Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>Update: 4 เรื่องควรรู้ก่อนใช้ ChatGPT ช่วยทำงาน
ข้อความภาษาอังกฤษว่า ChatGPT OpenAI อยู่บนแบ็กกราวด์หลากสีสัน
บ่นเรื่อยเปื่อย

Update: 4 เรื่องควรรู้ก่อนใช้ ChatGPT ช่วยทำงาน

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงนี้กระแส Generative AI อย่าง ChatGPT กำลังบูม ผมก็ได้เขียนถึง 8 เรื่องควรรู้เอาไว้ ก่อนจะใช้ ChatGPT ช่วยทำงาน ไปแล้ว แต่เวลาก็ผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว ChatGPT ก็มีพัฒนาการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา มีหลายๆ อย่างที่ ณ ตอนนั้นผมไม่ได้เขียนเอาไว้ และบางอย่างที่ผมก็อยากจะเขียนย้ำอีกครั้งนึง เผื่อใครอยากเอา ChatGPT มาใช้ทำงาน แล้วเพิ่งมาเห็นบทความของผมจะได้อ่านกัน

1. ChatGPT ยังทำงานผ่านเว็บเหมือนเดิม ไม่มีแอปที่เป็นทางการ

จนถึงตอนนี้ OpenAI ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT เขาก็ยังไม่ได้จัดสร้างแอป ChatGPT อย่างเป็นทางการขึ้นมานะครับ และผมก็ไม่คิดว่าเขาจะทำด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ตัวระบบมันก็ทำงานได้ดีบนเว็บอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะพัฒนาเป็นแอปขึ้นมาทำไม และอีกอย่างก็คือ ตัว OpenAI เขามีบริการให้นักพัฒนาแอปสามารถไปใช้ความสามารถของโมเดล AI ที่ชื่อว่า GPT (General Pre-trained Transformer) ได้ โดยมีค่าบริการ (รายละเอียดที่เว็บไซต์ OpenAI) บริษัทไหนอยากทำแชทบอทฉลาดๆ ก็ไปใช้ประโยชน์จาก API นี้ได้

ผลการค้นหาแอปบน Google Play Store ด้วยคีย์เวิร์ด ChatGPT จะเห็นแอปจำนวนมากที่เกี่ยวกับ AI ขึ้นมา

ดังนั้น หากเราไปค้นหาแอปด้วยคีย์เวิร์ดว่า ChatGPT ไม่ว่าจะบน Android หรือ iOS บอกเอาไว้ก่อนเลยว่า ไอ้ที่เห็นๆ กันนั้น คือ ไม่ใช่แอปที่เป็นทางการนะครับ แต่บางอันอาจจะใช้งานได้ดีก็ได้ แต่การจะไปใช้แอปไหน ให้พิจารณาให้ดีว่าผู้พัฒนาเขาน่าเชื่อถือไหม เพราะมีสิทธิโดนหลอกได้นะครับ

2. ถ้าอยากจะเอามาใช้ทำงาน ยอมเสียเงินใช้ ChatGPT Plus จะเริ่ดมากกว่า

20 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และมีภาษีอีก 1.78 เหรียญสหรัฐ รวมเป็น 21 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ถ้าคิดที่ 35 บาทเท่ากับ 1 เหรียญสหรัฐก็คือ 735 บาทต่อเดือน หรือปัดกลมๆ ก็ 800 บาทต่อเดือนละกัน ถือว่าราคาแพงเอาเรื่องอยู่ แต่ ChatGPT มันก็สามารถเอามาช่วยทำงานได้หลากหลายเลยนะ ถ้าใช้เป็น ไม่ว่าจะเป็น ช่วยนำเสนอไอเดีย ช่วยปรับปรุงการเขียน ช่วยสอนภาษา ช่วยร่างเอกสาร จดหมาย หรือ การนำเสนองาน เป็นต้น ถ้าใช้ดีๆ คือ เหมือนได้ผู้ช่วยที่มากความสามารถในราคาไม่ถึงพันต่อเดือน แต่เราทำงานอะไรต่อมิอะไรได้เร็วขึ้นมาก

