Home>>รีวิว>>รีวิว Kwumsy K3 คีย์บอร์ด Mechanical พร้อมจอ แถมใส่ SSD เพิ่มความจุให้คอมพิวเตอร์ได้ด้วย
คีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่หน้าจอแสดงผล แสดงข้อมูลพวกเครื่องมือของโปรแกรม DaVinci Resolve
รีวิว

รีวิว Kwumsy K3 คีย์บอร์ด Mechanical พร้อมจอ แถมใส่ SSD เพิ่มความจุให้คอมพิวเตอร์ได้ด้วย

Kwumsy K3 นี่เป็นอะไรที่ผมเฝ้ารอจริงๆ ครับ มันคือคีย์บอร์ดที่มีจอแสดงผลมาให้ในตัว เพราะผมเป็นคนที่ชอบทำงานหลายหน้าจอพร้อมกัน ขนาดโน้ตบุ๊กผม ผมก็ยังเลือกใช้ ASUS ZenBook 14 Duo ที่มีจอหลักและ ScreenPad+ เลย (แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น LG Gram 16 เพราะสุดท้าย อยากพกน้ำหนักเบา ได้จอใหญ่ มากกว่า และหลังๆ มีแว่น XREAL air แล้วด้วย) ตอนแรกเขาก็มี Kwumsy K1 กับ Kwumsy K2 ซึ่งมีน้องบล็อกเกอร์คนนึงซื้อมาใช้ แต่ด้วยดีไซน์ที่มันปรับมุมองศาของจอแสดงผลไม่ได้ และจอแสดงผลมันก็ทำมุมองศาได้ไม่ดีเท่าไหร่ เลยรู้สึกว่าไม่น่าจะเอามาใช้ได้โอเคในการใช้งานจริง และผมก็คิดถูกจริงๆ ที่ผมรออะ เพราะเขาก็ออก Kwumsy K3 ซึ่งดีไซน์นี่ผมดูแล้ว มันโอเคมากๆ เลย และผมก็ใช้งานมันมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว ได้เวลารีวิวให้ได้อ่านกันแล้วว่าเป็นยังไงบ้าง

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้อยู่ คีย์บอร์ด Kwumsy K3 ยังไม่มีวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการนะครับ ที่ผมได้มานี่ก็เพราะว่าผมเป็น Backer ในโปรเจ็กต์ Kickstarter ก็เลยได้มาใช้ก่อนครับ ได้ข่าวว่าหลายคนเจอสินค้ามีปัญหาจุกจิกด้วย แต่ผมแอบโชคดีที่เจอของที่คุณภาพสมบูรณ์ดีอยู่ สนนราคาที่ผมได้มา รวมค่าส่ง และภาษีต่างๆ แล้ว ก็ตกอยู่ที่ 9,600 บาท ครับ

แกะกล่องคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ออกมา กล่องมันดูดีมาก นั่นเพราะว่ามันก็คือสินค้าที่จะมีการวางจำหน่ายจริง ภายในกล่องก็ประกอบไปด้วยตัวคีย์บอร์ด Kwumsy K3 อะแดปเตอร์ USB-A แบบ 15 วัตต์ สายเคเบิ้ล USB-C to USB-A เส้นนึง ความยาว 1 เมตร และมีสายเคเบิลแปลกๆ ที่แปลงจาก USB-C ให้กลายเป็น HDMI กับ USB-A อีก 2 พอร์ต ซึ่งเอาไว้เชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีพอร์ต USB-C แต่ยังคงมีพอร์ต HDMI กับ USB-A อยู่ สาย USB-C to USB-C อีกเส้นนึงโดยมีหัวนึงเป็นหัวแบบตัว L ด้วย มีซองหนังเอาไว้ปิดหน้าจอ อุปกรณ์สำหรับถอดคีย์แคปและสวิตช์ แผ่นพลาสติกที่เรียกว่า Disassembly piece ซึ่งคล้ายๆ ปิ๊กกีต้าร์ เอาไว้สำหรับถอดแผงคีย์บอร์ดออก สำหรับคนชอบทำ DIY กับตัวยึดทำจากซิลิโคน 3 อัน เอาไว้สำหรับติดตั้ง SSD ในตัวคีย์บอร์ด และคู่มือการใช้งาน 2 อัน

