Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) โน้ตบุ๊กทรงพลัง ด้วย Intel Core i9 Gen 13th และการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4070
รีวิว

รีวิว ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) โน้ตบุ๊กทรงพลัง ด้วย Intel Core i9 Gen 13th และการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4070

นานๆ จะได้จับของแรงซักที แต่ในยุคที่ Content creator เฟื่องฟูแบบนี้ โน้ตบุ๊กที่จะใช้ก็ต้องสเปกระดับนี้กันละครับ ถึงจะทำงานได้สะใจ กับ ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ที่มาพร้อมกับ CPU Intel Core i9-13980HX แรม 32GB แบบ DDR5 ความจุหนำใจ 1TB เป็น SSD NVME PCIe 4.0 พร้อมจอ OLED ขนาด 16 นิ้ว 16:10 ความละเอียดระดับ 3.2K 120Hz และการ์ดจอแรงส์ NVIDIA GeForce RTX4070 ในราคาเฉียดแสนปริ่มๆ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาลองใช้เพื่อรีวิวให้ได้อ่านกันครับ

แกะกล่องออกมาดูว่า ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ให้อะไรมาบ้าง

กล่องใหญ่เวอร์มากครับ นั่นเพราะภายในกล่อง มันประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ เลย คือ ตัวกล่องโน้ตบุ๊ก ที่จะมีโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) แล้วก็จะมีกล่องอีกใบใส่อะแดปเตอร์ขนาดบิ๊กเบิ้ม 240 วัตต์ เพราะโน้ตบุ๊กตัวนี้ CPU + GPU TDP สูงสุดถึง 150 วัตต์ เลยทีเดียว โดยในกล่องนี้ก็จะมี ASUS Pen 2.0 แถมมาให้ด้วย และสุดท้ายก็คือ กระเป๋าใส่โน้ตบุ๊กครับ แต่รูปด้านล่าง ผมไม่ได้เอามาวางถ่ายภาพให้ดูทั้งหมดนะ มีแค่ตัวกล่องใส่โน้ตบุ๊ก ตัวโน้ตบุ๊ก และอะแดปเตอร์เท่านั้นเอง

อุปกรณ์ต่างๆ ของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ตัวโน้ตบุ๊กมีขนาดใหญ่มาก เพราะเป็นแบบจอ 16 นิ้วเนาะ หน้าจอแสดงผลเป็นแบบ OLED ความละเอียด 3.2K อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 ที่ดูจะเป็นอัตราส่วนมาตรฐานในปัจจุบันแล้ว ความละเอียด 3,200×2,000 พิกเซล รีเฟรชเรตที่ 120Hz ความสว่างสูงระดับ 500 nits และขอบเขตสี DCI-P3 100% ได้รับ PANTONE Validated ด้วย โดยรวมคือสวยมาก และมีกล้องเว็บแคมความละเอียด Full HD 1080p พร้อม IR camera ที่รองรับ Windows Hello (ยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า) อีกด้วย

จอของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ตัวเครื่องในส่วนคีย์บอร์ด ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กจอ 16 นิ้ว คีย์บอร์ดก็เลยเป็นแบบที่เต็มรูปแบบมากกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป คือ มีปุ่ม Numpad เพิ่มเข้ามาด้วย และมีปุ่มแบบหมุน ASUS Dial มาให้ใกล้ๆ กับ Touchpad ขนาดใหญ่ของตัวโน้ตบุ๊ก ซึ่ง ASUS Dial แบบฮาร์ดแวร์นี่คือจุดเด่นของโน้ตบุ๊กตระกูล ProArt นี่ครับ

ด้านใต้ของ Touchpad จะมีไฟ LED อยู่ 3 ดวง เอาไว้แสดงสถานะของการทำงานของตัวเครื่อง การชาร์จแบตเตอรี่ และการทำงานของ Storage ครับ

