Home>>รีวิว>>รีวิว Huawei MatePad 10.4 แท็บเล็ต สเปกดี ลำโพง 4 ตัว ราคาไม่ถึงหมื่น
Huawei MatePad 10.4 WiFi
รีวิว

รีวิว Huawei MatePad 10.4 แท็บเล็ต สเปกดี ลำโพง 4 ตัว ราคาไม่ถึงหมื่น

ทางเลือกสำหรับแท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ในประเทศไทยมีไม่มาก ตอนนี้น่าจะเหลือแค่ Samsung กับ Huawei แล้วละมั้งที่ยังทำกันออกมาขายอยู่ แต่บอกได้ว่ายังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอุปกรณ์จำพวกแท็บเล็ตอยู่นะ เพียงแต่อาจจะไม่ได้ต้องการราคาแพงเวอร์วังมาก Huawei เขาส่ง Huawei MatePad 10.4 มาให้ลองเล่นดู ก็ว่าจะรีวิวให้ได้อ่านกันครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

Huawei MatePad 10.4 ตัวที่รีวิวครั้งนี้ เช่นเคย ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากทาง Huawei Thailand ส่งมาให้รีวิว ก็เอามาเล่นๆ ในความรู้สึกของแท็บเล็ตว่าทำอะไรได้บ้าง แล้วทำได้ดีแค่ไหน จากนั้นก็รีวิวกันอย่างตรงไปตรงมา Huawei ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องเนื้อหาแต่อย่างใด

Huawei MatePad 10.4 WiFi ด้านหน้า

ภายในกล่องก็มีที่ชาร์จแบบ 10 วัตต์ (5V 2A) มาให้อันนึง เป็นปลั๊กหัวกลม สาย USB-A to USB-C ความยาว 1 เมตร ที่เป็นทั้งสายชาร์จและสายดาต้าเส้นนึง กับหัวแปลง USB-C เป็นช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. อีกอัน เพราะเจ้านี่ไม่มีช่องเสียบหูฟังฮะ

Huawei MatePad 10.4 WiFi ด้านหลัง

ดีไซน์ของแท็บเล็ต บางและเบามาก ตัวโครงของแท็บเล็ตเป็นอลูมิเนียม แต่ฝาหลังเนี่ย เดาว่าเป็นพลาสติกแฮะ แต่ทำออกมาดูดีอยู่ น้ำหนักแท็บเล็ต 450 กรัม ชิลล์ๆ บางเบา ถือสะดวก จอแสดงผลความละเอียด 2,000 × 1,200 พิกเซล เป็นอัตราส่วนการแสดงผล 5:3 (หรือ 15:9) ดูแปลกๆ อยู่ คือ จะ 4:3 ก็ไม่ใช่ จะ 16:9 ก็ไม่เชิง

ภาพระยะใกล้ของ Huawei MatePad 10.4 WiFi เห็นกล้องด้านหน้า

พิจารณาจากการวางตำแหน่งของกล้องหน้าแล้ว เจ้านี่เหมือนจะเน้นการใช้งานเป็นแนวนอนเป็นหลักอะ รอบๆ ตัวเครื่องมีลำโพง 4 ตัว อารมณ์เดียวกับ iPad Pro เลยทีเดียว (แต่ราคาถูกกว่ากันเบิ้มมาก) นอกจากนั้นแล้วก็มีช่องใส่ MicroSD card ที่เหมือนกับจะเป็นถาดใส่ซิม แต่พอแกะออกมาดูแล้ว ใส่ซิมไม่ได้จ้า 555 ก็รุ่นนี้มัน WiFi-only อ้ะ แล้วก็มีปุ่ม Volume ปุ่ม Power กะพอร์ต USB ที่เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็ต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ (เน้นพวกแฟลชไดร์ฟเป็นหลัก)

ถาดใส่ MicroSD card ของ Huawei MatePad 10.4 WiFi

ตัวสเปกฮาร์ดแวร์ใช้หน่วยประมวลผลเป็น Kirin 810 Octa-core 2.27GHz ให้แรมมา 4GB กับความจุ 64GB ซึ่ง Huawei เลือกใช้ Storage ที่ความเร็วสูงดีอยู่นะ ลองทดสอบแล้ว อ่าน 200MB/s เขียน 250MB/s ก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มสเปกกลางๆ ก็สมกับราคา 9,990 บาทอยู่ ซึ่งจากที่ลองใช้งานมา ผมสรุปประสบการณ์ในการใช้งานให้ได้ดังนี้ครับ

● หน้าจอแสดงผล 10.4 นิ้ว แบบ IPS LCD ความละเอียดสูง ดูดี ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายสบายๆ จะท่องเว็บ อ่านการ์ตูนออนไลน์ อ่านอีบุ๊ก ดูวิดีโอ YouTube ไม่มีปัญหา สัดส่วนการแสดงผลแปลกๆ 15:9 แม้จะทำให้เห็นขอบดำๆ เวลาดูวิดีโอยู่บ้าง แต่ไม่เยอะ

