เมาส์นี่เป็นอุปกรณ์ที่หาพัฒนาการเจ๋งๆ ยากมากครับ หลังจากที่เคยใช้ Mycestro ที่เป็น Air mouse ซึ่งผมใช้แล้วเวิร์กมาก แต่มันก็มีข้อเสียหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องอายุแบตเตอรี่ เพราะมันไม่มีสวิตช์ปิด ถ้าไม่ได้ใช้นานๆ แบตเตอรี่ก็หมด เสื่อมไปซะงั้น นอกจากนี้ก็ยังต้องใช้คู่กับ Dongle ซึ่งพอ Dongle เสีย ก็หมดกัน แถมราคายังแพงอีกตะหาก (ปัจจุบันไม่มีวางจำหน่ายแล้ว) และเมื่อครึ่งปีก่อน ผมไปเจอเจ้า CheerPod ทาง Indiegogo ผมก็ไม่ลังเลเลยที่จะไปลงขันแบ็กโปรเจ็กต์นี้ เพราะผมรู้สึกชอบในไอเดียของการออกแบบมาก และในระหว่างที่ผมเที่ยวทริปเหนือสิ้นปีอยู่ เจ้านี่มันก็มาส่งถึงบ้านครับ เลยถือโอกาสเอามาลองใช้ แล้วรีวิวให้อ่านกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
CheerPod ตัวนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากใครทั้งสิ้น ไปแบ็กเอาจาก Indiegogo เอาเอง รอคิวเข้ามาส่งตามลำดับ และเพิ่งได้มาลองหมาดๆ เลยด้วย ไม่ต้องถามว่าขายที่ไหน ยังหาที่ขายไม่เจอ แต่น่าจะยังไปแบ็กทาง Indiegogo ได้อยู่ ลองไปเช็กดู
ก่อนอื่น อยากให้ดูวิดีโอแนะนำตัว CheerPod นี่ก่อน ตอนที่ผมได้ดูคลิปนี้ ผมตัดสินใจได้รวดเร็วมากเลยว่าจะแบ็กโปรเจ็กต์นี้ครับ มันดูดีมาก สมแล้วที่เป็น reddot winner 2020 ครับ ถ้าดูแค่นี้จะรู้เลยว่าจุดเด่นของมันคือ เล็ก เบา พกพาสะดวก ใช้งานเป็นเมาส์ก็ได้ เป็น Air mouse ก็ได้ รองรับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพีซี สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ใช้ได้ทั้ง Windows, macOS, iOS และ Android
ปัญหาก็คือ พวก Input device เนี่ย มีคนพยายามจะสร้างนวัตกรรมเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วทำไม่ได้ตามที่โม้เอาไว้ ผมลองมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Leap Motion หรือ Myo ไม่เวิร์กเหมือนที่เขาโม้ไว้ซักอันครับ ทำไมนะเหรอ ก็เพราะว่าพวกนี้เป็นการสร้าง Input แบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นอะไรที่ระบบปฏิบัติการในปัจจุบันมันไม่รองรับ บางทีก็ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ตรวจจับกันได้ง่ายๆ โอกาสผิดพลาดเยอะ ผลก็คือ พอนำไปใช้งานจริง วุ่นวายชิบหายเลย
และผมก็พบว่าพวก Input device เนี่ย ถ้ายังยึดตามแบบเดิมที่ระบบปฏิบัติการรองรับ แต่เปลี่ยนวิธีการรับ Input แทน มันกลับทำงานได้ดี และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมชอบ Mycestro มาก เพราะมันยังทำหน้าที่เป็นเมาส์เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการรับ Input มาเป็น Gyro sensor แทน และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกที่จะแบ็กโปรเจ็กต์ CheerPod ครับ เพราะเจ้านี่มันยังคงทำหน้าที่เป็นเมาส์เหมือนเดิม เพียงแต่รับ Input จากสองช่องทาง คือ ถ้าเป็น Ground mode ก็จะรับผ่าน Optical sensor เหมือนเมาส์ปกติเลย ส่วน Air mode นั้นจะทำหน้าที่คล้ายๆ TouchPad แทน ความแตกต่างอยู่ตรงที่ดีไซน์ของตัวอุปกรณ์ครับ
แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้วางจำหน่ายจริง แต่ผมว่าสิ่งที่ทางทีม CheerDots ที่เป็นผู้พัฒนาเจ้าสิ่งนี้ เขาได้ทำเอาไว้ดีพอสำหรับการวางจำหน่ายจริงนะครับ สนนราคาเต็มเขาว่าคือ $99 (ประมาณสามพันกว่าบาท อยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยน) แต่แบ็กจาก Indiegogo นี่ประหยัดไปได้เกือบครึ่ง เหลือ $54 ผมว่าไม่แพงเลย ราคาพอๆ กับเมาส์ของ Microsoft ที่ซื้อมาใช้ (แต่ถ้าใครแบ็กทันช่วงแรกๆ นี่แค่ $49 เองด้วย) ภายในกล่องเนี่ยก็จะมีตัว CheerPod กล่องใส่แบบ Hard case สายชาร์จแบบ USB-C ความยาวแค่ 18.5 เซ็นติเมตร และคู่มือภาษาอังกฤษ มาให้
ตัว CheerPod นี่จะเป็นเหมือนกล่องขนาดเล็กๆ ความยาว 67 มิลลิเมตร กว้าง 36 มิลลิเมตร และหนา 10.8 มิลลิเมตร หนักเพียง 33 กรัมเท่านั้น ถ้าไม่ใส่ Hard case ก็ใส่กระเป๋าเสื้อยังได้สบายๆ เลย วัสดุที่นำมาใช้ประกอบเป็นอลูมิเนียมเกรดที่ใช้บนพวกอากาศยานครับ เขาโม้มาแบบนั้นนะ

ดีไซน์จริงๆ ก็จะเหมือนกับเอาเมาส์ตัวอ้วนๆ มาตัดออกให้เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นปุ่มคลิกซ้ายและคลิกขวาอะ ด้านบนนี่จะเป็นปุ่มคลิกซ้ายและคลิกขวา ที่ทำหน้าที่เป็น TouchPad ที่รองรับ Multitouch ด้วย

ส่วนด้านล่าง จะเป็นแผ่นพลาสติกสีดำ ยาวๆ เล็กๆ สองอัน ที่เอาไว้ทำให้เวลาใช้แบบ Ground mode เป็นเมาส์ มันเคลื่อนตัวได้ลื่นๆ ตามพื้นผิวต่างๆ
อีกสองด้าน ด้านนึงจะเป็นพอร์ต USB-C สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ และไฟ LED แสดงสถานะสี่สี แดง เขียว น้ำเงิน เหลือง เอาไว้บอกสถานะต่างๆ (มีรายละเอียดในคู่มือที่ให้มา) อีกด้านจะเป็นช่องสำหรับ Laser pointer และสวิตช์สำหรับปิดเครื่องและเลือกโหมด โดยหากด้านไปทางช่อง Laser pointer จนสุดจะเป็นการปิด CheerPod ถ้าให้ตำแหน่งสวิตช์อยู่ตรงกลางก็จะเป็น Ground mode และหากด้านไปสุดอีกฝั่งก็จะเป็น Air mode
การใช้งานไม่ยากครับ ถ้าเป็นการเปิดใช้ครั้งแรก มันก็จะอยู่ในโหมดการจับคู่อุปกรณ์เลย เราก็แค่เปิด Bluetooth settings ของอุปกรณ์เรา แล้วหาอุปกรณ์ชื่อ CheerPod ให้เจอ แล้วจับคู่ แค่นี้ก็พร้อมใช้แล้ว เจ้านี่ใช้ Bluetooth 5.0 BLE จับคู่ไวใช่ย่อยอยู่ แต่ถ้าจะจับคุ่กับอุปกรณ์ใหม่ ก็ปิด CheerPod ซะ จากนั้นกดปุ่มเมาส์ตรงกลางค้างเอาไว้ แล้วเปิด CheerPod เราจะเป็นไฟ LED สีฟ้าติดกระพริบ จากนั้นก็ทำการจับคู่อุปกรณ์ได้แล้ว
ผมลองงานดู บนอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งผมพบว่า
