โจทย์ของผมในคราวนี้คือ อยากได้โน้ตบุ๊กที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ๆ ใหญ่กว่า 15.6 นิ้วได้ยิ่งดี เอามาใช้บนห้องนอน ที่มีโต๊ะคอมพับได้เล็กๆ ที่ไม่เหมาะสำหรับการวางจอคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ อยู่ อยากได้สเปกแบบ ทำงานได้ชิลๆ มีแรมซัก 16GB และเอาไว้เล่นเกมได้ดีประมาณนึง และต้องมีพอร์ต USB 3.2 Gen 2 ด้วย ไล่อ่านสเปก อ่านรีวิว ไปๆ มาๆ แล้ว ก็มาจบที่ตัวนี้ครับ ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T ที่ราคาเต็มปัจจุบัน 39,990 บาท แต่ Banana IT ใจดี ลดให้ 4,000 บาทจากป้าย เลยจัดมาได้ในราคา 35,990 บาท ผ่อน 0% 10 เดือน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกรีวิวตอนนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากใครทั้งสิ้น ค้นข้อมูลเพื่อเลือกสเปกเอง ไปเดินหาซื้อเอง เงินตัวเองทั้งนั้น ความเห็นทั้งหมดในบล็อกตอนนี้ เป็นความเห็นของผมล้วนๆ และอาจต้องขออภัยที่ไม่ได้แตะเรื่องการเล่นเกมมากนัก เพราะว่าเป้าหมายของการซื้อของผมคือการซื้อมาใช้งาน มากกว่าการเล่นเกมครับ
ดูดีไซน์ของตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T ก่อน
กล่องของ ASUS ROG Strix G731GU-EV231T นี่ใหญ่โตมาก ผมไม่เคยซื้อเกมมิ่งโน้ตบุ๊กมาก่อน ก็เลยเพิ่งเคยเห็นกล่องใหญ่ขนาดนี้ครั้งแรกนี่แหละ แต่จริงๆ ที่มันใหญ่ก็เพราะว่ามันแถมกระเป๋าโน้ตบุ๊กมาให้ด้วย และกระเป๋าใหญ่มาก เพราะตัวโน้ตบุ๊กมันขนาดหน้าจอ 17.3 นิ้วนี่นา

แกะกล่องแล้ว จะแยกออกเป็นกระเป๋าโน้ตบุ๊ก กับตัวกล่องใส่โน้ตบุ๊กจริงๆ อีกที ซึ่งภายในก็จะประกอบไปด้วยตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T อะแดปเตอร์ไฟขนาด 200 วัตต์ กับอุปกรณ์เสริมสำหรับการใส่ฮาร์ดดิสก์ หรือ SSD แบบ SATAIII ซึ่งประกอบไปด้วยตัวสายแพร์สำหรับเสียบกับพอร์ต SATAIII กับน็อตสำหรับยึดฮาร์ดดิสก์ หรือ SSD

ตัวโน้ตบุ๊ก ใหญ่อลังการสมกับขนาดหน้าจอ 17.3 นิ้ว วัสดุที่ใช้เป็นอลูมิเนียมทำลวดลายเก๋ๆ ตามสไตล์เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก และแน่นอน น้ำหนักก็เอาเรื่องอยู่ คือ 2.85 กิโลกรัม ครับ ไม่ใช่อะไรที่จะเหมาะสำหรับการแบกไปแบกมาบ่อยๆ แน่นอน ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับผมที่ตั้งใจจะเอามาเป็นเดสก์ท็อป และพวกเกมเมอร์ที่น่าจะชินกับการแบกเครื่องพวกนี้เพื่อไปเล่นเกมนอกสถานที่ (พวกรุ่นไฮเอนด์นี่หนักเกือบ 5 กิโลกรัมเหอะ) ผมลองเทียบกับโน้ตบุ๊กเท่าที่ผมจะหยิบๆ ฉวยๆ ได้บนห้องนอน ก็มี Dell Inspiron 15.6″, ASUS ZenBook S 13.3″, MacBook Pro 13″ จะเห็นว่า เจ้านี่ใหญ่สุดเลยครับ (ฮา)

