Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ROG ALLY เครื่องเกมพกพา ที่เป็นคอมพิวเตอร์พกพาได้ด้วย ในราคา 24,990 บาท
รีวิว

รีวิว ASUS ROG ALLY เครื่องเกมพกพา ที่เป็นคอมพิวเตอร์พกพาได้ด้วย ในราคา 24,990 บาท

ASUS ROG ALLY นี่จะเป็นคำตอบสำหรับคนที่เล่นเกม PC ที่อยากจะเล่นเกมนอกสถานที่ แต่ก็ไม่อยากจะต้องหอบหิ้วเกมมิ่งโน้ตบุ๊กขนาดเขื่อง เทอะทะ ไปเล่นด้วยอย่างมาก เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า Nintendo Switch OLED ไม่มาก กับน้ำหนักตัวเครื่องแค่ราวๆ 608 กรัม (ประมาณแท็บเล็ตเครื่องนึง) คุณก็ได้เครื่องเล่นเกมประสิทธิภาพสูง ที่สามารถเล่นเกมกราฟิกสวยๆ ได้สบายๆ แล้ว และหากนั่นยังไม่พอ ก็ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริม ROG XG Mobile (จำหน่ายแยกต่างหาก) ที่เป็น eGPU เพิ่มประสิทธิภาพด้านกราฟิก พร้อมเป็น Hub ที่ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้สบายๆ และที่สำคัญ ค่าตัวของ ROG ALLY นี่ไม่แพงมากครับ 24,990 บาท มาพร้อมกับการรับประกัน 2 ปี

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

ASUS ROG ALLY ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS ให้ยืมมาเล่น เพื่อที่จะได้รีวิวให้ได้อ่านกันว่าเป็นยังไงบ้างครับ

แกะกล่องของ ASUS ROG ALLY กันก่อนครับ กล่องมีขนาดใหญ่ประมาณนึงเลย แล้ว ASUS ก็เก่งนะ ในการทำกล่องให้มันดูสวย น่าเก็บ ในกล่อง สิ่งที่เราจะได้ก็จะมีตัว ASUS ROG ALLY ที่เป็นเหมือนจอยเกมพร้อมหน้าจอขนาด 7 นิ้ว มีแผ่นกราฟิกอธิบายการใช้งานแบบง่ายๆ ส่วนคู่มือการใช้งานที่อธิบายว่าปุ่มต่างๆ คืออะไรใน อยู่ในกล่องครับ และยังมีอะแดปเตอร์แบบ USB-C กำลังไฟ 65 วัตต์ อยู่ด้วย พร้อมสายไฟ AC อีกเส้นนึง ความยาวสายรวมๆ แล้ว 250 เซ็นติเมตร ยาวเอาเรื่อง นอกจากนี้ก็มีขาตั้งที่ดูเหมือนทำมาจากกระดาษอัด มีปั๊มนูนเป็นโลโก้ ROG มาให้อีกอัน ดูแล้วน่าจะเอาไว้สำหรับวางตัวเครื่อง ASUS ROG ALLY โชว์มากกว่าจะเอาไปใช้งาน เพราะไม่ค่อยคงทนเท่าไหร่

ตัวเครื่อง หน้าจอขนาด 7 นิ้ว เป็น IPS LCD ความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล 120Hz ความสว่าง 500 nits ขอบเขตสี 100% sRGB หน้าจอเป็นแบบทัชสกรีน รองรับได้ 10 จุดพร้อมกัน และใช้กระจก Corning® Gorolla® Glass Victus® พร้อมสารเคลือบ Corning® Gorilla® Glass DXC ช่วยลดการสะท้อนของแสง

ด้านหน้าของ ASUS ROG ALLY ตอนที่อยู่ในหน้าจอ Armoury Crate แสดงรายชื่อเกมที่มีให้เลือกเล่นได้

ด้วยความที่ ASUS ROG ALLY นี่ถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องเล่นเกมพกพาก่อนที่จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ รอบๆ ตัวเครื่องมันเลยเหมือนเครื่องเล่นเกมมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ละนะ ด้านหน้านอกจากจอแสดงผลแล้ว ก็เลยมีทั้งปุ่มกากบาท จอยแอนะล็อก ปุ่ม ABXY และปุ่มต่างๆ อีก 4 ปุ่ม รายละเอียด แนะนำให้ไปอ่านคู่มือภาษาอังกฤษครับ (คู่มือภาษาไทยแปลได้ประหลาดมาก ผมอ่านดูแล้ว) แล้วก็มีรู Array microphone อีกสองรู อยู่ทางซ้ายและขวา ตรงข้างๆ หน้าจอแสดงผล และมีลำโพงคู่สเคริโอด้านหน้าอีก