• ใช้กับ Windows PC พบว่าทุกอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไร พวก Gesture ต่างๆ ทำงานได้ตามคู่มือเป๊ะๆ ทั้งใน Groud mode และ Air mode เรียกว่าทำได้ดีมาก คลิกซ้าย คลิกขวา ไม่มีปัญหา ปุ่มตรงกลางที่ทำหน้าที่เป็น Scroll wheel ก็แตะแล้วลากขึ้นลงได้สบายๆ ไม่ติดขัดอะไรเลย ทำให้ผมนึกถึงตัว Yoga Mouse ของ Lenovo เลยแหละ แถมตัว CheerPod ยังรองรับการทำ Pinch zoom อีกนะ
• ใช้กับ macOS ผมว่าทำงานได้ตามแบบที่เขาดีไซน์ไว้ราวๆ 95% เลย พวก Gesture ต่างๆ ใช้งานได้เกือบหมด ยกเว้นอันที่เขาบอกว่าเป็น Look Up/Data Detectors นี่ผมนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร ลองแตะพร้อมๆ กันสามนิ้วแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรขึ้นมา ส่วนการแตะพร้อมๆ กันสามนิ้วติดๆ กันสองที เพื่อเรียก Launch Pad นี่ ผมพบว่าต้องไปเซ็ตใน System Preferences เพื่อให้ใช้ F4 เป็น Keyboard shortcut ก่อน ถึงจะทำตาม Gesture ที่ระบุในคู่มือได้ (วิธีการเซ็ตมีบอกไว้ในคู่มือ) แถมตัว CheerPod ยังรองรับการทำ Pinch zoom อีกนะ … อ้อ! macOS จะมอง CheerPod เป็นคีย์บอร์ดวุ้ย คงเพราะปุ่มบางปุ่ม หรือ Gesture บางอย่างของ CheerPod มันคือการจำลอง Keyboard shortcut อะ
• ใช้กับระบบปฏิบัติการ Android (สมาร์ทโฟน) ก็คิดซะว่ากำลังใช้เมาส์อยู่ละกัน คลิกซ้ายก็คือแตะ คลิกขวาก็คือ Back ยังสามารถ Scroll ได้ด้วยปุ่มตรงกลาง แต่ในบางหน้าจอ กลับต้องใช้การคลิกซ้าย แล้วลากเมาส์เอาแทน ยังถือว่าทำได้ไม่เต็ม 100% แฮะ
• ใช้กับระบบปฏิบัติการ iOS (iPad Pro) จะแอบมึนๆ หน่อย ต้องใช้ Gesture เยอะเลย คลิกซ้ายก็คือแตะเหมือนเดิม คลิกขวาก็คือคลิกขวา แต่การจะกลับไปยังหน้า Home ต้องใช้ Gesture เป็นการแตะสี่นิ้วพร้อมกันแล้วลากตัว CheerPod ขึ้นหรือลง (ใน Ground mode) หรือ แตะสองนิ้วแล้วลากขึ้นหรือลงบน TouchPad (ใน Air mode) จะใช้งานต้องลองทำโน่นทำนี่หลายๆ อย่างจนคุ้นชินก่อนละผมว่า

ผมได้ลองใช้ทั้ง Ground mode และ Air mode แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า CheerPod นี่มันออกแบบมาดีมาก และใช้งานได้ค่อนข้างดีทีเดียว กับทุกอุปกรณ์ เรียกว่าเป็นเมาส์ที่ถูกออกแบบมาให้รองรับอุปกรณ์พกพาในปัจจุบันทุกรูปแบบที่แท้ทรู และยิ่งใครที่ต้องไปทำงานจำพวกนำเสนอบ่อยๆ การใช้เจ้านี่ในฐานะ Air mouse จะทำให้เราใช้มันเป็น Presentation tool คอยคลิกเปลี่ยนสไลด์ได้เลย แถมมันยังมี Laser point ในตัวอีกตะหาก
อย่างที่บอก มันเป็นทุกอย่างให้เราแล้ว และการใช้งาน ไม่ต้องติดตั้งไดรเวอร์อะไรเลย เพราะฟีเจอร์ทุกอย่างที่มีใน CheerPod มันคือ ฟีเจอร์ที่ถูก Built-in ไว้ในระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว เจ้านี่เลยเป็นอุปกรณ์ที่ Plug & Play พร้อมใช้เอามากๆ และการชาร์จครั้งนึงใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ราวๆ 20 วันเลยทีเดียว เขาว่างั้นนะ แต่สำหรับผม สัปดาห์นึงหยิบมาชาร์จทีก็โอเคแล้ว

