Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) โน้ตบุ๊กจอครึ่ง ตัวตึง สเปกแรง การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX4060 ในราคา 89,990 บาท
โน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV)
รีวิว

รีวิว ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) โน้ตบุ๊กจอครึ่ง ตัวตึง สเปกแรง การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX4060 ในราคา 89,990 บาท

เมื่อซักสัปดาห์ก่อน ASUS Thailand ส่ง ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) มาให้ผมรีวิวครับ ซึ่ง ASUS Zenbook ตระกูล Duo นี่เป็นโน้ตบุ๊กที่ผมชอบครับ ใครที่ติดตามอ่านบล็อกของผม จะเห็นได้ว่าผมรีวิวโน้ตบุ๊กตระกูลนี้มาหลายรุ่นแล้ว ผมเองก็มี ASUS Zenbook 14 Duo (UX482EA) ใช้เองด้วย เพราะโดยส่วนตัว ผมเป็นพวกชอบใช้งานคอมพิวเตอร์แบบหลายจอครับ การที่โน้ตบุ๊กมันมีเพิ่มมาให้อีกครึ่งจอ ก็จะช่วยให้เราพกโน้ตบุ๊กเครื่องเดียวก็พอถูไถได้ครับ

ออกตัวล้อฟรี…

โน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ตัวนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาลองใช้เพื่อเอาประสบการณ์ในการใช้งานมาเล่าสู่กันอ่านครับ

แกะกล่องของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ตัวกล่องเล็กๆ ที่ใส่ตัวโน้ตบุ๊กมา กล่องใส่อะแดปเตอร์และ ASUS Pen แยกต่างหาก และกระเป๋าโน้ตบุ๊กที่แถมมาให้ ดูๆ แล้ว เหมือนจะเป็นชุดมาตรฐานของโน้ตบุ๊กพรีเมียมของ ASUS เลยนะ เพราะตอนผมรีวิว ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ก่อนหน้านี้ มันก็ประมาณนี้เลย

สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในกล่องโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV) ถูกเอามาเรียงอยู่บนพื้น

ดูที่ตัวโน้ตบุ๊กกันก่อน หน้าจอแสดงผลหลักเป็นขนาด 14.5 นิ้ว แบบ OLED ความละเอียด 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) เป็นอัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 ที่แทบจะเรียกว่าเป็นมาตรฐานนึงของโน้ตบุ๊กสมัยนี้แล้ว รองรับทัชสกรีนด้วย สเปกของหน้าจอนี่ให้มาแบบจัดเต็มอยู่นะ ทั้งรีเฟรชเรต 120Hz ขอบเขตสี 100% DCI-P3 PANTONE Validated และมีขอบจอที่บางมากๆ ทำให้มีสัดส่วนหน้าจอต่อพื้นที่ตัวเครื่องอยู่ที่ 93% เลยทีเดียว เว็บแคมเป็นแบบความละเอียด Full HD 1080p (2.1 ล้านพิกเซล) มี IR camera รองรับ Windows Hello แต่ไม่มี Privacy shutter นะ

โน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV)

ตัวเครื่องส่วนที่เป็นคีย์บอร์ด สำหรับโน้ตบุ๊กตระกูล Duo มันจะแปลกตากว่าโน้ตบุ๊กโดยทั่วไปตรงพื้นที่ครึ่งนึงถูกจอแสดงผลที่เรียกว่า ScreenPad+ กินไปครับ มันเป็นจอแสดงผลแบบ IPS LCD ขนาด 12.7 นิ้ว (ตัวเลขจะดูเหมือนใหญ่ เพราะว่าการวัดขนาดหน้าจอมันวัดจากเส้นทะแยงมุม) ความละเอียด 2,880×864 พิกเซล และแน่นอนว่ารองรับทัชสกรีน

ส่วนคีย์บอร์ด และ ScreenPad Plus ของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV)

