Home>>รีวิว>>2 เดือนผ่านไป กับระบบโซลาร์เซลล์ มาอัปเดตความคืบหน้า ทั้งเรื่องการประหยัดค่าไฟ และการพิจารณาติดตั้งมิเตอร์ TOU
ภาพมุมมองจากโดรน ถ่ายเห็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา
รีวิว

2 เดือนผ่านไป กับระบบโซลาร์เซลล์ มาอัปเดตความคืบหน้า ทั้งเรื่องการประหยัดค่าไฟ และการพิจารณาติดตั้งมิเตอร์ TOU

ผมเริ่มใช้ระบบโซลาร์เซลล์แบบเต็มๆ วันที่ 3 มิถุนายน มาจนถึงตอนนี้ก็ผ่านไป 2 เดือนเต็มๆ แล้ว ได้เก็บข้อมูลเอาไว้พอสมควร ได้เวลากลับมาทบทวนกันอีกครั้งครับ และผ่านไปอีก 1 เดือนนี่ ผมมีการปรับปรุง Google Sheet ที่ผมใช้เก็บข้อมูลให้กระชับขึ้น เพราะตอนแรกต้องแยกเป็น 2 worksheets เพื่อเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแยกกับข้อมูล TOU (เพราะดันนึกขึ้นได้ว่าควรเก็บข้อมูลสำหรับ TOU หลังจากใช้ไปร่วม 2 สัปดาห์) ก็คิดว่าได้เวลาเอามาเขียนเล่าแบ่งปันประสบการณ์กันอีกครั้ง เผื่อใครจะพิจารณาติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

ผลประกอบการจากระบบโซลาร์เซลล์

แต่ละบ้านเขามีรอบการจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงกันครับ ของผมนี่เขาจะจดเลขมิเตอร์วันที่ 11 ฉะนั้น ถ้าผมอยากจะเช็กว่าตัวเลขที่ผมบันทึก มันใกล้เคียงกับที่การไฟฟ้ามาจดมิเตอร์จริงไหม เพื่อยืนยันว่าข้อมูลที่เราได้จาก Inverter ของ HUAWEI มันแม่นยำแค่ไหน ก็ต้องเอาข้อมูลวันที่ 12 มิถุนายน 2566 – 11 กรกฎาคม 2566 มาเทียบกันครับ แน่นอนว่ามันจะมีความแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย เพราะตัวเลขที่ผมบันทึกมันคือ ณ สิ้นสุดของวัน แต่ช่วงเวลาที่การไฟฟ้ามาจดมิเตอร์ มันเป็นช่วงกลางวัน และไม่ได้เป็นเวลาที่แน่นอน แต่ถึงยังงั้น ตัวเลขที่ผมเก็บก็ไม่ควรแตกต่างมากเกินไป ซึ่งผมได้ลองเช็กแล้วก็บอกได้เลยว่า ค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณไม่ถึง 10% เท่านั้น ฉะนั้นก็ถือได้ว่าข้อมูลจาก Google Sheets ที่ผมบันทึกไว้ เอามาใช้อ้างอิงในบล็อกได้ ซึ่งผมจะขอใช้ตัวเลขที่บันทึกไว้ เพราะมันเปรียบเทียบได้สะดวกกว่าครับ เนื่องจากผมสร้างเป็น Dashboard เอาไว้ด้วย Looker Studio (ชื่อก่อนหน้านี้คือ Google Data Studio) ครับ

ตาร

ในรอบบิลเดือนมิถุนายน 2566 (12 มิถุนายน 2566 – 11 กรกฎาคม 2566) ของบ้านผม ผมคำนวณแล้วว่าใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 901.72 หน่วย แต่เพราะได้ระบบโซลาร์เซลล์ช่วย เลยใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า 551.42 หน่วย และมีการผลิตเกิน 222.81 หน่วย (ซึ่งในอนาคต ยอดนี้คือยอดที่เราจะขายไฟคืนการไฟฟ้านั่นเอง)

