Home>>รีวิว>>ติดระบบโซลาร์เซลล์มา 26 วันแล้ว ผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง และข้อเท็จจริงที่ต้องลองใช้เองถึงจะรู้คืออะไร
ภาพกราฟิกบ้านหลายหลังที่ทุกหลังมีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา
รีวิวบ่นเรื่อยเปื่อย

ติดระบบโซลาร์เซลล์มา 26 วันแล้ว ผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง และข้อเท็จจริงที่ต้องลองใช้เองถึงจะรู้คืออะไร

ถ้าใครได้ติดตามบล็อกของผม จะทราบว่าผมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (1-2 มิถุนายน) และจนถึงวันนี้ก็ผ่านมาแล้ว 26 วันเต็มๆ ที่ได้ใช้ระบบโซลาร์เซลล์มา ผมว่าก็น่าจะได้เวลามาทบทวนกันหน่อยแล้วว่าผลประกอบการเป็นยังไงบ้าง ติดตั้งแล้วลดค่าไฟไปได้แค่ไหน และคาดว่าอีกนานแค่ไหนกว่าจะคืนทุน และมีอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องลองเอาถึงจะรู้ มาอ่านในบล็อกตอนนี้กันครับ จะเล่าให้หมดเปลือกเลย เผื่อใครจะเอาไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

สิ่งที่คุณควรเข้าใจเวลาดูแพ็กเกจโซลาร์เซลล์ที่เขานำเสนอ

เป้าหมายของการติดระบบโซลาร์เซลล์ของคนส่วนใหญ่คือ การเอามาช่วยลดค่าไฟครับ ฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว ในทุกแพ็กเกจที่ผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์เขานำเสนอ จะมีการให้ข้อมูลจำพวก จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ ค่าไฟที่เหมาะสมสำหรับแพ็กเกจต่างๆ ค่าไฟที่คาดว่าจะประหยัดได้ อะไรพวกนี้มาให้ด้วย เพราะการบอกว่ากำลังผลิตเท่านั้นเท่านี้กิโลวัตต์ คนทั่วไปเขาไม่เข้าใจครับ

ตารางแพ็กเกจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่กำลังผลิตต่างๆ และราคาต่างๆ มีการให้ข้อมูลจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ค่าไฟที่เหมาะสมต่อเดือน และประมาณการค่าไฟที่ประหยัดได้ต่อเดือน

แต่ปัญหาของการคิดแบบง่ายๆ แบบนี้ก็คือ มันมองข้ามรายละเอียดสำคัญไปหลายอย่างครับ เช่น

เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดเดียวกันแต่ใช้กำลังไฟแตกต่างกัน อย่างเช่น ตู้เย็น หรือ แอร์ เป็นต้น แอร์ 9,000BTU กับ 33,000BTU นี่คือกินไฟแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวนะครับ แอร์แบบดั้งเดิม กับแอร์แบบ Inverter นี่ก็กินไฟแตกต่างกันชัดเจนมากเช่นกัน เอาตรงๆ เลยนะ ผมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ 4.995 กิโลวัตต์ แค่เปิดแอร์ 2 เครื่อง (33,000BTU แบบ Inverter กับ 18,000BTU แบบดั้งเดิม) มีตู้เย็น 2 เครื่อง ก็แทบจะกินไฟเกินที่ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไหวแล้ว

ระบบโซลาร์เซลล์ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าโซลาร์เซลล์ มันคือระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แสดงว่าต้องมีแสงอาทิตย์มันถึงจะผลิตไฟฟ้าได้ และแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันมันก็มีความเข้มไม่เท่ากัน ก็จะผลิตไฟฟ้าได้มากน้อยไม่เท่ากัน (อ่านบล็อก ประสบการณ์ใช้งานระบบโซลาร์เซลล์สัปดาห์แรกของผมได้) ซึ่งตรงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ให้บริการเขามีการคำนวณจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ระบบโซลาร์เซลล์จะผลิตได้ในแต่ละวันว่าเท่ากับการผลิตแบบเต็มกำลังเป็นเวลา 5 ชั่วโมง เช่น ถ้าติด 4.995 กิโลวัตต์แบบบ้านผม ก็เท่ากับว่าจะผลิตไฟฟ้าได้วันละประมาณ 25 หน่วย แต่จากข้อมูล 26 วันของผมในช่วงต้นหน้าฝน เดือนมิถุนายนนี้ ระบบโซลาร์เซลล์ของผม ผลไฟฟ้าได้เฉลี่ยที่ 19.80 หน่วยเท่านั้นครับ แต่วันที่ผลิตไฟฟ้าได้เยอะๆ เพราะแดดดี มันก็ไปได้ถึง 25 หน่วยอย่างที่เขาว่านะ ฉะนั้นก็เชื่อได้ว่าในหน้าร้อนหรือหน้าหนาว อาจจะได้ค่าเฉลี่ยที่ดีกว่านี้ เอาไว้เก็บข้อมูลครบปีแล้ว ผมจะมาแยกข้อมูลเป็นรายเดือน รายฤดู ให้ได้อ่านกันอีกที

