Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V โน้ตบุ๊กสเปกแรง การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 สำหรับโปรทำงาน
โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V กำลังเปิดใช้งานดูเว็บไซต์ kafaak.blog อยู่ โน้ตบุ๊กวางอยู่บนตู้สีขาว
รีวิว

รีวิว ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V โน้ตบุ๊กสเปกแรง การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX4060 สำหรับโปรทำงาน

ในขณะที่การทำงานโดยทั่วไป ไม่ว่าจะท่องเว็บ เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำงานเอกสาร รับ-ส่งอีเมล โน้ตบุ๊กในปัจจุบันแทบทุกตัวสามารถตอบโจทย์ได้หมด แต่ในยุคเรเนซองส์ของเหล่า Content creator ก็ต้องบอกว่า ความต้องการโน้ตบุ๊กที่แบบ ตัวเดียวเอาอยู่ทั้งการใช้งานทั่วไป ตลอดไปจนถึงการทำงานผลิตคอนเทนต์ และยังสามารถเอามาใช้เพื่อความบันเทิงต่างๆ ได้ครบครัน มันก็มีมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่โน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงๆ แบบนี้ มักจะมีขนาดใหญ่และหนักด้วย แต่ ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404 ที่ผมจะรีวิวต่อไปนี้ มันคือตัวที่น่าจะตอบโจทย์ได้ ในน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ที่ไม่ได้หนักขนาดแบกหลังแอ่น แต่สเปกแรงตอบโจทย์

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาลองใช้ เพื่อนำมารีวิวให้ได้อ่านกันว่า ประสบการณ์ในการใช้งานมันเป็นยังไงบ้าง

แกะกล่องของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V มา กล่องมันเป็นแบบ 2 ชั้น ไม่ใช่อะไรหรอกนะ เพราะมันมีกล่องโน้ตบุ๊กกับซองหนังใส่โน้ตบุ๊กอยู่ในนั้น แค่นั้นแหละ ตัวกล่องโน้ตบุ๊กค่อนข้าง Minimal มากๆ พอเราแกะกล่องแล้ว คุ้ยๆ ของที่มีมาให้ในกล่อง ก็จะพบว่ามีตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V มีอะแดปเตอร์แบบ 200 วัตต์ และมี USB-A dongle ที่แปลงเป็นพอร์ต RJ45 สำหรับเสียบสาย LAN มาให้ด้วย แค่นี้เอง

อุปกรณ์ต่างๆ ที่มาให้ในกล่องของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ประกอบไปด้วย ซองใส่โน้ตบุ๊ก กล่องใส่โน้ตบุ๊ก อะแดปเตอร์ไฟ USB-A to LAN dongle และตัวโน้ตบุ๊ก

ตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นรุ่นสีดำที่เขาเรียกว่า Tech black ครับ งวดนี้ ASUS จัดมาให้เลือกแค่สีเดียว สเปกเดียวเลยครับ และดีไซน์ก็เป็นไปตามสไตล์ของตระกูล ZenBook คือ ตัวฝาหน้าจอเป็นแบบเรียบๆ มีโลโก้รูปตัว A อยู่เฉยๆ

ภาพด้านบนของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V เมื่อพับจอลงแล้ว เป็นลักษณะโน้ตบุ๊กสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีออกเทาดำ ด้านขวาของตัวโน้ตบุ๊ก มีโลโก้รูปตัว A ที่มีลักษณะคล้ายลูกศรชี้ขึ้นอยู่ ตรงบริเวณขอบด้านล่าง มีตัวอักษรเขียนว่า ASUS ZenBook

ด้านล่างของโน้ตบุ๊ก เราก็จะเห็นแผ่นยางกันลื่น ช่องระบายอากาศที่จะเป็นจุดอากาศเข้า มีลำโพงแบบสเตริโออยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา เยื้องมาทางด้านหน้าของตัวเครื่อง

ภาพจากมุมบนของด้านใต้ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่จะเห็นแผ่นยางกันลื่นติอยู่บริเวณขอบด้านหน้าและด้านท้ายของตัวเครื่อง และมีรูระบายอากาศจำนวนมาก อยู่บริเวณด้านใต้ของตัวเครื่อง

ด้านซ้ายของตัวเครื่อง เราจะเห็นช่องระบายความร้อน ที่เป็นจุดระบายอากาศร้อนออกจากตัวเครื่อง ช่อง DC-in เอาไว้เสียบอะแดปเตอร์ พอร์ต HDMI 2.1 พอร์ต USB-A (USB 3.2 Gen 2) และช่อง Audio combo jack

