เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้สอย Phantom Canyon Mini PC หรือชื่อเต็มๆ ของมันที่เรียกโคตรยากคือ Intel® NUC 11 Enthusiast Kit – NUC11PHKi7C มาเพื่อใช้เป็นเครื่องพีซีประจำห้องทำงาน เอาไว้ทำงานด้วย เล่นเกมด้วย และหลังจากได้ใช้ไปพักใหญ่ๆ แล้ว ก็ได้เวลาที่จะมารีวิวให้ได้อ่านกันซะทีว่าเป็นยังไงบ้างละครับ เพราะจะซื้อมาใช้เฉยๆ ก็ใช่ที่ เนื่องจากราคาเครื่องมันก็ใช่ย่อยซะเมื่อไหร่ล่ะ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Phantom Canyon Mini PC เครื่องนี้ ผมซื้อมาเองเพื่อใช้งานครับ แต่ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้ว และราคาก็ไม่ได้ถูกๆ ด้วย ก็เลยถือโอกาสที่จะรีวิวให้ได้อ่านกันเลย โดยผมซื้อจากร้าน Elysium Gadget ในราคา 38,900 (ราคานี้ยังไม่มีหน่วยความจำ และไม่มี SSD กับตัวระบบปฏิบัติการนะครับ) ถ้าสนใจก็ไปดูได้ที่เว็บไซต์ของร้านเขา
เรื่องของเรื่องคือผมถือโอกาสของการทำงานแบบ Work from Home ซื้อโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T มาใช้ที่บ้าน กะว่าจะใช้เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับทำงานไปด้วย และใช้เล่นเกมไปด้วยเลย ซึ่งมันก็เรียกว่าโอเคอยู่นะ เพราะมันก็ให้การ์ดจอมาเป็น GeForce GTX 1660Ti แรม 6GB DDR6 ถือว่าดีใช่ย่อยอยู่ แต่อยู่มาวันนึง ผมมีการรีโนเวททำระเบียงเป็นห้องทำงาน มีการจัดโต๊ะคอมใหม่ ใส่จอ HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition เข้ามา ส่งผลให้โน้ตบุ๊กเกมมิ่งจอ 17.3 นิ้วของผมมันไม่มีที่ยืนอะ สุดท้ายก็เลยประกาศขายไปแบบไม่แพง คืนกำไรให้ลูกเพจ 🤣🤣 แล้วไปซื้อ Mini PC มาดีกว่า เพราะโดยส่วนตัวก็ชอบสไตล์ Intel NUC อยู่แล้ว (เคยเขียนถึง แต่ไม่เคยรีวิว) เพราะเคยมีอยู่ตัวนึง ส่วนที่โต๊ะทำงานที่ออฟฟิศก็ใช้ Mac mini ด้วย

กล่องของ Phantom Canyon (ขอเรียกแบบนี้ตลอดการรีวิวนะ เพราะชื่อเต็มยาวเกิ๊น จำก็ยาก) ใหญ่โตอลังการมากครับ โดยเปิดออกมาเราจะเห็นสัญลักษณ์รูปหัวกะโหลกที่จะเป็นโลโก้ของตัวเครื่อง แล้วก็มีตัวเครื่อง Phantom Canyon วางอยู่ มาพลาสติกกันรอยปิดเอาไว้ ภายในกล่องมันมีลิ้นชักอยู่ ซึ่งเอาไว้เก็บอุปกรณ์เสริมต่างๆ เอาไว้

หยิบทุกอย่างออกมาจากกล่อง สิ่งที่ได้ก็จะมีตัวเครื่อง Phantom Canyon พร้อมขาตั้ง อะแดปเตอร์อันเบิ้มแบบ 230 วัตต์ ตัว Mount สำหรับติดเครื่อง Mini PC ตัวนี้เข้ากับจอแสดงผลที่รองรับการ Mount แบบ VESA พร้อมมีน็อตมาให้ด้วย และมีประแจหกเหลี่ยมรูปตัวแอล (L) ที่เอาไว้สำหรับขันน็อตปิดฝาเครื่อง Phantom Canyon กับพลาสติกใส ที่เอาไว้เปลี่ยนกราฟิกโลโก้ของเครื่อง (เดี๋ยวจะเล่าให้อ่าน ว่ามันคืออะไร ยังไง)