แน่นอนว่า ถ้าใครใช้ไฟฟ้าเน้นทไปที่กลางคืนนี่คือ ไม่มีประโยชน์ในการติดระบบโซลาร์เซลล์แน่ ตัวเลขที่เราเห็นในแพ็กเกจของผู้ให้บริการ เท่าที่ผมสังเกต มันจะเหมาะสำหรับคนที่ใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งวัน และมีสัดส่วนการใช้งานช่วงกลางวันและกลางคืนอย่างน้อยคือ พอๆ กันครับ แต่ถ้ายิ่งใช้ตอนกลางวันมากกว่า ยิ่งดี

กราฟแสดงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และการใช้ไฟฟ้าจริงภายในบ้าน ที่แสดงให้เห็นว่าช่วงกลางวันนั้น แม้จะมีการใช้ไฟฟ้าเยอะ แต่ก็อยู่ภายในขีดจำกัดของการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์

ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 100% ตลอดช่วง ซึ่งผมก็ได้ให้ดูกราฟไปก่อนแล้วว่า ในแต่ละช่วงเวลาของวัน มันก็อาจจะมีช่วงที่ระบบโซลาร์เซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่าที่เราจะใช้ ซึ่งหากเราไม่ได้ทำเรื่องขายคืนให้การไฟฟ้าไว้ (ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำเรื่องขายคืนได้นะ เพราะเขาก็มีโควต้าและเกณฑ์ในการพิจารณาต่างๆ อยู่) จากสถิติของผมเอง ผมใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปราวๆ 61% ของที่ผลิตได้จริงครับ ในช่วงที่ยังอยู่ในระหว่างการรอทำเรื่องขายไฟคืนการไฟฟ้า ก็เท่ากับอีก 39% นี่คือผลิตมาทิ้งครับ

แต่ถ้าใครมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างเยอะในตอนกลางวันอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์น่าจะเยอะกว่าผมได้

ระยะเวลาการคืนทุนของระบบโซลาร์เซลล์ ทฤษฎี vs ปฏิบัติ

อ้างอิงจากแพ็กเกจที่ผมให้ดูข้างต้น แพ็กเกจไซส์ M 4.95 กิโลวัตต์ ที่มีกำลังผลิตใกล้ๆ กับที่ผมติดตั้ง บอกว่าประหยัดค่าไฟได้ราวๆ 2,200 – 3,000 บาท ต่อเดือน และระยะเวลาคืนทุนคือ 7.5 ปี (มาจากเลขกลางๆ ระหว่างการประหยัดค่าไฟ 2,200 – 3,000 บาทต่อเดือน)

แล้วของจริงเป็นไง? มาดูที่ผมเก็บข้อมูลเอาไว้ดีกว่าครับ ซึ่งข้อมูลที่ผมได้จากแอปของระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่ง Inverter ยี่ห้อ HUAWEI ใช้แอป FusionSolar มันไม่สามารถคำนวณรายละเอียดค่าไฟได้ ผมก็เลยใช้บันทึกเลขของแต่ละวันเข้า Google Sheet แล้วใช้ Looker Studio (หรือชื่อเดิมคือ Google Data Studio) มาสร้าง Dashboard เพื่อให้อ่านข้อมูลได้ง่ายๆ

หน้าแดชบอร์ดแสดงรายละเอียดสถิติการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ การใช้ไฟฟ้า และคำนวณค่าไฟที่ต้องจ่าย และค่าไฟที่ประหยัดได้

จากรูปด้านบน จะเห็นว่าใน 26 วันที่ผมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์มา ผมใช้ไฟฟ้าไป 791.15 หน่วย แต่ว่าผมดึงไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ามาใช้ไป 318.27 หน่วย ทำให้ผมเหลือใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าจริงๆ 472.88 หน่วยครับ

