ตอน Samsung Galaxy Z Fold 2 ออกมาใหม่ๆ ผมได้เขียนบล็อกวิพากย์วิจารณ์เอาไว้ในฐานะคนที่ใช้สมาร์ทโฟนแบบพับได้ แต่เป็นแบบสองจออย่าง ZTE Axon M มาเป็นปี แต่ตอนนี้มันก็มาอยู่ในมือผมแล้ว แบบที่ไม่ใช่ Samsung เขาเอ็นดูส่งมาให้ยืมรีวิวได้ แต่เป็นซื้อมาใช้เองเลยครับ เพราะสุดท้ายนั่งพิจารณาแล้ว จอที่กางใหญ่ได้ มันก็สำคัญสำหรับผมจริงๆ ส่วน iPhone 12 Pro เดี๋ยวไว้ตอนซื้อให้ภรรยาใช้ แล้วค่อยเอาอันนั้นมารีวิวละกัน (จริงๆ ตั้งใจจะซื้อ iPhone 12 Pro MAX ใช้นะ แต่สุดท้าย Samsung Galaxy Z Fold 2 ตัดหน้าไปเฉียดฉิว)
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Samsung Galaxy Z Fold 2 ที่รีวิวนี่ ซื้อมาใช้เองครับ ไม่ได้ยืมใครมา ใครเอ็นดูผม อยากสนับสนุนให้ผมมีตังค์ไปซื้อแกดเจ็ตมารีวิวอีก หลังไมค์มาทักเพื่อสนับสนุนผมได้ ผมไม่ถือ 555
ทำใจก่อนนะ เรือธงของ Android ราคาดิ่งไวใช่ย่อย โดยเฉพาะของยี่ห้อ Samsung
ก่อนจะรีวิว ขอบ่นเรื่องการดิ่งลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าตลาดหุ้นไทยของสมาร์ทโฟนเรือธงของ Samsung หน่อยเหอะ Galaxy Z Fold 2 เปิดตัวไปตอนต้นเดือนกันยายน และมาขายในไทยกลางเดือนกันยายน ปัจจุบันราคาเครื่องศูนย์ ถ้าซื้อที่ศูนย์ก็ 69,990 บาท แพงระยิบ แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าไปหาถูกที่ถูกทาง มือสองอายุสองวัน 49,999 บาท (เห็นมีคนขายอยู่วันก่อน) แต่โดยเฉลี่ยแล้ว เครื่องมือหนึ่งหรือมือสองจะอยู่ที่ 52,xxx – 55,xxx บาท แล้วแต่ว่าจะไปเจอจังหวะไหน มีกลุ่มสำหรับผู้ใช้งานรุ่นนี้และสำหรับขายรุ่นนี้โดยเฉพาะบน Facebook Groups เลย
Samsung Galaxy Z Fold 2 ดีไซน์ที่ดูจะลงตัว (ซะที) แล้ว
ตอน Samsung Galaxy Z Fold รุ่นแรก Samsung หน้าแหกแรงมาก หลังจากที่ไม่ได้เจออะไรแรงๆ แบบนี้มานับตั้งแต่ตอน Samsung Galaxy Note 7 ที่บู้มเป็นโกโก้ครั้นช์ไป อย่างว่าแหละ สมาร์ทโฟนจอพับแบบที่ใช้หน้าจอแบบพับได้จริงๆ มันเป็นดีไซน์ใหม่มาก หลายๆ คนยังบอกว่ามันมาก่อนกาลเลย เพราะถ้าทำได้จริงๆ Apple ทำไปนานแล้ว อะไรแบบนี้
พอมาเป็น Samsung Galaxy Z Fold 2 บอกเลยว่า Samsung ได้เอาบทเรียนจากรุ่นแรกไปปรับปรุงรุ่นสองซะดิบดี จนผมถึงกับต้องบอกว่า แท้จริงแล้ว Samsung Galaxy Z Fold 2 ควรจะเรียกว่าเป็นรุ่นที่ Samsung ทำเสร็จซะที แต่อาจจะเพราะว่าผลตอบรับของ Samsung Galaxy Z Fold รุ่นแรกมันออกมาถือว่าโอเค Samsung เลยไม่ต้องแถมอะไรเยอะ ตอนรุ่นแรกนี่แถมหูฟังไร้สาย Galaxy Buds กับเคสมาให้ในกล่อง แต่รุ่นสองนี้ อยากได้ ซื้อเอาเองนะจ๊ะ

กล่องยังดูสวยงาม ไฮโซอยู่ แต่ภายในกล่อง นอกจากตัว Samsung Galaxy Z Fold 2 แล้ว ก็มีเข็มจิ้มถาดใส่ซิม หูฟังแบบ In-ear ที่จูนโดย AKG ที่เป็นหัว USB-C มาให้ พร้อมซิลิโคนอีกสองขนาด เอาไว้เปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับรูหูของเรา สายชาร์จแบบ USB-C to USB-C กับที่ชาร์จที่รองรับเทคโนโลยี Super Fast Charge ของ Samsung จ่ายไฟได้ 5V3A, 9V2.77A หรือ 3.3-5.9V ที่ 3A หรือ 3.3-11V ที่ 2.25A หรือพูดง่ายๆ ชาร์จไฟได้ไวสุด 25 วัตต์นั่นแหละ ซึ่งผมออกตัวก่อนเลยว่า ผมไม่ใช้อะ ผมไม่ใช่แฟนคลับที่นิยมชาร์จไวๆ มันโหดร้ายต่อแบตเตอรี่เกินไป

