ปัจจุบันผมขี่ Ninebot Kickscooter ES2 เป็นยานพาหนะหลักแล้วครับ เลยไม่น่าแปลกใจเลยว่า ผมใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่าจะขี่ MONOWHEELair ได้เกือบ 1,800 กิโลเมตร แต่ผมเพิ่งซื้อเจ้า Ninebot Kickscooter ES2 นี่ไม่ได้สามเดือนนิดๆ แต่ซัดไปแล้วมากกว่า 710 กิโลเมตร และสำหรับคนที่คิดอยากจะซื้อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาขับขี่ในกรุงเทพ (หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ) นี่คือคำแนะนำจากผม ผู้มีประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์รวมกว่า 2,500 กิโลเมตร ซึ่งผมจะขอเน้นไปที่การขี่ Ninebot Kickscooter ES2 นะครับ
คำถามแรก ทำไมถึงเลือกใช้ Ninebot Kickscooter ES2?
ตอนนี้มีสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อวางจำหน่ายในประเทศไทยครับ โดยส่วนตัว ผมได้ลองของ MONOWHEELair และ Ninebot Kickscooter ES2 ซึ่งผมซื้อมาใช้จริงจังทั้งคู่ และได้มีโอกาสลองจับๆ และขี่ๆ อีกบางยี่ห้อ ที่มีวางจำหน่ายและให้ลองขี่ แต่ไม่ได้ขี่จริงจัง ถ้าก่อนหน้านี้ถามผมว่าผมเลือกใช้อะไรระหว่างสองยี่ห้อนี้ ผมคงตอบว่า MONOWHEELair ครับ เพราะมันเบามาก พกพาสะดวก เอาขึ้นรถเมล์แล้วลงมาขี่ต่อนี่ชิลล์มากๆ ที่สำคัญคือ เพราะน้ำหนักมันเบา และมีแรงบิดไม่สูงมาก ส่งผลให้มันวิ่งได้ระยะทางไกลกว่า Ninebot Kickscooter ES2 หากวิ่งด้วยโหมดความเร็วสูงสุด (Sport mode)

แต่เมื่อได้ลองติดแบตเตอรี่เสริม ซึ่งช่วยให้ Ninebot Kickscooter ES2 ได้เร็วขึ้นอีก และไกลขึ้นอีก เรียกว่าระยะทางที่วิ่งได้ของ Sport mode ที่ความเร็วสูงขึ้น มันวิ่งได้ไกลกว่า MONOWHEELair นิดหน่อยด้วยซ้ำ และหากวิ่งด้วย Normal mode ที่วิ่งด้วยความเร็วพอกัน มันกลับวิ่งได้ไกลขึ้นอีกร่วม 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว แน่นอนว่าน้ำหนักมันหนักขึ้นมาก แต่มันทำให้เราใช้ Ninebot Kickscooter ES2 แบบยิงยาวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการขึ้นลงรถเมล์หรือรถไฟฟ้าเลยด้วยซ้ำ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมเริ่มตัดใจเปลี่ยนมาใช้ Ninebot Kickscooter ES2 แบบเต็มๆ ได้ และเป็นที่มาว่าทำไมแค่สามเดือนนิดๆ ผมขี่ไปแล้วกว่า 700 กิโลเมตร ก็แหม เดี๋ยวนี้ผมขี่วันนึงๆ มากกว่า 30 กิโลเมตรอ้ะ
และเมื่อผมได้ลองขี่มาพักใหญ่ๆ แล้วกลับมาใช้ MONOWHEELair ดู ลองขี่ไปกินข้าวที่ห้างแถวบ้าน หรือไม่ก็ขี่ไปซื้อส้มตำแถวบ้าน ผลก็คือรู้สึกได้เลยว่า เจ้านี่มันเล็ก ช้า และดูง่อนแง่นชอบกล Ninebot Kickscooter ES2 นี่ดูบึกบึน หนักแน่น มั่นคงกว่าเยอะมากทีเดียว ยิ่งการมีล้อใหญ่ขนาด 8 นิ้วทำให้หมดห่วงเรื่องสะดุดหลุมสะดุดบ่อไปได้พอสมควรด้วยแล้ว นี่ก็คืออีกเหตุผลนึงที่ทำให้ผมเลือกใช้เจ้านี่แหละครับ
ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter ES2 ให้เหมือนขี่จักรยาน
แม้ว่ามันจะทำความเร็วได้สูงสุดระดับ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีแรงบิดสูงพอที่จะขึ้นสะพานชันๆ 15 องศาได้สบายๆ ซึ่งทำให้มันเหนือกว่าพวกจักรยานทั่วไป แต่เอาเข้าจริงๆ อยากบอกว่า ความเร็วแบบนี้ มันไม่ได้เร็วกว่าพวกเฮียๆ ที่เขาปั่นเสือภูเขาหรือเสือหมอบแบบจริงจังเลยนะครับ ถ้าเราขี่ลงถนนแล้ว เราอาจจะเร็วกว่าพวกพี่ๆ ที่เขาขี่จักรยานแบบชิลๆ แต่ไม่มากนั่นแหละ ฉะนั้น ท่องไว้ในใจนะครับว่า จงขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เหมือนกับการขี่จักรยาน

