แว่น XREAL air นี่เริ่มเป็นที่นิยมกันมาได้ราวๆ 2 เดือนแล้ว บล็อกเกอร์สายไอทีคือซื้อมารีวิวกันหลายคน ผมนี่ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานครับ นานจนเขามีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (หรือเรียกว่าเครื่องศูนย์นั่นแหละ) ณ ตอนนี้ก็เรียกว่าผมพร้อมแล้วแหละ กับการลองใช้ XREAL air ดู แล้วมารีวิวให้ได้อ่านกันว่า ประสบการณ์ในการใช้งานเป็นยังไงบ้าง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
XREAL air ที่รีวิวนี้ คือ ซื้อมาใช้เองครับ ผมมีความตั้งใจว่าจะซื้อมาใช้ 2 รูปแบบใหญ่ๆ เลย คือ
(1) ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy Z Fold 5 ของผม เพื่อเอาไว้เสพคอนเทนต์จำพวกวิดีโอ
(2) ใช้งานร่วมกับโน้ตบุ๊กระบบปฏิบัติการ Windows 11 ผ่านพอร์ต USB-C และแอป Nebula for Windows เพื่อจำลองหน้าจอแสดงผล 3 จอ เวลาไปทำงานนอกสถานที่
เอาจริงๆ รูปแบบการใช้งานของ XREAL air มันมีมากกว่านี้ เช่น เอาไปต่อกับเครื่องเล่นเกม PS5, Steam Deck หรือ Nintendo Switch เพื่อจะได้เล่นเกมแบบจอใหญ่เบิ้มด้วย หรือ ขยายและย่อหน้าจอให้ได้ตามการใช้งาน อะไรพวกนี้อีก แต่มันต้องใช้อุปกรณ์เสริม อย่างเช่น XREAL Beam หรือ HDMI adapter ที่ก็ต้องเสียเงินซื้ออีก ซึ่งผมไม่สะดวกใจที่จะซื้อมาเพียงแค่เพราะว่าจะรีวิว (ในอนาคต หากมีตังค์อาจจะพิจารณาซื้อ XREAL Beam เพราะดูจะพอได้ใช้งานเป็นประโยชน์อยู่บ้าง) ฉะนั้นผมขอรีวิวแค่เฉพาะรูปแบบการใช้งานที่ (1) และ (2) ที่ผมบอกเอาไว้ข้างต้นเท่านั้นนะครับ
แกะกล่อง XREAL air ออกมา กล่องดีไซน์ได้แบบ กะทัดรัดดีมากครับ มีอะไรซ่อนอยู่ในนี้เยอะอยู่ พอแกะกล่องออกมา สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ ตัวกล่องใส่แว่น XREAL air ที่มีแว่นอยู่ข้างใน ในกล่องก็จะมีตัวแว่นและสาย USB-C to USB-C ความยาวประมาณ 125 เซ็นติเมตร มีการออกแบบให้หัวด้านนึงทำมุมประมาณ 45 องศา เพื่อเอาไว้ต่อกับขาแว่น XREAL air โดยเฉพาะ นอกจากนี้ก็มีแผ่นพลาสติกคล้ายๆ ปิ๊กกีต้าร์อันนึง เอาไว้สำหรับถอดตัวแป้นจมูกแว่น (Nose piece) ออกมาครับ
ยัง มันยังไม่หมดครับ ในกล่องมีของที่แอบซ่อนอยู่ ซึ่งต้องแกะกล่องให้ลึกซึ้งกว่านี้ครับ เราจะเห็นว่าด้านนึงมีเอกสารซ่อนเอาไว้อยู่ มันก็จะมีแผ่น QR code เอาไว้สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป คู่มือการใช้งาน และผ้าเช็ดแว่น

อีกด้านของกล่อง เราต้องแกะออกมาหน่อย มันจะมีแป้นจมูกอีกสองขนาด ชุดเลนส์สายตาเสริม (สำหรับคนที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง) แล้วก็มีแผ่นพลาสติกเอาไว้ปิดเลนส์แว่น เพื่อให้การแสดงผลของแว่น XREAL air คมชัดขึ้น โดยตัดแสงจากภายนอกโดยสิ้นเชิง
มาดูที่ตัวแว่น XREAL air กันบ้างครับ มันจะมีลักษณะเป็นเหมือนแว่นตาทั่วไป เป็นแว่นทรงกรอบเต็ม ที่แอบหนาหน่อยทั้งกรอบแว่นและขาแว่น ตัวเลนส์จะมีลักษณะเทาๆ นิดนึง คล้ายๆ แว่นกันแดด และมีเลนส์อีกชุดนึงอยู่ด้านใน

