การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นบน Twitter ก็คือการมาของระบบยืนยันตัวตนแบบ Subscription ครับ ซึ่งมันจะกลายเป็น Verified badge แบบใหม่ ที่หลายๆ คนน่าจะได้เห็นกันแล้ว นั่นก็คือ เครื่องหมายติ๊กถูกสีต่างๆ และป้าย (Label) บนโปรไฟล์ด้วย มันคืออะไรบ้าง แล้วมันจะส่งผลอะไรกับเราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้ใช้งานทั่วไป เหล่า Content creator และ Influencer ทั้งหลาย รวมถึงแบรนด์ และองค์กรต่างๆ ผมลองไปค้นหาข้อมูลมาให้อ่านกันครับ
บนโลกโซเชียลมีเดีย ปัญหาใหญ่สุดที่แก้ยากมากก็คือพวกบัญชีปลอมทั้งหลายแหล่นี่แหละครับ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ขนาดตัวจริงมาเล่น ก็ยังอาจจะไม่ได้ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง มาเล่นเลย จริงแมะ และแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ให้สิทธิผู้ใช้งานสามารถตั้งชื่อผู้ใช้งาน ชื่อเรียก ได้ตามใจชอบ พวกมิจฉาชีพก็ฉวยโอกาสในการปลอมตัวเป็น Influencer หรือ แบรนด์ต่างๆ มาหลอกลวงคนอื่นกันได้

ซึ่งตรงนี้ แต่ละแพลตฟอร์มเขาก็จะมีมาตรการเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถยืนยันตัวตน แล้วได้สิ่งที่เรียกว่า Verified badge ไปติดอยู่บนบัญชีของตัวเองได้ ซึ่ง Twitter ก็มีกับเขาเช่นกัน โดยคนที่ได้รับการยืนยันตัวตนแล้วว่าเป็นตัวจริง จะได้รับติ๊กถูกสีฟ้ามาติดหลังชื่อ ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้น
Twitter Blue: ใครๆ ก็มีติ๊กถูกสีฟ้าได้ ขอให้มีตังค์จ่าย
ที่หลายต่อหลายคนพูดถึงกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็น Twitter Blue ครับ ซึ่งเป็นบริการ Subscription เพื่อยืนยันตัวตนสำหรับบุคคลทั่วไป มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ $8 ต่อเดือน หรือราคาไทยคือ 275 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเกิดเราสมัครเป็นรายปี ก็จะตกอยู่ที่ 2,900 บาทต่อปี อันนี้คือในกรณีที่สมัครผ่านเว็บนะครับ ใครไปสมัครผ่านแอป Twitter บนระบบปฏิบัติการ iOS จะต้องจ่ายแพงกว่าเยอะเลย คือ 380 บาท/เดือน หรอื 4,000 บาท/ปี (บน Android ยังไม่มีราคาออกมา ณ ตอนที่ผมเขียนบล็อกนี้ แต่น่าจะแพงกว่าสมัครผ่านเว็บเหมือนกัน)

