มันมีจริงๆ นะ สถานการณ์แบบบ้านผม ที่มีหลอดไฟที่มันไม่ใช่ IoT และก็อัปเกรดเป็น IoT ให้สั่งงานผ่านแอปไม่ได้ แต่เราก็ขี้เกียจเดินไปกดสวิตช์ หรือ สวิตช์ตั้งอยู่ในจุดที่เอื้อมไปถึงยาก มันก็มีคนออกแบบแกดเจ็ตที่เรียกว่า Fingerbot ขึ้นมาครับ บางตัวก็จะสามารถเชื่อมต่อกับแอป สั่งงานผ่านแอปได้ แต่เท่าที่เห็น มันจะเป็นแบบที่ทำได้แค่กดสวิตช์แบบกด (ที่เป็นปุ่มแบบกดทีนึงเปิด กดอีกทีก็ปิด มันใช้กับสวิตช์แบบกระดกไม่ได้ เพราะตำแหน่งกดเปิดและปิด มันอยู่คนละที่ ถ้าจะใช้จริงๆ ต้องติดตั้ง Fingerbot 2 ตัว เปลืองอีก แต่สวิตช์แบบกระดกที่เป็นสวิตช์เราเจอบ่อยสุดแล้ว นิยมเอาไว้ใช้เปิด-ปิดหลอดไฟอะ มันก็มีทางออกสองแบบครับ แบบแรกคือ เปลี่ยนหัวกดสวิตช์ (น่าจะต้องซื้อแยก) ให้เป็นแบบทากาวติดกับสวิตช์ได้ เพื่อเวลาเปิดไฟก็จะเป็นการกดสวิตช์ลงไป และพอจะปิดไฟมันก็จะดึงเอาสวิตช์ขึ้นมา และอีกวิธีคือ ใช้ Fingerbot รุ่นสำหรับใช้กับสวิตช์แบบกระดกโดยเฉพาะครับ ซึ่งผมก็ไปหาเจอจนได้แหละ แต่อันนี้สั่งงานผ่านรีโมตคอนโทรล ซื้อมาจากจีน เลยเอามาลองให้ได้อ่านกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Fingerbot ที่ผมรีวิวครั้งนี้ ซื้อมาจากประเทศจีนผ่านแอป Lazada ครับ ก็เลือกอยู่นานว่าจะซื้อร้านไหนดี ไม่น่าโดนโกง 🤣🤣 ก็เอามารีวิวให้อ่านกัน เผื่อใครจะเอาไปใช้งานแบบผม ก็จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ ท้ายบล็อกนี้จะแปะลิงก์ไปซื้อไว้ให้ด้วย
Fingerbot เนี่ยจริงๆ แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ของ Adaprox ครับ แต่จีนก็เอาไปก็อปปี้มาเรียบร้อยแล้วครับ ราคาถูกกว่ากันครึ่งๆ เลย โดยตัวที่ผมเลือกมา เป็นรุ่นที่สั่งงานผ่านรีโมต เป็นรุ่นที่ออกแบบให้รองรับการกดสวิตช์แบบกระดกโดยเฉพาะครับ และจะต่างจาก Fingerbot ของ Adaprox และของก็อปปี้ของจีนตัวอื่นๆ ที่ดีไซน์เหมือนกันตรงที่ว่า อันนั้นเขาจะใช้แบตเตอรี่ที่เป็นก้อน เปลี่ยนได้ แต่ Fingerbot ตัวที่ผมซื้อมานี่ จะเป็นแบตเตอรี่ในตัวแบบชาร์จได้ผ่านพอร์ต Micro USB ครับ

แกะกล่องออกมา สิ่งที่เห็นก็คือ ตัว Fingerbot พร้อมรีโมตคอนโทรลอันเล็กๆ สายชาร์จ Micro USB แบบง่อยๆ เส้นนึง แผ่นแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่เราจะไปติดตั้ง Fingerbot แผ่นเทปกาวสองหน้าของ 3M ที่แถมมาให้อีกอันนึง และคู่มือที่เป็นภาษาจีนล้วนๆ แต่มีภาพประกอบ ก็พอเดาได้ว่าต้องทำอะไร