ถัดมาก็จะเป็นส่วนของคีย์บอร์ด ที่จะดูแออัดกันหน่อย เพราะขนาดของตัวเครื่องจอ 14.5 นิ้วก็ไม่ได้ใหญ่มาก แต่คีย์บอร์ดก็โดน TouchPad ขนาดจุ๋มจิ๋มมาแย่งพื้นที่ทางด้านขวาไปอีก แต่ต้องบอกเลยว่า หลังจากที่ ASUS ทำบ้งมารอบนึงตอน Zenbook 14 Duo (UX481) รุ่นแรก ที่ผมบ่นเรื่องขนาดของปุ่ม Shift ด้านขวาแล้ว เขาก็วางเลย์เอาต์ปุ่มมาได้ดีโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้ครับ

แต่พอโน้ตบุ๊กมันมีสเปกโหด ทั้ง CPU และ GPU ก็ร้อนแรงซะเหลือเกิน ระบบระบายความร้อนมันก็ต้องดี และทำให้ดีไซน์ของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) นี่ต่างจาก ASUS Zenbook 14 Duo (ไม่ Pro) ที่ผมใช้อยู่ตรงที่มันต้องมีช่องระบายความร้อนที่เยอะขึ้นครับ ดังนั้น รอบๆ ตัวของเครื่องเราจะเห็นช่องระบายความร้อนทั้งด้านขวา และด้านหลังเลย

ด้านหลังของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV) มีช่องระบายอากาศ พอร์ต HDMI สล็อตอ่าน MicroSD card และช่องเสียบ DC-In

พวกพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ก็กระจัดกระจายไปรอบๆ ตัวเครื่องด้วย ด้านซ้ายเราจะเห็นช่องเสียบออดิโอคอมโบแจ็ก 3.5 มม. เพียงช่องเดียว ส่วนด้านขวาเราจะเห็นพอร์ต Thunderbolt 4/USB-C 2 พอร์ต พอร์ต USB-A (USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps) อีกช่องนึง และไฟ LED สำหรับแสดงสถานะการทำงานของเครื่องและการชาร์จแบตเตอรี่ กับช่องระบายอากาศ ส่วนด้านหลังเราจะเห็นพอร์ต HDMI 2.1 สล็อตอ่าน MicroSD card ช่องเสียบ DC-In และช่องระบายอากาศครับ

ด้านใต้ของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV)

ด้านใต้ของตัวเครื่อง ผมว่าดีไซน์สวยดี มีแผ่นยางกันลื่นที่ติดเอาไว้เยอะทีเดียว เพื่อให้ยกตัวเครื่องขึ้นสูง ช่องระบายความร้อนด้านใต้ตัวเครื่องสามารถดูดอากาศเย็นเข้าไปได้ ลำโพงของตัวเครื่องอยู่ทางด้านหน้าของเครื่อง มีช่องลำโพงข้างละ 2 ช่อง แบบสเตริโอ คิดว่าออกแบบมาเพื่อให้เสียงสามารถออกมาได้เต็มที่ และให้คุณภาพเสียงที่ดีแหละ เพราะเขาจูนเสียงโดย harman/kardon

ภาพด้านข้างของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV) ตอนที่กางหน้าจอกว้างสุด

ด้วยความที่ตัวเครื่องมันประกอบไปด้วย 2 จอ (จริงๆ ผมเรียกจอครึ่ง) ก็เลยน่าเสียดายที่มันยังไม่สามารถกางหน้าจอแสดงผลได้ 180 องศาแบบที่ผมชอบนะ แต่มันก็กางหน้าจอหลักได้ถึง 140 องศา ซึ่งผมก็ถือว่ามากพอสำหรับการใช้งานส่วนใหญ่แล้ว ส่วนหน้าจอ ScreenPad+ เนี่ย เขาออกแบบมาให้กางเอียงได้ตามความเอียงของหน้าจอหลัก และทำมุมเอียงสูงสุดที่ 12 องศา และช่องว่างระหว่าง ScreenPad+ กับตัวเครื่อง เขาก็ไม่ปล่อยให้สูญเปล่าไปเฉยๆ นะ เขาก็มีการใส่พัดลมดูดอากาศ เพื่อให้เป็นช่องสำหรับดูดอากาศเข้ามาระบายความร้อนได้เพิ่มอีก

โดยรวมถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่สวยเลยแหละครับ แต่ก็จะแอบมีน้ำหนักประมาณนึงเพราะว่าระบบระบายความร้อนของเครื่องสเปกแรงๆ มันก็จะทำให้น้ำหนักตัวเครื่องมันมากขึ้น เจ้านี่ก็เลยหนักประมาณ 1.78 กิโลกรัม แต่ที่โหดไม่แพ้กันคืออะแดปเตอร์ที่หนัก 553 กรัม รวมๆ แล้ว พกสองตัวนี่คือ 2.3 กิโลกรัมเลยทีเดียว

สเปกและประสิทธิภาพของ ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV)

ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) นี่ ในสนนราคา 89,990 บาท ก็ถือว่าให้สเปกมาค่อนข้างจัดเต็มอยู่ เรียกว่าใกล้ๆ กับ ASUS ProArt Studiobook 16 OLED ที่ผมรีวิวไปก่อนหน้าเลยทีเดียว โดยราคาต่างกัน 10,000 บาทเนี่ย สิ่งได้หายไปหลักๆ เลยก็คือขนาดหน้าจอที่เล็กลงไปหน่อย และการ์ดจอที่สเปกลงไปเหลือ GeForce RTX4060 กับ CPU ที่เปลี่ยนจาก i9-13980HX มาเป็น i9-13900H ครับ

สเปกรายละเอียด
หน่วยประมวลผลIntel® Core™ i9-13900H 14-core 20-thread
กราฟิกNVIDIA® Geforce RTX™ 4060 8GB GDDR6
หน่วยความจำ32GB LPDDR5 (on-board)
สื่อบันทึกข้อมูล1TB M.2 NVMe PCIe 4.0 SSD
หน้าจอแสดงผลหน้าจอหลัก: 14.5 นิ้ว 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) OLED 16:10 120Hz
หน้าจอรอง: ScreenPad+ 12.7 นิ้ว (2,880×864 พิกเวล) IPS LCD 120Hz
กล้องเว็บแคม 1080p พร้อม IR camera
ระบบเสียงBuilt-in array microphone
Stereo speaker (harman/kardon)
พอร์ตเชื่อมต่อ2×Thunderbolt 4/USB-C
1×USB-A (USB 3.2 Gen 2)
1×HDMI 2.1 TMDS
1×3.5mm Combo audio jack
1×DC-In
1×MicroSD card reader
การเชื่อมต่อไร้สายWi-Fi 6E (802.11a/b/g/n/ax)
Bluetooth 5.2
แบตเตอรี่76Wh
น้ำหนัก
(จากที่ชั่งได้จริง)
ตัวเครื่อง 1.78 กิโลกรัม
อะแดปเตอร์ DC 5.53 กิโลกรัม
ราคา89,990 บาท

ทีนี้มาดูในรายละเอียดเพิ่มกันกันบ้างว่าประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์แต่ละอย่างที่ให้มานั้นเป็นยังไงกันบ้าง เริ่มจากอะไรที่พื้นฐานที่สุดก่อน อย่างความเร็วของ SSD ซึ่งเมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 แล้ว ได้ความเร็วของการอ่านและเขียนแบบ Sequential สูงสุดอยู่ที่ช่วง 6.4 กิกะไบต์ต่อวินาที และ 4.8 กิกะไบต์ต่อวินาที ตามลำดับ ถือว่าเร็วไม่เลว และน่าจะใกล้ๆ กับ ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ที่ผมรีวิวไปก่อนหน้านี้ ความเร็วระดับนี้ จะเอามาเล่นเกม ตัดต่อวิดีโอ ทำกราฟิก คือเหลือเฟือมาก

ถัดมา เรามาดูเรื่องของประสิทธิภาพของ CPU กันบ้างครับ ผมใช้โปรแกรม Cinebench R23 ในการวัดประสิทธิภาพของ CPU ในการเรนเดอร์ภาพทั้งแบบ Single core และ Multi core ได้คะแนน 1,989 และ 16,638 คะแนน ตามลำดับ คะแนนถือว่าแรงเวอร์ดีอยู่ แต่ด้วยความที่เป็น 14-core 20-thread ก็จะได้คะแนนในส่วนของ Multi core สู้ ASUS ProArt Studiobook 16 (H7604) ที่มี 24-core 32-thread ไม่ได้ครับ แต่ถ้าเทียบกับ Zenbook 14 Duo รุ่น CPU Intel Core i7 Gen 11th แบบที่ผมใช้อยู่นี่ละก็ เรียกว่าต่างกันเวอร์วังมากเลยแหละ เอาจริงๆ สเปกแรงระดับนี้ ถ้าผมจะซื้อมาทำงาน ผมไม่ต้องใช้การ์ดจอแยกก็ได้นะ เหลือเฟือ

