Home>>รีวิว>>รีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) EVO Platform ประสิทธิภาพสูงด้วย Intel Gen 13th Core i5 และ Core i9
โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)
รีวิว

รีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) EVO Platform ประสิทธิภาพสูงด้วย Intel Gen 13th Core i5 และ Core i9

แกดเจ็ตสำหรับรีวิวช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์ก็เห็นจะเป็นตัวนี้ครับ โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่ ASUS นำเข้ามาจำหน่าย โดยตัวชูโรงก็คือ หน่วยประมวลผลที่มีให้เลือก 2 ตัว คือ Intel Gen 13th Core i5 และ Core i9 หน้าจอแสดงผลความละเอียดสูงระดับ 2.8K แบบ OLED นั่นเอง และตัวที่ผมจะรีวิวในบล็อกตอนนี้ก็คือรุ่นที่เป็น Intel Gen 13th Core i5 ครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ที่ผมได้มารีวิวนี้ เป็นรุ่น Core i5 ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาใช้เพื่อรีวิวให้ได้อ่านกันครับ ไม่ได้ซื้อมาใช้เอง เดี๋ยวต้องคืนเขาไปเน่อ

แกะกล่อง ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

แกะกล่อง ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) สิ่งที่เราจะได้ก็คือ ตัวโน้ตบุ๊ก ที่มีขนาดหน้าจอ 14.5 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ใบรับประกัน (Warantee card) คู่มือการใช้งาน สติกเกอร์สำหรับตกแต่งเครื่อง ที่เป็นความร่วมมือกับแบรนด์ Letter Boy ของญี่ปุ่น ที่เป็น Design studio ที่เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบโลโก้และตัวอักษร ก็ไม่ได้มีอะไรมากครับ มันคือสติกเกอร์ Limited edition สำหรับโน้ตบุ๊กตระกูล Vivobook แหละ

สติกเกอร์จาก Letter Boy ที่มาพร้อมกับโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404)

นอกจากนี้ก็มีแค่ตัวอะแดปเตอร์แบบ DC 90 วัตต์ ที่เป็นปลั๊กแบบหัวกลม ที่บอกตรงๆ ว่าแอบผิดหวัง เพราะผมคิดว่า ASUS น่าจะให้อะแดปเตอร์แบบ GaN ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-C จ่ายไฟ 100 วัตต์ มาเลยน่าจะดีกว่า แต่ที่เราไม่ได้ให้มาก็อาจจะเพราะว่าเขาต้องการให้โน้ตบุ๊กตัวนี้มีพอร์ตเชื่อมต่อครบเครื่องละมั้ง

เพราะถ้าเราดูด้านซ้ายและด้านขวาของตัวเครื่อง เราจะเห็นว่าด้านซ้ายมันมีพอร์ต USB-A แบบ USB 2.0 เอาไว้สำหรับเสียบอุปกรณ์จำพวก USB dongle ที่ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำพวกคีย์บอร์ด และ/หรือ เมาส์ เป็นหลัก มีไฟ LED 2 ดวง สำหรับแสดงสถานะของการใช้งานเครื่องและชาร์จแบตเตอรี่ เขาเลือกออกแบบให้พอร์ต USB 2.0 และไฟ LED มาอยู่ตรงนี้เพราะช่องระบายความร้อนของตัวเครื่องมันอยู่ด้านนี้นั่นเอง ส่วนพอร์ตเชื่อมต่ออื่นๆ ที่ใช้งานบ่อยๆ ได้แก่ช่องเสียบอะแดปเตอร์แบบรูกลม พอร์ต HDMI 1.4 พอร์ต USB-A (USB 3.2 Gen 1 แบนด์วิธ 5Gbps) พอร์ต Thunderbolt 4/USB-C และช่องเสียบคอมโบแจ็ก 3.5 ม.ม. ก็จะอยู่ทางด้านขวามือทั้งหมด