แต่การขี่แบบจักรยานมันก็มีข้อดีนะครับ คือ เราสามารถไปใช้ทางม้าลายเพื่อข้ามถนนได้เหมือนกับจักรยาน เพราะเราสามารถยกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นฟุตบาธหรือเกาะกลางถนนได้สบายๆ มันช่วยได้มากเรื่องการตัดผ่านถนน และเลี่ยงพวกไฟแดงต่างๆ ได้ในบางกรณี ถ้าคุณขี่เส้นทางเดิมๆ ซ้ำๆ คุณจะรู้ว่าเส้นทางลัดเลาะมันมีตรงไหนบ้าง และเราจะเลี่ยงสัญญาไฟแดงด้วยทางม้าลายได้ตรงไหนยังไง
อย่างไรก็ดี เรื่องสำคัญก็คือ อย่าริไปขี่กลางถนนเชียวล่ะครับ ขี่เลนซ้ายสุด และหากเป็นไปได้ ขี่ชิดซ้ายสุดเอาไว้เสมอด้วย เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง
โหมดการขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ที่เหมาะสม
ถ้ายังไม่ได้ซื้อมาขี่ แนะนำให้ไปอ่านรีวิวของผมก่อนนะครับ แต่ถ้ายังไม่คิดจะอ่าน ก็จะบอกให้รู้ว่า Ninebot Kickscooter ES2 มีโหมดขี่อยู่สามโหมด คือ
- Limit mode จะขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่สนใจว่าคุณจะติดแบตเตอรี่เสริมหรือเปล่า และเราสามารถกำหนดให้ต่ำกว่านี้ได้ด้วยแอป
- Normal mode ในโหมดนี้ ถ้าไม่ได้ติดแบตเตอรี่เสริม จะวิ่งได้เร็วสุด 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าติดแบตเตอรี่เสริมแล้วจะวิ่งได้เร็วสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- Sport mode ในโหมดนี้จะมีแรงบิดสูงสุด เหมาะสำหรับตอนขึ้นสะพานชันๆ ครับ ถ้าไม่ติดแบตเตอรี่เสริม จะวิ่งได้เร็วสุดคือ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าติดแบตเตอรี่เสริม จะวิ่งได้เร็วสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ข้อความจำคือ ความเร็วสูงสุดตอนของ Normal mode แบบที่ติดแบตเตอรี่เสริมแล้ว กับความเร็วสูงสุดของ Sport mode ตอนยังไม่ติดแบตเตอรี่เสริมมันเท่ากันนะครับ แต่แรงบิดมันจะต่างกัน