ด้านหลังของตัวแว่นมันจะแปลกกว่าแว่นตาปกตินิดนึง เพราะว่ากรอบด้านบนจะหนาครับ เนื่องจากต้องมีตัวเครื่องฉายภาพซ่อนอยู่ในนั้น ไอ้ตัวเครื่องฉายภาพนี้จะทำการฉายภาพลงมาที่เลนส์รับภาพอีกที และตรงบริเวณกรอบแว่นที่จะอยู่แถวๆ หว่างคิ้วของเรา มันจะมี Proximity sensor ติดตั้งเอาไว้ด้วย มีไว้เพื่อเปิด-ปิดภาพจากแว่นครับ คือ ถ้าเราถอดแว่นออก ตัวแว่นจะปิดการฉายภาพโดยอัตโนมัติเลย

ตรงขวาแว่นด้านขวา ด้านใต้มันจะมีรูไมโครโฟน มีปุ่มกดอีกสองปุ่ม ปุ่มนึงสั้น คือปุ่มเปิด-ปิดภาพที่จะฉายออกมาบนแว่น และปุ่มปรับความสว่างของภาพที่ฉายบนแว่นตา

ตรงขาแว่น บริเวณที่อยู่แถวๆ หูของเรามันจะมีลำโพงแบบสเตริโออยู่ด้วย เป็น Spacial audio speaker ครับ ขาแว่นเนี่ย มันค่อนข้างแข็งอยู่ แต่ว่าตรงบริเวณปลายขาแว่นมันจะมีความยืดหยุ่นประมาณนึง สามารถดัดเพื่อให้รับกับการเกี่ยวหูของเราได้ ขาแว่นสามารถปรับขึ้น-ลงได้นิดนึงด้วย แต่ปรับทีนึงก็แอบตกใจ เพราะมันจะดังแก๊กๆ ดังเหมือนจะหัก แต่มันไม่หักนะ

ปลายขาแว่นด้านซ้ายจะมีพอร์ต USB-C อยู่ เอาไว้สำหรับเสียบสาย USB-C to USB-C เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เราจะใช้งานด้วย เอาจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สาย USB-C ที่แถมมาหรอกนะ ขอเป็นแค่สาย USB-C ที่รองรับ USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ที่ใช้กับ DisplayPort ได้ ก็พอ
ประสบการณ์ในการใช้งานแว่น XREAL air
น้ำหนักของตัวแว่นอยู่ที่ 79 กรัม ที่ทาง XREAL บอกว่าเป็น Ultra-portable แต่นั่นคือในกรณีที่เราไปเทียบกับพวกแว่น VR อื่นๆ นะครับ หากเราเอามันไปเทียบกับแว่นตาปกติ เจ้านี่จะหนักกว่าในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดศูนย์ถ่วงของมันจะค่อนมาทางด้านหน้าของแว่น ตรงเลนส์นั่นแหละ เพราะว่าพวกจอภาพและเลนส์สำหรับฉายภาพมันก็ต้องอยู่ตรงนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนน้ำหนักที่ผมชั่งได้จริงๆ มันคือ 82 กรัมครับ (ชั่งด้วยที่ชั่งน้ำหนักที่ผมมีนะ)

หลักการทำงานพื้นฐานของแว่น XREAL air แบบง่ายๆ คือ มันทำหน้าที่เหมือนเป็นหน้าจอแสดงผลให้กับอุปกรณ์ที่มันจะเชื่อมต่อด้วย เสียบปุ๊บก็ใช้งานได้เลยครับ ซึ่งถ้าเสียบกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต (ต้องเป็นรุ่นที่รองรับการแสดงผลแบบ MHL ถ้านึกไม่ออก) มันก็จะแสดงผลแบบ Screen mirroring ได้ แต่ถ้าเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอย่าง Samsung ที่มีโหมด Samsung Dex หากเราเปิดโหมดนี้ มันจะทำหน้าที่เป็น Extended desktop ให้แทนครับ

