เดี๋ยวนี้ผมเห็นมีพาวเวอร์แบงก์ขายกันเยอะมาก มีทั้งแบบราคาถูกหลักร้อยบาทไปจนถึงราคาแพงหลักเกือบพันหรือเกินพัน ขึ้นอยู่กับแบรนด์ และฟีเจอร์ต่างๆ ที่มี แต่ผมขอบอกเลยว่า จะเลือกซื้อมาใช้ซักตัว ก็ควรจะเลือกให้ดี แล้วถ้าจะต้องเลือกซักอัน เราควรจะพิจารณาจากอะไรกันบ้างละเนี่ย?
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้ เขียนเพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการพิจารณาซื้อพาวเวอร์แบงก์เป็นหลัก พาวเวอร์แบงก์ยี่ห้อหรือรุ่นใดที่ผมพูดถึงในบล็อกตอนนี้ มันคืออันที่ผมซื้อมาใช้ หรือมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลที่ผมนำเสนอเกี่ยวกับยี่ห้อหรือรุ่นนั้นๆ คือ ประสบการณ์ที่ผมได้ใช้งานจริงครับ ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันใดๆ กับแบรนด์ทั้งสิ้น
ต่อไปนี้ คือข้อสรุปในฐานะคนที่ใช้พาวเวอร์แบงก์มาหลายปี ซื้อมาหลายตัว มีทั้งดี ทั้งไม่ดีปะปนกันไป ว่าถ้าจะต้องซื้อซักตัว ควรจะพิจารณาจากอะไร และมันจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ควรจะมีฟีเจอร์นั้นจริงหรือไม่นะครับ
ถ้าผมจะซื้อพาวเวอร์แบงก์ทั้งทีนั้น ผมจะดูว่า…
• ความจุของพาวเวอร์แบงก์เป็นเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ผมจะเลือก 8,000mAh ขึ้นไปครับ จะได้พอสำหรับชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ ได้เต็มที่หน่อย และไม่ใช่ชาร์จได้แค่รอบเดียวอะไรแบบนี้ แล้วเดี๋ยวนี้ พาวเวอร์แบงก์ขนาด 8,000-10,000mAh น้ำหนักก็ไม่ได้เยอะ ขนาดก็ไม่ได้ใหญ่มากแล้ว

• ต้องมีสเปกความจุ และค่ากระแสไฟ Input/Output ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะสกรีนกันมาบนตัวพาวเวอร์แบงก์เลย อันนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่ามันเหมาะกับการเอาไปชาร์จแบตเตอรี่ให้อุปกรณ์ใดบ้าง เพราะเมื่อก่อนมันไม่ต้องคิดอะไรมาก เขาจ่ายไฟ 5V เป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการชาร์จมันเยอะ มันมีการชาร์จที่แรงดันไฟแตกต่างกันไป เช่น Xiaomi Power Bank 3 Pro เนี่ย จ่ายไฟได้สูงสุด 45 วัตต์ คือ 5V 3A, 9V 3A, 12V 3A, 15V 3A หรือ 20V 2.5A อยู่ที่ว่าเราเอาอุปกรณ์อะไรไปเสียบชาร์จ เป็นต้น และสเปกความจุเนี่ย ต้องสกรีนบนตัวพาวเวอร์แบงก์ให้เห็นชัดๆ เพราะเวลาเอาขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่เขาจะตรวจดูจากตรงนี้ อันไหนไม่มีสกรีน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ เขาทิ้งหมดนะครับ (ผมโดนไปอันนึงแล้ว แต่ดีว่ามันเป็นพาวเวอร์แบงก์แบบแจกฟรีตามงานสื่อต่างๆ)

• ถ้ามี USB-A 2 พอร์ต (หรือมากกว่า) สเปกการจ่ายไฟมันจ่ายไฟได้ทุกพอร์ตรวมแล้วสูงสุดได้กี่แอมป์ (A) เช่น มีสองพอร์ต จ่ายไฟได้สูงสุด 2.4A แสดงว่าถ้าเกิดเสียบชาร์จสองพอร์ตพร้อมกัน ก็อาจจะได้ไฟออกมาพอร์ตละ 1.2A เป็นต้น กรณีที่มันเป็นแบบนี้ เวลาเราชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ที่กินไฟเยอะๆ สองตัวพร้อมกัน มันจะแย่งไฟกันเอง บางทีพอร์ตนึงอาจจะได้ไฟไม่ถึง 0.5A เลยก็ได้ ในขณะที่อีกพอร์ตเอาไป 1.5A หรือมากกว่า ถ้าจะให้ดี มันควรจะจ่ายไฟได้แบบพอร์ตละ 2.1-2.4A เลย ไม่ไปแย่งไฟกันเองแบบในรูปด้านบน