สำหรับคนที่ไม่เคยซื้อพวก Intel NUC (Next Unit of Computer) มาก่อน ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าคอมพิวเตอร์ในตระกูลนี้ไม่ได้ขายมาแบบพร้อมใช้เลยนะครับ มันยังขาดไป 3 สิ่งสำคัญ คือ หน่วยความจำ (RAM) สื่อบันทึกข้อมูล (สมัยนี้ต้องใช้ SSD M.2 แล้ว) และตัวระบบปฏิบัติการ ฉะนั้นจะค่าตัว Phantom Canyon เป็นเท่าไหร่ ต้องบวกเผื่อค่าตัวไอ้ 3 สิ่งนี้เข้าไปด้วย
อย่างกรณีของผม ผมเพิ่มแรม Kingston Fury Impact DDR4 16GB บัส 3200MHz ไป 2 ตัว รวมเป็น 32GB และใส่ WD_BLACK SN750 SE 1TB เข้าไปอีก ซึ่งแอบเสียดายว่า Phantom Canyon นั้น ไม่ได้รองรับ PCIe Gen 4 นะ แหม่ ไม่งั้นต้องจัด WD_BLACK SN850 ครับ อันนั้นอะ แรงฝุดๆ แต่เอาน่ะ WD_BLACK SN750 SE 1TB นี่ตามสเปกของมันแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ PCIe Gen 4 ก็สามารถวิ่งได้ตามสเปกอยู่แหละ ส่วนตัวระบบปฏิบัติการ ผมก็เคยตัวกับการใช้ Windows 11 ไปแล้ว ก็เลยใช้ Windows 11 Pro ครับ

ทีนี้มาดูกันบ้างว่าตัว Phantom Canyon ว่ามีหน้าตาเป็นยังไงบ้าง มันจะมีหน้าตาคล้ายๆ กับพวก Set top box ของโทรทัศน์ครับ แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณนึง ผมขอถือว่าด้านที่มีปุ่ม Power อยู่คือด้านหน้าของตัวเครื่องนะ มันก็จะมีรูสำหรับให้อากาศถ่ายเทเพื่อระบายความร้อนภายในตัวเครื่อง มีสล็อตใส่ SD card มีพอร์ต Thunderbolt 4 (ที่เป็น USB-C แบบ USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps ด้วย) กับพอร์ต USB-A อีกสองพอร์ต โดยเป็นพอร์ตเชื่อมต่อถ่ายโอนข้อมูลพอร์ตนึง (จ่ายไฟ 5V 0.5A) อีกพอร์ต ที่เป็นสีเหลืองๆ เป็นพอร์ตที่ทั้งถ่ายโอนข้อมูลก็ได้ และสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ (High charging port) โดยจ่ายกระแสไฟ 5V 1.5A ทั้งคู่เป็น USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps เลย
นอกจากนี้ก็มีช่องเสียบหูฟังแบบคอมโบ (หูฟัง + ไมโครโฟน) 3.5 มม. รองรับระบบเสียง 7.1 channel ปุ่ม Power และไฟ LED แสดงสถานะต่างๆ ประกบไปด้วย ไฟแสดงสถานะของการทำงานของดิสก์ ไฟแสดงสถานะการทำงานของ Ethernet และไฟแสดงสถานะของ Power limit … ผมอ่านใน Datasheet ของ Intel พบว่า ใกล้ๆ กับสล็อต SD card เนี่ย มันมี IR sensor ด้วยนะ แต่บอกตรงๆ หาข้อมูลไม่เจอว่าจะใช้ประโยชน์จาก IR sensor ตรงนี้ยังไง แต่มันคือ Receiver แสดงว่าเอาไว้ใช้งานกับรีโมตคอนโทรลได้ 🤨🤨