แต่ถ้าเราดาวน์โหลดแอป Nebula สำหรับระบบปฏิบัติการ Android มาติดตั้งบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต จะทำให้เราสามารถเลือกโหมดการแสดงผลได้ 2 โหมด คือ
📱AR Space เป็นโหมดการทำงานคล้ายๆ กับพวก Portal ของแว่น VR ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม มีแอปโน่นนี่กับเกมให้ใช้นิดหน่อย และใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเราในการมีปฏิสัมพันธ์กับ User Interface ของ AR Space นี้ ดูวิดีโอด้านล่างที่ผมอัดมาผ่านแอป Nebula ว่ามันเป็นยังไง
📱Air Casting ก็คืออิโหมด Screen mirroring ที่เราใช้ตามปกตินี่แหละครับ จะใช้โหมดนี้จริงๆ แล้วไม่ต้องลงแอป Nebula ก็ได้
ความโดดเด่นของ AR Space คือ User Interface สไตล์ VR ที่เราสามารถเปิดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมา แล้วสามารถย้ายหน้าต่างโปรแกรมไปวางไว้รอบๆ ตัวได้ โดยสามารถวางหน้าต่างซ้อนกันได้แบบสามมิติด้วย แต่ด้วยความที่แว่น XREAL มันเป็นแว่น AR ก็เลยทำให้เราสามารถมองทะลุ User Interface เหล่านี้ไปเห็นโลกจริงๆ ของเราได้ด้วย

แต่ด้วยความที่ ณ ตอนที่เขียนบล็อกตอนนี้อยู่ แอปใน AR Space มันยังไม่ค่อยมีอะไรที่ดูแล้วว้าวมากไปกว่าการได้เปิดดูรูปหรือวิดีโอแบบจอใหญ่ๆ โดยที่เนื้อหาที่เราดูมันไม่ไปแสดงบนหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเราเหมือนในโหมด Air casting ก็จะทำให้เรามีความเป็นส่วนตัวในการรับชมเนื้อหามากกว่า แต่เท่าที่ผมลอง ปัญหาของมันคือ เวลาจะดู YouTube มันดันล็อกอินไม่ได้ ส่งผลให้ผมไม่สามารถใช้เอกสิทธิ์ของความเป็นสมาชิก YouTube Premium ที่ไม่ต้องดูโฆษณาได้ ก็เลยทำให้แอบเซ็งๆ อยู่ไม่น้อย
ถ้าอยากได้ความสามารถเต็มเหนี่ยวของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเรา ดีที่สุดก็คือการใช้ Air casting mode นี่แหละ แต่ก็ต้องทำใจนิดนึงนะ เพราะด้วยความที่เป็น Screen mirroring mode เนี่ย ภาพหน้าจอก็จะแสดงทั้งบนสมาร์ทโฟนและในแว่น XREAL air เลย พูดง่ายๆ ดูหรือใช้งานอะไร ก็รู้กันหมดแหละ การควบคุมสมาร์ทโฟน ก็ยังต้องทำผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วยการแตะใช้งานเหมือนปกติ หรือไม่ก็ต้องเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สายเอา

ใครใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของ Samsung บางรุ่น ที่รองรับ Samsung Dex (ดูรุ่นที่รองรับได้จากเว็บไซต์ Samsung) จะมีทางเลือกมากกว่า เพราะเมื่อเปิด Samsung Dex แล้ว มันจะถูกมองเป็นการแสดงผลในอีกโหมดนึงที่คล้ายๆ กับเดสก์ท็อปของเครื่องคอมพิวเตอร์ และเราจะสามารถทำงานแบบ Multitasking ได้เหมือนคอมพิวเตอร์จริงๆ เลย
ด้วยความที่มันคือแว่น AR ผมก็อยากรู้ว่า ถ้าเกิดมีคนจะใช้เจ้าแว่นนี้ในสถานการณ์บางอย่าง เช่น ขับรถแล้วเปิดแผนที่ Google Maps เพื่อนำทางไปด้วย มันจะเวิร์กไหม โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมใดๆ ซึ่งคำตอบคือ
❌ ถ้าใช้โหมด Air casting ทั่วไป ไม่น่าเวิร์กเลย เพราะหน้าจอสมาร์ทโฟนมันจะบังเต็มตา ทำให้ทัศนวิสัยแย่มากๆ ถ้าขับรถละก็ อันตรายแน่นอน ในโหมดนี้ถ้าอยากจะใช้งานให้ปลอดภัย ต้องซื้ออุปกรณ์ XREAL Beam มาต่อเพิ่ม เพื่อจะได้เปิดการใช้งานแบบ Spacial display แบบ Sideview เพื่อย่อให้หน้าจอมีขนาดเล็กลง แล้วเอาไปวางตรงมุมสายตาได้ แต่นั่นก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณสี่พันกว่าบาท และศูนย์ไทยยังไม่เอาเข้ามาจำหน่ายนะ
✅ ถ้าใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของ Samsung ที่รองรับ Samsung Dex ถ้าเราไปตั้งค่าแบ็กกราวด์ให้เป็นสีดำสนิท และเปิด Google Maps แล้วย่อให้มีขนาดเล็ก เอาไปวางไว้ตรงมุมด้านบนของเดสก์ท็อป เปิดใช้งานใน Dark mode มันก็จะทำให้ทัศนวิสัยชัดเจน มองเห็นถนนได้ชัดแจ๋วเลย และก็ยังเห็นแผนที่ Google Maps ได้ชัด โดยไม่เกะกะสายตา ในเรื่องของการเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์และการพิมพ์ สามารถทำงานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ (Samsung Dex มันมีตัวเลือกให้ใช้หน้าจอของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็น Touchpad และคีย์บอร์ดได้) แต่โดยส่วนตัว ผมไม่แนะนำให้ใช้ในรูปแบบนี้นะ เพราะแม้ว่ายังเห็นเส้นทางได้ชัด แต่ทัศนวิสัยก็ไม่เต็ม 100% ครับ ตอนกลางวันยังไม่เท่าไหร่ ตอนกลางคืนมันจะแย่ลงไปอีกระดับนึงเลย เพราะตัวเลนส์แว่นมันเป็นสีชาในระดับนึงอยู่แล้ว (เพราะให้เห็นภาพที่ฉายบนเลนส์ได้ชัดขึ้น) นี่ยังไม่นับเรื่องที่ว่า เวลาเราอยากจะพิมพ์หรือเลือกอะไร ต้องใช้สมาร์ทโฟนเป็น Touchpad ที่ไม่สะดวกมากเวลาขับรถ มันจะอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นครับ
หมายเหตุ: เพราะการใช้งานแบบนี้อาจเป็นอันตรายได้ การทดสอบของผมจึงทำขึ้นโดยผมให้ภรรยาเป็นคนขับรถ และผมเป็นคนนั่งข้างคนขับ เพื่อดูว่าการใช้งานแบบต่างๆ มันโอเคไหม