ด้านหลังของ ASUS ROG ALLY

ด้านหลัง เราจะเห็นช่องระบายความร้อนสองด้าน เป็นแบบสำหรับให้อากาศเย็นเข้า ด้านนึงถูกทำเป็นรูปโลโก้ ROG ด้วย และมีปุ่ม Macro ให้สองปุ่ม เอาไว้ตั้งค่าใช้งานผ่านซอฟต์แวร์ได้ และมีน็อตยึดฝาหลังตัวเครื่องให้เห็นชัด เราสามารถใช้ไขควง 4 แฉกมาขันน็อตออก แล้วสามารถอัปเกรด SSD ได้ด้วย แต่ต้องใช้ M.2 แบบ 2230 นะครับ (มีเงื่อนไขอีกนิดคือ หากเราทำการอัปเกรด SSD แม้ว่าประกันจะไม่หลุด แต่เวลาเราจะส่งเคลม เราจะต้องใส่ SSD ตัวเก่ากลับเข้าไปนะครับ)

ด้านบนของ ASUS ROG ALLY

ด้านบนของตัวเครื่อง เราจะเห็น ปุ่ม Power ที่ใช้สแกนลายนิ้วมือได้ด้วย (รองรับ Windows Hello) ไฟ LED 2 ดวง แสดงสถานะการทำงานและการชาร์จแบตเตอรี่ ปุ่ม Bumper กับ Trigger อีกข้างละ 2 ปุ่ม และเราจะเห็นช่องระบายความร้อนเพื่อเป่าลมร้อนออก มีพอร์ต ROG XG Mobile Interface ที่เป็นพอร์ตคอมโบ มี USB-C มาให้ด้วย เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ มีสล็อต MicroSD card มาให้อีกอัน และช่องเสียบหูฟังแบบ Audio combo jack 3.5 มม.

ภาพระยะใกล้ของปุ่มและจอย

เพราะเป็นอุปกรณ์ในตระกูลเกมมิ่ง จะไม่มีไฟ RGB ก็ไม่ได้ครับ ตรงฐานของคันโยกแอนะล็อกมันจะมีการติดตั้งไฟ RGB มาให้ ซึ่งเราสามารถไปปรับตั้งในแอป Armoury Crate ได้ และสามารถซิงก์กับอุปกรณ์อื่นๆ ในตระกูล ROG ที่เรามีได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟน

ในภาพรวม บอกเลยว่าชอบครับ ขนาดกะทัดรัดดีมาก หน้าจอถือว่าไม่เล็กเกินไปสำหรับการเล่นเกม แต่ก็ไม่ได้ใหญ่ระดับเทอะทะ น้ำหนักก็กำลังดี ไม่รู้สึกว่าหนักเกินไป แอบตะหงิดๆ นิดหน่อยคือ ตัวบอดี้ของเครื่องที่เป็นสีขาว ไม่แน่ใจว่าใช้ไปนานๆ เจอพวกคราบเหงื่อไคลจากมือของเราบ่อยๆ มันจะดำไหม โดยส่วนตัว ผมนี่ชอบสีดำมากกว่านะ แต่สีขาวก็สวยดีอยู่ครับ

สเปกของ ASUS ROG ALLY

ASUS ROG ALLY มันก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์เราดีๆ นี่เองแหละครับ เอามาเล่นเกมแบบนี้แล้ว คิดว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้าง? ลองดูสเปกกันก่อนครับ

สเปกรายละเอียด
CPUAMD RyzenTM Z1 Extreme Processor (4nm 8-core/16-thread)
GPUAMD RadeonTM Graphics (AMD RDNATM 3, 12 CUs)
Display7 นิ้ว Full HD IPS LCD 1,920×1,080 พิกเซล 16:9
100% sRGB 75.35% AdobeRGB
Refresh rate 120Hz Response time 7ms
500 nits FreeSync Premium
RAM16GB LPDDR on-board
Storage512GB PCIe® 4.0 NVMeTM M.2 SSD (2230) อัปเกรดได้
พอร์ตเชื่อมต่อAudio combo jack 3.5 มิลลิเมตร
ROG XG Mobile Interface และ USB-C combo port
(รองรับ USB 3.2 Gen 2 และ DisplayPortTM 1.4)
UHS-II MicroSD card reader
ระบบเสียงลำโพงคู่สเตริโอ รองรับ Dolby Atmos
Built-in array microphone
ระบบเน็ตเวิร์กWi-Fi 6E (802.11ax) 2×2
Bluetooth® 5.2
อื่นๆGyroscope sensor 6 แกน
ปุ่มกดต่างๆ แบบจอยเกม
แบตเตอรี่40Whr 4-cell Li-ion
น้ำหนัก608 กรัม

นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองใช้คอมพิวเตอร์ที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็น AMD RyzenTM Z1 Extreme Processor ครับ ก็อยากรู้ว่ามันมีประสิทธิภาพเป็นยังไงบ้าง เลยต้องขอทำ Benchmark เปรียบเทียบทิ้งไว้หน่อย โดยเริ่มต้นด้วยการวัดความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลของ SSD ก่อนเลยนะครับ

