Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 นี่ถือว่าเป็นรุ่นที่ถูกถามถึงมากเมื่อตอนที่เปิดตัวในต่างประเทศว่าจะเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทยไหม และในที่สุด MONOWHEEL ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว นำเข้ามาจนได้ และหลังจากที่ได้ยืมมาขี่ยาวๆ ราวๆ สองสัปดาห์แล้ว ขี่ไปเกิน 200 กิโลเมตร ทั้งแบบขี่ยิงยาว และขี่ไป-กลับที่ทำงาน ก็ได้เวลาเอาประสบการณ์ในการขี่มาเล่าสู่กันอ่านครับ
พูดถึงสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ก่อน
ด้วยความที่ยืมตัว Demo unit มาเลย ก็ไม่แน่ใจว่าแกะกล่องแล้วจะได้อะไรบ้างนะครับ แต่จากประสบการณ์ที่เคยแกะกล่องมา มันก็จะมีน็อตสำหรับขันล็อกคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และประแจหกเหลี่ยมแบบเป็นรูปตัวแอลมาให้ เพราะตอนอยู่ในกล่อง เขาจะไม่ได้ประกอบคอเอาไว้ให้ครับ

ดีไซน์โดยรวมของ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 นี่จะคล้ายๆ กับรุ่น MAX G30 ที่จำหน่ายอยู่เดิมครับ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ แฮนด์ที่มีความกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ล้อหน้าและล้อหลังที่มีโช้กมาให้ ซึ่งนั่นก็ทำให้ความสูงของแฮนด์เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย (ตามสเปกคือประมาณ 8%) ตัวรถก็มีความยาวขึ้นอีกหน่อย


ในส่วนล้อของ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ก็ยังเป็นล้อยางลมแบบไม่มียางในขนาด 10 นิ้วอยู่ และมีสารกันรั่วซึมที่ทำให้แม้ว่าเราจะเกิดอุบัติเหตุ โดนตะปูหรืออะไรทิ่มตำ หากแผลไม่ใหญ่เกินกว่าสเปกเนี่ย ยางก็จะไม่รั่วเพราะเจ้าสารนี่มันจะไปเคลือบอุดรูรั่วได้ครับ อันนี้ผมเคยทดสอบโดยไม่ได้ตั้งใจมาแล้วกับรุ่น MAX G30
ที่เพิ่มเข้ามาก็คือโช้กล้อหน้าและล้อหลังเลย โดยล้อหน้าจะเป็นโช้กแบบไฮดรอลิก ส่วนล้อหลังจะเป็นโช้กแบบสปริงคู่ ซึ่งเราสามารถปรับตั้งความนิ่ม-แข็งของโช้กล้อหลังได้ด้วย ปรับได้ไม่ยาก แต่ในการรีวิวนี้ ผมจะทดสอบด้วยการปรับแต่งที่ผมได้มาตั้งกะตอนที่ได้รับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคันนี้มาลองเลยนะครับ ซึ่งผมลองขี่แล้วก็รู้สึกว่ามันโอเคแล้วสำหรับผม แต่ถ้าใครคิดว่าอยากให้โช้กมันนิ่มกว่านี้ หรือแข็งกว่านี้ ก็ปรับแต่งได้แหละ
งวดนี้เขาเลิกใช้กระดิ่งแบบเดิมแล้วครับ แต่เปลี่ยนไปใช้แตรไฟฟ้าแทน ตรงฐานคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแทนครับ ซึ่งความดังก็มีพอสมควร แต่เอาตรงๆ นะ ผมว่าเสียงแตรไฟฟ้าของ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 นี่มันดูไม่เป็นแตรซักเท่าไหร่