พูดถึงการใช้งานกับ Samsung Dex อีกซักหน่อยครับ สำหรับคนที่อยากใช้งานแว่น XREAL air นอกเหนือจากการใช้เพื่อความบันเทิงเนี่ย คนใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของ Samsung ที่รองรับ Samsung Dex มันคือดีงามมากจริงๆ และเพราะว่าเราได้เห็นจอใหญ่ระดับร้อยกว่านิ้วในแว่น XREAL air แล้ว เราก็สามารถปรับขนาดฟอนต์ให้ใหญ่ขึ้นมากๆ ได้ด้วย ซึ่งพอเอามาใช้งานแล้วคือเลิศมาก ผมลองเอามาใช้ดู YouTube เล่นโซเชียลมีเดีย อ่านข้อความใน LINE ตอบอีเมล ฯลฯ คือ ไม่ต้องเพ่งมากเลย ขนาดไม่ได้ตัดเลนส์สายตามาเสริมนะ เพราะฟอนต์มีขนาดใหญ่เวอร์ พออยู่บนจอใหญ่ๆ ก็คือ เห็นชัดแจ๋วเลย
ตอนใช้งาน ผมก็เอาสมาร์ทโฟนของผม (Samsung Galaxy Z Fold 5) มาเป็น Touchpad เวลาจะพิมพ์อะไร ก็พิมพ์ไปบนนั้นแหละ สะดวกดี ผมจินตนาการออกเลย เวลาไปทำงานนอกสถานที่ แล้วไม่อยากพกอะไรไปเยอะ มีแว่น XREAL air กับ Samsung Galaxy Z Fold 5 คือน่าจะเอาอยู่เลย แต่ไม่เหมาะกับทำงานต่อเนื่องหนักหน่วงนะ เอาแบบ ง่ายๆ อ่านข้อมูล ตอบอีเมล คุยเรื่องงาน หรือประชุมออนไลน์ แบบนี้โอเคอยู่
ณ ตอนนี้ Nebula for Android เวอร์ชันล่าสุด สามารถปรับรีเฟรชเรตของแว่นได้สูงสุด 72Hz เท่านั้นครับ ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกแตกต่างอะไรไปจาก 60Hz ซักเท่าไหร่ แต่การกินแบตเตอรี่นี่แอบสูงแน่นอน เวลาใช้งานจริงๆ ถ้านอกสถานที่ก็คือจะใช้ได้แบบสั้นๆ ซักไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่งครับ แบตเตอรี่ระดับ 4,000mAh นี่หมดเอาง่ายๆ จากเต็ม 100% แต่เวลาผมใช้งานที่บ้าน ผมซื้อ Rokid Hub มาใช้ด้วย ก็จะทำให้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ไปด้วยพร้อมๆ กับใช้แว่น XREAL air ไปด้วยได้ เปิดโหมด Protect battery ของ Samsung เอาไว้ มันจะล็อตการชาร์จไว้ไม่เกิน 85% จากนั้นก็จะเป็นการจ่ายไฟแบบ Pass through แทน ก็จะช่วยถนอมแบตเตอรี่ได้เยอะเวลาใช้งานแว่น XREAL air เวลาออกนอกสถานที่ ถ้ากะว่าจะใช้ XREAL air นานๆ เลย ผมก็พกแบตเตอรี่ 10,000mAh ไปด้วยครับ หนักหน่อย แต่ถนอมแบตเตอรี่

