Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ROG Sephyrus G14 (2023) GA402X โน้ตบุ๊กเกมมิ่งตัวเล็ก แต่สเปกไม่ได้เล็กตาม
หน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X กำลังแสดงหน้าจอล็อกอินของระบบปฏิบัติการ Windows อยู่
รีวิว

รีวิว ASUS ROG Sephyrus G14 (2023) GA402X โน้ตบุ๊กเกมมิ่งตัวเล็ก แต่สเปกไม่ได้เล็กตาม

ASUS ROG Sephyrus G14 (2023) GA402X นี่เป็นโน้ตบุ๊กที่พอเห็นสเปกแล้วคือติดต่อไปทาง PR ของ ASUS เพื่อขอยืมมารีวิวเลยครับ เพราะน่าสนใจมากกับขนาดหน้าจอ 14 นิ้ว แต่อัดสเปกมาให้แบบจัดเต็มตั้งแต่หน่วยประมวลผล AMD Ryzen 9 7940HS และกราฟิก NVIDIA GeForce RTX4060 (8GB GDDR6) และแรม 16GB (อัปเกรดได้สูงสุด 32GB) พร้อมลูกเล่นแบบที่สายเกมมิ่งน่าจะชอบ อย่าง AniMe Matrix จอนอกที่มี mini LED 1,449 ดวง นี่เขาก็ส่งมาให้ลองเล่นไป 2 สัปดาห์แล้ว ก็ได้เวลาเอามาเขียนเล่าสู่กันอ่านว่าเป็นไงบ้างครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Sephyrus G14 (2023) GA402X ตัวนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากทาง ASUS Thailand ให้ยืมมารีวิวให้ได้อ่านประสบการณ์ในการใช้งานกันครับ

เอาจริงๆ ผมก็นับถือ ASUS นะ เพราะในขณะที่หลายๆ แบรนด์เขาพยายามจะเกาะกระแสรักษ์โลก พยายามทำกล่องใส่โน้ตบุ๊กให้ดู Minimal สุดๆ (อย่าง LG Gram 16 ที่ผมรีวิวไปก่อนหน้า) ทาง ASUS เขาพยายามรักษาสมดุลระหว่างความดูพรีเมียมกับรักษ์โลกครับ คือ เขาก็ยังออกแบบกล่องให้ดูมีลูกเล่น และมีอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นแถมมาให้เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ดูแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

ภายในกล่อง สิ่งที่เราจะได้ก็จะมีตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Sephyrus G14 (2023) GA402X มาให้ พร้อมอะแดปเตอร์แบบ DC หัวกลม กำลังไฟ 240 วัตต์ มาให้อีกตัวนึง แล้วก็พวกเอกสารต่างๆ แค่นี้เลย เพราะสำหรับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่มีพอร์ตการเชื่อมต่อค่อนข้างเกือบครบทุกอย่างแล้ว มันก็ไม่ได้ต้องการอุปกรณ์เสริมใดๆ มากกว่านี้แล้วอะนะ

ฝาพับของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X เมื่อมองจากด้านบน

ตัวโน้ตบุ๊กถือว่าออกแบบมาดูดีมากครับ ตัวเครื่องวัสดุเป็นโลหะ ความโดดเด่นของมันน่าจะอยู่ที่ฝาพับของจอ ที่มีการเจาะรูเล็กๆ เอาไว้ถึง 14,969 รู กินพื้นที่ไปราวๆ ครึ่งนึงของฝาพับตามแนวทแยง แล้วสำหรับรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย (เสียดายมีแค่สี Eclipse Gray แค่สีเดียว) จะเป็นรุ่นที่มี AniMe Matrix สามารถสร้างอนิเมชันบนฝาพับด้วยหลอด Mini LED จำนวน 1,449 หลอด ฝาพับเครื่องมันเลยดูโดดเด่นกว่าโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปครับ

ด้านใต้ของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X

ด้านใต้ของตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ก็ยังเป็นโลหะ และมีการเจาะรูสำหรับระบายความร้อนของตัวเครื่อง โดยเน้นความสวยงาม ดูดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ดีอยู่ มีแผ่นยางกันลื่นอย่างยาวที่ด้านหน้าและด้านหลังของตัวเครื่อง ที่ช่วยให้สามารถวางบนพื้นผิวใดๆ ได้อย่างมั่นใจ ว่าจะไม่เลื่อนเคลื่อนตัวได้ง่ายๆ และบริเวณด้านหน้า ตรงมุมด้านซ้ายและขวาของตัวเครื่อง มีลำโพงสเตริโอข้างละตัว

ด้านข้างของตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ด้านซ้ายก็จะมีช่องระบายความร้อน ช่องสำหรับเสียบหัวอะแดปเตอร์ DC พอร์ต HDMI 2.1 FRL พอร์ต USB-C 4 (รองรับ DisplayPort และ Power Delivery) ด้วย (ผมแปลกใจว่ามันมีสัญลัษณ์ของ Thunderbolt แต่ในสเปกมันบอกว่าเป็นแค่ USB-C 4 ครับ เลยต้องยึดตามสเปกจากเว็บ) และช่องเสียบ Audio combo jack 3.5 มม. ส่วนด้านขวามีช่องระบายความร้อนพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ให้สองพอร์ต กับ USB-C ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 ให้อีก 1 พอร์ต ซึ่งรองรับ DisplayPort ด้วย และมีสล็อตอ่าน MicroSD card ให้อีกสล็อตนึง รองรับ UHS-II

ด้านหลังของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X

ด้านหน้าของตัวเครื่องโน้ตบุ๊กนี่ไม่มีอะไร แต่ด้านท้ายของตัวเครื่องเป็นช่องระบายความร้อนเช่นกัน และก็มีการติดตั้งไฟ LED สำหรับแสดงสถานะของการทำงานของเครื่องเอาไว้แบบเนียนๆ ด้วย ดูดีมาก มีตัวอักษรชื่อรุ่น Zephyrus ทำออกมาซะสวยเลย

เปิดฝาพับขึ้นมา สิ่งที่เราจะได้เห็นคือหน้าจอแสดงผลที่เรียกว่ามาตรฐาน ROG Nebula Display ซึ่งตามสเปกคือให้ขอบเขตสีกว้างครอบคลุม DCI-P3 100% ความสว่าง 500 nits และมีรีเฟรชเรตสูง 165Hz สัดส่วนแบบ 16:10 IPS LCD ความละเอียด 2,560×1,600 พิกเซล เป็นจอแบบ Anti-glare ลดแสงสะท้อน ด้านบนของหน้าจอ เป็นกล้องเว็บแคม Full HD 1080p พร้อม IR camera รองรับ Windows Hello และมีไมโครโฟน 2 ตัว (ในสเปกระบุว่าเป็น Microphone array 3 ตัว แต่ผมหาอีกตัวไม่เจอ 🤣🤣) แต่ไม่มี Privacy shutter ให้แฮะ

หน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X กำลังแสดงหน้าจอล็อกอินของระบบปฏิบัติการ Windows อยู่

ตัวเครื่องส่วนที่เป็นคีย์บอร์ด ด้วยความที่มีขนาดหน้าจอ 14 นิ้ว ก็จะเป็นโน้ตบุ๊กแบบไม่มี Numpad ผิดกับพวกเกมมิ่งโน้ตบุ๊กทั่วไปที่มักจะมีจอใหญ่แบบ 15.6 นิ้วขึ้นไป (ASUS ROG Strix ที่ผมเคยใช้มาก่อน นั่นจอ 17.3 นิ้ว ใหญ่เบิ้ม) ซึ่งทำให้มีเนื้อที่พอยัด Numpad เข้าไปได้อีก จุดเด่นที่เห็นคือ มันมีปุ่ม M1-M4 มาให้เพิ่ม แล้วก็มีปุ่ม Power ที่ติดตั้งไว้ค่อนข้างโดดเด่นเลย แต่ไม่ได้เป็นเซ็นเซอร์อ่านลายนิ้วมือนะ การล็อกอินแบบง่ายๆ ทำผ่าน Windows Hello ด้วย IR camera บนหน้าจอเอาครับ ตรงมุมด้านซ้ายและขวาของตัวเครื่องด้านหลัง มีลำโพงสเตริโออีก 2 ตัว ทำให้โน้ตบุ๊กตัวนี้มีลำโพง 4 ตัวเลยทีเดียว

คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X ตัวคีย์บอร์ดมีไฟ RGB ส่องสว่าง

โดยรวมถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กดีมีขนาดกะทัดรัด ดีไซน์ออกมาดูดีมีเอกลักษณ์ มีขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัด ไม่ได้หนามาก น้ำหนัก 1.72 กิโลกรัม ถือว่าไม่ได้หนักโหดร้ายอะไรมากนักสำหรับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กสายเน้นประสิทธิภาพ แต่นี่ยังไม่รวมน้ำหนักของอะแดปเตอร์ที่ต้องพกไปอีกนะครับ 🤣🤣 พิจารณาแล้ว มันจะเป็นโน้ตบุ๊กที่เหมาะกับการพกไปนอกสถานที่แบบที่เราขับรถไปมา มากกว่าแบกขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถเมล์แน่นอน ไม่งั้นก็แบกหลังแอ่นนิดนึง

สเปกของ ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X

ก่อนจะไปทดสอบประสิทธิภาพ และเล่าถึงประสบการณ์ในการใช้งานของเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X ตัวนี้ ก็ขอพูดถึงสเปกแบบคร่าวๆ ให้อ่านกันก่อนว่าเป็นยังไงบ้างครับ

สเปกรายละเอียด
หน่วยประมวลผลAMD Ryzen™ 9 7940HS Mobile Processor
(8-core/16-thread, 16MB L3 cache, up to 5.2 GHz max boost)
กราฟิกNVIDIA® GeForce RTX™ 4060 Laptop GPU 8GB GDDR6
ROG Boost: 2300MHz at 125W
(2250MHz Boost Clock+50MHz OC, 100W+25W Dynamic Boost)
หน่วยความจำ16GB DDR5 on board ใส่เพิ่มได้อีก 16GB รวมเป็น 32GB
สื่อบันทึกข้อมูล1TB PCIe 4.0 NVMe M.2 SSD
หน้าจอแสดงผลROG Nebula Display 14 นิ้ว QHD+ 16:10 2,560×1,600 พิกเซล IPS LCD
Anti-glare DCI-P3 100% รีเฟรชเรต 165Hz Response time 3s
รองรับ Dolby Vision HDR, Pantone validated
พอร์ตเชื่อมต่อ1×3.5 มม. audio combo jack
1×HDMI 2.1 FRL
2×USB 3.2 Gen 2 USB-A
1×USB 3.2 Gen 2 USB-C (รองรับ DisplayPort)
1×USB 4 USB-C (รองรับ DisplayPort และ Power Delivery)
1×MicroSD card slot
เน็ตเวิร์กWi-Fi 6E (802.11ax) Triple band 2×2
Bluetooth 5.3
กล้องเว็บแคม Full HD 1080p พร้อม IR camera รองรับ Windows Hello
ระบบเสียงDolby Atmos
4 ลำโพง พร้อมเทคโนโลยี Smart Amplifier
แบตเตอรี่76Whr 4-cell Li-ion
น้ำหนัก1.72 กิโลกรัม

โดยรวมเรียกว่าสเปกแรงสะใจดีมากครับ สำหรับการเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก เอาจริงๆ ในต่างประเทศ รุ่นนี้มีวางจำหน่ายหลากสเปกมาก มีตั้งแต่การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4050 ยัน RTX4090 เลย แต่สำหรับรุ่นที่วางจำหน่ายในไทย ก็มีแต่ตัวที่ผมได้มารีวิว คือ ตัวที่ใช้กราฟิก NVIDIA GeForce RTX4060 ครับ แต่ก็ต้องถือว่าสเปกแรงดีพอสมควรอยู่แล้วนะสำหรับโน้ตบุ๊กที่จะพกพาไปเล่นเกม และผมเข้าใจว่า ASUS ต้องการทำให้ราคามันเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอีกหน่อยด้วย ถ้าเอาตัว RTX4090 มาขายนี่ มีราคาพุ่งถึง 120,000 บาทได้เลย

