เวลาผมรีวิว QNAP ก็มักจะรีวิว NAS หรือ Network Attached Storage ซะมาก แต่คราวนี้ขอรีวิว DAS หรือ Direct Attached Storage บ้างครับ ความแตกต่างก็คือ เจ้านี่มันจะไม่มีความสามารถในการเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายครับ แต่มันสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB 3.1 Gen 1 ที่ให้แบนด์วิธ 10Gbps (ราวๆ 625MB/s ตามทฤษฎี) คำถามจึงมีอยู่ว่า ด้วยสนนราคาเกือบ 9 พันบาทของเจ้านี่ (ไม่มีฮาร์ดดิสก์ให้ด้วย) ทำไมเราถึงควรเลือกใช้มัน มากกว่าการซื้อ External HDD มาเสียบ ทั้งๆ ที่ก็เป็น Direct Attached Storage เหมือนๆ กัน? บล็อกรีวิวครั้งนี้มีคำตอบให้ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บทความตอนนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก QNAP Thailand ในการให้ยืม QNAP TR-004 มารีวิวครับ แต่เนื้อหาทั้งหมด และความเห็นทั้งหมดของผมในบทความนี้ QNAP Thailand ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลยแม้แต่น้อยครับ
อะไรที่จะทำให้เราเลือกใช้ QNAP TR-004 มากกว่าแค่จิ้ม External HDD เฉยๆ?
อย่างที่บอกไปตอนโปรยก่อนเข้าบล็อกอะครับ เจ้านี่ราคาเกือบ 9 พันบาท (8,690 บาท ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้อยู่) โดยยังไม่มีฮาร์ดดิสก์ด้วยซ้ำ แพงขนาดนี้ แล้วเป็นแค่ Direct Attached Storage เหมือนๆ กับพวก External HDD เราไปซื้อฮาร์ดดิสก์มาจิ้มไปเลย ง่ายกว่าไหม ถูกกว่าด้วย … คำตอบของผมคือ มันแล้วแต่ความต้องการในการใช้งานครับ
สำหรับผมแล้ว External HDD อะ มันเหมาะกับการเป็นที่พักข้อมูลชั่วคราวมากกว่า และด้วยความที่มันอาจจะถูกถอดเข้าถอดออก พกพาไปไหนมาไหนได้ และไม่มีเทคโนโลยีอะเไรมาช่วยในเรื่องการสำรองข้อมูล มันจึงเป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่มีความเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลจะสูญหายจากปัจจัยต่างๆ มาก โดยเฉพาะจากความเสียหายด้านฮาร์ดแวร์ (เช่น ตกหล่น) ฉะนั้น ราคาที่ถูกกว่า มันก็แลกมาด้วยความเสี่ยงนี่แหละ ผมถึงบอกว่ามันเหมาะจะเอามาเป็นที่พักข้อมูลชั่วคราวมากกว่าจะเอามาเก็บไว้ถาวร … นอกจากนี้ มันยังมีข้อจำกัดอีกอย่างก็คือเรื่องของความจุสูงสุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ฮาร์ดดิสก์ลูกนึงจุได้สูงสุดก็ 10TB ครับ เท่าที่มีขายในท้องตลาด แต่นั่นคือฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5″ ลูกบักเอ้งนะ
ในขณะที่ QNAP TR-004 นั้น จะไปไม่ถึงขั้น NAS (เพราะขาดความสามารถในการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์) แต่มันยังคงมีความสามารถในการรองรับ RAID ระดับฮาร์ดแวร์ ซึ่งการทำ RAID1 หรือ RAID5 ต่างก็ช่วยในเรื่องการป้องกันข้อมูลสูญหายอันเกิดจากปัจจัยด้านฮาร์ดแวร์ (ฮาร์ดดิสก์เจ๊ง 1 ลูก) ได้ และในแง่ของความจุ ตัว TR-004 นี่ถ้าทำเป็นแบบ JBOD (Just a Bunch of Disk) ก็จะสามารถจุได้มากถึง 40TB เลยทีเดียว แต่ถ้าทำ RAID5 ก็จะได้ที่ 30TB ครับ มากกว่าเห็นๆ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสื่อบันทึกข้อมูลที่ความจุสูงๆ ครับ … และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราเอาไปเสียบกะ QNAP NAS แล้ว เราจะสามารถใช้งานมันเป็นเหมือน External storage ก็ได้ หรือจะเป็น Expansion unit เพื่อเพิ่มความจุให้กับ NAS ก็ได้เช่นกัน
ฉะนั้น ที่เราจะยอมจ่ายแพงเพื่อใช้ QNAP TR-004 ก็มาจากสามเหตุผลหลักๆ เลย (อาจจะแค่เหตุผลเดียว หรือสองข้อรวมกัน) คือ
- การป้องกันข้อมูลสูญหายจากกรณีฮาร์ดดิสก์เสีย (แค่ทีละลูกนะ เสียพร้อมกันสองลูกก็บ๊ายบายเช่นกัน)
- ต้องการความจุของสื่อบันทึกข้อมูลสูงๆ แบบเป็น Volume เดียว เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ ซึ่ง External HDD ให้เราเรื่องนี้ไม่ได้
- มี QNAP NAS ใช้อยู่ อยากเพิ่มความจุให้มากกว่านี้ แต่ว่าไม่สะดวกที่จะไปอัพเกรดตัว QNAP NAS ก็ซื้อ TR-004 มาใช้แทน Expansion unit ได้
ทีนี้มาดูตัว QNAP TR-004 USB-C Direct Attached Storage with Hardware RAID กันบ้าง
ตัว QNAP TR-004 นี่ก็มีหน้าตาคล้ายๆ QNAP NAS แบบดั้งเดิมนั่นแหละครับ ด้านหน้าก็จะมีไฟ LED แสดงสถานะ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิด USB หรือฮาร์ดดิสก์แต่ละลูก และมีปุ่มรูปสามเหลี่ยมคือการ Eject ตัวมันเองออกมาจากการเชื่อมต่อ และปุ่มที่มีสัญลักษณ์ของการก็อปปี้ คือการก็อปปี้ข้อมูลในคลิกเดียว (ใช้ได้ต่อเมื่อเชื่อมต่อกับ QNAP NAS ละนะ) ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์แต่ละตัว จะมีรูสลักสำหรับล็อกถาดฮาร์ดดิสก์ครับ กุญแจจะมีมาให้สองดอกภายในกล่อง ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่ลูกกุญแจอะไรหรอก มันก็แค่บล็อกสี่เหลี่ยมที่เอาไว้ขันสลักนั่นแหละครับ ถ้าหายไป เราก็สามารถทำบล็อกคล้ายๆ กันมาหมุนได้ครับ