ส่วนด้านหลังนั้นก็จะมีช่องเสียบออดิโอ/Optical แบบ 3.5 มม. รองรับระบบเสียง 7.1 channel อันนี้เอาไว้เน้นต่อกับหูฟังอย่างเดียวหรือไม่ก็เสียบต่อกับลำโพง มีพอร์ต 2.5GbE พอร์ต USB-A 4 พอร์ต (USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps) พอร์ต Thunderbolt 4 (เป็น USB-C แบบ USB 3.2 Gen 2 เช่นกัน) พอร์ต HDMI 2.0a และ Mini Display Port (Mini DP) 1.4 ช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC 230 วัตต์ และเราจะเห็นช่องระบายอากาศสำหรับระบบความร้อนของระบบเต็มด้านหลังนี่เลย

การถอดเครื่อง Phantom Canyon ทำได้ไม่ยาก ก็แค่ต้องมีประแจตัวแอลที่แถมมานั่นแหละครับ แกะฝาออกมาแล้วก็จะเห็นแผ่นพลาสติกที่มีการติดสติกเกอร์สีดำเอาไว้ โดยมีการฉลุเป็นลวดลายหัวกะโหลกเอาไว้โชว์บนตัวเครื่อง ซึ่งตรงนี้แหละ คือไอ้ที่เราสามารถเอาแผ่นพลาสติกที่แถมมา ไปตัดสติกเกอร์สีดำ ฉลุเป็นลวดลายต่างๆ มาเปลี่ยนได้ หากเรารู้สึกว่าไม่อยากใช้โลโก้หัวกะโหลก ผมจะเอารูปอวาตารนายกาฝากของผมไปทำก็ได้ แค่ต้องหาร้านสติกเกอร์ทำให้แหละ ทาง Intel มีวิธีการเปลี่ยนไว้ให้บนเว็บไซต์ของเขา

ตัว CPU และการ์ดจอของ Phantom Canyon นี่ถูกติดมากับตัวเครื่องเลยนะ เท่าที่ดู เวลาเราแกะฝาเครื่องออกมา ไอ้ที่เขาให้เราเห็น และแกะเล่นได้ ดูจะเป็น 2 จุดใหญ่ๆ คือ สามารถอัปเกรด RAM ได้ (แน่นอน ก็มันไม่มีมาให้นี่นา) โดยใส่ได้สูงสุด 64GB ครับ ต้องเป็น DDR4-3200 SO-DIMM 1.2V เท่านั้น ส่วนตัว Storage นั้น ให้ใส่ได้สูงสุดสองอัน อันนึงจะเป็น NVMe M.2 SSD 2280 ส่วนอีกอัน จะใส่ได้ทั้ง M.2 2280 และ 22110 ในรูปด้านบน ผมใส่ WD_BLACK SN750 SE ไว้ในสล็อตที่ใส่ได้ทั้ง M.2 2280 และ 22110 ครับ ถ้าเราใส่ SSD ไปสองตัว เราจะสามารถทำ RAID0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ Storage (ในกรณี WD_BLACK SN750 SE พอเป็น RAID0 ก็จะมีความเร็วในการอ่านได้สูงสุดระดับ 7,000MB/s กันเลยทีเดียว)