• มีพอร์ต USB-C รองรับมาตรฐาน PD (Power Delivery) จะดีมาก มันจะได้รองรับสายชาร์จรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นหัวแบบ USB-C to USB-C เพื่อใช้ชาร์จอุปกรณ์รุ่นใหม่ได้รวดเร็ว ซึ่งพาวเวอร์แบงก์ที่รองรับการจ่ายไฟกำลังสูงๆ ระดับ 45-100 วัตต์ เนี่ย มักจะใช้มาตรฐาน PD นี่แหละ และหากรองรับจริงๆ มันก็จะสามารถใช้ชาร์จอุปกรณ์อย่างโน้ตบุ๊กได้เลยนะ แต่ดูให้ดีๆ ว่าจ่ายไฟได้เพียงพอกับการชาร์จโน้ตบุ๊กของเราหรือเปล่า ซึ่งต่ำๆ ควรจ่าย PD ไม่ต่ำกว่า 45 วัตต์ นะครับ แต่จะให้ดี จ่าย 100 วัตต์ได้เลยจะดีมาก
• ต้องอย่าลืมดูด้วยว่าชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าไปที่พาวเวอร์แบงก์อะ มันใช้ไฟได้เท่าไหร่บ้าง บางยี่ห้อบางรุ่น มันให้ชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าทางพอร์ต USB-C ได้ แล้วก็รองรับการชาร์จที่กำลังไฟสูงๆ ซึ่งก็จะทำให้แบตเตอรี่เต็มไวขึ้น ยิ่งเป็นอะไรที่ดีสำหรับกรณีที่แบตเตอรี่มีความจุเยอะๆ เช่น 20,000mAh ขึ้นไป เป็นต้น
• ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเป็นพวกแบรนด์ใหญ่ๆ ก็มักจะมีพวก ป้องกันไฟรั่ว เลือกแรงดันไฟอัตโนมัติ ปิดการชาร์จเมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว ฯลฯ พวกนี้ต้องดูจากที่เขาโฆษณากัน ถ้าเป็นพวกแบรนด์ดีๆ มักจะมีหน้าเว็บไซต์ที่แสดงรายละเอียดอยู่แล้ว และบอกตรงๆ พาวเวอร์แบงก์ที่มีฟีเจอร์ดีเริ่ดๆ แบบนี้ มันมักจะแพงครับ ทำใจไว้ก่อนเลย ผมมีพาวเวอร์แบงก์ของ Omnicharge ที่เคยแบ็กอัพไว้ตั้งกะปี พ.ศ. 2559 ใช้มาจนป่านนี้สามปีเศษแล้ว มันก็ยังใช้งานได้ดีอยู่เลยนะเออ
• มีลูกเล่นอื่นเพิ่มเติมไหม เช่น ชาร์จแบบไร้สายมาตรฐาน Qi ได้ ทำให้การวางชาร์จแล้วหยิบมาใช้สะดวก, สามารถชาร์จแบบ Pass through ได้ (หมายถึง ตอนเสียบชาร์จพาวเวอร์แบงก์ไป ก็เอาอุปกรณ์มาเสียบชาร์จต่อจากพาวเวอร์แบงก์ได้ ทำให้ไม่ต้องพกหัวปลั๊กชาร์จเยอะ และบางทีไม่ต้องพกรางไฟเพิ่มด้วย บางยี่ห้อนี่มีปลั๊กไฟให้เสียบด้วย (อย่าง Omnicharge รุ่ย Omni 20+ นี่ เขามีปลั๊กไฟแบบ 230V ให้เสียบเลย จ่ายไฟได้ 100 วัตต์ (ของที่ผมมีเป็นรุ่น Omni 13 แล้วดันเลือกปลั๊กมาผิด ไปเลือกเป็นไฟ 110V เลยเอามาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเราไม่ได้)