แม้ว่า ASUS ROG ALLY ตัวนี้จะเลือกใช้ NVMe SSD แบบ PCIe 4.0 แล้ว แต่ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential ก็ไม่ได้หรูหราอะไรมากมายนะครับ ก็ 4,239.18MB/s และ 1,777.69MB/s เท่านั้นเอง ซึ่งก็จะใกล้ๆ กับพวก SSD PCIe Gen 3×4 ระดับไฮเอนด์เขาแหละ (ความเร็วในการเขียนข้อมูลต่ำกว่าหน่อยด้วย) แต่ที่น่าสนใจคือ ความเร็วในการอ่านแบบ Random นี่ถือว่าทำได้ไม่เลวอยู่ครับ

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ด้วยโปรแกรม Crystal Disk Mark 8.0.4

มาดูที่ผลการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 กันบ้างครับ บอกเลยว่าผลคะแนนที่ได้ชี้ให้เราเห็นว่าอย่าได้ดูถูกประสิทธิภาพของ ASUS ROG ALLY เลยนะ คะแนนที่ได้โดยรวม 6,475 คะแนน โดยที่คะแนนในส่วนของ Essentials ที่เป็นเรื่องการใช้เปิดใช้งานแอป การประชุมออนไลน์ และการท่องเว็บ ได้คะแนนสูงถึง 10,008 คะแนน ส่วนคะแนน Productivity ที่เป็นเรื่องของการทำงานประเภทเอกสาร และ Spreadsheet ก็ได้ 9,801 คะแนน และในส่วนของ Digital content creation ซึ่งก็คือการตกแต่งรูปภาพ ตัดต่อวิดีโอ ก็ได้ 7,510 คะแนน ถือว่าไม่ได้แย่มาก และพูดตรงๆ นะ โน้ตบุ๊ก LG Gram 16Z90R-G.AF78A6 (Intel Core i7-1360P) ที่ผมเพิ่งซื้อมาเนี่ย ยังได้คะแนน PCMark 10 ไม่เท่า ASUS ROG ALLY เลยด้วยซ้ำนะครับ อันนี้ส่วนนึงน่าจะเพราะว่า ASUS ROG ALLY นี่

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของ ASUS ROG ALLY ด้วยโปรแกรม PC Mark 10

อ้อ! ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า การใช้งาน ASUS ROG ALLY นี่ ต้องเข้าใจด้วยว่า ตัวมันสามารถปรับประสิทธิภาพได้ 3 แบบตามการใช้พลังงานของ APU (Accelerated Processing Unit) คือ Silent (10 วัตต์) Performance (15 วัตต์) และ Turbo (25 วัตต์) และการเสียบชาร์จแบตเตอรี่กับไม่เสียบชาร์จแบตเตอรี่ ก็จะมีผลต่อประสิทธิภาพของตัวเครื่องด้วย เพราะการเสียบชาร์จแบตเตอรี่ จะทำให้เราสามารถรันโหมด Turbo ได้ที่ 30 วัตต์เลย ในการทดสอบ Benchmark ของผมนั้น ผมตั้งค่าเป็น 25 วัตต์ และเสียบชาร์จแบตเตอรี่ไว้ด้วยนะครับ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ถ้ารีดพลังมาเต็มที่ ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด จะได้แค่ไหน

แต่สำหรับการทดสอบด้วย PCMark 10 นี่ ผมอยากรู้ว่าถ้าเกิดผมไม่เสียบสายชาร์จ แล้วใช้งานโหมด 15 วัตต์ ผลคะแนนจะแตกต่างจากการใช้โหมด 25 วัตต์ แล้วก็เสียบสายชาร์จด้วยมากน้อยแค่ไหน ก็เลยต้องขอลองเพื่อให้หายสงสัย และผลที่ได้ก็เป็นไปตามด้านล่างนี้ครับ ซึ่งคะแนนที่ได้ 5,860 คะแนนก็ถือว่าไม่แย่ครับ คะแนนในส่วนของ Essentials ยังได้ 8,551 คะแนน Productivity ได้ 8,477 คะแนน และ Digital Content Creation ก็ยังได้ 7,535 คะแนน ถือว่าไม่เลว แต่สังเกตได้ว่า การที่ไม่ได้เสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ และรันในโหมด Turbo (30 วัตต์) ประสิทธิภาพสามารถลดลงได้ถึง 20% เลยทีเดียว

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของ ASUS ROG ALLY ด้วยโปรแกรม PC Mark 10 ในโหมด Performance (15 วัตต์) แบบไม่เสียบชาร์จแบตเตอรี่

สำหรับการเล่นเกม ผมเลือกใช้ตัว Benchmark ของ Final Fantasy XV นะครับ โดยผมลองที่โหมด Turbo (25 วัตต์) ความละเอียด Full HD ในคุณภาพของกราฟิกระดับ Standard ได้คะแนน 3,641 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเล่นได้สบายๆ ครับ แต่ถ้าลดความละเอียดของกราฟิกลงมาเหลือ HD 720p นี่ ก็จะสามารถทำคะแนนพุ่งไปได้ถึง 5,415 คะแนนเลย เรียกว่า ค่อนข้างสูง

