเดียวจบครับ พอร์ต USB-C ของโน้ตบุ๊กมันจ่ายไฟกลับมาที่ตัวจอพกพา Lenovo L15 นี่ได้เลย มันกินไฟ 10 วัตต์เอง (5V 2A)


แต่ที่มันมีพอร์ต USB-C ให้สองข้าง ส่วนนึงก็เพราะว่ามันอำนวยความสะดวกเรื่องการเชื่อมต่อ คือ จะเสียบข้างไหนก็ได้ อีกส่วนนึงก็คือ ในกรณีที่เราใช้โน้ตบุ๊กอยู่ แล้วพอร์ต USB-C ของโน้ตบุ๊กก็รองรับการชาร์จแบตเตอรี่ผ่าน Power Delivery ด้วย วิธีการเชื่อมต่ออีกแบบก็คือ เอาอะแดปเตอร์ชาร์จไฟโน้ตบุ๊กที่เป็น USB-C (ไม่เกิน 100 วัตต์ หรือ 20V 5A) มาเสียบเข้ากับพอร์ต USB-C ข้างนึงของจอพกพา Lenovo L15 นี่ แล้วก็เอาสาย USB-C to USB-C อีกเส้น ไปเสียบกับพอร์ต USB-C อีกข้าง แล้วเอาไปเสียบกับโน้ตบุ๊ก เท่านี้ นอกจากจะเชื่อมต่อจอแสดงผลแล้ว มันก็ทำหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่ให้กับโน้ตบุ๊กไปด้วยในตัวได้ ถ้าเราใช้อะแดปเตอร์แบบ 100 วัตต์ละก็ ไฟที่ออกจากจอพกพา Lenovo L15 นี่ก็จะได้สูงสุด 65 วัตต์ (20V 3.25A) ซึ่งเพียงพอสำหรับการชาร์จโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปแล้ว

จอพกพาแบบนี้ ถ้าเราเอามาเสียบกับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ที่รองรับ DisplayLink มันก็จะทำให้อย่างน้อยเราก็ Mirror การแสดงผลไปออกที่จอใหญ่ได้ แต่การใช้กับแท็บเล็ตอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก เพราะขนาดจอพอๆ กัน แต่ที่ผมลองกับ HUAWEI MatePad Pro 10.8-inch ก็เพราะว่า อยากรู้ว่าถ้าเกิดพอร์ต USB-C มันจ่ายไฟได้แรงพอ มันจะพอให้จอพกพา Lenovo L15 ทำงานได้ โดยไม่ต้องเสียบอะแดปเตอร์เพิ่มไหม และเสียดายที่เสียบแท็บเล็ต HUAWEI แล้ว ผลที่ได้คือการ Mirror หน้าจอเฉยๆ
แต่หากเราใช้กับสมาร์ทโฟนของ Samsung ที่รองรับ DeX ละ และทำการเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สายแล้วละก็ เราก็จะได้โน้ตบุ๊กระบบปฏิบัติการ Android มาใช้เลยแหละ และอย่างที่บอก เสียบอะแดปเตอร์เข้ากับตัวจอพกพา Lenovo L15 แล้วค่อยเอาสาย USB-C ต่อระหว่างจอกับสมาร์ทโฟน ตัวสมาร์ทโฟนก็จะได้รับการชาร์จผ่าน Power Delivery ไปในตัว ซึ่ง Output มันรองรับการจ่ายไฟ 5V/9V/15V 3A หรือ 20V 3.25A ครับ




ช่วงนี้ผมเห่อเรื่องการ Calibrate สี ก็เลยทดสอบดูซะเลยว่า ที่สเปกของว่าขอบเขตสี 45% NTSC มันจริงไหม ซึ่งผลที่ได้คือ 49% NTSC เรียกว่าดีกว่าที่ระบุในสเปกหน่อยๆ ด้วยนะเออ แต่เวลาใช้งานจริงๆ เราน่าจะสนใจขอบเขตสี sRGB AdobeRGB และ P3 มากกว่า ซึ่งก็บอกได้เลยว่า เทียบกับจอแสดงผลปกติแล้ว มันก็ด้อยกว่าแบบเห็นได้ชัด เช่น เจ้านี่มีขอบเขตสีแค่ 68% sRGB เท่านั้น (จอตั้งโต๊ะทั่วไป ขั้นต่ำๆ ก็ 100% sRGB แล้วไหม เดี๋ยวนี้) ส่วนขอบเขตสี P3 ก็แค่ 51% แต่ถ้าเทียบกับจอพกพาโนเนม เจ้านี่สเปกดีกว่านิดหน่อยนะ
อันนี้เป็นอะไรที่ต้องทำใจครับ เพราะจอพกพามันมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาด หรือ น้ำหนัก แต่มันแลกมาด้วยความสามารถในการพกพาไง มันเหมาะกับเอาไว้ใช้ร่วมกับโน้ตบุ๊กทำงานพวกเอกสาร หรือเอาไว้เป็นจอเสริมเพื่อดูข้อมูล เวลาไปทำงานนอกสถานที่ มากกว่าเอาไว้ใช้เป็นจอหลักในการทำงานพวกกราฟิกหรือเกรดสีวิดีโอ ไอ้พวกนั้นให้ไปใช้จอหลักของโน้ตบุ๊กไปสิ

