Ninebot ผู้ผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าชื่อดังเขาเพิ่งเปิดตัวระดมทุนสำหรับรุ่นใหม่ล่าสุด Ninebot Kickscooter MAX และตอนนี้ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทยเขาก็เปิดให้พรีออร์เดอร์แล้ว ด้วยความที่ผมขี่ Ninebot Kickscooter ES2 โหดไปหน่อย (ทะลุ 2,200 กิโลเมตรในครึ่งปี) เลยทำให้ต้องเอามันเข้าอู่อีกรอบ แล้วก็เลยไปยืม Ninebot Kickscooter MAX มาใช้ชั่วคราว พร้อมกับรีวิวไปในตัวเลยครับ ฉะนั้น บล็อกตอนนี้ จึงเป็นการรีวิวจากประสบการณ์ในการใช้งานจริงสุดโหดของผม วิ่งยาวๆ บ้าน-ออฟฟิศ และ ออฟฟิศ-บ้าน และไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เท่าที่สภาพดินฟ้าอากาศฤดูฝนจะอำนวย
ออกตัวล้อฟรี…
Ninebot Kickscooter MAX ที่ได้มาใช้รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก MONOWHEEL ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของ Segway ครับ ตัวที่ได้มาทดสอบ เป็น Demo unit ที่มาจากทางโรงงาน ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับแอปได้ (เขาบอกว่าถ้าทำ เดี๋ยวพังเลย … เสียวชิบ) และความเร็วสูงสุดของ Sport mode ก็อยู่ที่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น (ตัวขายจริงจะได้ถึง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
แต่บทความรีวิวนี้ก็ไม่ใช่แค่การพรีวิว แต่เป็นการทดลองใช้งานจริง แบบจริงจังมาก และความเห็นทั้งหมดในนี้ เป็นความเห็นของผมล้วนๆ ครับ ดีไม่ดี ว่ากันตามตรง
ขอบคุณ MONOWHEEL.BIKE ที่เอื้อเฟื้อของให้รีวิวครับ
ดีไซน์ รูปร่างหน้าตาของ Ninebot Kickscooter MAX

หน้าตาของ Ninebot Kickscooter MAX แตกต่างไปจาก Ninebot Kickscooter ES2 โดยจะมีดีไซน์ไปคล้ายกับ Xiaomi M365 มากกว่า ระบบพับสกู๊ตเตอร์เก็บ และระบบล็อกคอสกู๊ตเตอร์ระหว่างพับ นี่มาแบบเดียวกันเลยครับ หลังจากที่ได้ลองพับ ลองใช้ ลองหิ้วพักนึง รู้สึกได้เลยว่า มันจำเป็นต้องดีไซน์ออกมาแบบนี้จริงๆ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งมอเตอร์ ตำแหน่งแบตเตอรี่ และน้ำหนักของมัน

หน้าจอแสดงผล LED ก็ถูกเปลี่ยนจากแบบเดิมมาเป็นแนวเรียวยาวของ Xiaomi M365 ปุ่ม Power ก็เล็กลงอย่างเห็นได้ชัด แต่วิธีการใช้ปุ่มก็ยังเหมือนเดิม คือ กดค้างคือการเปิดหรือปิด กดทีเดียวคือเปิดไฟหน้า และกดรัวๆ สองทีติดกัน คือการเปลี่ยนโหมดการขับขี่ ซึ่งก็ยังมีให้เลือกสามโหมดเหมือนเดิมคือ Eco (โหมดประหยัดพลังงาน ความเร็วและอัตราเร่งต่ำกว่าปกติ), D (ความเร็วและอัตราเร่งปกิ) และ S (ความเร็วและอัตราเร่งพิเศษ) ระบบเบรกมีการเปลี่ยนจากสวิตช์แบบเดิม มาเป็นเบรกคล้ายๆ กับจักรยาน เพราะจากเดิมที่มีแต่เบรกไฟฟ้า งวดนี้เขาออกแบบให้มีทั้งเบรกไฟฟ้า (ล้อหลัง … เพราะมอเตอร์อยู่ล้อหลัง) และดรัมเบรก (ล้อหน้า)
หมายเหตุเล็กๆ
ไอ้สวิตช์แปลกๆ ด้านซ้ายมือ ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มากับ Ninebot Kickscooter MAX นะครับ มันเป็นสวิตช์ของไฟเลี้ยวที่ผมเอามาติดหมวกกันน็อกจักรยานแบบพับได้ของผมเอง อันที่ผมเคยรีวิวมาแล้วอ่ะ