การขี่ด้วย Sport mode เนี่ย นอกจากจะได้ความเร็วสูงสุดที่เหนือกว่า Normal mode แล้ว มันยังได้แรงบิดสูง เหมาะสำหรับการขับขี่ทุกสถานการณ์มากจริงๆ แต่มันแลกมาด้วยการสิ้นเปลืองแบตเตอรี่มากกว่า Normal mode ถึง 20%-30% เลยทีเดียวนะครับ เอาเป็นว่า ขี่ด้วย Sport mode แบบติดแบตเตอรี่เสริมอาจไปได้ไกลสุด 24-25 กิโลเมตร แต่ถ้าขี่ด้วย Normal mode นี่ ไปได้แถวๆ 35+ กิโลเมตรเลยนะครับ
การขี่ที่ผมว่าเซฟแบตเตอรี่สุด เผื่อจะได้ไปได้ไกลๆ น่าจะเป็นการขี่ด้วย Normal mode แล้วใช้ Sport mode แค่เฉพาะตอนที่จำเป็นต้องเร่งเครื่อง (เช่น ต้องการวิ่งผ่านแยกให้ทันก่อนไฟแดง หรือ ต้องแซงรถเมล์ที่จอดอยู่) ก็พอ แต่เราต้องประเมินตัวเองด้วยนะครับ ว่าความเร็วแบบนี้แล้ว มันวิ่งทันไหม สำคัญมากๆ อย่าฝืน เจียมตัวไว้
สิ่งที่ต้องระวังตอนขี่ริมถนน
ต่่อไปนี้ คือสิ่งที่ผมอยากจะให้ระวังเข้าไป ตอนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าริมถนนครับ
1. พวกฝาท่อบนถนน ที่ทำให้ผิวถนนไม่เรียบ
เป็นที่รู้กันว่าถนนในกรุงเทพมหานครมันปราบเซียนแค่ไหน แม้ว่าถนนหลายเส้นจะมีการปรับปรุงให้พวกฝาท่อมันย้ายไปเป็นช่องระบายน้ำตรงฟุตบาธแล้ว แต่ก็มีถนนอีกจำนวนมากที่ฝาท่อยังเพียบ (โดยเฉพาะถนนวิทยุมุ่งหน้าสามร คือ มีทุกๆ 2 เมตรเลยมั้ง) ซึ่งก็เป็นที่ควรสังเกตไว้อีกเช่นกันว่า ฝาท่อพวกนี้ ไม่ได้เรียบไปกับผิวถนนเสมอไป มันมีนูนเป็นเนินเล็กๆ บ้างล่ะ บุ๋มลงไปกลายเป็นหลุมตื้นๆ บ้างล่ะ ขี่แบบไม่ระวังคือสะดุดล้มกลิ้งเอาง่ายๆ และผมขอแนะนำว่า แม้ Ninebot Kickscooter ES2 มันจะมีล้อใหญ่ 8 นิ้ว และผ่านพวกเนินเล็กๆ หรือหลุมตื้นๆ ได้สบายๆ จงอย่าเสี่ยงเด็ดขาด
2. พวกรถที่จอดริมถนน และพนักงานรักษาความปลอดภัยของคอนโดมีเนียม หรือโรงแรม
สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่าง ในถนนหลายๆ เส้นคือ พวกรถยนต์ที่จอดริมถนน ซึ่งมีเยอะแยะไปหมดครับ ถ้าคันไหนมีคนอยู่ เขาอาจจะเปิดประตูออกมาได้ จะขี่เข้าไปใกล้ๆ ต้องระวังนะครับ เพราะตอนเขาเปิดประตู บางคนก็เปิดพรวดออกมาเลย อันตรายมาก สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไม่มีเสียงนะครับ เขาไม่ได้ยินเสียงเรามาแน่นอน