กล่องของคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่มีสกรีนเป็นรูปเสมือนจริงของตัวคีย์บอร์ด Kwumsy K3 วางอยู่บนพื้นไม้สีอ่อน ด้านล่างของกล่อง มีตัวคีย์บอร์ด Kwumsy K3 คู่มือการใช้งาน สายเคเบิ้ลต่างๆ อะแดปเตอร์ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่แถมมาให้ในกล่อง

มาดูที่ตัวคีย์บอร์ดกันบ้างครับ ดีไซน์ของมันค่อนข้างใหญ่เทอะทะมากกว่าพวก Mechanical keyboard พอสมควร เพราะว่ามันมีจอแสดงผลขนาด 13 นิ้ว วัดตามแนวทแยงมุม ซึ่งเป็นจอแสดงผลที่รองรับการสัมผัสสูงสุด 10 จุดพร้อมกัน ความละเอียด 1,920×720 พิกเซล รีเฟรชเรต 60Hz ซึ่งสามารถพับทำมุมได้ตั้งแต่ 0-90 องศา อยู่ด้วย ให้คิดซะว่ามันคือ จอคอมพิวเตอร์ปกติขนาด 14 นิ้วที่ถูกหั่นครึ่งตาม ดีไซน์มันคล้ายๆ คีย์บอร์ดพร้อม ScreenPad+ ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo แต่จอแสดงผลมีขนาดใหญ่กว่าพอสมควรเลย

ภาพจากด้านบนของคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ครึ่งด้านบนของตัวคีย์บอร์ดเป็นจอคอมพิวเตอร์ ส่วนด้านล่างคือตัวคีย์บอร์ด ที่มีปุ่มกดเป็นสีเทาและสีดำ

ตัวคีย์บอร์ด เป็น Mechanical keyboard แบบ 82-key ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ทั้งคีย์แคปและสวิตช์ มีไฟ RGB มาให้ด้วย ซึ่งตัวที่ผมได้เนี่ย มันมีแต่คีย์แคปภาษาอังกฤษนะครับ ปุ่มที่หายไปเนี่ย ก็จะเป็นพวก Numpad ครับสำหรับคีย์บอร์ดไซส์นี้ แต่ที่เพิ่มมาคือ Knob หรือ สวิตช์แบบลูกบิด

ด้านใต้ของคีย์บอร์ด ก็จะมีแผ่นยางกันลื่นและตัว Kickstand ที่เอาไว้ยกให้ด้านท้ายของคีย์บอร์ดสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้พิมพ์สะดวกขึ้น ตัว Kickstand จะมีให้สองอันครับ เป็นอันเล็กและอันใหญ่ เพื่อให้สามารถปรับระดับความเอียงของคีย์บอร์ดได้ 2 ระดับ เหมาะสมกับการพิมพ์

ด้านท้ายของคีย์บอร์ด มีพวกพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ ได้แก่ สล็อตอ่านทั้ง SD card และ MicroSD card พอร์ต USB-C สองพอร์ต โดยพอร์ตนึงเอาไว้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ (จะเขียนว่า Type-C) อีกพอร์ตเอาไว้สำหรับเสียบกับอะแดปเตอร์ (จะเขียนว่า PD) ซึ่งจะทำให้เราสามารถชาร์จโน้ตบุ๊กผ่านพอร์ต USB-C (ที่เขียนว่า Type-C) ได้ มี USB-A ให้อีก 2 พอร์ต (ความเร็วสูงสุด 5Gbps ต่อพอร์ต เป็น USB 3.2 Gen 1) แล้วก็มีสวิตช์แบบหมุนเอาไว้เรียกเมนู OSD สำหรับตั้งค่าจอแสดงผลออกมา มีไฟ LED แสดงสถานะด้วย

ด้านท้ายของคีย์บอร์ด Kwumsy K3 เห็นพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ

ด้านซ้ายของตัวคีย์บอร์ด มีปุ่มเล็กๆ ปุ่มนึง เอาไว้กดเพื่อปลดตัวล็อกการพับหน้าจอแสดงผล ซึ่งแม้สเปกจะบอกว่าปรับได้ตั้งแต่ 0-90 องศา แต่เท่าที่ผมลองปรับเอง มันจะเป็น 0, 45 แล้วระหว่าง 45-90 องศาเนี่ย ก็จะสามารถค่อยๆ เลื่อนปรับได้ตามใจ แต่ว่ามันจะไม่ล็อกนะ ถ้าเอานิ้วไปดันแรงๆ หน่อย จอก็อาจจะเลื่อนที่ได้ แต่ถ้าแค่แตะเบาๆ เพื่อเลื่อนเคอร์เซอร์ หรือ คลิกไอคอน อะไรแบบนี้ ก็ยังทำได้อยู่