ตัวล็อกคอสกู๊ตเตอร์ตอนพับของ Ninebot Kickscooter MAX ดีไซน์ใหม่ แปลกกว่าเดิม และทำให้วิธีการหิ้วมันแตกต่างไปจากเดิม แต่ผมว่ามันถูกออกแบบมาได้เหมาะกับการกระจายน้ำหนักดีอยู่แล้ว แต่ด้วยดีไซน์แบบนี้การพับแล้วลากจูงเหมือนเดิมคือหมดสิทธิ์ครับ ถ้าเราจะเข็น ก็ต้องเข็นไปในลักษณะของสกู๊ตเตอร์เลย

ล้อมีการเปลี่ยนมาใช้เป็นล้อยางลมขนาด 10 นิ้วแทน ใหญ่เบ้งมาก ใหญ่กว่าสมัย Ninebot Kickscooter ES2 มากมาย ข้อดีคือ ไม่ต้องมีระบบโช้ก มันก็ทำให้การขับขี่นุ่มนวลขึ้น แต่ข้อควรระวังที่ตามมาคือ เพราะมันไม่ใช่ยางตันแล้ว แสดงว่ามีโอกาสที่จะยางรั่วยางแตกได้ การขับขี่ก็ต้องระวังมากขึ้นนะครับ ยางรั่วยางแตกขึ้นมา คุณจะมีภาระหนัก 18.5 กิโลกรัม ขึ้นมาทันที
พื้นที่วางเท้า มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ขี่คนเดียวนี่คือชิลๆ เลย ถ้าเป็นแฟนกัน กอดๆ เบียดๆ กันหน่อย อยู่สองคนได้สบายๆ มันรองรับน้ำหนักได้สูงสุด 150 กิโลกรัม ถ้าเรามองว่าผู้หญิงน้ำหนักซัก 55 กิโลกรัม ผู้ชายหนัก 95 กิโลกรัม นี่ขี่พร้อมกันสบายๆ ครับ ผมลองขี่แล้วให้แฟนซ้อน น้ำหนักรวม 137 กิโลกรัม ก็วิ่งได้สบายๆ นะ แต่อัตราเร่งอาจจะหดหายไปบ้าง แต่ก็ยังทำความเร็วสูงสุดได้สบายๆ อยู่ อย่างไรก็ดี เพื่อระวังอุบัติเหตุ ผมแนะนำให้ขี่แค่ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง (Eco mode) ในกรณีที่ซ้อนครับ จะได้ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุลงหน่อย มันเหมาะกับการขี่แบบเพื่อกินลมชิลๆ ฮะ
สิ่งที่เปลี่ยนไปจากการมาขี่ Ninebot Kickscooter MAX แทน Ninebot Kickscooter ES2
ด้วยความที่ดีไซน์มันเปลี่ยนมาเป็นเหมือน Xiaomi M365 เลยทำให้มีหลายอย่างเปลี่ยนไป และบางอย่างก็ส่งผลให้คนที่เคยชินกับการขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนกัน
- อย่างแรกเลย ผมรู้สึกว่าตัวสวิตช์คันเร่ง มันเบากว่า Ninebot Kickcooter ES2 มาก ทำให้เวลาจะเร่งเครื่องต้องระวังนิดนึง เดี๋ยวปรับความเร็วแรงเกินไป นอกจากนี้ การเบรกที่จากเดิมเป็นสวิตช์แบบเดียวกับคันเร่ง ก็กลายมาเป็นแฮนด์เบรกแบบจักรยาน แต่ว่ากดเบรกทีเดียว มันจะเบรกทั้งล้อหน้าและล้อหลังเลย โดยล้อหลังจะเป็นเบรกไฟฟ้า แต่ล้อหน้าจะเป็นดรัมเบรก