ตัวเครื่องที่ผมซื้อมา เป็นสี Mystic bronze ครับ ผมว่าสวยดี แต่เห็นว่าสีนี้เกร่อพอสมควร เพราะมันสวยนี่แหละ ออกแนวชมพูจางๆ มั้ง ในความเห็นของผม ตอนแกะกล่องออกมา ตัวเครื่องมันกางหน้าจอออก เราจะเห็นหน้าจอแสดงผลหลักแบบ Foldable dynamic AMOLED 2X ขนาด 7.6 นิ้ว ความละเอียด 1,768×2,208 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผล 3.2:4 โดยประมาณ เป็นหน้าจอแสดงผลแบบ Infinity-O มีกล้องดิจิทัลความละเอียด 10 ล้าน f2.2 พิกเซลฝังอยู่

ส่วนด้านหลัง มันจะมีสองส่วน ส่วนนึงคือ Cover display หรือหน้าจออันเล็ก เวลาที่เราพับเก็บหน้าจอหลัก ใช้งานเป็นสมาร์ทโฟน หน้าจอนี้มีขนาด 6.23 นิ้ว ดูเหมือนจะใหญ่ แต่อย่าลืมว่าเวลาเราวัดขนาดหน้าจอ เราวัดตามแนวทแยงครับ ไอ้หน้าจอนี่มันอัตราส่วนการแสดงผล 25:9 เลยทำให้ดูหน้าจอยาวๆ แต่แคบมาก ความละเอียด 816×2,260 พิกเซล และเป็นจอ Super AMOLED แบบ Infinity-O มีกล้องดิจิทัลเอาไว้เซลฟี่ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล f2.2 เหมือนกับหน้าจอหลัก

อีกส่วนของด้านหลัง คือด้านหลังของสมาร์ทโฟนจริงๆ มีกล้องดิจิทัล 3 ตัว คือ กล้องหลักเลนส์มุมกว้าง 26mm 12 ล้านพิกเซล f1.8 กล้องรองอีกสองตัว ตัวนึงเลนส์เทเลโฟโต้ 52mm 12 ล้านพิกเซล f2.4 และกล้องเลนส์มุมกว้างพิเศษ 12mm f2.2 ถ่ายภาพได้มุมกว้าง 123 องศา
รอบๆ ตัวเครื่องที่เหลือก็มีลำโพงแบบสเตริโออยู่ด้านบนและด้านล่างของหน้าจอ Cover display พอร์ต USB-C สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่บริเวณกึ่งกลางฝั่งด้านหลังของตัวเครื่องเมื่อพับหน้าจอแล้ว มีไมโครโฟนสองจุด ด้านบนและด้านล่างของตัวเครื่องเช่นกัน ปุ่ม Volume และ ปุ่ม Power ที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์สำหรับสแกนลายนิ้วมือไปในตัว
เนื่องจากของมันแพงมาก ผมไม่ทดสอบเรื่องความทนทานของมันด้วยตัวเองหรอกนะ เพราะมี YouTuber อย่าง Jerry Rig Everything เขาทดสอบให้อยู่แล้ว ไปดูวิดีโอของเขาเอาเอง
แต่ใครขี้เกียจดูวิดีโอจนจบ ผมขอสรุปให้แบบนี้
● หน้าจอหลักนั้น แม้ว่า Samsung เขาจะบอกว่าเปลี่ยนจากจอพลาสติกมาเป็น Ultra thin glass แทน แต่เขาก็ติดฟิล์มกันรอยแบบ TPU มาให้ ซึ่งฟิล์มนี้ไม่ทนต่อการถูกขูดขีดอย่างแรง เพราะมันเน้นไปที่ความยืดหยุ่น เพื่อให้รองรับการพับหน้าจอนะ
● นอกจากนี้ ถ้าเกิดเอาฟิล์มกันรอยแบบ TPU ออกไปแล้วหน้าจอหลักก็เป็นรอยง่ายมากอยู่ดี เห็นเฮีย Jerry บอกว่าเป็นเพราะ Ultra thin glass ที่ Samsung เขาบอกว่าใช้กับ Galaxy Z Fold 2 นั้น มันอยู่ใต้ชั้นพลาสติกอยู่ดี
● แม้ว่า Samsung Galaxy Z Fold 2 จะไม่ได้มี IP rating เรื่องการกันน้ำกันฝุ่น แต่ Samsung ก็ออกแบบให้หน้าจอหลักมันกันฝุ่นเข้าได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าชัดเจนมาก
● หน้าจอ Cover display ใช้ Gorilla Victus กันรอยได้ดีนะ ทนได้ถึงระดับ 5 ของโมห์สเกล
อาจจะดูเหมือน Samsung Galaxy Z Fold 2 เปราะบาง แต่ดูๆ แล้ว Samsung ก็ใส่ใจในเรื่องความทนทานของสมาร์ทโฟนราคาเฉียด 7 หมื่นบาทเครื่องนี้อยู่ไม่น้อยนะ แต่ในความเห็นของผมอะ ต่อให้มันทนทานจริงๆ ก็เหอะ แต่ถ้าทำตกทีนึงมีร้องกรี๊ดอะ ต่อให้จอไม่แตก มันก็ต้องมีถลอก มีบุบกันบ้างแหละ
ประสบการณ์ในการใช้งาน Samsung Galaxy Z Fold 2
เมื่อซื้อสมาร์ทโฟนราคาแพงระยับแบบนี้มา แน่นอนว่าผมต้องเอามันมาใช้เป็นเครื่องหลัก และเนื่องจากมันรองรับ 2 ซิม ผมก็เลยได้เวลาวาง iPhone 8 Plus ที่ผมใช้มานาน 3 ปีลงซะที (เครื่องนี้จะตกเป็นของคุณแม่ในอนาคต ซึ่งมันยังใช้ได้อีกยาว เพราะเพิ่งไปเปลี่ยนแบตเตอรี่มา) การรองรับ 2 ซิมของ Samsung Galaxy Z Fold 2 นี่เป็นแบบซิมแรกเป็น eSIM ครับ อยากได้ก็ไปที่ศูนย์บริการของค่ายที่คุณใช้ (ของผมคือ Truemove) ให้เขาดำเนินการให้ ส่วนอีกซิม ก็จิ้มเอาถาดออกมา แล้วใส่นาโนซิมเข้าไป ใส่ MicroSD card เพิ่มไม่ได้นะฮะ
Samsung Galaxy Z Fold 2 เมื่อพับแล้ว มันมีส่วนที่หนาสุด หนาถึง 16.8 มม. เลยทีเดียว หรือเฉียดๆ สมาร์ทโฟนสองเครื่องประกบกันอ่ะ (คือ ถ้ากางหน้าจอออก ความหนาของมัน จะบางกว่าสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปอยู่นิดหน่อย คือ 6.9 มม.) และน้ำหนักมากถึง 282 กรัม ซึ่งน้ำหนักขนาดนี้ ถ้าเป็นแท็บเล็ตถือว่าเบา แต่ถ้าเป็นสมาร์ทโฟน มันถือว่าหนักกว่าทั่วไปเป็นขีดเลยทีเดียว ตอนถือมือเดียวนี่รู้สึกได้ถึงมวลสาร 555