วกขึ้นมาดูตรงแฮนด์ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากันบ้างครับ โดยรวมๆ เนี่ย มันก็จะคล้ายๆ กับแฮนด์แบบเดิมของรุ่น MAX แหละ แต่ความแตกต่างมี 2 จุดใหญ่ คือ ตรงปลายสองด้านของแฮนด์มันเป็นไฟเลี้ยงแบบ LED ที่มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นไปตามมาตรฐาน E-MARK ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านชิ้นส่วนประกอบของพวกยานยนต์ของสหภาพยุโรป มีความสว่างค่อนข้างมาก และสามารถเห็นได้ในมุม 80 องศา และมีปุ่มแตรไฟฟ้า กับปุ่มไฟเลี้ยวอยู่ตรงบริเวณแฮนด์ด้านขวา ในตำแหน่งที่นิ้วโป้งสามารถกดได้ค่อนข้างง่ายมากเลย

แฮนด์ด้านขวา ก็ยังมีตัวห่วงล็อก เอาไว้คล้องกับสลักที่อยู่ตรงบริเวณบังโคลนของล้อหลัง เพื่อพับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 เก็บเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อให้สามารถหิ้วได้ค่อนข้างสะดวก
ตัวแดชบอร์ด ยังมีลักษณะคล้ายๆ ของ MAX G30 แต่ความแตกต่างก็คือมันเพิ่มสัญลักษณ์ของไฟเลี้ยวเข้ามา เพื่อแสดงว่าเรากำลังเปิดไฟเลี้ยวอยู่แหละ
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ บริเวณคอของตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มันมีการติดแผ่นพลาสติกสะท้อนแสงเอาไว้สามด้านเลย คือ ด้านหน้า ด้านซ้ายและด้านขวา ก็เพื่อให้รถได้เห็นเราชัดทั้งกลางวันและกลางคืนแหละ

ไฟหน้าก็อยู่ตรงบริเวณด้านใต้ของแดชบอร์ดเหมือนเดิมครับ เป็นหลอดไฟกำลัง 2.1 วัตต์ ตามมาตรฐาน E-MARK ประเภท E32 ที่เป็นมาตรฐานจากสหภาพยุโรปสำหรับรับรองมาตรฐานของระบบไฟส่องสว่าง ตามสเปกเขาบอกว่าส่องสว่างได้ไกลสุด 13.5 เมตรเลยทีเดียว เพื่อให้เราสามารถขับขี่ตอนกลางคืนได้อย่างมั่นใจ ไม่ใช่แค่เห็นถนนได้ชัดนะ แต่ก็เพื่อให้รถคันอื่นเห็นเราด้วยเช่นกัน

ไฟท้ายของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 นี่คือใหญ่เบิ้มครับ รุ่นหลังๆ ไฟเขาใหญ่แบบนี้แหละ ดีงามมาก อย่างไรก็ดี ณ ตอนที่ผมรีวิวอยู่ มันไม่สามารถตั้งเปิดตอนกลางวันได้นะครับ ไฟท้ายจะติด 2 กรณี คือ ตอนเราเบรกรถ และตอนที่เราเปิดไฟหน้า ไฟท้ายมันก็จะติดขึ้นมาโดยอัตโนมัติด้วยเลย
คอของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ก็ได้อัปเกรดเป็นตัวล็อกแบบใหม่ที่ใช้กับรุ่นใหม่ๆ อย่าง P65U หรือ P100SU แล้ว วิธีการปลดล็อก ก็ตามที่เห็นในวิดีโอด้านบนเลยครับ ต้องขออภัยที่มุมกล้องอาจจะดูแปลกๆ เพราะถ่ายทำคนเดียว ไม่มีทีมงาน 🤣🤣 แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าแม้มันจะล็อกได้ค่อนข้างแน่น แต่การปลดล็อกนี่ถือว่าทำได้ไม่ยากครับ