นอกจากนี้ ด้านซ้ายและขวา ก็จะมีแถบไฟ RGB มาให้ด้วยข้างละแถบ และมีลำโพงเล็กๆ เป็นลำโพงสเตริโอ อยู่ที่ทั้งสองข้างด้วย

ถ้าเราพับจอขึ้นมา เราจะเห็นว่าตัวคีย์บอร์ดที่อยู่ด้านใต้ของจอเนี่ย จะมีช่องใส่ SSD อยู่ครับ ดูจากสเปกแล้ว เป็น SATAIII SSD เพราะความเร็วแค่ 5Gbps ครับ

ภาพจากด้านขวาของคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่พับจอทำมุม 45 องศา เผยให้เห็นฝาปิดสล็อตใส่ M.2 SSD

ถ้าไม่ได้นับเรื่องที่ว่ามันมีจอแสดงผลอยู่ เจ้า Kwumsy K3 มันก็คล้ายๆ กับ Mechanical keyboard 82% ทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ แต่พอมีอิจอแสดงผลด้วย ก็เลยทำให้มันมีขนาดใหญ่พอๆ กับโน้ตบุ๊กจอ 14 นิ้วเลย แต่หนาและหนักกว่ามาก คือ หนักถึง 2.12 กิโลกรัมเลย (อ้างอิงตามสเปก) มันจึงไม่ใช่คีย์บอร์ดที่น่าพกพาไปไหนมาไหนด้วยซักเท่าไหร่ละนะ

สเปกของคีย์บอร์ด Kwumsy K3

ด้วยความที่มันไม่ใช่แค่คีย์บอร์ดธรรมดาๆ ก็เลยอยากให้ดูสเปกหน่อยว่า มันมีอะไรบ้างครับ

ชื่อรุ่นKwumsy K3น้ำหนัก2.12 กิโลกรัม
ขนาด330×295×39.5 ม.ม.ขนาดหน้าจอ13 นิ้ว
สัดส่วนหน้าจอ16:6ความละเอียด1,920×720 พิกเซล
จอสัมผัสสูงสุด 10 จุดพร้อมกันชนิดของหน้าจอIPS LCD
ขอบเขตสี60% sRGBความสว่าง (เฉลี่ย)300CD/m2
ชนิดของสวิตช์Yellowชนิดวัสดุของคีย์แคปPBT
เลย์เอาต์ของคีย์บอร์ด82 ปุ่มวัสดุบอดี้คีย์บอร์ดอลูมิเนียมอัลลอย, ABS, PC
Contrast ratio1,000:1อินเทอร์เฟซ2×USB-C, 2×USB-A, TF, SD, M.2 SSD (SATAIII)
Type-C input5-20V / 3.5A (max)Type-C output5-20V / 3A (max)

ประสบการณ์ในการใช้งานคีย์บอร์ด Kwumsy K3

สิ่งที่ต้องทำใจอย่างนึงเกี่ยวกับเจ้าคีย์บอร์ดตัวนี้คือ อย่าคิดว่าจะเอาไว้ใช้พกพาไปไหนมาไหน เพื่อใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ ของคุณเลยครับ มันโคตรหนัก 2.12 กิโลกรัมอะ เรียกว่าหนักกว่าโน้ตบุ๊ก LG Gram 16 ที่ผมใช้เกือบสองเท่า และหนักกว่าโน้ตบุ๊ก Fujitsu UH-X ที่ผมซื้อให้ภรรยาใช้ 3 เท่า แต่การใช้งานของผม คือ เอามาเป็นคีย์บอร์ดหลักบนโต๊ะทำงานชั้น 1 และชั้น 3 ครับ ใช้วิธีแบกขึ้น-ลง ก็ไม่ได้แย่

โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่มีจอคอมพิวเตอร์ 3 จอ และมีคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่มีจอแสดงผลติดในตัวอยู่ด้วย