บานพับดูดีมาก ปรับปรุงจากรุ่นก่อนเต็มๆ มีการป้องกันฝุ่นเข้าอย่างเต็มที่ และมีระบบแปรงปัดอะไรของมันนี่แหละ คอยทำความสะอาดบานพับตลอดเวลา และการออกแบบบานพับใหม่ ทำให้เราสามารถกางหน้าจอออกเป็นองศาทิ้งไว้ได้ ไม่เหมือนรุ่นก่อนที่เลือกได้แค่กางหรือพับไปเลย
วัสดุรอบๆ ตัวเครื่องเป็นโลหะที่มีทั้งแบบเป็นเงางาม (ตรงสันพับของตัวเครื่อง) และแบบที่ดูเหมือนโลหะทั่วๆ ไป ไม่ได้เงาแว้บมาก ก็ดูทนต่อรอยขีดข่วนได้ประมาณนึง ผมใช้คู่กับเคส Official ของ Samsung เขา ซึ่งไม่ค่อยปกป้องคุ้มครองตัวเครื่องอะไรเท่าไหร่ (และโคตรแพง อันนึง 1,790 บาท กันแค่กระจึ๋งเดียว แต่ชอบตรงที่มันมีขาตั้งในตัว และมันบาง) ใส่กระเป๋ากางเกงพกไปมาสัปดาห์กว่าๆ สภาพก็ยังดูดีอยู่นะ
ที่ผมกังวลคือความทนทานต่อการตกหล่นมากกว่า เพราะดูจาก Cover display ที่ด้านนึงแอบจอโค้งนิดๆ กระจกงี้ชิดขอบตัวเครื่องมาก เกิดตกจังหวะพอดีเป๊ะๆ นี่ชิบหายเลยนะ เปลี่ยนจอของรุ่นนี้ โคตรแพง
หน้าจอแสดงผล Cover display ที่แม้สัดส่วนจะแปลกๆ 25:9 ดูแคบๆ ยาวๆ มันก็ยังใช้งานได้ดีกว่าหน้าจอขนาด 4.6 นิ้ว ที่จุ๋มจิ๋มของ Galaxy Fold รุ่นแรกอย่างมาก คือ อย่างน้อยเจ้านี่ก็ใช้งานได้เต็มๆ ตา ในฐานะสมาร์ทโฟนจริงๆ จังๆ มากกว่านั่นแหละ และบอกเลยว่าบ่อยครั้งที่เราต้องใช้งาน Samsung Galaxy Z Fold 2 ผ่านเจ้า Cover display นี่แหละ สำหรับคนที่รู้สึกว่าขนาดของตัวอักษรมันเล็กไป ไปปรับให้ใหญ่ขึ้นได้ที่ Settings > Display > Font size and style เพราะค่าเริ่มต้นตั้งไว้ค่อนข้างเล็ก (ระดับ 2 จากทั้งหมด 8 ระดับ) อย่างผมเนี่ย ตั้งเป็นระดับ 3 แทน สบายตาขึ้นเยอะ

หน้าจอที่แคบทำให้พิมพ์ยากใช่ย่อย โดยเฉพาะถ้าใช้คีย์บอร์ดของ Samsung เอง ซึ่งผมเลือกที่จะใช้ Gboard ของ Google มากกว่าครับ ถนัดมือกว่า แต่ผู้ใช้งานในกลุ่ม Galaxy Z Fold 2 บน Facebook เขาบอกว่า ใช้ Swipe keyboard สะดวกกว่าเยอะ อันนี้ผมว่านานาจิตตัง แต่ที่กระทบแน่ๆ คือ กับแอปบางตัวที่พอเจอจอแคบๆ แล้วมันแสดงผลไม่เต็ม อย่างเช่น TikTok เป็นต้น

