เอาจริงๆ ผมคิดว่าผมศึกษาเรื่องโซลาร์เซลล์มาประมาณนึงแล้วก่อนที่จะตัดสินใจติดตั้ง แต่ก็อย่างที่คาดครับ ถ้าไม่ได้ใช้เองจริงๆ และต้องใช้ซักพักนึงด้วย มันเอามาเล่าได้ไม่เต็มปาก ฉะนั้นผมเลยขอถือโอกาสเอาประสบการณ์ในการใช้จริงในสัปดาห์แรกมาเขียนเล่าสู่กันอ่าน เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนที่กำลังคิดอยากจะติดได้ทราบกันครับ
การผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ แท้จริงแล้วเป็นยังไง
การผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ก็ตามชื่อครับ คือ พลังงานไฟฟ้ามันมาจากแสงอาทิตย์ และมันก็ไม่ใช่ความร้อนของแสงอาทิตย์นะครับ แต่มันมาจากความเข้มของแสงอาทิตย์ ที่เขาวัดกันในหน่วย วัตต์ต่อตารางเมตร ซึ่งพวกแผงโซลาร์เซลล์เนี่ย เขาจะมีสเปกระบุเอาไว้ว่าจะผลิตไฟฟ้าได้กี่วัตต์ ซึ่งสเปกเนี้ย มันมาจากมาตรฐานที่ความเข้มของแสงอาทิตย์คือ 1,000 วัตต์ต่อตารางเมตร และอุณหภูมิของแผงอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ตารางด้านล่างเป็นตัวอย่างของตารางคุณสมบัติไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ยี่ห้อ Longi รุ่น HiMo5 ซึ่งมี 5 โมเดลย่อยอีก

แต่ในชีวิตจริง แสงอาทิตย์มันก็ไม่ได้จ้าตลอดทั้งวันถูกแมะ แล้วด้วยอากาศร้อนของประเทศไทย ระดับที่ว่ากลางวันของฤดูร้อนบางวันนี้ อุณหภูมิพุ่งไปได้ถึง 40-45 องศาเซลเซียส มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่แผงโซลาร์เซลล์จะรักษาอุณหภูมิของตัวเองไว้ได้ที่ 25 องศา ฉะนั้นโอกาสที่แผงโซลาร์เซลล์มันจะผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่นี่แทบไม่มีเหอะ นี่ยังไม่นับปัจจัยอื่นๆ เช่น ทิศทางของแสงอาทิตย์ที่แต่ละฤดูไม่เหมือนกัน เมฆและร่มเงาอื่นๆ ที่จะมาบดบังแสงอาทิตย์ และตอนฝนตกที่จะทำให้โซลาร์เซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่อีกนะ

มาดูกราฟที่เกิดขึ้นกันจริงๆ ครับ ผมติดตั้งใจช่วงหน้าฝนแถมเป็นตอนที่พายุกำลังจะเข้า ตอนแรกก็กลัวว่าจะไม่มีกราฟสวยๆ มาให้ดู แต่ปรากฏว่าวันแรกหลังการติดตั้งนั่นแหละ ที่ดูจะแสงแดดดี ไร้เมฆมาบัง จะเห็นว่ากราฟแสดงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ มันจะมีลักษณะเป็นรูปโค้งระฆังคว่ำครับ ชาวสถิติจะคุ้นกับกราฟการแจกแจงปกติ (Normal distribution) คือแบบนี้เลย ไฟฟ้าจะเริ่มผลิตได้ตั้งแต่แสงแรกของดวงอาทิตย์ประมาณซัก 5:50 นาฬิกา แล้วไปสิ้นสุดแถวๆ พระอาทิตย์ตกดิน ประมาณ 18:30-18:45 แล้วแต่ช่วงฤดู โดยจะผลิตได้สูงสุดแถวๆ ช่วง 11:00-13:00 ครับ แต่ก็อย่างที่เห็น ขนาดผมติดโซลาร์เซลล์ 5 กิโลวัตต์ (kW) กำลังผลิตสูงสุดที่ทำได้กลับอยู่แถวๆ 3.6 กิโลวัตต์เอง (แต่จากสัปดาห์ที่ผ่านมา แผงโซลาร์เซลล์ที่ผมติดตั้ง เคยผลิตได้พีคสุด 4.4 กิโลวัตต์ครับ)