นอกจากนี้ ผู้ใช้งาน ChatGPT Plus จะได้ลองใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง Web browsing ที่จะช่วยให้ ChatGPT สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาเพื่อตอบเราได้ ซึ่งจะทำให้ความรู้ของมันไม่ถูกจำกัดอยู่แค่สิ่งที่ถูกเอามาใช้เทรน GPT model ซึ่งจำกัดอยู่แค่ถึงเดือนกันยายน 2021 เท่านั้น และยังมีปลั๊กอินอีกมากมายที่จะมีให้ได้ทดลองใช้งานอีก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถให้กับ ChatGPT ในการทำงานต่างๆ ได้อย่างมาก โดย ณ ตอนที่เขียนบล็อกตอนนี้อยู่ OpenAI ได้เริ่มทยอยเปิดให้ผู้ใช้งานได้ลองใช้แล้ว และทุกคนที่เป็น ChatGPT Plus น่าจะได้ลองใช้ภายในสัปดาห์หน้า

การมาของฟีเจอร์ Web browsing นี่จะทำให้ ChatGPT สามารถตอบข้อมูลจำพวกสถิติต่างๆ ได้ถูกต้องขึ้น ไม่มโนเอาเองมากน้อยแค่ไหนเดี๋ยวได้ลองแล้วจะมาอัปเดตให้อ่านกันทีหลัง

นอกจากนี้ผู้ใช้งาน ChatGPT Plus ก็ยังสามารถใช้ GPT-4 ที่เป็นโมเดลล่าสุดได้ด้วย ซึ่งโมเดลนี้มีความเข้าใจในภาษาต่างๆ ดีขึ้นกว่า GPT-3.5 ที่ผู้ใช้งาน ChatGPT แบบฟรีๆ ใช้อยู่มากทีเดียวครับ ทำให้มันเข้าใจ Prompt ของเราได้มากกว่า และคำตอบที่ได้มาก็ดีกว่าด้วย เสียดายแค่ตรงที่มันจำกันเอาไว้แค่ 25 ข้อความต่อ 3 ชั่วโมงเท่านั้นแหละ เวลาที่ใช้งานรัวๆ มันหมดไว้มาก 🤣🤣

3. อยากใช้ ChatGPT ที่เป็นโมเดล GPT-4 แบบฟรีๆ ให้ไปใช้ Bing GPT ภายใต้ข้อจำกัด

Microsoft เขาได้ลงทุนกับ OpenAI เอาไว้ และเอา GPT-4 ไปอัปเกรดความสามารถให้กับ Bing กลายเป็น Bing GPT อย่างไรก็ดี Bing GPT กับ ChatGPT ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นี่คือคนละตัวกันนะครับ Bing GPT คือ แชทบอท ที่พัฒนาโดย Microsoft โดยมีการเอา GPT-4 ที่เป็นโมเดล AI ของ OpenAI ไปใช้เท่านั้น

หน้าจอสนทนากับ Bing GPT ที่ถามไปว่า ใครคือ นายกาฝาก แล้ว Bing GPT ก็ให้คำตอบมาว่าเป็นนักเขียนบล็อกและเป็นผู้ใช้งาน Twitter ด้วย และมีการพูดถึงเนื้อหาของบล็อกว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง

Bing GPT จะไม่มีการจัดเก็บบทสนทนาเก่าๆ เอาไว้ และจะรองรับการพูดคุยกันแค่ไม่เกิน 20 ข้อความต่อครั้งเท่านั้น แต่สามารถสอบถามเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทยได้ และจะตอบช้าๆ หน่อย และจะตอบได้ไม่ยาวมากถ้าเป็นภาษาไทย เพราะมันใช้ GPT-4 ละนะ (ChatGPT ที่เป็น GPT-4 ก็ตอบช้าๆ เหมือนกัน) แต่อย่างที่บอก ความเจ๋งของมันคือ มันสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ แต่ข้อจำกัดก็คือ อยู่ภายใต้ความสามารถของ Search engine ที่ชื่อว่า Bing นั่นเอง (แต่เดี๋ยวนี้ก็พัฒนาไปเยอะขึ้นมากแล้วนะ) แต่จุดสำคัญคือ มันใช้ฟรีครับ นอกจากนี้ Bing ก็ยังมีบริการ Generative AI ที่สร้างภาพได้ฟรีๆ อีก โดยใช้โมเดล DALL-E ของ OpenAI ครับ คือ Bing Image Creator

