2 ปีก่อน ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักขึ้นในประเทศไทย โดนล็อกดาวน์กัน ทำงานจากที่บ้านเป็นหลักเลย ผมก็ถือโอกาสกระชับพื้นที่ระเบียงห้องนอนชั้น 3 มากั้นเป็นห้องอีกห้องขึ้นมา ได้พื้นที่เพิ่มมาราวๆ 3.5 ตารางเมตร ก็มากพอที่จะทำเป็นห้องทำงานเล็กๆ ได้ห้องนึง ผ่านไป 2 ปี ขอรีวิวเอาไว้เป็นบันทึก เผื่อจะมีใครคิดอยากจะทำบ้างนะครับ
ใครที่อยากรู้ว่ามันมีค่าใช้จ่ายอะไรยังไงบ้าง ผมได้เรียนรู้อะไรไปบ้างในตอนแรกๆ อ่านบล็อก รีวิวบทเรียนการกระชับพื้นที่ระเบียงมาเป็นห้องทำงาน และ บทเรียนสำคัญจากปฏิบัติการกระชับพื้นที่ระเบียงมาทำห้องทำงาน ของผมก่อนได้ครับ
อุณหภูมิของห้องตรงระเบียงแอบโหดกว่าที่คิด
บ้านของผมหันหน้าไปทางทิศเหนือ เรียกว่าไม่ได้เจอแดดโหดๆ ตอนสายๆ หรือ ตอนบ่ายๆ ซักเท่าไหร่ ตอนที่ผมกั้นห้องเสร็จใหม่ๆ วัดอุณหภูมิตอนกลางวันได้ 35 องศาเซลเซียส เรียกว่าแอบร้อนเอาเรื่อง แต่ด้วยความที่ทำงานจากที่บ้าน เปิดแอร์ห้องนอนแล้วเอาพัดลมมาช่วยเป่าเอาอากาศเย็นมาเข้าที่ห้องระเบียงนี่ ก็บอกได้เลยว่าสบายๆ ครับ (ซึ่งผมก็ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไปในตอนที่กั้นห้องเสร็จใหม่ๆ)

แต่หลังจากกั้นห้องเสร็จ ฤดูกาลที่ผมเผชิญอยู่คือหน้าฝน และจะเผชิญกับหน้าหนาวเป็นฤดูถัดไป ก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไรมากไง จนกระทั่งมาเจอหน้าร้อนนี่แหละครับ โดยเฉพาะหน้าร้อนปี 2566 นี่ โคตรโหดมาก อุณหภูมิสามารถพุ่งไปได้ถึง 38 องศาเซลเซียสเลยครับ เรียกว่าแอร์ทำงานหนักเอาเรื่อง ค่าไฟบานเบอะมากเลยในปีนี้ จนสุดท้ายผมเลยต้องติดระบบโซลาร์เซลล์ (แม้ว่าจะผิดหวังจากบริษัทแรก ที่เตรียมจะติดตอนปลายปี 2564 ก็ตาม)

หลังๆ ผมไม่ได้เปิดแอร์ไปที่ 25 องศาเซลเซียสแล้ว แต่เลือกเซ็ตไปที่ 28 องศาเซลเซียสแทน แล้วใช้พัดลมช่วยกระจายความเย็นของแอร์แทน ซึ่งอุณหภูมิก็จะไม่เย็นเวอร์ไป ผลที่ได้ก็คือ อุณหภูมิของห้องทำงานตรงระเบียงก็จะอยู่ที่ราวๆ 30-32 องศาเซลเซียส แต่ว่าไม่ได้ร้อนนะ เพราะว่าลมแอร์จากพัดลมมันเป่าเข้าตัว เย็นสบายดี
อุณหภูมิที่สูง มีผลเสียกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไหม?
ในวันที่ผมทำงานจากที่บ้าน ก็จะไม่ต้องห่วงเรื่องอุณหภูมิของห้องทำงานที่ระเบียงมาก เพราะผมจะเปิดแอร์และเป่าลมเย็นเข้ามาในนี้ ก็อย่างที่เห็น แม้ว่าจะไม่ได้เย็นฉ่ำ แต่ก็รักษาอุณหภูมิเอาไว้ได้ที่ 30-32 องศาเซลเซียสก็ไหวอยู่ ส่วนหน้าหนาวนี่หมดห่วง ช่วงอากาศเย็นๆ ห้องทำงานที่ระเบียงนี่ก็ยะเยือกใช้ได้ครับ ขนาดไม่เปิดแอร์ก็ยังมีอุณหภูมิลงมาได้ถึง 25 องศาเซลเซียสสบายๆ