ตรงบริเวณด้านขวามือของท้ายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มันจะมีพอร์ตสำหรับชาร์จแบตเตอรี่อยู่ครับ รุ่นนี้ก็ยังเหมือนเคย คือ ตัวอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่เป็นแบบ Built-in และรองรับการชาร์จสองแบบ คือ แบบ Quick charge ที่ใช้แค่สายไฟ AC แบบ 3 รู ที่สามารถหาได้ทั่วไป (และเขาก็แถมมาให้นะ) กับหัวชาร์จแบบ DC หัวกลมที่ใช้กับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter รุ่นเล็กอย่าง ES2, E25, D-sereis และ F-series ซึ่งจะเป็นการชาร์จแบบช้า เอาจริงๆ ผมก็ไม่ค่อยได้ใช้การชาร์จแบบนี้ซักเท่าไหร่นะ บอกเลย
สเปกคร่าวๆ ของ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ก็ประมาณนี้ครับ
สเปก | รายละเอียด |
---|---|
ความเร็วสูงสุด | ปกติ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปลดล็อกด้วยแอปแล้ว 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง |
ระยะทางต่อชาร์จ | 70 กิโลเมตร |
แบตเตอรี่ | ลิเธียมไอออน 15.3 Ah |
กำลังมอเตอร์สูงสุด | 900 วัตต์ |
ระบบเบรก | ล้อหน้า: ดรัมเบรก ล้อหลัง: เบรกไฟฟ้า |
ระบบโช้ก | ล้อหน้า: ไฮดรอลิก ล้อหลัง: สปริงคู่ |
อายุผู้ใช้ | 16 ปีขึ้นไป |
ส่วนสูงผู้ใช้ | 120 – 200 เซ็นติเมตร |
น้ำหนักผู้ใช้ | สูงสุด 120 กิโลกรัม |
น้ำหนักสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า | 24.2 กิโลกรัม |
จากประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาหลายรุ่นมากของยี่ห้อนี้ บอกได้เลยว่าระยะทางต่อชาร์จที่ระบุในสเปก มันคือระยะทางสูงสุดครับ ซึ่งน่าจะเป็นการประเมินจากเส้นทางราบ และอาจจะขี่ด้วยโหมด Eco ที่ความเร็วสูงสุดน่าจะ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่ระยะทางที่หลายๆ ท่านจะใช้งานจริงครับ ฉะนั้น ในการรีวิวก็เช่นเคย ผมก็จะขี่โหมด S ด้วยความเร็วสูงสุดที่ปลดล็อกด้วยแอปแล้ว คือ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเอามาเล่าให้อ่านกันนะครับ อ้อ! ส่วนเรื่องน้ำหนักผู้ใช้ ตามสเปกบอกว่า 120 กิโลกรัม แต่ผมเคยลองขี่พร้อมกับแฟนผม น้ำหนักตัวสองคนรวมกันก็ประมาณ 140 กิโลกรัม ก็ยังพอไหวนะ แต่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาเรื่องลมยางด้วย และหากต้องขึ้นทางชันๆ ก็อาจจะไม่รอด
รีวิวประสบการณ์ใช้งาน Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2
เริ่มต้นขอพูดถึงเรื่องน้ำหนักของตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก่อนเลยครับ เพราะหนักกว่า MAX G30 เกือบ 6 กิโลกรัมเลยทีเดียว แต่สำหรับผมที่แบก Segway-Ninebot Kickscooter P100SU ที่หนัก 32.9 กิโลกรัมขึ้นสะพานลอยได้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันหนักอะไรมากนะ แต่ถ้าคุณใช้รุ่น MAX G30 อยู่ บอกเลยว่ามันหนักกว่าแบบรู้สึกได้ชัดแจ้งมาก

ด้วยความที่ตัวสกู๊ตเตอร์ที่ยาวขึ้นมาประมาณ 4 เซ็นติเมตร ก็ทำให้ผมคิดๆ อยู่ว่า มันจะยังสามารถเอาใส่รถยนต์แบบ Eco car ได้ไหม แบบ รถยนต์ของภรรยาผม Mitsubishi Mirage ที่ท้ายรถมีของอยู่เยอะอยู่แล้ว ปกติจะต้องเอามาวางตรงบริเวณที่วางเท้าของผู้โดยสารเบาะหลัง ซึ่งตอนรุ่น MAX G30 นี่ก็เรียกว่าแทบจะเต็มพื้นที่อยู่แล้ว แต่พอเอา Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ใส่ไป ก็แบบ โห มันพอดีแบบ เป๊ะๆ มาก คือ ยาวกว่านี้อีกนิดก็จะไม่มีที่พอแล้ว