ทีนี้มาดูการใช้งานบนโน้ตบุ๊กที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows 11 บ้างครับ ก็ต้องดาวน์โหลดโปรแกรม Nebula for Windows ไปติดตั้ง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่ Beta เท่านั้น และยังมีบั๊กอยู่ไม่น้อย ประสิทธิภาพการทำงานก็ดูจะยังไม่เต็มที่ดีนัก เช่นเคย ถ้าเกิดเราไม่ได้ติดตั้งโปรแกรม เจ้าแว่น XREAL air ก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนจอแสดงผลที่ต่อเพิ่มเข้าไปเท่านั้น แต่ถ้าเราติดตั้งโปรแกรม Nebula for Windows แล้ว สิ่งที่เราจะได้ก็คือ ความสามารถในการสร้างจอแสดงผลเสมือนได้ตั้งแต่ขนาด 16:9 1-3 จอ หรือจะสร้างขึ้นมาจอเดียวแต่เป็น 21:9 หรือ 32:9 ก็ได้ และยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะให้จอมีขนาดใหญ่แค่ไหน วางอยู่ห่างจากตัวเราแค่ไหน มีความโค้ง มีช่องว่างระหว่างแต่ละจอเท่าไหร่

แต่การสร้างภาพจอเสมือนเนี่ย มันคือกราฟิก 3D ครับ ฉะนั้นมันก็จะเป็นโหลดให้กับ GPU ค่อนข้างหนักมากทีเดียวนะครับ ผมเอามาลองใช้กับโน้ตบุ๊ก LG Gram 16 แค่สร้างภาพหน้าจอขึ้นมาเนี่ยก็กินไป 52% ของ GPU time แล้ว ถ้าเกิดเราเปิดโปรแกรมอื่นๆ ที่ต้องใช้ GPU หรือเอาหน้าต่างโปรแกรมไปแสดงผลในจอเสมือนที่สร้างขึ้นมา มันก็จะไปโหลดที่ GPU เพิ่มเข้าไปอีก ถ้าเอาไปเปิดดู YouTube ละก็ ภาพกระตุกเอาเรื่องเลย ดังนั้น หากจะใช้งานในโหมดนี้ ก็อยากจะแนะนำให้ใช้กับคอมพิวเตอร์ที่มีการ์ดจอแยกน่าจะดีกว่า (แต่ผมลองใช้กับ Intel NUC Phantom Canyon ของผมที่มีการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX2060 และโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Zephyrus G14 ที่ใช้ NVIDIA GeForce RTX4060 ดู พบว่าแม้ผมจะเปิด Nebula for Windows แล้ว ก็มองไม่เห็นจอเสมือนนะ แต่ยังใช้งาน XREAL air ในฐานะจอแยกเฉยๆ ได้ ผมเลยคิดว่า Nebula for Windows ตัว Beta นี่ ยังมีบั๊กกับการ์ดจอ NVIDIA GeForce แหงๆ) ถ้าอยากใช้งานแบบพอถูไถ แบบทำงานเอกสาร เช็กอีเมล อะไรแบบนี้ ทำงานแบบจอ 16:9 สองจอจะพอไหว เสียดายว่าผมคืน ASUS ROG ALLY ไปแล้ว ไม่งั้นคงได้ลองใช้งานบนนั้นดูว่าการ์ดจอมันไหวไหม ถ้าใช้งานจอเสริมแบบจำลอง

ผมลองทำงานโดยใช้แว่น XREAL air แล้วเปิดใช้งานแบบจอ 16:9 สองจอ เพราะการ์ดจอมันพอไหวแค่ประมาณนี้ครับ ถ้าทำสามจอเดี๋ยวกระตุกจนทำงานไม่รอดเอา จาก Nebula for Windows ที่ยังเป็นเวอร์ชันเบต้าอยู่ ผมได้ประสบการณ์ในการใช้งานมาประมาณนี้ครับ
👉 ตัวแว่นรองรับรีเฟรชเรตสูงสุด 120Hz นะครับ แต่ปกติมันจะอยู่ที่ 60Hz ถ้าอยากได้ 120Hz ต้องกดปุ่ม Brightness up (เพิ่มความสว่างของภาพ) ค้างไว้ประมาณ 6 วินาที (มันจะดังบี๊บเบาๆ 2 หน แต่ละหนจะอยู่ห่างกันเล็กน้อย ไม่ได้บี๊บติดๆ กันนะ) จากนั้นปล่อยปุ่ม แล้วภาพจะดับไปแป๊บนึงแล้วกลับมาติดใหม่ ก็จะเป็น 120Hz แล้วครับ