ข้อสังเกตที่ผมเจอตอนทำ Benchmark คือ ถ้าเกิดเราเปิดโหมด Performance (15 วัตต์) แล้วรัน Benchmark โหดๆ เนี่ย โอกาสเครื่องค้างก็มีสูงนะครับ เข้าใจว่าเพราะมันประมวลผลหนักหน่วงไป (คือ โปรแกรม Benchmark มันถูกออกแบบมาให้รีดพลัง) ผลคือผมต้อง Force shutdown เครื่องหลายหนมาก มีรอบนึงจอฟ้าเลยด้วย

ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ROG ALLY

โดยส่วนตัวผมเคยซื้อ GPD Win รุ่นแรกมาใช้ครับ นั่นมัน 6 ปีที่แล้ว มันคือไอเดียของการเอาจอยเกมมาใส่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เลย ตอนนั้นใช้หน่วยประมวลผลเป็น Intel Aton X7-Z8700 แรม LPDDR3 4GB ความจุ 64GB เป็น eMMC สเปกจุ๋มจิ๋มมากๆ แต่ก็พอเอามาเล่นเกมอย่าง Street Fighter IV แบบที่ไม่ปรับสเปกให้สูงมากพอไหวอยู่นะ ตอนนั้นความโดดเด่นคือ มันมีคีย์บอร์ดมาให้ในตัวเลย ทว่าสเปกแอบง่อยสุดๆ ครับ แต่ราคานี่คือ พอๆ กับ ASUS ROG ALLY ในปัจจุบันเลยนะ ตอนผมซื้อมา 🤣🤣 เทคโนโลยีมันไปไวจริงๆ

เครื่องเกมพกพา GPD Win

6 ปีผ่านไป ตัว ASUS ROG ALLY นี่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการด้านฮาร์ดแวร์จริงๆ นะครับ อย่างที่เห็นว่าตอนทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark นี่ คะแนนออกมาค่อนข้างโอเค ในกรณีที่เลือกปรับกราฟิกในระดับกลางๆ และความละเอียด HD 720p หรือเต็มที่ Full HD 1080p

ด้วยความที่ ASUS ROG ALLY มันรันระบบปฏิบัติการ Windows 11 จุดเด่นของมันก็เลยเป็นการที่รองรับบริการ Game store ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Steam, Battle.net หรือ Epic Game Store และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะแตกต่างจากคู่แข่งอย่าง Steam Deck ที่จะถูกจำกัดการใช้งานแค่แพลตฟอร์ม Steam เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสเล่นเกมที่เป็น Exclusive สำหรับบางแพลตฟอร์ม เช่น Diablo 4 (ที่อยู่บน Battle.net เท่านั้นในตอนนี้) นอกจากนี้ เรายังสามารถติดตั้งพวก Emulator ต่างๆ เพื่อเล่นเกมบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้อีกด้วยนะ (แต่ผมไม่ได้สนับสนุนการดาวน์โหลดเกมมาเล่นบน Emulator แบบละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ ขอย้ำตัวหนาๆ)

ถามว่าเล่นเกมได้ลื่นไหม? ผมว่าก็พอได้ประมาณนึงนะครับ โดยเฉพาะสำหรับคนทั่วไปที่เล่นเกมแบบสบายๆ ไม่ใช่มือโปร อะไรแบบนี้ ถ้าถามผม จะเวิร์กที่สุดก็ต้องเลือกปรับความละเอียดของกราฟิกลงเหลือ HD 720p และอาจจะปรับคุณภาพกราฟิกของเกมให้อยู่ระดับกลางๆ (หรือบางเกมก็อาจจะปรับเป็นสูงได้) จากนั้นก็ใช้โหมด Performance หรือ APU 15 วัตต์ ผมลองเล่นเกมอย่าง Final Fantasy VII Remake โดยผมปรับคุณภาพกราฟิกไว้ที่ High และความละเอียดแบบ Full HD 1080p จะสามารถเล่นเกมนี้ได้ในระดับ 30-40 เฟรมต่อวินาที ซึ่งอาจจะไม่ได้ถึงกับไหลลื่นมาก แต่ก็ไม่กระตุกแต่อย่างใดครับ เรียกว่าเล่นเกมได้ค่อนข้างสนุกแบบมือสมัครเล่นล่ะ