เรื่องหน้าจอ Infinity-O เราจะรำคาญกล้องหน้าแบบเจาะรูไหม ผมบอกเลยว่าไม่อะ เพราะโดย Default แล้ว เขาไม่เปิดการแสดงผลแบบเต็มหน้าจอ (Full screen apps) และหน้าจออัตราส่วน 25:9 ขนาดนี้ บอกตรงๆ ไม่ต้องให้การแสดงผลมันเต็มหน้าจอหรอก รูปแบ็กกราวด์ดั้งเดิมของ Samsung Galaxy Z Fold 2 ก็จงใจทำด้านบนเป็นสีดำๆ และให้กล้องมันอยู่ตรงระหว่างไอคอนของ Taskbar อีก ทำให้มันเนียนๆ กลืนๆ ไปพอดี
กางออกมา ดูที่หน้าจอหลักขนาด 7.6 นิ้ว กันบ้าง เราจะรู้สึกได้เลยว่าหน้าจอใหญ่เบิ้มขึ้นมาก แต่มีคนบอกว่ามันก็ยังไม่เต็มตาเท่ากับพวกแท็บเล็ตจริงจัง แต่อันนี้ผมอยากจะเถียง เพราะว่าพอเอาเจ้านี่ไปเทียบกับ Lenovo Yoga Tab 8 รุ่นเก่าที่ผมยังเก็บเอาไว้อยู่แล้ว บอกเลยว่าขนาดหน้าจอใกล้เคียงกันมากนะครับ Samsung Galaxy Z Fold 2 จะดูเล็กกว่านิดๆ นั่นเพราะว่าอัตราส่วนการแสดงผลในแนวนอนมันเป็น 4:3.2 ผิดกับพวกแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทั่วไปที่เป็น 16:9

ไม่ต้องคาดหวังนะครับว่ารุ่นสองแล้ว รอยพับตรงกลางของหน้าจอมันจะหายไป ไม่ใช่เลยนะครับ รอยยังอยู่ครับ เหมือนเดิมเป๊ะ ตอนซื้อมาใหม่ๆ จะยังไม่ทันเห็นรอย เพราะจอมันยังไม่เคยถูกพับ แต่พอพับจอไปซักพัก รอยจะเริ่มเห็นชัดขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นปกตินะครับ มันอาจจะรำคาญสายตาไปบ้าง เวลาที่แสงมันตกกระทบได้ตรงจุดพอดี แต่โดยปกติแล้ว เราไม่ทันได้เห็นว่ามีมันอยู่ เราแค่รู้สึกว่ามีมัน โดยเฉพาะเวลาลากนิ้วผ่าน มันรู้สึกเลยว่าจอมันบุ๋มลงไปครับ
ฟีเจอร์ Adapter brightness และ Blue light filter ที่ให้เราเปิดใช้งานได้ แถมยังปรับได้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความเข้มของการกรองแสงสีฟ้าออก หรือการตั้งเวลาให้เปิดใช้การกรองแสงสีฟ้าโดยอัตโนมัติ (ตามการตั้งเวลา หรือ เฉพาะช่วงเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น) ทั้งหน้าจอ Cover display และหน้าจอหลัก มันทำให้ใช้งานสบายตามากเวลากลางคืน หรือกลางแจ้ง อันนี้ผมค่อนข้างชอบ
จอใหญ่ขึ้นแล้วทำให้การใช้งานสะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพิมพ์ ซึ่งถ้าใช้คีย์บอร์ดของ Samsung มันจะแยกคีย์บอร์ดเป็นสองฝั่ง ให้เวลาใช้มือจับตัว Samsung Galaxy Z Fold 2 ทั้งสองข้าง ก็ยังพิมพ์สะดวก แต่ผมชอบใช้ Gboard ของ Google มากกว่า ซึ่งก็พิมพ์สะดวกดี ผมถนัดแบบนี้ตั้งกะตอนใช้ ZTE Axon M แล้ว
ถ้าแอปไหนรองรับการใช้งานในโหมดแท็บเล็ต ก็จะได้ประโยชน์จากขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นแบบเต็มๆ พวกแอปอย่าง Outlook ก็จะแสดงผลอีเมลใน Inbox ได้ และในขณะเดียวกันก็จะมี Reading pane หรือหน้าจอสำหรับอ่านเนื้อหาของอีเมลมาให้อ่าน หรือ แอป YouTube ก็จะแสดงรายละเอียดได้มากกว่าปกติ อะไรแบบนี้ ซึ่งทำให้การใช้งานได้ประสบการณ์ดีขึ้นเยอะมาก … แต่ … ปัญหาก็คือว่า แอปบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ส่วนมากมันไม่ได้ทำการแสดงผลในแบบแท็บเล็ตเอาไว้ บางตัวยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ได้ทำเผื่อใช้ในแนวนอนด้วยซ้ำ เช่นพวก Lazada, Shopee, Aliexpress, TikTok พวกนี้ตะแคงเครื่องแล้ว แอปไม่ตะแคงตาม ส่วน Facebook นี่ตะแคงเครื่องแล้วแอปตะแคงตาม แต่พอจะโพสต์เท่านั้นแหละ มันหมุนกลับไป Portrait เหมือนเดิมซะงั้น
แต่ Samsung คงกะไว้แบบนี้อยู่แล้ว เขาเลยทำอัตราส่วนการแสดงผลมาเป็น 3.2:4 อะ ดังนั้นจะตะแคงหรือไม่ตะแคง ไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างกันมากมายนัก จะมีก็แต่ YouTube ที่การตะแคงหรือไม่ตะแคง เราจะเห็น UI ของแอปที่แตกต่างกันออกไป

