สำหรับคนที่ซื้อ QNAP NAS มาใช้แล้ว อยากใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเซ็ตอัพให้สามารถเข้าถึง QNAP NAS ได้จากนอกบ้าน ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วย URL แบบง่ายๆ มันจะเป็นก้าวแรกสู่การใช้บริการต่างๆ อีกมากมายเลยทีเดียวครับ ซึ่ง QNAP เขาได้เตรียมบริการที่เรียกว่า myQNAPcloud มาให้ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเซ็ตอัพได้ง่าย รวดเร็ว ที่สำคัญคือฟรีอีกต่างหากด้วย
myQNAPcloud บริการ Dynamic DNS (DDNS) พร้อมเซ็ต Port forwarding แบบง่ายๆ จาก QNAP NAS
QNAP NAS มันก็คือเซิร์ฟเวอร์ขนาดย่อมๆ ครับ การตั้งเซิร์ฟเวอร์ไว้ใช้ที่บ้าน ให้สามารถเข้าถึงจากนอกบ้านได้ ก่อนอื่นเราก็ต้องรู้ IP address ของที่บ้านเราก่อน แต่เนื่องจากว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านจะไม่มีการกำหนด IP address ให้ลูกค้าแบบตายตัว ยกเว้นแต่ว่าลูกค้าจะจ่ายตังค์แพงขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ Fixed IP address หรือ การกำหนด IP address แบบตายตัวครับ ฉะนั้น เราจึงต้องพึ่งพาบริการที่เรียกว่า Dynamic DNS (DDNS) เพื่อจับคู่ URL (หลายคนอาจเรียกว่า Domain name) กับ IP address ให้โดยอัตโนมัติ และแม้ว่า IP address จะถูกเปลี่ยนไป บริการ DDNS นี้ ก็จะทำการอัพเดตให้เลย ทำให้เราไม่ต้องเช็ก IP address ทุกครั้ง แต่จำ URL ทีเดียวจบ
ยังไม่จบครับ QNAP NAS อะ มันให้บริการผู้ใช้งานหลากหลายครับ ไม่ว่าจะเป็น Web server, file server, VPN, mail server และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละบริการ มันก็ให้บริการผ่าน IP address ของ QNAP NAS นั่นแหละ ซึ่งปกติแล้วจะเป็นคนละตัวกับ IP address ที่เราได้จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพราะ QNAP NAS จะไม่ใช่อุปกรณ์ชิ้นเดียวในบ้าน ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากจะเข้าใช้บริการ เราก็ต้องกำหนด พอร์ต (Port) ด้วย QNAP NAS จะได้รู้ว่าเรากำลังอยากจะเข้าใช้บริการไหน เช่น พอร์ต 80 ใช้กับ Web server, พอร์ต 21 ใช้กับ FTP server เป็นต้น เมื่อต้องการให้ผู้ใช้งานเข้าถึง QNAP NAS จากนอกบ้าน ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ก็ต้องทำการตั้งค่าที่เรียกว่า Port forwarding ซึ่งมักจะไปเซ็ตกันที่ Router เพื่อบอกให้ Router ช่วยจับคู่ว่าถ้ามีการขอเข้าถึงบริการผ่านพอร์ตนั้นพอร์ตนี้ Router ควรจะส่งการเชื่อมต่อไปที่อุปกรณ์ไหน เช่น สมมติว่าเน็ตบ้านได้ IP a.b.c.d มา แล้วมีคนส่งคำร้องขอเข้าถึงบริการมาที่พอร์ต 80 ตัว Router ก็อาจจะส่งการเชื่อมต่อไปยัง 192.168.1.100 พอร์ต 8081 ซึ่งเป็น IP address ของ QNAP NAS พอร์ตก็เป็นของ Web server ที่เราตั้งค่าเอาไว้ … ข้อสังเกต การทำ Port forwarding ไม่จำเป็นต้องเป็นเลขพอร์ตเดียวกันเป๊ะ มันเป็นแค่การทำ “ตารางการจับคู่” เท่านั้นเอง
แต่ด้วยบริการ myQNAPcloud ของ QNAP เนี่ย มันทำให้การทำ Dynamic DNS กับ Port forwarding จบได้ในแอปเดียวเลยครับ
การเซ็ตอัพ myQNAPcloud บน QNAP NAS
ก่อนอื่น ต้องไปที่ www.myqnapcloud.com เพื่อลงทะเบียน QID ก่อนครับ ถ้าใครยังไม่มี QID ก็คลิก Sign up now! ได้เลยครับ

จากนั้นก็เลือกครับ จะ Sign up ด้วย Social media (เลือกได้ระหว่าง Google account และ Facebook account) หรือจะสมัครด้วยอีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์ ผมแนะนำว่าใช้การสมัครด้วยอีเมลดีกว่าครับ แยก Username และ Password ออกห่างจากพวกบัญชีอีเมล หรือ Social media ของเราเอาไว้ดีกว่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการ เพราะ myQNAPcloud นี่หมายความว่า ใครก็ตามที่รู้ QID ของเรา (Username และ Password) จะสามารถล็อกอินเข้าเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ภายในเครือข่ายของเราได้เลยนะ

กรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบจะทำการส่งอีเมลยืนยันไปให้ เราก็แค่คลิกยืนยัน แค่นี้เราก็พร้อมจะเริ่มใช้งานได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องคลืกปุ่ม Start using myQNAPcloud ในหน้าจอที่เด้งขึ้นมาหลังทำการ Activate หรอกนะ เพราะมันจะเป็นแค่การล็อกอินเข้าไปเพื่อบริหารจัดการบัญชี myQNAPcloud ของเราเฉยๆ
ที่เราต้องทำถัดไปคือ การเซ็ตอัพ myQNAPcloud บน QNAP NAS ของเราต่างหาก ให้ล็อกอินเข้าไปที่ QTS ครับ แล้วก็เปิดแอป myQNAPcloud ขึ้นมา ที่หน้าจอแรก เราจะเจอหัวข้อ myQNAPcloud ที่มีปุ่ม Get Started สีเขียวแบบนี้ คลิกเลย

จากนั้นเราจะเห็นหน้าจอแรกสำหรับการเริ่มติดตั้ง myQNAPcloud เราก็แค่คลิกปุ่ม Start เพื่อเริ่มกระบวนการ

จากนั้น ก็ล็อกอินด้วยบัญชี myQNAPcloud ที่เราสมัครไปเมื่อก่อนหน้านี่แหละครับ ใส่ QNAP ID (หรือก็คือ QID) และ Password เข้าไป

จากนั้นก็ตั้งชื่อ QNAP NAS ของเราเข้าไปครับ ปกติก็ใช้ชื่อเดียวกับ QNAP NAS ที่เราตั้งเอาไว้นั่นแหละ แต่เผื่อใครอยากจะตั้งเป็นอย่างอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน เวลาเราตั้งชื่อ ระบบจะทำการเช็กให้โดยอัตโนมัติว่าชื่อนี้มีคนเอาไปแล้วหรือยัง ชื่อที่เราตั้ง มันจะเป็นตัวกำหนด URL ด้วยเลย เช่น ถ้าเราตั้งว่า myqnapnas เราก็จะได้ URL ของ myQNAPcloud ว่า myqnapnas.myqnapcloud.com แบบนี้เลยครับ เมื่อเรียบร้อยแล้ว ก็คลิก Next

หน้าจอถัดมาคือ การกำหนดว่าจะเปิดใช้บริการอะไรบ้าง ที่ผมแนะนำก็คือ เปิดหมดเลยครับ (ฮา) เพราะ Auto Router Configuration จะช่วยเราเรื่องการทำ Port forwarding ให้ ส่วน DDNS ก็คือบริการ Dynamic DNS ที่เราต้องทำ และ CloudLink ที่เราก็จะเปิดมาพร้อมๆ กับ myQNAPcloud ครับ ส่วน Publish Services นี่คือ บริการอะไรก็ตามที่เราเปิดให้ใช้งานได้ ซึ่งก็คือเป้าหมายหลักของเรา เพราะเราอยากเข้าถึง QNAP NAS เพื่อใช้บริการพวกนี้นั่นแหละ

ส่วนตัวเลือก Access Control นั้น มันมีให้เลือกสามแบบ คือ
- Public คือ ให้ใครก็สามารถที่จะล็อกอินมาที่ myQNAPcloud แล้วค้นหาอุปกรณ์ของเรา เพื่อเข้าใช้บริการอะไรก็ตามที่เราเปิดเป็นสาธารณะได้ … ต่อให้คุณเปิดบริการเป็นสาธารณะ ผมก็ไม่ค่อยอยากแนะนำให้ใช้ตัวเลือกนี้ซักเท่าไหร่
- Private คือ ให้เราคนเดียวเท่านั้นที่จะเข้ามาใช้งานอุปกรณ์ของเรา ผ่าน myQNAPcloud … ถ้าใครจะใช้ QNAP NAS เพื่อการส่วนตัวจริงๆ ควรจะเลือกตัวเลือกนี้ครับ
- Customized คือ ให้เรากับใครก็ตามที่เราเชิญมาใช้งาน สามารถค้นหา QNAP NAS ของเราได้บน myQNAPcloud



จากนั้นก็แค่รอ แล้วพอมาถึงหน้าสรุป เราก็แค่คลิก Finish ครับ เมื่อเรียบร้อยแล้ว ตรงหน้าจอ myQNAPCloud จะต้องบอกสถานะของ Auto Router Configuration, Cloud Link กับ DDNS เป็น ไอคอนสีเขียวมีเครื่องหมายถูกนะครับ ส่วนตรง SSL Certificate มีเครื่องหมายตกใจ อย่าตกใจ มันเป็นแบบนี้เพราะเรายังไม่ได้ติดตั้ง SSL Certificate เท่านั้นเอง (อ่านบล็อกวิธีติดตั้ง SSL Certificate ฟรี) พอติดตั้งเสร็จแล้ว ตรงนี้ก็จะเป็นไอคอนสีเขียวเองแหละ
ขั้นตอนสุดท้ายคือ เช็กที่ myQNAPCloud > Auto Router Configuration แล้วไปติ๊กถูกตรง Enable UPnP Port forwarding แล้วเช็กว่า Status มันขึ้นว่า Found UPnP router on the network หรือยัง จากนั้นก็ให้แน่ใจว่าทุกบริการที่เราต้องการเปิด จะถูกตั้งค่าโดยอัตโนมัติผ่าน Auto Router Configuration ครับ เราก็เข้าไปดูเลยว่ามีบริการอะไรเปิดไว้อยู่บ้าง อันไหนที่เราอยากจะทำ Port forwarding ก็ไปติ๊กถูกตรงคอลัมน์ Enabled บริการไหนที่เราไม่เห็นในหน้าจอนี้ ก็ไปคลิก Add NAS Service เพื่อเพิ่มเข้าไป จากนั้นก็คลิก Apply to Router ครับ

แค่นี้ เราก็สามารถเข้าถึง QNAP NAS ได้จากอินเทอร์เน็ตแล้วครับ