ส่วนตอนหิ้วขึ้นและลงสะพานลอง ความยาวที่เพิ่มขึ้นมาเนี่ย ไม่ทำให้ตอนเดินขึ้นสะพานติดขัดอะไร แต่ตอนเดินลงสะพานเนี่ย มันมีปัญหานิดหน่อย คือ ปกติผมจะจับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าค่อนมาทางฐานของคอ เพื่อให้น้ำหนักของมอเตอร์ล้อหลังถ่วงและยกให้ล้อหน้าสูงขึ้น มันก็จะทำให้หิ้วสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าลงสะดวก แต่เขามีการติดตั้งแผ่นพลาสติกสะท้อนแสงเอาไว้ตรงแถวนั้น ทำให้การจับหิ้วไม่สะดวก ส่งผลให้ล้อหลังมันยกตัวได้ไม่สูงพอ พอเจอสกู๊ตเตอร์ที่ความยาวเพิ่มขึ้น ล้อหน้า (ที่ตอนหิ้วจะอยู่ด้านหลัง) มันก็เลยไปกระแทกกับขั้นบันไดบ่อยๆ หิ้วลงไม่ค่อยสะดวกนัก นอกจากต้องเกร็งแขนนิดนึง เพื่อยกให้สกู๊ตเตอร์สูงขึ้น


สำหรับหลายๆ คน ความเร็ว 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ถือว่าเร็วพอสมควรแล้ว แต่สำหรับอีกหลายๆ คนเช่นกัน 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงจะเรียกว่ากำลังดี ส่วนผมนั้น เคยคิดว่าความเร็ว 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง คือ โอเคแล้ว แต่พอได้ขี่ P65U จนเคยตัว บอกเลยว่า ความเร็วที่โอเคสุดสำหรับการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในกรณีที่จะขี่ริมถนนไปเรื่อยๆ เนี่ย คือความเร็วสูงสุด 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ครับ แต่ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ทำได้ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยังพอไหว ลองใช้แอป Speedometer บน iOS เพื่อจับความเร็วด้วย GPS แล้ว พบว่าความเร็วที่ทำได้อยู่ที่ 34 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าก็ได้ตามสเปกนะ

อย่างไรก็ดี ความเร็ว 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่เร็วมากพอที่จะแซงพวกรถเมล์ที่จอดรับ-ส่งคนแล้วกำลังจะออกตัวได้แบบเนียนๆ นะครับ ถ้าขี่ MAX G2 ละก็ แนะนำว่าถ้าไม่ใช่รถที่จอดอยู่นิ่งๆ หรือ รถเมล์ที่เพิ่งจะจอด เราควรขี่ตามๆ รถไปดีกว่า อย่าเปรี้ยวไปพยายามแซง คุณมันแรงไม่พอ บอกเลย

มอเตอร์ 900 วัตต์ ก็สามารถพาผมที่หนัก 72 กิโลกรัม ขึ้นสะพานชันๆ ได้สบายๆ อยู่ แต่ก็จะสังเกตได้ว่าความเร็วมันจะมีตกลงมาเล็กน้อย และหากเริ่มออกตัวตรงตีนสะพาน ถ้าสะพานชันมากๆ ก็อาจจะขึ้นได้ แต่ความเร็วก็จะเต่าระดับไม่ถึง 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะผิดกับ P65U ที่มอเตอร์แรง 1,080 วัตต์ ที่เวลาขึ้นสะพานชันๆ ระดับเดียวกัน สามารถขี่ขึ้นไปได้เนียนๆ ความเร็วไม่ตกเลย ต่อให้อาจจะเพิ่งเริ่มออกตัวตรงแถวๆ ตีนสะพานก็ตาม