- ข่าวดีก็คือ ด้วยดีไซน์ที่มาสไตล์ Xiaomi นี่ ทำให้เราสามารถติดตั้งอุปกรณ์สำหรับพวกจักรยานได้ โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมแล้ว เพราะเส้นผ่านศูนย์กลางของแฮนด์มันไม่กว้างมากไปเหมือนตอน Ninebot Kickscooter ES2 ผมนี่เอาสวิตช์ไฟเลี้ยวมาติดได้สบายๆ เลยครับ แต่พื้นที่มันก็จำกัดอยู่ ถ้าเราอยากจะติดโน่นติดนี่เยอๆ ก็ควรจะหาอุปกรณ์เสริมมาเพิ่มล่ะนะ
- ด้วยความที่มอเตอร์มันอยู่ด้านหลัง จากเดิมที่เราสามารถยกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะมอเตอร์อยู่ล้อหน้า ทำให้พอยกขึ้นมา ล้อหลังก็ลอยขึ้นมาง่ายๆ เลย กลายมาเป็น ยกล้อหน้าลอย แต่ล้อหลังนี่แทบไม่ขึ้นตามมาด้วยเลย ซึ่งจะส่งผลต่อความสะดวกในการยกเจ้านี่ขึ้นหรือลงพื้นที่ต่างระดับสูงๆ เช่น ฟุตบาธ หรือ บันไดครับ
- และท้ายสุดคือ การชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งมีการใส่ที่ชาร์จมาไว้ให้ในตัวเลย ฉะนั้นไม่ต้องพกอะแดปเตอร์ไปไหนมาไหนแล้ว พกแค่สายชาร์จไปก็พอ และเจ้านี่สามารถเสียบสายชาร์จได้โดยตรง หรือถ้าใครมี Ninebot Kickscooter ES2 จะใช้อะแดปเตอร์นั้นชาร์จแบตเตอรี่ก็ได้ แต่จะชาร์จเต็มช้าหน่อย เพราะที่ชาร์จของมันเองนี่เป็นแบบ 121 วัตต์ แต่ของ ES2 มัน 71 วัตต์เท่านั้นเอง
เมื่อเอา Ninebot Kickscooter MAX มาขับขี่จริงจัง
ถึงแม้ว่าเจ้านี่จะเป็น Demo unit แต่มันก็ใช้งานได้จริงจัง ก็แค่เชื่อมต่อแอป และเก็บบันทึกระยะทางที่ขับขี่ไม่ได้ล่ะนะ (และก็ไม่แน่ใจด้วยว่าได้ขี่ไปแล้วกี่กิโลเมตร) แต่ถ้าเป็นการประเมินระยะ ผมคิดว่าผมใช้ Google Maps ช่วยวัดระยะได้ประมาณนึงล่ะ และที่แน่ๆ ระยะทางจากบ้าน ไป-กลับ ออฟฟิศของผม มันอยู่ที่ราวๆ 32 กิโลเมตร (ไป 14 กลับ 18) ด้วยแบตเตอรี่ของ Ninebot Kickscooter MAX นี่ ไม่ต้องชาร์จเลยฮะ ไปกลับมาแล้วค่อยชาร์จก็ยังทัน
ด้วยความที่มอเตอร์มันไปอยู่ที่ล้อหลัง ทำให้ล้อหน้าเบาไปเยอะ ผมรู้สึกได้เลยว่าแฮนด์มันเบามาก หันไปมาได้ง่ายเกิ๊น ใครที่เคยชินกับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มอเตอร์อยู่ล้อหน้ามานาน ต้องระวังให้ดี และความที่มอเตอร์ไปอยู่ที่ล้อหลัง ทำให้ถ้าเกิดเราจะเข็น Ninebot Kickscooter MAX ขึ้นเนิน มันจะไม่ยาก ล้อหลังจะไม่ลอย แต่ในทางกลับกัน หากต้องพยายามยกเจ้านี่ขึ้นบันได หรือฟุตบาธ มันจะยกเลย เพราะยกล้อหน้าลอยเลย แต่ล้อหลังไม่ลอยตาม หนักมาก