ที่อาจจะแปลกหูแปลกตาไป ผมว่าน่าจะเป็นในส่วนของด้านหลังมากกว่า เพราะนอกจากพัดลมตัวใหญ่ๆ ที่เอาไว้ระบายความร้อน กับช่องเสียบปลั๊กหัว DC แล้ว ก็จะเห็นว่ามี DIP switch ที่เอาไว้ปรับโหมด หรือ Disk configuration พร้อมปุ่ม SET และมีพอร์ต USB Type-C กับสวิตช์เปิด-ปิดตัวเครื่องอยู่ตรงนี้ทั้งหมด

วิธีการเลือกโหมด ทำได้สองแบบครับ แบบแรกคือตั้งค่าเพื่อให้เลือกไปเลยด้วยฮาร์ดแวร์ ว่าจะเป็นแบบ Individual (ฮาร์ดดิสก์แต่ละลูกก็ตัวใครตัวมัน) JBOD (Just a Bunch of Disk มองฮาร์ดดิสก์ทุกลูกเป็น Storage pool เดียวได้) RAID0 RAID1 RAID5 และอีกแบบก็คือ Software control ที่จะให้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนด ถ้าเราเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เราก็ไปดาวน์โหลดโปรแกรม QNAP External RAID Manager (รองรับทั้ง Windows และ macOS) มาติดตั้ง หรือถ้าเกิดเราใช้ต่อกับ QNAP NAS เราก็ใช้ QTS Storage & Snapshots ในการบริหารจัดการ

วิธีการเปลี่ยนโหมดด้วย DIP switch คือ เปลี่ยนสวิตช์ตามที่กำหนดไว้ให้ถูกต้อง จากนั้นก็กดปุ่ม SET ไว้ราวๆ 3 วินาที มันจะดังบี๊บทีนึง คือเรียบร้อย
คำเตือน
ต้องจำเอาไว้เสมอว่า ถ้าเปลี่ยนโหมดปุ๊บ ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์คือหายหมดนะจ๊ะ ฉะนั้นจะเปลี่ยนโหมดละก็ อย่าลืมแบ็กอัพข้อมูลออกมาก่อนด้วยนะ
เช่นเดียวกับ QNAP NAS รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน การติดตั้ง TR-004 นี่ไม่ยุ่งยากเลยครับ สามารถติดตั้งฮาร์ดดิสก์เข้ากับถาดได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย แกะปิดแกะปิด จบ สะดวกจริงๆ ติดตั้งฮาร์ดดิสก์ 2 ลูก ลูกละ 4TB เข้าไปดู ไม่ถึง 3 นาทีเสร็จ พร้อมเริ่มใช้งานได้

