เดี๋ยวนี้เห็นคนขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากันเยอะขึ้น แล้วรุ่นใหม่ๆ แบตเตอรี่มันก็อึดขึ้นชนิดเรียกว่าเดินทางระยะ 10-20 กิโลเมตรนี่ชิลๆ เลย ผมนี่ใช้เป็นยานพาหนะพื้นฐานในการเดินทางในกรุงเทพเลยนะครับ เพราะมันคล่องตัวในสภาพการจราจรที่ติดขัดมากกว่ามาก แต่เวลาที่จะต้องไปในที่ที่ไม่คุ้น เราก็อยากมี Google Maps เอาไว้นำทางซักหน่อย และเป็นที่มาที่ผมอยากจะได้ตัวจับมือถือแน่นๆ ซักตัว ซึ่ง Choetech เขาก็เลยส่ง Smartphone holder ของเขามาให้ลองครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Choetech smartphone holder ที่รีวิวในบล็อกตอนนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก Choetech ครับ ส่วนเนื้อหาในการรีวิว ก็มาจากประสบการณ์ในการใช้งานโดยตรงของผม ซึ่งเป็นประสบการณ์ในการใช้คู่กับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter MAX นะครับ
สำหรับตัวจับมือถือของ Choetech นี่ กล่องมันจะไม่เหมือนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Choetech แฮะ คือ กล่องมันจะเป็นกล่องสีน้ำตาล แบบเรียบๆ ผิดกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะเป็นกล่องพื้นขาว มีการพิมพ์สีหน้าตาของผลิตภัณฑ์เอาไว้

ภายในกล่อง ก็มีให้มาเท่าที่เห็นในรูปด้านบน คือ มีตัวจับสมาร์ทโฟน ผมเลือกสีแดง เพราะชอบ (ฮา) แปะป้าย Choetech เอาไว้ชัดเจน ตัววัสดุเป็นอลูมิเนียมแข็งแรงดี มียางรัดสำหรับรัดสมาร์ทโฟนมาให้อีกชิ้น มียางนิ่มๆ สำหรับใช้รองตัวล็อก เพื่อให้สามารถล็อกได้แน่นหนาขึ้น แล้วก็มีตัวล็อก ซึ่งตัวจับล็อกเนี่ย เป็นมาตรฐานเดียวกับพวกกล้อง Action cam ทั้งหลาย นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดเราถอดตัวจับมือถือนี่ออก เราก็เอากล้อง GoPro หรือ Action cam อื่นๆ ที่ใช้ตัวจับมาตรฐานเดียวกันมาใส่แทนได้เลย
นอกจากนี้ก็มีสายคล้องแบบยาวๆ มาให้อีกเส้น เป็นของกันเหนียว แบบ เอาไว้ร้อยกับสมาร์ทโฟน แล้วเอามาคล้องมีอีกรอบ กันเหนียวเป็นชั้นที่สามได้ และสุดท้ายคือ ประแจหกเหลี่ยมรูปตัว L ที่เอาไว้ขันน็อตครับ และสุดท้ายก็คือ คู่มือการใช้งานครับ เป็นภาษาอังกฤษพร้อมภาพประกอบสี่สี
การติดตั้งไม่ยุ่งยากนะ ถ้าเป็นจักรยานยิ่งไม่ยุ่งยาก เพราะว่ามีพื้นที่ให้ยึดเยอะแยะ แต่กับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บางรุ่นบางยี่ห้อ อาจจะอยากได้อุปกรณ์เสริมเป็น Handle bar แยกต่างหาก แบบผมนี่ ขันน็อตยึดตัวขาจับเขากับ Handle bar แล้วก็คลายน็อตของตัวจับ เพื่อเตรียมใส่ที่จับสมาร์ทโฟนเข้าไป ขนาดของ Handle bar ที่เหมาะสมสำหรับเจ้านี่คือ เส้นผ่านศูนย์กลางขั้นต่ำประมาณ 31 มม.นะครับ
ข้อสังเกตคือตัววัสดุในส่วนตัวจับนี่เป็นพลาสติกครับ คงเพื่อไม่ให้มันแข็งเท่าๆ กัน แล้วไปครูดกับตัวที่จับสมาร์ทโฟนที่เป็นอลูมิเนียม แต่ไม่ต้องห่วงนะ ตอนขันน็อตล็อกที่จับเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราขันแน่นจริงๆ มันแน่นปึ้กเลยแหละครับ … แต่ที่ผมไม่ชอบก็คือ ที่ต้องขันน็อตด้วยประแจ L นี่แหละ ผมอยากให้มันออกแบบเป็นน็อตแบบที่มีลูกบิด เพื่อให้ใช้นิ้วมือบิดได้ตรงๆ เลยมากกว่า