ล้อใหญ่ 10 นิ้ว ตอนแรกนึกว่าจะช่วยให้ตะลุยหลุมบ่อได้ดีขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะแบตเตอรี่มันไปอยู่ตรงฐานยืน และแบตเตอรี่มันก็ใหญ่เอาเรื่อง ส่งผลให้เจ้านี่ “ลงพุง” ครับ (ฮา) การขึ้นเนิน หรือ ลงหลุม อะไรพวกนี้ มันจะครูดท้องสกู๊ตเตอร์เอาง่ายๆ ได้ยินเสียงครูดทีไรก็แอบเจ็บปวดทุกที (ตอน Ninebot Kickscooter ES2 ก็อาการนี้เช่นกัน) แต่สิ่งที่ได้มาจากล้อยาง 10 นิ้วนี่คือ พื้นที่ขรุขระจำพวกดินลูกรัง หรือพวกเนินเตี้ยๆ หรือ ร่องเล็กๆ (พวกร่องรอยต่อระหว่างแผ่นคอนกรีตของถนน) ที่ตอนขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ผ่านทีไร้กระแทกจนโช้กดังแป้กๆ เนี่ย เจ้านี่ขี่ผ่านได้สบายๆ พูดง่ายๆ คือ ให้ความรู้สึกนิ่มนวลในการขับขี่มากขึ้น … นี่ถ้ามีโช้กแบบสปริงเพิ่มเข้ามาด้วย น่าจะดียิ่งกว่านี้อีก
ยางลมก็ต้องสูบลม เจ้านี่จะมีแถมสายต่อพ่วงสำหรับสูบลมมาให้ ตัว Demo unit ที่เขาให้มาลอง เขาไม่ได้ให้สายมาให้ผมด้วย เลยไม่สามารถสูบลมได้ ผมเลยอดวัดแรงดันลมยาง แต่พิจารณาสเปกของ Xiaomi M365 ที่ดีไซน์ใกล้เคียงกัน เขาบอกว่าแรงดันลมยางราวๆ 57psi กำลังดี

ตอนขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ช่วงฝนเพิ่งหยุดตกหมาดๆ หรือฝนตกปรอยๆ มันมีอยู่สองปัญหา คือ ล้อไม่ค่อยเกาะผิวถนน โอกาสเกิดลื่นล้มมีสูงมาก และถ้าพื้นถนนมันแฉะๆ ล้อมันจะดีดน้ำกลับมาเข้าตัว เต็มขา เต็มกลางหลังเลย มันดีดน้ำขึ้นมาสูงขนาดนั้นเลยอะ … แต่ตอนผมลองเอาไปขี่จากบ้านที่กรุงเทพฯ ไปศาลพันท้ายนรสิงห์ที่สมุทรสาคร (ระยะทางไปกลับราวๆ 42 กิโลเมตร) พอดีตอนเช้าฝนตก เลยได้โอกาสทดสอบเลยว่าปัญหานี้จะเป็นยังไงบ้าง ปรากฏว่า ดีไซน์ใหม่นี่ เหมือนจะแก้ปัญหาจุดนั้นไปแล้วครับ วิ่งบนพื้นแฉะๆ นี่ไม่มีน้ำดีดขึ้นมาเลย และตอนที่ลงแอ่งน้ำเนี่ย วิ่งแหวกน้ำได้สบายๆ หากไม่วิ่งเร็วมาก (เอาแค่ซัก 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอ) ก็จะไม่เปียกเข้ามาตรงเท้าเราเลย … ตัวรถกันน้ำระดับ IPX5 หรือ ก็คือ กันฝุ่น 100% เข้าไปทำอะไรในตัวรถไม่ได้ และกันน้ำจากการฉีดได้ ฉะนั้น ถ้าจำเป็นต้องขี่ตากฝน หรือลุยน้ำขังเล็กๆ น้อยๆ ก็พอไหว แต่ถ้าน้ำท่วม จบกันนะครับ
การเบรกแบบสองล้อพร้อมกัน โดยล้อหน้าเป็นดรัมเบรก ล้อหลังเป็นเบรกไฟฟ้า มันช่วยผสานการทำงานได้ดีมาก มันจะเบรกกึกนึงเพื่อลดความเร็วก่อน แต่พอเสร็จแล้ว มันจะฟรีล้อต่อ เพื่อไม่ให้สะดุดจนหน้าคว่ำถ้าเกิดวิ่งมาเร็วๆ โดยรวม ผมว่ามันเบรกได้ประสิทธิภาพดีกว่า Ninebot Kickscooter ES2 ที่อัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่อให้ระบบเบรกดีขึ้นซะอีกนะ จะบอกให้ … จากที่ผมลองขี่มาราวๆ 100 กิโลเมตร (ภายในสามวันที่ได้เจ้านี่มาลอง) ผมพบว่า การเบรกในระยะกะทันหันของ Ninebot Kickscooter MAX นี่ทำได้ดีมาก ผมว่าตรงนี้ช่วยให้ปลอดภัยขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่น้ำหนักมันไปอยู่ที่ล้อหลัง เพราะมอเตอร์ไฟฟ้ามันอยู่ตรงนั้น หากการเดินทางของคุณ มีความจำเป็นต้องยกตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นลงพื้นที่ต่างระดับ โดยไม่พับคอเก็บก่อน ก็จะมีอุปสรรคไม่น้อยเลย เพราะมันจะยกล้อหน้าขึ้นง่ายมาก แต่ยกล้อหลังนี่แทบไม่ขึ้นเลยครับ สมดุลของน้ำหนักมันไม่ดีเอาซะเลยในการยกแบบนี้ แต่ข้อดีของมันคือ หากต้องเข็นขึ้นเน้น น้ำหนักล้อมาอยู่ด้านหลังแบบนี้ จะช่วยไม่ให้ล้อหลังกระดกครับ จะเข็นสะดวกขึ้นมากกว่าพวกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มอเตอร์อยู่ด้านหน้า เพราะตอนเข็นขึ้น ล้อหลังจะลอย