ลองเสียบกับ QNAP NAS ดูก่อน
ถ้าจะใช้กับ QNAP NAS ละก็ ตอนเสียบใช้งานครั้งแรก ระบบมันจะตรวจเจอว่ามีการเสียบ External RAID device เข้ามา แล้วมันก็จะให้เราเลือกว่าเราอยากจะใช้งานมันแบบไหน ระหว่าง Configure external storage partitions หรือก็คือการใช้ TR-004 เหมือนเป็น External storage ที่เสียบกับ QNAP NAS หรือ Create NAS storage space ซึ่งก็คือการสร้าง Storage pool ให้กับ TR-004 แล้วใช้งานเจ้านี่เสมือนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ QNAP NAS เลย แต่เป็น RAID Group คนละวงกัน นั่นหมายความว่า สมมติเราใช้ QNAP TS-453Be ทำ RAID5 อยู่ เป็น Storage pool 1 และก็มี DataVol1 อยู่ตรงนี้ ตัว TR-004 สามารถทำตัวเป็น RAID Group 2 ที่เป็น Storage pool 2 และ DataVol2 ได้ … ข้อจำกัดมันมีอยู่แค่ว่า ถ้าจะใช้แบบนี้ TR-004 จะมี RAID Group ได้ชุดเดียวครับ

ถ้าเราต้องการใช้งาน TR-004 เหมือนกับ Expansion unit เราก็ต้องเลือกเป็น Create NAS storage space นี่แหละครับ และจริงๆ แล้วมันมีข้อดีกว่าการใช้ Expansion unit ด้วย เพราะมันทำงานด้วยตัวมันเอง เลยกินทรัพยากรจาก QNAP NAS น้อยกว่าการใช้งาน QNAP NAS + Expansion unit อีก
แต่ถ้าแค่ต้องการเอาไว้เก็บข้อมูล ก็สามารถตั้งเป็น External Storage ได้แหง ง่ายๆ ดี ซึ่งก็คล้ายๆ กับการเสียบฮาร์ดดิสก์เข้าไป มันก็จะมองความจุทั้งหมดที่ TR-004 มี เป็นฮาร์ดดิสก์ลูกนึง แต่มันมีข้อดีกว่าการใช้ External HDD ตรงที่ ถ้าเราตั้งให้เจ้านี่เป็น RAID1 หรือ RAID5 มันก็จะมีความสามารถในการป้องกันข้อมูลสูญหายได้เท่ากับ RAID นั้นๆ ในตัวเลย … นอกจากนี้ การใช้งานในรูปแบบนี้ ยังเหมาะสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่าง NAS ด้วยกัน ที่ปกติต้องใช้เแบนด์วิธโหดๆ ด้วย อันนี้คิดซะว่าเราเอา External HDD ขนาดโคตรใหญ่มาใช้ ประมาณนั้นเลย (แต่ก็แอบแบกหนักเช่นกัน)
สำหรับการใช้งานร่วมกับ QNAP NAS ผมว่าตั้ง DIP switch ไปที่ Software control น่าจะสะดวกดี
แล้วถ้าเอามาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ล่ะ? – กรณีศึกษา Windows 10
การนำมาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ จริงๆ ก็คล้ายๆ กับการเสียบกับ External HDD แบบตั้งโต๊ะนะผมว่า เพียงแต่เราก็ต้องเลือกก่อนว่าเราอยากจะใช้เจ้านี่บน Disk configuration แบบไหน ซึ่งผมก็อยากแนะนำว่าใช้เป็น RAID1 หรือมีฮาร์ดดิสก์สองลูก หรือ RAID5 ถ้ามี 3-4 ลูก แต่สำหรับบางคนที่อยากได้แค่ความจุมากๆ จริงๆ ไม่สนใจว่าข้อมูลจะสูญหายไปถ้าฮาร์ดดิสก์เสีย ก็ใช้เป็น JBOD ก็ได้ ไม่ว่ากัน
วิธีการที่ง่ายสุดในกรณีนี้ ผมคิดว่าไม่ต้องใช้ Software control ครับ ตั้ง DIP switch ไปเป็น Disk configuration ที่เราต้องการเลยดีกว่า อย่างกรณีนี้ ผมใส่ 4TB ไปสองลูก ก็ตั้งเป็น RAID1 หรือไม่ก็ JBOD (ถ้าผมแค่ต้องการความจุเต็ม 8TB ไปเลย) จากนั้น ตัวระบบปฏิบัติการก็จะตรวจพบอุปกรณ์ครับ แต่มันจะยังไม่ได้ฟอร์แมต เราก็แค่ใช้ Disk Management (ในกรณีที่เป็น Windows 10) หรือ Disk Utility (ในกรณีที่เป็น macOS) แล้วทำการฟอร์แมต ก็เท่านั้นเอง