หน้าจอขนาด 17.3 นิ้ว ใหญ่เวอร์วัง แต่ที่จะแปลกกว่าโน้ตบุ๊กสำหรับทำงานก็คือ มันไม่มีการใส่กล้องเว็บแคมมาให้ อันนี้คงเพราะปกติแล้ว พวกเกมเมอร์ถ้าจะถ่ายภาพตัวเอง ก็จะมีกล้องที่ดีกว่านี้เยอะมากอยู่แล้ว ใส่มาก็ไร้ประโยชน์ เอาต้นทุนไปใส่อย่างอื่นดีกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องดีครับ เพราะสิบกว่าปีที่ใช้คอมพิวเตอร์มานี่ ไม่ได้ใช้กล้องเว็บแคมเลยจ้า หน้าจอแสดงผลเป็นความละเอียด Full HD 1920×1080 พิกเซล แบบ IPS มีอัตรารีเฟรชภาพอยู่ที่ 144Hz ตอบสนองเร็ว 3ms
คีย์บอร์ดเป็นแบบเต็มรูปแบบมากๆ ด้วยอานิสงส์จากตัวเครื่องที่ใหญ่เบิ้มนี่แหละ พวกปุ่ม Function keys, Del, Ins, Pause ฯลฯ มันมีแยกเป็นปุ่มๆ ไปเลย ก็เนื้อที่มันเยอะงิ ทัชแพดก็ดีงามมาก ขนาดไม่เล็กไป ไม่ใหญ่เกิน ตำแหน่งอยู่ในจุดที่ใช้งานสะดวก มีการแยกปุ่มคลิกซ้ายและขวาออกมาชัดเจน ส่วนพื้นที่ที่เป็นทัชแพดก็จะกดอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเซ็ตไว้ว่าให้การแตะทีนึงคือการคลิก แบบนี้ยังถือเป็นการคลิกอยู่

ทั้งตัวคีย์บอร์ด และรอบๆ ตัวเครื่อง มันจะมีไฟ LED แบบ RGB สามารถปรับแต่งสีได้หลากหลาย ที่ ASUS เขาเรียกว่า Aura ซึ่งสามารถปรับแต่งได้ด้วยซอฟต์แวร์ และปุ่ม WASD ซึ่งเป็นปุ่มมาตรฐานสำหรับ ขึ้น ซ้าย ลง และ ขวา ของพวกเกมต่างๆ ก็มีการทำแป้นกดให้เป็นพลาสติกใส เวลามีไฟปุ๊บนี่เห็นชัดเจนเลยว่ามันอยู่ตรงไหน อันนี้เพื่อเอาใจพวกเกมเมอร์ทั้งหลาย เพราะถ้าแค่ไฟใต้คีย์บอร์ดธรรมดามันไม่จี๊ดพอ

เผื่อใครไม่เห็น มันมีไฟ LED เล็กๆ 4 ดวงอยู่ตรงด้านบนของคีย์บอร์ด เอาไว้แสดงสถานะการเปิดใช้งาน แบตเตอรี่ การทำงานของตัวดิสก์ และการเปิดปิด Airplane mode

ตัวเครื่องขนาดใหญ่ ทำให้มันมีพื้นที่เหลือสำหรับการวางข้อมือด้วย ดีงามสำหรับคนที่ซื้อ ASUS ROG Strix GG731GU-EV231T มาใช้ทำงานแบบผมมาก หรือใครที่เล่นเกม แล้วไม่ได้ซื้อคีย์บอร์ดแยกต่างหาก มันก็ช่วยในเรื่องวางพักข้อมือได้ดีเช่นกันนะ


สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ นั้น เท่าที่ผมสังเกตพบว่า พวกเกมมิ่งโน้ตบุ๊กมักจะไม่ค่อยให้พอร์ต USB มาตรฐานใหม่ๆ มาซักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะให้ USB 3.1 Gen 1 (หรือถ้าเรียกตามรูปแบบใหม่ก็คือ USB 3.2 Gen 1 ที่มีแบนด์วิธ 5GHz) เพราะไม่ค่อยมีใครเอาอุปกรณ์ที่ต้องการแบนด์วิธสูงๆ มาต่ออยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเอามาเสียบพวกคีย์บอร์ดกับเมาส์มากกว่า บางตัวนี่มีแค่ USB 2.0 พอร์ตนึงกับ USB 3.1 Gen 1 อีก 2-3 พอร์ตเองด้วยซ้ำ แต่สำหรับ ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T นี่ มันมีพอร์ต USB 3.1 Gen 1 มาให้ 3 พอร์ตอยู่ตรงด้านซ้ายของตัวเครื่อง และมีพอร์ต USB 3.1 Gen 2 (หรือต่อไปก็คงจะเรียกเป็น USB 3.2 Gen 2 กันหมด มีแบนด์วิธ 10Gbps) มาให้พอร์ตนึง เป็นแบบ USB Type-C ซึ่งรองรับ DP (Display port) ด้วย ส่วนพอร์ตอื่นๆ ที่มีให้ก็คือ พอร์ต HDMI 2.0b และ Gigabit LAN กับช่องเสียบออดิโอ 3.5 มม. แบบ Combo jack (คือ เป็นทั้งช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟนในตัวเดียวกัน) และช่องเสียบอะแดปเตอร์ไฟแบบ 200 วัตต์
นอกจากนี้ก็มีช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่สองช่อง ซ้ายขวา เป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายความร้อนของโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Strix G731GU-EV231T ตัวนี้ ส่วนช่องระบายความร้อนอีกช่อง จะอยู่ทางขวามือครับ เรียกว่าจริงจังกับการระบายความร้อนมาก

อะแดปเตอร์ไฟของ ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T นี่ใหญ่เบิ้มมาก เพราะเป็นแบบ 200 วัตต์ (19.5V 11.8A) ต้องทำใจครับ เกมมิ่งโน้ตบุ๊กกินไฟมาก อย่าไปหวังว่าจะได้ใช้ USB Type-C ในการชาร์จแบตเตอรี่เลย

ลำโพงของตัวเครื่อง มีสองตัว อยู่ด้านข้างของตัวเครื่อง มีกำลังขับ 4 วัตต์ พร้อม Smart AMP technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ ASUS ที่ช่วยให้เสียงจากลำโพงดังขึ้นเป็นพิเศษ

ด้านล่างของตัวเครื่อง มียางกันลื่น ที่พอวางเครื่องปุ๊บ มันยึดกับพื้นผิวได้แน่นสนิทดีมาก อันนี้คงเพราะตัวเครื่องก็มีน้ำหนักถ่วงอยู่เยอะ (ฮา) เราสามารถถอดน็อตใต้เครื่องออก เพื่อเปิดฝาครอบ แล้วอัพเกรดพวกหน่วยความจำ (อัพเกรดได้สูงสุด 32GB) อัพเกรด NVMe M.2 SSD หรือจะใส่ฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ขนาด 2.5 นิ้วเพิ่มเข้าไปได้อีกตัว จะทำเองก็ได้ ถ้าซื้อจาก Banana IT แบบผม สามารถหิ้วไปให้ที่ร้านทำให้ได้ครับ
ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T
บนเว็บไซต์ของ ASUS บอกว่าระบบปฏิบัติการของรุ่นนี้แนะนำ Windows 10 Pro แต่ระบบปฏิบัติการที่มาพร้อมกับตัวเครื่องจริงๆ เป็น Windows 10 Home นะครับ บอกตรงๆ ว่าไม่ได้เดือดร้อนอะไร คนทั่วไปใช้แค่ Windows 10 Home ก็พอแล้ว
ผมไม่มีความกังขาในแง่ของประสิทธิภาพในการใช้งาน ด้วยสเปกที่โดยส่วนตัวคัดเลือกมาอย่างดีตอนซื้อ (ฮา) แม้ว่ามันจะไม่ใช่ที่สุด แต่ด้วยราคาเต็มในปัจจุบัน 39,990 บาท สิ่งที่เราจะได้ก็คือ
- CPU: Intel® Core™ i7 9750H Processor ซึ่งแม้จะไม่ใช่รุ่นใหม่สุด Gen 10th ก็ตามที่ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับแย่มาก
- RAM: 8 GB สองตัวแบบ SO-DIMM Dual-channel สามารถอัพเกรดได้สูงสุด 32 GB ซึ่งเหลือเฟือแล้วสำหรับการใช้ทำงานทั่วไปและการเล่นเกม ใส่มากไปกว่านี้ คนที่จะได้ประโยชน์คือคนทำงานด้านตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงๆ หรือทำงานกราฟิกใหญ่โตอลังการซะมากกว่า เพราะโปรแกรมพวกนี้ต้องการแรมเยอะๆ จริงๆ ถึงจะทำงานได้ลื่นๆ
- Graphic: มี Intel® HM370 Express Chipset ติดตัวมาให้ ถูกเรียกใช้เฉพาะตอนใช้งานโปรแกรมทั่วๆ ไป เพื่อประหยัดไฟ และพัดลมจะได้ไม่ต้องพัดดังๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเอามาเล่นเกม หรือทำอะไรก็ตามที่การ์ดจอ NVIDIA® GeForce® GTX 1660TI พร้อม 6GB GDDR6 VRAM ถูกเรียกใช้งานขึ้นมาละก็ ประสิทธิภาพสูงขึ้นปรี๊ด เล่นเกมกราฟิกสวยๆ อย่าง Final Fantasy XV แบบ 1080p สบายๆ อยู่
- Display: 17.3″ Full HD IPS LCD 144Hz 3ms จอใหญ่ รีเฟรชเรตสูงดู ตอบสนองต่อเกมแอ็กชันที่มีการเคลื่อนไหวของกราฟิกรวดเร็วได้สบายๆ
- Storage: 512GB SSD NVMe M.2 ที่ผมลองเอามาวัดความเร็วแล้ว อาจจะไม่ได้ปรี๊ดมาก อ่าน 1.8GB/s เขียน 1GB/s แต่ก็ถือว่าพอแล้วสำหรับการทำงานทั่วไป การใช้งานด้านกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ ประโยชน์สำหรับการเล่นเกมก็จะเป็นเรื่องของการโหลดเกมได้เร็วขึ้น