จากนั้นก็มาดูที่ประสิทธิภาพของการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 กันบ้างครับ ผมลองใช้โปรแกรม Benchmark ของเกม Final Fantasy XV ในการวัดประสิทธิภาพ โดยลองที่ความละเอียด Full HD ในแบบ Standard และ High quality ดู ผลที่ได้ก็ต้องบอกว่าถ้าเราคิดจะเอาเครื่องนี้ไปเล่นเกม ในเรื่องความลื่นไหลของการเล่น น่าจะหมดห่วงแหละ โดยเฉพาะถ้าเราจะแสดงผลแค่ระดับ Full HD นะ

คะแนนในระดับ Standard quality Full HD นี่ได้ 11,615 คะแนน เรียกว่าสูงมาก (Very high) ส่วนคะแนนในระดับ High quality Full HD ก็ได้ 8,511 คะแนน อยู่ในเกณฑ์สูง (High) ผมลองปรับความละเอียดของการแสดงผลไปที่ 2K (เพราะหน้าจอแสดงผลมัน 2.8K นิ) แล้วดูคะแนนต่อ Standard quality 2K ได้ คะแนน ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ ส่วน High quality 2K ได้ คะแนน ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูง (High) ก็ถือว่าโอเคอยู่นะ

มาดูที่ประสิทธิภาพในการทำงานโดยทั่วไปของโน้ตบุ๊กกันบ้าง ก็ใช้โปรแกรม PCMark 10 ในการวัดประสิทธิภาพครับ ซึ่งคะแนนที่ได้ก็ถือว่าไม่เลว โดยรวมได้ 7,862 คะแนน และคะแนนในส่วนของ Essentials ที่เป็นการทำงานตามปกติของคอมพิวเตอร์ เช่น การรันโปรแกรม การประชุมออนไลน์ การท่องเว็บ ก็ได้สูง 11,366 คะแนน ส่วนคะแนน Digital content creation ก็ได้ 11,873 คะแนน เรียกว่าจะเอามาตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอและเรนเดอร์ภาพนี่ก็ทำได้สบายๆ เอามาเรื่องการทำงานก็ไม่น่าห่วง คะแนนในส่วนของ Productivity สูงอยู่ที่ 9,774 คะแนน

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ด้วยโปรแกรม PCMark 10

ปิดท้ายเป็นเรื่องของขอบเขตของสีของจอแสดงผลบ้าง จอหลัก 14.5 นิ้ว OLED นี่ ก็ลองวัดออกมาแล้วได้ตามสเปกครับ คือ 100% ทั้ง sRGB และ DCI-P3 และได้ 92% NTSC กับ 94% AdobeRGB เรียกว่าขอบเขตสีกว้างเลยแหละ ใครต้องการจอสีค่อนข้างตรง เรียกว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้ตอบโจทย์

แต่ด้วยความที่มันมีจอที่สองด้วย คือ ScreenPad+ และไม่ได้เป็น OLED แต่เป็น IPS LCD ผมก็แอบคิดว่า แล้วมันจะสเปกออกมาเป็นยังไง เพราะในสเปกที่ทาง ASUS ประกาศไว้ในเว็บไซต์ ก็ไม่ได้พูดอะไรถึงเรื่องนี้ แต่ถ้าจะให้ประสบการณ์ในการใช้งานดี มันก็ต้องสเปกขอบเขตสีพอๆ กันนะ เพื่อให้สีของทั้งสองจอมันตรงกัน

ผลการวัดขอบเขตสีเรียกว่าประทับใจครับ สองจอมีสเปกใกล้ๆ กันเลย (จอ ScreenPad+ แอปขอบเขตสีแคบกว่าจึ๋งนึง) ฉะนั้นน่าจะหมดห่วงเรื่องสีตรงไม่ตรง และสีของจอทั้งคู่ตรงกันไหม … คำตอบน่าจะชัดเจนว่าตรงกันครับ (หรือ Calibrate ให้ตรงกันไม่ยาก)