👉 เวลาที่ใช้งาน Nebula for Windows แว่นจะทำงานที่ 72Hz ได้ แต่ไปไม่ถึง 120Hz ครับ
👉 หน้าจอเสมือนที่ถูกสร้างขึ้น จะมีความละเอียด 1080p (1,920×1,080 พิกเซล) แต่หน้าจอหลักที่สะท้อนภาพมาจากหน้าจอของโน้ตบุ๊ก (หรือหน้าจอหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์) ยังมีความละเอียดเท่าเดิม เช่น จอโน้ตบุ๊ก LG Gram ของผมมัน 2.5K เวลาเห็นบน XREAL air ก็ยังเป็น 2.5K นะ
👉 แว่น XREAL air ใช้กับกราฟิกชิปแค่ Intel Iris Xe คือ รู้สึกได้ถึงความกระตุกของภาพแหละ แต่ก็ยังพอเอามาใช้ทำงานได้อยู่บ้าง แต่มันมีปัญหาอยู่ตรงที่เรื่องขนาดของฟอนต์ ที่แม้ว่าเราจะพยายามขยายด้วยการปรับสเกลของภาพแล้วก็ตาม แต่การทำแบบนี้ ก็จะทำให้การแสดงผลโปรแกรมหลายๆ ตัว มันป่วนๆ ครับ ถ้าใครมีปัญหาด้านสายตา (เช่น สายตาสั้นแบบผม) แนะนำให้ตัดเลนส์เสริมมาติดตั้งก่อน ภาพจะดีขึ้น แต่การใช้งานแว่น XREAL air และ Nebula for Windows กับคอมพิวเตอร์ที่กราฟิกชิปไม่แรง มันให้ประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
หวังว่าในอนาคต พอคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะดีขึ้นเอง และหวังว่าแว่น XREAL air รุ่นแรกแบบนี้ จะยังสามารถนำไปใช้กับโปรแกรม Nebula เวอร์ชันใหม่ๆ ได้อยู่นะ
แต่ถ้าเราใช้แว่น XREAL air ในฐานะจอแสดงผลแยกเฉยๆ ก็จะไม่กิน GPU time และไม่มีอาการกระตุกใดๆครับ ทว่าปัญหาก็คือ ภาพของจอเสริมมันจะลอยอยู่บนหน้าของเราเสมอ มันก็จะเอาไปใช้ในฐานะจอแยกโดยไม่ผ่านแอป Nebula คงสะดวกใจเท่าไหร่ (แม้ว่าภาพจะใหญ่ ไม่กระตุกก็ตาม) โดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่า Nebula for Windows นี่ยังต้องปรับปรุงอีกเยอะ โดยเฉพาะการ Optimize ให้กินทรัพยากร GPU น้อยลงกว่านี้

ผมตั้งข้อสังเกตนิดนึงตรงที่ เวลาเปิดใช้งาน Nebula for Windows ที่สร้างจอแสดงผลแบบเสมือนจริงขึ้นมาเนี่ย ถ้าเราไปดูใน Settings > System > Display แล้ว เราจะเห็นว่านอกจากจอแสดงผลที่เราใช้งานแล้ว มันจะมีจอแสดงผลแบบยาวๆ ถูกสร้างขึ้นมา แล้วเอาไปวางไว้ตรงมุมทางขวาอยู่ ถ้าเราเลือกแสดงผล 2 จอ มันก็จะมีจอที่สามงอกออกมา ถ้าเราเลือกแสดงผล 3 จอ ก็จะมีจอที่สี่งอกออกมา คำอธิบายคือ มันคือเทคนิคของการแสดงผลของ Nebula for Windows ครับ คือ ไอ้จอแสดงผลที่งอกออกมานี้ คือ ตัวจอแว่น XREAL air นั่นเอง ที่เอาไว้แสดงผลจอเสมือน 1-3 จอ ที่เราสร้างขึ้นมาครับ
แม้ว่าผมจะมี Mac mini M1 แต่เพราะว่ามันอยู่ที่ออฟฟิศ ผมก็เลยไม่ได้มีโอกาสลองใช้งาน Nebula for macOS นะ แต่คิดว่าถ้าใช้ได้ อะไรๆ ก็น่าจะลื่นไหลกว่า เพราะชิป Apple M1 กับ Apple M2 ประสิทธิภาพด้านกราฟิกมันดีกว่าชิปออนบอร์ดอย่าง Intel Iris Xe ที่ผมใช้บนโน้ตบุ๊ก LG Gram 16 ของผมเยอะ

