Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>7 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ Google Bard
ภาพกราฟิก เป็นแท่งสีต่างๆ ประกอบไปด้วย สีแดง สีน้ำเงิน สีส้ม สีเหลือง สีเขียว และมีข้อความเขียนว่า Bard AI
บ่นเรื่อยเปื่อย

7 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ Google Bard

หลังจากโดน Microsoft ปาดหน้าเปิดตัวมาก่อน Bing GPT ที่ผสมผสานเอา Generative AI ยอดนิยมอย่าง ChatGPT มาร่วมกับ Bing ที่เป็น Search Engine ของตัวเอง และมีการโชว์ออฟผลิตภัณฑ์ในอนาคตอย่าง Copilot ที่จะเอา Generative AI มาช่วยให้ผู้ใช้งาน Microsoft 365 ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น Google ก็ค่อยๆ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Generative AI ของตัวเองอย่าง Google Bard และการนำไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ Google Workspace ของตัวเองบ้างแล้ว ถ้าเอาเฉพาะที่เขาเปิดตัวกันออกมา ถ้าเราจะใช้ Google Bard เราควรจะรู้อะไรบ้าง?

#1 Google Bard เปิดให้สาธารณะชนใช้ฟรีๆ แล้ว และใช้ได้กับทุกเบราว์เซอร์

Google เปิดเผยตัว Bard ให้คนทั่วโลกได้รู้จักตอนเดือนกุมภาพันธ์ อารมณ์แบบว่ารีบเปิดตัวมาเพราะกระแสของ Bing GPT แรงมาก เล่นเอาคนไปดาวน์โหลด Microsoft Edge ที่เป็นเบราว์เซอร์คู่แข่งกับ Google กันเยอะ เพราะ Microsoft ยังไม่เปิดให้คนทั่วไปใช้ Bing GPT แต่จะได้ใช้เฉพาะคนที่เข้าสู่ Waitlist และหากอยากได้ใช้เร็วๆ ก็ต้อง (1) ใช้ Microsoft Edge เป็นเบราว์เซอร์หลัก และ (2) ใช้ Bing เป็น Search engine

ช่วงแรกๆ Google Bard ก็ยังเปิดให้เข้าใช้เฉพาะแค่ผู้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาครับ ผมใช้ได้ตอนแรกๆ ก็ต้องมุด VPN ไปที่อเมริกาเพื่อลงชื่อเข้า Waitlist แล้วรอประมาณ 1 สัปดาห์ถึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ แต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Google ก็เปิดใช้สาธารณชนสามารถเข้าใช้ Google Bard ได้แล้วที่ https://bard.google.com โดยไม่ต้องรอ Waitlist และใช้ได้จาก 180 ประเทศทั่วโลก

หน้า Pop-up เมื่อผู้ใช้งานพยายามจะเข้าถึง Bing GPT ผ่านเบราว์เซอร์อื่นที่ไม่ใช่ Microsoft Edge จะเด้งเตือนว่า Unlock conversational search on Microsoft Edge

แต่ Google ดูจะแฟร์กว่า Microsoft เพราะเปิดให้ใช้ Google Bard ได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ Google Chrome ในการเข้าใช้งาน ซึ่งผิดกับ Microsoft เลย ที่แม้จะเปิดให้ใช้ Bing GPT ได้โดยไม่ต้องรอ Waitlist แล้ว แต่ก็ยังจำกัดว่าต้องใช้ผ่าน Microsoft Edge เท่านั้น

#2 Google Bard ยังสนทนากับเราได้แค่ 3 ภาษา คือ อังกฤษ ญี่ปุ่น และ เกาหลี

ณ ตอนที่เขียนบล็อกตอนนี้อยู่ Bard สามารถตอบคำถามเป็นภาษาไทยได้ หากคำตอบจำเป็นต้องแสดงผลเป็นภาษาไทย แต่ว่าจะไม่ตอบสนองต่อคำถามภาษาไทย และไม่สนทนากับเราเป็นภาษาไทยครับ อ้างอิงจาก FAQs ของ Bard ตอนนี้ มันรองรับภาษาอังกฤษ (US English) ญี่ปุ่น และ เกาหลี แต่จากประสบการณ์ในการใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Google ก็ต้องบอกว่าในอนาคต มันคงรองรับภาษาเยอะมากแหละครับ

ส่วนหนึ่งจากหน้าเว็บ FAQs ของ Bard เป็นคำถามว่า How many languages does Bard speak? คำตอบคือ Right now, Bard is available in US English, Japanese, and Korean, and we are teaching Bard to speak as many langua