เอาจริงๆ แค่เห็นสเปกเครื่องก็น่าจะคาดเดาได้อยู่แล้วว่าโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ตัวนี้ จะเอามาทำงาน ท่องเว็บ เล่นเกม ตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ มันคือสเปกเหลือเฟือหมดแหละ สมราคา 89,990 บาทของมันจริง

ประสบการณ์ในการใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV)

ด้วยรูปทรงของตัวโน้ตบุ๊ก ก็ต้องบอกว่าถ้าใครจะต้องพกพาไปไหน ไม่น่าจะลำบาก ตัวเครื่องไม่ได้ใหญ่หรือหนามาก พวกเป้โน้ตบุ๊กส่วนใหญ่คือใส่ได้สบายๆ ใครไม่มีเป้ เขาก็แถมมาให้แล้ว แต่ถ้าจะติดขัดอะไรซักอย่าง ก็น่าจะเป็นเรื่องของอะแดปเตอร์ชาร์จไฟนั่นแหละ ที่หนักครึ่งกิโลกรัม และมีขนาดใหญ่เอาเรื่อง พกไปด้วยคือเกะกะมากครับ แต่หากคุณไม่ได้กะจะเอาไปเสียบปลั๊กคาไว้เพื่อเล่นเกมตลอดเวลา แค่กะว่าเอาไปทำงาน เสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่บ้าง การหาอะแดปเตอร์ 100 วัตต์ แบบ GaN นี่ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันครับ เพราะพอร์ต Thunderbolt 4/USB-C ที่ให้มาสองพอร์ต มันรองรับทั้ง Power delivery และ Display Port ด้วย เพียงแต่ตอนชาร์จมันจะขึ้นว่า Slow charge แต่ก็เรียกว่าชาร์จแบตเตอรี่แก้ขัดได้

โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่มีโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV) วางอยู่ด้านซ้ายสุด และจอพกพา 2 จอวางอยู่ตรงกลางและด้านขวา

ผมไม่มีปัญหาอะไรกับหน้าจอแสดงผลทั้งจอหลัก และจอ ScreenPad+ เลย เพราะโดยส่วนตัวผมก็ใช้โน้ตบุ๊กตระกูล Zenbook Duo เป็นโน้ตบุ๊กทำงานอยู่แล้ว ดีซะอีก พอเอามาใช้กับโต๊ะทำงานที่บ้าน ซึ่งมีจอพกพาอีก 2 จออยู่แล้ว รวมๆ กันเลยกลายเป็น 3 จอครึ่ง มีพื้นที่ในการทำงานเหลือเฟือทีเดียว ถ้ากลัวเรื่องสเปกจอพกพามันสู้กันไม่ได้ ผมแนะนำจอ UPERFECT 15.6 นิ้ว QLED Full HD 100% DCI-P3 ครับ สเปกด้อยกว่านิดนึง แต่เอามา Calibrate สีให้ตรงกันได้แหละ

จอแสดงผล ScreenPad+ เนี่ยอาจจะดูแล้วงงๆ ว่า มันเอาไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ก็ขอบอกเลยว่าได้หลายอย่างนะ ที่ผมใช้บ่อยๆ ก็มี

💻 ใช้ในการเปิด Windows Explorer หลายหน้าต่างพร้อมกัน เพื่อลากไฟล์โยนไปมาเพื่อถ่ายโอนไฟล์ได้สะดวกๆ Windows 11 มันมีฟีเจอร์เปิด Tab ภายใน Windows Explorer แล้วก็จริง แต่ผมก็ยังชอบที่จะเห็นสองหน้าต่างพร้อมกัน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาสลับแท็บอยู่ดี

💻 ใช้เปิดอ่านข้อมูลใน ScreenPad+ เพื่ออ้างอิง แล้วพิมพ์ข้อมูลบนหน้าจอแสดงผลหลักตอนที่จะต้องทำงานนอกสถานที่ผ่านโน้ตบุ๊ก หรือนั่งทำงานแบบไวๆ โดยเอาใช้โน้ตบุ๊กแบบวางตักก็ถือว่าสะดวก