ตัวเครื่องพอประกอบเสร็จแล้ว เราจะเลือกวางได้ 3 แบบ คือ วางนอนราบไปเฉยๆ เลย หรือจะวางแนวตั้งก็ได้ โดยวางเสียบกับฐานที่เขาให้มานั่นแหละ หรือถ้าไม่อยากให้เกะกะบนโต๊ะเลย ก็เอาไป Mount กับจอแสดงผลก็ได้ (แต่ในกรณีนั้น ก็จะไม่สามารถใช้ขาจับจอได้นะ) ก็เลือกเอาตามความเหมาะสมครับ มันคือจุดเด่นของ Intel NUC นี่แหละ เป็น Mini PC ขนาดเล็ก ไม่เกะกะ
อย่างกรณีของผม ผมก็เอามันไปวางไว้ด้านหลังจอแสดงผลครับ ไม่ค่อยเกะกะเท่าไหร่ แต่ Intel NUC มันก็จะมีข้อเสียตรงที่มันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ หากเราไปเทียบกับพวกคอมพิวเตอร์ประกอบที่สามารถเลือกเคสได้ แถมยังปรับแต่งไฟ RGB โน่นนี่นั่น ทำระบบน้ำแบบเปิด เดินท่อน้ำกันให้สนุกไปเลย อะไรแบบนี้เราจะไม่ได้เห็นบนตัว Intel NUC เพราะมันจะออกมาแนวการเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมาทำเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะครับ

อะแดปเตอร์ของ Phantom Canyon นี่แอบใหญ่มากนะครับ ผมลองเอามาเทียบกับอะแดปเตอร์ของ ASUS ROG Strix ของผม (ก่อนที่จะขายไป) ซึ่งสองตัวนี้เป็นอะแดปเตอร์แบบ 230 วัตต์เท่ากัน แต่ของ Phantom Canyon แม้จะบางกว่าเล็กน้อย แต่ขนาดใหญ่กว่าพอสมควรเลยทีเดียว
ประสบการณ์ในการใช้งาน Phantom Canyon
มาพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานกันบ้าง ก่อนอื่นต้องพูดถึงสเปกก่อนว่าในราคา 38,900 บาท ที่ยังไม่ได้รวม RAM และ SSD เลยเนี่ย เขาให้อะไรมาเป็นคร่าวๆ บ้าง นอกเหนือจากพวกพอร์ตต่างๆ ที่ผมได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้ว มันก็จะมีอะไรบ้าง
*️⃣ CPU ให้มาเป็น Intel® Core™ i7-1165G7 Processor (12M Cache, up to 4.70 GHz) ซึ่งเป็น CPU ที่มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลกราฟิกเลย ซึ่งก็คือ Intel Iris Xe ครับ ตัวนี้ 4-core 8 threads วิ่งเร็วสุด 4.7GHz แต่อย่าเพิ่งดีใจว่าได้ CPU Core i7 นะ เพราะ Core i7-1165G7 เนี่ย ประสิทธิภาพมันแค่พอๆ กับ Core i7 Gen 8 ที่เป็นตระกูล High performance ของโน้ตบุ๊กเอง ถ้าไปชนกับพวก CPU Core i7 ที่ใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปจริงๆ แม้ประสิทธิภาพของ Single core จะไม่แตกต่างกันมาก แต่พอเจอ Multi-core แล้ว แพ้ยับแน่นอน
*️⃣ GPU ก็อย่างที่บอก มันมีติดมากับตัว CPU เลย คือ Intel® Iris® Xe แต่มันก็มีการ์ดจอแยกมาต่างหากอีกอัน คือ Nvidia Geforce RTX 2060 6GB DDR6
*️⃣ รองรับ PCIe Gen 3×4 แอบเสียดายที่ไม่รองรับ PCIe Gen 4 ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย เพราะถ้าเกิดมันรองรับนะ ก็จะเผื่อไปในอนาคตได้อีกพักใหญ่ๆ เลยแหละ (ใครที่อยากได้ตัวที่รองรับ ต้องไป Intel NUC Beast Canyon ซึ่งราคาโคตรแพง แถมนอกจาก RAM, SSD และ OS ที่ต้องหามาใส่เองแล้ว ยังต้องหาการ์ดจอมาใส่เองนะ ไม่งั้นก็ใช้ Intel Irix Xe ไป แต่แลกมาด้วย CPU Core i9 Gen 11 และรองรับ PCIe Gen 4 และอัปเกรดการ์ดจอเองได้นี่แหละ)
*️⃣ รองรับ 2.5GbE มีพอร์ต RJ45 ให้มา 1 พอร์ต และรองรับ WiFi 6 (802.11ax)
*️⃣ รองรับเทคโนโลยีของ Intel อาทิ Intel Optane Memory, Intel Virtualization Technology for Directed I/O, Intel HD Audio Technology, Intel Rapid Storage Technology, Intel Platform Trust Technology (Intel PTT) ซึ่งไอ้ PTT นี่ก็คือ TPM ของ Intel นั่นแหละ