แล้วการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจริงๆ มันเป็นยังไง? โซลาร์เซลล์ช่วยเราได้ตอนไหน
ข้อดีของการติดตั้ง Inverter ที่แถมพ่วงมาให้คือ มันช่วยตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเราได้ด้วย ฉะนั้น ถ้าเราดูแบบเต็มยศ เราจะสามารถดูกราฟของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (เขาเรียก PV output) การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (Consumed from PV) และการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด (Total consumption) ในกราฟเดียวได้

อย่างที่บอกไปตอนแรก การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ถ้ามันเป็นไปตามอุดมคติจริงๆ มีแดดทั้งวัน เราจะได้กราฟโค้งระฆังคว่ำ แต่การใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ถ้าสังเกตให้ดีๆ เราจะเห็นกราฟมันเหวี่ยงอยู่บ้างครับ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของบ้านผม มันจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
1️⃣ การใช้ไฟฟ้าแบบประจำ ซึ่งมักจะมาจากพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดอยู่ตลอดเวลา อย่างในกรณีของผมคือ ตู้เย็น 2 เครื่อง แล้วก็แร็กเซิร์ฟเวอร์ที่มีทั้งสวิตช์ เราเตอร์ และ QNAP NAS อีก 2 ตัว อะไรพวกเนี้ยมันจะรวมๆ กันแล้วกินไฟประมาณนึง ค่อนข้างคงที่
2️⃣ การใช้ไฟฟ้าแบบไม่ประจำ แต่เปิดยาวๆ ซึ่งมักจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก หลอดไฟ พัดลม แอร์ คอมพิวเตอร์ และทีวี ซึ่งในพวกเนี้ย ที่ต้องระวังที่สุดจริงๆ คือแอร์ครับ เพราะกินไฟที่สุดแล้ว แต่ถ้าใครชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วย นี่หนักกว่าแอร์อีกนะครับ 🤣🤣 การชาร์จพวกแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน นี่แทบไม่ต้องเอามาคิด กินไฟน้อยมาก
3️⃣ การใช้ไฟฟ้าแบบไม่ประจำ และใช้เป็นระยะสั้นๆ เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น เตารีด ไมโครเวฟ ฯลฯ พวกนี้คือ เราจะมีการใช้ประปราย ไม่นานมาก อาจจะไม่กี่นาทีไปจนถึงอย่างมากก็ 10 นาที แต่มันโคตรกินไฟเลยครับ พวกนี้จะทำให้การใช้ไฟฟ้ามันพุ่งปรี๊ดเป็นหนาม (Spike) อยู่เป็นช่วงๆ ได้

โซลาร์เซลล์มันก็จะเข้ามาช่วยจ่ายไฟฟ้าให้เราไปใช้โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่เฉพาะไฟฟ้าจากการไฟฟ้าทั้งหมดครับ ถ้าเกิดมีช่วงไหนที่เราใช้ไฟฟ้าเกินกว่าที่โซลาร์เซลล์จะผลิตได้ Inverter มันก็จะไปดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาเสริมเอง แต่หากมีช่วงไหนที่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่าที่จะใช้งาน แล้วเรามีการทำเรื่องขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าเอาไว้ ไฟฟ้าที่ผลิตเกินก็เอาไปขายคืนการไฟฟ้าให้โดยอัตโนมัติได้อีก