💻 บางโปรแกรมที่รองรับการทำงานแบบแสดงผลหลายหน้าจอ เช่น โปรแกรมตระกูล Adobe (ตั้งค่าการแสดงเครื่องมือบน ScreenPad+ ผ่านโปรแกรม ProArt Creator Hub) หรือ โปรแกรมตัดต่อวิดีโออย่าง DaVinci Resolve นี่ ทำให้มีพื้นที่ในการแสดงผลเครื่องมือของโปรแกรม หรือเข้าถึงเครื่องมือของโปรแกรมสะดวกขึ้น

โน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV) เมื่อเปิดใช้งานโปรแกรม DaVinci Resolve แบบใช้งานสองหน้าจอ

💻 ตอนประชุมออนไลน์ แล้วต้องแชร์หน้าจอหรือดูการนำเสนอไปพร้อมๆ กับการเปิดหน้าต่างแชท มันเอาหน้าต่างแชทไปวางใน ScreenPad+ แล้วไม่กินเนื้อที่การแสดงผลของหน้าจอหลัก ดีงามมาก

ดีไซน์คีย์บอร์ดถือว่าทำออกมาได้ดี แน่นอนว่าด้วยพื้นที่ที่จำกัด ก็อาจจะทำให้คนที่เคยชินกับคีย์บอร์ดที่กินพื้นที่เต็มด้านกว้างของโน้ตบุ๊กรู้สึกว่ามันเล็กๆ ไปหน่อย แต่พอใช้ไปซักพักจะเริ่มชินครับ ตำแหน่งของแป้นพิมพ์ต่างๆ ก็อยู่ในที่ที่มันควรจะอยู่จริงๆ ปุ่มไหนที่เรามักจะกดบ่อยๆ ขนาดมันก็ใหญ่กดสะดวกอยู่

บริเวณ TouchPad ของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo (UX8402VV)

TouchPad ด้านขวา เล็กไปหน่อยสำหรับคนที่ชินกับของโน้ตบุ๊กทั่วไปที่แข่งกันใหญ่ แต่ถ้าใครเคยใช้คีย์บอร์ดไร้สายแบบที่มี TouchPad ในตัวจะไม่รู้สึกแปลกอะไรกับคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กตัวนี้ เพราะมันมาสไตล์เดียวกัน และเอาจริงๆ พอ TouchPad มันถูกย้ายไปด้านขวา ความรู้สึกของการใช้งานของผม มันก็คุ้นเคยกว่านะ เพราะมันคล้ายกับการใช้เมาส์ แต่แอบเสียดายว่า ASUS ไม่ยอมใส่ฟีเจอร์ NumPad 2.0 มาให้ด้วย ไม่เหมือน ASUS ROG Zephyrus Duo 16 ก็ไม่แน่ใจว่าทำไม โน้ตบุ๊กเกมมิ่งมีฟีเจอร์นี้ แต่โน้ตบุ๊กสาย Content creator และทำงาน ดันไม่มีซะงั้น

แต่ด้วยดีไซน์ที่แปลกกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป ถ้าใครคิดจะซื้อมาเล่นเกมด้วยคีย์บอร์ดของมันเองนี่ผมว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเลยนะ ใครจะซื้อมาเล่นเกม แนะนำให้ต่อคีย์บอร์ดและเมาส์แยกออกมา หรือซื้อจอยมาใช้ดีกว่าครับ

ในส่วนของพอร์ตการเชื่อมต่อ เรียกว่าพอมีพอใช้ครับ ไม่ได้น้อยเกินไป และก็ไม่ได้เยอะเกินควร ด้วยพื้นที่ค่อนข้างจำกัดละนะ เนื่องจากต้องเอามาเป็นช่องระบายความร้อนด้วย แต่ผมก็อยากแนะนำว่าถ้ามีพอร์ต Thunderbolt 4 มาให้สองพอร์ตแล้ว ก็ควรจะใส่ไว้ข้างละพอร์ตนะ เผื่อใครจะเอามาเสียบกับอะแดปเตอร์หรือต่อจอแสดงผลภายนอก มันจะได้เลือกเสียบได้ทั้งซ้ายและความตามสะดวก ยังดีว่าพอร์ต HDMI มันอยู่ด้านหลังไปเลย ถ้าจะต้องเชื่อมต่อกับจอแสดงผลภายนอกที่รองรับ HDMI นี่ก็สะดวกอยู่