สเปกระดับนี้ ผมคงไม่ต้องมารีวิวให้เสียเวลาว่า สามารถเอามาใช้ท่องเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง ลื่นไหลไหมละเนอะ เพราะผมก็ยัด RAM ไป 32GB (และ Windows ก็ซัดไปทันที 16GB เศษๆ ทุกรอบที่ใช้งาน) ในฐานะเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ประสบการณ์ในการท่องเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง มันก็อยู่ที่ว่าคุณใช้อุปกรณ์เสริมอะไรด้วย อย่างเช่น ผมใช้จอ HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition กับลำโพง Creative Pebble Plus ผมก็จะได้การแสดงผลสูงสุด 4K สบายๆ (ผมต่อจอด้วย Mini Display port) แถมได้รีเฟรชเรต 165Hz ชิลล์ๆ ส่วนเรื่องเสียง ผมก็โอเคกับคุณภาพเสียงที่ได้จากลำโพง Creative Pebble Plus ที่เป็น 2.1 channel อยู่แล้ว ใครอยากได้ฟินกว่านี้ เลือกจอภาพและลำโพงตามสะดวกเลยครับ

ให้ดูก่อนว่า SSD WD_BLACK SN750 SE ของผมไม่ช้านะเออ วิ่งได้ตามสเปกแหละ ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential คือ 3,311.32MB/s และ 2,816.46MB/s ตามลำดับ หมดห่วงเรื่องประสิทธิภาพ อันนี้เรียกว่าที่สุดสำหรับ PCIe Gen 3×4 แล้ว แต่จริงๆ SSD ตัวนี้ก็รองรับ PCIe Gen 4 ด้วยนะ แต่หากใครอยากได้ประสิทธิภาพสูงกว่านี้ อาจจะเลือกใส่ไปอีกตัว ทำ RAID0 ซะเลย หรือไม่ก็เปลี่ยนเป็น WD_BLACK SN850 แทนก็ได้ครับ แรงสุดๆ
แต่อุตส่าห์ซื้อ Phantom Canyon ที่มีการ์ดจอ GeForce RTX 2060 มาแล้ว มันก็ต้องมองเรื่องการเล่นเกมเอาไว้ด้วยสิ ถ้าเทียบกันกับโน้ตบุ๊กตัวเก่าแล้ว ก็ต้องบอกก่อนเลยว่า GeForce RTX 2060 นี่ ก็จะแรงกว่า GeForce GTX 1660Ti ที่ผมใช้ก่อนหน้าขึ้นมาอีกนิด ด้วยความที่จำนวนทรานซิสเตอร์เยอะกว่า จำนวน CUDA core เยอะกว่า แถมรองรับเทคโนโลยี Ray tracing (มี RT core) และ DLSS (มี Tensor Core) ด้วย


ผมลองประเมินแบบง่ายๆ ด้วยการใช้ Final Fantasy XV Benchmark มารันแบบ Full HD 1920×1080 ด้วยกราฟิกระดับสูงดู คะแนนที่ได้คือ 6,320 คะแนน จัดอยู่ในประสิทธิภาพระดับสูง (อ่านคำอธิบายระดับของประสิทธิภาพที่วัดได้) ซึ่งหากเป็นโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Strix G ที่ผมเคยใช้ จะได้ 5,643 คะแนน (แต่ต้องสังเกตด้วยว่าตัวโน้นแรม 16GB และ SSD ความเร็วแค่ อ่าน 1,823MB/s เขียน 1,064MB/s นะ) และเมื่อลองเพิ่มความละเอียดในการแสดงผลไปเป็น 2K ดู ก็ยังได้ 4,641 ที่อยู่ในเกณฑ์ Fairly High