ด้วยความที่คอมพิวเตอร์บนชั้น 3 ของผมคือ Intel NUC Phantom Canyon พอร์ต Thunderbolt 4/USB 4 มันจ่ายไฟ 5 โวลต์ 2 แอมป์ ซึ่งเป็นกำลังไฟขั้นต่ำที่ต้องใช้สำหรับใช้งานคีย์บอร์ดตัวนี้ได้ ส่วนการใช้งานที่ชั้น 1 ของผมจะเป็นโน้ตบุ๊ก LG Gram 16 ที่มีอะแดปเตอร์ 100 วัตต์ ไว้จ่ายไฟอยู่แล้ว ก็เลยไม่มีปัญหาในการใช้งานครับ แต่ใครที่จะเอาไปใช้กับคอมพิวเตอร์ที่อาจจะมีพอร์ต USB-C ที่รองรับ DisplayPort แต่จ่ายไฟ 5 โวลต์ 2 แอมป์ไม่ได้ ก็หยิบเอาอะแดปเตอร์ USB-A 15 วัตต์ที่แถมมาให้ในกล่องมาใช้ได้ครับ เขาเผื่อมาให้แล้ว

โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่มีจอคอมพิวเตอร์แบบพกพาสองจอ วางซ้ายและขวา ตรงกลางเป็นโน้ตบุ๊ก และมีคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่มีจอแสดงผลติดตั้งไว้ในตัว วางอยู่ด้านหน้า

ตอนใช้กับ Intel NUC Phantom Canyon ผมก็เลยต่อกับพอร์ต Thunderbolt 4/USB 4 ที่อยู่ด้านหน้า แล้วก็จบเลย แต่พอจะใช้กับ LG Gram 16 ผมก็เอาสายชาร์จจากอะแดปเตอร์มาเสียบที่พอร์ต PD แล้วก็เอาสาย USB-C ที่แถมมาในกล่อง มาเสียบต่อจากคีย์บอร์ดไปที่ตัวโน้ตบุ๊ก มันก็จะทำหน้าที่ทั้งชาร์จแบตเตอรี่ให้โน้ตบุ๊ก กับส่งสัญญาณภาพและข้อมูลได้ในตัว คีย์บอร์ด Kwumsy K3 นี่ก็จะทำหน้าที่คล้ายเป็น Hub ให้ด้วยเลย เพราะมันมีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 1 (5Gbps) ให้สองพอร์ต และมีช่องอ่าน SD card/MicroSD card มาให้อีก แต่ให้คิดไว้ในใจนะครับว่าแบนด์วิธสูงสุดน่าจะแค่สูงสุดไม่เกิน 5Gbps เพราะว่ามันต้องส่งสัญญาณภาพด้วย มันไม่ใช่ว่าเราจะเสียบ USB-A flashdrive 2 อัน กับ SD card และ MicroSD card พร้อมๆ กัน ดึงข้อมูลพร้อมๆ กันแล้วจะได้ความเร็วสูงสุดกันหมดนะ คอขวดจะยังอยู่ที่พอร์ต USB-C ที่เป็นลิงก์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราครับ แต่ถ้าแค่ SD card กับ MicroSD card พร้อมกัน ยังพอไหว เพราะสองอันนี้แบนด์วิธแค่อันละ 480Mbps (USB 2.0) เท่านั้น

ภาพระยะใกล้ของมือขวาที่กำลังถือจุกยางเล็กๆ อยู่ มีแบ็กกราวด์เป็นภาพบางส่วนของคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่มีการใส่ SSD M.2 อยู่ข้างใน

Kwumsy K3 มันรองรับ SSD M.2 ด้วย เรียกว่าถ้าเอาไปเสียบกับพวกโน้ตบุ๊ก เราก็จะเหมือนได้เนื้อที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นไปในตัวด้วย อยากได้ใหญ่แค่ไหนก็ซื้อมาใส่เอา แต่ปัญหาคือ มันรองรับแค่ SSD M.2 แบบ SATAIII ครับ ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากแล้วแฮะเดี๋ยวนี้ ผมเดินไปหา 3 ร้าน กว่าจะได้ WD Blue SSD M.2 SATAIII SN510 มา ครับ (โดนไป1,100 บาท เพื่อการรีวิวให้ครบถ้วน)

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ที่อยู่ในคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4

โดยหลักการแล้ว ความเร็วที่ควรจะได้สำหรับ SSD M.2 SATAIII เนี่ย ควรจะซัก 500MB/s หรือสี่ร้อยปลายๆ ครับ สำหรับการอ่านและเขียนแบบ Sequential แต่ด้วยความที่พอร์ต USB-C มันก็ต้องทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพด้วย มันก็อาจจะทำให้ความเร็วตกลงมาแฮะ ผมลองวัดความเร็วของ SSD แล้ว ได้ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential อยู่ที่ 395.32MB/s และ 393.80MB/s ตามลำดับ ความเร็วแอบหายไปเยอะ แต่ถ้าเราแค่เอามาเก็บไฟล์ภาพ ไฟล์งานเอกสาร และไฟล์วิดีโอเล็กๆ น้อยๆ ความเร็วแค่นี้ก็เรียกว่าพอไหวแหละ