เท่าที่ผมลองใช้ การให้ Bing GPT ช่วยหาข้อมูลด้านสถิติต่างๆ ก็ค่อนข้างโอเคอยู่นะ นั่นเพราะมันสามารถเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้นั่นเอง

4. ทุกการสนทนากับ ChatGPT จะถูกเอาไปใช้เทรน AI ไม่อยากให้ข้อมูลรั่วไหล จงไปปิด Chat History

เพื่อให้ ChatGPT มันเก่งขึ้น OpenAI เขาก็จะนำทุกการสนทนาระหว่างผู้ใช้งานกับ ChatGPT ไปใช้เทรนให้ AI มันเก่งขึ้น ปัญหาก็คือ พอผู้ใช้งานเอา ChatGPT มาช่วยทำงานโดยไม่ระวังเรื่องความลับของข้อมูล อิความลับพวกนั้นมันก็อาจจะถูกเอามาใช้เทรน AI และกลายเป็นข้อมูลที่ AI เอามาใช้สร้างคำตอบให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ซึ่ง Samsung นี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลย หลังมีพนักงานเอาข้อมูลผลิตชิปไปถาม ChatGPT และเอาบันทึกการประชุมไปให้ ChatGPT ช่วยสรุป และมีพนักงานเอา ChatGPT มาช่วยแก้ปัญหาโค้ด ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลสนทนาพวกนี้ก็จะถูกส่งไปใช้เทรน AI ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคต หากมีคนไปถามอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปของ Samsung หรือ โค้ดโปรแกรมที่ทำงานคล้ายๆ กับโค้ดของ Samsung ที่ถูกถามไป ก็มีโอกาสที่ ChatGPT จะเอาข้อมูลพวกนี้มาสร้างเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบได้นั่นเอง

หน้าจอ Settings ในหัวข้อ Data controls ที่มีตัวเลือกในการปิด Chat History and Training

ซึ่งตรงนี้ OpenAI ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะ เขาก็มีการอัปเดตเมื่อเร็วๆ นี้ ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะปิด Chat History & Training ซึ่งจะทำให้บทสนทนาถูกเก็บเอาไว้แค่ 30 วัน โดยเอาไว้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบเรื่องการละเมิดข้อตกลงการใช้งานเท่านั้น จะไม่ถูกเอาไปใช้เทรน AI และเมื่อครบ 30 วัน ก็จะทำการลบการสนทนานี้ทิ้งทันที แต่การเลือกการตั้งค่านี้ก็แลกมาด้วยข้อจำกัดคือ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเข้าถึงการสนทนานั้นได้ครับ (แต่บทสนทนาใดๆ ที่เกิดขึ้นตอนที่เรายังเปิด Chat History & Training อยู่ ก็จะยังสามารถเข้าถึงภายหลังได้)

คำแนะนำของผมก็คือ เวลาที่จะใช้ในงานที่เป็นความลับ ก็พยายามเลี่ยงที่จะเอ่ยขึ้นข้อมูลใดๆ ที่เป็นความลับ แล้วหาอะไรมาใส่แทน เช่น ถ้าบอกชื่อ หรือ ตำแหน่ง หรือ ตัวเลขข้อมูลไม่ได้ ก็ใส่ชื่อปลอมลงไป หรือ ตัวเลขปลอมๆ หรือ ข้อความแทนที่ (เช่น [Data] อะไรแบบนี้) ลงไปก่อนก็ได้ และจะให้ดีก็ปิด Chat History & Training ด้วยเลย แล้วพอจะใช้งานแบบส่วนตัว หรือ ทั่วๆ ไป ไม่ได้เป็นความลับ ก็ค่อยกลับมาเปิดใช้อีกที แบบนี้ก็โอเค แค่อย่าลืมเปิดๆ ปิดๆ ล่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า