ดูจากสเปกแล้ว นอกจากซื้อเอามาเล่นเกมแล้ว สายงานด้านคอนเทนต์ ไลฟ์สตรีม ต่างๆ ก็สามารถใช้งานเจ้านี่ได้โอเคอยู่นะ ถ้าแรม 16GB น้อยเกินไปสำหรับการใช้งาน ก็ยังมีตัวเลือกที่จะอัปเกรดแรมเพิ่มอีก 16GB ให้รวมเป็น 32GB ได้

ทดสอบประสิทธิภาพของเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X

เมื่อจัดสเปกมาให้สุด ก็ต้องขอดูกันหน่อยว่าประสิทธิภาพนี่เขารีดมาได้ดีมากน้อยแค่ไหนครับ ก่อนอื่นผมขอวัดของที่วัดได้ง่ายๆ ก่อน คือ ความเร็วของ SSD ซึ่งเป็นอะไรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กในภาพรวมไม่น้อย จะบูตไวไหม เปิดโปรแกรมเร็วไหม โหลดเกมมาเร็วขึ้นไหม ก็มาจากนี่แหละครับ

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4

คะแนนทดสอบที่ได้ก็ต้องบอกว่า SSD ที่ใช้บนโน้ตบุ๊กตัวนี้ ก็เป็นสเปกที่ใช้ประสิทธิภาพของ PCIe 4.0 แหละ แต่ว่าความเร็วไม่ได้สุดซะทีเดียว ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลแบบ Sequential คือ 5,016.62MB/s และ 3,454.74MB/s ตามลำดับ แต่จุดที่เราควรจะสนใจคือความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Random ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วทีเดียว คือ 1,474.51MB/s และ 660.95MB/s ตามลำดับ

ถัดมาก็ขอทดสอบประสิทธิภาพในภาพรวมก่อน ซึ่งขอใช้โปรแกรม PCMark 10 ในการทดสอบ เพราะสามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานในพฤติกรรมต่างๆ ได้ทั้งแบบการใช้งานแอป การทำงานเอกสาร ตลอดไปจนถึงการทำงานด้านกราฟิกและวิดีโอ

ผลการทดสอบของโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X ด้วยโปรแกรม PCMark 10

คะแนนที่ได้ถือว่าทำได้ดีในทุกๆ เรื่องครับ สมกับที่เป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กแหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรันโปรแกรม การทำประชุมออนไลน์ ท่องเว็บ ทำงานเอกสาร ตลอดไปจนถึงงานผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งกราฟิกและวิดีโอ คะแนนที่ได้จาก PCMark 10 คือ 7,993 คะแนน

ทีนี้ก็เลยอยากรู้ว่า CPU AMD Ryzen 9 7940HS 8-core/16-thread นี่ประสิทธิภาพเป็นยังไงบ้าง ก็ขอเอา Cinebench R23 มาวัดกันซักหน่อยครับ ผลที่ได้ก็ตามตารางด้านล่างครับ

การทดสอบคะแนน
Single-core1,817
Multi-core

คะแนนที่ได้ ผมลองเอาไปเทียบกับ ASUS ZenBook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) ที่ใช้หน่วยประมวลผล Intel Core i9-13900H ก็ต้องบอกว่าคะแนนของ Single-core นี่ต่ำกว่านิดหน่อย แต่พอเป็นคะแนน Multi-core นี่ ออกมาสูงกว่านิดหน่อยแทนครับ น่าจะเป็นเพราะว่าถึงแม้ Intel Core i9-13900H มันจะ 14-core/20-thread จำนวน Core และ Thread เยอะกว่าก็จริง แต่มันประกอบไปด้วย Performance core กับ Efficient core ประสิทธิภาพโดยรวมมันไม่ได้เท่ากับ Core ของ CPU AMD ครับ

และด้วยความที่มันเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก จะไม่วัดประสิทธิภาพของการเล่นเกมมันก็คงจะไม่ได้ ก็ขอเริ่มจากการใช้ Benchmark ของเกม Final Fantasy XV มาวัดดูก่อนครับ โดยจะไม่ลองกับพวกความละเอียดต่ำนะ ขอจัดแบบความละเอียดสูง Full HD ไปเลยครับ (หน้าจอแสดงผลมัน 2.5K ฉะนั้นใช้ Full HD น่าจะชิลล์ๆ ในการเล่น)