● สิ่งที่ผมชอบเวลาเอา Huawei MatePad 10.4 ตัวนี้มาอ่านการ์ตูนออนไลน์ หรืออีบุ๊ก โดยเฉพาะตอนกลางคืนก็คือ มันมีโหมดสบายตา และโหมดอีบุ๊ก ที่เปิดปิดการใช้งานได้ไม่ยาก แค่ลากเอา Quick settings ลงมา และแตะทีเดียวนี่แหละ โหมดสบายตามันจะตัดพวกแสงสีฟ้าออก ทำให้สีออกมาในโทนอุ่นมากขึ้น ส่วนอีบุ๊กจะทำให้การแสดงผลมันเป็น Greyscale ไปเลย

● ในแง่ความสะดวกในการใช้งาน แม้ว่าจะไม่มีตัวสแกนลายนิ้วมือ แต่กล้องหน้าสามารถปลดล็อกหน้าจอด้วยใบหน้าได้ ตั้งค่าไม่ยาก และแม้ในที่มืดๆ ก็ยังสามารถสแกนได้ คาดว่าน่าจะเพราะความสว่างจากหน้าจอนี่แหละ

● ไม่มี Google Mobile Services เดือดร้อนมากไหม? อยู่ที่ว่าเราต้องการเอามาใช้ทำอะไรจริงๆ ผมได้เขียนอธิบายเอาไว้ในบล็อก “ความเห็นส่วนตัวของผมเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของ Huawei แบบที่ไม่มี Google Mobile Service” แล้ว

● ลำโพง 4 ตัวของ Huawei MatePad 10.4 นี่เยี่ยมมาก ให้คุณภาพเสียงที่ดีทีเดียว แสดงผลเสียงย่านต่ำได้ประมาณนึงด้วย เรียกว่าเอามาดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม (เท่าที่ Huawei AppGallery และ 3rd party app store จะอำนวย) ถ้าไม่ต้องเกรงใจคนรอบตัวเรื่องเสียง อยากบอกว่าไม่ต้องใส่หรอกหูฟัง เสียงลำโพงเนี่ยแหละ ดีงามแล้ว ผมลองเอามาเทียบกับ iPad Pro 10.5″ ที่ผมมี ลำโพง 4 ตัว เหมือนกัน ผมว่าอันไหนจะชนะ แล้วแต่คนชอบ โปรไฟล์เสียงของ Huawei MatePad 10.4 กะ iPad Pro 10.5″ มันต่างกัน

Huawei MatePad 10.4 WiFi เปิดแอป Zoom meeting อยู่ วางอยู่บนแท่นวางแท็บเล็ตบนโต๊ะทำงาน

● หาแท่นวางดีๆ นะ เอามาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับทำการประชุมทางไกลได้สบายๆ เลย จะ Zoom จะ Microsoft Teams หรือ LINE หรือ Skype นี่ไม่มีปัญหา (ยกเว้นแค่ Google Meets ที่ต้องใช้ Google Mobile Services นี่แหละ) ลำโพงดีๆ ไมโครโฟนดีๆ ของ Huawei MatePad 10.4 นี่ตอบโจทย์มาก มองในแง่ขนาดนี่ เหมาะกว่า iPad Pro 10.5″ อีก (ผมมักจะใช้ iPad Pro 10.5″ ในการประชุมออนไลน์)

● กล้องหน้าของ Huawei MatePad 10.4 ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะใช้งานพวกสแกนปลดล็อกใบหน้า หรือทำเป็นเว็บแคม ประชุมออนไลน์ เวิร์กอยู่ ส่วนกล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล คุณภาพของภาพที่ได้ แค่พอแก้ขัดเวลาไม่สะดวกที่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายรูปนะ หรือจะใช้กับพวกแอป Office Lens ใช้กล้องหลังถ่ายสแกนเอกสารก็โอเค

หน้าเว็บ YouTube เปิดด้วย Huawei MatePad 10.4 WiFi

● ผมชอบเบราวเซอร์ที่มากับตัวเครื่องมาก เพราะมันถูกตั้งค่าให้เปิดเว็บโดยเรียกใช้เว็บไซต์แบบเดสก์ท็อปก่อนเลย ทำให้เราได้ฟีเจอร์ของพวกเว็บไซต์ครบกว่า เห็นเว็บไซต์เหมือนเปิดด้วยคอมพิวเตอร์จริงๆ และหากเราไม่อยากได้เวอร์ชันเดสก์ท็อป ก็เปลี่ยนได้ง่ายๆ แค่แตะไอคอนรูปจอคอมพิวเตอร์ตรง Address bar สะดวกมาก อ้อ! ไม่ใช่ว่าเบราวเซอร์อื่นทำไม่ได้นะ แต่ถ้าเป็นเบราวเซอร์อื่นๆ เราจะได้เว็บไซต์ในเวอร์ชันโมบายล์มาเป็น Default เราต้องเสียเวลาไปแตะตรงนั้นตรงนี้หน่อย ก่อนที่จะเปลี่ยนให้โหลดเว็บเป็นเวอร์ชันเดสก์ท็อปได้