ใครที่ได้ติ๊กถูกสีฟ้ามาด้วยวิธีนี้ เวลาที่เราแตะไปที่ติ๊กถูกสีฟ้า เราจะเห็นมันเขียนอธิบายว่า Verified account. This account is verified because it’s subscribed to Twitter Blue. หรือ บัญชีได้รับการยืนยันแล้ว ที่บัญชีนี้ได้รับการยืนยันเพราะมันสับตะไคร้เป็น Twitter Blue ก็บอกไปให้ชัดเจน
ช่วงแรกๆ ที่เปิดให้บริการ Twitter Blue มีคนจำนวนมากที่ยอมจ่ายเงิน $8 เพื่อไปแกล้งปลอมเป็นแบรนด์ต่างๆ ให้ดูน่าเชื่อถือ ก็ทำเอาป่วนไปช่วงนึง แต่หลังจากนั้น Twitter ก็ดูจะควบคุมสถานการณ์อยู่ แต่ก็ใช้เวลาพักใหญ่ๆ แหละ ซึ่งพิจารณาจากกระบวนการให้ติ๊กถูกสีฟ้าล่าสุด จะสังเกตได้ว่า พอเราจ่ายตังค์ปุ๊บ เราจะได้ใช้ฟีเจอร์ของ Twitter Blue มาทันที แต่เราจะไม่ได้ติ๊กถูกสีฟ้าในทันทีนะครับ แต่ทางทีม Twitter จะทำการรีวิวบัญชีเราก่อน ไม่รู้ว่ากระบวนการเป็นยังไง แต่เขามีการระบุเกณฑ์เอาไว้ดังนี้
🔹บัญชีต้องมีทั้ง Display name และ Profile photo และต้อง Active อยู่ในช่วงเวลา 30 วันก่อนหน้าที่จะสมัครเป็น Twitter Blue
🔹บัญชีต้องเปิดใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน และต้องยืนยันเบอร์โทรศัพท์ด้วย (เพราะประเทศส่วนใหญ่ การจะมีเบอร์โทรศัพท์มันต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน)
🔹บัญชีจะต้องไม่ใช่เพิ่มเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ชื่อ หรือ Username (หรือที่เรียกว่า Handle name) ต้องไม่มีพฤติกรรมที่หลอกลวงคนอื่น ต้องไม่มีพฤติกรรมสแปม อะไรแบบนี้
และที่สำคัญที่สุด พอได้ติ๊กถูกสีฟ้ามาแล้ว หากเราไปเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยน Handle name ทาง Twitter ก็จะเอาติ๊กถูกสีฟ้าออกก่อน เริ่มกระบวนการรีวิวใหม่ แล้วอาจจะคืนติ๊กถูกสีฟ้าให้เรา หรืออาจจะไม่คืนก็ได้ และหากในภายภาคหน้า Twitter พบว่าเราพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎ เขาก็ยึดติ๊กถูกสีฟ้าเราได้เช่นกัน
ส่วนฟีเจอร์สำหรับผู้ใช้งาน Twitter Blue หลักๆ ก็จะมีดังนี้ครับ
🔹หัวข้อ Top Articles ที่จะแสดงทวีตบทความ (หมายถึงทวีตที่มีลิงก์ให้อ่านเนื้อหา) ที่คนที่เราติดตาม (People you follow) แชร์มา และเรายังสามารถเลือกดูทวีตบทความที่คนอื่นๆ ที่คนที่เราติดตามอยู่ไปติดตามเขา (People they follow) แชร์ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ หากเราเลือกติดตามคนที่มักจะทวีตหรือรีทวีตในสิ่งที่เราสนใจ
🔹สำหรับแอป Twitter บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เราจะสามารถปรับขนาดของตัวอักษร เป็น เล็ก กลาง ใหญ่ เพิ่มได้อีก แต่ฟีเจอร์นี้ผมว่าก็ยังไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ เพราะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้เขายอมให้เราปรับขนาดตัวอักษรได้อยู่แล้ว ได้เยอะกว่าแค่ เล็ก กลาง ใหญ่ ด้วย



