ผมเคยรีวิว ninebot KickScooter ES2 ไปแล้วในบล็อกเก่าของผม แต่ในเมื่อถึงคราวที่ผมซื้อมาใช้งานเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องอัพเดตรีวิว ด้วยประสบการณ์ล่าสุดในการใช้งานของผมอีกรอบแล้วละครับ ตัวนี้ยังคงราคา 24,900 – 27,900 บาท แล้วแต่ช่วงโปรโมชันอยู่ครับ ตัวนี้มีจุดเด่นตรงที่เป็นสกู๊ตเตอร์ที่มีความเร็วและแรงพอสมควร โดยวิ่งที่ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยทีเดียว
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้ ผมเอารูปประกอบมาจากสองแหล่งหลักๆ คือ ตอนที่ผมรีวิวครั้งแรก กับการรีวิวครั้งปัจจุบัน เพื่อที่ผมจะได้ไม่ต้องไปถ่ายรูปซ้ำไปซ้ำมา (ฮา) ฉะนั้น หากเห็นเจ้า ninebot KickScooter ES2 สีเงิน นั่นคือตอนที่ผมรีวิวครั้งแรก ส่วนตัวที่ผมซื้อมาใช้เอง สีเทาดำจ้า
ประสบการณ์การใช้ ninebot KickScooter ES2 ตั้งกะแรกซื้อ แกะกล่องเลย

ถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพ สั่ง ninebot KickScooter ES2 จากเว็บ monowheel.bike ของจะส่งถึงมือภายใน 3 ชั่วโมงได้ เขาให้พี่แมสมาส่งอย่างไวเลยครับ กล่องใหญ่มาก หนักเอาเรื่อง แทบจะพร้อมใช้งานเพราะมีแบตเตอรี่มาให้แล้วราวๆ 80% แต่ว่าต้องประกอบก่อนก่อนครับ ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากอะไร ก็แค่เสียบสายไฟจุดนึง แล้วก็เอาส่วนหัวและแฮนด์ของสกู๊ตเตอร์มาประกอบเข้าไปเท่านั้นเอง ประแจหกเหลี่ยมและน็อตที่จำเป็นต้องใช้ ก็มีมาให้ในเซ็ตอยู่แล้ว
ขออภัย
ตอนได้ของมามันเย็นแล้ว รีบประกอบกะใช้ตอนเช้าเลย ก็เลยไม่ได้ถ่ายรูปประกอบครับ
จุดสำคัญคือ ตรงด้านล่างของตัวสกู๊ตเตอร์ มันจะมีช่อง Service อยู่ช่องนึง ที่ให้ช่างสามารถเข้าไปตรวจสายไฟได้ ซึ่งตรงนี้มันจะมียางสี่เหลี่ยมผืนผ้าแผ่นเล็กๆ ปิดอยู่ แต่ตอนที่ผมได้ของมาอ่ะ ยางแผ่นนี้มันหลุดออกมาอยู่ในกล่อง แล้วตอนแรกผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร นึกว่าฝรั่งทำเกิน (ดีว่าไม่ทิ้งไป) โน่น กว่าจะรู้ตัวว่ามันคืออะไร ก็ผ่านไปสองสามวันได้ ตอนที่ผมเผอิญยกสกู๊ตเตอร์ขึ้นมาวางพิงโต๊ะ แล้วเห็นไอ้ช่อง Service ที่ว่า

ninebot KickScooter ES2 มีการประกอบค่อนข้างดี เก็บสายไฟอยู่ด้านในมิดเลยแหละ แล้วก็เหมือนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าทั่วๆ ไป คือมือเบรกไฟฟ้าอยู่ด้านซ้าย คันเร่งอยู่ด้านขวา และมีจอ LED แสดงผลอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีปุ่มเปิดปิดอยู่ด้วยตรงนี้
จอแสดงผลจะแสดงผลความเร็ว (หน่วยเป็นกิโลเมตร), ปริมาณแบตเตอรี่, โหมดการขับ และไอคอนเตือนว่ามีปัญหา ต้องเข้าซ่อม (มันจะเป็นรูปประแจ ปกติจะไม่เห็น) ส่วนปุ่มเปิดปิด กดทีเดียวตอนปิดอยู่ก็จะเปิด จากนั้นกดค้างไว้ซัก 3-5 วินาทีก็จะปิด ส่วนตอนเปิดอยู่ ถ้ากดทีเดียว มันจะเป็นการเปิดหรือปิดไฟของรถ


การพับเก็บ ninebot KickScooter ES2 ไม่ยุ่งยากครับ แค่เหยียบสลัก แล้วเราก็จะสามารถพับเก็บลงมาได้เลย แต่ต้องขอบอกว่าเจ้านี่มีขนาดใหญ่ประมาณนึงเลยนะ และน้ำหนักก็ใช่ย่อยครับ ประมาณ 12.5 กิโลกรัม บอกตรงๆ ว่า จะหยิบจะแบกนี่ไม่ใช่เบาๆ เลย