เมื่อนำมาคิดค่าไฟแล้ว (ผมใส่สูตรการคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า รวมค่า ft ค่าบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว) ถ้าไม่มีระบบโซลาร์เซลล์ ผมจะต้องจ่ายค่าไฟประมาณ 4,930.63 บาท แต่ผมจ่ายจริงแค่ 2,931.48 บาท หรือ ถูกลง 1,999.15 บาท นั่นเอง ประหยัดไป 40.55% แต่ถ้าอนาคต ผมขายไฟคืนการไฟฟ้าได้ (ซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว เหลือแค่ให้เขามาเปลี่ยนมิเตอร์) ผมจะเหลือจ่ายค่าไฟแค่ 2,456.01 บาท หรือ ประหยัดไป 50.19% ถ้าประหยัดค่าไฟได้ระดับนี้ทุกเดือน ประมาณ 9 ปี กับ 4 เดือน น่าจะคืนทุน

กราฟแบบโดนัท ที่แสดงอัตราส่วนของการอยู่บ้านและไม่อยู่บ้าน โดย

อย่างไรก็ดี อย่างที่หลายๆ คนพูดกันครับว่าคนที่ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ได้คุ้มค่า คือ คนที่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดมีการเปิดแอร์ตอนกลางวันนานๆ หรือ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟเยอะๆ และเปิดตลอดเวลา (เช่น ปั๊มน้ำ ตู้แช่เย็น ตู้แช่แข็ง อะไรแบบนี้) ซึ่งมักจะเป็นคนที่ค่าไฟสูงๆ ระดับ 4 พันบาทขึ้นไป แน่นอน จากการเก็บข้อมูลชี้ให้เห็นว่าผมมีการเปิดแอร์ตอนกลางวันประมาณ 80.8% ในเวลา 1 เดือนเลยทีเดียวครับ

แต่นี่ก็คือข้อมูลในช่วงต้นฤดูฝนนะ และอย่างที่เห็น แถมเป็นเดือนที่ผมอยู่บ้านค่อนข้างเยอะด้วย เพราะผมกับภรรยาดัน Work from Home กันคนละวันในสัปดาห์ พอถึงรอบบิลเดือนกรกฎาคม (ยังไม่เต็มรอบ แค่ 12 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม) เนี่ย ผมรู้สึกว่าผมและภรรยามีตาราง Work from Home ค่อนข้างตรงกันมากครับ ผลคือ อัตราส่วนของการอยู่บ้านเปิดแอร์ตอนกลางวันนี่เหลือแค่ 47.7% เท่านั้นเอง

ตารางแดชบอร์ดสร้างจาก Looker Studio แสดงปริมาณการใช้ไฟฟ้า และ คำนวณค่าไฟ

ด้วยความที่ข้อมูลยังไม่เต็มรอบบิล ก็จะสังเกตได้ว่าผมยังใช้ไฟฟ้าไปแค่ 691.85 หน่วย แต่ผมอยากให้ดูตรงส่วนของค่าไฟที่ประหยัดได้จากระบบโซลาร์เซลล์ครับ ตกลงจาก 40.55% มาเหลือแค่ 34.97% เท่านั้นเอง ค่าไฟประหยัดไปได้แค่ 1,305.29 บาท ครับ ถ้าประหยัดได้แค่นี้ บอกเลยเกือบ 15 ปีถึงจะคืนทุน 🤣🤣

แต่เอาจริงๆ แต่ละเดือนเราจะประหยัดค่าไฟได้ไม่เท่ากันครับ ต้องรอเก็บข้อมูลกันเป็นปี แล้วค่อยมาเฉลี่ยกันใหม่ ถึงจะคำนวณได้จริงๆ ว่ากี่ปีถึงจะคืนทุน

โซลาร์เซลล์ 5kW ผลิตไฟฟ้าได้จริงๆ แค่ไหนกันแน่?