🔹เพิ่มตัวเลือกการปรับแต่ง ให้เราสามารถเลือกได้ว่าอยากจะให้มีไอคอนทางลัดด้านล่างเป็นอะไรบ้าง เลือกธีมสีของแอป (ใช้ได้เฉพาะบนระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้นในตอนนี้) และเลือกไอคอนของแอปที่จะแสดงบนหน้า Home screen
🔹ได้ใช้ฟีเจอร์พิเศษๆ ก่อนคนอื่น เช่น ทวีตได้ยาวขึ้น (สูงสุด 4,000 ตัวอักษร) แก้ไขทวีตได้ (เลือกได้ว่าจะให้แก้ได้ภายในกี่นาที ตั้งแต่ 5 – 30 นาที) สามารถอัปโหลดวิดีโอความละเอียด Full HD 1080p ได้ และอัปโหลดวิดีโอได้สูงสุด 60 นาที ผ่านเว็บไซต์ หรือ 10 นาที ผ่านแอปบน iOS และ Android สามารถกำหนดเวลาให้ Twitter หน่วงไว้ก่อนจะทวีตออกไปได้สูงสุด 30 วินาที เผื่อเปลี่ยนใจไม่อยากทวีต และสามารถสร้างโฟลเดอร์เพื่อจัดการ Bookmark ให้เป็นระเบียบได้ (ปกติทวีตใดๆ ที่เรา Bookmark มันจะไปกองรวมกันที่เดียว)
โดยรวมต้องบอกว่าฟีเจอร์หลายตัว อาจจะไม่ได้มีประโยชน์กับเราเท่าไหร่ (เช่น เปลี่ยนไอคอน เปลี่ยนขนาดตัวอักษร) บางฟีเจอร์คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชาวบ้านเขาทำได้อยู่แล้ว (เช่น โพสต์ข้อความยาวๆ แก้ไขโพสต์) แต่ฟีเจอร์พวกนี้มันคือสิ่งที่ผู้ใช้งาน Twitter หลายคนอยากได้ แต่ Twitter ไม่เคยมีให้ และหลายคนก็ยอมจ่ายเพื่อจะได้ฟีเจอร์นี้มาจริงๆ เช่น การแก้ไขทวีตได้ในเวลาไม่เกิน 30 นาที ซึ่งทำให้เวลาที่เราพิมพ์ผิด เรายังมีโอกาสมาแก้ตัวได้ โดยที่ไม่ต้องเสียพวก Impressions และ Engagement ที่ทวีตของเราได้มา ไม่งั้นเราอาจจะต้องลบทวีตทิ้ง แล้วทวีตใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ปังเท่าเดิม
และก็ต้องบอกว่า Twitter มันเน้นเข็นฟีเจอร์ออกมา โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานซักเท่าไหร่ เพราะหากคุณเลือกทวีตเป็นเธรด แล้วแต่ละทวีตในเธรดก็ยาวเกิน 280 ตัวอักษร ซึ่งจะทำให้คนอ่านต้องแตะ Show more ทุกทวีต ประสบการณ์ที่ได้มันเหี้ยมากจริงๆ ครับ ทวีตที่ผมพูดถึงเรื่อง Metaverse ด้านบนเนี่ย ผมอยากให้แต่ละประเด็นที่ผมพูดถึง มันจบในทวีตเดียว ซึ่งทำให้มันยาวกว่า 280 ตัวอักษร ไอ้การเป็น Twitter Blue มันดีตรงนี้ แต่คนอ่านบ่นกันเลยครับ 🤣🤣
อ้อ! แล้วฟีเจอร์การแก้ไขทวีต มันก็ใช้กับทวีตที่เรา Reply คนอื่น หรือ ทวีตกันเป็นเธรด ไม่ได้ด้วยนะ
Twitter Verified Organizations: ถ้าคุณคิดว่าติ๊กถูกสีฟ้าแพงแล้ว คุณต้องเจอติ๊กถูกสีทองก่อน
หลายคนก็น่าจะเริ่มเห็นกันแล้วว่าแบรนด์ส่วนใหญ่ เขาจะมีติ๊กถูกสีทองที่ด้านหลัง อันนี้เป็น Verified badge อันใหม่ที่ Twitter ออกแบบมาเพื่อใช้กับพวกแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะครับ ถ้าลองไปแตะดูที่ติ๊กถูกสีทอง เราจะเห็นว่ามันก็คือ Verified account นั่นแหละ แต่จะเขียนอธิบายว่า This account is verified because it’s an official business on Twitter หรือ มันคือ บัญชีธุรกิจอย่างเป็นทางการบน Twitter

มันมีไว้เพื่อให้คนอื่นได้แน่ใจว่าอันนี้บัญชีของธุรกิจจริงๆ นะ ซึ่งเมื่อก่อน Twitter เขาก็จะมีการให้ติ๊กถูกเหมือนกัน แต่จะเป็นสีฟ้า และให้มาฟรีๆ แต่ตอนนี้เมื่อการยืนยันตัวตนคือบริการ Subscription ของ Twitter แล้ว เขาก็จะเก็บเงินครับ โดยแบรนด์ใดๆ ก็สามารถสมัครได้ผ่านแบบฟอร์มบนหน้าเว็บของ Twitter ซึ่งทาง Twitter ก็จะรีวิวด้วยนะว่าแบรนด์เข้าเกณฑ์ที่จะได้ไหม (นั่น! จะจ่ายตังค์ให้ ยังเล่นตัวอีกนะ)
ค่าใช้จ่ายสำหรับการได้มาซึ่งติ๊กถูกสีทองนี่ไม่ย่อยนะครับ แต่ละประเทศราคาไม่เท่ากัน แต่น่าจะใกล้เคียงกัน ไปดูราคาได้จากเว็บไซต์ของ Twitter แต่ขอเอาราคาสำหรับประเทศอเมริกา ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้ คือ $1,000 ต่อเดือน สำหรับ Based subscription และ $50 ต่อเดือน สำหรับ Affiliate seat subscription
อะ งงละดิ ว่าอะไรคือ Based subscription อะไรคือ Affiliate seat subscription
อันนี้คือเอาไว้สำหรับกรณีที่แบรนด์ใดๆ อยากจะให้บัญชี Twitter อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ได้ Verified badge ด้วย และยืนยันด้วยว่า นี่คือบัญชี Twitter ที่มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ เหมาะสำหรับแบรนด์หรือองค์กรระดับนานาชาติ หรือ มีการแยกบัญชี Twitter เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ หรือ มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือ เจ้าหน้าที่ที่ใช้บัญชี Twitter เพื่อสื่อสารแทนแบรนด์หรือองค์กร เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Twitter เนี่ย เขาก็จะมีบัญชีหลักเป็น @Twitter ใช่มะ อันนี้ถ้าเป็นแบรนด์อื่นๆ เขาก็จะจ่ายก่อนเลย $1,000 ต่อเดือน เป็น Based subscription เพื่อยืนยันว่าบัญชี Twitter อันนี้ เป็นของ Twitter จริงๆ นะ แต่ทีนี้ Twitter มันเป็นบริษัทข้ามชาติ มีหน่วยงานย่อยอื่นๆ และมีบริษัทอยู่ตามประเทศต่างๆ ด้วย