ทีนี้ Samsung โม้ว่ามันช่วยเรื่อง Multitasking ได้ มันจริงไหม? ก็บอกเลยว่าขนาดหน้าจอแค่ 7.6 นิ้วแบบนี้ มันก็ทำ Multitasking ได้แค่ประมาณครึ่งๆ กลางๆ ครับ สไตล์ของ Microsoft Surface Duo นี่ทำ Multitasking ได้จริงจังกว่าถ้าเปิดสองแอป ของ Samsung เขาบอกว่าเปิดได้ 3 เลย แต่สองแอปมันจะจอกระจึ๋งเดียว ซึ่งพิจารณาจาก UI ของแอปต่างๆ ที่ค่อนข้างรก จึงยากที่จะใช้งานได้เต็มที่หากเปิดซะสามแอปรวด

เท่าที่ผมลองดู เปิดสองแอป เพื่อใช้ดูข้อมูลจากแอปนึงแล้วพิมพ์ในอีกแอปนึง หรือใช้อานิสงส์จากความร่วมมือระหว่าง Samsung กับ Microsoft ในการลากรูปภาพมาวางในไฟล์เอกสาร Microsoft Office ได้ก็สะดวกดี ถ้าจะเปิดสามแอป เพื่อประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom แล้วเปิดโปรแกรมแชทไปพร้อมๆ กับการอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ ก็พอไหวอยู่บ้าง มันดีตรงที่ Samsung Galaxy Z Fold 2 ยอมให้เราทำอะไรแบบนี้ได้ ซึ่งเวลาใช้สมาร์ทโฟนโดยทั่วไปมันทำอะไรพร้อมๆ กันแบบนี้ไม่ได้ มันก็สะดวกดี แต่ผมก็ยังมองว่า มันไม่ได้เรียกเต็มปากว่าเป็น Multitasking อะไรได้ขนาดนั้นหรอกนะ ประสบการณ์มันครึ่งๆ กลางๆ อยู่

แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็รู้สึกว่า Samsung Galaxy Z Fold 2 เป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะสำหรับงานด้าน Productivity ทีเดียว เพราะมันเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานแบบเน้นรวดเร็วก็ได้ หรือถ้าต้องโฟกัสที่การทำงานเพิ่ม กางหน้าจอออกมาเป็นแท็บเล็ตก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้อีกเยอะ และหากใครพกพวกคีย์บอร์ดพกพาแบบพับได้ งานจำพวกแก้ไขเอกสารเยอะๆ หรือพิมพ์อีเมลยาวๆ ก็สะดวกอยู่ พกเบากว่าพกโน้ตบุ๊กเยอะเลย ถึงแม้จะทำอะไรต่อมิอะไรไม่ได้มากเท่า แต่ด้วยความที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างจะเปิด มันก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำทดแทนการแบกโน้ตบุ๊กไปใช้ได้อยู่นะ
การที่มันพับจอได้เป็นองศาต่างๆ มันช่วยให้เราสามารถใช้เจ้านี่ทำประชุมออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องไปหาแท่นวางอะไรเลย ก็แค่พับให้อยู่ในลักษณะเอียงๆ หน่อย ใช้กล้องหน้าของ Cover display เป็นเว็บแคม แล้วดูภาพผู้ร่วมประชุมจาก Cover display นี่แหละ
ฟีเจอร์นึงที่ Samsung โม้เอาไว้ในตระกูล Z Fold ก็คือ Continue apps on cover screen ครับ คืองี้ เวลาที่เราใช้งานแอปอยู่ใน Cover display แล้วเรากางหน้าจอหลักออกมาใช้ แอปมันจะวิ่งมาเปิดต่อบนหน้าจอหลักได้ แต่เวลาที่เราพับปิดจอหลัก แอปมันจะไม่กลับไปเปิดบน Cover display ครับ ถ้าอยากให้มันกลับมาเปิดได้ ต้องมาตั้งค่าที่ Settings > Display > Continue apps on cover screen ซึ่งเราจะต้องเปิดใช้งานเป็นรายแอป ไม่มีตัวเลือกแบบที่กดทีเดียว เปิดใช้ทุกแอป ซึ่งจะน่ารำคาญมาก โดยเฉพาะถ้าเรามีแอปติดตั้งไว้เยอะ เพราะเราก็ย่อมอยากให้การใช้งานแอปมันมีความต่อเนื่องในกรณีที่เราจะสลับหน้าจอใช้งานนิ

และไม่ใช่ทุกแอปที่จะรองรับฟีเจอร์ Continue apps on cover screen ครับ เพราะแอปไหนที่ไม่ยอมให้ Resize ก็จะใช้ฟีเจอร์นี้ไม่ได้ และแอปบางตัว เช่น Instagram เวลาเปิดบนหน้าจอหลัก มันก็จะแสดงผลไม่เต็มจอซะด้วย แต่ก็มีวิธีแก้นะครับ โดยไปที่ Settings > About phone > Software information แล้วไปแตะตรง Build number รัวๆ จนมันปลดล็อก Developer options ครับ จากนั้นไปที่ Developer options แล้วเลื่อนหน้าจอลงไปจนเจอตัวเลือก Force activities to be resizable แค่นี้เราก็สามารถใช้ฟีเจอร์ Continue apps on cover screen ได้ทุกแอปแล้ว แถม Instagram คราวนี้ก็เปิดบนหน้าจอหลักได้เต็มจอซะที แต่วิธีนี้มันคือการบังคับแอปให้ Resize นะครับ แอปบางตัวอาจจะแสดงผลเพี้ยนหรือเด้งไปเลยก็ได้ แต่เท่าที่ผมลองใช้ดู ไม่เจอปัญหาอะไรนะ
ความน่ารำคาญอย่างนึงตอนใช้ Samsung Galaxy Z Fold 2 ก็คือ ตัว Default UI มันตั้งเป็น Home and Apps screens ที่แยก Home screen กับ Apps drawer ออกจากกัน แล้วไอ้ Home screen ของ Cover display กับหน้าจอหลัก มันดันเป็นคนละบ้านกัน เลยทำให้ต้องมาจัดวาง จัดเรียง Home screen ทีละหน้า … ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าเกิดเราเลือก Settings > Display > Home screen > Home screen layout เป็น Home screen only ครับ สองหน้าจอจะใช้ Home ที่เกือบจะเป็นบ้านเดียวกัน คือ ไอคอนแอปจะขึ้นมาเหมือนกันหมด แค่เราต้องจัดเรียงนิดหน่อย เพราะ Layout ของหน้าจอที่ขนาดต่างกันมันไม่เหมือนกัน ก็เท่านั้นเอง

