คืองี้ เมื่อเร็วๆ นี้ได้อ่านบทความบน Positioning เรื่อง ซีรีส์แนวตั้ง – สตรีมมิงมือถือ : อนาคตธุรกิจบันเทิงเมื่อชาวโลกใช้เวลา 70% กับหน้าจอ แล้วรู้สึกว่าคนทำงานด้าน Online marketing กับคนทำงานด้านผลิตเนื้อหา อาจจะต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้กันบ้างแล้วจริงๆ นะ เพราะอย่างที่ Positioning เขาจั่วหัวนั่นแหละ ชาวโลกใช้เวลา 70% กับหน้าจอ(มือถือ) กันแล้ว ถ้าจะทำวิดีโอ มันถึงเวลาที่จะต้องมาปรับวิดีโอเป็นแนวตั้งกันแล้วหรือเปล่า?
ลองย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 บทความชื่อ ถ่ายวิดีโออย่างไรให้ดูเป็นมือโปร ของ VOGUE Thailand ยังเขียนเอาไว้อยู่เลยว่าการถ่ายวิดีโอแนวตั้งมันทำให้ผลงานออกมาดูเหมือนเป็นมือสมัครเล่น เพราะพอเอามาโพสต์บน YouTube หรือ Facebook แล้ว ภาพมันจะออกมาอยู่แค่กลางจอ และมีแถบดำอยู่ตรงด้านซ้ายและขวา กลายเป็นว่าดูเป็นมือสมัครเล่นไป
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปแค่ 3 ปี พวกโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ YouTube เอง ต่างก็ปรับแอปตัวเองให้รองรับการแสดงผลทั้งภาพถ่ายและวิดีโอให้รองรับอัตราส่วนการแสดงผลแบบแนวตั้งกันหมดแล้ว ทำไมน่ะเหรอ? ก็เพราะผู้ใช้งานไงครับ ทุกคนต่างก็เป็น “มือสมัครเล่น” กันหมด และเมื่อต่างก็ถ่ายทั้งภาพและวิดีโอแบบแนวตั้ง การเห็นภาพออกมาเล็ก หรือมีแถบดำด้านข้าง มันน่ารำคาญ ถูกแมะ แต่พฤติกรรมการถ่ายแนวตั้งมันหยุดกันไม่ได้ ทาง Facebook, Twitter และ YouTube เอง ก็ต้องปรับตัว เพื่อให้มันรองรับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ไม่ทำให้เขารู้สึกรำคาญกับคอนเท้นต์ และยินดีที่จะให้แอปต่อไป

ฉะนั้น หากมองว่าการถ่ายภาพหรือวิดีโอออกมาแล้ว ภาพมันเล็กๆ มีแถบดำๆ อยู่ด้านข้าง ไม่เต็มจอ มันคือมือสมัครเล่น … ณ ตอนนี้มันไม่ได้ดูมือสมัครเล่นอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าภาพมันเต็มจอแล้วไง นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนทั่วไปก็คือ การถือใช้ในแนวตั้ง แม้ว่าสมาร์ทโฟนจะมีฟีเจอร์ที่ตะแคงภาพหน้าจอให้โดยอัตโนมัติเมื่อตะแคงจอ แต่มันกลับไม่สะดวกอีกต่อไปแล้วเหอะ

และเมื่อพฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไปเช่นนี้ จากเดิม คอนเท้นต์แบบแนวนอนที่ดูโปร พอมาดูบนจอแนวตั้งแทน มันกลับไม่โปรซะแล้ว ถ้าเราเอาเกณฑ์แบบเมื่อก่อนมาวัด ที่ว่าถ้ามันแสดงผลไม่เต็มจอ หรือมีแถบดำ หรือสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อหาของวิดีโอที่แทรก ดูตัวอย่างการแสดงผลวิดีโอแบบ 16:9 บนแอป YouTube ในการดูแบบแนวตั้งได้ครับ เจออีแบบนี้ ผู้ใช้งานจะกลับรู้สึกว่า สมาร์ทโฟนจอบะเริ่ม ดันแสดงผลวิดีโอออกมาได้จอกระติ๊ดเดียวเองอ่ะ
เมื่อเอามาเทียบกับเนื้อหาที่ทำออกมาเป็นแนวตั้งโดยเฉพาะเลย เช่นวิดีโอด้านบน (กรุณาเปิดดูบนแอป YouTube นะ … ถ้าคลิกที่วิดีโอด้านบนแล้วมันไม่เรียกแอป YouTube มาให้ ลองคลิกลิงก์นี้แทน) คิดว่ายังไงล่ะ
คอนเท้นต์ตอนนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับดูโปร ดูไม่โปร แล้ว มันต้องดู Engagement