#3 Google Bard คุยเก่ง คุยเร็ว แต่ยังมีมโนและมั่วนิ่มอยู่ (AI Hallucination)

เราสามารถใช้ Bard ได้ฟรีๆ แบบไม่มีข้อจำกัดอะไรมาก และ Bard ก็ตอบได้ค่อนข้างเร็วมาก (และยาวมาก) ด้วย อย่างไรก็ดี เท่าที่สังเกต ด้วยความที่มันสามารถเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้ และ Google เองก็มีชื่อเสียงและส่วนแบ่งตลาดของ Search engine มาค่อนข้างยาวนาน ก็ทำให้ข้อมูลที่ Bard ตอบกลับมา ค่อนข้างตรงกับข้อเท็จจริง แถมตอบเร็วกว่า Bing GPT ด้วยนะ แต่ทว่าด้วยความที่มันพยายามตอบยืดยาวนี่แหละ ทำให้บางอย่างมันมั่วๆ อยู่ เช่น พอผมถามว่า Where is Google in the AI race? คำตอบที่ได้มันแหม่งๆ ตรงที่บอกว่า Google เปิดตัว Bard ในปี 2020 ซึ่งพอทักไปว่า เฮ้ย ไม่ใช่ปี 2023 เหรอ มันก็ตอบมาว่า ขอโทษ จริงๆ คือเดือนพฤษภาคม 2023 (Google เปิดตัว Bard เดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มให้ผู้คนได้ทยอยใช้ผ่าน Waitlist เดือนมีนาคม และเพิ่งเปิดให้ทุกคนได้ใช้แบบไม่ต้องรอ Waitlist ในเดือนพฤษภาคม 2023)

บทสนทนากับ Google Bard

ผมและเพื่อนๆ ได้ลองคำถามประเภทว่า ฉันเป็นใคร คือ Who is [ชื่อ-นามสกุลตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ] ก็ได้คำตอบที่ค่อนข้างจะเกือบแม่น แต่ก็มีมั่วๆ แทรกมาบ้าง (แต่ไม่ใช่ทุกคน และทุกครั้ง) ในขณะที่ Bing GPT นี่ คำตอบแม้จะสั้นๆ แต่ค่อนข้างแม่นตามข้อมูลที่เรามีอยู่บนอินเทอร์เน็ตเลยครับ ใครอยากรู้ว่าตัวเองมีข้อมูลส่วนตัวอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากน้อยแค่ไหน ลองไปถามทั้ง Google Bard และ Bing GPT ได้

#4 Google Bard ไม่มีการทำ Reference ก็จะตรวจสอบยากหน่อยว่าคำตอบมั่วไหม

ตรงนี้เป็นจุดบอดสำคัญของ Google Bard เลยครับ เพราะในขณะที่ Bing GPT เขาจะมีการทำ Reference ให้เลยว่าข้อมูลที่เอามาตอบเนี่ย มาจากเว็บไหนบ้าง และเราสามารถจะคลิกเพื่อไปดูเว็บนั้นได้เลย ทำให้ผู้ใช้งานมีโอกาสที่จะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ค่อนข้างดี

บางส่วนของผลการค้นหาผ่าน Bing GPT ที่มีการทำ Reference

แต่ Google Bard จะไม่มีการทำ Reference มาให้ครับ เลยไม่สามารถรู้ได้ว่าข้อมูลต่างๆ ที่ Google Bard เอามาสร้างเป็นคำตอบ ไปอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลไหนบ้าง มันจะมีแค่ปุ่ม Google it มาให้ ซึ่งเมื่อคลิกแล้ว มันจะแสดงรายการของคำค้นหาที่เกี่ยวข้องมาให้ พอเราคลิก มันก็จะไปเปิดเว็บ Google เพื่อค้นหาตามคีย์เวิร์ดนั้นๆ

ใครจะใช้ Google Bard ก็ต้องระวังเรื่องความถูกต้องของข้อมูลหน่อยนะครับ บอกเลย ณ จุดนี้ เพราะอย่างที่ผมบอกไปในข้อ 3 ว่ามันยังมีความมโนและมั่วนิ่มอยู่

#5 ฟีเจอร์ที่ Bing GPT ไม่มี … ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้มันดูดีกว่า Bing GPT เท่าไหร่ ในความเห็นของผม

เมื่อออกตัวช้ากว่า และยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์คู่แข่ง มันก็ต้องมีบางอย่างที่ดีกว่าแหละ เช่น ได้คำตอบเร็วกว่า เป็นต้น และมันก็มีฟีเจอร์บางอย่างที่ Bing GPT ไม่มี ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็จะมีดังนี้