ด้วยความที่เจ้านี่สนนราคาค่าตัวแพง แถมเวลาพับก็หนาและหนักกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป เวลากางออก ก็ใหญ่กว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป ผมเลยไม่กล้าเอามันมาใช้นำทาง GPS นะ ทั้งๆ ที่เท่าที่ผมลองใช้ดู มันจับ GPS ได้ค่อนข้างไวและแม่นยำทีเดียว (ผมใช้บันทึกการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถทำได้แม้จะใส่มันอยู่ในกระเป๋ากางเกง) สุดท้าย เวลาขับรถ ผมก็ยังเลือกจะใช้ iPhone 8 Plus ตัวเก่าของผมนี่แหละ มานำทาง
สเปก CPU Qualcomm Snapdragon 865+ แรม 12GB ความจุ 256GB มันแรงพอที่จะใช้งานได้ลื่นไหลมากมาย เท่าที่ผมลองใช้มา แรมจะถูกกินอยู่ช่วง 5.3-8.3GB ครับ แรมเหลือๆ ส่วนเนื้อที่สำหรับเก็บข้อมูล แค่เปิดเครื่องมาก็กินไปแล้วสามสิบกว่ากิกะไบต์ แต่คนทั่วๆ ไปก็ไม่น่าจะใช้งานมันหมดหรอกนะ ผมใช้ iPhone 8 Plus มาสามปี ใช้เนื้อที่เก็บข้อมูลไปราวๆ 112GB เท่านั้นเอง แต่ปัญหาคือ เจ้านี่มันถ่ายวิดีโอ 4K 60fps ได้นี่แหละ ถ้าใครเป็นสายถ่ายวิดีโอ แล้วถ่ายเยอะๆ ละก็ 256GB ไม่น่าจะพออะ แล้วมันดันเพิ่มความจุด้วย MicroSD card ไม่ได้ ยิ่งแย่ใหญ่ (แต่ก็พอจะเข้าใจนะ คือ ถ้าให้ผู้ใช้งานหามาใส่เอง เกิดใช้ MicroSD card คุณภาพต่ำ ประสบการณ์ใช้งานนี่ดรอปลงแบบชัดเจนแน่ Samsung อาจโดนด่าฟรี)
แบตเตอรี่ 4,500mAh เท่าที่ลอง มันใหญ่มากพอที่จะใช้งานแบบทั่วๆ ไป ไม่โหดร้ายมาก อยู่รอดได้ครบวันนะครับ เพียงแต่ผมมีนิสัยชอบชาร์จแบตเตอรี่ ผมก็เลยชอบชาร์วันนึงสองหน คือ ตอนอยู่ออฟฟิศหนนึง กลับบ้านชาร์จก่อนนอนอีกหนนึงพอ
ใครต้องการป้องกันรอยขีดข่วน อย่างที่บอก ฟิล์มกันรอยเขาติดมาให้แล้ว ไม่น่าห่วง แต่ตัวเครื่องล่ะ? ซื้อเคสมาใส่ได้ครับ ของ Samsung โคตรแพง ครับ 1,790 บาท ติดได้แค่ด้านหลังตัวเครื่องอย่างเดียว แต่มีข้อดีตรงมีขาตั้ง และบางเบามาก แต่ใครต้องการหาฟิล์มกระจกสำหรับ Cover display หรือเคสแบบอื่นๆ ลองไปหาที่ MBK ชั้น 4 ดู เห็นบางร้านมีขาย

โดยภาพรวมแล้ว สำหรับผม แม้ว่าจะต้องเจอกับความท้าทายในการใช้งานอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว ประสบการณ์ในการใช้งานที่ได้ก็ถือว่าไม่เลวทีเดียว ตอบโจทย์การใช้งานหลักๆ ของผมได้เกือบหมด และบางอย่างทำได้ดีกว่าที่ผมคิดซะอีก … แต่เรายังไม่พูดถึงเรื่องที่ว่ามันคุ้มค่าราคาค่าตัวหรือเปล่านะ (ฮา)
การเล่นเกมบน Samsung Galaxy Z Fold 2
แม้ว่า Samsung Galaxy Z Fold 2 จะสเปกแรง ไฮโซ แต่ผมไม่คิดว่ามันเหมาะสำหรับการเล่นเกมนะ อย่างแรกเลยคือ สมาร์ทโฟนสำหรับเล่นเกมจำพวก Lenovo Legion หรือ ASUS ROG นี่ราคาถูกกว่าแบบครึ่งๆ สเปกพอกัน และถูกออกแบบมาสำหรับเกมเมอร์โดยเฉพาะกว่าด้วย
ที่สำคัญ หน้าจอแสดงผลแบบสัดส่วน 3.2:4 (เวลาใช้แนวตั้ง) หรือ 4:3.2 (เวลาใช้แนวนอน) มันไม่ได้เหมาะกับการใช้เล่นเกมสมัยนี้ ที่หน้าจอสมาร์ทโฟนมักจะเป็น 16:9, 18:9 หรือ 19:9 ซะมาก เวลาเอามาเล่นเกม ถ้าเกมทำมาไม่ดีก็จะมีปัญหาเรื่องการแสดงผล แต่ถ้าเกมมัน Resize ได้ดี มุมมองที่เราได้ก็จะแตกต่างจากเวลาเราเล่นบนหน้าจอที่เป็น Widescreen (16:9, 18:9 หรือ 19:9)