นอกจากนี้ พวกพนักงานรักษาความปลอดภัยของคอนโดมีเนียมหรือโรงแรม ที่มีที่ตั้งอยู่ริมถนน เขาก็มักจะออกมาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่พักอาศัยอยู่ที่กำลังจะขับรถยนต์ออกมา ด้วยการเอาธงแดงมากั้น แล้วให้รถขับออกมา พวกนี้บางทีก็โผล่พรวดออกมาครับ แล้วยื่นไม้ออกมา บางทีพวกเขาก็ไม่ระวังครับ แล้วเราอาจจะไปชนพวกเขาได้
3. ระวังเรื่องหลุม บ่อ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ และพวกเนินลูกระนาด
บอกตรงๆ ว่า พวกเน้นเล็กๆ หรือหลุมเล็กๆ ถ้ามีระยะวิ่งดีๆ ประมาณนึงอะ มันขี่ผ่านได้สบายๆ เลยครับ แต่ถ้าเกิดมันเป็นแบบในรูปด้านล่างนี่ มันจะแอบเสี่ยงนิดนึงครับ เพราะมันลง และขึ้นในระยะประชิด ถ้าเกิดว่าความเร็วมันไม่พอ สะดุดตัวโก่งได้เลยทีเดียว (ผมโดนมาแล้ว) มันอาจไม่ถึงกับล้มครับ ถ้าเกิดเราขี่มาตรงๆ แต่ล้มได้ง่ายๆ เลย ถ้าเรากำลังจะเลี้ยวครับ

อย่างไรก็ดี ถ้าเกิดเจอพวกหลุมลึกๆ หน่อย หรือพื้นต่างระดับประมาณนึง แม้ว่าตัวสกู๊ตเตอร์จะสามารถเอาอยู่ แต่ตัวบังโคลนด้านหลัง ที่เป็นอลูมิเนียม ซึ่งทำหน้าที่เป็นเบรกเท้าด้วยในตัวเนี่ย มันเอาไม่อยู่นะครับ ตอนตัว Ninebot Kickscooter ES2 มันตกหลุมหรือพื้นต่างระดับ ตัวล้อหลังมันอาจจะกระแทกกับบังโคลนได้ครับ ยิ่งกระแทกแรงๆ บ่อยๆ ก็จะมีโอกาสที่จะแตกได้ครับ ถ้าเกิดมันแตกขึ้นมัน เราจะรู้ได้เลยครับ เพราะบังโคลนล้อหลังเนี่ย ปกติมันจะเด้งๆ เพื่อรับกับตัวขอเกี่ยวเวลาที่เราพับสกู๊ตเตอร์เก็บ แต่ถ้าบังโคลนหลังมันแตกแล้ว มันจะไม่เด้งครับ แล้วมันจะมีปัญหาอีกหลายๆ อย่างตามมาเลยครับ … ถ้าหักนี่พันกว่าบาทเลยนะครับ ถ้าต้องเปลี่ยน และการแตกหักจากอุบัติเหตุแบบนี้ ไม่เข้าข่ายการรับประกันนะครับ ขอเตือนเอาไว้ก่อน

พวกลูกระนาดนี่ก็ต้องระวังครับ มันมีหลายๆ อันที่มันสูงมาก แล้วระยะของฐานมันแคบ ซึ่งส่งผลให้พอขี่ผ่านแล้ว มันไปครูดกับตรงแผ่นฐานยืนของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าครับ อันที่ผมโดนบ่อยนี่ก็คือ ตรงทางที่จะไปท่าเรือเป๊บซี่นี่แหละ โดนทีดังกึก คิดแล้วแบบ ตายแล้ว สกู๊ตเตอร์ฉัน (ฮา)

สะพานลอยดี หรือรอไฟเขียวไฟแดงดี?
Ninebot Kickscooter ES2 นี่หนักใช่ย่อยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดติดแบตเตอรี่เสริมแบบผมเนี่ย การจะแบกขึ้นสะพานลอยนี่แบบไม่ใช่เรื่องที่ใครเขาอยากจะทำกันหรอกนะครับ ทีนี้เวลาขับขี่อยู่อะ มันก็มีบ้างที่เวลาเราจะเลี้ยวขวา หรือตรงไป แล้วมันต้องเจอแยกไฟเขียวไฟแดงบ้างใช่ไหมล่ะ แล้วทีนี้เราจะเลือกยังไงดี ระหว่างสะพานลอย หรือรอไฟเขียวไฟแดง?

ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเลนของถนน ความหนาแน่นของรถครับ และระยะเวลาของไฟแดงครับ เช่น ตรงแยกในรูปด้านบน ที่เลี้ยวขวาแล้วจะไปท่าเรือเป๊บซี่ เลี้ยวซ้ายไปคลองสานนี่ มันมีสองเลนครับ และรถไม่ได้เยอะมาก ขับก็ไม่ได้เร็วมากในตอนเช้าๆ เพราะว่ารถติด (ฮา) เราก็จะขี่แบบจักรยาน แล้วระวังขวาให้ดีๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเลนออกมา แล้วก็มาอยู่เลนขวาเพื่อเลี้ยว หรือรอเลี้ยวตรงไฟแดงได้ เพราะไฟแดงก็ไม่นาน ไม่จำเป็นต้องแบกขึ้นสะพานลอย

แต่ถ้ามาเจอตรงแยกที่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินตัดกับถนนกรุงธนบุรีมุ่งหน้าไปสาทรเนี่ย มัน 4-5 เลน ถ้าผมจำไม่ผิด (ขี่ผ่านหลายรอบแล้ว ลืมทุกทีว่ามีกี่เลน) รถก็เยอะด้วย ขับกันเร็วอีกต่างหาก เพราะจะรีบไปให้ทันก่อนจะรถติดไฟแดง แบบนี้ถ้าเราขี่มาถึงแยกแล้ว เราเจอไฟแดงก็ดีไปครับ เพราะเราจะสามารถค่อยๆ กระดึ๊บๆ ไปทางขวาได้เรื่อยๆ รอไฟเขียวแล้วก็เลี้ยวได้ แต่ว่าถ้าเจอจังหวะไฟเขียว ให้คิดเลยนะครับว่าจะเอายังไง ระหว่างแบกข้ามสะพานลอย กับ จอดข้างทาง รอไฟแดงก่อนค่อยกระดึ๊บๆ ไปครับ ถึงจะปลอดภัย
Ninebot Kickscooter ES2 ขึ้นสะพานชันได้ประมาณนึง ขี่ขึ้นสะพานเลยดีไหม?
มันขึ้นอยู่กับว่าเป็นสะพานอะไรนะครับ เช่น สะพานข้ามคลองแถวบ้าน แบบนี้ขี่ได้สบายเลยครับ แต่ถ้ากำลังพูดถึงสะพานข้ามแม่น้ำอย่างเช่น สะพานปิ่นเกล้า สะพานพุทธฯ สะพานพระปกเกล้า สะพานตากสิน อะไรพวกนี้ขอเตือนครับว่าให้ระวัง ตอนขึ้นสะพานชันอ่ะ มันไม่เท่าไหร่หรอกครับ แรงบิดใน Sport mode มันได้ แต่ตอนลงเนี่ย สะพานยิ่งชัน ความเร็วมันก็ยิ่งเร็ว ตรงนี้แหละต้องระวังครับ ถ้ามันมาเร็วมากๆ เบรกไฟฟ้า (เบรกมือ) ก็อาจจะเอาไม่อยู่ ก็ต้องเบรกเท้าช่วยด้วย แต่มันก็อันตรายอีก เพราะรถที่ตามมาก็จะขับกันเร็วประมาณนึง

ศึกษาให้ดีๆ ครับ สะพานบางแห่ง เช่น สะพานพุทธ มันมีช่องทางคนเดินที่ใหญ่ และจักรยานก็ขี่ขึ้นมาได้สบายๆ ครับ หรือสะพานตากสิน ก็แบกขึ้นบันได (โหดเอาเรื่องอยู่) แล้วมาขี่ข้ามทางไป หรือไม่ก็ดูเลยว่ามีเรือข้ามฟากไหม ไปใช้บริการเรือข้ามฟากก็ได้ครับ
การขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ในเวลากลางคืน
ขั้นต่ำๆ เนี่ย สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเขาจะมีไฟหน้าครับ ไฟหน้าของ Ninebot Kickscooter ES2 นี่สว่างเอาเรื่องเลยนะครับ ถ้าตอนที่ถนนสว่างๆ เราอาจจะไม่ทันสังเกต แต่ถ้าเจอถนนมืดๆ เนี่ย สว่างเอาเรื่อง นอกจากนี้มันจะมีเพิ่มไฟท้ายมาให้ด้วย ซึ่งตามปกติมันจะเป็นไฟเบรก แต่ถ้าเราตั้งในแอป เราจะให้ไฟมันติดตลอดเวลาก็ได้ หรือจะให้ติดเฉพาะตอนเปิดไฟหน้าก็ได้ครับ

