Home>>บทความ How-to>>QNAP User Guide>>QNAP NAS 101 EP30: ลูกค้าเน็ตบ้าน AIS ไม่ได้ Public IP จะใช้ myQNAPcloud ของ QNAP ไม่ได้ แล้วจะใช้อะไรแทน?
QNAP User Guide

QNAP NAS 101 EP30: ลูกค้าเน็ตบ้าน AIS ไม่ได้ Public IP จะใช้ myQNAPcloud ของ QNAP ไม่ได้ แล้วจะใช้อะไรแทน?

ผมเคยเขียนบล็อกสอนการใช้ myQNAPcloud เพื่อให้ผู้ใช้ QNAP NAS สามารถตั้งค่าเพื่อจะได้เข้าถึง NAS ได้จากนอกบ้านหรือนอกออฟฟิศ และได้เขียนอธิบายวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น ว่าถ้าต่อ myQNAPcloud ไม่ได้ มันน่าจะเกิดจากอะไรได้บ้าง แต่ก็มีลูกค้าเน็ตบ้าน AIS ที่ดูจะมีปัญหาหน่อย เพราะ AIS เขาจะไม่ให้ Public IP มาเลย ยกเว้นจะยอมจ่ายเพิ่มอีกเดือนละ 200 บาท นั่นเพราะเขามองว่า เขามีบริการ DDNS ให้ใช้ฟรีๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น ในบล็อกนี้ ผมจะมาอธิบายคร่าวๆ ว่าสำหรับลูกค้าเน็ตบ้าน AIS แล้ว ถ้าอยากจะเข้าถึง QNAP NAS ผ่านอินเทอร์เน็ต จะทำยังไง

จากประสบการณ์ในการตอบคำถามเรื่องการใช้งาน QNAP NAS ในกลุ่ม ผมพบว่าผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย มีพื้นฐานเรื่องไอทีและเน็ตเวิร์กไม่มาก ทำให้งงว่าต้องเซ็ตอะไรยังไง แล้วเมื่อมาอ่านบทความของผม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้แล้ว พอไปทำตาม มันก็เลยยังไม่ได้ฮะ งั้นวันนี้เรามาเริ่มตั้งแต่พื้นฐานกันก่อน

ทำไมต้องทำ DDNS แล้ว DDNS มันคืออะไร?

เวลาเราเอา QNAP NAS มาใช้ ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต มาเชื่อมต่อกับ NAS เพื่อใช้งาน เราจะถือว่า QNAP NAS นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า เซิร์ฟเวอร์ (Server) หรือ ผู้ให้บริการ ส่วนคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่าไคลเอนต์ (Client) หรือ ผู้ใช้บริการ การเชื่อมต่อแบบนี้เรียกว่า Client-server network ครับ โดยเครื่องเซิร์ฟเวอร์จะทำหน้าที่ให้บริการต่างๆ กับเครื่องไคลเอนต์ โดยบริการของ QNAP NAS ก็เช่น บริการไฟล์, บริการ VPN, บริการมัลติมีเดีย (เช่น ผ่าน Plex เป็นต้น) และอื่นๆ อีกมากมาย

การที่เครื่องไคลเอนต์จะสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ได้ ต่างฝ่ายจะต้องมีหมายเลขประจำตัว หรือก็คือ IP address เพื่อใช้แสดงตัวตน เวลาจะรับส่งข้อมูลกันจะได้รู้ว่าใครกำลังส่งไปหาใคร ก็คล้ายๆ กับเวลาโทรศัพท์นั่นแหละ แต่ละคนก็ต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ถูกแมะ