การเลือกคำตอบที่ Google Bard ตอบมา ได้ 3 drafts

ก็ต้องบอกเลยว่าทั้ง Bing GPT และ Google Bard เนี่ยจะต้องการข้อมูลมาช่วยเทรน AI ของตัวเองให้เก่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ Default จะถูกกำหนดให้เอาข้อมูลไปเทรนแหละ ถ้าใครสังเกตให้ดีๆ เขาจะให้เรากด Like หรือ Dislike คำตอบที่ได้จาก AI ครับ การเลือกนี้จะเป็นตัวบอกให้ AI ได้เรียนรู้ว่าคำตอบมันโอเคหรือไม่โอเค

Bing GPT ดูจะเรียนรู้แค่จากการกด Like หรือ Dislike ในขณะที่ Google Bard นั้น ถ้าเรากด Dislike เราจะสามารถเลือกได้ด้วยว่าเราเลือกกด Dislike เพราะอะไร และสามารถพิมพ์อธิบายเพิ่มได้ด้วย ข้อมูลพวกนี้จะถูกเอาไปใช้เพื่อเทรนให้ AI เก่งขึ้น

หน้าจอสนทนากับ Google Bard แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะให้ Google Bard ตอบมา

Google Bard พยายามเรียนรู้มากกว่าด้วยการให้ผู้ใช้งานสามารถเลือก Draft คำตอบได้ด้วย ซึ่งทุกครั้งที่ Google Bard ตอบ มันจะสร้างคำตอบมา 3 แบบ เราสามารถเลือกดูได้ เอามาประกอบกับการกด Like และ Dislike นี่ Google Bard น่าจะได้ข้อมูลไปไม่น้อยทีเดียว

การบันทึกผลการสนทนา

ในขณะที่ Bing GPT จะให้เราสามารถแชร์ผลการค้นหาไปให้คนอื่นๆ ได้โดยผ่านการแชร์ URL มาที่ผมการค้นหา ภาพด้านล่างซ้ายมือคือเมื่อเราคลิกแชร์ผลการค้นหา จะสังเกตว่าเราจะสามารถก็อปปี้ลิงก์ได้ หรือจะส่งลิงก์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เช่น Facebook, Twitter หรือ อีเมล เป็นต้น ส่วนภาพขวามือคือผลการค้นหาที่เราดูผ่านลิงก์ครับ (ตัวอย่าง)

ส่วน Google Bard นั้น จะให้เราทำได้สองอย่าง คือ Export to Docs หรือ นำผลการค้นหาออกมาแสดงผลเป็นไฟล์เอกสาร Google Docs หรือ Draft in Gmail ซึ่งก็คือ เอามาแชร์ลงไปใน Gmail เลย

บางส่วนของผลการค้นหาด้วย Google Bard เมื่อคลิกแชร์ จะสามารถเลือกได้ระหว่าง Export to Docs และ Draft in Gmail

โดยส่วนตัว แม้ Bing GPT จะทำไม่ได้ แต่มันก็ให้เราสามารถก็อปปี้คำตอบจาก Bing GPT มาบน Clipboard แล้วเอาไป Paste บนไฟล์เอกสารใดๆ หรือแม้แต่อีเมลได้อยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะได้ผลแตกต่างกันตรงไหน แต่ความที่มันสามารถเซฟผลการค้นหาเป็นหน้าเว็บ แล้วแชร์ลิงก์ให้คนอื่นได้ ผมว่ามันสะดวกกว่านะ บอกเลย

#6 เราคุมความเป็นส่วนตัวบน Google Bard ได้ดีกว่า Bing GPT

Google ดูจะให้ความใส่ใจในเรื่องข้อมูลส่วนตัว เขามีหน้าเว็บ You Bard Activity มาให้ตั้งค่าเลยว่าจะให้ Google Bard เก็บข้อมูลการสนทนา (Prompt ที่ส่งไป คำตอบที่ได้มา และฟีดแบ็กใดๆ ที่เราส่งไป) เอาไว้ไหม และแม้ว่าจะเก็บไว้ จะให้เก้บไว้นานแค่ไหน สามารถตั้งลบอัตโนมัติได้ เราสามารถลบแบบ Manual ก็ได้ แบบ ลบทุกอย่างในชั่วโมงที่ผ่านมา ในวันที่ผ่านมา ลบให้หมดนับตั้งแต่เริ่มใช้ หรือระบุช่วงเวลาก็ได้ หรือจะไปไล่ลบเฉพาะกิจกรรมที่ต้องการลบก็ได้