แต่เท่าที่ผมลองดู จอ Lenovo L15 นี่ก็ยังยืดหยุ่นได้ประมาณนึงนะ คือ ให้เราสามารถ Calibrate สีหน้าจอได้ประมาณนึง จนสีออกมาเรียกว่าทำให้ใกล้เคียงกับจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้แหละ ในขณะที่อิจอโนเนมซื้อจากจีนของผมเนี่ย พยายามทำแทบตาย ยังไงก็ไม่รอด ยิ่งไปพยายามปรับแต่งให้มันสีใกล้เคียงเท่าไหร่ ผลที่ได้ออกมา ยิ่งพังทุกที นี้ Calibrate ไปเกิน 10 รอบ และรีเซ็ตทั้งค่า Color profile บน Windows และรีเซ็ตการตั้งค่าของจอแสดงผลเองไปหลายรอบมาก ก็ไม่รอดครับ แต่ Lenovo L15 นี่ Calibrate ทีเดียวจบ
ที่แอบเสียดายอะ คือ สุดท้ายผมก็ไม่สามารถใช้จอ Lenovo L15 กับคอมพิวเตอร์ Intel NUC Phantom Canyon ได้ เพราะมันมีปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาจากตัวจอพกพานะ แต่ดูจะเป็นปัญหาบั๊กบางอย่างของพอร์ต Thunderbolt/USB-C ของตัวคอมพิวเตอร์มากกว่า คือ เวลาจ่ายไฟอะ มันจ่ายได้นิ่งดี แต่เวลาที่จะเชื่อมต่อกับจอแสดงผล มันดันมีปัญหาซะงั้น คือ มันติดๆ ดับๆ อยู่พักใหญ่มากๆ กว่าที่หน้าจอแสดงผลจะทำงานได้นิ่งๆ บางทีก็แป๊บเดียว บางทีเป็น 10 นาทีแล้ว ก็ยังใช้งานไม่ได้ สุดท้ายผมก็เลยต้องเอาจอโนเนมมาใช้เหมือนเดิม แต่จอ Lenovo L15 นี่ ผมกลับเอาไปใช้กับโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo UX482 หรือ HUAWEI MateBook 14S ได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ สุดท้ายแล้ว ผมก็เลยเอามันลงไปใช้กับโต๊ะทำงานด้านล่าง เพื่อให้มีจอทำงานเพิ่มอีกจอแทน 🤣🤣

อ้อ! เกือบลืมพูดถึงอิอุปกรณ์เสริมที่หน้าตาเหมือนคลิปหนีบอะไรบางอย่าง ที่มีมาให้ในกล่อง คือ พออ่านคู่มือแล้วผมพบว่า ด้านหลังของจอพกพา Lenovo L15 มันจะมีรูเกลียวสำหรับขันน็อตใส่ (แต่ไม่มีแถมน็อตมาให้นะ) เผื่อใครอยากจะยึดจอพกพานี่เข้ากับกำแพงหรืออุปกรณ์ยึดจับใดๆ ที่เป็น VESA 100mm×100mm มันต้องพับฐานเก็บให้แนบกับตัวเครื่องก่อน และเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเครื่องมันเอียงลงมา ก็ต้องเอาอิคลิปพลาสติกนี่แหละ ไปหนีบที่สองข้างของจอครับ คือ ดูเป็นการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ลงทุนไม่เยอะดี แต่ผมก็อยากให้มันทำออกมาให้ถาวรกว่านี้หน่อย เช่น มีตัวล็อกที่อยู่ในจอ แล้วมีสวิตช์ปลดล็อก จะดีกว่านะ ทำเป็นคลิปพลาสติกแบบนี้ มันทำหลุดหายง่ายมากอะ
บทสรุปการรีวิวจอพกพา Lenovo L15
เป็นจอพกพาที่ดี พกสะดวก เขามีซองผ้าแถมไว้ให้ใช้พกได้คล้ายๆ โน้ตบุ๊กเลย แต่ต้องจำไว้ว่าแม้น้ำหนักจะเบา แต่ก็ 870 กรัมนะ ก็น้องๆ พกโน้ตบุ๊กอีกเครื่องอ่ะ (น้ำหนักหนักกว่าโน้ตบุ๊ก Fujitsu UH-X อีก 🤣🤣) และมันรองรับแค่การเชื่อมต่อผ่าน USB-C DisplayPort นะครับ HDMI อด จะซื้อไปใช้อะ ดูให้ดีๆ ด้วยว่าโน้ตบุ๊กรองรับไหม มีแค่พอร์ต USB-C อย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องดูสเปกด้วยว่าพอร์ต USB-C มันเป็น DisplayPort ด้วยหรือเปล่า
เจ้านี่ถูกออกแบบมาให้มีฐานสำหรับตั้งในตัวเลย และสามารถเอามาใช้ตั้งแบบแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ ทำให้สะดวกต่อการใช้งานในทุกแบบ
สนใจก็ไปตำกันได้ในปุ่มด้านล่าง