หลังๆ ผมซื้อพาวเวอร์แบงก์น้อยลงมาก เพราะสมาร์ทโฟนระดับเรือธงสมัยนี้ แบตเตอรี่ก็อึดขึ้นมาก และชาร์จแบตเตอรี่ได้ไวมาก ชีวิตประจำวันของผมก็ออกนอกเส้นทาง บ้าน-ที่ทำงาน น้อยลงไปมาก แต่เวลาที่จะต้องไปเที่ยว ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ พาวเวอร์แบงก์ยังจำเป็นอยู่ เพราะจะใช้สมาร์ทโฟนหนักหน่วงกว่าปกติ ผมก็เลยขอถือโอกาสจัดพาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim ที่ถือได้ว่าเป็นพาวเวอร์แบงก์เกรดพรีเมียมมาซะหน่อยครับ อยากรู้ว่าพาวเวอร์แบงก์ 20,000mAh ในราคาเกือบห้าพันบาท มันมีดีอะไรยังไง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
พาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim ตัวนี้ ซื้อมาเอง ใช้เองนะครับ ไม่ได้มีใครสนับสนุน ร้านที่ซื้อมา เป็น LazMall บน Lazada แต่สินค้าส่งมาจากจีนนะ ต้องรอของประมาณ 7-10 วัน กว่าจะได้
เอาจริงๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมใช้พาวเวอร์แบงก์เกรดพรีเมียมนะ ก่อนหน้านี้ผมมีใช้ของ Omnicharge ครับ แต่เป็นตัว Omni13 ยุคที่เขาบุกเบิกเลย ซื้อผ่าน Kickstarter เป็นพาวเวอร์แบงก์ที่ดีมาก คือ นอกจากจ่ายไฟผ่านพอร์ต USB ได้แล้ว ยังมีรูปลั๊กแบบ US 3 ขา ให้เสียบด้วย แต่เสียตรงที่มันจ่ายไฟได้แค่ 110 โวลต์แหละ ตัวนึงตก 6,000 บาท เอาจริงๆ ตอนหาซื้อพาวเวอร์แบงก์ตัวใหม่ ผมก็อยากจะกลับไปใช้ของ Omnicharge อีกนะ แต่พอไปดูราคา กรี๊ดมากครับ ตัวที่อยากได้คือ Omni 20C+ มันตกราวๆ $264 (เกือบหนึ่งหมื่นบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่บาทอ่อนยวบแบบนี้) แต่ฟีเจอร์มันก็แอบเยอะเวอร์เหมือนกันนะ แต่ด้วยความที่ไม่ได้ใช้ฟีเจอร์มันมากขนาดนั้น ก็เลยหันเหความสนใจมาที่ SHARGEEK แทนครับ บน Lazada เขามี LazMall ที่ขายอยู่เลยจบลงที่นี่แหละ

ร้านนี้อยู่ในประเทศจีน สั่งของใช้เวลาราวๆ 7-10 วันในการมาส่ง แต่แพ็กมาดี และกล่องก็ดูดีพรีเมียมมากๆ ด้วย ภายในกล่อง สิ่งที่เราจะได้ก็จะมีตัวพาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim สายชาร์จ USB-C to USB-C คู่มือการใช้งาน และ ซองผ้าสำหรับใส่พาวเวอร์แบงก์ ผมคิดว่าที่ต้องมีซองผ้าให้มาด้วย น่าจะเป็นเพราะว่าอิตัวพาวเวอร์แบงก์มันดันเป็นดีไซน์แบบเคสใส มองเห็นด้านในครับ พวกนี้จะเกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย เพราะวัสดุเป็นพลาสติกอะ

ด้านหนึ่งของพาวเวอร์แบงก์ จะเป็นส่วนของพวกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เราจะได้เห็นข้อความเขียนว่า ESM OS v1.0 นั่นคือ ระบบปฏิบัติการของตัวพาวเวอร์แบงก์เอง เพื่อเอาไว้บริหารจัดการพลังงานของตัวพาวเวอร์แบงก์ หูย เดี๋ยวนี้พาวเวอร์แบงก์ยังต้องมี OS เป็นของตัวเองเลยเรอะ แต่ก็เห็นได้ชัดถึงข้อจำกัดอันนึงเลย นั่นก็คือ มันอัปเดตตัวซอฟต์แวร์ไม่ได้นะครับ ฉะนั้นหากซอฟต์แวร์เกิดมีข้อบกพร่องขึ้นมา ผมว่าเรื่องใหญ่ของ SHARGE เลย (เมื่อก่อนเขาชื่อ SHARGEEK แต่เขารีแบรนด์มาเหลือแค่ SHARGE แล้ว)

นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าจอแสดงผล ที่ตอนแรกผมนึกว่าจะเป็น OLED ซะอีก แต่ที่ไหนได้ เขาเลือกใช้เป็น IPS LCD ครับ ความรู้สึกว่าเก๋เลยแอบลดลงไป 12.34% 🤣🤣 หน้าจอแสดงผลนี้ การใช้งานหน้าจออ่านคู่มือเอาได้ ไม่ยุ่งยากครับ แต่หลักๆ เลย คือ มันสามารถ
🔋บอกกำลังไฟที่จ่ายออกหรือรับเข้าได้ โดยบอกเป็นทั้งวัตต์ และแรงดันไฟฟ้า (โวลต์) กับกระแสไฟฟ้า (แอมป์)
🔋บอกแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่แบตเตอรี่จ่ายออกอยู่
🔋บอกอุณหภูมิของแบตเตอรี่และของวงจรอิเล็กทรอนิกส์
🔋บอกระยะเวลาที่ใช้งานตัวพาวเวอร์แบงก์มา (สามารถรีเซ็ตได้) เขาว่าเอาไว้สำหรับดูเผื่อต้องการชาร์จอุปกรณ์ใดๆ ตามระยะเวลาเป๊ะๆ ไรงี้ แต่เอาจริงๆ สำหรับคนทั่วไปนี่ไม่มีใครเขาดูอะ

มาดูที่ตัวพาวเวอร์แบงก์กันใกล้ๆ หน่อยครับ ตัววัสดุที่ใช้ประกอบ ด้านปลายทั้งสองข้างจะเป็นอลูมิเนียม แต่บริเวณบอดี้ของเครื่องทั้งหมด จะเป็นดีไซน์พลาสติกใส โดยใช้วัสดุเป็นโพลีคาร์บอเนตแบบทนไฟ (Fireproof PC) โดยมีโครงสร้างเป็นอลูมิเนียมอยู่ เราจะเห็นด้านในมีแบตเตอรี่ INR-21700 จำนวน 4 ก้อน ก้อนละ 5,000mAh รวมแล้วก็ 20,000mAh ตามสเปกครับ


ข้อสังเกตคือ แม้เจ้านี่จะเป็นแบตเตอรี่ที่มีความจุสูงมาก แต่มันก็ให้พอร์ตชาร์จมาค่อนข้างจำกัดเลยนะ คือ 2 พอร์ต เป็น USB-C พอร์ตนึง จ่ายไฟได้สูงสุด 100 วัตต์ และ USB-A อีกพอร์ตนึง จ่ายไฟได้สูงสุด 30 วัตต์ ชาร์จพร้อมกันสองพอร์ต จ่ายไฟได้รวม 130 วัตต์ สมชื่อรุ่นของมันที่ถูกเรียกขานบนเว็บคือ SHARGE 130 ครับ พอร์ต USB-C นี่จะเป็นพอร์ตที่รับไฟชาร์จกลับมาที่พาวเวอร์แบงก์ด้วย

พอเป็นพาวเวอร์แบงก์แบบพรีเมียม สิ่งที่หมดกังวลคือความสามารถที่ตรงตามสเปกครับ ลองเอามาชาร์จโน้ตบุ๊ก LG Gram 16 ที่รองรับการชาร์จ 65 วัตต์ ผ่าน USB-C PD ผลที่ได้ก็คือ อัดไฟเข้าไปได้แถวๆ 66-68 วัตต์ เลยทีเดียวแหละ ซึ่งพอใช้ชาร์จไปนานๆ ก็จะทำให้อุณหภูมิของทั้งตัวแผงวงจรและแบตเตอรี่เพิ่มสูงขึ้นไปถึงแถวๆ 50 องศา (สำหรับแบตเตอรี่) และ 60 องศา (สำหรับแผงวงจร) แต่ตัวพาวเวอร์แบงก์จะไม่ถึงกับร้อนจนจับไม่ได้นะ แค่รู้สึกอุ่นๆ หน่อย ถ้าอากาศหน้าๆ จะชอบอุณหภูมิประมาณนี้ บอกเลย อุ่นมือดี