ปัญหาก็คือ IP address อะมันจำยาก IPv4 หรือ IP address เวอร์ชัน 4 ที่เป็นเวอร์ชันเก่าที่เราใช้กันมาเป็นสิบๆ ปีเนี่ย หน้าตาจะเป็นคล้ายๆ แบบนี้ 64.233.189.113 ในขณะที่ IPv6 หรือเวอร์ชัน 6 ที่จะเป็นอนาคตของ IP address หน้าตาจะประมาณนี้ 2001:0db8:85a3:0000:0000:8a2e:0370:7334 จำโคตรยากเข้าไปใหญ่ แล้วจะทำยังไงถึงจะจำได้ง่ายๆ ล่ะ? เขาก็มีสิ่งที่เรียกว่า Domain name หรือบางคนเรียกว่า URL มาเป็นชื่อเรียกแทนครับ เช่น google.com เนี่ย จำง่ายแมะ มันคือชื่อโดเมนเนมของ IP adress 64.233.189.113 ที่ผมพูดถึงไปเมื่อกี้

มันจะมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์เครื่องนึงที่ทำหน้าเป็นเหมือนโอเปอเรเตอร์ที่คอยจับคู่ระหว่างโดเมนเนม กับ IP address แล้วคอยบอกเครื่องไคลเอนต์ให้ทราบ เครื่องเซิร์ฟเวอร์นี้เรียกว่า โดเมนเนมเซิร์ฟเวอร์ (Domain Name Server หรือ DNS) ดังนั้น เวลาผมพิมพ์ google.com บนเบราว์เซอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ของผมจะส่งไปถามกับ DNS ว่า google.com นี่ IP address อะไร แล้ว DNS ก็จะดูข้อมูลให้ แล้วก็ส่งมาบอกผมว่ามันคือ 64.233.189.113 จากนั้นคอมพิวเตอร์ของผม ก็จะทำการส่งข้อมูลไปยัง IP address นี้ เพื่อบอกให้เซิร์ฟเวอร์ของ Google ทำการส่งข้อมูลเว็บมา ก็ประมาณนี้

สำหรับพวกเว็บไซต์ต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนพวก Data center หรือผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง เขาจะได้ Public IP แบบตายตัวมา (บางทีเรียก Fixed IP บางทีเรียก Static IP) จะรีสตาร์ทเครื่องกี่ที จะผ่านไปกี่ปีกี่เดือน IP address ก็จะยังคงเหมือนเดิม แบบนี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ผู้ใช้งานตามบ้าน ที่พยายามจะตั้งเซิร์ฟเวอร์ใช้เอง กับอินเทอร์เน็ตบ้านเนี่ย มันจะมีปัญหาครับ เพราะ IP address ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้เรามานั้น เขาจะไม่เจาะจงตายตัวมาให้ แต่จะสุ่มมาให้ และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกครั้งที่เรามีการเชื่อมต่อใหม่ หรือ เมื่อผ่านไปได้ซักระยะเวลาหนึ่ง อีแบบนี้ต่อให้เราจดโดเมนเนม เพื่อใช้เรียกแทน IP address ของเรา มันก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะ IP address ของเรามันไม่ตายตัวนั่นเอง

มันก็เลยเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า DDNS หรือ Dynamic DNS ซึ่งโดยหลักการแบบง่ายๆ ก็คือ มันจะมีการติดตั้งโปรแกรมไว้บนอุปกรณ์ของเรา ซึ่งมักจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ NAS ที่เราจะให้ทำหน้าที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ หรืออาจจะเป็น Router ที่เราใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเจ้านี่มันจะทำหน้าที่ส่ง IP address ปัจจุบันของเราไปยังผู้ให้บริการ DDNS เป็นระยะๆ คอยอัปเดตให้ผู้ให้บริการรู้เสมอว่า IP address ของเราตอนนี้เป็นอะไรแล้ว และจะได้จับคู่โดเมนเนมได้ ปกติแล้วการให้บริการแบบนี้ ก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องชื่อโดเมนที่เราเลือกได้ หรือไม่ก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย

myQNAPcloud ก็คือบริการ DDNS ของ QNAP ครับ ให้บริการฟรี และสามารถใช้งานร่วมกับ SSL certificate ได้ (ผมเขียนวิธีติดตั้งไว้ในบล็อกก่อนหน้านี้แล้ว) พอใช้ myQNAPcloud แล้ว ก็จะสามารถเรียกใช้ QNAP NAS ได้ด้วยการเรียกชื่อ URL เช่น nasname.myqnapcloud.com อะไรแบบนี้เลยครับ แต่การจะใช้บริการ myQNAPcloud ได้ เราต้องได้ Public IP (หรือบางที่เรียก IP จริง) จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตครับ ซึ่งหากเป็น True ก็ไม่ใช่ปัญหา โทรหา Call Center กริ๊งเดียวจบ อันนี้ยืนยัน ผมลูกค้าทรู