ทีนี้ถ้าอยากจะรู้ว่าแล้วเราประหยัดค่าไฟได้จริงๆ เท่าไหร่ เราก็ต้องเอาตัวเลขมาคำนวณครับ ซึ่งใน Dashboard ข้างบน ผมใช้หลักการคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้าแบบขั้นบันไดของการไฟฟ้านครหลวง และรวมค่า ft ค่าบริการ และ VAT 7% ไปเรียบร้อย เรียกว่าได้ค่าไฟสุทธิออกมาเลย (ผมลองเอาไปทวนสอบด้วยหน้าเว็บของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่คิดค่าไฟที่เรตเดียวกันแล้ว ตัวเลขตรงครับ) ผลที่ได้คือ

⚡ ถ้ายังไม่ได้ทำเรื่องขายไฟคืนให้การไฟฟ้า ระบบโซลาร์เซลล์ช่วยผมประหยัดค่าไฟได้ 42.24% หรือ 1,816.35 บาท ซึ่งถ้าผมรอจนครบเดือน ก็น่าจะช่วยประหยัดได้ราวๆ 1,900-2,000 บาทแหละ

⚡ แต่ถ้าทำเรื่องขายไฟคืนให้การไฟฟ้าผ่าน และเขารับซื้อคืนทั้งหมด ระบบโซลาร์เซลล์จะช่วยผมประหยัดค่าไฟเพิ่มได้เป็น 52.30% หรือ 2,248.65 บาท และหากรอจนครบเดือน ตัวเลขก็น่าจะอยู่ที่ 2,300-2,400 บาท ครับ

ถ้าคำนวณจากตัวเลขตามนี้ ต้นทุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ 4.995 กิโลวัตต์ ของบริษัท Renewvation ที่ผมใช้บริการอยู่ที่ 200,000 บาท (ผมขอไม่รวมค่า Optimizer ที่ผมติดตั้งเพิ่ม เพราะอยากติดนะ) ก็น่าจะคืนทุนใน 7-8.5 ปีครับ อันนี้คือคำนวณจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผม ที่ใช้ไฟเฉลี่ย 30 หน่วยต่อวัน และมีสัดส่วนของการอยู่บ้าน เปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเต็มเหนี่ยวที่ 76.9% ครับ (หมายถึง ใน 26 วัน จะมีประมาณ 20 ที่ผมจะเปิดแอร์ 33,000BTU บนห้องนอนราวๆ 18-20 ขั่วโมง เว้นแค่ช่วง 4:00-7:00 และประมาณ 18:00-20:00 แถวๆ นี้)

สรุปแล้วก็คือ

แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันเกือบทุกวัน แต่ใช้ราวๆ 70%-80% ของจำนวนวันในเดือนนั้นๆ แต่พอใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันแล้วคือ ใช้จริง ใช้จัง อัดจัดเต็ม การติดระบบโซลาร์เซลล์นี่คือ ช่วยคุณประหยัดได้จริงจังแน่นอนครับ เผลอๆ อาจจะมากกว่าของผมอีก (ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า)

นอกจากนี้ ข้อดีอีกข้อของการติดระบบโซลาร์เซลล์ก็คือ ความมั่นคงทางพลังงานครับ คือ ต่อให้ในอนาคต ค่าไฟจะแพงขึ้น ไม่ว่าค่าพลังงานไฟฟ้าจะแพงขึ้น หรือ ค่า ft จะสูงขึ้น หรือแม้แต่รัฐบาลจะขึ้น VAT ระบบโซลาร์เซลล์ก็จะช่วยเราประหยัดเงินได้ไม่มากก็น้อย เพราะ

💵 การคิดค่าไฟเป็นแบบอัตราก้าวหน้า ถ้าเกิดเราติดโซลาร์เซลล์แล้ว สามารถลดจำนวนหน่วยใช้งานของเราลงได้เหลือต่ำกว่า 400 หน่วย ค่าไฟเราจะถูกลงไปอีกประมาณนึงเลย

💵 เมื่อค่า ft แพงขึ้น ระบบโซลาร์เซลล์ก็จะช่วยให้เราประหยัดเงินจากค่า ft ได้อีกเท่ากับจำนวนหน่วยที่ระบบโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดให้เราได้ คูณค่า ft ที่เพิ่มขึ้น

💵 และเมื่อประหยัดเงินค่าไฟไปได้เท่าไหร่ อย่าลืมว่ามันช่วยลดเงินที่เราต้องจ่ายเป็น VAT 7% ด้วยนะ

ทั้งหมดนี้ แม้ต่อเดือนอาจจะไม่เยอะ แต่หลายๆ เดือนรวมกันก็ไม่น้อยนะเออ


ภาพปกบล็อกสร้างโดย Midjourney AI v5.2

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า