มีคนพูดกันไว้ว่า ในยุคของ AI นี่ มันห้ามหยุดพัฒนาเลยนะ ไม่งั้นคู่แข่งแซงไปไกลเลย เพราะการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของ AI มันไม่เหมือนกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มันค่อยเป็นค่อยไป แต่ AI นี่ มันพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งวันทั้งคืน ไม่หยุดยั้งเลย เอาเป็นว่าผมและเพื่อนๆ ที่เตรียมพวกสไลด์สำหรับสอนเรื่อง Generative AI เนี่ย ทำสไลด์ตั้งนานกว่าจะเสร็จ แต่พอทำเสร็จ อ้าว! มีของใหม่มาแล้วว่ะ งี้เลย ดังนั้น หลังจากที่ได้เข้าถึง Google Bard มาได้เกือบเดือนแล้ว ตอนนี้ Google Bard สามารถใช้งานในประเทศไทยได้แล้ว โดยไม่ต้องเข้า VPN มุดไปต่างประเทศเหมือนก่อน ก็ได้เวลามาทดสอบกันอีกทีว่า ผ่านไปเกือบเดือน มีพัฒนาการอะไรบ้างละครับ
Google Bard รู้จักภาษาไทย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทยได้ แต่พูดภาษาไทยไม่ได้
พอ Google Bard สามารถใช้ในประเทศไทยได้ ไอ้ผมก็เลยนึกว่ามันน่าจะใช้ภาษาไทยได้แล้ว อันดับแรกก็ถามก่อนเลยว่า Can you speak Thai? และ Google Bard ก็ตอบว่า ใช่ ฉันพูดภาษาไทยได้ แล้วถามว่าอยากจะแปลอะไรเป็นภาษาไทยไหม ข้อสังเกตคือ นอกจากที่ตอบตอนแรกเป็นภาษาไทยแล้ว ที่เหลือมันตอบเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ก็เลยชักสงสัยว่า เอ๊ะ! แล้วแบบนี้มันเข้าใจภาษาไทยจริงไหม

ผมลองถามคำถามไป 3-4 คำถาม เป็นภาษาไทย คำตอบที่ผมได้กลับมาคือ I am an LLM trained to respond in a subset of languages at this time, so I can’t assist you with that. Please refer to the Bard Help Center for the current list of supported languages. ผมก็สงสัยว่า เอ๊ะ มันอาจจะเข้าใจภาษาไทย แต่ไม่สามารถตอบเป็นภาษาไทยได้หรือเปล่า ผมก็ลองถามเป็นภาษาไทย แต่ก็ให้เงื่อนไขไปด้วยว่าให้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ ผลก็คือ ได้คำตอบคงเดิม แสดงว่ามันไม่เข้าใจภาษาไทยแหละ

ข้อสังเกต Google Bard มีการพูดถึง ภาษาที่สนับสนุนในตอนนี้ ที่อยู่ใน Bard Help Center ซึ่งถ้าเราขี้เกียจไปหา แล้วไปถาม Google Bard ว่า แกรองรับภาษาอะไรบ้าง ก็จะได้คำตอบโคตรโม้กลับมาว่า รองรับมากกว่า 200 ภาษา แต่ตอนนี้ตัวมันอยู่ในระหว่างการพัฒนานะ แต่ถ้าเราไปอ่านในหน้า FAQ ของ Google Bard เราจะเห็นว่าตอนนี้มันรองรับแค่ US English ครับ ฉะนั้น อยากจะใช้ภาษาอื่น ก็ต้องรอไปก่อนนะ
Google Bard ยังน่าจะได้เปรียบเรื่อง Search engine
ถ้า ChatGPT และ Bard มันเก่งพอๆ กัน ในเรื่องการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน และการสรุปข้อมูลจากที่ค้นหามาได้ นำมาแสดงผลให้ผู้ใช้งาน ตัวตัดสินว่าใครจะเจ๋งกว่าใครก็คงต้องมาดูกันว่า Google หรือ Bing จะเก่งกว่ากันในฐานะ Search engine แล้วละครับ ซึ่งจากการใช้งานส่วนตัวของผม (ช่วงหลังผมลองพยายามฉีกตัวเองออกจาก Google มาใช้ Bing เป็นหลักดู เฉพาะเวลาใช้งานบนสมาร์ทโฟน ที่จะเป็นเรื่องส่วนตัว) ผมมองว่า ถ้าหาข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษในเรื่องทั่วๆ ไป หรือ เรื่องที่ Mass หน่อยเนี่ย Google กับ Bing สามารถค้นหาได้ผลค่อนข้างโอเค ไม่แพ้กัน
เอาจริงๆ จากสองรูปด้านล่าง ผมลองให้ค้นหา Hyena Hierachy AI (พิมพ์ผิดด้วยนะ จริงๆ ต้องเป็น Hierarchy AI) ซึ่งเป็นโมเดล AI อีกอันนึงที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตัว Google นี่เอาผลการค้นหาจากเว็บ arxiv.org ที่เป็นตัว Research paper มาให้เป็นอันดับแรก และบล็อกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่พูดถึง Hyena Hierarchy AI เป็นอันดับสอง ในขณะที่ Bing นี่เอาบล็อกตอนสแตนฟอร์ดมาเป็นอันดับแรก และเว็บ arxiv.org เป็นอันดับสองไป