ส่วนคีย์บอร์ด Touchpad และ Numpad ของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ข้อสังเกตของผมอย่างนึงเกี่ยวกับปุ่ม Numpad ก็คือ เลย์เอาต์มันแปลกๆ เพราะพวกเครื่องหมายบวกลบคูณหารมันโดนย้ายไปอยู่ด้านบน และปุ่มเลข 0 ก็ดันถูกย้ายไปอยู่มุมด้านล่างซ้ายมือแทน และปุ่ม Enter ที่ปกติจะอยู่ถัดจาก Numpad ออกไป ก็โดนย้ายมาอยู่ใต้เลข 3 แทน ผมเดาเลยว่า ใครที่เคยชินกับปุ่ม Numpad แบบทั่วๆ ไป มาเจออะไรแบบนี้ มีพิมพ์ผิดกันบ่อยอะ กว่าจะชิน

ส่วน Numpad ของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ด้านใต้ของตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ดูเก๋มาก คือ นอกจากช่องระบายความร้อนที่ทำหน้าที่ดูดอากาศเข้ามา ที่มีอยู่เยอะมาก กินพื้นที่เกือบ 50% ของด้านใต้ของตัวโน้ตบุ๊กเลย ก็มีตัวพิมพ์นูนชื่อรุ่น Studiobook ด้วย เก๋ๆ

ด้านใต้ของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ด้วยความที่โน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ตัวนี้สเปกแรงมาก มันย่อมต้องร้อนมากเป็นธรรมดา ช่องระบายความร้อนมันก็เลยมีรอบตัวเลยครับ และพวกพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ มันก็เลยต้องกระจายไปอยู่รอบตัวตามพื้นที่ว่างด้วยเช่นกัน ไม่งั้นมันก็จะดูแออัดๆ อะ ตรงส่วนที่เป็นมุมด้านหน้าซ้ายและขวา จะมีลำโพงสเตริโอของตัวเครื่องอยู่ ลำโพงนี้ได้รับการจูนโดย harman/kardon ครับ

ด้านหลังของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

เริ่มจากด้านหลัง เราจะเห็นช่องระบายความร้อนทั้งด้านซ้ายและขวา แต่ตรงกลางเนี่ย เราก็จะเห็นพอร์ต HDMI 2.1 มาให้พอร์ตนึง และช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC-In แบบหัวกลมอีกพอร์ต ส่วนด้านซ้ายของตัวเครื่อง (ด้านขวาในรูป) เราจะเห็นพอร์ต RJ45 หรือชาวบ้านเรียกพอร์ต LAN ด้วย เป็นแบบ Gigabit LAN ครับ

ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ก็มีช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่อีกเช่นกัน และมีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) มาให้พอร์ตนึง ช่อง 3.5mm Combo audio jack อีกช่อง กับสล็อตอ่าน SD card เพราะโน้ตบุ๊กตัวนี้ออกแบบมาสำหรับงานจำพวก Content และกราฟิกเนาะ ก็มีเอาไว้ใส่ SD card เผื่อพวกช่างภาพ ช่างวิดีโอ ถ่ายโอนไฟล์งานจากกล้องได้สะดวกๆ

ด้านขวาของตัวเครื่อง ก็มีช่องระบายความร้อนที่ใหญ่กว่าด้านซ้ายอีกนิดนึงด้วย 🤣🤣 อะไรจะเยอะรอบตัวขนาดนี้ครับพี่ แต่ ASUS ก็ยังหาพื้นที่ใส่พอร์ต USB-A แบบ USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) กับพอร์ต Thunderbolt 4/USB-C มาให้อีกสองพอร์ต ซึ่งรองรับทั้งการแสดงผลและการชาร์จแบตเตอรี่ด้วย และสุดท้ายคือช่องสำหรับเสียบ Kensington lock เอาไว้กันโน้ตบุ๊กถูกใครอุ้มหายไป สำหรับใครที่ต้องเอาโน้ตบุ๊กไฮเอนด์ระดับนี้ไปวางโชว์ตามงานต่างๆ

ไอ้ความเยอะของช่องระบายความร้อน มันก็เพราะเป็นเทคโนโลยี ASUS IceColl Pro ซึ่งเป็น Thermal technology ของทาง ASUS เขาครับ เพื่อให้สามารถระบายความร้อนของตัวโน้ตบุ๊กได้ทันเพราะทั้ง CPU และ GPU มันร้อนแรงซะเหลือเกิน