ตอนพับลงมาแล้ว มันจะมีเขี้ยวมาล็อกเข้ากับบังโคลนของล้อหลังครับ จริงๆ แล้ว ดีไซน์ตรงนี้มันออกแบบมาให้เราแค่กดแฮนด์ลงลึกๆ แล้วบิดนิดหน่อยก็จะปลดสลักออกได้ แต่จากที่ผมลองใช้มาจริงๆ จังๆ ดู ผมพบว่า เอามือมาช่วยกดบังโคลนลงไปอีกหน่อย ปลดสลักได้ง่ายกว่าจม แต่อาจจะเลอะมือหน่อย เพราะบังโคลนล้อหลังเนี่ย เอาไว้เหยียบเพื่อเป็นเบรกเท้าได้ แต่ผมขับขี่มานาน บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องเบรกเท้าเท่าไหร่

ขับขี่แล้ว จะจอดพักซักหน่อย ก็จะมีขาตั้งให้กางออกมาได้ ตรงนี้มีการออกแบบและงานประกอบค่อนข้างดี ดูทนทานอยู่


ล้อหน้าถ้าจำไม่ผิด มีขนาด 7.5 นิ้ว ส่วนล้อหลังมีขนาด 8 นิ้ว มอเตอร์ของรถจะอยู่ตรงล้อหน้า และมีโช้กทั้งล้อหน้าและล้อหลัง ช่วยรับแรงกระแทกได้ดีงามมาก เมื่อรวมเข้ากับล้อที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เจ้านี่สามารถขับขี่ไปบนพื้นผิวต่างๆ ได้หลายสภาพมากกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อเล็กๆ และมีโช้กที่ไม่ดีเท่า … เอ้า! นี่กล้าพูดเลย เพราะประสบการณ์ตรง (สกู๊ตเตอร์คันก่อนหน้าของผม ล้อ 5 นิ้ว และไม่ได้มีโช้กดีขนาดนี้)

เจ้านี่นอกจากจะมีไฟหน้าที่สว่างเอาเรื่องแล้ว ก็ยังมีไฟท้าย และไฟใต้ตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็สามารถเปิดเป็นไฟหลากสีได้อีกต่างหาก แต่จำไว้อย่างนึงว่า เมื่อเปิดใช้งาน มันก็คือกินพลังไฟฟ้านะครับ ฉะนั้นแบตเตอรี่ก็จะหมดเร็วเป็นเรื่องปกติ


ในการใช้งาน ninebot KickScooter ES2 ต้องดาวน์โหลดแอปมาใช้ด้วยจะดีมากครับ เพราะมันเอาไว้ปรับตั้งค่าต่างๆ ของตัวรถได้ เช่น การตั้งล็อก, การเปิดปิดไฟใต้รถ อะไรแบบนี้

ninebot KickScooter ES2 มีโหมดการขับขี่ 3 โหมดหลักๆ คือ
- โหมด Limit จะจำกัดความเร็วได้ สามารถตั้งได้ในแอปด้วย โดยความเร็วสูงสุดในโหมดนี้คือ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- โหมด Normal จำกัดความเร็วไว้ที่ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- โหมด Sport จำกัดความเร็วไว้ที่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในสเปกระบุเอาไว้ว่าเจ้านี่ขี่ได้ระยะทางไกลสุด 25 กิโลเมตร แต่ผมไม่รู้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรหรอกนะ แต่จากที่ผมทดสอบดู ผมพบว่าถ้าขี่ในโหมด Sport ละก็ เอาแบบเซฟๆ จะวิ่งได้ราวๆ 16-17 กิโลเมตร เท่านั้นแหละ (ตัวผมน้ำหนัก 80 กิโลกรัม)
ค่าเริ่มต้นของ Energy recovery level ที่ตั้งไว้คือ Low ครับ และผมก็อยากแนะนำว่าตั้งไว้ตรงนี้แหละดีแล้ว ฟีเจอร์นี้มันคือ ตอนที่เราหยุดกดคันเร่ง ปล่อยให้ล้อมันฟรี มันจะปั่นไฟกลับมาที่แบตเตอรี่ เหมาะสำหรับเวลาลงเนินอย่างมาก แต่ในการขับขี่ปกตินี่แทบไร้ประโยชน์จริงๆ และยิ่งทำให้ขับขี่ไม่ราบรื่นเท่าไหร่ด้วย ในความเห็นของผมเอง
ส่วน Cruise control คือฟีเจอร์ที่รักษาระดับความเร็วเอาไว้ เมื่อเราขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ในระยะเวลานึง ฟีเจอร์นี้ก็เป็นอะไรที่ผมมองว่าไม่เหมาะซักเท่าไหร่สำหรับการขับขี่บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครครับ เพราะถ้าเราลืมตัว เรานึกแค่ว่าจะปล่อยคันเร่งแล้วความเร็วจะลด มันจะไม่ลดเอา ขี่เพลินๆ นี่เกิดอุบัติเหตุเอาง่ายๆ

ด้วยความเร็วระดับ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง บอกได้เลยว่า เอามาขี่บนถนนปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ แค่จำไว้ว่าปฏิบัติตามกฎจราจร และขี่ชิดริมซ้ายเอาไว้เสมอก็พอ และระวังพวกหลุมบ่อบนถนนหน่อย
ติดแบตเตอรี่เสริมให้ ninebot KickScooter ES2