แต่ข้อสังเกตคือ Microsoft มีการฝังเอา Bing ChatGPT ไปอยู่ในผลการค้นหาด้วย มันจะทำการสรุปเนื้อหาของสิ่งที่คิดว่าเราจะค้นมาให้ด้วย เป็นกล่องข้อความอยู่ทางขวามือ ในขณะที่ Google ยังไม่มีสิ่งนี้ (เข้าใจว่าเพราะ Bard ยังอยู่ในขั้นการทดลอง จึงยังไม่เอามานำเสนอให้ใช้งาน) แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทุกครั้งที่เราค้นหาแล้วมันจะมี Bing ChatGPT มาอธิบายให้เราอ่านหรอกนะ เพราะถ้าข้อมูลบริบทไม่มากพอ มันก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาสรุปให้เรา เช่น ผมไปค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดว่า Wang Yibo (หวัง อี้ป๋อ นักแสดงชาวจีนคนนึง) นี่ Bing ก็จะไม่เอา Bing ChatGPT มาสรุปอะไรให้ผมอ่าน กลับกัน มันก็จะแสดงภาพของเขา กับข้อมูลจาก Wikipedia มาให้แทน แต่ถ้าผมค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดว่า SpaceX Starship explosion ก็จะมี Bing ChatGPT มาสรุปให้ด้วยว่ามันเคยมีการระเบิดมากี่ครั้ง อะไรแบบนี้
แต่ถ้าเมื่อไหร่มันเป็นเรื่องเฉพาะทางมากๆ ที่ไม่ค่อย Mass หรือ คีย์เวิร์ดเป็นภาษาไทย Bing จะเริ่มสู้ Google ไม่ได้ครับ มีครั้งนึงที่ผมเคยค้นหาชื่อของชาวต่างชาติคนนึงโดยสะกดเป็นภาษาไทยตามชื่อเป็นทางการของเขา ผลคือ Google สามารถนำเสนอผลการค้นหาได้ถูกต้อง ในขณะที่ Bing เสนอผลการค้นหาเป็น 7-Eleven กับ ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี (ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชื่อของชาวต่างชาติคนนี้ มีความคล้ายคลึงกับคำว่า เซเวน กับมีคำว่า เลโอนา อยู่นั่นเอง)
Google Bard ตอบได้ละเอียดกว่า Bing ChatGPT
ฟีเจอร์นึงที่ว้าวของ ChatGPT คือ การที่มันสามารถจดจำการสนทนาที่เคยเกิดขึ้นกับเราไปก่อนหน้าได้ประมาณนึง ทำให้เราสามารถพูดคุยเพื่อสั่งงานต่อได้โดยไม่ต้องไปไล่คำสั่งใหม่ทั้งหมด และเมื่อ Bing ได้ ChatGPT มา มันก็ได้ความสามารถนี้มาด้วย ดังนั้น ถ้าผมถาม Bing ChatGPT ว่าจำนวนประชากรโลกในปี ค.ศ. 2000 มีเท่าไหร่ มันก็จะตอบกลับมา แล้วผมก็สามารถถามตอบได้เหมือนกำลังพูดคุยกับคนเลยว่า แล้วในปี ค.ศ. 2022 ล่ะ? Bing ChatGPT ก็จะยังจำได้ว่าเรากำลังคุยเรื่องจำนวนประชากรโลก มันก็จะตอบกลับมาได้เลย

แน่นอน Google Bard ก็ไม่พลาดเรื่องนี้ เราก็สามารถพูดคุยแบบต่อเนื่องได้เช่นกัน ความแตกต่างคือ ในขณะที่ Bing ChatGPT จะมีข้อจำกัดด้านจำนวนข้อความ (เช่น ที่เห็นในรูปด้านบน คือ 20 ข้อความ) ซึ่งน่าจะเป็นข้อจำกัดจากการใช้งาน ChatGPT AI ของ OpenAI เขา แต่ Google Bard นี่เหมือนจะไม่มีข้อจำกัดนั้น (อย่างน้อยก็ไม่แสดงให้เห็น)

