Home>>รีวิว>>เปรียบเทียบ Segway-Ninebot Kickscooter P65U กับ MAX G2 ในมุมมองของผม
ภาพปกบล็อกเป็นรูปของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 และ P65U เปรียบเทียบกัน มีข้อความที่เขียนว่า รุ่นไหนใช่สำหรับคุณ แบ็กกราวด์เป็นภาพของถนนที่สองข้างทางเป็นต้นไม้จำนวนมาก
รีวิว

เปรียบเทียบ Segway-Ninebot Kickscooter P65U กับ MAX G2 ในมุมมองของผม

เอาจริงๆ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter P65U กับ MAX G2 เนี่ย เป็นสองรุ่นที่ถูกวางตำแหน่งการตลาดอยู่คนละส่วนกันนะ ตัว P65U เนี่ย มันอยู่ในตลาดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ส่วน MAX G2 เนี่ย เป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในตลาดปกติ แต่ประเด็นคือ P65U เนี่ย มันก็เรียกว่าเป็นรุ่น Entry-level สำหรับพวกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ในขณะที่ MAX G2 นี่ก็เรียกว่าเป็นรุ่น High-end ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในตลาดปกติ ราคาของสองรุ่นนี้ก็ต่างกันประมาณ 11,000 บาท สเปกมันก็มีข้อดีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ถ้าจะต้องซื้อไว้ใช้ซักคัน บางคนก็อาจจะมีลังเลได้เหมือนกันนะ ในฐานะที่ผมได้ลองขี่ทั้งสองรุ่นมาพักใหญ่ๆ แล้ว ผมก็จะขอเปรียบเทียบสองรุ่นนี้ให้ได้อ่านกันจากมุมมองของผมครับ

เลือก P65U ถ้าต้องการสกู๊ตเตอร์ที่เร็วและแรง เพราะ MAX G2 ยังไปไม่ถึงจุดนั้น

ถ้าว่ากันตามสเปก ความเร็วสูงสุดของ Segway-Ninebot Kickscooter P65U คือ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วน MAX G2 นี่ตามสเปกคือ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่สามารถปลดล็อกความเร็วให้กลายเป็นสูงสุด 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ ดูๆ แล้ว มันก็ต่างกันแค่ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้นเอง อาจจะดูเหมือนไม่เยอะ แต่ผมต้องบอกเลยว่ามันต่างแบบรู้สึกได้จริงๆ ครับ

ถ้ามองในแง่ความเร็วและอัตราเร่งแล้ว P65U จะเหนือกว่า MAX G2 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

🛴 ความเร็วสูงสุดโดยรวมในแต่ละโหมดของ P65U ทำได้ดีกว่า MAX G2 โหมด S คือ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง vs 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง โหมด D คือ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง vs 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าลงถนนและจำเป็นต้องเร่งแซงพวกรถเมล์หรือแท็กซี่ที่จอดรับผู้โดยสาร P65U คือ มองรถขวาแล้วเบี่ยงออกมาแซงได้อย่างมั่นใจกว่าเยอะมาก ผมลองขี่มาแล้ว ความเร็วระดับ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าเร็วพอสมควรเวลาการจราจรชะลอตัว ส่วน 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง เนี่ย มันปริ่มเกินไป

🛴 มอเตอร์ของ P65U แรงกว่าของ MAX G2 ชัดเจนมาก ขึ้นสะพานชันๆ หรือ ต้องเร่งขึ้นสะพานจากตีนสะพาน อะไรแบบนี้ ทำได้ดีกว่า MAX G2 ชัดเจน ถ้าวิ่งมาแต่ไกลจะขึ้นสะพานได้แบบความเร็วแทบไม่ตก แต่ถ้าขึ้นจากตีนสะพาน ก็ยังจะสามารถเร่งความเร็วขึ้นได้ ผิดกับ MAX G2 ที่ความเร็วจะตกอย่างเห็นได้ชัด และหากขึ้นจากตีนสะพานก็จะเร่งความเร็วได้ไม่มาก

🛴 อีกเรื่องนี้ที่ต้องโน้ตไว้ก่อนคือ ด้วยความที่การปลดล็อกความเร็วสูงสุดของ MAX G2 เป็นแบบใช้แอปช่วยปลดล็อก มันก็เลยยังไม่ข้อจำกัดหลักๆ 2 เรื่อง คือ (1) ความเร็วโหมด D มันก็ยังคงอยู่ที่ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันแตกต่างจากความเร็วสูงสุดที่ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมงมากไปหน่อย และ (2) ความเร็วโหมด S ที่อยู่ที่ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งพอแบตเตอรี่ตกลงมาเหลือซักต่ำกว่า 50% มันจะเหลือ 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่ายังโอเค แต่ถ้าเกิดเราปิดสกู๊ตเตอร์ แล้วเปิดใหม่ ความเร็วสูงสุดจะถูกปรับกลับไปที่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลย ซึ่งไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี คนทั่วไปที่ขี่ระยะไม่เกิน 20 กิโลเมตรแล้วชาร์จแบตเตอรี่ จะไม่สังเกตถึงเรื่องนี้ เพราะว่าในระยะนี้ แบตเตอรี่จะยังไม่ได้ไปถึงต่ำกว่า 50%