ลองเล่น ROV บนหน้าจอหลัก ก็รู้สึกได้ว่าภาพด้านข้าง ซ้าย-ขวา หายไปบางส่วน หน้าจอแบบ 4:3.2 (เพราะมันต้องเล่นแนวตะแคงเท่านั้น) มันก็ดูใหญ่แปลกๆ อยู่นะ ถ้าอยู่ๆ อยากจะพับหน้าจอมาเล่นบนจอเล็ก ก็จะเกิดการแสดงผลเพี้ยน ภาพจะดูยืดๆ ทันที แต่ผมก็ไม่คิดว่าควรจะเล่นเกมด้วยจอเล็กหรอกนะ มันเล็กมากอะ

โดยรวมก็อย่างที่บอก เล่นเกมแบบชิลล์ๆ พอไปวัดไปวาได้ แต่ถ้าจะเล่นเกมจริงจังเป็นหลัก ผมว่าไปหาซื้อรุ่นอื่นเหอะ ถูกกว่า
การถ่ายรูปแบบวิดีโอด้วย Samsung Galaxy Z Fold 2
Samsung กั๊กอะ สเปกกล้องให้มาสามตัว แต่เป็น 12 ล้านพิกเซลหมดเลย ไม่นับที่กล้องเซลฟี่ก็แค่ 10 ล้านพิกเซลเท่านั้น ในขณะที่พวกสมาร์ทโฟนเรือธงอื่นๆ เขาใช้กล้องเซลฟี่ระดับ 32 ล้านพิกเซลกันแล้ว ส่วนสเปกกล้องหลังก็ยังแพ้พวก Samsung Galaxy Note 20 Ultra อยู่ ทำให้ผมคิดว่า เทคโนโลยีจอพับนี่มันแพงมากขนาดที่ต้องไปลดสเปกพวกกล้องชดเชยเลยเหรอ?
งวดนี้ Samsung ใช้ Bixby ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นมา (คล้ายๆ Siri ของ Apple และ Google Assistant ของ Google) ช่วยเรื่องการทำ Screen optimizer ได้ครับ เวลาเรายกสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่าย มันจะสแกนเฟรมภาพ แล้วแนะนำจุดที่น่าจะเป็นจุดโฟกัสที่ดีที่สุดให้ ซึ่งมันก็แนะนำได้ดีประมาณนึงอะนะ นอกจากนี้ก็ยังมีโหมดถ่ายภาพอื่นๆ ให้ลองใช้ ไม่ว่าจะเป็น Single Take, Pro, Panorama, Food, Night, Live Focus (หรือก็คือโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอนั่นแหละ) ฯลฯ โหมดเยอะแยะตาแป๊ะไก่พวกนี้ จะเหมาะสำหรับคนที่เป็น Content creator ไม่น้อยทีเดียว
แต่ว่า แม้ Samsung จะกั๊กในแง่ของสเปกกล้อง แต่คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ ถือว่าไม่เลวครับ ไม่ผิดหวัง ภาพที่ได้สีค่อนข้างดี สดดีทีเดียว เลนส์มุมกว้างพิเศษก็ให้ภาพที่ไม่เกิด Distortion มากไปนัก การมีเลนส์ครบสามช่วงทั้ง Wide, Telephoto และ Ultrawide นี่ทำให้สะดวกในการใช้งานมาก เวลาไปเที่ยวที่ไหน ไว้ใจได้
ในสภาพแสงน้อย ช่วงค่ำๆ ถ้ามีพวกแสงไฟประมาณนึง ไม่ต้องใช้ Night mode ก็สามารถถ่ายภาพออกมาได้สว่างดีประมาณนึง ภาพสวยอยู่นะครับ
แต่ถ้าแสงน้อยมากจริงๆ แบบ ไม่มีแสงไฟตามถนนซักเท่าไหร่ ภาพมันออกมามืดจริง สามารถใช้ Night mode ช่วยถ่ายภาพให้ดูสว่างขึ้นได้อีกเยอะทีเดียว แถมไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องด้วยนะ แค่ถือนิ่งๆ ซัก 2 วินาทีเท่านั้นเอง