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ Google Bard พยายามให้ข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปอีก เช่น ในขณะที่ Bing ChatGPT จะแค่ตอบผมว่าประชากรโลก ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 จะอยู่ที่ 8 พันล้านคน อ้างอิงจากข้อมูลของสหประชาชาติ แต่ Google Bard จะตอบผมว่า ประชากรโลกมีประมาณ 8 พันล้านคน โดยที่ United Nations Population Division คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเติบโตเป็น 8.5 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2030 และ 9.7 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2050 และไปถึง 10.9 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2100 คือ มันพยายามจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาเยอะมาก
ลองกลับไปถามเรื่อง Hyena Hierarchy AI อีกรอบ คราวนี้ผมขอให้ Bing ChatGPT และ Google Bard ช่วยสรุปเนื้อหาจากเว็บไซต์ให้หน่อย คำตอบที่ได้ จะสังเกตว่า Bing ChatGPT มันสรุปรวบยอดเกินไปหน่อย ในขณะที่ Google Bard นี่ให้ข้อมูลคร่าวๆ ของเนื้อหาของเว็บไซต์ได้ดีกว่ามาก
Bing ChatGPT | Google Bard |
---|---|
The website you provided is a blog post from Stanford University’s Hazy Research lab. The post discusses a new architecture called Hyena that can succeed on language without using attention. The post also mentions that Hyena can close the gap with other models as context length increases. The post also mentions that longer sequences would enable a new era of machine learning foundation models. | Hyena is a subquadratic-time layer that has the potential to significantly increase context length in sequence models. It is defined as a recurrence of two efficient subquadratic primitives: an implicit long convolution (i.e. Hyena filters parameterized by a feed-forward network) and multiplicative element-wise gating of the (projected) input. The authors show that Hyena can be used to train convolutional language models with significantly larger context lengths than previous work, while still being efficient to train and evaluate. |
ยิ่งถ้าเกิดว่าสั่งให้ Bing ChatGPT และ Google Bard ช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีก ยิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจนมาก ภาพด้านล่างคือคำตอบจาก Bing ChatGPT เทียบกับ Google Bard จะเห็นว่า ขนาดบอกว่าขอรายละเอียดเพิ่มแล้ว แต่สิ่งที่เราได้จาก Bing ChatGPT ก็คือ ประโยคสั้นๆ ไม่กี่ประโยคเท่านั้นเอง ซึ่งอ่านแล้วก็ยังงงๆ อยู่ ในขณะที่ Google Bard นี่ ถึงแม้ว่าผมจะงงว่ามันเอาอะไรมาตัดสินใจว่าจะตั้ง Heading แบบนี้ แต่เนื้อหาเนี่ย อ่านแล้วเข้าใจมากกว่า และได้ข้อมูลมากกว่าเกี่ยวกับ Hyena Hierarchy AI


อย่างที่บอกไปครับ ความสามารถของบอทของ Google ในการคุ้ยเนื้อหามาวิเคราะห์มันดีกว่า Bing มาก ดังนั้นหาก Generative AI มีความสามารถพอๆ กัน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา Google Bard จะทำได้ดีกว่าก็ไม่น่าแปลกใจอะไร
บทสรุปการทดสอบ Google Bard ณ ตอนนี้
Google ยังคงได้เปรียบ Bing ในแง่ของความสามารถในการค้นหา ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการที่ Google ครองตลาด Search engine มาเกิน 90% มาเป็นเวลาสิบกว่าปี ได้ข้อมูลผู้ใช้งานไปเยอะมาก ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Search engine ของตัวเองไปเยอะมาก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Bing จะตามไม่ทัน เอาจริงๆ คือ Bing น่าจะไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรให้เอาไป Train ให้ Search engine ตัวเองเก่งอะ บอกเลย

แต่ Microsoft ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะ ก็พยายามหาวิธีดึงคนให้มาใช้ Search engine ของตัวเองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ใช้ Bing ChatGPT และฝัง ChatGPT เข้าไปในผลการค้นหาของ Bing ตามปกติด้วย นอกจากนี้ก็มีการนำ Microsoft Rewards มาใช้อีก คือ ปกติเราจะต้องซื้อสินค้าหรือบริการของ Microsoft ก่อนถึงจะได้แต้ม แต่นี่เพิ่มเรื่องการใช้ Bing ในการค้นหาก็ได้แต้มด้วย (แต่จำกัดจำนวนแต้มที่จะได้ในแต่ละวัน) ก็เพื่อจูงใจให้อย่างน้อยมาใช้บ้างแหละ เอาจริงๆ การมาของ ChatGPT ก็ทำให้มีผู้คนสนใจไปใช้งาน Bing กันเยอะขึ้นนะ ผมก็มีเผลอใจไปใช้ Bing เป็นครั้งคราว และตัดสินใจให้โอกาส Bing อย่างน้อยก็เวลาจะเสิร์ชอะไรบนมือถือ ก็จะใช้ Bing ก่อนล่ะ
แต่ก็ต้องบอกเลย บัลลังก์ของ Google นี่โค่นไม่ได้ง่าย อย่างน้อยส่วนแบ่งตลาด Search engine ของ Google เมื่อเดือนมีนาคม ก็ยังคงอยู่ที่ 97% อยู่ไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าจะมี Bing ChatGPT มาแล้วก็ตาม ความเคยชินและเคยตัวของผู้คนมันแก้ยากครับ บอกเลย แต่ สำหรับคนไทยที่จะใช้ Google Bard นี่ต้องรอกันอีกพักนึง (อาจจะพักใหญ่ๆ) ล่ะ กว่ามันจะสามารถตอบโจทย์การใช้งานเราได้ แต่จากที่ดูผลการค้นหาของ Google Bard เทียบกับ Bing ChatGPT แล้ว ผมชอบการนำเสนอของ Google Bard มากกว่า แต่ยังติดแค่ยังใช้ภาษาไทยไมไ่ด้นี่แหละครับ