ภาพจากด้านข้างซ้ายมือของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่วางอยู่บนตู้สีขาว

ส่วนด้านขวาของตัวเครื่อง ก็จะมีช่องระบายความร้อนอีกจุด และมีพอร์ต Thunderbolt 4 / USB-C มาให้พอร์ตนึง กับ USB-C แบบ USB 3.2 Gen 2 มาให้อีกพอร์ต สล็อตอ่าน SD card และไฟ LED อีกสองดวงสำหรับแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ และการทำงานของโน้ตบุ๊ก

ภาพถ่ายจากด้านขวาของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่วางอยู่บนตู้สีขาว

ด้านท้ายของตัวเครื่อง เป็นช่องระบายอากาศอีก 2 ช่องใหญ่ๆ ครับ ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กขนาดกะทัดรัด แต่มีการ์ดจอสเปกแรง NVIDIA GeForce RTX4060 ก็ทำให้ต้องคำนึงถึงการระบายความร้อนออกพอสมควร และการที่ช่องระบายอากาศมาอยู่ตรงนี้ ก็ทำให้ตัวเครื่องไม่สามารถกางหน้าจอ 180 องศาได้นะ

ภาพถ่ายบริเวณด้านท้ายของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่วางอยู่บนตู้สีขาว

เปิดฝาเครื่องขึ้นมา หน้าจอแสดงผลของตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V เป็นจอแสดงผลแบบ OLED ตามชื่อรุ่น ขนาด 14.5 นิ้ว อัตราส่วนการแสดงผล 16:10 ความละเอียด 2,880×1,800 พิกเซล มีกล้องเว็บแคมแบบ Full HD พร้อมกล้องอินฟราเรด รองรับ Windows Hello แต่ไม่มี Privacy shutter นะ

หน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่กำลังแสดงส่วนของเดสก์ท็อปอยู่ วอลเปเปอร์มีสีสันหลากหลาย และมีข้อความเขียนว่า ASUS ZenBook Pro

ตัวคีย์บอร์ด ก็มีปุ่มครบถ้วนดีสำหรับโน้ตบุ๊กที่หน้าจอ 14.5 นิ้วแบบนี้ เลย์เอาต์ของคีย์บอร์ดก็เป็นแบบมาตรฐาน ปุ่มต่างๆ ก็อยู่ในที่ที่มันควรจะอยู่เมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดทั่วๆ ไป ฉะนั้น ไม่น่าห่วงเรื่องพิมพ์ไม่ถนัดครับ

ภาพของบริเวณคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ที่ถ่ายจากด้านบน

จุดเด่นของโน้ตบุ๊กตัวนี้ น่าจะเป็นตัว Touchpad ที่นอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้ว แต่ตรงมุมบนด้านขวาก็มีสกรีนเหมือนปุ่มสัมผัสสำหรับอะไรบางอย่าง และทางมุมบนด้านซ้าย ก็มีการทำเป็นรอยบุ๋มรูปแผ่นดิสก์ ตรงนี้คือ ASUS DialPad ที่ทำหน้าที่เป็นปุ่มหมุน (Dial) ซึ่งปกติเราจะต้องซื้อเป็นอุปกรณ์เสริมมาใช้งาน

โดยรวมแล้ว เป็นโน้ตบุ๊กที่ดีไซน์ออกมาเรียบง่าย สวย สมราคาค่าตัว 64,990 บาท ครับ

สเปกของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V

ก่อนจะเข้าสู่การรีวิว มาดูกันก่อนว่าสเปกของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V นี่ให้อะไรมาบ้างครับ ตามตารางด้านล่างเลย

สเปกรายละเอียด
CPUIntel® Core™ i9-13900H Processor
GPUNVIDIA® Geforce RTX™ 4060 8GB
RAM16GB LPDDR5 on-board
Storage1TB M.2 NVMe PCIe 4.0 Performance SSD
Display14.5″ 2.8K (2,880×1,800) OLED 16:10 120Hz refresh rate
Ports1×USB-A (USB 3.2 Gen 2)
1×USB-C (USB 3.2 Gen 2) รองรับ DisplayPort/Power Delivery
1×Thunderbolt 4/USB-C รองรับ DisplayPort/Power Delivery
1×HDMI 2.1 FRL
1×3.5 mm Audio combo jack
1×DC-in
SD card reader
CameraFull HD พร้อม IR camera รองรับ Windows Hello
ConnectivityWi-Fi 6E (802.11a/b/g/n/ax) Dual-band
Bluetooth 5.3
BatteryLi-ion 76WHr
Weight1.6 กิโลกรัม
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ASUS