การคำนวณจุดคุ้มทุนของการติดตั้งโซลาร์เซลล์
หลายคนพิจารณาว่าจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ดีไหม ดูจากจุดคุ้มทุนครับ เพราะว่าค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์นี่ถือว่าไม่ถูกนะครับ ส่วนใหญ่แล้วกำลังผลิต 5 กิโลวัตต์เนี่ยจะตกอยู่ราวๆ 200,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT แล้ว ทีนี้จะคุ้มมากหรือน้อยก็อยู่ที่ว่าปกติแล้วเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหนในแต่ละเดือน แล้วก็พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราเน้นไปที่กลางวันหรือกลางคืน
ภาพด้านล่างคือตารางข้อมูลการคำนวณจุดคุ้มทุนของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของบ้านผม ที่บริษัท Renewvation เขาคำนวณมาให้ครับ

แต่ละบริษัทก็อาจจะมีรายละเอียดในการคำนวณที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้ว เขาจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณดังนี้
💡ปริมาณการใช้ไฟฟ้าและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ถ้าเราให้ข้อมูลเขาได้เยอะมากแค่ไหน การคำนวณก็จะยิ่งแม่นยำขึ้น ค่าไฟฟ้าต่อเดือน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อเดือน พวกนี้ ถ้าจะให้ดีเราควรมีข้อมูลเฉลี่ยย้อนหลังให้เขาซัก 1 ปีจะดีมาก และหากเราทำการจดเลขมิเตอร์เอาไว้ว่าช่วงกลางวัน 9:00 – 15:00 มีการใช้ไฟฟ้าแค่ไหน เราก็สามารถเอามาคำนวณสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันได้แม่นยำขึ้น ซึ่งในกรณีของผม ผมมีข้อมูลให้เขาน้อย เขาก็เลยใช้ข้อมูลจากบิลค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุดไปใช้แทน และตีกลมๆ ว่าตอนกลางวันและตอนกลางคืน ผมใช้ไฟเท่าๆ กัน
💡ขนาดกำลังผลิตและพลังงานที่คาดว่าจะผลิตได้ในแต่ละเดือน ต้องบอกว่าตัวเลขที่เขามักจะใช้กัน จะเป็นตัวเลขแบบมองโลกในแง่บวกครับ แต่ในทางปฏิบัติจริงมันมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องเยอะมาก อย่างในกรณีของผม วันที่ผลิตได้ดีสุดในรอบสัปดาห์แรกที่ติดตั้งมาคือ 25.67 กิโลวัตต์ เท่านั้นเอง ถ้าเอาจากข้อมูลจริง เฉลี่ย 7 วันที่ผ่านมา (3 – 9 มิ.ย. 2566) เฉลี่ยผลิตไฟฟ้าได้วันละ 20.38 กิโลวัตต์ ครับ โดยผลิตได้ต่ำสุด 12.93 กิโลวัตต์ นี่คือ ยังไม่เจอช่วงที่พายุเข้าจริงๆ ด้วยนะครับ ซึ่งถ้าพายุเข้าจริงๆ แบบทั้งวันทั้งคืน น่าจะผลิตได้น้อยกว่านี้อีก
💡ปริมาณไฟฟ้าที่ขายคืนให้กับการไฟฟ้า ซึ่งต้องทำใจสองเรื่องเลย คือ ในขณะที่เราใช้ไฟฟ้าในราคาหน่วยละประมาณ 4.7 บาท (เป็นค่าเฉลี่ยโดยประมาณ เพราะค่าไฟจะคิดแบบขั้นบันได้ ใช้น้อยค่าไฟจะถูกกว่าใช้เยอะ) เราจะขายไฟฟ้าคืนได้แค่หน่วยละ 2.2 บาทเท่านั้น และในทางปฏิบัติจริง การผลิตไฟฟ้าได้จริงในแต่ละวันแต่ละเดือน และการใช้ไฟฟ้าในบ้านของเราจริงๆ ในแต่ละวันแต่ละเดือน อาจจะไม่เท่ากับที่คำนวณได้