เล่นเกม Street Fighter 5 บน ASUS ROG ALLY

ในส่วนของพวกจอยเกม ผมลองเล่นเกมอย่าง Street Fighter V ดู ก็ต้องบอกว่าจอยเกมของ ASUS ROG ALLY ก็ตอบสนองต่อการออกคำสั่งท่าไม้ตายต่างๆ ได้ค่อนข้างโอเคอยู่นะครับ เรียกว่าเล่นเกมแนวไฟต์ติ้งได้อย่างไม่น่าจะรู้สึกหงุดหงิดแหละ สำหรับคนทั่วไป แต่ผมตอบไม่ได้นะ ว่าถ้าคุณเล่นเน้นการแข่งขัน แบบที่เรียกว่าทุกเสี้ยววินาทีมีค่า มันจะมีผลกระทบอะไรใดๆ มากไหม ตอนผมเล่น ปรับความละเอียดการแสดงผลไว้ที่ Full HD 1080p คุณภาพกราฟิกระดับ High ก็ลื่นไหลดี ไม่มีปัญหา

เล่นเกม Final Fantasy 7 Remake บน ASUS ROG ALLY

นอกจากนี้ ผมก็ลองเล่นเกม Final Fantasy VII Remake กับ Resident Evil 8 ด้วยนะครับ ทั้งคู่เปิดเล่นแบบ Full HD 1080p และคุณภาพกราฟิกปรับไว้ที่ High (สำหรับ Final Fantasy VII Remake) และค่อนข้างไปทางสูงซะส่วนใหญ่กับ Resident Evil 8 และผมลองเปิดใช้ AMD RSR (แบบสมดุล) กับพวกฟีเจอร์อย่าง Raytracing เต็มเหนี่ยวด้วย แบบนี้เฟรมเรตก็ตกลงไปเยอะหน่อย เหลือแบบ 20-25 fps เอง ถ้าอยากให้เล่นลื่นกว่านี้ ต้องไปปิดฟีเจอร์กันหน่อยครับ

เล่นเกม Resident Evil 8 บน ASUS ROG ALLY

อย่างไรก็ดี โหมด Silent (10 วัตต์) นี่เป็นอะไรที่ผมอยากจะบอกว่าอย่าไปแตะเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างการเล่นเกม เพราะมันจะทำให้เกมกระตุกลงไปอย่างหนักหน่วงมาก และเพราะว่าเรากำลังเล่นเกมมาอย่างเต็มเหนี่ยวอยู่ อุณหภูมิของหน่วยประมวลผลจะค่อนข้างร้อนมากๆ พอเข้าโหมด Silent แล้ว พัดลมจะทำงานช้าลง ส่งผลให้หน่วยประมวลผลโดนลดความเร็วลงหนักเข้าไปอีก เรียกว่าแทบค้างไปเลยครับ ในการใช้งานของผม โดยส่วนใหญ่ผมจะอยู่ในโหมด Performance (15 วัตต์) ซะมากกว่า ซึ่งก็ยังเล่นเกมได้ค่อนข้างโอเค และใช้งานอื่นๆ ทั่วไปได้โอเคนะ มันผิดกับตอนทำ Benchmark เพราะในการใช้งานจริง มันมีช่วงที่ใช้งานหนักและใช้งานเบาสลับกันไป มันไม่ได้มีภาระไปที่ฮาร์ดแวร์หนักๆ นานๆ เกินไป

ในแง่ของซอฟต์แวร์ ก็ต้องยอมรับว่า ASUS ทำออกมาได้ค่อนข้างดีครับ แต่จะออกมีความซับซ้อนอยู่หน่อย สำหรับ ASUS ROG ALLY นี่ จะมีแอป MyASUS ที่คอมพิวเตอร์ของ ASUS จะมีกันทุกเครื่อง เอาไว้ตั้งค่าหลายๆ อย่าง เช่น AI Noise cancelling สำหรับไมโครโฟนและลำโพงแล้ว ก็มีเรื่องของการปรับค่าสีของหน้าจอแสดงผล และการชาร์จแบตเตอรี่ด้วย

แล้วด้วยความที่เป็นอุปกรณ์ภายใต้แบรนด์ ROG มันก็เลยมีแอป Armoury Crate มาให้ด้วย แต่สำหรับ ASUS ROG ALLY จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นการเปิด-ปิดการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ที่เรียกว่า Command Center ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย ด้วยการกดปุ่มอันล่างบนด้านซ้ายของหน้าจอ มันก็จะเปิดเมนู Command Center ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เราจะสามารถปรับความสว่างหน้าจอ ปรับความดังของเสียง เปลี่ยนโหมดการทำงาน (Silent/Performance/Turbo) เปิด-ปิดโหมดการใช้งานต่างๆ ได้ (เช่น Real-time monitor, AMD RSR หรือ Radeon Super Resolution ที่เป็นโหมดอัปสเกลภาพของเกมเพื่อให้เล่นเกมที่ความละเอียดสูงๆ ได้ โดยไม่เป็นภาระกับหน่วยประมวลผล) การจำกัดเฟรมเรต (จะได้ประหยัดแบตเตอรี่) เป็นต้น