แล้วถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ที่มีสเปกคล้ายๆ กัน ใช้ GeForce RTX 2060 เป็นยังไงบ้าง ก็ลองทดสอบด้วยโปรแกรม 3DMark ดูครับ การทดสอบแบบ Time Spy v1.2 คะแนนที่ได้คือ 6,153 แต่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6,395 ก็เรียกว่า ต่ำกว่าปกติชนไปนิดหน่อย (ราวๆ 4%) แต่เขาก็ประเมินนะว่า ถ้าเอาไปเล่นเกม Battlefield V ในแบบ 2K Ultra นี่น่าจะได้เฟรมเรต 65+ fps แต่ถ้า GTA V แบบ 2K Ultra เฟรมเรตจะตกลงมาเหลือ 40+ fps

ลองทดสอบ Ray tracing บ้างครับ ด้วยตัว Benchmark Port Royal ก็ได้ 3,447 คะแนน ซึ่งก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 3,565 คะแนน อยู่เล็กน้อยอยู่ดี (ประมาณ 3.4%) แอบรู้สึกว่าทำไม System นี่มันคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจังนะ 🤣🤣

ถัดมา ลองฟีเจอร์ DLSS ของ Nvidia บ้างครับ ฟีเจอร์นี้คือการให้ AI มาช่วยประมวลผล เพื่อเพิ่มคุณภาพของกราฟิกให้มีความคมชัด ละเอียดขึ้น แม้จะเล่นที่ความละเอียดต่ำ ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถเล่นเกมได้ที่เฟรมเรตสูงขึ้น เมื่อลองทดสอบด้วย 3DMark แล้วพบว่า ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เฟรมเรตเหลือ 16.14 fps แล้ว หากเปิดใช้ DLSS จะได้เฟรมเรตกลับมาที่ 41.76 fps เลย