แต่ข้อสังเกตอีกอย่างคือ สำหรับคนที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านสาย HDMI พิเศษ ที่มีพอร์ต USB-A สองหัว มันจะทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อกับ SSD ตกลงไปเหลือ 480Mbps (USB 2.0) เท่านั้นนะครับ ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลจะหายไป 10 เท่าเลยทีเดียว

ด้วยความที่เป็น Mechanical keyboard Kwumsy K3 นี่เขาก็ออกแบบมาให้เราสามารถเปลี่ยนคีย์แคปได้ เปลี่ยนสวิตช์ได้ และเขาก็ให้อุปกรณ์สำหรับถอดทั้งคีย์แคปและสวิตช์มาด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับ Keychron ที่ผมสามารถใช้มือดึงคีย์แคปออกมาได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เจ้า Kwumsy K3 นี่ ตัวคีย์แคปเขาออกแบบมาให้เอาออกมายากกว่าเยอะครับ เพราะถ้าไม่ใช้อุปกรณ์สำหรับถอดคีย์แคปนี้ ผมดึงไม่ออกจริงๆ

สวิตช์ที่ใช้กับคีย์บอร์ด เป็น Yellow switch ซึ่งก็จะเป็นสวิตช์แบบไม่มีเสียงดังแก๊กๆ เหมือนกับพวก Red switch แต่ว่าน้ำหนักปุ่ม (Actuation force) จะสูงกว่าประมาณ 11% เวลาพิมพ์ก็จะต้องออกแรงกดมากกว่านิดหน่อยครับ เราจะรู้สึกว่าปุ่มกดมันสู้มือนิดนึง แต่ใครไม่ชอบก็ไปซื้อสวิตช์มาเปลี่ยนได้นะ

เพราะมันเป็นโปรเจ็กต์ Kickstarter คีย์แคปมันก็เลยมีให้เลือกเฉพาะบางภาษา ซึ่งเจ้าของโปรเจ็กต์เขามีให้เลือกคือ อังกฤษ (US) สเปน เยอรมัน ตุรกี โปรตุเกส อิตาเลียน เกาหลี ฝรั่งเศส และรัสเซีย ก็แปลกใจดีเหมือนกันที่ไม่มีภาษาจีนแฮะ แต่ด้วยความที่ผมไม่ได้มีปัญหาในการพิมพ์แบบไม่มองแป้น ผมก็เลยไม่ได้คิดว่าจะต้องไปเสียเงินซื้อคีย์แคปที่มีภาษาไทยมาเปลี่ยนอะนะ แต่ถ้าในอนาคตเจอคีย์แคปสวยๆ ที่เข้ากับดีไซน์ของ Kwumsy K3 นี่ ก็อาจจะซื้อมาเปลี่ยนก็ได้ แต่ตอนนี้ไม่อะ

อีกอย่างนึงที่ทำให้ผมไม่อยากเปลี่ยนก็คือ ผมชอบคีย์แคปที่เขาให้มา วัสดุมันเป็น PBT ที่เป็นแบบด้าน ใช้งานแล้ว ไม่ค่อยเห็นคราบมันจากนิ้วมือมาเลอะบนคีย์แคปครับ พวกคีย์แคปของ Keychron K10 และ K4 ที่ผมใช้ คราบมันจะทำให้คีย์แคปเป็นเงาๆ เลย

ส่วนสาย DIY คีย์บอร์ด เจ้า Kwumsy K3 นี่ออกแบบมาให้สามารถเปลี่ยนตัวแผงคีย์บอร์ดได้ด้วยนะ เขามีแถมอุปกรณ์แงะมาให้แล้ว (ไอ้ตัวที่คล้ายๆ ปิ๊กกีต้าร์ในกล่อง)