ความรู้สึกในการขี่บอกเลยว่ารู้สึกสบายขึ้นและมั่นคงขึ้น ผมมองว่ามันมาจากสององค์ประกอบ อย่างแรกคือ ความสูงของแฮนด์ที่เพิ่มขึ้นมาและแฮนด์ที่มีความกว้างมากขึ้น และอย่างที่สองคือ การที่มันมีโช้กหน้าและหลังครับ ถ้าได้ลองขี่ลงถนนกันจะรู้สึกได้ว่าสภาพผิวถนนมันไม่ได้เรียบตลอดเวลา การมีโช้กจะช่วยให้การขี่นิ่มนวลมากขึ้น ตอนเข้าโค้ง การที่มีโช้กช่วยให้เข้าโค้งได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน แบบว่ารู้สึกได้เลย ประกอบกับการที่เราสามารถไปตั้งการปั่นพลังงานคืนกลับเมื่อผ่อนคันเร่ง ถ้าเราตั้งให้มันปั่นคืนเยอะสุด การผ่อนคันเร่งนี่ก็คือเบรกเราดีๆ นี่เอง ก็จะช่วยให้เราสามารถชะลอความเร็วเข้าโค้งได้แม่นยำขึ้นด้วย



พวกผิวถนนขรุขระประมาณนึง เส้นสีขาวที่เวลาขับรถผ่านแล้วจะสั่นตึกๆๆๆ หรือแม้แต่พวกฝาท่อบนผิวถนนที่น่ารำคาญมาก เพราะบางจุดนี่เขามีการลาดยางซ่อมถนนจนทำให้ผิวถนนดันสูงกว่าฝาท่อ กลายเป็นหลุมเล็กๆ ที่เวลาขี่สกู๊ตเตอร์มาจะต้องระวังพอสมควร การมีโช้กหน้าและหลังที่ดีและนิ่มๆ แบบ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 นี่ทำให้ขี่ผ่านอะไรแบบนี้ไปได้อย่างสะดวกสบายมากๆ เอาเป็นว่าเวลาขี่ผ่านนี่คือ ไม่ต้องลดความเร็วลงเลยครับ มันผ่านไปได้แบบสบายๆ


ส่วนลูกระนาด หรือ Bumper ขนาดใหญ่ ที่มักจะเจอตามลานจอดรถ หรือ ภายในหมู่บ้านจัดสรร ถ้าขี่มาแบบชะลอๆ ความเร็วซัก 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะผ่านไปได้แบบเนียนๆ นุ่มๆ เลยครับ แต่ถ้าเผลอขี่มาแบบจัดเต็ม 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เรียกว่าผ่านไปได้โดนรู้สึกได้ถึงแรงกระแทก แต่ก็ซอฟต์กว่าการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่มีโช้กเยอะมาก