ดีไซน์แบบนี้คนส่วนใหญ่ที่ถนัดขวาจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมาก แต่คนถนัดซ้ายอาจจะรู้สึกแหม่งๆ หน่อย เพราะถ้าเกิดเสียบเมาส์ภายนอกใช้งาน (ไม่ใช้ Touchpad) ลมร้อนจากช่องระบายความร้อนอาจจะเป่าโดนมือให้รำคาญ

หน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

หน้าจอแสดงผลของตัวเครื่อง เป็นขนาด 14.5 นิ้ว อัตราส่วนการแสดงผล 16:10 (หรือ 3.2:2) ที่เป็นอัตราส่วนที่หลายๆ แบรนด์เริ่มเลือกใช้เป็นมาตรฐาน เพราะนอกจากจะได้พื้นที่การแสดงผลแนวกว้างแล้ว ความสูงของพื้นที่การแสดงผลก็จะได้เพิ่มมาอีกนิดหน่อยด้วย มันจะใกล้เคียงกับอัตราส่วนการแสดงผล 3:2 ที่ Microsoft Surface Pro เขาใช้กัน เป็นหน้าจอแสดงผลแบบ OLED ความละเอียดสูง 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) มีกล้องเว็บแคมความละเอียด Full HD 1080p พร้อม Privacy shutter มาให้ และไมโครโฟนแบบสเตริโอมาในตัว

ส่วนคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

คีย์บอร์ดของ ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ตัวนี้มีแป้นพิมพ์แต่ละแป้นขนาดใหญ่ มีไฟ Backlit สีขาว ปรับระดับความสว่างได้ 3 ระดับ และปุ่ม Power ที่อยู่ตรงกลางระหว่างปุ่ม Prt Sc (Print screen) และปุ่ม Delete จะมีหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ รองรับการล็อกอินด้วย Windows Hello ด้วยในตัว

ส่วนของ Touchpad ของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ที่แสดงผล NumberPad 2.0 อยู่

Touchpad มีขนาดใหญ่ และเมื่อเราแตะตรงไอคอนรูปเครื่องคิดเลขตรงมุมบนด้านขวามือไว้แป๊บนึง มันจะเปิดไฟ LED สีขาว ที่ทำให้ Touchpad ทำหน้าที่เป็น Numpad ได้ด้วยในตัว ซึ่งเป็นฟีเจอร์ของ ASUS ที่เรียกว่า NumberPad 2.0 ที่มีให้เห็นบนโน้ตบุ๊กของค่ายนี้มาหลายตัวแล้ว มันคือการทำพื้นที่ใช้สอยให้คุ้มค่าที่สุดนั่นเอง

ด้านบนของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

ด้านบนของตัวเครื่อง เป็นดีไซน์เรียบง่าย ที่มาวางจำหน่ายในไทยรุ่นนี้มีให้เลือกสีเดียว คือ Midnight black หรือพูดง่าย เทาเข้มเกือบๆ ดำ (แต่จริงๆ รุ่นนี้มี 4 สี คือ เทาดำ Midnight black เงิน Cool silver ขาว Cream white และ น้ำเงิน Solar blue โดยส่วนตัวอยากให้เขาเอาสีน้ำเงินมาขายด้วย 🤣🤣) มีจุดที่ทำเป็นตัวนูนขึ้นมา เขียนยี่ห้อและรุ่น ASUS Vivobook พร้อมสโลแกน Go further and beyond / Explore the possibilities เก๋ๆ

ด้านล่างของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

ด้านใต้ของตัวเครื่องมีการออกแบบให้มีแผ่นยางรองใต้เครื่องเพื่อให้ตัวเครื่องยึดเกาะกับพื้นผิวใดๆ ที่ตัวเครื่องวางอยู่ และเพื่อหนุนให้ตัวเครื่องมันสูงพอที่จะให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ถูกดูดเข้าทางช่องระบายอากาศด้านใต้นี่ และแผ่นยางนี่มีดีไซน์แต่ละมุมไม่เหมือนกันอีกด้วยนะ เก๋ๆ

โดยรวมแล้ว ในแง่ของดีไซน์ของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ถือว่าดูดีทีเดียวเลย น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ไม่ได้เรียกว่าเบาซักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หนักแบบเวอร์วังอะไร ก็ถือว่าพกสะดวกดีอยู่ครับ

สเปกและประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีให้เลือก 2 รุ่น 2 สเปก ซึ่งแตกต่างกันแค่ตัวหน่วยประมวลผลและความจุของ Storage ครับ สเปกก็ตามตารางด้านล่างนี่เลยครับ

รายละเอียดสเปก
หน่วยประมวลผลIntel® Core™ i9-13900H Processor 2.6 GHz
(24MB Cache, up to 5.4 GHz, 14 cores, 20 Threads)
Intel® Core™ i5-13500H Processor 2.6 GHz
(18MB Cache, up to 4.7 GHz, 12 cores, 16 Threads)
หน่วยประมวลผลกราฟิกIntel® Iris Xe Graphics
จอแสดงผล14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) อัตราส่วนการแสดงผล 16:10 Response time 0.2ms อัตราการรีเฟรชภาพ 120Hz ความสว่างสูงสุด 600 nits ขอบเขตสี 100% DCI-P3
ตัวจัดเก็บข้อมูล1TB M.2 NVMe™ PCIe® 4.0 SSD (สำหรับรุ่น Core i9)
512GB M.2 NVMe™ PCIe® 4.0 SSD (สำหรับรุ่น Core i5)
พอร์ตเชื่อมต่อ1×USB 2.0 Type-A
1×USB 3.2 Gen 1 Type-A
1×ThunderboltTM 4 รองรับ DisplayPort และ Power Delivery
1×HDMI 1.4
1×ช่องเสียบคอมโบแจ็ก 3.5 ม.ม.
1×DC-in
การเชื่อมต่อไร้สายWiFi 6E (802.11ax) Dual-band 2×2
Bluetooth® 5
กล้องเว็บแคม Full HD 1080p
น้ำหนัก1.50 กิโลกรัม
ขนาด (กว้าง×สูง×ลึก)32.28 เซ็นติเมตร × 22.59 เซ็นติเมตร × 1.79 เซ็นติเมตร
ราคารุ่น Core i9: 44,990 บาท
รุ่น Core i5: 33,990 บาท

ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) นี่ถือเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้หน่วยประมวลผล Intel Gen 13th ตัวแรกที่ผมได้ลองเลยนะครับ ก็เลยอยากเห็นเหมือนกันว่าประสิทธิภาพจะเป็นยังไงบ้าง โดยเริ่มจากการทดสอบประสิทธิภาพทั่วๆ ไปก่อนเลย ด้วยโปรแกรม PCMark 10 และได้คะแนนออกมา 6,018 คะแนน ซึ่งถือว่าไม่เลวนะครับ ผมลองเทียบดูกับ Intel NUC Phantom Canyon ที่ส่วนของ Digital content creation นี่น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยง เพราะมันมีการ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce RTX2060 อยู่ ผลคือคะแนนของ ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ต่ำกว่ากัน 4.7% เท่านั้นเอง เท่าที่ดูจากคะแนนแล้ว อะไรที่เป็นเรื่องของ CPU นี่ 12-core 16-thread คือชนะขาด ทั้งในแง่ของ Single-core หรือ Multi-core ทำให้คะแนนในส่วนของ Essentials ที่เป็นเรื่องของการรันแอป (SSD ของรุ่นนี้ไวกว่า SSD ที่ผมใช้ใน Intel NUC Phantom Canyon ที่เป็นแค่ PCIe 3.0) การประชุมวิดีโอออนไลน์ หรือ การท่องเว็บ และอย่างที่บอก คะแนนในส่วนของ Digital content creation นี่สูสี คะแนนตัดต่อวิดีโอทำได้ดีกว่ามาก แต่ในขณะเดียวกัน คะแนนในส่วน Rendering and visualization นี่ก็แพ้ขาด (สู้การ์ดจอแยกไม่ได้ละนะ)

