แกดเจ็ตชิ้นล่าสุดที่จะมารีวิวให้อ่านครั้งนี้ คือ BenQ ScreenBar Halo ครับ เป็นไฟแขวนจอเกรดพรีเมียมอีกรุ่นนึงจาก BenQ ถัดจาก ScreenBar Plus ที่ผมเคยรีวิวไปแล้วเมื่อปีก่อน โดยมีการอัปเกรดเพิ่มไฟ Halo ที่ส่องสว่างแบบแบ็กกราวด์ รีโมตคอนโทรลแบบไร้สาย ดีไซน์แบบที่รองรับการใช้งานกับจอคอมพิวเตอร์แบบโค้งมากขึ้น และการแก้ปัญหา Pain point ของคนที่ใช้ทั้งไฟแขวนจอและกล้องเว็บแคมครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
BenQ ScreenBar Halo ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง BenQ ให้มาใช้งานเพื่อเอาประสบการณ์มารีวิวให้อ่านกันครับ
การใช้งานคอมพิวเตอร์นานๆ สายตาต้องจ้องไปที่หน้าจอที่ส่องแสงสว่างเข้าสายตาของเรา 😶😶 ความสว่างของสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากเราต้องจ้องหน้าจอสว่างๆ เป็นเวลานานๆ สายตาเราก็จะเกิดการเมื่อยล้า และไม่ดีต่อสุขภาพของดวงตาในระยะยาว มันก็เลยมีแกดเจ็ตที่เรียกว่า ไฟแขวนจอ หรือ Light bar ที่เอามาใช้เพิ่มแสงสว่างบริเวณหน้าจอ ซึ่งถ้าคุณได้ Light bar ที่ดี มันจะทำหน้าที่สองอย่างครับ คือ
1️⃣ เพิ่มความสว่างให้กับพื้นที่ทำงานของเรา ซึ่งหลักๆ ก็คือ บริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่จะเป็นพื้นที่วางคีย์บอร์ดและเมาส์ของเรา ซึ่งตามมาตรฐานความสว่างของพื้นที่ทำงาน
2️⃣ เพื่อลดความแตกต่างของความเข้มของแสงสว่างของจอภาพกับแสงในสภาพแวดล้อม (Ambient light) ลดอาการเมื่อยล้าของสายตาได้

ในกล่องจะประกอบไปด้วย
☑️ ตัว BenQ ScreenBar Halo ซึ่งจะมีสาย USB-A ที่ค่อนข้างยาวมากๆ ติดมาให้ด้วย
☑️ อุปกรณ์เสริม สำหรับใช้รองฐานของ BenQ ScreenBar Halo เพื่อใช้ในกรณีที่จะติดตั้งบนจอประเภท Curved หรือ จอโค้ง
☑️ รีโมตคอนโทรลแบบไร้สาย พร้อมแบตเตอรี่แบบ AAA 3 ก้อน
☑️ กล่องเก็บเอกสารจำพวกคู่มือการใช้งาน


การติดตั้ง BenQ ScreenBar Halo ทำไม่ยากเลย เพราะแทบไม่ต้องประกอบอะไรเลย สามารถเอาไปใช้วางบนจอคอมพิวเตอร์ได้เลย ยกเว้นกรณีที่เราใช้จอโค้ง เราก็จะต้องติดตัวเสริมฐานเข้าไปเพิ่ม (ตามรูปด้านบนเลย) ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำให้ส่วนของหลอดไฟมันยื่นออกพ้นแนวโค้งของจอนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นพวก Light bar รุ่นอื่นๆ จะไม่มีอุปกรณ์เสริมแบบนี้ ก็จะทำให้ต้องซื้อรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับจอโค้งโดยเฉพาะ (ส่วนใหญ่จะออกแบบตัว Light bar ให้มีลักษณะโค้งแทน) ทำให้ BenQ ScreenBar Halo ตัวนี้ ตัวเดียวเอาอยู่ ไม่ว่าคุณจะใช้จอแบบไหน ตอนนี้ใช้จอตรงธรรมดาๆ อยู่มันวันนึง อยากได้จอ Ultrawide curved ใหญ่และโค้ง ก็ไม่ต้องเปลี่ยน Light bar ครับ
BenQ ScreenBar Halo สามารถติดตั้งกับจอคอมพิวเตอร์ได้แทบทุกรุ่น และค่อนข้างแน่นหนาดีด้วย เพราะดีไซน์แบบตุ้มถ่วงที่สามารถปรับมุมองศาได้ตามความเหมาะสม ดังนั้นตอนให้ด้านหลังของจอคอมพิวเตอร์จะไม่ได้ราบเรียบ ดีไซน์แบบนี้ก็ยังสามารถทำให้ไฟแขวนจอ BenQ ScreenBar Halo สามารถแขวนอยู่บนจอได้ค่อนข้างมั่นคงดี
สาย USB-A ที่มากับ BenQ ScreenBar Halo คือยาวมาก ยาวชนิดที่เรียกว่าหมดห่วงเลยว่าจะสั้นเกินไปแล้วเสียบไฟ USB-A ไม่ถึงอะ แต่จุดเดียวที่ผมรู้สึกว่า BenQ ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้คือ การออกแบบให้สามารถถอดสาย USB-A นี่ออกจากตัวเว็บแคมได้ครับ คือมันติดมากับตัวไฟแขวนจอเลย ดังนั้นหาเกิดปัญหากับสายขึ้นก็คือจบเกม และบางคนที่อยากได้สายสั้นๆ เพราะพอร์ต USB ไม่ได้อยู่ไกลมาก ก็จะได้เปลี่ยนสายให้มีความยาวเหมาะสมได้ ซึ่งผมว่าตรงนี้ BenQ น่าจะทำได้นะ