โดยรวมแล้ว ผมไม่ได้มีปัญหาในการพิมพ์ด้วย Kwumsy K3 นี่แต่อย่างใด แต่เพราะผมมีแต่ Mechanical keyboard ที่มี Numpad และใช้มาจนชิน ทำให้ตอนแรกๆ ผมก็ยังไม่ชินกับการที่ Numpad หายไป (จริงๆ ก็ยังคิดอยู่ว่าจะซื้อเฉพาะ Numpad มาเพิ่มดีไหม แต่ก็ขี้เกียจหาที่วางอะ 🤣🤣) ที่ผมชอบกว่าคือ มันมี Knob มาให้ตรงมุมบนขวาของคีย์บอร์ด ซึ่งเอาไว้ปรับความดังของเสียงได้ และหากกดลงไปก็จะเป็นการ Mute ลำโพงครับ

ส่วนใครที่ชินกับการกดปุ่ม Fn + F1-F12 มันก็เอาไว้สั่งงานต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรียกใช้ My Computer ขึ้นมา เปิดเบราว์เซอร์ ปรับความดังของเสียง ฯลฯ ซึ่งปุ่มอะไรทำอะไรบ้าง มันอยู่ในคู่มือที่แถมมาให้ครับ สำหรับคนที่เป็นสายเกมมิ่ง คีย์บอร์ดมันก็มีไฟ RGB สวยๆ ด้วยนะ ซึ่งก็ปรับตั้งได้ด้วยการกดปุ่ม Fn แล้วตามด้วยปุ่มอื่นๆ เช่น L (เพื่อเปิดปิดไฟ RGB) X (เพื่อปรับความเร็วในการเปลี่ยนสีไฟ) ฯลฯ อยากรู้ว่าอะไรทำอะไร ไปอ่านในคู่มือเอาเอง

จอที่เพิ่มเข้ามา มีประโยชน์อะไร? ผมว่าก็แล้วแต่คนใช้งานครับ แต่หลักๆ เลยเนี่ย คือ เอาไว้เป็นจอเสริมเพื่อใช้งานแบบ Multitasking นั่นแหละ เช่น ของผมเนี่ย เอาไว้สำหรับวาง LINE กับ Microsoft Teams ที่เป็นสองโปรแกรมแชทหลักที่ผมใช้ตอนทำงานครับ วางไว้ตรงนี้ ด้วยหน้าจอแสดงผลที่ค่อนข้างใหญ่ และตำแหน่งของมันอยู่ค่อนข้างใกล้กับตัว มันก็ทำให้อ่านข้อความแชทต่างๆ สะดวก และการมีจอแยกแบบนี้ ก็ทำให้ผมสามารถเปิดหน้าจอโปรแกรมแชทพวกนี้ทิ้งค้างเอาไว้ได้เลย

คีย์บอร์ด Kwumsk K3 วางอยู่บนโต๊ะไม้ หน้าจอแสดงผลกำลังแสดงแอป LINE อยู่ทางซ้าย และ Microsoft Teams อยู่ทางขวา

อีกเรื่องคือ สำหรับบางโปรแกรม เช่น โปรแกรมตกแต่งภาพ โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ มันก็จะมีเครื่องมือไว้ใช้งานเยอะแยะ ถ้าใครมีจอหลายจอ ก็สามารถเอาแถบเครื่องมือบางส่วนไปไว้จออื่นได้ครับ ซึ่งในกรณีที่เรามีแค่จอหลักจอเดียว การที่ Kwumsy K3 มีจอเพิ่มมาให้อีกครึ่งจอ ก็เอาพวกเครื่องมือมาวางไว้ตรงนี้ได้ อย่างกรณีของผมก็เป็นโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ DaVinci Resolve เป็นต้น

หรือแบบง่ายสุดๆ ก็คือ ให้คิดซะว่ามันก็คือจอคอมพิวเตอร์อีกจอ ที่มีเลย์เอาต์แค่ครึ่งเดียวของจอปกติ เราจะเอามาเปิดเบราว์เซอร์เพื่ออ่านข้อมูล จะใช้เปิด Windows Explorer เพื่อถ่ายโอนไฟล์สะดวกๆ ลากไปมา เอามาเปิดไฟล์เอกสารไว้อ่าน แล้วไปพิมพ์ตอบในโปรแกรมอีเมลที่เราเปิดบนหน้าจอหลักก็ได้เช่นกัน