เช่น ที่บ้านผม มันจะมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอยู่สองรูปแบบหลักๆ คือ วันธรรมดา ที่มีแค่แม่อยู่บ้าน ส่วนผมกับภรรยาจะไปทำงาน กับ วันหยุดและวันที่ Work from Home ที่แม่กับ ผม และ/หรือ ภรรยา จะอยู่บ้านทำงาน ครับ ถ้าเป็นวันธรรมดา จะมีกราฟประมาณในรูปด้านล่าง (กราฟเส้นสีแดง) ซึ่งเมื่อเอาไปทาบกับกราฟคาดการณ์การผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ (กราฟสีเหลือง) แล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าตอนกลางคืนมากกว่า เพราะเปิดแอร์ ส่วนตอนกลางวันแม่ไม่ได้เปิดแอร์ตอนอยู่บ้าน ก็จะผลิตไฟฟ้าแบบเหลือๆ เลย

แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นการใช้ไฟฟ้าในช่วงวันหยุดหรือ Work from Home เนี่ย ผมจะมีการเปิดแอร์ที่ห้องนอนซึ่งเป็นห้องทำงานไปในตัวด้วย มันก็จะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาเยอะเลยครับ จากประมาณ 0.5 – 0.6 กิโลวัตต์ มาเป็น 2 กิโลวัตต์ และมีจังหวะพุ่งขึ้นไปแถวๆ 3.5 – 4 กิโลวัตต์ ด้วย ช่วงที่แอร์ทำงาน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ค่อนข้างคุ้มอยู่

ผมเก็บข้อมูลตลอด 7 วันที่ผ่านมา พบว่าผมใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 244.81 กิโลวัตต์ (หรือ หน่วย) และใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไป 87.32 กิโลวัตต์ หรือคิดเป็น 35.67% ครับ โดยการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้งหมดเนี่ย ถูกนำไปใช้ 57.70% นั่นหมายความว่ายังมีอีก 42.30% ที่ไม่ได้ถูกใช้ และควรถูกขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ เมื่อเขาอนุมัติเรื่องการขายไฟฟ้าคืน
ถ้าพฤติกรรมก็ยังคงจะประมาณนี้ต่อไป ก็จะเท่ากับว่าประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ราวๆ 30% – 40% นี่แหละ แล้วแต่ว่าพฤติกรรมจะค่อนไปทางไหน และยังมีการขายไฟฟ้าคืนได้อีก ดังนั้น หากเอาข้อมูลการใช้งานไฟฟ้าเดือนล่าสุดของผมมาคำนวณ ก็จะได้แบบนี้
*️⃣ ประหยัดค่าไฟได้ 35% (ปัดกลมๆ กลางๆ) เดือนล่าสุดผมใช้ไป 970 หน่วย ก็เท่ากับประหยัดไป 339.5 หน่วย หรือ 1,595.65 บาท
*️⃣ ขายไฟฟ้าคืนได้ 40% (ปัดกลมๆ ปัดเศษลง) วันนึงผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 20 หน่วย เดือนนึงมี 30 วัน ก็ 600 หน่วย ดังนั้น 40% ก็คือ 240 หน่วย ขายไฟฟ้าคืนได้หน่วยละ 2.2 บาท ก็เป็นเงิน 528 บาท เงินจำนวนนี้ ก็จะถูกเอาไปหักออกจากค่าไฟฟ้าของผม