- Connectivity: Gigabit LAN, Intel® 802.11ac (2×2) Gigabit Wi-Fi และ Bluetooth® 5.0 ซึ่งน่าเสียดายว่าโมเดลนี้ไม่ได้ WiFi6 มารอเลย แต่ก็ทำใจไว้แล้วตั้งกะตอนที่เห็นว่ามันใช้ Intel Gen 9 (ฮา) และก็ไม่คิดว่าจะเป็นอะไร เพราะว่าการใช้งานส่วนใหญ่ของผม มันไม่ได้ต้องการแบนด์วิธระดับ Gigabit อยู่แล้ว เน็ตบ้านยัง 200Mbps/200Mbps อยู่เลยคุณ
ในภาพรวม คงไม่ต้องถามว่าเจ้านี่จะเปิดโปรแกรม Microsoft Office 365 ลื่นไหม ใช้ดู YouTube แล้วไหลลื่นไหมหรอกนะครับ สเปกมันเหลือเฟือก้าวข้ามจุดนั้นไปแล้วเหอะ แต่จุดสำคัญคือ หน้าจอที่ใหญ่อ่ะ เมื่อแสดงผลที่ Full HD แล้ว มันใช้ทำงานแล้วดูสบายตากว่าการเพ่งดูจอเล็กๆ เยอะ จริงๆ
ด้วยความที่ตัวเครื่องใหญ่กว่าโน้ตบุ๊กขนาดจอ 15.6 นิ้วเล็กน้อย พื้นที่ในการวางคีย์บอร์ดเลยมีเยอะ พวกปุ่มตัวเลขก็เลยมีครบเครื่อง (ส่วน ASUS ROG Strix G รุ่น 15.6 นิ้ว มันจะมีฟีเจอร์ที่เอา TouchPad มาเป็นแผงปุ่มตัวเลขได้)
ที่เพิ่มมาจากพวกคีย์บอร์ดปกติก็คือ มันมีปุ่มปรับระดับเสียง ปิดปิดไมโครโฟน ปรับความเร็วพัดลม และปุ่มเข้าโปรแกรม Armoury Crate