หน้าจอการตั้งค่า Tablet PC Settings ที่ใช้กำหนดหน้าจอที่เป็นหน้าจอสัมผัส

หน้าจอของ Kwumsy K3 นี่เป็นหน้าจอสัมผัสครับ แต่ปัญหาก็คือ พอเอาไปใช้งานกับคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows แล้วเนี่ย มันต้องไปเลือกหน่อย ว่าจอไหนบ้างที่เป็นจอสัมผัสนะครับ ก็ต้องไปตั้งค่าที่ Control Panel อย่างของผมเนี่ย ทุกจอที่ใช้งานมันไม่ใช่จอสัมผัสเลย มีแค่จอของ Kwumsy K3 เท่านั้น ก็ต้องไปเลือกให้ถูกต้องด้วย ไม่งั้นเวลาเราไปสัมผัสบน Kwumsy K3 การสัมผัสมันก็จะไปโผล่บนจออื่นแทนนะ

มุมด้านล่างขวามือของจอแสดงผลบนคีย์บอร์ด Kwumsy K3 ที่กำลังแสดงเมนู OSD อยู่

แน่นอนว่าเมื่อเป็นหน้าจอแสดงผล มันก็ต้องสามารถปรับตั้งค่าได้ครับ และ Kwumsy เขาก็ใส่เมนูการตั้งค่าแบบมาตรฐานของจอแสดงผลเข้ามาเลยแหละ เราสามารถปรับความสว่าง ปรับระดับเสียง เลือกอุณหภูมิสี หมุนหน้าจอ ได้ครับ ก็ใช้ปุ่มเลื่อนที่อยู่ทางด้านหลังของคีย์บอร์ดนั่นแหละ ส่วนตัวผม ผมไม่ได้ปรับอะไรมากไปกว่าความสว่างของหน้าจอแสดงผลครับ

หลายคนคงเห็นว่าเจ้านี่มีให้ลำโพงสเตริโอมาด้วย แต่ก็ต้องบอกเลยว่า มีเหมือนไม่มีครับ เสียงเบามาก คุณภาพแย่มาก ไม่รู้จะใส่มาทำไม ผมนี่คือคาดหวังเอาไว้พอสมควรเลยว่า อย่างน้อยแม้เสียงจะไม่ได้ดีมาก แต่ก็อยากให้ลำโพงมันเสียงดังๆ หน่อย เพราะเอาไว้ต่อกับอุปกรณ์อย่างพวกแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนที่อาจจะไม่ได้มีลำโพงเสียงดังมาก ก็ได้ตัวนี้ช่วยขยายเสียง แต่นี่ดันกลายเป็นว่า เสียงเบามาก จนไร้ประโยชน์อ่ะ

อ้อ! พูดถึงการเชื่อมต่อกับแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ใช่ครับ ถ้าสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมันรองรับการเชื่อมต่อกับจอแสดงผลภายนอกผ่านพอร์ต USB-C เช่น ของ Samsung หรือ HUAWEI อะไรแบบนี้ ก็สามารถเสียบสายกับ Kwumsy K3 แล้วใช้งานเป็น Physical keyboard ได้เลยนะ ถ้าเป็นแท็บเล็ตจะสะดวกหน่อย เพราะพอร์ต USB-C มักจะจ่ายไฟ 5 โวลต์ 2 แอมป์ได้ เสียบสาย USB-C to USB-C เส้นเดียวจบ แต่พอเป็นสมาร์ทโฟน เช่น Samsung Galaxy Z Fold 5 ของผมเนี่ย พอร์ต USB-C มันจ่ายไฟได้ไม่ถึง 2 แอมป์ครับ ก็ต้องเสียบอะแดปเตอร์เพิ่มหรือไม่ก็ต้องเอาพาวเวอร์แบงก์มาจ่ายไฟครับ

ถ้าจะมีเรื่องให้บ่น น่าจะเป็น 4 จุดครับ คือ…

1️⃣ ในขณะที่เขาแถมซองหนังมาใช้ปิดหน้าจอแสดงผลของตัวคีย์บอร์ด Kwumsy K3 แต่ตัวแป้นพิมพ์อะ มันไม่มีฝาครอบมาให้ ก็ต้องไปทำเองครับ ส่วนตัวผม ผมใช้บริการของร้าน Teen Create (TC Home) ซึ่งใช้มาตั้งกะตอน Keychron K10J2 กะ K4V2 แล้ว ถ้าอนาคตใครซื้อมา (ตอนที่เขาจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้ว) แล้วอยากได้ฝาครอบคีย์บอร์ดแบบอะคริลิค ก็ไปใช้บริการได้ บอกเขาว่าไซส์ กว้าง×ลึก×สูง คือ 322×130×25 มม. ครับ จะเป๊ะเลย ร้านนี้สั่งทำแล้ว สามารถขอให้เขาใช้เลเซอร์ยิงโลโก้ได้ด้วย ของผมก็เอาอวาตารโซเชียลมีเดียผมมาใช้ซะเลย แฮ่ม!!