มองในแง่ระยะทางสูงสุดที่วิ่งได้ ในความเร็วที่ไม่อืดมาก P65U และ MAX G2 ทำได้พอๆ กัน แต่ MAX G2 จะได้เปรียบตรง เบากว่า ขี่นิ่มกว่าเพราะมีโช้ก

พอจะเขียนถึงเรื่องนี้ ก็ทำให้นึกได้ว่าผมยังไม่ได้ลองขี่ Segway-Ninebot Kickscooter P65U ด้วยความเร็วสูงสุด 40 กิโลเมตร ว่าทำระยะทางสูงสุดได้จริงๆ เท่าไหร่ เพราะผมขี่อยู่แถวๆ 18-20 กิโลเมตรแล้วก็ชาร์จซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าจะเทียบที่ความเร็วสูงสุด 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง (โหมด Drive) ซึ่งเท่ากับความเร็วสูงสุดหลังปลดล็อกของ MAX G2 ก็ต้องบอกว่าทั้งคู่ทำระยะทางได้ใกล้ๆ กันครับ คือ น่าจะแถวๆ 35-40 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวผู้ขี่ สภาพเส้นทางที่วิ่ง ฯลฯ

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 จอดอยู่บริเวณเชิงสะพานข้างคลองที่ค่อนข้างชัน

สำหรับคนที่ต้องการวิ่งในระยะไม่ไกลมาก (ประมาณไม่เกิน 20 กิโลเมตร) ในแต่ละเที่ยว แล้วมีเวลาซัก 3-4 ชั่วโมงในการชาร์จแบตเตอรี่ หรือ ต้องขี่ยิงยาวแบบ 35 กิโลเมตรเลย แต่ก็มีเวลา 4-6 ชั่วโมงในการชาร์จ อะไรแบบนี้ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ดูจะมีภาษีดีกว่า เพราะขี่ได้นิ่มกว่ามาก สภาพของเส้นทางมันจะขรุขระหน่อย ก็ไม่ต้องห่วงอะไร

Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ขี่นิ่มกว่ามาก แต่ P65U แม้จะสะเทือนไตแต่ก็ไม่ได้แย่แฮะ

ถ้าวัดกันแค่ความนิ่มในการขับขี่ ก็ต้องบอกว่าเลยว่า MAX G2 นี่คือนิ่มสุดแล้วละครับ แต่ในฐานะที่ขี่ MAX G2 มาเดือนนึงจนเคยตัว (บอกเลย เคยตัวจริงๆ) แล้วก็เปลี่ยนกลับมา P65U เลย (แบบว่า ขี่ MAX G2 เอาไปคืน MONOWHEEL แล้วขี่ P65U ที่ฝากเอาไว้กลับบ้าน) ก็รู้สึกได้ว่ามันสัมผัสได้ทุกความขรุขระของพื้นผิวถนนจริงๆ เลย แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดรู้สึกแย่นะ แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือพวกฝาท่อ พวกหลุมและเนินต่างๆ ที่มีความลึกหรือสูงประมาณนึง หากจำเป็นต้องขี่ขึ้นหรือลงฟุตบาท ถ้าทางขึ้นและลงมันไม่ได้ราบเรียบสนิทจริงๆ ก็จะสะเทือนได้ประมาณนึง ไม่นิ่มเหมือน MAX G2 ที่มีโช้กที่ดีมาก

ภาพจากมุมข้างล้อหน้าของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ขณะที่ล้อหน้าอยู่ตรงบริเวณฝาท่อบนถนน

ใครชอบนิ่มๆ บอกเลย MAX G2 คือคำตอบ แต่แลกมาด้วยความเร็วสูงสุดที่ถูกจำกัดไว้ที่ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าใครอยากได้ความเร็วสูงกว่านั้น ต้องทำใจกับ P65U ที่ไม่มีโช้ก หรือไม่ก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร เพื่อซื้อ Segway-Ninebot Kickscooter P100SU (78,900 บาท) แต่แม้ว่ารุ่นนี้จะมีโช้ก มันก็ยังไม่นิ่มเนียนเท่า MAX G2 นะ บอกเลย