ในแง่ของวิดีโอ ผมละกังวลเรื่องคุณภาพจริงๆ เพราะกล้องที่ให้มา มันแค่ 12 ล้านพิกเซล ซึ่งถือว่าจำนวนพิกเซลเยอะกว่าความละเอียดระดับ 4K แค่นิดหน่อย แถมกล้องหน้ายังแค่ 10 ล้านพิกเซลอีก แต่ยังดีที่ Samsung ยอมให้เราตั้งค่าถ่ายวิดีโอ 4K 60fps ได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ถือว่าโอเค แค่ว่าเวลาถ่ายวิดีโอ เราสลับกล้องไม่ได้ อดใช้กล้องเลนส์มุมกว้างพิเศษเลย แต่สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ระยะ 1x จนถึง 10x โดยระยะที่เกิน 2x ไป ก็จะเป็น Digital zoom ตามระเบียบ ลูกเล่นที่เป็นจุดขายของ Samsung ในการถ่ายวิดีโอคือ Auto framing ที่ซอฟต์แวร์จะทำการซูมภาพเข้าออก เพื่อให้เหมาะสำหรับจำนวนคนที่อยู่ในเฟรม ซึ่งทำได้ประมาณนึงแหละครับ แนะนำว่าต้องไปหัดใช้ซักพักนึง ทำความเข้าใจถึงขีดความสามารถของฟีเจอร์นี้ แล้วผมว่ามันก็เป็นประโยชน์กับพวก YouTuber หรือ Vlogger ประมาณนึงเลยนะ
ขี้เกียจถ่ายวิดีโอด้วยฟีเจอร์นี้เอง เอาเป็นว่าเอาวิดีโอของ Samsung USA ไปดูแทนแล้วกัน
การที่มีหน้าจอ Cover display เนี่ย ช่วยให้เราสามารถใช้ Cover display เป็น Viewfinder เพื่อใช้ดูเวลาเราจะใช้กล้องหลังในการถ่ายภาพเซลฟี่ได้ครับ เพียงแต่เราควรจะเปิดโหมดตั้งเวลาถ่าย เพราะในโหมดการถ่ายแบบนี้ Cover display จะไม่มีปุ่มใดๆ ให้เรากดเลยครับ การลั่นชัตเตอร์ต้องกดปุ่มที่อยู่ในหน้าจอหลัก ซึ่งถ้าจะเซลฟี่ละก็ เรากดยากอยู่ การตั้งเวลาถ่ายจึงดีสุด

หน้าจอที่พับได้ทำให้เราสามารถวาง Samsung Galaxy Z Fold 2 บนโต๊ะ หรือ เก้าอี้ ไม่ต้องง้อขาตั้งกล้องเวลาเราจะถ่ายภาพหรือวิดีโอครับ จะใช้กล้องหน้าบน Cover display ก็ได้ แต่คุณภาพก็จะด้อยหน่อย ตัวเลือกเลนส์ก็ไม่มี แต่เราก็เลือกใช้กล้องหลังสามเลนส์ก็ได้ แค่ต้องทำใจว่าต้องเอาด้านที่เป็นหน้าจอ Cover display บนเป็นฐานนะครับ ก็จะเสี่ยงเกิดรอยบนหน้าจอหน่อย (มันก็เจ็บจี๊ดอยู่นะ ต่อให้เกิดรอยบนฟิล์มกันรอยก็เหอะ)
แต่ในภาพรวมแล้ว การที่จอมันพับได้ทำให้ Samsung Galaxy Z Fold 2 มีลูกเล่นสำหรับการถ่ายภาพและวิดีโอแบบไม่ง้ออุปกรณ์เสริมมากกว่าสมาร์ทโฟนแบบปกติ ถ้า Samsung ใจป้ำกับสเปกกล้องมากกว่านี้ซักหน่อยนะ แจ่มเลย
แถมให้อีกนิด Samsung Galaxy Z Fold 2 มันมีฟีเจอร์ยิบย่อยซ่อนเอาไว้เยอะมาก หลายๆ ฟีเจอร์อาจจะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานอย่างมาก แบบเราอาจจะบ่นๆ ว่าทำไมมันทำแบบนี้ไม่ได้(วะ) อะไรแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วมันทำได้นะ แค่เราไม่รู้ว่าทำยังไง ดูคลิปนี้ครับ มันสอนฟีเจอร์ยิบย่อยเอาไว้เยอะอยู่เหมือนกัน
บทสรุปการรีวิว Samsung Galaxy Z Fold 2
โคตรแพงครับ 69,990 บาท ถ้าซื้อมาราคาเต็ม ถึงแม้ว่ามันจะทำโน่นทำนี่ได้เยอะกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดด้านสเปกและซอฟต์แวร์อยู่ในหลายๆ จุด ผมมองว่า Samsung Galaxy Z Fold 2 คือสมาร์ทโฟนจอพับของค่าย Samsung ที่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เรียกว่าสมบูรณ์นัก ยังมีหลายๆ จุดที่ปรับปรุงได้มากกว่านี้
ถ้าหามาได้ซักราคา 51,000 – 52,000 บาท อาจพอทำใจรับได้ ถ้าใช้ยาวๆ ซัก 3-4 ปี หารเฉลี่ยต่อปีแล้วถือว่าคุ้มอยู่ แต่เดาว่าปีหน้าพอ Samsung Galaxy Z Fold 3 ออกมา ราคามือสองของเจ้านี่ที่หมดประกันแล้วก็คงจะเหลือซัก 23,000 – 26,000 บาท แล้วแต่สภาพ ฉะนั้นซื้อมาแล้วก็ต้องทำใจไว้เลย
แต่ถ้าถามผมว่าเสียดายไหมที่ซื้อมาใช้ บอกเลยนะว่าไม่อะ เพราะอย่างที่บอก ผมชินกับการใช้สมาร์ทโฟนที่ขยายขนาดหน้าจอด้วยการกางจออกมาได้ตั้งกะตอนใช้ ZTE Axon M แล้ว ตอนแรกอยากได้ Microsoft Surface Duo ด้วยซ้ำ แต่เพราะข้อติเยอะมาก เลยตัด(สิน)ใจจัด Samsung Galaxy Z Fold 2 นี่แหละ ใครที่มีเงินพร้อมจ่าย ก็จัดเจ้านี่มาพกเท่ๆ ก่อนได้ครับ โอกาสจะพกไปซ้ำกับคนอื่นนี่น้อยมาก