ระบบเสียงของตัวเครื่องถือว่าทำได้ดี เสียงดังดีมาก คุณภาพเสียงดีมากทีเดียว แน่นอนว่าลำโพงแค่นี้ไปคาดหวังเสียงเบสหนักๆ ตึบๆ คงไม่ได้ แต่ถ้ามองว่าเราจะดูหนัง ฟังเพลง โดยไม่ต้องลำโพงแยกออกมาเลย ลำโพงของโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ก็ถือว่าดีเพียงพอครับ นอกจากนี้ ASUS ยังให้เราปรับทั้งในส่วนของลำโพงและไมโครโฟนเพิ่มได้ผ่านโปรแกรม MyASUS ด้วย เพื่อใช้ฟีเจอร์ AI Noise-Canceling ในการตัดเสียงรบกวน ซึ่งมันจะมีประโยชน์ตอนที่เราประชุมออนไลน์

นอกจากนี้ โปรแกรม MyASUS ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่ช่วยให้เราปรับแต่งค่าของโน้ตบุ๊กได้ เช่น

💻 ตั้งการชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่โดยให้จำกัดการชาร์จไว้ที่ 80% เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานแบบต้องเสียบสายชาร์จตลอดเวลา

💻 ตั้งค่าความเร็วการทำงานของพัดลมระบายความร้อนให้เหมาะสม เพราะในบางสถานที่ เราก็ไม่อยากให้เสียงพัดลมมันดังเกินไป (บอกเลยว่าเวลาพัดลมมันทำงานเต็มที่ตอนผมรันโปรแกรม Benchmark นี่ เสียงดังมาก)

💻 เปิด-ปิดการใช้งานฟีเจอร์ MUX เพื่อให้ซอฟต์แวร์เลือกใช้งานกราฟิกชิประหว่าง Intel Iris Xe หรือ NVIDIA GeForce RTX4060 เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน คือ อันไหนไม่ต้องใช้การ์ดจอแรงๆ ก็ไปใช้ Intel Iris Xe ซะ เพื่อจะได้ไม่เปลืองแบตเตอรี่

💻 ตั้งค่าหน้าจอการแสดงผล ปรับอัตราการรีเฟรชภาพหน้าจอ ฯลฯ

💻 ใส่เอฟเฟ็กต์ต่างๆ ให้กล้องเว็บแคม เช่น การเบลอฉากหลัง

แต่สำหรับพวกเอฟเฟ็กต์สำหรับกล้องเว็บแคมนั้น การใช้การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 ทำให้เราสามารถติดตั้งโปรแกรม NVIDIA Broadcast ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยใส่เอฟเฟ็กต์ต่างๆ ให้กับกล้องเว็บแคมได้เช่นกัน เช่น จัดภาพตัวเราให้อยู่กึ่งกลาง การสร้างดวงตาเพื่อให้มองกล้องตลอดเวลา การเบลอฉากหลัง เป็นต้น มันเป็นโปรแกรมฟรีที่ใช้ได้กับคอมพิวเตอร์ที่มีการ์ดจอของ NVIDIA เท่านั้น และบอกเลยว่าผมชอบมากกว่าเอฟเฟ็กต์ของ ASUS ครับ

เข้ากันได้ดีกับเว็บแคมที่งวดนี้ไม่กั๊กสเปกแล้ว ให้เว็บแคมแบบ Full HD มาใช้งานเลย คุณภาพของภาพที่ได้ก็ถือว่าโอเค เพียงพอสำหรับการใช้งานประชุมออนไลน์ หรือแม้แต่การถ่ายคอนเทนต์แบบมองกล้องง่ายๆ ด้วย และพอใช้คู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 แล้ว คือเอฟเฟ็กต์มันดีและเนียนมากเลยครับ