คะแนนทดสอบประสิทธิภาพของการเล่นเกมด้วย Benchmark ของเกม Final Fantasy XV

ผมทดสอบแบบง่ายๆ ด้วยโหมด Full HD ในคุณภาพ High quality ก็ได้คะแนนออกมาในระดับ Very high หรือ สูงมาก คะแนนที่ได้คือ 9,763 คะแนน แต่ก็ขอตั้งข้อสังเกตว่าคะแนนมันต่ำกว่า ASUS ZenBook Pro 14 Duo OLED (UX8402VV) อยู่ประมาณนึง ทั้งๆ ที่คะแนนในการทดสอบอื่นนี่ ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X เฉือนชนะไปหมดนะ

และสุดท้าย ลองเอาไปรัน 3DMark ซักสองรอบ รอบนึงดูเรื่องการเล่นเกมแบบ 4K อีกรอบดูเรื่องประสิทธิภาพของการทำ Raytracing ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ออกมาตามด้านล่าง

คะแนนที่ได้ค่อนข้างสูงดีครับ อย่างไรก็ดี ผมตั้งข้อสังเกตว่าประสิทธิภาพของตัวการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 นี่ยังไม่แรงถึงขั้นที่จะเล่นเกมในความละเอียดระดับ 4K ซึ่งก็ถือว่าไม่เป็นไรนะ เพราะหน้าจอแสดงผลมันแค่ความละเอียด 2.5K เท่านั้น และหน้าจอแสดงผลขนาด 14 นิ้วเนี่ย ความละเอียด Full HD 1080p ก็เรียกว่าคมพอสมควรแล้ว ถ้าเราเล่นเกมด้วยความละเอียดระดับ Full HD จะค่อนข้างลื่นดีทีเดียว

และที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ เรื่องของขอบเขตสีในการแสดงผล ที่ ASUS บอกว่าเป็น DCI-P3 100% นี่ เป็นยังไงบ้าง แล้วขอบเขตสีแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น sRGB, NTSC หรือ AdobeRGB นี่มันเป็นยังไง ผมก็ลองวัดด้วย Spyder X Elite ดูครับ ได้ผลออกมาตามรูปด้านล่างนี่

ขอบเขตสีแบบ sRGB นี่คือเกิน 100% ครับ (แต่โปรแกรมวัดได้ 100%) ส่วน NTSC นี่ครอบคลุมที่ 86% กับ AdobeRGB คือ 88% และสุดท้าย ตามสเปก DCI-P3 ได้ 99% ก็ปัดกลมๆ เป็น 100% ได้ตามสเปกนั่นแหละ โดยรวมเรียกว่า การใช้งานเพื่อความบันเทิงคือไม่น่ามีปัญหาเลย ดูจากขอบเขตสี sRGB กับ DCI-P3 แต่ในกรณีของการทำงานสายคอนเทนต์เนี่ย เรียกว่าพอทำได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องซีเรียสเรื่องความตรงของสีมากๆ

ประสบการณ์ในการใช้งานเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X

เอาล่ะ มาพูดถึงเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานกันบ้างครับ เริ่มต้นเลยคือเรื่องของความสามารถในการพกพาไปไหนมาไหนเพื่อใช้งาน ตัวเครื่องมีขนาดค่อนข้างกะทัดรัดสำหรับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กขนาดจอ 14 นิ้ว สิ่งเดียวที่จะทำให้พกพาไปไหนลำบาก ก็น่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนักมากกว่า เพราะตามสเปกแล้วมีน้ำหนัก 1.72 กิโลกรัม (ชั่งน้ำหนักจริงได้ 1.7 กิโลกรัม) และเมื่อรวมกับน้ำหนักของอะแดปเตอร์กับสายไฟที่หนัก 732 กรัม (เฉพาะอะแดปเตอร์ก็หนักพอๆ กับโน้ตบุ๊ก Fujitsu UH-X ที่ผมซื้อให้ภรรยาผมใช้แล้ว คิดดู) เท่ากับว่าคุณต้องพกน้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัมติดตัวนะ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นที่จะต้องพกอะแดปเตอร์หนักๆ นั่นเสมอไปนะ เพราะตัวโน้ตบุ๊กมันก็รองรับการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ด้วยเทคโนโลยี Power Delivery ครับ เพียงแต่ว่าปัจจุบันพวกอะแดปเตอร์ GaN นี่ยังจ่ายไฟได้เต็มเหนี่ยวแค่ 100 วัตต์เท่านั้น มันเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป ที่ได้กินพลังงานมาก แต่ถ้าเกิดจะพกไปเล่นเกมด้วย 100 วัตต์ มันจะไม่พอ