เอาตรงๆ เลยนะ ดีไซน์ของ Fingerbot ตัวนี้ ดูจากงานประกอบแล้ว ยังกะใช้ 3D Printing ทำ คือ ดูบ้านๆ มากเลย แล้วดูไม่ค่อยเรียบร้อนซักเท่าไหร่ด้วย แต่เอาจริงๆ ก็ไม่น่าจะใช่ละนะ แต่มันคล้ายจริงๆ 🤣🤣 ลักษณะของตัว Fingerbot ก็จะเป็นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวครับ ด้านนึงมีพอร์ต Micro USB เอาไว้เสียบสายชาร์จ มีรูเล็กๆ เจาะเอาไว้ อารมณ์เหมือนเอาไว้ให้ไฟ LED ส่งแสงออกมา


ถ้าตอนชาร์จแบตเตอรี่อยู่ ไฟ LED มันก็จะเป็นสีแดงครับ แต่ถ้าแบตเตอรี่เต็มแล้ว ไฟ LED ก็จะกลายเป็นสีเขียว แต่ก็อย่างที่บอก มันเหมือนกับงานประกอบหยาบๆ อะ ไฟ LED มันควรจะอยู่ตรงรูที่เจาะเอาไว้ แต่นี่มันดันเอียงไปอยู่ติดมุมกล่องของ Fingerbot เฉยเลย มันเลยดูแปลกๆ


ตัวรีโมตคอนโทรลของ Fingerbot ในร้านเขามีขายอยู่สองรุ่น รุ่นนึงรีโมตจะอันใหญ่ ราคาจะถูกกว่า แต่ผมเลือกรุ่นที่รีโมตอันเล็ก มันดูเก๋ดี ราคาก็จะแพงกว่ากันนิดหน่อยครับ รีโมตจะชาร์จด้วยพอร์ต Micro USB เช่นกัน เวลาชาร์จก็จะมีไฟ LED สีแดงติดขึ้นมา แต่ความแตกต่างคือ พอแบตเตอรี่เต็มแล้ว ไฟ LED จะดับแทน ตัวรีโมตมี 3 ปุ่ม คือ เปิด (On) ปิด (Off) และ สลับปุ่ม (ปุ่มเป็นรูปลูกศรวน)
การทำงานของ Fingerbot จะเป็นไปตามรูปด้านบนครับ คือ เมื่อกดปุ่ม On ตัว “นิ้ว” ของ Fingerbot ด้านนึงก็จะกดลงมาเพื่อกดสวิตช์แบบกระดก ถ้ากด Off “นิ้ว” อีกด้านก็จะกดลงมาแทน ปุ่ม “สลับปุ่ม” นี่ก็เอาไว้เพื่อให้ปุ่ม On และ Off ทำให้ “นิ้ว” ของ Fingerbot คนละด้านกดลงมาแทนครับ (อ่านแล้วงง ให้ดูวิดีโอด้านบนประกอบ)
วิธีการใช้งานก็คือเอา Fingerbot ไปติดไว้ข้างๆ สวิตช์ครับ เช็กให้แน่ใจว่าปุ่ม On และ Off มันกดมาถูกข้างนะ จะได้ไม่สับสน ถ้าผิดข้างก็กดปุ่ม “สลับปุ่ม” เอาครับ ใช้เทปกาวสองหน้า 3M ที่แถมมาให้นั่นแหละ เอามาติด แต่เท่าที่ผมลองอะ ดีไซน์ของเจ้านี่มันทำออกมาพอดีเกินไปหน่อย เวลากดปุ่มเลยทำให้ตัว Fingerbot จะยกขึ้นมาเล็กน้อย ผมก็กลัวว่าใช้ไปบ่อยๆ เดี๋ยวเทปกาวจะหลุดออกมา ผมก็เลยไปหาแผ่นพลาสติกเล็กๆ มาติดอีกชั้นนึงก่อน แล้วติดเทปกาวสองหน้าอีกชั้นครับ (เลือกแบบที่เหนียวๆ หน่อย ผมใช้เทปสีแดงของ Scotch) แค่นี้ก็เรียบร้อย เอามาใช้กดสวิตช์กระดกเพื่อเปิดปิดไฟได้แล้ว เย่
ใครสนใจ อยากสั่งมาเล่นบ้าง ก็กดลิงก์ด้านล่างได้เลยครับ และจริงๆ มันมี Fingerbot รุ่นที่รองรับ IoT ของ Tuya ด้วย ลองไปตำๆ มาเล่นกันได้ครับ แต่รุ่นแบบนั้นถ้าผมจำไม่ผิด มันจะใส่ถ่านไซส์แปลกๆ ที่อาจจะต้องหาซื้อบน Lazada ครับ