ตัวโปรแกรม Armoury Crate ของ ASUS เนี่ย เขาเอาไว้สำหรับปรับแต่งประสิทธิภาพของตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T หลักๆ เราก็ปรับได้เป็น Silent (เน้นเงียบ ไม่เน้นประสิทธิภาพ), Performance (สมดุลระหว่างความเงียบและประสิทธิภาพ สำหรับการทำงานที่โหดขึ้นมาอีกนิด), Turbo (ประสิทธิภาพสูงสุด พัดลมจะดังช่างมัน ยังไงเสียงเกมจากลำโพงดังกว่า) และ Manual เลือกเลย อยากให้พัดลมทำงานมากแค่ไหน อยากให้ความเร็วสัญญาณนาฬิกาของ GPU และแรมของการ์ดจอเร็วขึ้นแค่ไหน
พอร์ตการเชื่อมต่อ ให้ USB 3.2 Gen 1 มาสามพอร์ต เหลือเฟือสำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ อยู่แล้ว และหากต้องการแบนด์วิธสูงๆ เอาไว้เสียบกับพวก External SSD ความเร็วสูงๆ อย่าง SanDisk Extreme Pro อะไรแบบนี้ ก็มีพอร์ต USB-C ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 มาให้ ผมสังเกตว่าพวกเกมมิ่งโน้ตบุ๊กราคาช่วง 3-4 หมื่นบาทเนี่ย มักจะไม่ได้ให้พอร์ต USB 3.2 Gen 2 มาให้ บางรุ่นนี่เผลอๆ ให้ USB 2.0 มาด้วยซ้ำ นั่นคงเพราะคนที่เน้นเล่นเกม มักจะไม่ค่อยได้เอาอุปกรณ์ที่ต้องการแบนด์วิธสูงๆ มาเสียบกับพอร์ต USB ละมั้ง (เดา)
ส่วนการต่อออกจอแสดงผลภายนอก ซึ่งสายเล่นเกมส่วนใหญ่น่าจะสนใจ เพราะเอาโน้ตบุ๊กตัวนี้ไว้เล่นเกมแบบพกไปไหนมาไหนด้วย แต่พออยู่บ้าน ก็เสียบจอใหญ่ๆ แทนซะ เจ้านี่ก็มีทั้ง HDMI 2.0b ให้เลือก และพอร์ต USB-C ก็รองรับเป็น DisplayPort™ เวอร์ชัน 1.4 ได้ ต่อออกจอแสดงผลเพิ่มอีกสองจอพร้อมกันสบายๆ แต่พอดีที่บ้านไม่ได้มีจอคอมพิวเตอร์เยอะขนาดนั้น เลยไม่ได้ทดสอบนะครับ อันนี้เล่ากันตามสเปก
ลำโพงตัวเครื่องอ่ะ เสียงดังดีอยู่ ถ้าใครจะดูหนังหรือเล่นเกมแล้วไม่อยากใส่หูฟัง ไม่ต้องกังวลครับ ลำโพงตัวเครื่องเสียงดีและดังพอสมควร และให้มิติของเสียงที่โอเคทีเดียว แต่ว่าต้องทำใจนะ การให้เสียงย่านต่ำยังไงก็ไม่รอด ผมลองกับคลิปทดสอบเสียงเบสด้านล่างนี่แล้ว ถ้าอยากเล่นเกมให้ได้อรรถรสสุดๆ แนะนำหาหูฟังดีๆ มาเสียบ ซึ่งจะใช้บลูทูธก็ได้ หรือจะเสียบพอร์ต USB-A หรือช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ก็มีครบ
สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กของค่าย ASUS ก็คือซอฟต์แวร์บริหารจัดการแบตเตอรี่ ที่ให้เราสามารถเลือกโหมดการชาร์จแบตเตอรี่ได้ ซึ่งในรุ่น ZenBook S UX391UA ที่ผมซื้อมาก่อนหน้า มันเรียกว่า ASUS Battery Health Charging ครับ แต่สำหรับ ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T นี่ เราต้องดาวน์โหลดแอปชื่อ MyASUS มาจาก Windows Store แล้วไปที่ตัวเลือก โหมดการชาร์จ แทนครับ