แต่ไม่วายก็มีเรื่องให้ติจนได้ สำหรับพาวเวอร์แบงก์แบบพรีเมียมอันนี้ ตอนผมซื้อมา ก็กะว่าพาวเวอร์แบงก์มันมีตั้ง 2 พอร์ต แยก USB-A กับ USB-C ก็น่าจะชาร์จอุปกรณ์ได้สองชิ้นพร้อมกัน หรือในกรณีที่จะใช้ USB-A พอร์ตเดียว ก็อยากจะลองชาร์จพาวเวอร์แบงก์ไป แล้วก็ใช้พาวเวอร์แบงก์ชาร์จสมาร์ทโฟนไปด้วย ผ่านพอร์ต USB-A แต่เวรกรรมตรงที่ อิสายชาร์จแบบ Magnetic ของ Gizmo ที่ผมใช้ มันดันออกแบบมาให้หัวของพอร์ต USB-A มันใหญ่โตหน่อย เพื่อให้จับและดึงสายออกได้ง่าย มันก็เลยไปเบียดกับสาย USB-C ซะงั้น เสียบพร้อมกันไม่ได้จ้า ถ้าอยากให้เสียบพร้อมกันได้ ก็ต้องหาสายที่แบนกว่านี้มาใช้ (แต่หาไม่ยากหรอก)

ด้วยความที่พาวเวอร์แบงก์มันมีความจุ 20,000mAh หรือ 72Wh พอเอามาใช้ชาร์จโน้ตบุ๊กแบบ 65 วัตต์ แน่นอนว่าประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ แบตเตอรี่ก็จะหมดนะครับ ฉะนั้นอย่าตกใจว่าทำไมแบตเตอรี่หมดเร็วจังวะ ทำใจเลยครับ แต่นั่นก็มากพอที่จะชาร์จแบตเตอรี่โน้ตบุ๊กได้เกือบจะเต็มๆ รอบนะครับ (โน้ตบุ๊ก LG Gram 16 แบตเตอรี่ 80Wh) นั่นเท่ากับว่า ปกติผมใช้โน้ตบุ๊กได้ราวๆ 4 ชั่วโมงเศษๆ ถ้ามีพาวเวอร์แบงก์ตัวนี้ก็คือจะสามารถใช้ได้ยาวๆ ทั้งวันแหละ
ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนนั้น แบตเตอรี่ 20,000mAh นี่เอาจริงๆ ควรชาร์จ Samsung Galaxy Z Fold 5 จาก 0% ถึง 100% ได้เต็มๆ เกือบ 5 รอบเลยนะครับ ถ้าเอามาชาร์จสมาร์ทโฟนอย่างเดียว แบตเตอรี่ความจุขนาดนี้ ทั้งวันเอาอยู่ครับ

อย่างไรก็ดี ในขณะที่พาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim ตัวนี้มันรองรับการชาร์จระดับ 65 วัตต์ แต่ความสามารถในการระบายความร้อนของมันค่อนข้างจำกัดครับ นั่นส่งผลให้พอเราชาร์จได้ซัก 30% ระบบก็จะตัดการทำงาน ไม่ชาร์จแบตเตอรี่ต่อ แล้วมาเตือนว่าอุณหภูมิของแบตเตอรี่สูงครับ การชาร์จแบตเตอรี่ของพาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim เลยน่าจะเหมาะกับการชาร์จแบบไม่เร็ว ซัก 20-30 วัตต์พอแล้ว เพราะไม่งั้น มันก็หยุดการชาร์จครึ่งๆ กลางๆ อยู่ดี