และผมรู้สึกว่าการใช้งานมันค่อนข้างจะถูกหลักการยศาสตร์ประมาณนึงเลยนะ เพราะตัว CheerPod มันหนาแค่ 10.8 มิลลิเมตร ไม่ได้ทำให้ข้อมือของเราต้องบิดมากจนเกินไป มันเหมือนการเอามือวางไว้บนโต๊ะเฉยๆ เลย และหากเราต้องการแค่ควบคุมโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต เพื่อเราจะได้ท่องเว็บ อ่านโน่นนี่สะดวกๆ การใช้ Air mode นี่เจ๋งมาก
แต่มันก็ไม่ใช่ไม่มีข้อจำกัดนะ มีบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ คือ
• สวิตช์การเลือกโหมด มันยังเลื่อนแอบยากนิดนึง บางทีก็เลื่อนเกินความต้องการไปซะงั้น เช่น ผมอยากจะเปิดแค่ Ground mode แต่ดันเผลอเลื่อนไปจนสุด กลายเป็น Air mode เลย ผมรู้สึกได้ว่าสวิตช์ตัวเนี้ย ถ้าเลื่อนบ่อยๆ อาจจะพังได้ไว ไม่รู้ว่าผู้ผลิตเขาได้ทดสอบมาดีแค่ไหน
• CheerPod ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถ “จดจำ” อุปกรณ์ที่จับคู่ได้เลย เวลาจะใช้กับอุปกรณ์ใหม่ ต้องจับคู่ใหม่ทุกครั้ง นั่นส่งผลให้ไม่สะดวก เพราะต้องไปไล่ลบการจับคู่เดิมทิ้ง แล้วจับคู่ใหม่ ใครที่มีอุปกรณ์หลายชิ้น แล้วอยากจะใช้คู่กับ CheerPod นี่ต้องทำใจเลยนะ คือ มันไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ก็ยังน่ารำคาญ
• ถ้าตัว CheerPod จะสามารถบอกระดับแบตเตอรี่ได้ด้วย จะยิ่งดี ซึ่งจริงๆ มันก็มีไฟ LED บอกสถานะอยู่แล้ว แค่เพิ่มปุ่มที่สามารถเอาไว้ตรวจสอบระดับแบตเตอรี่ แล้วแสดงออกมาเป็นไฟ เช่น เขียว คือ ยังมีเยอะอยู่ เหลือ คือ เหลือกลางๆ แล้ว แดง คือ รีบชาร์จเหอะ อะไรแบบนี้ จะเลิศมาก แต่ก็นะ เขาคงคิดว่าก็ชาร์จแบตเตอรี่แค่ 1 ชั่วโมง ก็ใช้ได้ตั้ง 20 วันแล้วนิ ไม่ต้องซีเรียสเรื่องแบตเตอรี่ก็ได้ละมั้ง
บทสรุปการรีวิว CheerPod
บอกเลยว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปจริงๆ เอาเจ้านี่ไปใช้ในฐานะเมาส์พกพา เวลาต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ได้ดีมากๆ ยังไงซะคนเราก็ถนัดการใช้เมาส์มากกว่าใช้ TouchPad อยู่แล้ว ยิ่งเป็นเมาส์ที่รองรับ Multitouch gesture อีก ตัวเดียว ใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ที่เรามีเลยคือดีงาม จะเสียก็แค่ตรงที่มันไม่ยอมจำว่าได้เคยจับคู่อะไรไว้บ้าง แหม ถ้าทำให้จำได้ซัก 4 อุปกรณ์นี่จะดีมากเลย
เสียดายตรงที่ การจะหาซื้อเจ้านี่ในตอนนี้ คงทำได้แค่ผ่าน Indiegogo เท่านั้น และทางผู้ผลิตเขาก็วุ่นอยู่กับการจัดส่งให้ Backer ทั้งหลายอยู่ ใครอยากจะซื้อ ก็ต้องไปต่อคิวกันละ ในอนาคต ถ้ามันผลิตและจำหน่ายอย่างเป็นทางการจริงๆ และมีคนนำเข้ามาขายคงจะดี เพราะผมมองว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่พร้อมจะจ่ายเงินราวๆ สามพันกว่าบาทเพื่อซื้อมันอะ มันคุ้มจริงๆ นะ