เมนู Command Center ของ ASUS ROG ALLY

อีกส่วนนึงก็คือหน้า Dashboard และการตั้งค่าของ Armoury Crate ครับ ไอ้ตัวตั้งค่าเนี่ย ใครที่ใช้โน้ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟนของแบรนด์ ROG ก็น่าจะคุ้นชินอยู่แล้ว มันก็คือพวกการตั้งค่าพวกไฟ RGB และการปรับจูนประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ต่างๆ ของอุปกรณ์ เพื่อให้ตรงกับการใช้งานของเรามากที่สุด

Game Library ของ Armoury Crate เนี่ย มันคือ ศูนย์กลางของปกเกมที่เรามีในเครื่องครับ ถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่เขารองรับ (เช่น Steam หรือ Xbox) ตัวปกเกมก็จะขึ้นมาเป็น Thumbnail มาให้ดู ให้เลือกได้บนนี้แหละ แต่ถ้าใครมีใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่หลากหลาย แล้วสะดวกใจที่จะไปเปิดเอาเอง ก็ทำได้นะครับ ก็ปิด Armoury Crate นี่ไป แล้วไปเปิดแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ขึ้นมาเอง จะ Steam, Battle.net หรือ Epic ก็ตามแต่ เปิดเองได้หมดครับ

ในส่วนของประสบการณ์ในการเล่นเกมโดยรวม ต้องบอกว่าดีกว่าที่คิดเยอะมากครับ ลำโพงของตัวเครื่องคือดีงามมาก ให้คุณภาพเสียงดีแบบที่บอกตรงๆ ว่า ถ้าเล่นแบบเปิดเสียงออกลำโพงได้ ไม่ต้องเกรงใจใครนี่คือไม่มีความจำเป็นต้องเสียบหูฟัง หรือหาลำโพงอื่นมาต่อเสริมเลยครับ เสียงมันดีอยู่แล้ว ระบบเสียงมีเทคโนโลยี Smart Amp และ Dolby Atmos เสียงก็เลยดังฟังชัด และให้ความรู้สึกของระบบเสียงรอบทิศทาง 5.1.2 แชแนลด้วย และใครที่ชินกับจอยเกมที่มี Haptic feedback ที่สั่นได้ด้วย แน่นอน ASUS ROG ALLY นี่ก็ทำได้เช่นกัน แต่ที่เจ๋งกว่าคือ มี Gyro ไว้เป็นอีกทางเลือกในการบังคับเกมด้วย (เฉพาะเกมและแอปที่รองรับ)

และแม้ว่าระหว่างเล่นเกม อุณหภูมิของ APU จะค่อนข้างสูง ไปได้ถึงระดับ 90 องศาเซลเซียสเลย แต่ไม่รู้สึกร้อนมือแต่อย่างใดเลยครับ ASUS เขาใช้ระบบระบายความร้อนที่เรียกว่า Zero Gravity Thermal System ที่ออกแบบมาเพื่อให้เล่นได้ทุกท่วงท่า แม้กระทั่งเรานอนอยู่บนเตียงเล่นเกม ระบบระบายความร้อนของตัวเครื่องก็ยังสามารถนำความร้อนไประบายออกได้อย่างไม่มีปัญหา

ผมเอามาลองต่อจอพกพาเพื่อเล่นเกม พอได้จอใหญ่ขึ้น มันก็เล่นเกมสนุกขึ้นแหละ แต่ปัญหาก็คือ ลำโพงของ ASUS ROG ALLY ดันดีเกินไป 🤣🤣 คือ ลำโพงที่บ้านผม ที่ว่าเสียงดีๆ ยังไม่ดีเท่าของ ASUS ROG ALLY ครับ มิติของเสียงมันเทียบกันไม่ได้จริงๆ ซะงั้น ก็อย่างว่าแหละนะ ผมไม่ได้เล่นเกมแบบจริงจังนิ

ถ้าจะมีเรื่องให้ติ ผมว่ามีเรื่องเดียวที่สำคัญ คือ แบตเตอรี่ 40Whr นี่ถือว่าน้อยไปหน่อยถ้าจะเอา ASUS ROG ALLY ไปเล่นเกมนอกสถานที่นานๆ ครับ คนที่อยากเล่นเกมลื่นๆ เฟรมเรตสูงๆ ก็จะปิดโหมด Turbo (25 วัตต์) แต่นั่นทำให้ระยะเวลาเล่นเกมลดลงเหลือราวๆ 45-60 นาทีเท่านั้น และต่อให้ใช้โหมด Performance (15 วัตต์) ก็อยู่ได้อย่างมาก 2 ชั่วโมงครับ อันนี้ผมลองมาแล้วกับตัวเอง ขอยืนยัน และเพราะความที่พอร์ตชาร์จแบตเตอรี่มันอยู่ด้านบน เวลาจะนอนเล่นบนเตียงอะ สายมันจะเกะกะชอบกลเลยแหละ โดยส่วนตัว ผมว่าพอร์ตชาร์จอยู่ด้านล่างจะเหมาะกับการเล่นในเกือบทุกสถานการณ์มากกว่าครับ