จากการที่ลองใช้งานมาราวๆ สองสัปดาห์ มันเป๊ะมาก นี่เซ็ตไว้เป็นโหมดอายุการใช้งานสูงสุด มันก็รักษาระดับของการชาร์จแบตเตอรี่มาให้ 60% เป๊ะตลอดเวลา
ถ้าใช้ทำงานทั่วๆ ไป ไม่ได้ใช้พลังงานของการ์ดจอมาก เจ้านี่ไม่ได้ร้อนอะไรมากนักนะครับ ระบบระบายความร้อนของมันค่อนข้างดีทีเดียวเชียวล่ะ เอามานั่งใช้งานบนโซฟา วางบนตักใช้ได้สบายๆ (หนักนิดหน่อย) แบตเตอรี่แอบอึดเอาเรื่องทีเดียว
ถ้าจะให้ผมตินะ ผมขอติที่มันไม่มีพอร์ต Thunderbolt 3 มาให้ แล้วก็ไม่มีเว็บแคมมาให้ด้วยอะ มีมาให้ซักพอร์ตก็ยังดี มันจะทำให้เจ้านี่สามารถเอามาใช้ทำงานอื่นได้อีกเยอะเลย รวมถึงการทำ Video call ด้วย (สำหรับคนทำงานแบบผม มันจำเป็นอยู่) แต่ผมก็เข้าใจนะว่าพวกเกมเมอร์ส่วนใหญ่ เขามีกล้องเว็บแคมดีกว่านี้เยอะไว้ใช้ แต่ผมก็แค่ไม่อยากเสียตังค์เพิ่มง่ะ
ถ้าเอามาเล่นเกมล่ะ?
อย่างที่บอก ผมไม่ใช่ขาเกมซักเท่าไหร่ ก็กะจะเอามาเล่นเกมแบบที่ชอบๆ เช่น เอามาเล่น Resident Evil Remake ทั้งสองภาคแรก และอาจจะเล่นพวกภาคหลังๆ บ้าง ถ้ามีเวลา คือ เล่นแบบเอาเนื้อเรื่อง (ผมถึงได้ใช้ WeMod ไง) ฉะนั้น วิธีที่ผมจะใช้ในการวัดประสิทธิภาพ ก็คงจะหนีไม่พ้นการลองเอาพวก Benchmark ที่มาจากเกมมาลองดู
ซึ่งผมก็ขอเลือก Final Fantasy XV ละกัน เพราะกราฟิกโหดอยู่ (พิจารณาจาก Recommend system requirements แล้ว) ผลที่ได้ก็ตามที่เห็นในภาพ ลองปรับเป็นแบบคุณภาพสูง ก็ได้ผลออกมาคือ Fairly High ครับ คือ ค่อนข้างสูง หรือต่อให้ปรับแบบ Custom ให้ทุกอย่างไปให้สุดให้หมด ก็ยังได้คะแนนประมาณ Standard เรียกได้ว่า ถ้าเล่นเกมนี้ที่ความละเอียด Full HD แล้วละก็ แม้จะมีจังหวะกระตุกๆ อยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่าเล่นเกมได้ลื่นไหลแหละ

จากนั้นก็ลองเอามาเล่นเกม Resident Evil 2: Remake ดูบ้าง เกมนี้มี Requirements ต่ำกว่า Final Fantasy XV ครับ ผลก็คือว่า เอามาเล่นเกมนี้ได้ลื่นๆ สบายๆ เลยอะ ที่ Full HD ซึ่งก็เป็นความละเอียดหน้าจอที่เหมาะกับโน้ตบุ๊กตัวนี้พอดี ถือได้ว่า ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T ที่ใช้การ์ดจอ GeForce GTX 1660Ti (6GB GDDR6) ก็ประสิทธิภาพดีใช่หยอก

จริงๆ ถ้าจะไปให้สุดสำหรับรุ่นนี้ ควรจะเลือกเป็น ASUS ROG Strix G G731GU-EV089T ที่จะเลือกใช้การ์ดจอเป็น GeForce RTX 2060 (6GB GDDR6) แทน เราก็จะได้การ์ดจอที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น และรองรับเกมรุ่นใหม่ๆ ที่มี Ray tracing เพื่อให้ภาพที่สมจริงมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่แคร์เรื่องนั้น ก็ไม่เซฟไปได้หลายพันบาทอยู่นะครับ แต่สำหรับผม ที่เน้นเอามาทำงานเป็นหลัก Ray tracing ไม่ใช่ปัจจัยในการเลือกซื้อหลักของผม
แต่ถ้าต้องการความสมจริงของเกมที่สุดๆ จริงๆ กัดฟันจัดรุ่นที่เป็นการ์ดจอ GeForce RTX เหอะครับ มันสุดกว่าจริงๆ ดูตัวอย่างง่ายๆ จากการเปรียบเทียบเกม Resident Evil 2: Remake แบบปกติ กับแบบที่ใส่ Mod Ray tracing เข้าไปก็ได้ครับ
ตัวโน้ตบุ๊กมันมาพร้อมกับ NVMe SSD ความจุ 512GB ซึ่งสำหรับการใช้ทำงานทั่วไป ตลอดไปจนถึงการเล่นเกมไม่กี่เกม เหลือๆ ครับ ถ้าคิดว่าใหญ่ไม่สะใจพอ ก็ถอดอัพเกรดซะสิ (ผมกำลังคิดว่าจะลองถอดมาอัพเกรดอยู่) แต่ถ้าคิดว่ายังอยากจะเพิ่มความจุอีก เช่น ใส่ฮาร์ดดิสก์ปกติเอาไว้เก็บข้อมูลเกมโดยเฉพาะหรือจะเพิ่ม SSD อีกซักตัว ก็สามารถทำได้ เพราะมันยังมีสล็อตแบบ SATAIII อยู่อีกช่องนึงว่างๆ ครับ แน่นอนว่าประสิทธิภาพที่ได้อาจจะไม่สู้ SSD ตัวหลัก แต่ก็เหลือๆ สำหรับการเอามาใช้งานครับ และเร็วกว่าใส่ฮาร์ดดิสก์แบบทั่วๆ ไปแน่นอน