โดยรวม ก็เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่มีสเปกแรงดี เลือกใช้หน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงของ Intel Gen 13th ตัวแรง 13900H และหากต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผลกราฟิก ก็ให้ NVIDIA GeForce RTX4060 มาด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ตัวแรงสุด แต่ก็แรงพอสำหรับการใช้งานทั้งเรื่องเกม และงานด้านคอนเทนต์แล้ว ถ้าเอาแรงกว่านี้ ก็ต้องพิจารณาเรื่องระบบระบายความร้อนของตัวเครื่อง ที่จะทำให้ขนาดเครื่องใหญ่ขึ้น หนักขึ้น และอะแดปเตอร์ก็ต้องใหญ่และหนักขึ้นด้วยเช่นกัน

ประสบการณ์การใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V

ในฐานะคนที่เคยใช้พวกโน้ตบุ๊กเกมมิ่งมาก่อน ก็ต้องบอกว่า ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ตัวนี้ มีขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัดดี คงเพราะผมมักจะเจอโน้ตบุ๊กเกมมิ่งขนาดจอ 15.6 นิ้วขึ้นไปละมั้ง ตัวโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ผมเคยใช้ ก็จอ 17.3 นิ้วซะด้วย 🤣🤣 อย่างไรก็ดี แม้ตัวเครื่องจะมีน้ำหนักแค่ 1.60 กิโลกรัมเท่านั้น แต่เวลาจะพกพา ต้องคิดถึงเรื่องอะแดปเตอร์ด้วยนะครับ เพราะว่าถ้าใช้อะแดปเตอร์ 200 วัตต์ ที่ให้มาด้วย น้ำหนักต้องบวกไปอีก 526 กรัมนะครับ แต่ยังดีตรงที่มันออกแบบมาให้รองรับการชาร์จผ่าน Power Delivery และพอร์ต USB-C ด้วย ก็จะทำให้เราไปหาอะแดปเตอร์ 100 วัตต์ แบบ GaN มาใช้ได้ มันอาจจะเอามาใช้ชาร์จตอนเล่นเกมไม่เวิร์ก แต่ถ้าแค่ต้องการชาร์จระหว่างใช้ทำงานทั่วไป หรือ ไปชาร์จแบตเตอรี่ตอนที่ไม่ได้ใช้งาน มันก็พอไหวอยู่ ถ้าแบบนั้น น้ำหนักของอะแดปเตอร์ก็จะหายไปร่วม 50% – 60%

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V กำลังเปิดใช้งานดูเว็บไซต์ kafaak.blog อยู่ โน้ตบุ๊กวางอยู่บนตู้สีขาว

ตัวคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V วางเลย์เอาต์มาได้ดี มี Touchpad ขนาดใหญ่ ใช้พิมพ์ ใช้ควบคุมเมาส์ได้สบายๆ ระบบระบายความร้อนของตัวโน้ตบุ๊กก็ทำได้ดี แม้ผมจะลองรันโปรแกรม Benchmark ไปหนักๆ หลายรอบๆ ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเครื่องร้อนมากมาย ยังวางมือพิมพ์งานได้สบายๆ อยู่ แต่ด้วยความที่มันต้องดูดอากาศเข้าจากด้านล่างของตัวเครื่อง ผมคิดว่าไม่เหมาะที่จะวางเจ้านี่ใช้งานบนตักหรือบนพื้นผิวที่นุ่มๆ ยวบๆ เพราะมันจะมาบังการไหลเวียนของอากาศไป

และแม้ว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้จะกาง 180 องศา ไม่ได้ แต่มันก็กางได้กว้างมากพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไปนะ และเอาจริงๆ ในการใช้งานส่วนตัวของผม ก็ไม่ค่อยได้มีความจำเป็นที่จะต้องกางจอ 180 องศาซักเท่าไหร่ แต่การกาง 180 องศา มันเป็นแค่ความชอบส่วนตัว 🤣🤣