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ด้วยโปรแกรม PCMark 10

นอกจากนี้ ลองทดสอบประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลเฉยๆ ด้วยโปรแกรม CINEBENCH R23 ทั้งแบบ Single-core และ Multi-core แล้ว ก็ได้คะแนน 1,794 คะแนน กับ 14,105 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่โอเค และสูงกว่าตอน Intel Core i5-12500H (เท่าที่ผมหาข้อมูลได้) อยู่ประมาณ 7% ครับ

และสุดท้าย ลองวัดประสิทธิภาพของ SSD ดูบ้างว่าไหนๆ ก็ได้ใช้ PCIe 4.0 แล้ว ทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 x64 ได้ความเร็วของ SSD M.2 NVMe นี่เป็นยังไงบ้าง ผลคือได้ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential อยู่ที่ 4,330.36MB/s และ 1,734.78MB/s ตามลำดับ ไม่ถือว่าเร็วปรี๊ดระดับสุดยอด แต่ก็เรียกว่าสำหรับการใช้งานโดยทั่วไป รวมถึงการตัดต่อวิดีโอและตกแต่งกราฟิกบ้าง มันก็ยังเหลือเฟืออยู่นะ

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

ในส่วนของหน้าจอแสดงผล ผมใช้ Spyder X Elite ในการวัดขอบเขตสีที่หน้าจอแสดงผลสามารถแสดงออกมาได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่ามันได้ตามสเปกที่ ASUS บอกไว้นั่นแหละครับ ทั้ง sRGB ได้ 99% และ DCI-P3 ได้ 98% ก็ตีกลมๆ เป็นราวๆ 100% ตามสเปก ส่วน NTSC ได้ 86% และ AdobeRGB ได้ 87%

โดยรวมถือว่าประสิทธิภาพของตัวโน้ตบุ๊กไม่เลว และถ้าไม่เอาไปเล่นเกม ผมว่ามันก็ทำงานทั่วๆ ไป ตลอดไปจนถึงการตกแต่งภาพ ทำกราฟิก หรือตัดต่อวิดีโอแบบทั่วๆ ไปได้สบายๆ อยู่นะครับ

ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS Vivobook S 14 (S5404VA)

มาถึงเรื่องประสบการณ์ใช้งานกันบ้าง ขอเริ่มตั้งแต่แรกสัมผัสเลยก็แล้วกันนะครับ แม้ว่าเราจะไม่ได้คิดว่าจะทำโน้ตบุ๊กตกหล่นหรือเอาไปใช้งานในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายก็ตาม แต่การที่ ASUS Vivobook S 14 (S5404VA) นี่ผ่านมาตรฐาน US Military Grade MIL-STD 810H ทั้งในเรื่องการทนแรงกระแทก การสั่นสะเทือน อุณหภูมิที่สูงและต่ำมากๆ เจอพวกฝุ่นทราย หรือใช้งานในที่สูงๆ มากๆ ก็น่าจะช่วยให้เราเบาใจไปได้หากเกิดเหตุสุดวิสัย … แต่ยังไงซะ โน้ตบุ๊กก็ไม่ได้กันน้ำนะครับ บอกไว้ก่อน อันนี้มาตรฐาน MIL-STD 810H ก็ช่วยอะไรไม่ได้นะ (รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานการทดสอบ อ่านเพิ่มที่เว็บไซต์ผลิตภัณฑ์ของ ASUS)

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

น้ำหนักตัวเครื่อง 1.50 กิโลกรัม สำหรับผมก็ไม่ถือว่าหนักมาก เพราะโดยส่วนตัว ผมใช้ ASUS ZenBook Duo 14 ซึ่งน้ำหนักตัวใกล้เคียงกันอยู่แล้ว แต่ถ้าไปถามภรรยาผม ที่ใช้ Fujitsu UH-X ที่หนักไม่ถึง 800 กรัม ก็จะได้รับคำตอบอีกแบบนะครับ ของแบบนี้ผมว่า อาจจะต้องลองไปหยิบๆ จับๆ ของจริงดูถึงจะรู้ หรือไปที่ร้านคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ หาโน้ตบุ๊กที่น้ำหนักใกล้เคียงกันมาลองถือดู จะได้รู้ว่าเราโอเคไหม