2️⃣ ตัวจอแสดงผลแบบพับได้นี่แหละ คือ ตอนจะกางออกมาเนี่ย มันไม่มีที่จับให้กางออกมาได้ง่ายๆ ครับ ก็แอบหงุดหงิดหน่อย เพราะมันถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักประมาณนึง เวลาที่ปลดสวิตช์ล็อกการพับจอ มันจะกางออกไปจนสุด 180 องศาได้ง่ายๆ แต่นั่นก็ทำให้ยกจอกลับมาที่ตำแหน่ง 45 – 90 องศาได้ยากขึ้น

3️⃣ นอกจากนี้ ตัวจอแสดงผลแบบพับได้เนี่ย ยังทำบานพับมาไม่ดีเท่าไหร่ คือ ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กที่สามารถกางจอในองศาต่างๆ ได้ค่อนข้างละเอียด เจ้า Kwumsy K3 นี่ จะมีองศาใช้งานหลักๆ คือ 180 / 90 / 45 องศา เป็นหลักครับ ที่ตัวสวิตช์ล็อกมันจะล็อกให้คงที่ แบบที่ใช้นิ้วสัมผัสแล้วก็จะไม่โยกเยก แต่ถ้าอยากจะให้มันกางได้แบบเหมาะกับการใช้งานจริงๆ นี่ มันยังพอใช้งานดูโน่นนี่ได้ แต่ไม่เหมาะกับการใช้สัมผัสหน้าจอ

4️⃣ ขนาดของคีย์บอร์ดใหญ่เบิ้มมาก สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการวางค่อนข้างเยอะครับ อย่างโต๊ะผมที่ลึก 60 เซ็นติเมตรนี่ พอวางจอกับเจ้าคีย์บอร์ด Kwumsy K3 แล้ว คือ ไม่สามารถวางแผ่นไม้รองข้อมือได้แล้ว หมดพื้นที่ 😭😭

บทสรุปการรีวิวคีย์บอร์ด Kwumsy K3

ถ้าได้มาในราคา 9,600 แบบผม ตัวนี้เรียกว่าคุ้มนะ มันเหมือนได้ Mechanical keyboard พร้อมจอพกพามารวมในตัวเดียว และไม่กินเนื้อที่ในการวางมากเมื่อเทียบกับมีทั้งสองตัวแยกกัน แต่ด้วยน้ำหนักที่โคตรหนัก มันก็เลยไม่ใช่อะไรที่จะเหมาะกับการพกพาไปไหนมาไหนด้วย ใครที่คิดจะทำแบบนั้น ข้ามไปเลยครับ แต่เวลาเอามาขายจริงในไทย คิดว่าถ้ามองราคาของ Kwumsy K1 หรือ K2 เป็นเกณฑ์แล้ว น่าจะมี 15,000 บาทแหงเลย แอบแพงนะ ผมว่าราคานี้ ถ้าไม่ติดอะไร ไปซื้อ Keychron กับจอพกพาไซส์ 15.6 นิ้วดีๆ ซักตัว มีเงินเหลืออีกตะหาก นี่เรียกว่ารวมเอา USB-C hub ที่รองรับ PD ด้วยอีกตัวแล้วนะ 🤣🤣

แต่สำหรับคนที่อยากจะประหยัดพื้นที่ ตัวนี้น่าจะตอบโจทย์ มีจอใหญ่ๆ ซักจอนึงเอาไว้ทำงานเป็นหลัก แล้วจอเล็กบน Kwumsy K3 นี่เอาไว้วางพวกโปรแกรมแชทแบบผม หรือเอาไว้วางหน้าต่างโปรแกรมใดๆ ที่อยากเอาไว้อ่านชั่วคราว อะไรแบบนี้ ตัวมันเองก็ทำหน้าที่เป็น USB-C hub ได้ และรองรับการชาร์จโน้ตบุ๊กผ่านพอร์ต PD 60 วัตต์ ได้อีก ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกในการจัดโต๊ะคอมที่ดีตัวนึงครับ

ไม่มีลิงก์ไปซื้อ ณ ตอนนี้ เพราะเขายังไม่ได้ขายอย่างเป็นทางการจ้า

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า