● Huawei MatePad 10.4 สามารถใช้งานร่วมกับ Huawei Smart Keyboard ได้ แปลงแท็บเล็ตเป็นเกือบๆ โน้ตบุ๊กย่อมๆ ได้ เวลาต้องทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น แก้เอกสาร Microsoft Word หรือเช็กอีเมลนี่พอไหว อะไรพวกเนี้ย ไม่ต้องพึ่งพา Google Mobile Services เท่าไหร่ ยกเว้นกรณีเดียวคือ ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย Google Docs นี่แหละจะวุ่นๆ หน่อย เพราะเบราวเซอร์ของ Huawei เองจะล็อกอินเข้า Google Drive ไม่ได้ Google เขาบอกว่าเบราวเซอร์ไม่ปลอดภัย ถ้าไปใช้ Microsoft Edge หรือ Mozilla Firefox ก็จะล็อกอินได้ แต่ถ้าจะแก้ไขเอกสาร ก็ต้องไปเสียเวลาแตะเลือกให้เปิดเว็บเป็น Desktop site อีกที แอบวุ่นๆ แต่ก็พอทำงานได้ประมาณนึงนะ แต่ควรมีคีย์บอร์ดแบบมี TouchPad ครับ อย่าแก้ด้วย On-screen keyboard เด็ดขาด ไม่เวิร์กอย่างแรง

ลองใช้ M-Pencil กับ Huawei MatePad 10.4 WiFi วาดการ์ตูนด้วยแอป MediaBang

● ตัว Huawei MatePad 10.4 นี่รองรับการใช้งาน M-Pencil ซึ่งก็คือปากกาสไตลัสสำหรับใช้เขียนและวาดภาพของ Huawei นั่นเอง แต่ต้องไปซื้อเพิ่มเอาเองนะ เซ็ตนึงสามพันกว่าบาทมั้ง ต้องเป็นครบเซ็ตที่มีทั้ง M-Pencil และตัวอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ไร้สายให้กับ M-Pencil ด้วยนะ เพราะมันจะทำหน้าที่เป็นตัว Activate ให้ Huawei MatePad 10.4 เชื่อมต่อกับ M-Pencil ไปในตัว

การชาร์จแบตเตอรี่ให้กับ M-Pencil ด้วยตัวที่ชาร์จไร้สาย ที่ต้องเสียบกับพอร์ต USB-C

● การชาร์จ M-Pencil นี่ต้องอาศัยอะแดปเตอร์ต่างหาก มีหัวต่อแบบ USB-C ดังนั้นจะชาร์จแบตเตอรี่โดยใช้ไฟจากตัว Huawei MatePad 10.4 WiFi เองเลยก็ได้ หรือจะเอามันไปเสียบกับที่อะแดปเตอร์ไฟแบบ USB ก็ได้ หรือจะเสียบกับโน้ตบุ๊กที่มีพอร์ต USB-C ก็ได้อีกเช่นกัน ถือว่าแม้จะยุ่งยาก แต่ก็ดีไซน์ออกมาดีกว่า Apple Pencil รุ่นแรกของ Apple ที่ต้องจิ้มตูด iPad Pro อะ

บทสรุปการรีวิว Huawei MatePad 10.4

คู่แข่งของ Huawei MatePad 10.4 คงจะเป็น Samsung Galaxy Tab S6 Lite หลายๆ อย่างใกล้เคียงมาก ทั้งสเปก ขนาดจอ และน้ำหนัก ราคาของ Samsung Galaxy Tab S6 Lite ได้เปรียบกว่าหน่อยตรงมี Google Mobile Services และมี S Pen ในตัว ในขณะที่ Huawei MatePad 10.4 ต้องซื้อ M-Pen มาเพิ่ม แถมยังต้องซื้ออุปกรณ์เสริมมาต่ออีก ใครที่คิดจะซื้อมาจดโน้ต Samsung Galaxy Tab S6 Lite นี่เป็นตัวเลือกที่พร้อมกว่าแน่นอน

แต่ถ้าจะซื้อมาใช้ทำงานแทนโน้ตบุ๊กแบบง่ายๆ Huawei MatePad 10.4 อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะมี Huawei Smart Keyboard ที่โอเค ในขณะที่ Samsung Galaxy Tab S6 Lite มันไม่มีพวก Keyboard cover ให้ซื้อมาใช้ (ถ้าไปซื้อ Bluetooth keyboard มาใช้ ก็ไม่สะดวกพกพาเท่าพวก Keyboard cover) ถ้าจะติดปัญหาก็น่าจะเป็นเรื่องการไม่มี Google Mobile Services นี่แหละ

4 Comments

  1. ผมเป็นคนรูครับ ใช้งานแอปฯ zoom ในหัวเหว่ย mate pad 10.4 ไม่ได้ จะสอนนักเรียน ช่วยบอกขั้นตอน ผม ได้มั้ยครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า