และด้วยความที่เจ้านี่ถูกออกแบบมาให้วิ่งได้ไกลขึ้นภายในการชาร์จแบตเตอรี่ครั้งเดียว มีมอเตอร์ที่แรงขึ้น และมีอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ Built-in ย่อมหมายถึงน้ำหนักที่มากขึ้นด้วย Ninebot Kickscooter ES2 ติดแบตเตอรี่เสริม ว่าโคตรหนักแล้ว (ราวๆ 15 กิโลกรัม) เจอเจ้านี่คือชิดซ้ายไปเลยครับ เพราะมันหนักถึง 18.5 กิโลกรัมเลยทีเดียว!!!
ความท้าทายก็เลยอยู่ที่การยกแบกขึ้นสะพาน ไม่ว่าจะเป็นสะพานลอย หรือ สะพานข้ามแม่น้ำ อย่างสะพานตากสินนี่ … หลายๆ สะพาน ผมไม่แนะนำให้ขี่ขึ้นแบบเดียวกับพวกรถจักรยานยนต์นะครับ บอกเอาไว้ก่อน เพราะบางสะพาน มันชัน แล้วจะทำให้แม้ว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจะค่อยๆ กระดึ๊บๆ ขึ้นสะพานได้ แต่หากมันช้ามากไป จะเป็นการสร้างความรำคาญให้กับรถคันอื่นๆ ที่สัญจรไปมา … แต่น้ำหนัก 18.5 กิโลกรัม นี่ก็ท้าทายใช่ย่อย

แต่ผมลองแบกขึ้นสะพานลอยและสะพานตากสินมาแล้วล่ะ คือ ก็เหนื่อยกว่าตอนแบก Ninebot Kickscooter ES2 อยู่แหละ เพราะมันหนักกว่านี่นะ แต่ก็ไม่ใช่แบกไม่ไหวเลย ผมว่าแบกสะดวกกว่าด้วยซ้ำ แต่ต้องยกอยู่ในท่า Clean and jerk นะ (ฮา) ตอนแบกขึ้นลงบันไดก็จะเก้ๆ กังๆ อยู่บ้าง แต่ก็พอไหว แต่ถ้าใครคิดว่าสะพานข้ามแม่น้ำมันสูงไป แบกไม่ไหว จงใช้บริการเรือข้ามฟากเอา เขาจะคิดว่าบริการเท่ากับการเอาจักรยานลงเรือ … แต่ใครคิดจะเอาเจ้านี่ลงเรือด่วนคลองแสนแสบ ผมว่าคิดผิดคิดใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา ผมว่ายังพอไหว