ลูกเล่นกิมมิกจำพวก เป็นพัดลมพกพาในตัว มีไฟฉาย หรือแม้แต่เล่นเกมได้ อันนี้แล้วแต่คนจะชอบเลยนะครับ
ปกติแล้ว ผมจะเลือกซื้อพาวเวอร์แบงก์ที่มีแบรนด์ครับ เพราะคุณภาพน่าจะไว้วางใจได้ เราต้องไม่ลืมว่าพาวเวอร์แบงก์คือแบตเตอรี่ และแบตเตอรี่ ถ้าเกิดคุณภาพไม่ดีก็มีสิทธิระเบิดได้ ต่อให้เราชาร์จแบบปกติก็ตาม (แต่ถ้าเกิดตอนชาร์จมีความผิดปกติเกิดขึ้น โอกาสระเบิดยิ่งสูง) และพาวเวอร์แบงก์ที่คุณภาพไม่ดี ก็อาจจะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ของเราสั้นลงด้วย ดังนั้น การลงทุนในเรื่องพาวเวอร์แบงก์ก็เลยสำคัญครับ

อีกเรื่องนึงที่ผมชอบทดสอบก่อนจะใช้งาน (ซึ่งเป็นอะไรที่เรามักจะทำไม่ได้ตอนซื้อ เป็นเรื่องน่าเสียดาย) ก็คือ การวัดความสามารถในการจ่ายไฟครับ ผมจะมีตัววัดกระแสไฟที่รองรับทั้งพอร์ต USB-A และ USB-C ไว้สองตัว เผื่อต้องวัดสองพอร์ตพร้อมๆ กัน ผมจะดูเลยว่ามันจะสามารถจ่ายไฟได้นิ่งๆ ทั้งสองพอร์ตเลยไหม ถ้าทำได้ ก็ถือว่าโอเคนะ
สิ่งที่ควรพิจรณาเพิ่มในการเลือกเพาเวอร์แบงค์ที่มีฟามสามารถชาร์จด้วย QC 3.0 4.0 หรือ PD หรือพวกเทคโนโลยีการชาร์จแบบใหม่ใหม่ของแต่ละแบรนด์คือการชาร์จกลับเข้าตัวเพาเวอร์แบงค์ เนื่องจากเดิมการต่อแบตเตอรี่ด้านในจะใช่ แบตลิเธียมมาขนานกันให้ได้กระแสตามความจุที่ต้องการ การชาร์จอินจึงใช้แรงดันตามมาตราฐานเดิมของ USB ที่ 5V ได้ จะใช้อแดปเตอร์หรือชุดชาร์จที่เป็น USB นำมาชาร์จร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้หมดไม่ต้องแถมมาในแพคเกจ แต่ส่วนเพาเวอร์แบงค์ที่สามารถชาร์จ เร็วเร็วได้นั้นจะใช้วิธีต่อด้านในเป็นแบบอนุกรมเพื่อเพิ่มแรงดันให้ได้ตามความต้องการของมาตราฐานชาร์จเร็ว ดังนั้นการชาร์จอินหรือชาร์จไฟให้กับเพาเวอร์แบงค์หากใช้แรงดัน 5V ตามมาตราฐาน USB เดิมจะใช้เวลานานมากและมีการสูญเสียพลังงานชาร์จในปริมาณค่อนข้างมาก และเกิดฟามร้อนสูง จึงจะเห็นได้ว่าเพาเวอร์แบงค์แบรนด์ที่มีประสบการณ์จะยัดเอาชุดชาร์จเจอร์ใส่ไว้ในตัวเพาเวอร์แบงค์มาเลย ให้ผู้ใช้งานเสียบไฟ AC ปลั๊กเลย เป็นการป้องกันและตัดปัญหาผู้ใช้ต้องหาอแดปเตอร์ชาร์จ ตัวนั้นตัวนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องเป็นอแดปเตอร์ กี่ Volt กี่ Amp
แต่ก็ยังมีหลายยี่ห้อที่เป็นช่องชาร์จอินแบบ USB แบบ micro /Type-c / หรือแม้กระทั่งเป็น DC in แล้วเขียนข้างรูว่าต้องการไฟชาร์จเท่านี้เท่านั้น อันนี้แล้วน่าเอาไปคิดด้วย