โน้ตบุ๊กในตระกูล Zenbook Duo ของ ASUS นี่เขามี ASUS Pen แถมมาให้แต่ไหนแต่ไรแล้ว และโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) นี่ก็มี ASUS Pen 2.0 แถมมาให้ด้วยเช่นกัน รองรับการแยกแยะแรงกดได้ถึง 4,096 ระดับ ตามมาตรฐานพวก Stylus ระดับพรีเมียม และไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ไซส์แปลกๆ แล้ว แต่ใช้การชาร์จด้วย USB-C แทนครับ

มือขวากำลังใช้ ASUS Pen 2.0 เขียนข้อความและวาดรูปแบบง่ายๆ บนโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV)

แต่มันดูจะมีประโยชน์ไม่เยอะมากเท่าไหร่เช่นเคย เพราะหน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊กตัวนี้กางได้แค่ 140 องศา มันก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะเขียนได้ถนัดซักเท่าไหร่ มันอาจจะโอเคถ้าเอาไปเขียนบน ScreenPad+ มากกว่า เพราะมันเอียงทำมุมประมาณ 12 องศา นี่เหมาะกำลังดีเลย แต่ปัญหาก็คือ จอมันก็เล็กเกินกว่าที่จะใช้งานจริงๆ จังๆ อีก สุดท้ายผมว่า ASUS Pen 2.0 บนโน้ตบุ๊กตัวเอง เอาไว้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ แบบไฮไลต์หรือขีดๆ วงๆ โน้ตแบบง่ายๆ หรือใช้ลากเส้น Lasso selection ตอนตกแต่งภาพ เพราะแม่นยำกว่าใช้เมาส์อะไรแบบนี้มากกว่าครับ

ปิดท้ายเรื่องแบตเตอรี่ ให้มาแค่ 76Wh ที่จริงๆ มันก็ไม่ได้น้อยนะ แต่เพราะความที่มันมีการ์ดจอแยก สเปกแรงนั่นแหละ ผมลองเอามาใช้งานแค่เปิด YouTube ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ (เปลี่ยนคลิปใหม่ไปเรื่อยๆ) ใช้งานได้ราวๆ 2 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้นเองครับ ถ้าใครจะเอาไปใช้งานนอกสถานที่แบบพึ่งพาแบตเตอรี่อย่างเดียว บอกเลยว่าคิดเอาไว้ในใจเลยว่าใช้งานได้ราวๆ 2 ชั่วโมงเซฟๆ เลยดูจะเป็นโน้ตบุ๊กที่เหมาะสำหรับพกไปใช้งานนอกสถานที่ ในที่ที่คุณมั่นใจว่าจะหาปลั๊กไฟเสียบได้มากกว่าจะพึ่งพาแต่แบตเตอรี่ล้วนๆ ครับ

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV)

ดูๆ แล้ว ASUS เขาจะไม่ได้ลุยในตลาดผู้ใช้งานทั่วไปอย่าง Zenbook Duo แล้ว เพราะตัวล่าสุดที่ปล่อยออกมาก็คือรุ่นที่ผมซื้อไปนั่นแหละ เป็น Intel Gen 11th แต่เขาดูมุ่งมั่นที่จะลุยต่อในตระกูล Zenbook Pro แล้ว เพราะนอกจากปล่อยตัว Intel Gen 12th ออกมา 3 รุ่นโดยมีตัวท็อปใช้การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX3050 Ti แล้วก็ไล่อัปเกรดสเปกมาเป็น ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ตัวนี้นี่แหละ ที่ใช้ Intel Gen 13th กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 ก็บอกตรงๆ ว่าแอบเสียดาย เพราะคนทำงานทั่วไป ที่ไม่ได้ทำงานด้านคอนเทนต์ ก็ได้ประโยชน์จากสเปกทั่วไปที่ CPU ไม่ต้องแรงสุด การ์ดจอก็เป็น Intel Iris Xe ก็ได้ แต่สำหรับผมอยากได้แรมซัก 32GB ก็เท่านั้นเอง

แต่ด้วยสเปกของตัวโน้ตบุ๊ก ก็ต้องบอกว่าราคา 89,990 บาท ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้ออยู่นะ แต่ถือเป็นราคาที่แอบแรงใช้ได้เลย ถ้าจะซื้อทั้งทีคือต้องซื้อมาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่อะ จะเล่นเกมหรือทำงานก็ตามแต่

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า