หน้าจอมันกาง 360 องศาไม่ได้ แต่ก็กางราบเป็น 180 องศาได้ สำหรับหลายๆ คน อาจจะชอบและได้ใช้เวลาประชุมแบบสุมหัวกันบนโต๊ะ แล้วอยากจะกางจอให้ราบไปกับพื้นเพื่อให้ทุกคนได้เห็น แต่นั่นก็ทำให้ช่องระบายความร้อนต้องมาอยู่ด้านข้างแทน และ ASUS ก็เลือกจะเอาช่องระบายความร้อนไปไว้ด้านซ้ายมือ เพราะคนส่วนใหญ่ถนัดขวา และหากใช้งานเมาส์ด้วย ก็จะไม่โดนลมร้อนเป่าเข้ามือก็โอเค แต่สำหรับคนถนัดซ้ายคือ โดนเต็มๆ แหละ

หน้าจอแสดงผลถือเป็นจุดขายสำคัญอย่างนึง ซึ่งหลังๆ มานี่ โน้ตบุ๊กของ ASUS จะใช้หน้าจอแสดงผลเป็น OLED ความละเอียดสูง สีงี้สวยกริ๊บ ภาพคมชัดมาก ขอบเขตสีกว้าง และจอสว่างเอาเรื่อง แน่นอน แลกมาด้วยราคาค่าตัวที่เพิ่มขึ้น เพราะจอ OLED ยังแพงอยู่ สเปก Core i5 ไม่มีการ์ดจอแยก มันก็เลยเริ่มที่สามหมื่นต้นๆ แล้วนี่ไง

การที่หน้าจอเป็น OLED สีสวย ก็เลยทำให้มันเป็นจอกระจกนะครับ สะท้อนเงาแบบเต็มๆ เลย ถ้าเกิดหน้าจอแสดงสีเข้มๆ หรือ สีดำ แต่เราจะไม่รู้สึกอะไรมาก ถ้าหน้าจอแสดงสีสว่างๆ หรือ สีขาวเป็นหลัก และหน้าจอนี่ไม่ใช่หน้าจอสัมผัสนะครับ

มือข้างขวากำลังจิบฝาหน้าจอตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) เพื่อเปิดขึ้นมา

ตรงด้านบนของหน้าจอเนี่ย มันมีการทำเป็นติ่งยาวๆ เอาไว้ให้สามารถใช้มือจับเพื่อเปิดหน้าจอที่พับอยู่ให้กางออกมาได้ง่ายๆ น้ำหนักของตัวเครื่อง ออกแบบมาให้สมดุลดีมาก สามารถใช้มือข้างเดียวในการกางหน้าจอออกมาได้เลย

คีย์บอร์ดถือว่าออกแบบมาดี ก็ตามมาตรฐานของ ASUS ผมถือว่าเป็นยี่ห้อที่ออกแบบเลย์เอาต์และดีไซน์ของคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กที่พิมพ์ได้คล่องมือสุดๆ ยี่ห้อนึงเลย Touchpad ก็ถือว่าใหญ่ และสัมผัสลื่นดี ใช้ได้สะดวก และใครที่จำเป็นต้องพิมพ์ตัวเลขบ่อยๆ ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ NumberPad 2.0 แปลงให้ Touchpad เป็น Numpad ด้วยได้ ยิ่งใช้คู่กับเมาส์ด้วย ก็เท่ากับว่าเราได้ปุ่ม Numpad เพิ่มมาเลย (จริงๆ แล้ว ตอนเปิดใช้ฟีเจอร์ NumberPad 2.0 อยู่ ก็ยังสามารถใช้ Touchpad ได้ปกตินะ แต่เราอาจจะไม่คุ้นกับการคลิกด้วยการกดบน Touchpad แล้วเผลอไปแค่ “แตะ” เฉยๆ แล้วกลายเป็นกดตัวเลขแทน)