ระบบโซลาร์เซลล์จะประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก คือ แผงโซลาร์เซลล์ที่ทำการผลิตไฟฟ้า ซึ่งได้ไฟฟ้าเป็นกระแสตรง (DC) ออกมา ก็เลยต้องมีองค์ประกอบส่วนที่สอง คือ Inverter (เป็น String Inverter หรือ Micro Inverter ก็ตามแต่) ที่ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เป็นกระแสสลับ (AC) เหมือนไฟบ้าน แต่สเปกของแผงโซลาร์เซลล์ที่เขาระบุกันเอาไว้ มันเป็นสเปกภายใต้เงื่อนไขในห้องทดลองที่มีการควบคุมตัวแปรเต็มเหนี่ยว ฉะนั้น ในการใช้งานจริงที่มีตัวแปรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทิศทางแสงอาทิตย์ ความเข้มของแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลา เมฆ ความร้อน ฯลฯ ก็จะมีผลต่อการผลิตไฟฟ้าของระบบโซลาร์เซลล์ทั้งนั้น

ตารางแสดงประสิทธิภาพของระบบโซลาร์เซลล์

ในช่วงเวลา 1 เดือน ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมด 573.11 กิโลวัตต์ (1 กิโลวัตต์ = 1 หน่วยการใช้ไฟฟ้า) และสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 61.12% ครับ โดยเฉลี่ยแล้วระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ 19.10 กิโลวัตต์ต่อวัน โดยต่ำสุดที่ผลิตได้ใน 1 วัน คือ 7.96 กิโลวัตต์ และสูงสุดที่ผลิตได้ใน 1 วัน คือ 24.72 กิโลวัตต์ สอดคล้องกับที่มีบางคนบอกผมว่า โซลาร์เซลล์กำลังผลิต 5kW นั้นจะผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 20 กิโลวัตต์ต่อวัน

แต่นี่คือข้อมูลในช่วงต้นฤดูฝนนะครับ พอมาที่เดือนกรกฎาคมที่ฝนตกบ่อยขึ้น ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของระบบโซลาร์เซลล์ก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา

ตารางแสดงประสิทธิภาพของระบบโซลาร์เซลล์

อยากให้ดูตรงส่วนของค่าเฉลี่ยนะครับ จะสังเกตว่ารอบเดือนมิถุนายน ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 19.10 กิโลวัตต์ต่อวัน แต่รอบเดือนกรกฎาคมจนถึงตอนล่าสุดคือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วผลิตได้ 17.33 กิโลวัตต์เอง ลดลงไปเกือบ 10% เลย เดี๋ยวรอดูเดือนสิงหาคม ที่เริ่มครึ่งหลังของฤดูฝนเดี๋ยวก็จะรู้ว่าเป็นยังไง

แล้วสรุปว่าติดมิเตอร์ TOU จะคุ้มไหม?

ผมเริ่มเก็บข้อมูลสำหรับพิจารณาความคุ้มค่าในการติดมิเตอร์แบบ TOU วันที่ 20 มิถุนายน เลยทำให้ไม่มีข้อมูลที่เต็มรอบเดือนตามบิลค่าไฟฟ้า ผมเลยเลือกใช้ข้อมูลของเดือนกรกฎาคม แบบวันที่ 1-31 แทนครับ ได้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแบบหลังหักไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบโซลาร์เซลล์มาตามตารางด้านล่างนี้

ใช้ไฟช่วง On-peakใช้ไฟช่วง Off-peak
163.76 กิโลวัตต์440.26 กิโลวัตต์

คำนวณแล้วคือ ถ้าไม่มีระบบโซลาร์เซลล์เลยเนี่ย ค่าไฟช่วง 31 วันนี้จะอยู่ที่ 5,003.28 บาท เพราะมีการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 914.45 หน่วย แต่พอมีระบบโซลาร์เซลล์มาช่วยแล้ว เลยทำให้ใช้ไฟฟ้าจริงๆ แค่ 604.02 หน่วยเท่านั้น ซึ่งค่าไฟก็จะเหลืออยู่ที่ 3,231.67 บาท แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นมิเตอร์ TOU แล้วคิดค่าไฟแบบ TOU ค่าไฟจะเหลือ 2,738.26 บาท ถูกลงได้อีก 493.41 บาทครับ ถือว่าคุ้มเข้าไปอีกแหละ (นอกเหนือจากที่จะขายไฟคืนได้แล้ว)

นี่เดี๋ยวตอนเขามาเปลี่ยนมิเตอร์เพื่อขายไฟคืน ก็จะทำเรื่องขอเปลี่ยนเป็นมิเตอร์ TOU ต่อเลยแหละ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า