และถ้าใครคิดว่าแค่นี้ยังไม่พอ เปิดไฟด้านล่างของตัวสกู๊ตเตอร์เลยครับ เปิดได้จากแอป ปรับสีได้ตามใจชอบ ปรับเป็นไฟกระพริบหลากสีแบบในรูปด้านล่างก็ได้ รับรองว่ากลางคืนเห็นชัดแน่นอนครับ แต่ถ้าเกิดไปเจอขาใหญ่ประจำถิ่นแล้วเขาหมั่นไส้เนี่ย ตัวใครตัวมันนะครับ (ฮา)

ขี่ Ninebot Kickscooter ES2 เซฟสุด คือให้ถึงที่หมายแล้วยังเหลือแบตเตอรี่ไว้ 10%
รู้ไหมล่ะว่าทำไม? นั่นเพราะว่า จากประสบการณ์ของผม ความเร็วของ Ninebot Kickscooter ES2 เนี่ย มันไม่ได้คงที่ตลอดเวลา ทุกช่วงปริมาณแบตเตอรี่นะครับ พอแบตเตอรี่มันเข้าสู่ระดับ 10% แล้ว เราจะสังเกตได้เลยว่าความเร็วมันจะตกลงมาอย่างเห็นได้ชัด เช่น สมมติผมขี่แบบ Normal mode จากเดิมที่มันควรจะวิ่งได้แบบ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันก็จะตกลงมาเหลือแค่ๆ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมงครับ และถ้ายังจะทู่ซี้ขี่ต่อไป ดับกลางทางแน่นอนครับ … ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะแรงดันไฟฟ้ามันต่ำลงจนขับมอเตอร์ต่อไปไม่ไหวนั่นเอง

ดูได้ยังไงว่าแบตเตอรี่เหลือกี่เปอร์เซ็นต์? ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่าแบตเตอรี่มันแบ่งเป็น 5 ขีด แต่ละขีดแทน 20% ครับ ถ้าขีดไหนเริ่มกระพริบ แสดงว่ามั้นจะแทนค่า 10% แล้ว เช่น ถ้าเหลือ 3 ขีด โดยที่ขีดที่สามกระพริบ ก็จะเท่ากับ 20% + 20% + 10% คือ 50% นั่นเอง (แต่ผมหมายถึง ตอนเริ่มกระพริบนะครับ)
ถ้าแบตเตอรี่ลงมาเหลือ 10% แล้ว แนะนำว่าให้เปลี่ยนกลับมาขี่ใน Limit mode เลยนะครับ มันก็จะพอขี่ไปได้อีกพักใหญ่ๆ 10% อาจจะพอขี่ไปได้ซัก 1-2 กิโลเมตร แต่อยากบอกว่า ความเร็วนี่แบบ ช้าระดับโดนคนวิ่งแซงได้เลยทีเดียวฮะ แต่ดีกว่าแบตเตอรี่หมดแล้ว สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหนัก 12-15 กิโลกรัม กลายเป็นภาระนะครับพี่น้อง แต่อย่างที่บอก พอแบตเตอรี่มันเหลือ 10% แล้ว ระยะที่วิ่งได้มันจะอยู่แถวๆ 1-2 กิโลเมตรนั่นแหละ เซฟๆ ฉะนั้น วางแผนยังไงก็ตาม ให้มันไปถึงเป้าหมายโดยที่แบตเตอรี่เหลือ 10% คือดีสุด
ระวังน็อตยึดคอ Ninebot Kickscooter ES2 กันหน่อย
จากประสบการณ์ในการขับขี่ของผมพบว่า มีน็อตตัวนึงหลุดง่ายมาก แปลกมาก และตรงเนี้ย ปกติมันจะมีสติกเกอร์ติดเอาไว้ ถ้าฉีกขาดก็คือหมดประกัน แต่เวลาขี่ไปนานๆ มันกระเทือนๆ เรื่อยๆ น็อตมันก็คลายตัวออกมา แล้วเราจะรู้สึกได้ว่าคอของสกู๊ตเตอร์มันจะหลวมๆ ครับ ตรงนี้ตอนผมเอาไปให้ศูนย์เขาซ่อมบังโคลนที่แตก เขาก็ช่วยขันน็อตตรงนี้ให้ แต่พอผมขี่ไปอีกราวๆ 100 กิโลเมตร น็อตก็คลายตัวจนหลุดออกมาเลยจ้า