น้ำหนักของ P65U กับ MAX G2 ต่างกันไม่กี่กิโลกรัม แต่ก็หนักกว่าแบบรู้สึกได้

ตามสเปกแล้ว Segway-Ninebot Kickscooter P65U หนัก 26.9 กิโลกรัม ส่วน MAX G2 นี่หนัก 24.2 กิโลกรัม ความต่างก็อยู่ที่ 2.7 กิโลกรัม ปัดกลมๆ ก็ประมาณ 3 กิโลกรัม ดูเหมือนไม่เยอะมาก ประมาณ 11% เอง แต่ในความเป็นจริง มันเป็นความแตกต่างของน้ำหนักในระดับที่รู้สึกได้มากๆ เลยนะครับ

ภาพท่อนล่างของผู้ชายใส่กางเกงยีนส์สีฟ้า แขนข้างซ้ายกำลังหิ้วสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter P65U ขึ้นบันไดสะพานลอยแคบๆ

อย่างไรก็ดี ถ้าเราแค่ต้องแบกขึ้น-ลงท้ายรถ เพื่อขับไปจอดที่อื่น แล้วเอาออกมาขี่เที่ยวเล่น แบบนี้อาจจะไม่รู้สึกเท่าไหร่ โดยเฉพาะถ้าเกิดเรายกด้วยแขนทั้งสองข้าง แต่ถ้าคุณเป็นแบบผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไปทำงาน ที่ต้องแบกขึ้นสะพานลอยบ้างล่ะ เอาเข้ารถไฟฟ้า BTS หรือ MRT ที่อาจจะต้องมีพับหิ้วระยะสั้นๆ บ้างล่ะ มันจะรู้สึกได้เลยครับว่า MAX G2 นี่พับแล้วหิ้วได้สะดวกกว่า

ดังนั้น หากพฤติกรรมการใช้งานของใครเน้นใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในการเชื่อมต่อการเดินทาง แต่ในขณะเดียวกันก็อยากได้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ขี่แล้วนิ่ม เหมาะกับสภาพผิวการจราจรหลากหลาย และยังได้ระยะทางที่ค่อนข้างไกล Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 น่าจะตอบโจทย์กว่า

แบตเตอรี่ของ Segway-Ninebot Kickscooter P65U มีการระบายความร้อนที่ดีกว่า MAX G2

ปัญหาอีกเรื่องนึงของ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 คือ การระบายความร้อนของแบตเตอรี่ครับ ถ้าจอดตากแดดไว้นานๆ หรือ ขี่กลางแดดเป็นระยะทางไกลๆ ใช้ความเร็วสูงๆ จะมีโอกาสที่แบตเตอรี่มีความร้อนแล้วสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็จะร้องแจ้งเตือนเบาๆ ครับ ถ้าความร้อนของแบตเตอรี่สูงเกินไป ก็จะชาร์จแบตเตอรี่ไม่ได้ด้วย (เพราะการชาร์จแบตเตอรี่จะทำให้เกิดความร้อน และความร้อนที่สูงมากเกินไปมากๆ มันจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว)

ช่องสำหรับเสียบปลั๊กชาร์จไฟของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter P65U เป็นช่องแบบ 3 รูกลม

ดังนั้น MAX G2 จึงไม่เหมาะสำหรับการขี่ระยะยาวๆ ซัก 20-30 กิโลเมตร แล้วรีบเอามาชาร์จแบตเตอรี่เพื่อจะได้ขี่ต่อได้ไกลๆ ในอีก 2-3 ชั่วโมงข้างหน้าซักเท่าไหร่ครับ มันเหมาะกับการขี่ยาวๆ แล้วพักซัก 1 ชั่วโมง ให้แบตเตอรี่เย็นลงมาประมาณนึงก่อน ค่อยชาร์จแบตเตอรี่อีกซัก 2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยไปต่อ

แต่ถ้าเป็น P65U นี่คือ ขี่ยาวๆ มา ถ้าจำเป็นต้องชาร์จแบบด่วนๆ แล้วไปต่อ แล้วแวะจอดชาร์จไปเรื่อยๆ ตามทาง อะไรแบบนี้ คือสบายกว่ามากครับ การระบายความร้อนแบตเตอรี่น่าจะถูกออกแบบมาค่อนข้างดีกว่า ใครที่มีพฤติกรรมแบบนี้ P65U คือตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งคิดว่าปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ร้อนของ MAX G2 นี่ใหญ่โตมากนะครับ ถ้าคุณไม่ได้เป็นสายขี่ยิงยาว ขี่แทนการขับรถแบบผม ขี่แค่ทีละ 10 กิโลเมตรมาทำงาน จากนั้นก็พักยาวๆ เลิกงานค่อยขี่กลับ อะไรแบบนี้ คุณจะไม่ได้ทันรู้ตัวหรอกว่า MAX G2 มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ร้อนครับ