แต่การทดสอบยังไงมันก็แค่การทดสอบ มันสู้ไม่ได้กับการลองเล่นจริงๆ ครับ ฉะนั้นก็ลองเลย เกมที่อยากเล่น เลยไปดาวน์โหลด Resident Evil Village ตัวเดโมมาลองก่อน (ยังไม่อยากซื้อ เพราะแพงอะ เกือบสองพันแน่ะ) ต้องบอกแบบนี้ครับ ความละเอียดระดับ Full HD โดยที่ปรับคุณภาพกราฟิกไว้ซักราวๆ กลางๆ เฟรมเรตจะได้ราวๆ 38fps โดยเฉลี่ย มีลงไปต่ำกว่านั้นบ้าง เวลาเจอกราฟิกหนักๆ หน่อย แต่ถ้าอยากได้แบบ 60+ fps ต้องปรับความละเอียดของการแสดงผลลงไปเหลือ 1366×768 กันเลยทีเดียว
แต่พอเปิด Ray tracing เท่านั้นแหละ เกมโอเวอร์ 🤣🤣 เฟรมเรตตกลงไปถึงระดับต่ำกว่า 10 fps เลย ถ้าอยู่ที่ความละเอียด Full HD แต่ถ้าผมยอมลดความละเอียดลงไปเหลือซัก 1366×768 ก็จะได้เฟรมเรตกลับมาที่แถวๆ 20-35 fps อยู่ ก็พอเล่นได้สบายๆ แหละ แต่ผมก็แปลกใจมากเลยนะ เพราะว่าเคยดูบน YouTube อะ เขาก็ใช้ GeForce RTX 2060 เหมือนกัน เล่นที่ Full HD มันเฟรมเรตไปได้ถึง 100+ fps เลย ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะความที่ Phantom Canyon มันเป็น Mini PC นี่แหละ ระบบระบายความร้อนมันไม่เริ่ดมาก เพราะสังเกตได้ว่าพอเล่นเกม อุณภูมิของตัวชิปการ์ดจอมันวิ่งไปที่ 80+ องศาเซลเซียสเลย เลยน่าจะโดนลดสปีดลง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเล่นเกมไปซะงั้น หรือจริงๆ แล้ว อาจจะเป็นเพราะผมใช้ตัวเดโม ที่อาจจะไม่ได้รองรับโน่นนี่นั่นสมบูรณ์เท่าไหร่? เดี๋ยวไว้ถ้าเกิดมีตังค์ไปซื้อ Resident Evil Village มาลองจริงๆ แล้วจะมาอัปเดตอีกที
แต่ตอนนี้แอบรู้สึกว่า อุตส่าห์ซื้อคอมพิวเตอร์ CPU Core i7 มีการ์ดจอ RTX 2060 มาทั้งที อย่างน้อยๆ มันก็ควรจะเล่นเกมที่ Full HD ได้ลื่นๆ แบบ 60+ fps แม้จะเปิด Ray tracing สิฟะ … เดี๋ยวมีโอกาสต้องหาเวลามาดูว่าจะทำยังไงให้สามารถเล่นเกมได้ลื่นๆ เฟรมเรตสูงๆ ในแบบ Full HD แฮะ
บทสรุปการรีวิว ntel® NUC 11 Enthusiast Kit – NUC11PHKi7C Phantom Canyon Mini PC
ก็เรียกว่าเป็น Mini PC ที่ทรงประสิทธิภาพตัวนึงในท้องตลาดละครับ ถ้าใครต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกะทัดรัด สามารถเอามาใช้ทำงานก็ได้ เอามาเล่นเกมก็ดี โดยที่มีงบประมาณในระดับนึง ตัวนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีครับ แต่แน่นอนว่าพวกคอมพิวเตอร์ประกอบ ที่เราเลือกสเปกได้ดั่งใจกว่าสุดๆ ก็อาจจะสามารถให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมได้ดีกว่าแหละ (ยกเว้นผมจะหาเจอว่าทำไม Phantom Canyon มันถึงเล่นเกมได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น)
แต่ในยุคที่การ์ดจอก็แพง (เพราะเขาเอาไปขุดเหรียญกัน) Phantom Canyon มันก็เป็นทางเลือกในการมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มีการ์ดจอ GeForce RTX 2060 ที่โอเคอยู่นะ เพียงแต่ต้องเข้าใจอย่างนึงว่าประสิทธิภาพของ Phantom Canyon มันจะมาแนวโน้ตบุ๊กเกมมิ่งมากกว่าเกมมิ่งเดสก์ท็อปนะครับ ฉะนั้นมันก็จะเทียบกันไม่ได้ซักเท่าไหร่ ถ้าใครคิดว่าอยากจะซื้อมาเพื่อเล่นเกมเป็นหลัก และอยากได้ประสิทธิภาพดีๆ เลย ผมแนะนำให้พิจารณาคอมพิวเตอร์ประกอบไปเลยดีกว่า แต่เตรียมงบไว้ดีๆ ล่ะ 🤣🤣
ท้ายสุดนี้ หากเห็นว่าบล็อกของผมมีประโยชน์ และอยากสนับสนุน นอกจากจะไปกด Like ที่เพจ kafaakblog ของผมแล้ว ก็สามารถไป Subscribe เป็นผู้สนับสนุนได้นะฮะ ถือซะว่าอุดหนุนค่าไฟให้ผมได้ไว้เขียนบล็อก เขียนรีวิวให้อ่านกัน 35 บาท/เดือน เราจะมี Badge ในฐานะ Supporter ให้ด้วยนะเออ ไปสมัครกันได้ง่ายๆ ด้วยการคลิกที่รูปด้านล่างนี้เลยฮะ ถ้าจะให้ดี สมัครผ่านเว็บเบราว์เซอร์นะฮะ เพราะถ้าทำผ่านแอป (บน Android หรือ iOS) Facebook จะเอาหัวคิวไป 30% เพื่อเอาไปจ่ายให้ Apple หรือ Google 🤣🤣