เครดิต: ASUS

นอกจากนี้ การระบายความร้อนของตัวโน้ตบุ๊ก มันยังมีจุดเด่นอีกสองเรื่อง คือ เทคโนโลยีโลหะเหลว (Liquid metal technology) ที่ช่วยให้การกระจายความร้อนมันเกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด กับการออกแบบตัวแป้นคีย์บอร์ดให้มีพื้นที่ช่วยดูดอากาศเข้ามาระบายความร้อนได้ด้วย ไม่ใช่แค่ดูดอากาศมาจากเฉพาะช่องระบายความร้อนด้านใต้ตัวเครื่อง

โน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) เมื่อกางออก 180 องศา

เวลาเป็นพวกโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงแบบนี้ ขนาดใหญ่แบบนี้ ส่วนใหญ่ที่ผมเจอคือ มันจะกางหน้าจอได้ค่อนข้างในมุมที่จำกัด แต่กับตัว ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) นี่ไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ มันกางได้เต็มเหนี่ยว 180 องศาเลยครับ แอบชอบมาก เพราะผมเป็นคนที่ชอบให้โน้ตบุ๊กมันกางได้ 180 องศาอยู่แล้ว คือ บางทีก็ไม่ได้ใช้ทำอะไรหรอก แต่ในบางลักษณะการใช้งานของผม ผมก็อยากให้มันกางได้มากๆ หน่อยอะ เช่น ตอนที่จะต้องแชร์ให้เพื่อนร่วมงานได้เห็นหน้าจอกันทั้งโต๊ะ อะไรแบบนี้ จะได้สุมหัวกันดูได้

ดีไซน์ของ ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) นี่ ดูเรียบง่าย แต่ดูดีมากๆ เลย ตัวผิวของโน้ตบุ๊ก มีการเคลือบสารป้องกันรอยนิ้วมือด้วย ซึ่งผมลองดูแล้ว ถ้าเป็นการจับแบบปกติ ก็จะไม่มีรอยนิ้วมือติดครับ แต่ถ้ามือมันมากๆ เช่น ไปจับอาหารมาก่อน หรือ เป็นคนที่มีผิวมันกว่าปกติ (แบบผม) ความมันที่เกินเบอร์ไปมาก ก็ยังทำให้เกิดคราบบนพื้นผิวโน้ตบุ๊กได้อยู่ดีนะ บอกเอาไว้ก่อน

สิ่งที่ต้องทำใจเวลาซื้อโน้ตบุ๊กไซส์ขนาดนี้และประสิทธิภาพสูงขนาดนี้ก็คือเรื่องของน้ำหนักครับ โน้ตบุ๊กตัวนี้หนักประมาณ 2.4 กิโลกรัม เรียกว่าหนักใช่ย่อยอยู่ แต่มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะเราต้องแบกรับเอาระบบระบายความร้อนของมันละนะ และนี่ยังไม่นับตัวอะแดปเตอร์ขนาดเขื่องอีกนะครับ

ทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ด้วย Benchmark ต่างๆ ก่อน

ก่อนที่จะไปรีวิวประสบการณ์ในการใช้งาน ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงสเปกและประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) นี่ก่อนครับ มาว่ากันที่สเปกก่อน ก็อ่านตามด้านล่างนี้ครับ

สเปกรายละเอียด
หน่วยประมวลผลIntel® Core™ i9-13980HX Processor 2.2 GHz 24-core 32-threads
กราฟิกIntel UHD Graphics
NVIDIA GeForce RTX4070 (8GB GDDR6)
หน่วยความจำ32GB (16GB DDR5 SO-DIMM×2) อัปเกรดขึ้นไปได้สูงสุดก 64GB
สื่อบันทึกข้อมูลSSD M.2 NVMe PCIe 4.0 1TB
สามารถอัปเกรดได้เพิ่ม เพราะมีสล็อต M.2 2280 PCIe 4.0×4 อีก 1 ช่อง
จอแสดงผล16 นิ้ว OLED 3.2K 3,200×2,000 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผล 16:10
รีเฟรชเรต 120Hz จอสัมผัส 100% DCI-P3
PANTONE® Validated, TÜV Rheinland certified
กล้องเว็บแคม 1080p พร้อม IR camera รองรับ Windows Hello และไมโครโฟนแบบสเตริโอ
ระบบเสียงลำโพงสเตริโอ เสียงโดย harman/kardon
พอร์ตการเชื่อมต่อ2×USB 3.2 Gen 2 Type-A
2×Thunderbolt 4
1×HDMI 2.1
1×3.5mm Combo audio jack
1×RJ45 (Gigabit LAN)
1×DC-In
1×SD Express 7.0 card reader
การเชื่อมต่อไร้สายBluetooth 5.3
Wi-Fi 6E (802.11ax) dual-band 2×2
แบตเตอรี่90Wh 4-cell Li-ion
น้ำหนัก2.4 กิโลกรัม

