Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>มองโซเชียลมีเดียผ่านเลนส์จิตวิทยา EP02: ความจริงของฉัน ความจริงทางเลือก
มองโซเชียลมีเดียผ่านเลนส์จิตวิทยา ตอนที่ 2 ความจริงของฉัน ความจริงทางเลือก
บ่นเรื่อยเปื่อยบทวิเคราะห์แบ่งปันความรู้

มองโซเชียลมีเดียผ่านเลนส์จิตวิทยา EP02: ความจริงของฉัน ความจริงทางเลือก

สมัยที่ผมยังเรียนปริญญาโทสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์กร (ซึ่งเรียนไม่จบ เพราะไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์) อยู่นั้น ตอนที่เรียนวิชา Cognitive psychology หรือ จิตวิทยาเชิงรู้คิด มีประโยคนึงที่ท่านอาจารย์ผู้สอนพูด และผมคิดว่าน่าสนใจ คือ “ข้อเท็จจริงมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ความจริงนั้นอาจมีได้มากกว่าหนึ่ง มันมีความจริงของฉัน และความจริงของพวกเธอ” ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การให้สัมภาษณ์ของ Kellyane Conway ให้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ในปี 2017 ในกรณีที่โฆษกทำเนียบขาวอ้างว่าผู้คนที่มารวมตัวกันในวันที่ทรัมป์เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่มีข้อมูลจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้คนที่ออกมาในวันพิธีของโอบามาในปี 2009 นั้นเยอะกว่าเห็นๆ

ภาพมุมสูงเปรียบเทียบจำนวนผู้คนที่ออกมาในงานพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในปี 2017 และโอบามาในปี 2009
เครดิตภาพ VOX

เผื่อใครลืมบทสัมภาษณ์นั้น ผมแปะวิดีโอบน YouTube มาให้ดูครับ ช่วง 1:55 – 2:16 เนี่ย พีคพอดีเลย นักข่าวถึงกับบอกว่า “Alternative facts are not fact, they are falsehood. (ความจริงทางเลือกไม่ใช่ข้อเท็จจริง มันเป็นความเท็จ”

ที่หยิบกรณีนี้มาเป็นตัวอย่าง ก็เพราะมันเป็นเคสดังที่ทำให้วาทกรรม “Alternative facts หรือ ชุดความจริงทางเลือก” ดังไม่ดัง ก็เล่นเอา Google Search Trends ปี 2017 ในสหรัฐอเมริกา คำค้นคำนี้พุ่งปรี๊ดดังที่เห็นในกราฟด้านล่างนั่นแหละครับ (เมื่อเทียบกับการค้นหาคำคำนี้ในตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน สิงหาคม 2020)

กราฟแสดงผลการค้นหาคำว่า Alternative Facts ตั้งแต่ปี 2004 ถึงปัจจุบัน (ส.ค. 2020) กราฟช่วง
เครดิตภาพ Google Search Trends

เอาจริงๆ นะครับ เราเชื่อกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาสูง สามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล แต่ในความเป็นจริงนั้น ในทางจิตวิทยาสังคมพบว่ากระบวนการรู้คิดของมนุษย์ (Human cognition) นั้น มีแนวโน้มที่จะมี “การคิดหาเหตุผลประกอบด้วยแรงจูงใจ (motivated reasoning)” ซะมากกว่า

ในอุดมคตินั้น เวลาที่คนเราหาเหตุผลของการกระทำของตนเอง เราจะให้เหตุผลตามข้อเท็จจริง เช่น หากเราทานอาหาร นั่นก็เป็นเพราะว่าเราหิว แต่ในทางปฏิบัติ มันมีปัจจัยอีกมากมายนานับประการที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการให้เหตุผลของเรา ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา ความหวัง ความกลัว ตลอดไปจนถึงแรงจูงใจต่างๆ

กลับไปที่ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นเมื่อกี้ เราทานอาหาร เพราะว่าเราหิว แต่ถ้าเราอิ่มแล้ว แต่เรายังทานต่อล่ะ? เราอาจจะมีหาเหตุผลอื่นๆ มาสนับสนุนการกระทำของเราได้อีกมากมาย เช่น ที่เรากินก็เพราะเราเกรงใจคนที่ทำอาหารให้เรา ทานไม่หมด หรือ อาหารมันอร่อยมาก ก็เลยทานต่อได้ทั้งๆ ที่ยังอิ่ม เป็นต้น