การใช้ ASUS ROG ALLY ในฐานะคอมพิวเตอร์

ASUS ROG ALLY เมื่อใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์พกพา เชื่อมต่อกับ Bluetooth keyboard

ทิ้งท้ายรีวิวอีกนิดหน่อย เพราะเจ้านี่จริงๆ มันก็คือ Windows PC ครับ ดังนั้นถ้าเราเข้ามาที่ Desktop เราก็จะสามารถติดตั้งโปรแกรมต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์ที่รัน Windows ทั่วไปพึงจะใช้งานได้หมดเลย และอย่างที่บอกว่าประสิทธิภาพมันดีกว่า LG Gram 16 ตัว Core i7-1360P ที่ผมซื้อมาใช้ทำงานซะอีก นั่นหมายความว่าถ้าอยากจะใช้ ASUS ROG ALLY นี่เป็นทั้งเครื่องเล่นเกมและคอมพิวเตอร์ทำงานได้เลย ผมลองใช้งานในโหมด Performance (15 วัตต์) ทำงานทั่วไป ก็คือเพียงพอนะครับ แม้ว่าจะไม่ได้เสียบชาร์จแบตเตอรี่ก็ตาม ถ้าเราหาแท่นวางดีๆ ซักอัน หลายคนอาจจะบอกว่าเขาก็แถมมาให้ในกล่องแล้วไง ผมก็อยากบอกว่า มันไม่ทนครับอันนั้น ผมมองว่าหาแท่นวางดีๆ ทนๆ ซักอัน มาเอาไว้วาง แล้วต่อ ASUS ROG ALLY กับ Docking ดีๆ ที่รองรับ PD อย่างน้อย 65 วัตต์ ก็ต่อจอแสดงผลภายนอก และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น คีย์บอร์ด หรือ เมาส์ ก็โอเคแล้ว ส่วนใครมีคีย์บอร์ดกับเมาส์ไร้สายแบบ Bluetooth เจ้านี่ก็พร้อมใช้งานได้เลย

ต่อ ASUS ROG ALLY กับจอแสดงผลภายนอก คีย์บอร์ดไร้สายและเมาส์ไร้สาย ใช้งานในแบบคอมพิวเตอร์

การต่อออกจะแสดงผลภายนอกเนี่ย จริงๆ แล้ว ถ้าจอมันรองรับ USB-C DisplayPort ก็สามารถเสียบสาย USB-C to USB-C (สายต้องรองรับ USB 3.2 Gen 2 นะ) ก็สามารถใช้งานได้เลยด้วยสายเส้นเดียว แต่ในกรณีที่ต้องการต่อผ่านพอร์ต HDMI ก็ต้องมี USB-C Hub หรือ Docking มาเป็นตัวกลางด้วย ซึ่งผมแนะนำว่าควรเป็นรุ่นที่รองรับ USB-C PD ด้วยจะดีมาก เพราะว่าจะได้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ ASUS ALLY ไปได้ในตัวด้วย ถ้ากลัวว่าเสียบสายชาร์จค้างไว้แล้วแบตเตอี่จะเสื่อมไว ก็ไปใช้แอป MyASUS เปิดโหมดถนอมแบตเตอรี่ครับ มันจะจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่ไว้ที่ 80% ช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่

ผมเจอบั๊กเล็กๆ กับ On-screen keyboard ของ ASUS ที่ในบางสถานการณ์ มันดันแสดงผลแบบสับสนว่าจะแสดงผลบนตัว ASUS ROG ALLY หรือ จอแสดงผลภายนอก เวลาที่ใช้งานในโหมด Extended display ครับ แต่พอถอดสายออก เสียบใหม่ หรือ เปลี่ยนโหมดการแสดงผลไปเป็น Duplicate แล้วกลับมาเป็น Extended display อีกที มันก็หายไปนะ

อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งคิดว่าจะใช้งานเจ้านี่ในฐานะโน้ตบุ๊กได้เต็มที่นะครับ อย่างแรกเลย จอมันเล็ก แค่ 7 นิ้ว แถมไม่มี Physical keyboard ด้วย ถ้าเราคิดว่าจะใช้งานในฐานะแท็บเล็ตที่รัน Windows 11 แล้วใช้จอสัมผัสกับ On-screen keyboard ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้บ้าง เช่น ท่องเว็บ ตอบอีเมลสั้นๆ ก็พอโอเคนะ การเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์ ก็ใช้คันโยกแอนะล็อกอันขวาช่วยได้ ส่วนการคลิกซ้ายก็ใช้ปุ่ม Bumper ขวา และการคลิกขวาก็ใช้ปุ่ม Trigger ขวา ในการกด ก็ถือว่าใช้งานได้ในระดับนึง แต่การเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์ด้วยคันโยกนี่ บอกเลยว่าถ้าเอามาใช้ทำงานละเอียด ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ครับ