อีกหนึ่ง Pain point ของผู้ใช้งาน Light bar ก็คือ การใช้งานร่วมกับกล้องเว็บแคมครับ เพราะตำแหน่งการวางเว็บแคมของคนทั่วไป มักจะเป็นบริเวณกึ่งกลางหน้าจอด้านบน ซึ่งก็จะเป็นตำแหน่งเดียวกับที่เราต้องวาง Light bar นั่นเอง นั่นทำให้เราต้องหาทางให้กล้องเว็บแคมอยู่ร่วมกับ Light bar ได้อย่างสันติ ซึ่งแอบยากนิดนึง
แต่ BenQ ScreenBar Halo นี่ จะมีอุปกรณ์เสริมสำหรับวางเว็บแคมมาให้ครับ ทำให้นอกจากจะวางเว็บแคมได้อย่างมั่นคงแล้ว ตำแหน่งของกล้องมันก็จะค่อนข้างโอเค ปรับได้ง่ายขึ้นอีกด้วย แต่อุปกรณ์เสริมนี้เขาจะวางขายแยกต่างหากในราคา 700 บาทนะครับ สมกับเป็นไฟแขวนจอพรีเมียมจริงๆ 🤣🤣 แต่สำหรับคนที่ไม่อยากซื้อเพิ่ม ก็ต้องบอกว่า ด้วยดีไซน์ของไฟแขวนจอ BenQ ScreenBar Halo นี่ มันจะมีพื้นที่เรียบๆ บนด้านหลังของไฟแขวนจอ ซึ่งก็ทำให้วางเว็บแคมได้ค่อนข้างสะดวกดีอยู่แล้วนะ แต่การใช้อุปกรณ์เสริม มันจะทำให้ติดตั้งเว็บแคมได้สะดวกกว่า

ความแตกต่างนึงของ BenQ ScreenBar Halo จาก ScreenBar Plus คือ รีโมตคอนโทรลที่เป็นแบบไร้สาย ออกแบบให้มีน้ำหนักประมาณนึง เมื่อรวมกับแผ่นกันลื่นด้านล่างแล้ว วางอยู่บนโต๊ะดูเก๋ดีมาก งวดนี้ปุ่มต่างๆ ทำออกมาเป็นปุ่มสัมผัส และจากไฟ LED ทำให้เราได้รู้ว่า เราสามารถปรับความสว่างได้ 16 ระดับ และอุณหภูมิสีอีก 16 ระดับ วิธีการปรับก็คือ หมุนตัวรีโมตคอนโทรลครับ
ตอนที่ผมลองหมุนครั้งแรก มันรู้สึกว่าไม่ได้มีการทำฟีดแบ็กเวลาหมุนเอาไว้ (ที่เวลาหมุนจะรู้สึก กึกๆ) เพื่อให้รู้ว่าปรับไปกี่ระดับแล้วยังไง แบบนี้เวลาใช้งานเราจะรู้เหรือว่าปรับไปกี่ระดับแล้ว แต่พอได้ใช้จริง ก็ค่อยบางอ้อ เพราะเขามีไฟ LED บอกเอาไว้บนตัวรีโมตคอนโทรลครับ
ฟีเจอร์ที่พรีเมียมของ BenQ ScreenBar Halo ก็คือ 3 จุดนี้ครับ
1️⃣ ปุ่มรูปดวงอาทิตย์ มีตัว A อยู่ตรงกลาง คือ Auto dimming mode ที่ปรับความสว่างให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ความสว่าง 500 lux อยู่เสมอ
2️⃣ ปุ่มรูปหัวใจ เอาไว้จดจำการตั้งค่าที่เราชอบเอาไว้ กดค้างแล้วจะจดจำ จะเรียกคืนก็กดอีกที
3️⃣ ปุ่มรูปวงกลม ที่มีเส้นโค้งล้อมรอบ คือ ปุ่มเปลี่ยนโหมดแสงสว่าง มี 3 โหมด คือ สว่างเฉพาะไฟด้านหน้า สว่างเฉพาะไฟด้านหลัง และสว่างทั้งไฟหน้าและด้านหลัง