และบ่อยครั้งที่เวลาเราเล่นเกม หรือทำงาน หรือทำอะไรอื่นๆ (เช่น Live streaming) เราจะต้องมีการปรับตั้งค่าของโน้ตบุ๊กแตกต่างกันออกไป เราก็สามารถเซฟมันไว้เป็นโปรไฟล์ เพื่อที่จะให้เราเรียกใช้งานซ้ำๆ ได้เรื่อยๆ แบบไม่ต้องวุ่นวายกับการไปไล่ปรับตั้งค่าทีละตัวก็ได้

และสิ่งที่เหล่าเกมเมอร์ใส่ใจ (แต่ผมเฉยๆ) อีกเรื่องคือ เรื่องไฟวิ่งไฟกระพริบครับ เจ้านี่มีไฟ LED แบบ RGB อยู่ 7 จุด ตามที่เห็นในรูปด้านบน คือ ด้านข้างซ้ายขวา มุมด้านหน้าสองข้างของตัวเครื่อง และด้านหน้าอีกสองส่วน และสุดท้ายคือตัวคีย์บอร์ด เราสามารถใช้โปรแกรม AURA Creator ในการปรับแต่งค่าสีต่างๆ ได้ตรงนี้เลย การใช้งานก็คล้ายๆ กับการตัดต่อวิดีโอ เลือกเอาว่าอยากจะปรับแต่งสีไฟตรงไหน จากนั้นก็สร้างมาเป็นเลเยอร์ แล้วก็เลือกเอฟเฟ็กต์มาใส่ ประมาณนี้ครับ แต่ถ้าขี้เกียจทำ (แบบผม) มันก็มีตัวเลือกมาตรฐานมาให้ใช้อยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถเปิดการใช้งานได้ด้วยการกดปุ่ม Function key (Fn) แล้วกดปุ่มลูกศรซ้ายหรือขวาครับ และสามารถปรับความสว่างของไฟได้อีก 3 ระดับ ด้วยการกดปุ่ม Function key กับปุ่มลูกศรขึ้นหรือลง
ลำโพงของตัวเครื่อง ให้เสียงดังดีใช้ได้ และให้มิติของสเตริโอได้ค่อนข้างดี ไม่มีหูฟังก็ยังเล่นเกมได้ชิลล์ๆ ครับ แต่ผมก็เชื่อว่าสำหรับเหล่าเกมเมอร์แล้ว เขาย่อมมีหูฟังดีๆ ไว้ใช้อยู่แล้วนะ นี่ผมก็เอา Plantronics BackBeat Pro 2 มาใช้เหมือนกัน
ตอนเล่นเกม ถ้าเสียบปลั๊กเล่นก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แต่ถ้าไม่เสียบปลั๊กเล่น ต้องดูดีๆ นะว่าเปิดใช้งานโน้ตบุ๊กแบบไหน ถ้าเน้นไปที่ Performance ละก็ หมดห่วงครับ แต่ก็เปลืองแบตฮวบๆ เลย แต่ถ้าเปิดแบบประหยัดพลังงาน มันจะใช้การ์ดจอ Intel HM730 แทน ก็พอเล่นเกมได้อยู่ แต่ถ้าเจอกราฟิกหนักขึ้นมาหน่อยนี่ เฟรมเรตตกบรรลัยวายวอดเลย (ฮา) แต่ระบบระบายความร้อนมันก็ดีจริงๆ ครับ คือ ส่วนด้านบนของตัวเครื่อง ทั้งคีย์บอร์ด ทั้ง TouchPad และส่วนที่วางข้อมือนี่แบบ ไม่รู้สึกเลยว่าเครื่องร้อน
รำคาญ McAfee อย่างมาก
ถ้าจะให้ด่า ASUS ก็คงมีแค่เรื่องเดียว คือเรื่องของความปรารถนาดีที่น่ารำคาญในการพยายามมอบส่วนลดของ McAfee มาให้ผู้ใช้งานนี่แหละ ในยุคที่ Windows เขามี Windows Defender มาให้พร้อมในระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว และถ้าเราไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงๆ อะไรมาก นี่คือโปรแกรมที่มีแล้วก็จบแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องมัลแวร์ให้มากอีก