ข้อจำกัดของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ก็คือตัวพอร์ต USB-A ที่รองรับแค่ USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) เท่านั้น ถ้าเราอยากจะใช้อุปกรณ์ที่ต้องการ USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ก็จะต้องเสียบผ่านพอร์ต Thunderbolt 4/USB-4 ที่เป็น USB-C และรองรับ USB 3.2 Gen 2 นั่นเอง แต่ยังดีว่าพวก External SSD ที่ความเร็วสูงระดับ 1,000MB/s ขึ้นไปตอนนี้ สายเคเบิลที่แถมมามักจะเป็นหัว USB-C แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ด้วยความที่ ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ใช้หน่วยประมวลผล Intel Gen 13th Core i5/i9 และมีหน่วยความจำมาให้ 16GB ซึ่งจากผลการทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark ก็แสดงให้เห็นว่า ขนาดแค่ Core i5 นี่ก็แรงกว่า Core i7 ใน Gen 11th บางรุ่นแล้ว ดังนั้นหมดห่วงเรื่องการใช้งานในเรื่องต่างๆ รวมถึงการตกแต่งภาพและตัดต่อวิดีโอ เพราะตอนผมใช้ Core i5-1135G7 แรม 16GB เนี่ย ก็เอามาใช้ทำงานตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ เมื่อจำเป็นต้องไปทำงานนอกสถานที่ได้สบายๆ อยู่แล้วครับ

ฟีเจอร์อื่นๆ สำหรับการทำงานที่น่าสนใจก็น่าจะเป็นเรื่องของระบบกล้องเว็บแคมที่มีระบบ AiSense ที่ช่วยใส่เอฟเฟ็กต์ให้กับภาพวิดีโอที่ได้จากกล้องเว็บแคม แต่จะเลือกใส่ได้แค่อย่างใดอย่างนึงนะครับ ฟีเจอร์ก็จะมี ปรับแสงให้เหมาะสม เบลอแบ็กกราวด์ ปรับสายตาให้มองกล้องเสมอ ตรวจจับการเคลื่อนไหว และปรับผิวให้นุ่ม (ประมาณ Beauty mode) ซึ่งเป็นฟีเจอร์คล้ายๆ กับ NVIDIA Broadcast ครับ และอาจจะด้วยความที่มันยังไม่มี NPU (Neural Processing Unit) เอาไว้ประมวลผล ก็เลยยังน่าจะเปิดใช้เอฟเฟ็กต์ได้แค่อันเดียวเหมือนกันด้วย อย่างไรก็ดี ฟีเจอร์พวกนี้ พวกกล้องเว็บแคมไฮเอนด์บางรุ่นอย่าง Logitech หรือซอฟต์แวร์พวก Video conferencing อย่าง Zoom หรือ Microsoft Teams เขาก็มีมาให้อยู่แล้วนะ และในอนาคต หลังจากที่หน่วยประมวลผลเริ่มมี NPU ใช้กัน (ตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM) ก็จะสามารถใช้ฟีเจอร์ Studio Effect ของ Windows 11 ได้เลย

ส่วนในแง่ของผลลัพธ์นั้น ต้องบอกว่า ASUS ยังอาจจะต้องปรับปรุงอีกพอสมควรครับ เพราะผมลองแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่แจ่มเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการเบลอฉากหลัง (แบ็กกราวด์) ที่ยังไม่เนียนมาก (Microsoft Teams หรือ Zoom ทำได้ดีกว่า) การปรับสายตาให้มองกล้องที่ลองแล้วสายตาก็ไม่มองกล้องแฮะ

แต่ข้อดีของฟีเจอร์ AiSense ของ ASUS ก็คือ มันทำงานในระดับพื้นฐานเลยครับ ฉะนั้นเอฟเฟ็กต์ใดๆ ที่เปิดใช้ ไม่ว่าจะโปรแกรมใดๆ ที่ใช้กล้องเว็บแคมของโน้ตบุ๊กตัวนี้ก็จะสามารถนำไปใช้ได้หมด นั่นหมายถึง แม้แต่แอป Camera ของ Windows ก็จะได้ภาพที่มีเอฟเฟ็กต์มาเลย ผิดกับพวกฟีเจอร์ NVIDIA Broadcast หรือซอฟต์แวร์ของพวกกล้องเว็บแคมใดๆ ที่มันจะเป็นการสร้าง Virtual camera ขึ้นมา แล้วเราจะใช้ได้กับเฉพาะซอฟต์แวร์ที่รองรับการเลือกกล้องเท่านั้น แล้วเราก็เลือกไปที่ Virtual camera ครับ (ข่าวดีคือ พวกโปรแกรม Video conference ต่างๆ มันรองรับการเลือก Virtual camera ครับ)