อย่างที่นักข่าวท่านนั้นพูดกับ Conway นั่นแหละครับว่า ชุดของความจริงทางเลือกมันก็แค่ความเท็จเท่านั้น มันคือการสร้างเหตุผลให้คนเชื่อว่าเป็นความจริง โดยการเปลี่ยนชื่อมันเป็นความจริงทางเลือก (หมายถึง คุณสามารถเลือกที่จะเชื่อสิ่งนี้ได้เช่นกัน) ก็เท่านั้นเอง

คำถามคือ ทำไมคนเราถึงเชื่อในความจริงทางเลือก?

การที่เราเลือกที่จะเชื่อในชุดความจริงทางเลือก มันก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ซึ่งการที่เรากระทำเช่นนี้ เราก็มีการให้เหตุผลของการกระทำเช่นกันครับ มีปัจจัยมากมายที่สามารถนำมาใช้อธิบายคนที่เลือกที่จะเชื่อในความจริงทางเลือกได้ ถ้าจะให้ลองไล่ให้ดู ก็พอจะมีดังนี้ครับ

ความกลัวที่จะยอมรับว่าความเชื่อของตนไม่ถูกต้อง เป็นเหมือนธรรมชาติของมนุษย์ครับ คือ เราทำในสิ่งที่เราเชื่อแล้ว เราก็ต้องเชื่อในสิ่งที่เราทำด้วย หากวันดีคืนดี อยู่ๆ มันดันมีข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่ถูกต้อง หลายคนก็ยอมรับไม่ได้ครับ เพราะมันจะไปหักล้างเหตุผลของการกระทำของเรา ฉะนั้น เมื่อมีคนที่นำเสนอความจริงทางเลือก ที่จะช่วยให้เหตุผลของการกระทำของเรานั้นคงอยู่ เราจึงเลือกที่จะเชื่อความจริงทางเลือกนั้น

อิทธิพลจากบุคคลที่เราเชื่อมั่น ก็ทำให้เราหาเหตุผลของการเชื่อในความจริงทางเลือกได้ เช่น คนคนนี้มีความรู้ในเรื่องนี้ เขาเชื่อ เราก็เชื่อ หรือ คนคนนี้เป็นคนมีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ เขาเชื่อ เราก็เชื่อ และนี่แหละ ถึงเป็นที่มาที่ใครต่อใครเขาก็อยากได้ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด (Thought influencer) มาช่วยสนับสนุนไงล่ะ

ภาพของกลุ่มคนจำนวนมากยืนเป็นแถว ทุกคนใส่เสื้อสีเหลือง
ภาพโดย skeeze จาก Pixabay

อิทธิพลจากกลุ่ม ก็เป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำเราสามารถนำมาใช้อ้างเหตุผลถึงการเชื่อความจริงทางเลือกของเราได้ ในทางจิตวิทยาเขาพบว่าเวลาที่คนเราไม่แน่ใจว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก วิธีนึงในการที่เราใช้ตัดสินใจเลือกตัวเลือกคือ ทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำกัน เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ทำสิ่งนี้ แสดงว่าสิ่งนี้น่าจะถูกต้อง

ความเชื่อของเราสอดคล้องกับความจริงทางเลือก เป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำให้เราเลือกที่จะเชื่อความจริงทางเลือก และจะว่าไปแล้ว ถ้าเราเชื่อด้วยเหตุผลนี้ จะยิ่งทำให้เราเชื่ออย่างสุดใจมาก เพราะความจริงทางเลือก มันไปตรงกับความจริงที่เราเชื่ออยู่ก่อนแล้ว

ความขัดแย้งในตัวผู้เชี่ยวชาญ (Expertise paradox) คิดว่าตัวเองรู้มาก อาจยิ่งตกเป็นเหยื่อ