แน่นอนว่าสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่อาจจะไม่ได้ระวังตัวมาก หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง โปรแกรมป้องกันไวรัส (หรือมัลแวร์) อย่าง McAfee หรือ Symantec Norton Antivirus หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็ยังจำเป็นอยู่ แต่ผมว่าเรื่องนั้นมันควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ใช้งานขวนขวายมากกว่าที่จะมายัดเยียดให้เรานะครับ ติดตั้งแบบ Trial มาให้ยังพอว่า ดันมีเด้งโฆษณาเป็นระยะๆ นี่ ไม่ปลื้มๆ
แต่แน่นอนว่า เราสามารถไปที่ Add/Remove Programs เพื่อถอดการติดตั้งได้ทุกเมื่ออะนะ แต่ทำไมต้องทำให้ตูยุ่งยากด้วยวะ
บทสรุปการรีวิวเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T
ในฐานะคนที่ซื้อมาใช้ เจ้านี่มันตอบโจทย์ทุกอย่างที่ผมต้องการจริงๆ นั่นแหละ ตอนผมไปซื้อเนี่ย Speed Computer ให้ราคา 37,990 บาท ผ่อน 0% 10 เดือนได้ แต่ดันไม่มีของ ผมเลยไปดูที่ MINE by J.I.B. แต่เขาจะขาย 39,990 บาทท่าเดียว พยายามบอกแล้วนะว่ารูดเต็มจำนวนได้ไหม ขอราคา 37,990 บาท แต่จนแล้วจนรอด ผู้จัดการร้านก็บอกว่าให้ได้แค่ที่ 38,990 บาท แต่จะผ่อน 0% 10 เดือนได้ ผมก็เลยไม่เอา สุดท้าย ไปเจอที่ Banana IT ครับ 35,990 บาท ผ่อน 0% 10 เดือนได้อีก จัดมาเลย (ฮา)
ในสายเกมเมอร์ บอกเลยว่าราคาระดับ 3-4 หมื่นบาทนี่ ยังไม่เรียกว่ารุ่นกลางๆ เลยด้วยซ้ำไปมั้ง ผมเห็นของ ASUS นี่แพงสุดเกือบสองแสนห้า!!! แถมหนัก 4.5 กิโลกรัม นั่นไม่เรียกโน้ตบุ๊กแล้ว (ฮา) แต่สำหรับคนสายทำงานเน้นเล่นเกมแบบขอกราฟิกสวยๆ เล่นลื่นๆ พอสมควร ไม่ได้จะไปแข่งไปอวดใคร ผมว่า ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T ตอบโจทย์นะ ในฐานะเดสก์ท็อปที่สามารถโยกย้ายสถานที่วางได้สะดวกๆ … นี่ถ้าตกแต่งบ้านชั้นล่างเสร็จ มีมุมทำงานของตัวเองอยู่ด้วย จะเอาไปจิ้มกะจอ LG 34″ Ultrawide Curved แล้วเนี่ย คงทำงานฟินน่าดู
ผมหาลิงก์ขายออนไลน์ราคางามๆ ไม่ได้ ผมแนะนำว่าไปหาที่ร้าน Banana IT เหอะเนอะ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 มันคลี่คลายแล้วอะนะ