เรียกว่า ให้สเปกมาแบบจัดเต็มสมราคา 99,990 บาท (แสนนึงทอนสิบบาท ว่างั้น) ความที่มันเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับ Content creator ต้องยอมรับเลยว่าไม่มีกั๊กในเรื่องพอร์ตการเชื่อมต่อครับ ทั้ง USB-A ที่รองรับ USB 3.2 Gen 2 ที่ให้แบนด์วิธ 10Gbps และ Thunderbolt 4 อีก แถมให้มาอย่างละ 2 พอร์ต

ทีนี้มาลองเอาพวกโปรแกรม Benchmark ต่างๆ มันวัดประสิทธิภาพกันดูบ้างครับ ขอเริ่มจาก CrystalDiskMark 8.0.4 ก่อนเลย เพื่อดูว่า SSD ที่เขาให้มา ที่เขาบอกว่าเป็น Performance SSD นี่เป็นยังไงบ้าง ก็ได้ความเร็วปรี๊ดปร๊าดมากครับ การเขียนและอ่านแบบ Sequential นี่ได้สูงระดับ 7,000MB/s และ 5,000MB/s ตามลำดับเลย เร็วเวอร์วัง และด้วยความที่มันยังมีสล็อต SSD M.2 NVMe แบบ PCIe 4.0×4 มาให้อีกสล็อต เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะทำ RAID0 เพื่อเพิ่มความจุของ Storage และเพิ่มความเร็วให้มากขึ้น (ในทางทฤษฎีแล้ว ถ้าทำ RAID0 นี่น่าจะได้ความเร็วการอ่านและเขียนระดับ 14GB/s และ 10GB/s เลย ถ้าใช้ SSD สเปกระดับนี้) หรือ RAID1 เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายกรณีที่ฮาร์ดแวร์ SSD มีปัญหา ซึ่งสำคัญมากสำหรับคนทำงานด้านคอนเทนต์ เพราะทำแทบตาย ถ้ามันหายไปเพราะ SSD พังนี่เศร้ามาก

หน้าจอโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 แสดงความเร็วการอ่านและเขียนของ SSD ของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ถัดมา เรามาดูภาพรวมของประสิทธิภาพในการทำงานของโน้ตบุ๊กบ้าง เริ่มจากใช้โปรแกรม PCMARK 10 ในการทดสอบครับ ได้คะแนนรวมคือ 7,842 คะแนน เรียกว่าคะแนนสูงเลยแหละ ถ้าเจาะไปที่คะแนนแต่ละส่วน จะเห็นได้ว่า คะแนน Essentials ซึ่งเกี่ยวกับการทำงานทั่วไป ทั้งการรันโปรแกรม ประชุมออนไลน์ ท่องเว็บ คะแนน Productivity ที่เกี่ยวกับเรื่องการทำงานเอกสาร และคะแนน Digital content creation ที่เกี่ยวข้องการตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ เรนเดอร์ภาพ ทุกอย่างได้คะแนนเกินหมื่นหมดเลย และการทดสอบที่เน้นประสิทธิภาพของ CPU และ GPU คือจะได้คะแนนสูงมากด้วย นั่นก็เพราะอานิสงส์จาก CPU และ GPU ของโน้ตบุ๊กตัวนี้แหละ