ได้ลองขี่ไปสองร้อยกว่ากิโลเมตรครับสำหรับการรีวิวคราวนี้ ทั้งขี่ไปทำงาน เพื่อพิจารณาว่าเอามาขี่แบบลงถนน เส้นทางพระราม 2 – ดาวคะนอง – วงเวียนใหญ่ ที่เขากำลังมีทั้งก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินและทางด่วน ถนนหนทางก็แอบโหดๆ หน่อย การมีโช้กนี่เป็นยังไงบ้าง ก็บอกเลยว่ายอดเยี่ยมมากทีเดียว คล่องตัวมาก คือ ถนนสภาพแย่ๆ ก็ยังสามารถขี่ได้อย่างนิ่มนวล และด้วยความที่เป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มันก็จะมีความคล่องตัวมากกว่ามอเตอร์ไซค์อยู่พอสมควร เอาจริงๆ คือ ถ้าระยะทางไม่ไกลมาก ซัก 5-6 กิโลเมตร ถือเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียวในการเดินทาง และหากใครจะเชื่อมต่อด้วยรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะ BTS หรือ MRT ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ยังแบกขึ้นรถไฟฟ้าไหวอยู่
ทีนี้ ตามสเปกเขาบอกว่าสามารถวิ่งได้ไกลสูงสุด 70 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง อันนี้ผมเชื่อว่าสามารถทำได้จริงนะ แต่มันก็จะมีข้อจำกัดทั้งเรื่องความเร็วที่ขี่ สภาพอากาศ น้ำหนักของผู้ขี่ สภาพของเส้นทางที่วิ่ง โดยส่วนตัว ผมชอบเอาไปลุยของจริง ในความเร็วที่เราจะได้ใช้ประโยชน์จริงๆ มากกว่า ซึ่งในที่นี้ สำหรับ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ก็ต้องขอบอกเลยว่าคือความเร็วที่ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือ เอาขึ้นรถ Mitsubishi Mirage ที่ทำให้ผมได้รูปตอนเอาไปวางไว้ตรงที่วางเท้าของผู้โดยสารเบาะหลังนั่นแหละ แล้วไปลองขี่ตะลอนๆ ยาวๆ แถวๆ บางขุนเทียนชายทะเล-สะพานแดง-ศาลพันท้ายนรสิงห์ ดูครับ

และนี่คือบทสรุปที่ผมได้จากการขี่ยาวๆ ที่ผมเรียกว่า Stress test ในการทดสอบบนสภาพท้องถนนจริง ในระยะทางที่ยาวมากๆ ขี่ในลักษณะการใช้งานจริงๆ เลย มีทั้งถนนขรุขระ สะพานชันๆ และต้องขี่ๆ หยุดๆ บ้าง (เพื่อถ่ายรูปเอามาประกอบไง)
🛴 ความเร็วสูงสุด 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จริง แต่พอแบตเตอรี่เหลือซัก 50% จะเริ่มรู้สึกได้แล้วว่าความเร็วมันตกลงมาเหลือ 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะลงไปเหลือราวๆ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อแบตเตอรี่เหลือต่ำกว่า 30% แต่เงื่อนไขคือ เราห้ามปิดสวิตช์ดับเครื่องสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านะครับ มีคนบอกผมว่า หากเราปิดสวิตช์ดับเครื่องสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแล้ว หากแบตเตอรี่เหลือต่ำกว่า 50% พอเราเปิดใช้งาน ความเร็วสูงสุดจะกลับไปที่ไม่เกิน 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันนี้ผมยังหาจังหวะลองไม่ได้ เพราะถ้าออกไปขี่ไกลๆ แล้วทำแบบนี้ ความเร็วตกลงไปเยอะ มันน่ารำคาญ 🤣🤣
🛴 ระยะทางที่ทำได้สูงสุด แบบเซฟๆ ในกรณีที่ขี่ยิงยาวมาเลยคือ 35-36 กิโลเมตร ครับ แบตเตอรี่จะเหลือราวๆ 3% – 5% เลย แต่มีคนขี่รีดไปจนได้ถึงระดับ 40 กิโลเมตรนะ อันนี้อยู่ที่น้ำหนักตัวคนขี่ เส้นทาง และอื่นๆ อีกมากมาย คำแนะนำของผมคือ ถ้ากังวล คุณควรวางแผนเส้นทาง แล้วลองขี่ยิงยาวแบบผม เพื่อดูว่าสำหรับตัวคุณแล้ว สามารถรีดให้วิ่งได้ไกลสุดๆ จริงๆ เท่าไหร่กันแน่ เพราะแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน
🛴 ด้วยความที่เขาว่า พอแบตเตอรี่เหลือต่ำกว่า 50% แล้วปิดเครื่อง เปิดใหม่ ความเร็วสูงสุดจะเหลือ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมเลยรู้สึกว่าเราควรจะชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มไว้อยู่เสมอถ้าทำได้ เผื่อต้องใช้งานปุบปับขึ้นมา จะได้ความเร็วที่เต็มที่เสมอ
🛴 มีโช้กนี่ดีงามมาก สภาพถนนแย่ๆ แต่ไม่ทำให้ประสบการณ์ในการขี่แย่เลย ที่ช่วยเราได้มากที่สุดคือ ตอนที่ลงถนนแล้วต้องชิดริมเอาไว้ แล้วเจอแต่ฝาท่อเรียงเป็นแถวๆๆๆๆ ถ้าไม่มีโช้กคือเซ็งมาก เพราะสะเทือนสุดๆ แต่การมีโช้กทำให้ขี่ผ่านไปได้ชิลล์ๆ เลย อีกจุดนึงที่ช่วยได้เยอะคือ ตอนขึ้นหรือลงเนินชันๆ การมีโช้ก ทำให้ซับแรงกระแทกไปได้เยอะมาก
🛴 การออกแบบการระบายความร้อนของแบตเตอรี่ของ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2 ทำออกมาได้ไม่ดีเท่าไหร่ พอขี่ไปนานๆ ความร้อนมันสะสม พอขี่เสร็จ อยากจะชาร์จแบตเตอรี่แบบถนอมอายุหน่อย ก็ต้องรอแบตเตอรี่ให้เย็นตัวลงหน่อย แต่มันเย็นตัวลงช้ามาก ถ้าขี่มายาวๆ แบบผม ซัก 16-18 กิโลเมตร แบตเตอรี่มันอาจจะอุณหภูมิขึ้นไปได้ถึง 42 องศาเซลเซียส รอกันเป็นชั่วโมงอะ กว่าจะลงมาต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส ถึงจะชาร์จแบบสบายใจหน่อย แต่เอาจริงๆ อันนี้เป็นความนอยด์ส่วนตัว ผมว่า Segway-Ninebot น่าจะคิดถึงประเด็นนี้มาแล้ว และตัว BMS (Battery Management System) น่าจะปรับการชาร์จแบตเตอรี่ให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่มันร้อนเกินอยู่แล้ว ฉะนั้น ขี่เสร็จ จะชาร์จเลย ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรหรอกนะ
บทสรุปการรีวิวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter MAX G2
ในฐานะคนใช้ Segway-Ninebot Kickscooter MAX G30 มาก่อน ก็ต้องบอกว่า MAX G2 นี่ถือว่าเป็นการอัปเกรดที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ใช่แค่ประสบการณ์การขับขี่ที่นุ่มสบายเพราะมีโช้กเท่านั้นนะ แต่ความเร็วสูงสุด 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ทำให้ขี่สนุกขึ้นจริงๆ