หน้าเว็บ Bard Activity ที่ให้เราสามารถตั้งค่าในการเก็บหรือลบประวัติการใช้งาน Bard ได้ตามต้องการ

ผมได้ลองถาม Google Bard ด้วยว่าเก็บข้อมูลการสนทนาของเราไหม ซึ่งมันก็ตอบว่าเก็บนะ แต่จะเก็บไว้ 3 ปีเท่านั้นแล้วก็จะลบออก และไม่เก็บข้อมูลใดๆ ที่จะใช้ระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ด้วย จะเก็บเฉพาะข้อความที่สนทนาเท่านั้น และหากไม่ต้องการให้เก็บ ก็สามารถลบได้เลย ซึ่งก็สอดคล้องกับการตั้งค่าที่ผมพูดถึงไปข้างต้น

ในทางกลับกัน Bing GPT นี่ เหมือนจะผนวกทุกอย่างเอาไว้กับ Privacy settings ของ Microsoft Account แต่ไม่ได้มีหัวข้อใดให้เราสามารถบริหารจัดการข้อมูลการค้นหาผ่าน Bing GPT เลยครับ มันมีแต่หัวข้อที่เกี่ยวกับการค้นหาผ่าน Bing search engine เฉยๆ

หน้าจอการตั้งค่าบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัวของ Microsoft Account

ผมลองถาม Bing GPT ดู 3 รอบ ได้คำตอบไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ รอบแรกมันตอบว่าไม่เก็บข้อมูลนะ เพราะเคารพความเป็นส่วนตัว แต่พอเปลี่ยนจากคำถามจาก Do you store my conversations with you? เป็น Do Bing with ChatGPT store conversations? แล้วลองถามสองรอบ คำตอบกลับได้มาแบบไม่เคลียร์ มันให้ไปถาม Microsoft เฉย

หน้าจอผลการสนทนาระหว่างผมกับ Bing GPT

เลยไม่รู้จะฟันธงยังไงดี เอาเป็นว่า จะชวน Bing GPT คุยอะไร ให้แน่ใจว่ามันไม่ใช่ความลับก็แล้วกันนะครับ ซึ่งจริงๆ แล้ว การคุยกับ Generative AI ใดๆ ณ ตอนนี้ ก็ควรให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราคุยมันไม่ใช่ความลับแหละ

#7 ความสามารถเพิ่มเติมในอนาคต: Google Bard x Adobe Firefly

Microsoft เขาปล่อย Bing Image Creator ที่เป็นบริการสร้างภาพด้วย AI ซึ่งใช้โมเดล DALL-E ของ OpenAI ให้ใช้กันฟรีๆ แล้ว โดยแต่ละคนก็จะได้เครดิตในการสร้างรูปแบบความเร็วสูง (แต่ก็ยังใช้เวลาประมาณ 30-60 วินาทีนะ) มาประมาณนึงต่อวัน (เช่น ผมได้ 100 เครดิต บางคนอาจจะได้ 25 เครดิต เป็นต้น)

หน้าเว็บ Bing Image Creator

Google ก็เลยต้องเอาบ้าง และไปจับมือกับ Adobe เอา Adobe Firefly มาให้บริการผ่าน Google Bard แม้ว่า ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้อยู่ จะยังไม่สามารถใช้งานได้ แต่ Google น่าจะเริ่มทยอยให้ได้ใช้กันเรื่อยๆ ละครับ

ภาพตัวอย่างการใช้งาน Google Bard สั่งวาดภาพของม้ายูนิคอร์นและเค้กด้วย Adobe Firefly
ภาพจาก: Adobe Blog

จุดเด่นของ Adobe Firefly คือ ทาง Adobe เองมีพวก Stock photos เยอะมาก การสร้างรูปขึ้นมานี่คือหมดห่วงเรื่องการจะไปละเมิดลิขสิทธิ์ใครเขาได้แหละ เพราะรูปที่ Adobe มี และน่าจะเอามาใช้เทรน Adobe Firefly มันก็ลิขสิทธิ์ของเขา แต่น่าสนใจว่าพอเปิดให้ใช้งานเต็มที่จริงๆ ข้อจำกัดมันจะอยู่ที่ตรงไหน หาก Google จะให้ผู้ใช้งานได้ใช้ฟรีๆ เพราะ Adobe Firefly น่าจะเป็นบริการที่ต้องเสียเงินเพื่อใช้อะ (อาจจะมีข้อจำกัดตรงที่ต้องมีลายน้ำว่าสร้างโดย Adobe Firefly??)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า