แรงบิดของมอเตอร์เจ้านี่ ผมว่าแรงกว่าของ Ninebot Kickscooter ES2 ครับ สังเกตได้จากการที่มันสามารถวิ่งขึ้นสะพานได้ไวกว่า ดังนั้นสะพานชันๆ จึงไม่ใช่ปัญหาอะไร นี่ขนาดวิ่งแบบ Normal mode นะ ถ้าวิ่งแบบ Sport mode ก็จะขึ้นสะพานชันๆ ได้สูงขึ้นไปอีก (แต่ต้องมีระยะวิ่งทำความเร็วมาช่วยด้วยนะ ไม่ใช่จะบิดขึ้นไปจากตีนสะพานได้เลย)

เอามาลองขับขี่ตอนกลางคืน ผมลองขี่ไปซื้อมาม่าถ้วยที่ 7-ELEVEN ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปราวๆ 1.2 กิโลเมตร ไฟหน้าของ Ninebot Kickscooter MAX นี่ก็สว่างใช่ย่อยเลยครับ แต่ถ้าเปิดแล้ว ไฟ LED บนหน้าจอแสดงผลจะหรี่ลงไปหน่อย แต่เนื่องจากว่าเป็นเวลากลางคืน เลยไม่ส่งผลกระทบอะไรครับ ไฟก็ยังดูสว่างดีอยู่ ตอนเปิดไฟหน้า ไฟท้ายสีแดงก็จะติดโดยอัตโนมัติครับ
ที่น่าจะขาดหายไปคือ ไอ้ไฟ LED ดิสโก้ด้านใต้ท้องรถ ซึ่งผมว่าเอาออกไปก็ดีแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้ใช้

Ninebot บอกว่า เจ้านี่วิ่งได้ระยะทางไกลสุด 65 กิโลเมตร แต่ผมว่านั่นอาจจะหมายถึง วิ่งทางเรียบ แล้ววิ่งความเร็วในโหมด Eco (15 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ไปตลอดทาง ซึ่งไม่น่าจะใช้พฤติกรรมการใช้งานแบบปกติ ผมเลยขอทดสอบ ด้วยการวิ่งในโหมด Standard หรือ ความเร็วปกติ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากแถวๆ เซ็นทรัลพระราม 2 (กรุงเทพฯ) ไปที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ (สมุทรสาคร) ซึ่งประเมินระยะทางไป-กลับจาก Google Maps แล้ว น่าจะสี่สิบกว่ากิโลเมตรดูครับ


อ้างอิงจาก Google Maps ระยะทางไปกลับที่ผมขี่คือราวๆ 42 กิโลเมตร ใช้เวลารวมราวๆ 140 นาทีครับ หรือสามารถทำความเร็วเฉลี่ยได้ที่ราวๆ 18 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ดูช้าไปหน่อย ทั้งนี้เพราะผมมีแวะหยุดถ่ายรูปโน่นนี่ระหว่างทางบ้าง เพื่อนำมาใช้ประกอบการรีวิว) กลับมาแล้ว ผมลองเช็กดู มีแบตเตอรี่เหลือราวๆ 20% เลยลองเอามาคำนวณแบบง่ายๆ ลวกๆ พบว่า แบตเตอรี่ 1% น่าจะวิ่งได้ราวๆ 500 เมตร และเมื่อพิจารณาว่าพอแบตเตอรี่เหลือใกล้ 20% เนี่ย เหมือนแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่จะเริ่มตก ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ก็ตกลงมาจาก 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือ 24 กิโลเมตร/ชั่วโมง และน่าจะลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าจะให้เซฟ ระยะทางสูงสุดที่ Ninebot Kickscooter MAX จะวิ่งได้น่าจะเป็น 45-47 กิโลเมตร ครับ ให้แบตเตอรี่เหลือไว้ซัก 10%-15% กันเหนียว และถ้าแบตเตอรี่มันเหลือแค่นั้นแล้ว แนะนำให้ปรับความเร็วลงมาที่ Eco mode (15 กิโลเมตร/ชั่วโมง) แทน