หน้าจอผลการทดสอบของโปรแกรม PCMark 10 ที่ทดสอบประสิทธิภาพโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ได้คะแนนรวม 7,842 คะแนน หัวข้อ Essentials ได้ 11,394 คะแนน หัวข้อ Productivity ได้ 10,545 คะแนน และหัวข้อ Digital content creation ได้ 10,893 คะแนน

โดยรวมแล้ว ก็ต้องบอกเลยว่าคะแนนจาก PCMARK 10 นี่ชี้ให้เห็นเลยว่าโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook ตัวนี้เหมาะสำหรับการใช้งานในทุกประเภทรวมถึงการทำงานด้าน Content creator จริงๆ

ลองทดสอบด้วยโปรแกรม CINEBENCH R23 ที่ทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ในส่วนของการเรนเดอร์กราฟิกโดยเฉพาะ ก็พบว่าคะแนนแบบ Single core นี่สูงสมกับเป็น Intel Core i9 Gen 13th เลยครับ และพอเอามาทดสอบแบบ Multi core ความที่มันมี 24-core 32-thread ก็ทำให้คะแนนสูงมากระดับ 30,618 คะแนนเลย

และแน่นอนว่าพอได้การ์ดจอเป็น NVIDIA GeForCe RTX4070 แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องลองทดสอบเรื่องการเล่นเกมครับ จริงๆ ก็มีทดสอบไว้ด้วยโปรแกรม 3DMARK ด้วยนะ แต่ผมคิดว่าเอามาทดสอบด้วยตัว Benchmark ของเกมอย่าง Final Fantasy XV น่าจะเหมาะสมดีอยู่ และผมได้ลองทดสอบ 2 แบบ คือความละเอียด 4K และ Full HD ครับ ซึ่งคะแนนก็ถือว่าดีทีเดียว ฉะนั้นใครที่กะว่าจะซื้อเอามาเล่นเกม ก็ไม่ต้องห่วงนะครับ

ท้ายสุดก็ลองวัดค่าขอบเขตสีที่จอของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ทำได้ดูบ้างครับ ลองวัดด้วย Spyder X Elite ดู ก็อยู่ที่ 100% sRGB 92% NTSC 94% AdobeRGB และ 100% DCI-P3 ก็เรียกว่าได้ตามสเปก และสามารถนำไปใช้ทำงานกราฟิกหรืองานวิดีโอได้สบายๆ เลยแหละ จริงต้องบอกว่าดูจากกราฟแล้ว มันเกิน 100% sRGB กับ 100% DCI-P3 ไปด้วยซ้ำครับ แต่มันวัดไปสุดที่ 100% เท่านั้นเอง

ประสบการณ์ใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

ทดสอบประสิทธิภาพไปพักใหญ่ๆ แล้ว ได้เวลามาพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานบ้างครับ อันดับแรกเลยในแง่ของการพกพา ก็เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กขนาดเขื่องพอสมควรครับ ถ้าใครคิดจะพกพานี่ต้องมีเป้สะพายหลังที่ใหญ่พอสมควรและต้องแบกรับน้ำหนักของตัวโน้ตบุ๊กรวมกับอะแดกปเตอร์แล้วราวๆ 3 กิโลกรัมด้วย และหากใครเคยตัวแบบผมที่ชอบทำงานแบบหลายจอ ก็อาจจะต้องแบกน้ำหนักจอเสริมไปอีกชิ้นครับ แต่ข่าวดีก็คือ ตัวพอร์ต Thunderbolt 4/USB-C ของมันรองรับการแสดงผลจอภาพด้วยและจ่ายไฟได้ด้วยในตัว ถ้าเราหาจอพกพาที่รองรับการเชื่อมต่อด้วยสาย USB-C เส้นเดียว แบบ UPERFECT 17 นิ้ว 2K ที่ผมซื้อมาใช้ มันก็จะโอเคมาก แต่ถ้าใครอยากได้แบบ DCI-P3 100% ผมแนะนำตัว UPERFECT 15.6 นิ้ว QLED ครับ

โน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) เมื่อใช้ทำงานแบบ 2 จอ โดยมีจอ 17 นิ้วต่ออยู่ด้านขวา