แต่ปัญหาคือเน็ตบ้าน AIS เขาไม่ได้ให้ Public IP แล้วจะทำยังไง?

คุณจะเลือกใช้เงินแก้ปัญหาก็ได้ครับ จ่ายเพิ่มอีก 200 บาท/เดือน ก็จบ ใช้ myQNAPcloud ได้เลย แต่ถ้าไม่อยากจ่ายเพิ่ม จะทำยังไง? ก็แค่ไม่ต้องใช้ myQNAPcloud ไงครับ แต่หันไปใช้บริการ DDNS ของ AIS แทน ซึ่งก็คือ THDDNS ครับ

วิธีการก็คือไปที่เว็บไซต์ THDDNS แล้วลงทะเบียนก่อน ลิงก์ลงทะเบียนจะอยู่ด้านล่าง (อ่านวิธีการลงทะเบียนที่นี่) จากนั้นล็อกอินด้วย Username และ Password ที่เราตั้ง แล้วเข้าไปในหน้า Dashboard ก็จะเห็นประมาณนี้ครับ เราก็จะไปที่ การจัดการบริการ แล้วเราจะเห็นว่าเราได้ชื่อโดเมนมาแล้ว (ซึ่งเราจะตั้งชื่อได้ตอนที่เราลงทะเบียนใช้บริการ) พร้อมกับมีพอร์ตที่ใช้ตามจำนวนที่เราตั้ง เราจะตั้งกี่พอร์ต ก็อยู่ที่ว่าเราอยากจะให้ QNAP NAS ให้บริการกับเรากี่อย่าง เช่น ถ้าเราอยากใช้เข้าหน้าเว็บ ทำ VPN ด้วย Qbelt และทำ FTP server ด้วย ก็เท่ากับต้องมี 3 พอร์ต เป็นต้น

หน้าจอแดชบอร์ดของเว็บ THDDNS แสดงการตั้งค่าการจัดการบริการ

ตัวเลขพอร์ตพวกเนี้ย คือสิ่งที่เราจะต้องจำ เพราะจะเอาไว้ใช้คู่กับโดเมนเนม เวลาเราจะเรียกใช้บริการ หรือตั้งค่าการใช้งานบริการบางอย่างกับโปรแกรม (เช่น QVPN) ครับ ตรงช่อง ชื่ออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ เนี่ย ให้เราใส่บริการของ QNAP NAS ที่เราอยากเปิดนั่นแหละ เช่น สมมตินะ ผมเอาพอร์ต 6220 มาเปิด QVPN ผมก็ใส่ QVPN เข้าไป เป็นต้น เราต้องจำเลขพอร์ตนี้ไว้นะ เพราะมันคือพอร์ตที่เราเปิดไว้บน THDDNS ครับ

เราไม่จำเป็นต้องไปตั้งค่า DDNS บน Router ของ AIS เลยนะครับ เพราะ DDNS ถูกตั้งไว้บนเว็บเรียบร้อย AIS รู้อยู่แล้วว่า IP address เราเป็นอะไร สังเกตได้จากที่หน้า Dashboard ของ THDDNS มันจะแสดงหมายเลขอินเทอร์เน็ตของเราแล้ว แต่ที่เราต้องทำคือ ไปตั้งค่า Port forwarding ที่ Router ครับ ซึ่งหน้าจอการตั้งค่าก็อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ยี่ห้อของ Router รูปด้านล่างนี่เอามาจากทาง AIS น่าจะเป็นของ Huawei