จากนั้นมันก็พร้อมจะใช้งานแล้วครับ แต่ถ้าใครจะใช้ Software control ก็อย่าลืมไปดาวน์โหลดแอป QNAP External RAID Management มาติดตั้งล่ะ ถึงจะสามารถสร้าง RAID บน TR-004 ได้นะครับ … ผมพบว่าการทำ RAID ด้วย DIP switch มีข้อได้เปรียบเรื่องนึง (แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องดี) คือ แม้ S.M.A.R.T. จะแจ้งเตือนว่ามีฮาร์ดดิสก์ที่เป็นปัญหา (ในกรณีของผม 4TB ลูกนึงมันมี Warning แล้ว) มันก็จะยังยอมให้สร้าง RAID Group อยู่ดี ผิดกับการใช้ Software control ที่ถ้าเกิดมีการแจ้งเตือนแบบนี้ มันจะมองว่าฮาร์ดดิสก์ไม่เหมาะสม และไม่ยอมให้เราสร้าง RAID Group ที่มีฮาร์ดดิสก์ลูกนั้นเลย (ซึ่งจริงๆ มันเป็นความเสี่ยงข้อมูลสูญหายนะ แต่สำหรับผมที่แค่ “ทดสอบ” มันคือทำให้ผมใช้ฮาร์ดดิสก์ได้จนถึงวาระสุดท้ายของมัน … ฮา)

นี่ให้ดูหน้าตาของ QNAP External RAID Manager ครับ แต่สังเกตดีๆ จะเห็นว่าผมทำ RAID1 ไว้ แต่ตัว TR-004 มันขึ้นเตือนตกใจ ซึ่งหากเราคลิกไปดูที่ Disk Information จะเห็นว่าฮาร์ดดิสก์ลูกแรกของผม มันแจ้งเตือน Warning จาก S.M.A.R.T. แล้ว ซึ่งถ้าใช้เจ้าแอปนี้ในการสร้าง RAID Group มันจะไม่ยอมให้ผมใช้ฮาร์ดดิสก์ลูกนี้ แต่ในการทดสอบรีวิวนี้ ผมไม่ได้ห่วงเรื่องข้อมูลหายงิ

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย คอมพิวเตอร์เราก็จะมองเห็น QNAP TR-004 นี่เป็น Removable drive หรือ External HDD นั่นแหละ แต่ตรงนี้ก็มีข้อควรระวังนะครับ คือ เราอยากจะเอามันไปใช้กับระบบปฏิบัติการอะไรบ้าง ต้องนึกให้ดีๆ เพราะอย่างด้านบน NTFS เนี่ย Windows อ่านและเขียนได้ แต่ macOS อ่านได้อย่างเดียวเขียนไม่ได้ แต่ถ้าเราฟอร์แมตเป็น HFS+ ละก็ Windows จะอ่านหรือเขียนไม่ได้เลย อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราใช้ exFAT แม้ว่าจะใช้กับ Windows หรือ macOS ได้หมด แต่บน QNAP NAS เราต้องซื้อไลเซ่นส์มาใช้ก่อน เพื่อให้มันรองรับ exFAT นะครับ
บทสรุปการรีวิว QNAP TR-004 USB-C Direct Attached Storage with Hardware RAID
ผมว่าเจ้านี่ไม่ใช่ของที่คนทั่วๆ ไปจะเอามาใช้แน่ๆ แต่ผมรู้สึกได้ว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากมันสุดๆ น่าจะเป็นพวก ตากล้องทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ที่ต้องการสื่อบันทึกข้อมูลขนาดใหญ่เอาไว้เก็บงานของตัวเอง โดยที่อาจจะไม่ได้ต้องการฟีเจอร์อื่นๆ ของ QNAP NAS เลย คือแบบ เน้นใช้งานเยี่ยง External HDD แต่ว่าต้องการความสามารถในการป้องกันข้อมูลสูญหายในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์พัง อะไรแบบนี้
อีกกลุ่มนึงที่จะได้ใช้ประโยชน์คือภาคธุรกิจ ที่อยากจะได้อุปกรณ์มาช่วยเพิ่มความจุให้กับ QNAP NAS ที่ตัวเองมีอยู่ โดยเอามาใช้แทน Expansion unit หรือ เอา TR-004 มาทำหน้าที่ในการสำรองข้อมูลและโยกย้ายข้อมูลระหว่าง QNAP NAS ในกรณีที่มีขนาดของข้อมูลมหาศาลมาก ชนิดที่เรียกว่า แบกเครื่องหนักหลายกิโลกรัมไป ยังสะดวกกว่ารอมันค่อยๆ ทยอยส่งข้อมูลผ่าน LAN อะ