ในความเห็นของผมนะ ดูโปร ดูไม่โปร มันไม่เกี่ยวกับแถบดำแล้วล่ะ เพราะว่าถ้าถ่ายมาแบบ 16:9 ก็ตะแคงดูแนวนอน ถ้าถ่ายมาแบบ 9:16 ก็ดูมันแนวตั้งแบบที่เราใช้ประจำไปนั่นแหละ แถบดำมันแทบจะไม่เหลือแล้ว (ยกเว้นเราไปถ่ายด้วยอัตราส่วนการแสดงผลแปลกประหลาดมา หรือ เราใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่เดี๋ยวนี้หน้าจอเป็นอัตราส่วนการแสดงผล 19.5:9 กันหมด ตามสมัยนิยม)
จุดสำคัญของคอนเท้นต์สำหรับโลกโซเชียลมีเดีย ณ ตอนนี้ผมว่ามันอยู่ที่ Engagement มากกว่าความโปรหรือไม่โปร คือ มันกระตุ้นต่อมอยากดูของผู้ชมได้มากแค่ไหน มันกระตุ้นให้คนมามีส่วนร่วมกับคอนเท้นต์ (กดไลค์ กดแชร์ หรือ คอมเม้นต์) ได้มากแค่ไหนมากกว่าละครับ แล้วเผอิญว่า เนื้อหาที่มีอัตราส่วนการแสดงผลแบบ 9:16 เนี่ย มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวโซเชียลมีเดียมากกว่า คือ การใช้งานแอปพวกนี้มันเป็นแนวตั้งอยู่แล้ว เมื่อเนื้อหาก็เป็นแนวตั้งด้วย ผู้ใช้งานก็ไม่ต้องวุ่นวายกับการตะแคงหน้าจอมือถือไปมาไง โอกาสที่จะมี Engagement มันก็สูงกว่า ผู้ชมก็รำคาญน้อยกว่า
แต่เนื้อหาแบบ 16:9 ก็ยังทำได้อยู่นะ
ชาวโซเชียลเขาสะดวกชมเนื้อหาแบบ 9:16 มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาแบบ 16:9 จะไม่มีที่ยืนนะ เพราะมันก็ยังมีหลายกรณีที่ยังมีความจำเป็นในการแสดงเนื้อหาแบบ 16:9 อยู่ครับ โดยเฉพาะ หากเราต้องการแสดงเนื้อหาในแบบเดียวกับที่มุมมองจากตาของมนุษย์เห็น เพราะคนเรามองเห็นภาพเป็นพาโนรามามุมกว้างมากครับ (จริงๆ กว้างและสูงกว่า 16:9 มาก) เนื้อหาแบบ 16:9 ยังคงเอามาใช้ “เล่าเรื่อง” ได้ดีกว่า และทุกสถานการณ์มากกว่าอัตราส่วนการแสดงผลแบบ 9:16 ครับ … แน่นอนว่าอยากที่ Positioning เขาบอกมาว่า มีคนคิดจะทำซีรี่ย์เรื่องสั้นที่เป็นแบบ 9:16 แล้ว แต่มันยังต้องการความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องของการนำเสนอมาก เพราะ 9:16 มันไม่ใช่มุมมองของตามนุษย์เลย การจะดำเนินเรื่องมันจึงต้องวางให้ดีๆ
ถ้าเน้นเรื่องของ Immersive เป็นเนื้อหาที่มีระยะเวลานานประมาณนึงแล้ว ผมยังรู้สึกว่า อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:9 เนี่ย ยังเป็นทางเลือกหลักอยู่ดี และผมก็คิดว่า ผู้ใช้งานเองก็ไม่น่าจะรำคาญอะไร เพราะเขาก็ไม่ต้องตะแคงหน้าจอกลับไปกลับมาอยู่แล้ว ดูซีรี่ย์ตอนนึง 40 นาที หรือ ดูหนังเรื่องนึงเลย ยาว 90-110 นาที มันตะแคงจอทีเดียวยาว จบ
อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 2:3, 4:5 หรือ 1:1 คือทางสายกลาง
ผมแอบขอเพิ่มทางเลือกให้อีกหน่อยครับ สำหรับคนที่คิดว่าการทำเนื้อหาแบบ 16:9 หรือ 9:16 มันทำให้ผู้ชมต้องเลือกว่าจะตั้งหรือตะแคง อาจจะพิจารณาทำเนื้อหาแบบ 2:3, 4:5 หรือ 1:1 ไปดูเลยก็ได้ ข้อเสียคือ มันจะสูญเสียเนื้อที่ในการแสดงผลไปเยอะ ฉะนั้นต้องวางแผนการทำเนื้อหามาให้ดีๆ แต่เพราะล่าสุด Facebook จะปรับการแสดงผลวิดีโอหรือภาพบนโพสต์ (ในกรณีที่ยังไม่ได้คลิกขยาย) ให้รองรับการแสดงผลแบบแนวตั้งแล้ว ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด มันคือ 4:5 ดังนั้น การทำเนื้อหาที่การแสดงผลแบบ 2:3, 4:5 หรือ 1:1 จะทำให้เนื้อหาของคุณมันโผล่มาเต็มๆ โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้งานคลิกไปดูอีกรอบเลย มันก็ช่วยให้ผู้ชมได้เห็นเนื้อหาได้เต็มๆ โดยไม่ต้องลำบากคลิกหรือแตะอีกรอบ โอกาสที่เขาจะเกิด Engagement (คลิกดูภาพเต็ม, กดไลค์ หรือปุ่มอื่นๆ หรือ กดแชร์) มันก็จะมีมากกว่าด้วย