แนะนำว่าให้เช็กตรงนี้ให้ดีๆ นะครับ ถ้าคุณซื้อมาจากตัวแทนอย่างเป็นทางการ (เช่น MAKEIO อย่างที่ผมซื้อ) ก็ติดต่อไปที่บริษัทเพื่อแจ้งปัญหา และดำเนินการตามที่เขาแนะนำ ถ้าเขาขันน็อตให้แบบที่ทำให้ผม ก็แนะนำว่าหาอะไรมาปิดไว้นะครับ ไม่งั้นน็อตมันคลายหลุดออกได้เลยนะ น็อตตัวนึง 49 บาทนะครับขอบอกเอาไว้ก่อน
Error code 10
ปัญหานึงที่ผมเจอ แต่เจอตอนที่ขี่ราวๆ 18 กิโลเมตรต่อเนื่องตอนเย็นๆ คือ อยู่ๆ มันก็ขึ้นสัญลักษณ์รูปประแจ แล้วก็แสดงตัวเลขรหัสปัญหา (Error code) เป็นเลข 10 ผมก็ลองไปค้นดูในเว็บต่างๆ แล้วก็ไปเจอที่ Speedy Feet และอีกหลายๆ เว็บครับว่ามันหมายความว่า Dashboard and control board communication abnormal – check connected cable หรือแปลเป็นไทยว่า การสื่อสารระหว่างตัวแดชบอร์ดกับแผงควบคุมผิดปกติ ให้ไปเช็กตัวสายเคเบิลที่เชื่อมต่อดู

แต่ปัญหานี้ พอเจอแล้วก็ยังไม่ส่งผลอะไรนะครับ ยังขับขี่ไปได้ตามปกติ แต่แนะนำง่ายๆ เลย จอดแป๊บนึง แล้วปิดสวิตช์ครับ จากนั้นก็เปิดใหม่ มันก็หายแล้วครับ
ขี่มาไกลๆ เครื่องยังร้อนอยู่ แบตเตอรี่ก็จะชาร์จไม่เข้า อย่าตกใจ
ตรงนี้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของระบบป้องกันแบตเตอรี่ครับ ฉะนั้นถ้าขี่มาไกลๆ ไม่ว่าจะ Normal mode หรือ Sport mode ก็ตามแต่ ถ้าขี่มายาวๆ ซักระดับ 17-18 กิโลเมตรต่อเนื่องมา ตัวแบตเตอรี่มันจะยังร้อนๆ อยู่ครับ ถ้าเราเอามาเสียบสายชาร์จเลย อย่าตกใจที่แม้มันจะดูเหมือนเสียบชาร์จได้แป๊บนึง (ตัวเครื่องดังปี๊บทีนึง ตัวอะแดปเตอร์ไฟเป็นสีแดงแว๊บนึง แล้วกลายเป็นสีเขียว) แต่มันชาร์จไม่เข้า นั่นเพราะตอนแบตร้อนๆ มันก็จะป้องกันไม่ให้ชาร์จแบตเตอรี่ครับ

ทิ้งไว้ซัก 20-30 นาที ให้แบตเตอรี่มันเย็นลงมาหน่อย แล้วค่อยเสียบสายชาร์จ แค่นี้ก็โอเคแล้วครับ … แต่จุดสำคัญคือ พยายามอย่าขี่จนแบตเตอรี่มันหมดเกลี้ยงนะครับ อย่างที่ผมบอกไว้ในตอนต้น เอาให้ถึงที่หมายแล้วแบตเตอรี่ยังเหลือซัก 10% มันจะทำให้สกู๊ตเตอร์ไม่กลายเป็นภาระของเรา และมันดีต่ออายุแบตเตอรี่ด้วย