ลูกเล่นนึงของพาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim ที่ผมชอบคือ มันแสดงข้อมูลแบตเตอรี่ได้ด้วยว่า แต่ละก้อน มันยังจ่ายไฟได้แรงดันเท่าไหร่ และบอกด้วยว่าชาร์จไปแล้วกี่ Cycle ซึ่งแบตเตอรี่ INR 21700 เนี่ย อายุการใช้งานจะอยู่ที่ราวๆ 1,000 Cycles ครับ หลังจาก 1,000 Cycles ไปแล้ว สุขภาพของแบตเตอรี่จะเหลือ 80% และเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราคิดว่าเราใช้งานวันละหน (ซึ่งปกติจะไม่ได้ขนาดนั้นหรอก) ก็จะใช้งานได้ราวๆ เกือบๆ 3 ปีครับ ถือว่าคุ้มค่าอยู่นะ เอาจริงๆ OnmiCharge ที่ผมใช้อยู่เนี่ย ปัจจุบันก็ยังใช้งานได้ดีอยู่นะครับ ติดแค่ตรงนี้ บอดี้มันเริ่มเสื่อมแล้ว (ปัจจุบันสามารถแกะเคสมันออกมาได้ด้วยมือเปล่า)
อย่างไรก็ดี ผมแอบสงสัยว่า SHARG เขาตั้งค่าการนับ Cycle count ยังไง เพราะผมอะ เพิ่งใช้ไปราวๆ 0.5 รอบเอง (คือ เอาไปชาร์จโน้ตบุ๊กตอนแบตเตอรี่เหลือ 58% จนเหลือ 0%) แล้วผมกลับมาชาร์จแบตเตอรี่ แต่ต้องชาร์จไปสองรอบ เพราะลองใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่แบบ 65 วัตต์แล้วระบบมันตัดทั้งสองครั้ง มันดันนับเป็น 2 Cycles เฉยเลยครับ ทั้งๆ ที่มันควรนับเป็น 0.6 Cycles เพราะสองรอบ เพิ่งชาร์จแบตเตอรี่ไปได้ราวๆ 60% เอง
บทสรุปการรีวิวพาวเวอร์แบงก์ SHARGEEK STORM2 Slim
ด้วยราคาค่าตัวระดับนี้ สิ่งที่คุณได้ก็คือ พาวเวอร์แบงก์ที่จ่ายไฟได้แรงจริง 65 วัตต์แท้ๆ เลย และวัสดุกับงานประกอบที่ดีมาก จนไม่ต้องห่วงว่ามันจะพังง่ายๆ แบตเตอรี่ที่เขาเลือกใช้ก็เป็นแบบที่คุณภาพดี สามารถชาร์จได้ร่วม 1,000 รอบ โดยที่ยังสามารถเก็บประจุได้ไม่น้อยกว่า 80% ของสเปก ถ้าเราใช้งานประมาณ 3 ปี ค่าตัวของพาวเวอร์แบงก์ก็จะตกอยู่ที่วันละ 4 บาทเท่านั้น ถ้ามองในแง่ว่า เราเอามันมาชาร์จโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนราคาหลายหมื่นของเรา การเลือกใช้พาวเวอร์แบงก์เกรดพรีเมียมมันก็คุ้มค่าอยู่นะ ที่สำคัญคือ ความจุ 20,000mAh ที่ให้มานี่คือ ความจุแท้ๆ เต็มๆ รีดได้จนหยดสุดท้ายจริงๆ
แต่ถ้าคุณแค่ต้องการแค่พาวเวอร์แบงก์ที่ชาร์จสมาร์ทโฟนได้ก็พอ และยังได้ความจุแบบเต็มๆ แท้ๆ พาวเวอร์แบงก์อย่าง AUKEY PB-N83S ความจุ 10,000mAh ก็ไม่เลวครับ ความจุอาจจะน้อยกว่าเท่านึง แต่น้ำหนักก็เบากว่ามากมายเช่นกัน ที่สำคัญคือ ราคาแค่ 1 ใน 4 ของเจ้า SHARGEEK STORM2 Slim นี่อีกด้วยนะ
และเอาจริงๆ หลังจากได้ลองแล้ว ผมพบว่า Omni Mobile 25600 ที่ราคาอาจจะแพงขึ้นมาอีกนิดนึง แต่สิ่งที่เราได้คือ USB-C 60 วัตต์ USB-A 18 วัตต์ 2 พอร์ต พร้อมชาร์จแบบไร้สาย 10 วัตต์ได้อีก แถมรองรับการชาร์จแบบ 72 วัตต์ ผ่านหัวชาร์จแบบ DC ด้วย ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้ามา จะทำผ่าน USB-C ได้สูงสุด 40 วัตต์ (เข้าใจว่าจำกัดไว้แค่นี้เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่ร้อนเกินเวลาชาร์จ จนโดนตัดไปเฉยๆ เหมือน SHARGEEK) กับค่าตัว $164 (หรือประมาณ 6,000 บาท สำหรับค่าเงินบาทอ่อนยวบ ณ ตอนที่เขียนบล็อกตอนนี้) ผมว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
แต่ถ้าใครอ่านรีวิวแล้ว ยังรู้สึกอยากจะซื้อ SHARGEEK STORM2 Slim อยู่ ก็คลิกปุ่มด้านล่างไปกดซื้อได้ตามสะดวก