ตัวอย่างหน้าจอการตั้งค่า Port forwarding ของ Router ของ AIR Fibre

ตัวเลือกแต่ละตัว ให้ใส่ตามนี้ครับ

Name ก็ตั้งชื่อไปตามที่เราต้องการ ปกติผมก็จะตั้งเป็นชื่อของบริการ QNAP NAS ที่จะใช้ เช่น Web server, QVPN, FTP server อะไรแบบนี้
Protocol ให้เลือกระหว่าง TCP กับ UDP เลือกให้ตรงกับบริการของ QNAP NAS ที่เราจะใช้ เช่น QVPN ที่เป็น Qbelt นี่จะเป็น UDP เป็นต้น
LAN Host ใส่ IP address ของ QNAP NAS ของคุณ ไปดูเอาจาก Network & Virtual Switch > Network > Interfaces แล้วดูอันที่มันวิ่งออกอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ
WAN Port ใส่เลขพอร์ตที่เราได้จาก THDDNS นั่นแหละครับ ใส่ทั้งสองช่องเป็นเลขเดียวกันไปเลย
LAN Host Port ใส่เลขพอร์ตของบริการที่ QNAP จะให้ ก็อยู่ที่ว่าเราตั้งค่าเอาไว้ยังไง เช่น สมมมติผมตั้งค่า QVPN Qbelt เอาไว้ที่พอร์ต 3456 ผมก็ต้องกรอกเลขนี้แหละ ไปที่ทั้งสองช่องเลย

แค่นี้ทุกอย่างก็เตรียมการเรียบร้อย ที่เหลือก็คือการเรียกใช้บริการครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมใช้พอร์ต 6221 ที่เปิดไว้บน THDDNS สำหรับเว็บ เวลาผมจะเข้าถึง QNAP NAS ผ่านเบราว์เซอร์ ผมก็ต้องพิมพ์เป็น myname.thddns.net:6221 เป็นต้น (ส่วนตอนที่เราไปตั้งค่า Web server จะเป็นเลขอะไร ไม่ใช่ปัญหา เพราะตอนเราทำ Port forwarding นั้น เราจะจับคู่พอร์ต 6221 กับ 8080 (สมมตินะ) เรียบร้อยแล้วไง

หน้าจอการตั้งค่าโปรแกรม QVPN สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows

คุณต้องทำความเข้าใจกับการตั้งค่าเองด้วยครับ เพราะแต่ละบริการ แต่ละโปรแกรม มีวิธีการตั้งค่าที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น QVPN สำหรับคอมพิวเตอร์ที่รัน Windows หน้าจอตั้งค่าก็จะคล้ายๆ ด้านบนนี่ ที่คุณต้องตั้งค่าเพื่อใช้งานหลักๆ ก็คือ

• โฮสต์/IP หรือชื่อ myQNAPcloud ซึ่งในกรณีของลูกค้า AIS ที่ใช้ THDDNS แทน ก็ต้องใส่เป็น myname.thddns.net แทน (ตรง myname คือชื่อโดเมนที่คุณกำหนดตอนลงทะเบียน) หลายคนจะสับสนนึกว่าให้ใส่ myQNAPcloud เพราะมันเขียนแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ เพราะเราไม่ได้ใช้บริการนี้ตั้งแต่ต้นไงล่ะ
พอร์ต VPN ก็คือ เลขพอร์ตที่เราใส่ไว้ใน WAN Port ตอนทำ Port forwarding บน Router

จริงๆ แล้ว สำหรับคนใช้เน็ตบ้าน AIS เนี่ย การเซ็ตให้เข้าถึง QNAP NAS จากอินเทอร์เน็ตได้ มันง่ายกว่าของทรูนะ เพราะเขาทำ DDNS ไว้ให้แล้ว ของทรูยังต้องโทรไปขอให้เปิด แล้วอาจจะงงๆ เล็กน้อย เพียงแต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานด้านการตั้งค่าเน็ตเวิร์ก เราจะงงว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าเราเขาใจ มันตั้งค่าง่ายแป๊บเดียวเลยฮะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า