ตัว ninebot KickScooter ES2 มีจุดเด่นอีกอย่างคือการติดตั้งแบตเตอรี่สำรองเข้าไป เพื่อเพิ่มปริมาณแบตเตอรี่ไปอีกเท่าตัว โดยแลกกับการเพิ่มน้ำหนักเข้าไปอีกราวๆ 1.3 กิโลกรัม รวมๆ แล้ว ติดตั้งเข้าไปแล้ว น้ำหนักจะราวๆ เกือบๆ 14 กิโลกรัมเลยทีเดียวครับ แต่สิ่งที่ได้มาคือ
- ระยะทางวิ่งสูงสุดเพิ่มเป็นราวๆ 45 กิโลเมตร
- ความเร็วในการขับขี่เพิ่มขึ้นอีก 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- โหมด Normal จะวิ่งเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- โหมด Sport จะวิ่งเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี จากที่ผมลองขับขี่มา ผมพบว่า
- แม้ใส่แบตเตอรี่เสริมแล้วโหมด Normal จะวิ่งเร็วสูงสุดเป็น 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่อัตราเร่งไม่ได้เหมือนตอนขี่โหมด Sport แบบไม่มีแบตเตอรี่เสริมครับ ความรู้สึกถึงแรงบิดของมอเตอร์จะไม่เท่ากัน
- แบตเตอรี่เสริม ช่วยให้ได้ระยะวิ่งเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยกเว้นกรณีวิ่งในโหมด Limit ที่คิดว่าน่าจะไปได้ไกลสุดตามสเปกคือ 45 กิโลเมตร แต่ความเร็วแค่ระดับ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง นี่ไม่ไหวจริงๆ

ผมติดแบตเตอรี่เสริมแล้วลองเอามาวิ่งโหมด Sport ไปๆ มาๆ ในหลายพื้นที่ดู บอกเลยว่าเร็วสะใจดีมาก และแรงบิดของมอเตอร์ทำให้ขึ้นเนิน ขึ้นสะพานชันๆ ประมาณนึงได้สบายๆ โดยความเร็วไม่ตกมากนัก ซึ่งนี่คือข้อดี เพราะทำให้ขับขี่บนถนนใหญ่ไม่ไปเกะกะรถคันอื่นมากเกินไป
แต่เอามาวิ่งโหมด Sport ความเร็ว 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อเนื่อง ผมพบว่าระยะทางไปได้ไกลสุดก็แค่ราวๆ 19 กิโลเมตรเท่านั้น (ย้ำ ผมหนัก 80 กิโลกรัม) และลองประเมินคร่าวๆ ว่าถ้าวิ่งโหมด Normal ความเร็ว 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว ระยะทางไกลสุดน่าจะวิ่งได้ที่แถวๆ 22 กิโลเมตร


อย่างไรก็ดี ใครที่คิดจะซื้อแบตเตอรี่เสริม ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าการออกแบบการติดตั้ง มันเป็นการติดตั้งแบบกึ่งถาวรนะครับ หมายถึง มันติดแล้วถอดออกได้ แต่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ มันต้องถอดน็อตหลายตัว มีการใส่อุปกรณ์กลับเข้าไปตามเดิม ฯลฯ หลายขั้นตอน
นอกจากนี้ ถ้าติดตั้งแบตเตอรี่เสริมแล้ว จุดชาร์จแบตเตอรี่มันจะไปอยู่แถวๆ ตรงบังโคลนของล้อหลัง ซึ่งทำให้มันไม่สามารถพับเก็บแล้วชาร์จแบตเตอรี่ไปด้วยได้ ต้องจอดทิ้งไว้ทั้งแบบในรูปด้านบน เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ครับ จะดูไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่
บทสรุปการรีวิว ninebot KickScooter ES2
เป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่เหมาะกับการขับขี่ในท้องถนนของกรุงเทพพอสมควรเลยแหละ นี่กล้าพูดเพราะว่าขับขี่ตะลุยมาเยอะแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ใช้ MONOWHEELair มาจนถึง ninebot KickScooter ES2 นี่ รวมๆ ประสบการณ์ขับขี่ทั้งสองคันแล้วเกิน 2,000 กิโลเมตร
ค่าตัวอาจจะแอบแรงไปนิด แต่ถ้าคิดซะว่ามันถูกกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนด์ และก็สามารถใช้งานได้อย่างน้อยๆ 2 ปีค่อยเปลี่ยน มันก็ไม่ได้แพงเท่าไหร่ครับ และผมก็อยากแนะนำให้ซื้อกับตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการอย่าง MAKEIO เพราะเวลามีปัญหาเขาให้บริการหลังการขายได้ดีทีเดียว การซื้อร้านที่ไม่ใช่ตัวแทนจำหน่าย อาจจะได้ราคาถูกกว่าพอสมควร แต่ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องบริการหลังการขายได้นะครับ ราคาที่มันแพงขึ้น มันคือค่าบริการหลังการขายนั่นแหละ