โน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X นี่เรียกว่ามีพอร์ตการเชื่อมต่อค่อนข้างครบครันสมกับการเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่พร้อมจะใช้งานที่หลากหลาย มันก็เลยมีทั้งพอร์ต HDMI 2.1 FRL พอร์ต USB-C กับ USB-A ครบเครื่องมาก และแน่นอน มีสล็อตอ่าน MicroSD card ด้วย เผื่อใครทำงานสายคอนเทนต์ก็สามารถอ่านการ์ดหน่วยความจำจากอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือกล้องได้

แม้ว่าขนาดตัวเครื่องจะกะทัดรัด ด้วยจอแสดงผลขนาด 14 นิ้ว แต่คีย์บอร์ดนี่คือพิมพ์ถนัดมือมากๆ ครับ และแน่นอน มาพร้อมไฟ RGB ถูกใจสายเกมมิ่ง ทั้งตำแหน่งและขนาดของปุ่มคีย์บอร์ดแต่ละปุ่มเนี่ยก็ทำออกมาได้ดี ที่ผมชอบอีกอย่างก็คือ แม้ว่าเจ้านี่จะมีช่องระบายความร้อนที่อยู่ตรงด้านท้ายของตัวโน้ตบุ๊ก แต่ ASUS ก็ยังสามารถออกแบบให้กางหน้าจอออกมาได้ 180 องศานะ ซึ่งถูกใจผมมาก เพราะเวลาผมใช้ทำงาน มีบ่อยครั้งที่ก็อยากจะกางหน้าจอ 180 องศา เพื่อให้ทุกคนในทีมได้สุมหัวมาดูว่ามีอะไรอยู่บนหน้าจอ

โน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X กำลังใช้โปรแกรม DaVinci Resolve ในการตัดต่อวิดีโอยู่

คงไม่ต้องห่วงเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของโน้ตบุ๊กตัวนี้ สำหรับคนทำงานทั่วไป ท่องเว็บ เล่นโซเชียล ทำงานเอกสาร ดูหนังฟังเพลงเพื่อความบันเทิง หรือแม้แต่ต้องทำงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอบ้าง โน้ตบุ๊กตัวนี้เอาอยู่จริงๆ ครับ ประสิทธิภาพเหลือๆ อยู่ ลำโพง 4 ตัวของโน้ตบุ๊กให้คุณภาพเสียงที่ดีทีเดียวและมีมิติ เสียงดังดีทีเดียว เวลาเอามาใช้เล่นเกมในห้องเงียบๆ คือไม่ต้องต่อลำโพงอะไรเพิ่มครับ นี่ลองเอามาเล่นเกม Resident Evil 4 Remake ดูครับ

เล่นเกม Resident Evil 4 Remake บนโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X เป็นฉากของตัวละครผู้ชายที่กำลังเดินไปที่กระท่อมร้างภายในป่า

ผมลองเล่นเดโมเกม Resident Evil 4 Remake โดยเปิดกราฟิกไว้ค่อนข้างสูง (แต่ความละเอียดเกมได้แค่ 1,366×768 พิกเซล) เปิดทั้ง Raytracing ด้วย เปิด DLSS ด้วย เกมก็ลื่นดีอยู่ ขาดแต่ว่าเดี๋ยวนี้เกมมีรายละเอียดของพวก Texture เยอะ แรม 8GB ของการ์ดจอ NVIDIA RTX4060 นี่เรียกว่าไม่พอที่จะปรับกราฟิกให้ดีสุด แต่ก็ยังเรียกว่าอยู่ในเกณฑ์สูง แต่เอาจริงๆ นะ ถ้าเกิดเราไม่ได้เอาภาพมาเทียบกัน ผมว่ากราฟิกมันก็ละเอียดดีมากอยู่แล้วนะ