แต่วันไหนที่ไม่ได้ไปทำงานนี่สิ ไม่ได้เปิดแอร์ ห้องทำงานก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปได้ถึงระดับ 38 องศาเซลเซียสเลย ขนาดตอนสองทุ่ม ที่อากาศไม่ได้ร้อนมากแล้ว อุณหภูมิก็ยังอยู่แถวๆ 31-32 องศาเซลเซียสเลยนะ เพราะผมไม่ค่อยอยากให้ฝุ่นเข้ามาในห้อง ก็เลยไม่ได้เปิดหน้าต่างด้วย น่าเป็นห่วงไหม พวกคอมพิวเตอร์นี่ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะอุณหภูมิขณะทำงานของมันโหดกว่านี้เยอะ แต่ที่ผมสงสัยคือพวกจอคอมพิวเตอร์ครับ เพราะว่าเคยจำได้ว่า พวกโน้ตบุ๊ก ถ้าเราเปิดเครื่องทำงานแต่พับจอปิดเอาไว้ ต่อจอแสดงผลภายนอกแทน มันจะมีโอกาสที่จะทำให้จอภาพเสื่อม เขาว่างั้น ผมก็ลองไปค้นๆ หาดูข้อมูลว่าเป็นไง ก็ไปเจอเอกสารเรื่อง Temperature Consideration for Displays บนเว็บไซต์ Focus LCDs ครับ มันมีการพูดถึงช่วงอุณหภูมิมาตรฐานเอาไว้ว่า ในการใช้งานจอภาพก็จะทำงานได้ที่อุณหภูมิ 0 ถึง 50 องศาเซลเซียส และหากแค่เก็บเอาไว้เฉยๆ ก็อยู่ในช่วง -20 ถึง 60 องศาเซลเซียส

ดูจากตรงนี้แล้ว ถ้าอุณหภูมิห้องมันแค่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส ตอนที่ไม่มีคนอยู่ก็คือไม่ได้เปิดใช้งาน ก็เรียกว่ายังอยู่ภายในช่วงของ Storage temperature แหละ ส่วนตอนที่ผมใช้งาน ก็จะเปิดแอร์ อุณหภูมิก็จะต่ำกว่านี้อยู่แล้ว ฉะนั้นก็ไม่น่ามีผลอะไร
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ จะลองพิจารณาอะไร?
ผมคิดว่าผมจะลองพิจารณาแอร์เคลื่อนที่ครับ คือ ด้วยพื้นที่ตั้งที่ค่อนข้างจำกัด มันแน่นอนว่าผมคงติดแอร์แบบแขวนผนังไม่ได้อะ แต่ถ้าออกแบบให้ดี ผมเชื่อว่าผมสามารถทำช่องสำหรับติดตั้งแอร์เคลื่อนที่ได้ ใส่ไว้ซัก 9,000BTU นะ แล้วปิดกระจกห้องระเบียงไว้ มันจะได้ห้องทำงานกะทัดรัดขนาดพื้นที่ 3.5 ตารางเมตร ที่แอร์จะสามารถทำความเย็นได้ในบริเวณที่จำกัดมาก น่าจะประหยัดไฟขึ้นอีกเยอะเลย เวลาผมทำงานจากบ้านแค่คนเดียว หรือทำงานจากบ้านพร้อมกับภรรยาแต่ผมต้องประชุมออนไลน์ ก็จะได้ใช้โหมดการทำงานนี้ มันน่าจะสะดวกมาก แต่ตอนนี้จะให้พิจารณาเรื่องนี้ อาจจะต้องคิดเรื่องการตัดกระจกแล้วล่ะ เพราะทุกอย่างทำเสร็จไปหมดแล้วอะ