พอขี่กลับมาจากศาลพันท้ายนรสิงห์ ถึงบ้าน ผมก็ชาร์จแบตเตอรี่เลยครับ เริ่มชาร์จตอนราวๆ 09:10 จนถึง 13:17 นี่แบตเตอรี่จาก 20% เพิ่มมาเป็น 91% แต่ใช้เวลาแค่ 40 นาที ในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เพิ่มจาก 20% มาเป็น 40% นั่นหมายความว่า การชาร์จแบตเตอรี่จะมีการจ่ายกระแสไฟมากในช่วงแรกๆ และค่อยๆ จ่ายในช่วงหลังๆ ซึ่งเป็นเทคนิคปกติในการชาร์จแบตเตอรี่แบบเร็ว ในขณะที่พยายามยืดอายุการใช้งานด้วย โดยให้ค่อยๆ ชาร์จแบตเตอรี่ตอนใกล้ๆ จะเต็ม … ผมประเมินว่า ใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่อยู่ที่ราวๆ 6 ชั่วโมง ตามที่ Ninebot ระบุเอาไว้ในสเปกครับ

อะไรที่ Ninebot จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก?
การได้ลองขี่ยาวๆ ต่อเนื่องแบบนี้ บนสภาพของท้องถนนที่มีความหลากหลาย ผมมองว่า Ninebot จะสามารถปรับปรุงได้อย่างน้อยๆ ใน สองเรื่อง คือ
- จำหน่ายเบาะนั่งเป็นอุปกรณ์เสริม และให้สามารถพับเก็บได้ด้วย สำหรับคนที่กะจะใช้เจ้านี่เป็นยานพาหนะในการเดินทางแบบระยะยาวๆ เต็มพิกัดของมัน เพราะการยืนขี่ยาวๆ เกิน 60 นาทีนี่เมื่อยมาก
- ไหนๆ ก็เปลี่ยนมาใช้ยางลมแล้ว ก็หมายความว่าต้องสูบลม และต้องระวังเรื่องระดับแรงดันลมยาง ต้องระวังยางรั่วซึม เพราะเจ้านี่ไม่เหมือนจักรยานที่ถอดล้อออกมาปะไม่ยาก และร้านรับปะยางก็มีทั่วไป ผมเลยมองว่า Ninebot ควรจะกัดฟัน เพิ่มระบบ TPMS (Tyre Pressure Monitoring System) หรือ ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง และให้สามารถแสดงผลบนแอป และสามารถแจ้งเตือนหากมีการรั่ว แบบนี้ก็จะช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างมั่นใจมากขึ้น
บทสรุปการรีวิว Ninebot Kickscooter MAX
ในฐานะที่ผมเป็นคนขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปกลับที่ทำงานแบบไม่พึ่งพาการเดินทางในรูปแบบอื่นเลย (ถ้าฝนไม่ตกอะนะ) และผมก็คิดอยากได้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ผมจะสามารถขี่ไปกลับออฟฟิศได้โดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ที่ออฟฟิศ และยังเหลือวิ่งต่อได้อีกซักระยะ เผื่อต้องไปประชุมที่ไหน อะไรแบบนี้ หรือวันหยุด อยากขี่ไปกินลม เที่ยวบางขุนเทียนชายทะเล ก็ทำได้ ผมคิดว่าผมเสร็จเจ้านี่แน่นอน

แต่สิ่งที่จะมาทำให้คนซื้อฉุกคิดนิดหน่อย ก็น่าจะเป็นเรื่องของสนนราคาค่าตัว เพราะ MONOWHEEL เขาตั้งราคาเอาไว้ที่ 39,900 บาท (ราคาโปรโมชัน 36,900 บาท) ซึ่งราคานี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ซื้อมอเตอร์ไซค์ไปเลยดีกว่าไหม อันนี้ก็แล้วแต่คิดจริงๆ ครับ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า อายุการใช้งานผมว่าสั้นกว่ามอเตอร์ไซค์ ระยะทางวิ่งก็สั้นกว่า(มาก) และเพิ่มระยะวิ่งไม่ได้สะดวกเท่า แต่จุดเด่นของมันก็คือ Mobility หรือ ความคล่องตัว ซึ่งมีมากกว่ามากๆ เช่นกัน อย่างมอเตอร์ไซค์นี่ผมเอาไปจอดข้างโต๊ะในออฟฟิศไม่ได้หรอกนะ เอาเข้าลิฟต์ก็ไม่ได้แน่นอน (ฮา) แต่เจ้านี่มันทำได้อ่ะ
ฉะนั้น จะซื้อหรือไม่ ผมว่าอยู่ที่เรามองว่าเราใช้งานมันได้คุ้มค่าหรือเปล่าล่ะนะ