ที่ผมไม่ชอบนิดหน่อยคือการออกแบบพอร์ตการเชื่อมต่อที่ทำให้พอร์ตต่างๆ มันโดนย้ายมาอยู่ค่อนมาทางด้านห้าของตัวเครื่อง ซึ่งทำให้เวลาต่ออุปกรณ์เสริมเช่น จอพกพา เนี่ย สายเคเบิ้ลมันก็ไปเกะกะเวลาผมจะใช้งานเมาส์แยกออกมาอย่างในภาพด้านบนครับ

โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่มีเซ็ตอัปเป็นการวางโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) อยู่ทางซ้าย และมีจอพกพา 2 จออยู่ทางขวา จอนึงวางแนวนอนอยู่ตรงกลาง จอขวาสุดเป็นการวางแบบแนวตั้ง

แต่ถ้าทำงานแบบนั่งโต๊ะ เอามาเสียบต่อกับจอแสดงผลภายนอก เพื่อใช้งานหลายจอ มีการต่อคีย์บอร์ดแบบแยก มันก็โอเคไม่น้อยเลยนะครับ การเซ็ตอัปแบบนี้ ทำให้ทำงานสะดวกกว่าที่คิดด้วย เพราะผมสามารถใช้มือซ้ายในการทำพวก Scroll ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา หรือ Pinch zoom ได้สะดวก การเลื่อนไปใช้งาน ASUS Dial ก็ทำได้ง่ายด้วย อะไรแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่เมาส์ทั่วไปมันทำไม่ได้อะ

หน้าจอโปรแกรม ProArt Creator Hub ในส่วนของการตั้งค่า ASUS Dial

พูดถึงเรื่อง ASUS Dial แล้ว ก็ต้องพูดถึงโปรแกรมชื่อ ProArt Creator Hub ครับ มันคือโปรแกรมที่ให้เราปรับตั้งค่าอะไรหลายๆ อย่างของตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) นี่ได้ รวมถึง ASUS Dial ด้วย ทำให้เรากำหนดได้ว่าเวลาเราใช้งานโน้ตบุ๊กตัวนี้อยู่ เจ้านี่จะทำหน้าที่อะไรบ้าง เช่น ปรับความสว่าง ปรับเสียง Scroll หน้าจอ ฯลฯ แต่จุดขายในการใช้งานจริงๆ คือ เวลาใช้งานพวกโปรแกรมตกแต่งกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอครับ เพราะมันเอาไว้ปรับตั้งค่า เช่น ขนาดของแปรง อะไรพวกเนี้ย ได้แม่นยำกว่าการไปพยายามเอาเมาส์ลากหรือเสียเวลาพิมพ์ตัวเลขเพื่อกำหนดค่าลงไป

มือข้างซ้ายกำลังปรับการตั้งค่าบางอย่างด้วยการหมุน ASUS Dial บนโน้ตบุ๊ก

อย่างไรก็ดี ผมละงงกับ ASUS มากที่ไปเอาพวกข้อมูลพวก Resource monitor อย่างการทำงานของพัดลม CPU load และ Memory usage มาใส่ไว้ใน Dashboard ของ ProArt Creator Hub ทั้งๆ ที่ผมว่า ข้อมูลพวกนี้ควรจะไปอยู่ในโปรแกรมอย่าง MyASUS มากกว่า เพราะนอกจากชื่อมันจะไม่สื่อแล้วนะ วัตถุประสงค์ของการใช้งานก็ไม่ตรงอีกตะหาก แล้วถ้าเอาข้อมูลพวกนี้ไปอยู่บน MyASUS มันก็จะได้ประโยชน์กับโน้ตบุ๊กของ ASUS ในทุกๆ รุ่นด้วย