ภาพของเครื่องวัดความดังของเสียง UNI-T UT353 ที่วัดความดังของเสียงลำโพงโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) แสดงค่า Max ที่ 92.3 dBA

และเช่นเดียวกับโน้ตบุ๊ก ASUS รุ่นอื่นๆ ที่มีโปรแกรม MyASUS ในปัจจุบัน มันก็มีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนของไมโครโฟนด้วย AI ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น โหมดการประชุมแบบผู้พูดคนเดียว โหมดการประชุมแบบผู้พูดหลายๆ คน ส่วนตัวลำโพงก็ได้รับการจูนเสียงโดย harman/kardon มีฟีเจอร์ช่วยเร่งความดังของเสียงอย่าง Smart Amplifier และ ASUS Audio Booster พร้อมรองรับ Dolby ATMOS ด้วย ลำโพงถือว่าเสียงดังใช้ได้เลยครับ ลองวัดดูความดังไปได้ถึงระดับ 92.3 dBA เลย ตัวลำโพงสามารถตอบสนองกับเสียงย่านต่ำได้ แต่เสียงจะไม่ได้ตึบนะครับ ออกจะอยู่แนวเบาๆ ด้วย ต้องเงี่ยหูฟังเลยแหละ

แบตเตอรี่ 75Wh ถือว่ามีขนาดใหญ่ ผมลองใช้งานเนี่ย ระยะเวลา 4 ชั่วโมงอยู่ได้สบายๆ ครับ และโน้ตบุ๊กตัวนี้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Intel Evo ด้วย และมีฟีเจอร์ชาร์จเร็ว สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ถึง 60% ภายในเวลาประมาณ 49 นาที (ASUS ทดสอบด้วยอะแดปเตอร์ที่มากับโน้ตบุ๊ก และปิดเครื่องระหว่างการชาร์จ) ในการชาร์จ เราสามารถใช้อะแดปเตอร์ที่แถมมาให้ ที่เป็นหัวชาร์จ DC-in แบบกลม หรืออะแดปเตอร์แบบ USB-C ก็ได้เช่นกัน แต่ต้องใช้อะแดปเตอร์แบบ 100 วัตต์ นะ ถ้าใช้แบบ 65 วัตต์ อาจจะกลายเป็นการชาร์จแบบช้าไป

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA)

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook S 14 OLED (S5404VA) ตัว Core i5 ราคา 33,990 บาท ถือว่ามีราคาประมาณนึงเลย แต่พอเข้าใจได้ว่าต้นทุนส่วนนึงมันมาจากหน้าจอแสดงผลแบบ OLED ที่ความละเอียด 2.8K ด้วยละนะ แต่สิ่งที่ได้ก็ไม่แย่นะ เพราะเราก็ได้หน่วยประมวลผล Intel Gen 13th Core i5 แรม 16GB ซึ่งก็ถือว่าสเปกดี และสามารถใช้ทำงานต่างต่างนานาได้สบายๆ เป็นโน้ตบุ๊กที่พกพาได้ไม่ลำบาก และตอบโจทย์การใช้งานในทุกรูปแบบ ทั้งงานเอกสาร ท่องอินเทอร์เน็ต ตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ นำเสนองาน ฯลฯ มีพอร์ตการเชื่อมต่อที่ครบถ้วน ทั้ง USB-A เอาไว้เสียง USB dongle สำหรับพวกเมาส์หรือคีย์บอร์ดไร้สาย USB-A สำหรับต่อกับพวกแฟลชไดร์ฟหรืออุปกรณ์ใดๆ และ USB-C มีครบเลย

สนใจก็ไปกดตามลิงก์ด้านล่างได้เลยครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า