ที่มาของชื่อรุ่น BenQ ScreenBar Halo ก็คือตัวไฟด้านหลังนี่แหละครับ ซึ่งจะเปลี่ยนสีและความสว่างตามไฟด้านหน้าด้วย มันจะช่วยเพิ่มความสว่างในบริเวณโดยรอบ (Ambient light) ด้วย สำหรับคนที่วางคอมพิวเตอร์แบบหันหลังเข้าหากำแพงแล้ว เวลาถ่ายรูปออกมาจะดูดีเลยครับ (ของผมอาจจะดูไม่ดีเท่าไหร่ เพราะว่าด้านหลังมันไม่ใช่กำแพงเรียบๆ ทั้งหมด แต่เป็นกระจก กับตู้วางของน่ะ)

ฟีเจอร์พรีเมียมของไฟแขวนจอ BenQ คือ Auto dimming ครับ ตอนรุ่น ScreenBar Plus เนี่ย ตัวเซ็นเซอร์จะอยู่ที่ตรงรีโมตคอนโทรล ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดตรงที่ หากต้องการให้วัดแสงได้ดีๆ มันต้องวางในตำแหน่งที่เหมาะสม งวดนี้พอเป็น ScreenBar Halo เขาก็มีการเปลี่ยนตำแหน่งของเซ็นเซอร์ไปที่ตรงตัวไฟแขวนจอเลย ทำให้การวัดความสว่างมันทำได้ดีขึ้น ฟีเจอร์นี้จะทำให้เราแน่ใจได้ว่าความสว่างของพื้นที่ทำงานมันได้ 500 lux ซึ่งเป็นความสว่างมาตรฐาน Americal National Standard (ANS) สำหรับการทำงานในออฟฟิศ (มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2561 เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง ของประเทศไทย ก็อยู่ที่ 500 lux เช่นกัน)

ถ้าปรับความเข้มของแสงสว่างให้สูงสุดที่ 500 lux นี่ จะกินพื้นที่ได้ราวๆ 63×40 เซ็นติเมตร ถือว่าเพียงพอสำหรับพื้นที่การใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไปแล้ว แต่ตามสเปกแล้ว BenQ ScreenBar Halo สามารถให้ความสว่างในพื้นที่ได้กว้างถึง 90×50 เซ็นติเมตรเลยนะ ก็เรียกว่าเกือบเต็มพื้นที่โต๊ะคอมพิวเตอร์มาตรฐาน (120×60 เซ็นติเมตร) ได้แล้ว
บทสรุปการรีวิวไฟแขวนจอ BenQ ScreenBar Halo
โดยสรุปแล้ว BenQ ScreenBar Halo ก็สมกับราคาค่าตัว 6,490 บาท ราคาแบบพรีเมี่ยม เพราะ…
👍ออกแบบโดยใช้หลักการของตุ้มถ่วงน้ำหนัก ทำให้สามารถเกาะหน้าจอแน่นหนาดีได้โดยไม่ทำให้หน้าจอเสียหาย (พวก Light bar แบบราคาไม่แพง มักจะใช้ดีไซน์เป็นสปริงหนีบแทน แรงกดของสปริงถ้ามากเกินไปก็จะทำให้บอดี้ของจอเสียหายได้)
👍ใช้ได้ทั้งกับจอแสดงผลแบบปกติ และแบบโค้ง (1,000R – 1,800R) เพราะเขามีอุปกรณ์เสริมมาให้ในกล่อง ใช้ติดเพิ่มในกรณีที่ใช้กับจอโค้ง ซึ่งมันจะทำให้
👍ปรับความสว่างและอุณหภูมิสีได้อย่างละ 16 ระดับ ให้ความสว่างสูงสุด 800 lux และให้ความสว่างกับพื้นที่ได้กว้างสูงสุด 90×50 เซ็นติเมตร เพียงพอสำหรับการให้ความสว่างโต๊ะทำงานขนาดยอดนิยม (120×60 เซ็นติเมตร)
👍ฟีเจอร์แบบพรีเมี่ยม ทั้ง Auto dimming ปรับความสว่างอัตโนมัติ การจดจำการตั้งค่าความสว่างและอุณหภูมิ และโหมดการส่องสว่าง 3 แบบ
👍รีโมตคอนโทรลแบบไร้สาย ไม่ทำให้มีสายมาเกะกะบนโต๊ะเพิ่ม และมีอิสระในการจัดตำแหน่งการวางบนโต๊ะมากขึ้น