อย่างที่เห็นว่าตัวแว่นมันมีลำโพงแบบ Spatial audio และไมโครโฟนอยู่ในตัว ก็ทำให้เราสามารถใช้งานจำพวกประชุมออนไลน์ได้ด้วยนะ เสียงของลำโพงอะค่อนข้างดีเลย สามารถให้เสียงแหลม เสียงกลาง เสียงย่ายต่ำ ได้ครบเครื่อง ไมโครโฟนก็ไวพอจะจับเสียงของเราในการพูดคุยได้ ผมเอามาใช้รับโทรศัพท์ และประชุมออนไลน์มาแล้ว โอเคอยู่
อย่างไรก็ดี เพราะลำโพงมันอยู่ข้างๆ หู ถ้าเราเปิดเสียงดังสุดๆ ในห้องที่เล็กและเงียบละก็ เสียงที่ออกจากลำโพงนี่แอบได้ยินชัดแจ๋วอยู่นะ คนรอบๆ ตัวเราคือได้ยินชัดเจน ไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่นะครับ อันนี้ต้องระวัง แต่ถ้าเกิดอยู่ในสถานที่จ้อกแจ้กจอแจ พื้นที่โล่งๆ อันนี้ก็หมดห่วงหน่อย คือ คนรอบตัวอาจจะไม่ทันได้ยินเสียงจากลำโพงของแว่นครับ
ผมไม่ได้ลองเล่นเกมนะ เพราะเครื่องเกมเดียวที่ผมมีคือ Nintendo Switch ซึ่งการจะเชื่อมต่อกับแว่น XREAL air เนี่ย ต้องทำผ่านพอร์ต HDMI เท่านั้น ซึ่งก็จะวุ่นพอสมควร เพราะ Nintendo Switch จะมีพอร์ต HDMI ก็ต้องต่อผ่าน Docking หรือ Dongle แล้วถ้าจะต่อกับแว่น XREAL air ก็ต้องมีอะแดปเตอร์ HDMI อีกที วุ่นตายชัก (เครื่องเกมอื่นอย่าง PS5 ก็คล้ายๆ กัน ต่างกันแค่ตัว PS5 มันไม่ต้องมี อะแดปเตอร์ HDMI เท่านั้นเอง

ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ในกรณีที่เราเป็นผู้ใช้งานที่มีปัญหาด้านสายตา เช่น สายตาสั้นหรือสายตายาว เวลาใช้งาน XREAL air ในบางครั้งมันก็จะมีปัญหาครับ เช่น ผมสายตาสั้น พอดูจอที่เห็นใน XREAL air ก็จะเบลอๆ ครับ เพราะจอมันจะเหมือนอยู่ห่างจากตาอยู่หลายเมตรอยู่ มันไม่ค่อยมีปัญหากับตอนดูหนังเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดจะใช้งานแบบผม ที่จะอ่านอีเมล ท่องเว็บ แชทคุยกับเพื่อน เล่นโซเชียลด้วย (ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า เล่นบนสมาร์ทโฟนเลยอาจจะง่ายกว่าไหม แต่บอกเลยนะครับ ถ้าใช้ Samsung Dex กับ XREAL air แล้ว มันคือประสบการณ์อีกแบบเลย) มันก็จะไม่สะดวกนัก
ก็ต้องใช้อุปกรณ์เสริม คือ เลนส์สายตาครับ ที่เขาก็มีให้มาในกล่องนี่แหละครับ เป็นเหมือนเทมเพลตที่เอาไว้ให้เราเอาไปให้ร้านตัดแว่นเขาตัดเลนส์มาให้ ส่วนเรื่องราคาจะถูกจะแพง ก็แล้วแต่เราไปตัดที่ไหนนะ เลนส์ที่ตัด ต้องเป็นเลนส์เหนียว (เพราะมันไม่มีกรอบ ถ้าไม่ใช่เลนส์เหนียว เดี๋ยวแตกง่าย) และย่อบางด้วย เพราะไม่งั้นเลนส์จะหนาไป แล้วจะขันน็อตยึดไม่ได้นะครับ