ในส่วนของหน้าจอแสดงผลนั้น โน้ตบุ๊กตระกูล ZenBook OLED มักจะมาพร้อมกับหน้าจอที่ขอบเขตของสีกว้างมากระดับ DCI-P3 100% เลยแหละ ผมก็เอา Spyder X Elite มาวัดดูว่าได้ตามนั้นจริงไหม

ค่าขอบเขตสีที่วัดได้ด้วย Spyder X Elite ผลที่ได้คือ 100% sRGB 90% NTSC 92% AdobeRGB และ 100% DCI-P3 ซึ่งถือว่าดีมากเพียงพอสำหรับการใช้ทำงานสาย Content creator ได้สบายๆ ครับ

ผมเห็นว่าสเปกระบุเอาไว้ว่าเขาใส่ Performance SSD มาให้ ก็เลยใช้โปรแกรม CrystalDiskMark มาทดสอบ ก็ได้ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential ค่อนข้างสูงเลย คืออ่าน 6,541.94MB/s และเขียน 4,950.72MB/s และหากเป็น Random read/write โดยอัดสปีดเต็มเหนี่ยวสุดๆ ก็ได้ถึง 1,560.86MB/s และ 570.48MB/s ตามลำดับ ฉะนั้นจะทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่ๆ แต่จำนวนไม่มาก หรือ ขนาดเล็กๆ แต่จำนวนมากๆ ก็น่าจะสบายๆ

ผลการทดสอบความเร็วของ Storage ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark

ในส่วนของประสิทธิภาพในการประมวลผลโดยทั่วไป ก็ใช้โปรแกรม PCMark 10 ในการทดสอบครับ คะแนนที่ได้ ก็เรียกว่าดีพอสมควรเลย คือ 7,605 คะแนน โดยที่คะแนนในส่วนของ Essentials ที่เป็นการทำงานทั่วไปของเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมถึงพวกการประชุมออนไลน์ด้วย อยู่ที่ 10,707 คะแนน คะแนนในส่วนของ Productivity ก็อยู่ที่ 9,807 คะแนน และในส่วนของการผลิตพวกดิจิทัลคอนเทนต์ก็อยู่ที่ 11,371 คะแนน

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กด้วยโปรแกรม PCMark 10

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊ก ที่ต้องคิดถึงเรื่องแบตเตอรี่ แล้วก็เรื่องความร้อน ก็ไม่น่าแปลกใจถ้าเราจะเช็กดูสเปกของ CPU และ GPU ด้วยโปรแกรม CPU-Z แล้ว ก็จะเห็นว่า TDP (Thermal Design Power) อยู่ที่ 45 วัตต์ สำหรับ CPU และ 35 วัตต์ สำหรับ GPU (สำหรับพวกพีซี TDP ของ GPU อาจจะไปได้ถึงระดับ 165 วัตต์ เลยนะ) ฉะนั้นอย่าเอาสเปกนี้ไปเทียบกับพวกพีซีนะครับ

ลองใช้อีกโปรแกรมนึงในการทดสอบประสิทธิภาพของทั้ง CPU และ GPU ดู นั่นคือ CINEBENCH 2024 ซึ่งคะแนนที่ได้ ค่อนข้างโอเคนะ ตัว Intel Gen 14 Core i9-13900H นี่ เทียบกับ Core ต่อ Core แล้ว ประสิทธิภาพดีกว่า Apple M1 Max ด้วย แต่ด้วยความที่จำนวน Core น้อยกว่า ก็เลยทำให้คะแนนในส่วนของ Multi core สู้ Apple M1 Max ไม่ได้อะนะ ส่วนคะแนนของ GPU นี่สูงปรี๊ดมากครับ

ด้วยคะแนนขนาดนี้ ก็ไม่น่าห่วงแล้วละ ถ้าจะเอามาใช้ทำงาน แม้จะเป็นงานหนักๆ อย่างตกแต่งกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอครับ และหากต้องการเล่นเกม ก็ไม่น่าห่วงอีกเช่นกัน เพราะลองทดสอบประสิทธิภาพด้วยโปรแกรม Benchmark ของเกม Final Fantasy XV นี่ ขนาดเปิดเป็นความละเอียด 4K แบบ Standard แล้ว คะแนนที่ได้ก็ยังเป็น 4,013 คะแนน เกรด Standard แต่หากลดความละเอียดมาแค่ระดับที่จอแสดงผลได้ คือ 2.5K ก็ยังได้คะแนนสูง 7,204 คะแนน เกรด High อยู่