หน้าจอโปรแกรม MyASUS

อ่ะ! ไหนๆ ก็พูดถึงโปรแกรม MyASUS แล้ว ก็พูดถึงต่อซะเลยครับ โปรแกรมนี้คือดีมากสำหรับคนใช้โน้ตบุ๊ก ASUS และมันคือที่ที่ ASUS ควรเอาข้อมูลจำพวก Resource monitoring มาใส่เอาไว้ที่สุดแล้ว ในโปรแกรมนี้ เราจะตั้งค่าต่างๆ ของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ได้หลายอย่างเลย เช่น Batter Care ที่จะจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่ไว้ที่ 80% เพื่อถนอมอายุของแบตเตอรี่ MUX Switch MSHybrid ที่ให้เลือกว่าจะใช้งานกราฟิกชิปตัวไหนในการทำงาน คือ ถ้าไม่ได้ใช้งานหนัก ก็ไปใช้ Intel UHD Graphics จะได้ประหยัดแบตเตอรี่ อะไรแบบนี้

หน้าจอของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ที่กำลังแสดงผลโปรแกรมตกแต่งภาพ Affinity Photo อยุ่

หน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ ความละเอียดสูงระดับ 3.2K และเป็น OLED เนี่ย ทำให้มีความสว่างสูงได้ระดับ 500 nits ซึ่งยังสามารถแสดงผลได้ชัดดีแม้จะอยู่กลางแจ้ง และมีสีสันที่สดด้วย ขอบเขตของสีก็กว้าง เอามาใช้ทำงานกราฟิกหรืองานวิดีโอก็สบายๆ ครับ แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าจะใช้ประโยชน์จากลูกเล่นอย่าง ASUS Dial ด้วยเนี่ย ควรจะใช้โปรแกรมของค่าย Adobe ครับ จะสะดวกมาก ไม่งั้นก็ต้องดูว่าโปรแกรมไหนที่รองรับบ้าง

ส่วนหนึ่งของหน้าจอโปรแกรม ProArt Creator Hub ในส่วนของการ Add custom function

แต่อย่าเพิ่งตกใจว่าถ้าเกิดโปรแกรมไม่รองรับ มันก็จะใช้ประโยชน์ไม่ได้นะ มันก็สามารถไปเพิ่ม Custom function ได้ครับ ถ้าเรารู้ว่าฟังก์ชันที่ต้องการมันใช้ Keyboard shortcut เป็นอะไร เราก็ไปกำหนดเอาเองได้เลยว่า ถ้าหมุนไปทางซ้าย หมุนไปทางขวา จะหมายถึงการกด Keyboard ปุ่มไหน อย่างในรูปด้านบน ผมรู้ว่าการปรับขนาดของแปรงในโปรแกรม Affinity Photo 2 ซึ่งไม่รองรับ ASUS Dial คือใช้ปุ่ม ] และ [ ผมก็แค่ไปเพิ่มเอาเอง แค่นี้มันก็ใช้ ASUS Dial ในการปรับขนาดแปรงได้แล้วครับ หรือผมเพิ่มฟังก์ชัน Affinity Zoom เพราะรู้ว่าการกด Ctrl กับ = และ Ctrl กับ – มันคือ Keyboard shortcut ของการซูมเข้าและออก ก็จะทำให้ผมใช้ ASUS Dial ในการซูมภาพเข้าออกได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนหนึ่งของหน้าจอโปรแกรม Affinity Photo 2 ที่มีการแสดงตัวเลือกของ ASUS Dial เขียนว่า Affinity Zoom

ผมที่เป็นสายทำคอนเทนต์บ้างเป็นบางที เพราะมักจะเป็นเรื่องงานซะมากกว่าเรื่องส่วนตัว ก็ไม่ได้ใช้พวกโปรแกรมตระกูล Adobe ซะด้วย เพราะค่าบริการรายเดือนแอบกระอักสำหรับคนใช้งานเป็นงานอดิเรก ผมก็เลยไปจบลงที่โปรแกรมจำพวกไลเซนส์แบบ Perpetual (หมายถึง จ่ายทีเดียวจบ) อย่างโปรแกรมตระกูล Affinity ที่ก็เพียงพอต่อการใช้งาน หรือโปรแกรมที่มีเวอร์ชันฟรี แต่ฟีเจอร์เพียงพอต่อการใช้งานอย่าง DaVinci Resolve เป็นต้น ถ้าอยากจะใช้ประโยชน์จาก ASUS Dial ก็ต้องศึกษาเรื่อง Keyboard shortcut แล้วไปสร้างฟังก์ชันใช้เองครับ