การติดตั้งเลนส์สายตา ก็คือ ต้องเอาอิปิ๊กกีต้าร์ที่แถมมาให้ในกล่องอะ ไปงัดเอาแป้นจมูกออกมาก่อนครับ จากนั้นเอาเลนส์แว่นมาประกอบร่างกับแป้นจมูก แล้วค่อยเอาใส่กลับเข้าไป มันก็จะได้ประมาณในรูปด้านบนครับ พอใส่เลนส์สายตาเข้าไปแล้วน้ำหนักก็จะเพิ่มขึันมาเล็กน้อย ประมาณ 4 กรัมครับ ผมลองชั่งน้ำหนักแล้ว จาก 82 กรัม มาเป็น 86 กรัม สวมแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันหนักอะไรครับ
สิ่งที่แว่น XREAL air ขาดหายไปในฐานะแว่น AR
น่าจะเป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ให้สมชื่อ Augmented Reality ครับ คือ โดยนิยามแล้ว พวกกราฟิกใดๆ ที่แว่นมันฉายขึ้นมา มันควรช่วยเสริมเข้าไปในความโลกแห่งความเป็นจริง แต่การจะทำแบบนั้นได้ มันต้องมีกล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่มาป้อนข้อมูลให้ซอฟต์แวร์ แต่แว่น XREAL air มันยังขาดสิ่งนี้อยู่ สิ่งเดียวที่มันคล้าย AR สุดก็คือ การเปิด Google Maps ให้แสดงแผนที่ระหว่างขับรถนั่นแหละ
ถ้าแว่น XREAL air (หรือรุ่นถัดๆ ไป) มันมีกล้องด้วย มันจะช่วยให้การประยุกต์ใช้แว่นมีความหลากหลายมากกว่านี้อีกเยอะครับ
บทสรุปการรีวิวแว่น XREAL air
เอาจริงๆ แว่น XREAL air นี่ตอบโจทย์ผมเรื่องนึงคือ ผมแค่ต้องการจอแสดงผลโง่ๆ อันนึงเอาไว้เสียบเพื่อใช้งานสมาร์ทโฟนให้มันมีจอใหญ่ๆ ขึ้นมาเฉยๆ ไม่ต้องมีลูกเล่นอะไรก็ถือว่าโอเค แต่อีกรูปแบบการใช้งานที่ผมต้องการ คือ เวลาพกโน้ตบุ๊กไปทำงานนอกสถานที่ จะได้เหมือนมีจอเสมือน 3 จอเอามาให้ทำงานแบบ Multitasking ได้สะดวกๆ โดยไม่ต้องพกจอ Portable ไป การพกแว่นพร้อมกล่องน้ำหนัก 207 กรัม มันเบากว่าพกจอ Portable ไปอีก 2 เจอเยอะ แต่มันก็ยังมีข้อจำกัด คือ พอใช้กับโน้ตบุ๊กที่เป็นการ์ดจอออนบอร์ดอย่าง Intel Iris Xe ประสิทธิภาพในการประมวลผลมันก็ยังไม่ดีพอที่จะสร้างจอภาพเสมือน 3 จอได้ลื่นๆ (ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากการ์ดจอไม่แรงอย่างเดียว หรือว่าโปรแกรมยังไม่สมบูรณ์) และพอจะใช้กับโน้ตบุ๊กการ์ดจอแรงๆ อย่างพวก NVIDIA GeForce ก็ดันมีบั๊ก ใช้งานไม่ได้ซะอีก
ในตอนนี้ ถ้าจะซื้อมาใช้ ผมแนะนำว่าใช้บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของ Samsung จะดูดีสุดนะครับผมว่า ยิ่งเอามาใช้ดูคอนเทนต์ต่างๆ ก็ยิ่งโอเค หรือจะเอามาใช้กับเครื่องเล่นเกม เช่น Steam Deck หรือ ASUS ROG ALLY ที่รองรับการต่อจอแสดงผลภายนอกผ่านพอร์ต USB-C ก็จะทำให้เราได้จอแสดงผลสำหรับเล่นเกมขนาดใหญ่มากๆ อันนี้ก็โอเค แต่การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์บางอย่างจะแอบวุ่นๆ หน่อย เช่น PS5 หรือ Nintendo Switch เนี่ย จะต้องต่อผ่านพอร์ต HDMI ซึ่งก็ต้องมีอะแดปเตอร์อีก แอบวุ่นอะล
ใครสนใจ อยากซื้อแว่นศูนย์ ก็คลิกลิงก์ด้านล่างได้โลด (แว่นนี้มีร้านหิ้วมาขายเยอะอยู่ และเพราะของศูนย์มาขายแล้ว เขาก็เลยต้องลดราคาตัวหิ้วมาล้างสต็อกด้วย ใครอยากซื้อถูกแต่ไม่สนประกัน ก็ไปซื้อของหิ้วได้นะ ไม่ได้ว่ากัน)