ตัวที่จับ มันจะมียางแข็ง 4 อัน อยู่ตรงมุมสี่ด้านที่จะสัมผัสกับสมาร์ทโฟน มันจะมีน็อตแบบลูกบิดให้เราสามารถคลายเพื่อขยายความกว้างของตัวจังสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งความกว้างที่มันขยายออกเนี่ย เหลือเฟือสำหรับการจับสมาร์ทโฟนตัวใหญ่ๆ อย่าง iPhone 8 Plus ได้สบายๆ เพราะมันขยายออกมาได้กว้างสุด 105 มม. และหดกลับจนเหลือแคบสุด 57 มม. และเมื่อขันน็อตกลับจนสุด ก็เรียกว่ายึดสมาร์ทโฟนเอาไว้แน่นปึ้กเลยแหละ แต่เพราะว่ามันไม่มีการออกแบบให้ตัวจับมันมีส่วนโค้งที่จะมาล็อกสมาร์ทโฟนให้แน่นๆ ก็เลยยังแอบรู้สึกว่า ถ้ามันสุดวิสัยจริงๆ สมาร์ทโฟนเราจะหลุดออกมาไหมหว่า

ถ้าเราติดตั้งตามคู่มือเป๊ะ เราจะต้องติดไอ้ยางรัดสมาร์ทโฟนไปไว้ด้านหลังด้วย ซึ่งเจ้านี่แหละ มันจะเข้ามาช่วยยึดสมาร์ทโฟนอีกชั้นครับ ซึ่งพิจารณาจากขนาดความยาวของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ก็ไม่ต้องห่วงครับ มันรัดได้แน่นแน่นอน

ก็ลองเอามาติดตั้งบนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แล้วลองขี่เลยครับ เหมาะเหม็งมาก เพราะผมมีพื้นที่บริเวณกลาง Handle bar พอดีเลย เอามาใช้แสดงผลเป็น Dashboard ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็ได้ (แอปของมันจะบอมความเร็วรถ ระยะทางที่ขี่ เวลาที่ขี่ แบตเตอรี่ที่เหลือ และอุณหภูมิของตัวรถ) หรือจะเปิด Google Maps ก็ได้นะ
ลองขี่ในหลายๆ พื้นที่ รวมถึงทดลองขี่ลงหลุมตื้นๆ แบบที่ตัวสกู๊ตเตอร์มันสามารถวิ่งผ่านได้สบายๆ หรือชะลอความเร็วแล้วขึ้นลูกระนาด ให้ตัวรถมันสะเทือนเยอะๆ หน่อย พบว่า ตัวจับนี่แข็งแรงมาก ตัวสมาร์ทโฟนไม่สั่นเลย ผิดกับตัวจับโนเนมจากจีนที่ผมซื้อมาก่อนหน้า ที่แค่สะเทือนนิดเดียว สมาร์ทโฟนผมนี่ผงกหัวขึ้นลงเลย
เรียกว่าประทับใจ แต่เพราะมันต้องใช้ยางยืดร่วมด้วย ผมก็เลยคิดว่าเรื่องอายุการใช้งานอาจยังเป็นคำถามคาใจอยู่ เพราะผมได้ลองในระยะเวลาไม่นานเอง แต่ในความเห็นส่วนตัว เจ้านี่ราคาสามร้อยกว่าบาท ใช้ได้ซัก 1 ปีผมว่าก็โอเคแล้วละ ปีหน้าซื้อใหม่ (ฮา)