หน้าจอโปรแกรม DaVinci Resolve

และหากจำเป็นต้องประชุมออนไลน์ หรือ เกิดอยากทำ Live แบบเร็วๆ ไม่ต้องหาอุปกรณ์อื่นมาเพิ่มเติม ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ตัวนี้ก็มาพร้อมกับกล้องเว็บแคมความละเอียด Full HD 1080p ที่คุณภาพก็โอเคอยู่นะครับ จัดไฟให้ดีๆ สว่างๆ หน่อย ก็เรียกว่าใช้ได้ ไม่ขี้เหร่เลย

ภาพจากกล้องหน้าของโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) เป็นผู้ชายผมสั้นใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว

เรื่องระบบเสียงก็ต้องเรียกว่าลำโพงจูนเสียงโดย harman/kardon คือดี เอาไว้ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม (เพราะการ์ดจอ RTX4070 นี่นะ) ก็ถือว่าไม่ต้องต่อลำโพงอะไรเพิ่มแล้ว และถ้าจะใช้ประชุมออนไลน์ ก็มาพร้อมกับไมโครโฟนในตัว และมีซอฟต์แวร์ของ ASUS ที่ใช้ AI ในการตัดเสียงรบกวนอีกด้วย ลองใช้แล้วคือ เวิร์กจริง

ปัญหาใหญ่สุดของรุ่นนี้ น่าจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ครับ 🤣🤣 ตอนแรกเขาบอกว่ามีแบตเตอรี่ 90Wh คือ รู้สึกว่าแบตเตอรี่ใหญ่มาก น้ำหนักของตัวเครื่องก็เลยไปซะเกือบสองกิโลครึ่ง แต่ผมลองเอามาใช้ทำงานโดยไม่เสียบปลั๊กดู งานที่ทำก็คือ เช็กอีเมล ตอบอีเมล เปิดเว็บหาข้อมูล ประชุมออนไลน์ จากแบตเตอรี่ 96% ลงมาเหลือ 20% ใน 1.5 ชั่วโมงครับ ประเมินแล้วเต็มที่ก็น่าจะได้แค่ราวๆ 2 ชั่วโมงอะ อันนี้คือเปิด MUX Switch แล้ว เพื่อให้ซอฟต์แวร์เลือกใช้กราฟิกชิปที่เหมาะสมในการทำงาน เพื่อประหยัดพลังงานนะ ฉะนั้น ผมก็แนะนำว่าการใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) เนี่ยควรใช้แบบเสียบปลั๊กเอาไว้ตอนใช้งานจะดีกว่า แต่นั่นหมายความว่า เวลาจะไปทำงานนอกสถานที่ ก็ต้องแบกอะแดปเตอร์ตัวเขื่องไปด้วยนั่นเอง ยกเว้นคุณจะหาอะแดปเตอร์ USB-C แบบ GaN ซัก 100 วัตต์ มาใช้แก้ขัดได้ เวลาทำงานทั่วไป แต่ถ้าจะเอามาใช้เล่นเกม บอกเลยนะครับ ไม่พอ

บทสรุปการรีวิว ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604)

เวลาผมหาโน้ตบุ๊ก ด้วยความที่อยากได้สเปกแบบ จอคุณภาพสีดี แรม 32GB มีการ์ดจอแยก ส่วนมากก็จะเป็นแนวโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ราคาแบบแสนกว่าขึ้นไป นั่นเลยทำให้ ASUS ProArt Studiobook 16 OLED (H7604) ตัวนี้ ที่ราคาประมาณแสนนึง (99,990 บาท) เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ครับ สิ่งที่ต้องทำใจ ก็น่าจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่เอาไม่อยู่จริงๆ 🤣🤣 จะใช้งานก็คงต้องแบกอะแดปเตอร์ตัวเขื่องไปด้วย ไม่งั้นก็ต้องใช้อะแดปเตอร์ USB-C 100 วัตต์ มาแก้ขัดอะ

สนใจอยากซื้อบ้าง กดลิงก์ด้านล่างเลยครับ ถ้าเกิดของหมด ก็ Add to wishlist ไว้ก่อนได้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า