ฉะนั้น ผมก็จะประหยัดเงินได้ประมาณเดือนละ 2,123.65 บาท หรือปีละ 25,483.80 บาท ถ้าค่าติดตั้งคือ 200,000 บาท ผมก็จะคืนทุนในราวๆ 7 ปี 10 เดือน ครับ แต่นี่ก็ต้องบอกว่า มันคือข้อมูลที่ได้จากเดือนที่เป็นหน้าฝน แต่หน้าร้อนและหน้าหนาว ก็น่าจะผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่านี้ แต่มันก็จะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ตัวเลขแตกต่างกันออกไป เช่น หน้าร้อนอาจจะใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากกว่า ก็จะทำให้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดค่าไฟได้มากกว่า ส่วนหน้าหนาวอาจจะผลิตไฟฟ้าได้ดี แต่การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอาจจะน้อยกว่า เพราะอากาศเย็น หรือ เดือนอื่นๆ ผมกลับใช้ไฟน้อยกว่า 970 หน่วย เป็นต้น แต่เบื้องต้น ขอบันทึกไว้ก่อนว่า จากข้อมูล 7 วัน ผมน่าจะคืนทุนใน 7 ปี 10 เดือน
แบบไหนถึงจะเรียกว่าใช้โซลาร์เซลล์คุ้ม
คำว่าคุ้มค่าก็อยู่ที่แต่ละคนว่าจะนิยามเอาไว้ว่ายังไง แต่สิ่งที่ผมอยากย้ำให้ท่านผู้อ่านทุกคนที่อ่านบล็อกของผมทราบเอาไว้คือ การติดโซลาร์เซลล์ไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังกำไร ดังนั้นอย่าติดเพราะกะว่ามันจะทำกำไรให้คุณเท่านั้นเท่านี้บาท การติดโซลาร์เซลล์มันคือการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับบ้านของคุณครับ มันทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าว่าจะพุ่งขึ้นไปแค่ไหน ไม่ต้องกังวลว่าปีหน้าร้อนกว่านี้ เปิดแอร์หนักกว่านี้ ค่าไฟจะกระอักขนาดไหน ใครที่เทียบค่าไฟฟ้าของปี 2565 กับ ปี 2566 จะเห็นได้ชัดว่าค่าไฟฟ้ามันแพงขึ้นแค่ไหน ทั้งราคาต่อหน่วยและจำนวนหน่วยที่เราใช้ไปช่วงหน้าร้อนนี้
โดยทั่วไปแล้ว จะติดโซลาร์เซลล์ให้คุ้ม ก็คือ คุณจะต้องกะให้ว่าการใช้ไฟฟ้าของเราคือเยอะพอที่จะทำให้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เป็น 100% ครับ คือ โซลาร์เซลล์ผลิตได้เท่าไหร่ เราใช้หมด เพราะค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายมันแพงกว่าค่าไฟฟ้าที่เราได้จากการขายคืนเป็นเท่าตัว
แต่ในกรณีของผม ผมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพราะว่าผมต้องการความมั่นคงทางพลังงาน ไม่ต้องกังวลว่าเกิดในอนาคตค่าไฟจะแพงขึ้นแล้วจะเป็นยังไง และในขณะเดียวกัน วันไหนที่ผมจำเป็นต้องใช้ไฟมากๆ กำลังผลิต 5 กิโลวัตต์มันก็จะยังรองรับได้อยู่ ซึ่งจากการคำนวณของผมเนี่ย ถ้าผมเปิดแอร์ที่ห้องนอน (33,000BTU) กับแอร์ที่ห้องนอนแม่ (12,000BTU) ก็น่าจะปริ่มๆ หรือ เกินกำลังการผลิตของโซลาร์เซลล์ไปนิดๆ แต่นั่นก็เท่ากับว่าผมจ่ายค่าไฟฟ้าลดลงไปเยอะแหละครับ คุ้มอยู่ สำหรับผม
คุณต้องหานิยามคำว่าคุ้มของคุณด้วย หลังไมค์กันมาได้ครับ หากอยากถามข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากได้เบอร์ติดต่อบริษัท Renewvation ที่ผมใช้บริการ
สนับสนุนบล็อกของผมกันได้นะครับ
ใครชอบใจบล็อกนี้อยากจะสนับสนุน สามารถทำได้ง่ายๆ แค่ไปที่ https://www.facebook.com/kafaakBlog/support/ นะครับ
เดือนละ 35 บาทเอง คิดซะว่าเลี้ยงกาแฟผม