สำหรับคันโยกอันซ้ายหรือปุ่มกากบาท ทำหน้าที่เป็นเหมือนปุ่ม ขึ้น-ลง-ซ้าย-ขวา ของคีย์บอร์ด แต่ถ้าอยากพิมพ์อะไรยาวๆ อาจต้องพิจารณามี Bluetooth keyboard และเผลอๆ ต้องมี Touchpad หรือ เมาส์ด้วย และหากต้องการจอใหญ่ๆ นอกสถานที่ ก็อาจจะต้องพิจารณาพก Portable display อีก รวมๆ แล้ว ถ้าต้องใช้ครบเซ็ตบ่อยๆ ซื้อโน้ตบุ๊กน่าจะตอบโจทย์กว่า แต่ถ้าต้องการความยืดหยุ่น แบบ วันนี้พกไปเล่นเกม เอาแค่ตัวเครื่อง ASUS ROG ALLY ไป วันนี้ต้องพิมพ์เยอะหน่อย พกคีย์บอร์ดไปด้วย วันนี้ต้องการจอใหญ่ ค่อยพกไปอีกที ก็จะใช้ ASUS ROG ALLY ในแบบนี้ก็ไม่ว่ากันเช่นกัน

อีกข้อจำกัดนึง ถ้าคิดจะใช้พ่วงเป็นคอมพิวเตอร์ทำงานด้วยก็คือ เนื้อที่เก็บข้อมูลครับ เพราะให้มา 512GB ฟังดูเหมือนเยอะ แต่เกมระดับ AAA นี่ เกมนึงเกิน 100GB นะครับ Final Fantasy VII Remake นี่ เกมเดียวก็กือบ 100GB แล้ว มันก็จะเก็บเกมได้แค่ 3-4 เกม ก็แทบไม่เหลือเนื้อที่ให้ทำอะไรแล้ว ถ้าจะใช้ทำงานด้วย ต้องคิดเผื่อว่าโปรแกรมที่จะใช้งานนี่เป็นยังไง แล้วการเก็บพวกไฟล์ข้อมูล ก็อาจจะต้องเลือกใช้ MicroSD card แทนครับ ไม่แนะนำให้เอาเกมไปใส่ใน MicroSD card นะ หรืออีกวิธีนึงที่เลือกได้คือ การอัปเกรด SSD จาก 512GB ที่ให้มา เป็น 1TB หรือ 2TB ไปเลย แต่ต้องหา SSD M.2 2230 นะครับ (แบบเดียวกะที่ใช้กับ Surface)

บทสรุปการรีวิว ASUS ROG ALLY

ในฐานะเครื่องเล่นเกมพกพา ที่สามารถเล่นเกม PC จำพวก AAA ที่ดังๆ กราฟิกสวยๆ ได้ ผมว่า ASUS ROG ALLY ตอบโจทย์นั้นครับ เอาจริงๆ ไม่คิดเลยว่าจะได้นอนเล่น Final Fantasy VII Remake บนเตียงนอนอะ ปกติต้องเอาจอยมาเสียบกะคอมพิวเตอร์ นั่งเล่นเอา มันก็ดีนะ จอใหญ่ ลำโพงจัดเต็ม แต่ต้องนั่งเล่น บางทีก็ไม่ได้อยากหลังขดหลังแข็งขนาดนั้น ชีวิตก็อยากจะนอนเล่นบนเตียง บนโซฟา ชิลล์ๆ บ้าง อะไรบ้าง ประสบการณ์ในการเล่นเกมก็ถือได้ว่าค่อนข้างดีทีเดียว กราฟิกแม้จะไม่ได้สุดเท่าเครื่อง PC การ์ดจอแรงๆ แต่จอไม่ได้ใหญ่มา ก็ทำให้เราไม่ได้ใส่ใจอะไรกับเรื่องนี้เยอะ และยังสามารถเอามันมาต่อกับ Docking ต่อจอ ต่อคีย์บอร์ดและเมาส์ ก็ใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์สเปกดีๆ หนึ่งเครื่องได้ด้วย และทั้งหมดนี้ สามารถจัดได้ในราคา 24,990 บาท จุดอ่อนสำคัญของ ASUS ROG ALLY ก็ชัดเจนมาก คือ เรื่องของแบตเตอรี่ที่ไม่ค่อยอึดเท่าไหร่ สำหรับคนที่เล่นเกมแบบนานๆ

หากอยากจะต่อจอใหญ่ เล่นเกมได้เฟรมเรตสูงๆ ก็ต่อกับ ROG XG Mobile ได้ครับ ตอนนี้มีขายตัวที่เป็น eGPU NVIDIA GeForce RTX4090 16GB ด้วย เก๋กู้ด แต่ราคา… 69,990 บาทนะ 🤣🤣

ความเก๋ของเจ้านี่ เห็นว่าคือ การรับประกัน 2 ปี จาก ASUS แบบ Worldwide ครับ

สนใจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://rog.asus.com/th/gaming-handhelds/rog-ally/rog-ally-2023/

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า