แน่นอนว่าพอใช้งานกราฟิกหนักหน่วง ความร้อนมันย่อมสูงเป็นธรรมดา นี่ขนาดตัวการ์ดจอมี TDP ที่ 80 วัตต์นะ พัดลมดังเอาเรื่องอยู่ครับ ลำโพงของโน้ตบุ๊กถือว่าดังพอสมควรแล้ว แต่เสียงพัดลมนี่ก็ดังรบกวนได้เอาเรื่องเช่นกัน ทำให้สุดท้าย เวลาเล่นเกมแล้ว ผมก็อยากแนะนำให้ใส่หูฟังซะดีกว่าครับ เอาแบบที่มีตัดเสียงรบกวน ไม่ว่าจะด้วยตัวหูฟังเอง หรือมีฟีเจอร์ Noise cancelling ก็ตามแต่ ความร้อนที่สูงๆ เนี่ย ทำให้ตัวเครื่องอุ่นชัดเจนมาก และมีบางจุดที่เรียกว่าแตะนานๆ แล้วรู้สึกร้อนได้เลย ฉะนั้น คำแนะนำสำหรับการใช้เล่นเกมของผมก็คือ อย่าวางบนตัก หาที่วางบนโต๊ะให้ดีๆ ไปเลย แล้วก็เสียบจอยเกมเพื่อเล่น ดีกว่าใช้คีย์บอร์ดครับ

ส่วนช่วงไหนที่เราทำงานทั่วๆ ไป ตอบอีเมล เล่นโซเชียล ทำงานเอกสาร ที่ไม่ได้ใช้พลังในการประมวลผลสูงมาก และต้องการความเงียบ ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X นี่ก็มีโหมด Silent ที่ตัดการทำงานของพัดลมทั้งหมด แล้วระบายความร้อนด้วย Heatsink เพียงอย่างเดียวด้วย เขาเรียก 0dB Ambient Cooling, Zero distraction แต่เมื่อไหร่ที่มันมีโหลดสูงขึ้น ต้องระบายความร้อน เดี๋ยวพัดลมจะทำงานโดยอัตโนมัติเอง ไม่ต้องห่วง

ความโดดเด่นของโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X ตัวนี้คือฝาพับหน้าจอที่มีลูกเล่นเป็น AniMe Matrix ที่อาศัยรูเล็กๆ นับหมื่น และไฟ Mini LED พันกว่าดวงบนนั้นในการสร้างภาพกราฟิกออกมาได้ตามใจชอบครับ ซึ่งสามารถไปปรับตั้งค่าได้ที่โปรแกรม Armoury Crate โดยเราสามารถเลือกได้จากสิ่งที่ทาง ASUS ได้เตรียมเอาไว้ให้แล้ว ทำเอฟเฟ็กต์ข้อความก็ได้ หรืออยากจะใส่ภาพเข้าไปเองก็ได้เช่นกัน

หน้าจอโปรแกรม Armoury Crate ในส่วนของการตั้งค่า AniMe Matrix

อย่างไรก็ดี ต้องจำเอาไว้ว่า AniMe Matrix บนฝาพับเนี่ย มันมีไฟ LED แค่พันกว่าดวงเท่านั้นนะครับ พูดง่ายๆ ต่อให้มันมีรูเล็กๆ เป็นหมื่นรู แต่ไฟ LED ดวงนึงจะทำหน้าที่ส่องสว่างทีเดียวหลายๆ รูพร้อมๆ กันอยู่ ดังนั้น มันก็จะไม่สามารถแสดงภาพที่มีความละเอียดสูงๆ ได้นักครับ ตัวอย่างด้านล่าง ผมลองเอารูปอวาตารโซเชียลมีเดียของผมไปใส่ ก็พอจะได้เห็นเป็นภาพคร่าวๆ แต่ก็จะไม่สามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนนักครับ

ภาพรูปอวาตารของบล็อกเกอร์นายกาฝาก เป็นภาพการ์ตูนของตัวการ์ตูนผู้ชายสวมแว่น ผมตั้งๆ แสดงอยู่บนฝาพับของโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแบตเตอรี่ของ ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X ตัวนี้จะมีให้มา 76Whr ก็ตาม แต่ด้วยความที่ประสิทธิภาพในการประมวลผลมันสูง มันก็ย่อมกินแบตเตอรี่หนักเอาเรื่องครับ แม้ว่าตอนที่เราไม่ได้เสียบอะแดปเตอร์จะทำให้ระบบมันลดประสิทธิภาพในการทำงานลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ผลก็คือ แบตเตอรี่เท่าที่ผมลองเล่นดู จะอยู่ได้ราวๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงครับ การพกไปใช้งานนอกสถานที่ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมีอะแดปเตอร์พกติดตัวไปด้วย ถ้าพกตัว 240 วัตต์ไปคือสบายเลย เสียบปลั๊กค้างไว้เลย เล่นเกมได้ประสิทธิภาพเต็มเหนี่ยว แต่ถ้าพกตัว 100 วัตต์ไป ก็อาจจะชาร์จไม่ทันใช้ แต่ก็จะช่วยยืดเวลาให้แบตเตอรี่หมดช้าลงครับ แต่มันดีกว่าตรงที่น้ำหนักของอะแดปเตอร์แบบ 100 วัตต์แบบ GaN มันจะเบากว่าอะแดปเตอร์ 240 วัตต์ที่ให้มาเยอะ อ้อ! มันมีฟีเจอร์นี้อยู่ครับ ชาร์จแบตเตอรี่แบบเร็วด้วยอะแดปเตอร์ 100 วัตต์ ผ่านพอร์ต USB-C Power Delivery สามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 0% ถึง 50% นี่ใช้เวลา 30 นาทีได้เลย

หน้าจอโปรแกรม MyASUS ของโน้ตบุ๊ก ASUS Zephyrus G14 (2023) GA402X แสดงหัวข้อการปรับแต่งเรื่องโหมดถนอมแบตเตอรี่ และการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ก

สิ่งที่ผมอยากตินิดนึงคือ ความงงๆ ของการปรับตั้งค่าฟีเจอร์พิเศษของโน้ตบุ๊ก เช่น การถนอมแบตเตอรี่ การเปิด-ปิดฟีเจอร์ AI noise cancelling ที่ปกติแล้วมันจะไปตั้งค่าในโปรแกรม MyASUS ได้ แต่พอเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กแล้ว มันจะงงๆ นิดนึงครับ อย่าง ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X ตัวนี้ MyASUS เอาไว้แค่ตั้งค่าในส่วนของโหมดถนอมแบตเตอรี่ กับเรื่องของการปรับตั้งค่าเน็ตเวิร์กให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานเท่านั้น ที่เหลือต้องไปปรับตั้งค่าจากโปรแกรม Armoury Crate แทน

หน้าจอโปรแกรม Armoury Crate บนโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X ที่แสดงข้อมูล CPU, GPU, หน่วยความจำ และฟีเจอร์ต่างๆ อยู่

คือ มันก็จะงงๆ หน่อยว่าจะปรับอะไรไปตรงไหน แล้วแบบ ถ้าจะเหลือแค่ 2 ฟีเจอร์ให้ปรับบน MyASUS ทำไมไม่โยกทั้งหมดไปอยู่ Armoury Crate ไปให้จบๆ ไปเลย มันจะได้เป็น One-stop service ไป

บทสรุปการรีวิว ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X

ถือได้ว่า ASUS ROG Zephyrus G14 (2023) GA402X เป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ครบเครื่องอยู่ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการใช้งาน ในราคาที่ก็ไม่ได้โหดร้ายมากจนเกินไป คือ 67,990 บาท อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องแลกมากับประสิทธิภาพที่เราจะได้ ก็คือน้ำหนักที่ต้องแบกครับ ถ้าเราต้องการพกแบบจัดเต็ม คือ โน้ตบุ๊ก + อะแดปเตอร์ที่แถมมาด้วย รวมแล้วก็ 2.5 กิโลกรัมเลยนะครับ สำหรับคนที่เน้นพกไปข้างนอกเพื่อใช้งานไม่หนักมาก ผมแนะนำให้หาซื้ออะแดปเตอร์ GaN 100 วัตต์ กับสาย USB-C to USB-C ยาว 2 เมตร ซักเส้น จะดีกว่าครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า