สิ่งที่แอบเสียดายคือ แม้เราจะปลดล็อกความเร็วสูงสุดที่ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้วก็ตาม แต่ความเร็วสูงสุดของโหมด D จะอยู่ที่ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งบอกตรงๆ เลยว่า ใครที่คุ้นชินกับความเร็วระดับ 30-35 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว มาเจอความเร็วระดับ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง เวลาขี่ริมถนน มันเหมือนเราอยู่กับที่เลยแหละ จริงๆ ถ้าทำได้ซัก 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะดีกว่านี้
ขั้นตอนการปลดล็อก จะต้องทำผ่านแอป ก็จะมีความยุ่งยากอยู่บ้าง (ของผมตอนทำคือร้านทำให้ และใครที่ซื้อรุ่นนี้ ร้านก็จะทำให้ครับ) และหากเรา Unbind แอป แล้วไป Bind ใหม่ ก็ต้องมาปลดล็อกกันใหม่ ยังถือว่ายุ่งยาก ก็ได้แต่คาดหวังว่าจะสามารถเจรจาจน Segway-Ninebot จะยอมปลดล็อกมาให้จากโรงงานเลยนะ (และขอให้โหมด D ได้ความเร็วซัก 25-30 กิโลเมตร/ชั่วโมงเถอะ)
ใครที่สนใจอยากซื้อ ไปลองตำกันได้จากปุ่มด้านล่างครับ ราคาค่าตัวก็ 45,900 บาท