คุณอาจจะคิดว่า คนที่เก่ง มีความเชี่ยวชาญ ไม่น่าจะตกเป็นเหยื่อไปหลงเชื่อความจริงทางเลือก แต่ในความเป็นจริงนั้น คนที่มีการศึกษาสูงๆ เก่งมากๆ กลับมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจแบบลำเอียงมากกว่าเพื่อน และเผลอๆ จะบ่อยกว่าเพื่อนซะอีก ตรงนี้ทางจิตวิทยาเรียก Expertise paradox

มันมีการทดลองที่ Daniel Kahan ศาสตจารย์ภาควิชากฎหมายและจิตวิทยา ที่ Yale Law School และคณะได้ทำ การทดลองมันเป็นแบบนี้ครับ ก่อนอื่นให้อาสาสมัครจำนวนนึงมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลชุดเล็กๆ ชุดนึง ซึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของครีมกับการรักษาพวกผดผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นไปตามคาดคือคนที่เก่งๆ เขาก็จะสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีกว่า

ทีนี้ทีมงานก็จัดข้อมูลมาให้วิเคราะห์เพิ่มอีกชุด โดยที่ตัวเลขนี่คล้ายคลึงกับของเดิมเลย ซึ่งหมายความว่าผลวิเคราะห์ออกมาเนี่ย ควรจะใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างของข้อมูลชุดนี้กับก่อนหน้าคือ มันเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการควบคุมอาวุธปืน (ซึ่งในสหรัฐนี่มีความเห็นหลากหลาย แตกต่างกันไปตามมุมมองด้านการเมืองของแต่ละคน) ผลการทดลองพบว่า มุมมองด้านการเมืองของแต่ละคน ส่งผลต่อความแม่นยำในการแปลผลลัพธ์ของข้อมูลเลย และคนที่เก่งเรื่องการประมวลผลเนี่ย ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเลือกขั้ว (Polarized) มากกว่าคนอื่น

Daniel Kahan สรุปจากการทดลองนี้ว่า “เมื่อคนเรามีความช่ำชองในเรื่องการคิดวิเคราะห์ (Critical thinking) มากขึ้น พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะตีความข้อเท็จจริงเข้าข้างจุดยืนของกลุ่มพวกเขามากขึ้นด้วยเช่นกัน”

แล้วจะทำยังไง ถึงจะหลุดพ้นจากบ่วงความเชื่อในความจริงทางเลือกได้?

มันยากที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนครับ เพราะปรากฏการณ์ที่เรียกว่า อคติในการยืนยัน หรือ Confirming bias ที่ผมเขียนถึงไปในตอนที่แล้วเนี่ย มันทำให้คนเราปฏิเสธความจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา และพยายามขวนขวายหาความจริงที่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา มาเพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นถูกต้อง

ดังนั้น การจะทำให้ใครก็ตาม (รวมถึงตัวเราเอง) หลุดพ้นจากบ่วงความเชื่อในความจริงทางเลือกได้นั้น ข้อมูลรอบด้านจำนวนมากๆๆๆๆๆ จำเป็นอย่างยิ่งครับ และต้องมีผู้คนจำนวนมาก ที่พยายามชี้แจงด้วยเหตุและผล ด้วยความจริงใจ โดยไม่ไปพยายามยัดเยียด หรือกดดันให้เชื่อ (เพราะไม่งั้นจะยิ่งตั้งการ์ดและปิดกั้นตัวเอง ไม่เชื่อเข้าไปใหญ่)

ภาพขาวดำของเท้าคนที่มีโซ่เส้นใหญ่ล่ามอยู่
ภาพโดย PublicDomainPictures จาก Pixabay

สำหรับการป้องกันตนเองนั้น ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มันวิ่งกันให้วุ่นทั้งสื่อดั้งเดิม (Traditional media) และสื่อดิจิทัล (Digital media) ความรู้ทันในสื่อ (Media literacy) เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพึงระลึกเอาไว้เสมอว่าอย่าเพิ่งเชื่อในข้อมูลใดๆ ที่ได้เห็นหรือได้ยิน และต้องรู้จักหาข้อมูลรอบด้านเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ โดยจะต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่เอาความคิดหรือความเชื่อส่วนตัวมาเป็นปัจจัยในการตัดสินว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ และต้องรู้จักวิธีการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วยครับ


ภาพประกอบปกบล็อกโดย Background vector created by pikisuperstar – www.freepik.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า