การติดอุปกรณ์เสริม Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ทำได้ง่ายกว่า P65U

ด้วยความที่ Segway-Ninebot Kickscooter P65U ถูกออกแบบมาเป็นสกู๊ตเตอร์ประสิทธิภาพสูง และออกมาหลังจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าค่อนข้างบูมมากแล้ว เขาก็มีการออกแบบมาให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้พอสมควร แต่มันก็มีข้อจำกัดครับ คือ ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมของมันก่อน เช่น ถ้าอยากติดกระจกมองข้าง ก็คู่ละ 890 บาท สำหรับของตรงรุ่น ถ้าอยากจะได้ตัวจับสมาร์ทโฟนหรือ Action camera ก็ต้องติดบาร์จับเสริม (ผมไม่มีรูปนะ) ซึ่งก็เอาไว้สำหรับติดตัวจับมือถือ Action camera หรือไฟหน้าเสริม ได้ แต่ไม่เหมาะกับการติดพวกสวิตช์สำหรับไฟเลี้ยวเสริม (เพราะโดยส่วนตัวผมมองว่าไฟเลี้ยวของ P65U มันยังมองเห็นยากสำหรับรถที่ตามมา)

ภาพด้านหลังแฮนด์ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter P65U ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเป็นกระจกมองข้างทั้งด้านซ้ายและขวา ถ่ายภายในพื้นที่ของศูนย์บริการ MONOWHEEL

กลับกัน MAX G2 นี่ ถ้าเราติดอุปกรณ์เสริมไม่มาก ดูจากภาพด้านล่าง จะเห็นว่ามันยังมีพื้นที่อยู่บนแฮนด์ทางด้านซ้ายทีพอจะติดอะไรก็ตามได้ซัก 1 ชิ้น เช่น บางคนอาจจะอยากติดตัวจับมือถือ หรือ Action camera ก็ทำได้เลย ไม่ต้องมาติดบาร์เสริมอะไร แต่ถ้าเกิดอยากจะติดหลายๆ ชิ้น ก็สามารถติดบาร์เสริมเพิ่งได้ครับ ไม่ยากเช่นกัน ไฟเลี้ยวก็ไม่ต้อง เพราะไฟเลี้ยวของ MAX G2 ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะให้รถด้านหลังเห็น

ภาพระดับสายตาจากบนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 เห็นคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และมือข้างขวาที่จับแฮนด์ข้างหนึ่งอยู่ ด้านหน้าเป็นสี่แยก

สำหรับคนเล่นของ พวกเน้นติดโน่น เสริมนี่ ผมว่า MAX G2 ตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าครับ

บทสรุปของผม เมื่อเทียบ Segway-Ninebot Kickscooter P65U กับ MAX G2

ตอนแรกที่ผมได้ลองขี่ MAX G2 แบบแว้บๆ ตอนงานเปิดตัว และสัปดาห์แรกๆ ที่ผมได้รีวิว ผมนี่นึกว่า เอาแล้ว P65U มันจะเอาอะไรไปสู้ ความเร็วที่สูงกว่า แต่ต่างกันแค่ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันเทียบไม่ได้กับความนิ่มของการขับขี่ที่ได้โช้กมาช่วยเสริมหรอก แต่พอได้ลองจริงๆ 1 เดือน แล้วได้กลับมาขี่ P65U อีกครั้ง ผมก็ยังรู้สึกว่า P65U มันก็ยังมีความโดดเด่นในตัวของมันอยู่นะ ซึ่งเป็นอะไรที่ MAX G2 ให้ไม่ได้ และการจะก้าวข้ามไปที่ P100SU มันก็ยังติดว่าราคาแพงขึ้นไปอีกพอสมควร (ประมาณว่าซื้อสกู๊ตเตอร์สเปกธรรมดาๆ ได้อีกคัน) น้ำหนักและขนาดก็เพิ่มขึ้นไปเยอะเลย

ถ้าใครยังอยากได้ความเร็วที่พอสำหรับการขับขี่บนถนนจริงๆ แบบอยากแซงรถเมล์หรือแท็กซี่ที่จอดรอผู้โดยสารได้ อยากได้อัตราเร่งสูงๆ ขึ้นสะพานชันๆ ได้ ความเร็วไม่ตก ได้ระยะทางที่ไกลพอสมควร Segway-Ninebot Kickscooter P65U ก็ยังตอบโจทย์ได้ดีกว่า MAX G2 มากอยู่ ในความเห็นของผมเอง

แต่ถ้าใครอยากได้ความสมดุล ทั้งในแง่ของความเร็ว ความนิ่มนวลในการขี่ และน้ำหนักในการแบกหิ้ว MAX G2 คือคำตอบที่ลงตัวมากครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า