ถ้าห่วงเรื่องแบตเตอรี่มาก และอยากได้เฟรมเรตสูงๆ หน่อย ปรับความละเอียดกราฟิกเป็น Full HD 1080p ซึ่งถ้าเราใจจดใจจ่อกับการเล่นเกมอยู่ ก็อาจจะไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างหรอกนะ อย่างน้อยก็สำหรับผมอะ 🤣🤣

เดี๋ยวนี้ตัวโน้ตบุ๊กยี่ห้อต่างๆ นอกจากแข่งกันในเรื่องราคาและสเปกแล้ว ก็จะมีเรื่องฟีเจอร์ด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้วยนะครับ ลองดูดีๆ มันจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ของยี่ห้อนั้นๆ เพื่อใช้ในการเปิดปิดฟีเจอร์ต่างๆ รวมถึงการปรับแต่งค่าต่างๆ ด้วย ของ ASUS นี่ก็จะมีโปรแกรมชื่อ MyASUS ครับ ซึ่งตรงนี้ เราจะสามารถปรับฟีเจอร์หลายๆ อย่าง ได้ อาทิ

👍 เปิดปิดฟีเจอร์การถนอมแบตเตอรี่ ที่จะมีการจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่ไว้ที่ไม่เกิน 80% เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานแบบเสียบชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้ตลอดเวลา

👍 เปิดใช้ MSHybrid ที่จะเลือกสลับใช้งานระหว่างการ์ดจอ Intel Iris กับ NVIDIA GeForce RTX4060 ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อให้แบตเตอรี่อึดขึ้น

👍 เปิดปิดและตั้งค่าฟีเจอร์การตัดเสียงรบกวนของไมโครโฟนและลำโพงด้วย AI

👍 เปิดปิดฟีเจอร์ Target mode ที่จะทำการปรับความสว่างของส่วนต่างๆ บนหน้าจอที่ไม่ใช่ Active window ลง มันจะมีผลช่วยลดการใช้งานแบตเตอรี่ลงได้พอสมควร เพราะจอ OLED มันสามารถปรับความสว่างแบบเฉพาะจุดได้นั่นเอง แต่ฟีเจอร์นี้จะช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้ก็เฉพาะกรณีที่เราใช้งานโปรแกรมต่างๆ แบบที่ไม่ใช่ Full screen นะครับ

แต่ตระกูล ZenBook Pro มันจะมีโปรแกรมอีกตัวนึงเพิ่มเข้ามา คือ ProArt Creator Hub ที่เอาจริงๆ ผมก็บ่นตลอดว่า ฟังก์ชันมันไม่สมกับชื่อซะทีเดียวครับ เพราะความเข้าใจผมเนี่ย พอมันเป็นเรื่องของ ProArt Creator มันควรจะเป็นการปรับแต่งค่าใดๆ ที่เกี่ยวกับพวกงานคอนเทนต์มากกว่า เช่น การ Calibrate สีหน้าจอ การควบคุม ASUS Dial อะไรแบบนี้ โอเค แต่ ASUS ดันเพิ่มในส่วนของการตั้งค่าความเร็วพัดลม การดูข้อมูลทรัพยากรจำพวก CPU, GPU, RAM อะไรพวกนี้ มันแหม่งๆ อะ ของพวกนี้ควรไปอยู่ใน MyASUS มากกว่า ที่สำคัญ ใน MyASUS นี่ สามารถปรับประสิทธิภาพพัดลมได้สูงสุดคือ Performance mode แต่พอมาใน ProArt Creator Hub นี่มี Full Speed mode ที่เต็มเหนี่ยวกว่าซะงั้น 🤔🤔

โดยรวม ASUS Dial ก็จะเป็นเหมือนสวิตช์ลูกบิด ที่เอาไว้ใช้ตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ในกรณีปกติอะ ก็จะเป็นพวกปรับความสว่างหน้าจอ ปรับความดังของเสียง อะไรแบบนี้ แต่ว่ามันสามารถทำงานร่วมกับโปรแกรมอื่นๆ ได้ เช่น Microsoft 365 (หรือพวกโปรแกรม Word, Excel, PowerPoint) โปรแกรมในตระกูล Adobe ต่างๆ ที่จะให้เราปรับค่าเช่น ขนาดของแปรง อะไรแบบนี้ ได้สะดวก ก็จะช่วยเรื่อง Workflow ได้พอสมควร สำหรับสายงาน Creator ครับ ถ้าเป็นรุ่นใหญ่อย่าง ASUS ProArt StudioBook 16 OLED นี่ มันจะมีปุ่มลูกบิดแบบจริงจังเลย แต่ของ ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ตัวนี้ มันจะออกแนวลูกบิดแบบสัมผัส อยู่บน Touchpad ครับ ก็อาจจะต้องทำความคุ้นเคยซักหน่อย

ลำโพงของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V นั้นรองรับทั้ง Dolby Vision Atmos และจูนเสียงโดย harman/Kardon ให้เสียงที่ดังประมาณนึง และคุณภาพเสียงที่ดีประมาณนึงเช่นกัน แต่ด้วยความที่ลำโพงเป็นสเตริโอ 2 ตัว มีขนาดไม่ได้ใหญ่มาก ก็ต้องเข้าใจว่ามันก็มีข้อจำกัดทางกายภาพอยู่

ในแง่ของการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องบอกว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้ค่อนข้างเพียบพร้อม เชื่อมต่อจอแสดงผลได้ผ่าน HDMI 2.1 FLR มีทั้ง Thunderbolt 4 กับ USB-C และ USB-A และทุกพอร์ตก็รองรับมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ทั้งหมด พอร์ตที่เป็น USB-C ทั้งหมดก็รองรับทั้ง DisplayPort เพื่อเชื่อมต่อกับจอแสดงผลภายนอก และ Power Delivery ด้วย

ด้วยความที่มันคือโน้ตบุ๊กสายสเปกแรง พัดลมก็ทำงานหนักหน่วงใช่ย่อยเวลาทำงานครับ ถ้าเราใช้งานทั่วๆ ไป เสียงพัดลมก็ไม่ได้ดังอะไรหรอกครับ แต่ถ้าเราใช้ทำงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ เล่นเกม CPU และ GPU เริ่มทำงานหนัก พัดลมมันก็ทำงานหนัก เสียงดังมากๆ ดังจริงๆ ด้วย อาจจะรู้สึกลำคาญได้นะ

ในส่วนของแบตเตอรี่ ใช้งานต่อเนื่องได้นานแค่ไหน ผมว่าอยู่ที่ว่าเราเอาไปใช้ทำอะไร แต่การที่สเปกมันโหดขนาดนี้ ก็ทำให้เราต้องพิจารณาเรื่องการประหยัดแบตเตอรี่พอสมควร แต่เท่าที่ผมลองทดสอบ เอาแบบใช้รันเกมยิงยาวๆ ดู แบตเตอรี่ 76WHr นี่น่าจะได้ประมาณ 2 ชั่วโมงครับ

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V

ราคาค่าตัวของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ถือว่าสูงประมาณนึงเลย คือ 64,990 บาท แต่นั่นคือมาพร้อมกับสเปกที่พยายามไปให้สุด แต่ไม่เวอร์เกินไปจนราคาข้ามจากหลักหมื่นไปเป็นหลักแสน เราจะได้จอที่ใหญ่พอสมควร 14.5 นิ้ว 16:10 ความละเอียด 2.8K แบบ OLED 120Hz มีการ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce RTX4060 และพอร์ตการเชื่อมต่อครบถ้วน

ในแง่ของการพกพา ASUS ZenBook Pro 14 OLED UX6404V ถือว่ามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะพกพาสะดวกเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้ คือ 1.6 กิโลกรัม และแม้ว่าอะแดปเตอร์ 200 วัตต์ จะใหญ่และหนักระดับครึ่งกิโลกรัม สิริรวมแล้ว ถ้าพกเต็มยศไปทำงานนอกสถานที่ คือแบกราวๆ 2.1 กิโลกรัม ก็ตาม ก็ถือว่าไม่ได้แย่ แต่ถ้าไม่ได้กะเอาไปเล่นเกม หรือใช้ประสิทธิภาพสุดกู่เต็มกำลังมาก พิจารณาลดน้ำหนักลงซัก 300 กรัม ได้จากการเปลี่ยนมาใช้อะแดปเตอร์ GaN 100 วัตต์ และสาย USB-C to USB-C แทน ก็โอเคอยู่นะครับ ถ้าประสิทธิภาพระดับนี้ พกเบากว่า 2 กิโลกรัม ก็ไม่แย่นะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า