ในกรณีนี้ Twitter ก็จะมอบ Verified badge ที่เป็นติ๊กถูกสีทองเช่นกัน ไปให้บัญชี Twitter พวกนั้น เช่น Twitter Korea ที่เป็นบัญชีของ Twitter ประจำประเทศเกาหลี หรือ Twitter Verified ที่เป็นบัญชีสำหรับสื่อสารเรื่องการยืนยันตัวตนของ Twitter และในอนาคต ก็อาจจะให้ติ๊กถูกสีทองกับ Elon Musk ก็ได้ เพราะเขาเป็นเจ้าของ Twitter นิ

ในกรณีนี้ บัญชีที่ได้รับการ Verified ในฐานะ Affiliate seat subscription เวลาไปแตะที่ติ๊กถูกสีทอง ก็จะขึ้นข้อความอธิบายว่าบัญชีนี้ได้รับการยืนยันตัวตนเพราะมันเกี่ยวข้องกับแบรนด์นั้นนี้ และแบรนด์จะสามารถเลือกใส่ไอคอนเล็กๆ ไว้หลังชื่อของ Affiliate account พวกนี้ได้ อย่างในกรณีของ Twitter นี่ก็จะเห็นเป็นไอคอนโลโก้ Twitter ครับ หากแตะที่ไอคอนนี้ มันจะไปเปิดบัญชีที่เป็น Based subscription ขึ้นมาครับ
Legacy verified account: ถ้ายังอยากได้ติ๊กถูกสีฟ้าอยู่ ต้องจ่าย
Twitter ประกาศเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า หลังจากวันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป จะเริ่มถอด Legacy verification program ออกแล้ว และนั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่ได้ติ๊กถูกสีฟ้าจากโปรแกรมนี้ ก็จะถูกริบคืนครับ ถ้าอยากจะรักษาไว้ ก็จะต้องจ่ายเงินเพื่อสับตะไคร้เป็น Twitter Blue เหมือนคนอื่นๆ เขา

คนที่ได้ Legacy verified badge เนี่ย ผมสังเกตว่าจะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
🔹พวกที่ทาง Twitter จัดมาให้โดยไม่ได้ขอ เพราะ Twitter เห็นว่าบัญชีพวกนี้มีเป็นผู้มีชื่อเสียง (ดารา นักแสดง ทนาย นักการเมือง แพทย์) หรือ เป็นองค์กรที่มีอยู่จริง และมีบทบาททางเศรษฐกิจหรือสังคม (เช่น องค์การสหประชาชาติ หน่วยงานรัฐ) ที่อาจจะมีคนพยายามมาปลอมตัวเพื่อไปหลอกคนอื่น Twitter เลยต้องชิงลงมือ Verify ตัวจริงเอาไว้ก่อน
🔹พวกที่ไปลงทะเบียนเพื่อให้ Twitter พิจารณามอบ Legacy verified badge ให้ ซึ่งเขาก็จะมีเกณฑ์อยู่พอสมควรสำหรับบัญชีประเภทต่างๆ อันนี้ผมเคยไปลองขอมา 3 รอบ ไม่ได้ซักรอบ 🤣🤣
อันนี้ก็น่าจะมีบางคนที่น่าจะยังอยากจะได้ติ๊กถูกสีฟ้าอยู่ต่อไป เขาก็น่าจะพร้อมจ่าย เพราะเดือนละ 275 บาท หรือ ปีละ 2,900 บาท ถือว่าไม่ได้เยอะแยะอะไรมากมาย แต่ก็น่าจะมีอีกหลายคนที่อาจจะเลือกไม่จ่ายเงิน เพราะก็ไม่ได้ต้องการมาตั้งแต่แรก แต่ Twitter ยัดเยียดมาให้อะ
คำถามที่น่าสนใจคือ สมมติว่าคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอางค์และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางค์อยู่เสมอๆ Twitter ก็จัด Legacy verified badge มาให้โดยไม่ได้ร้องขอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนมาปลอมตัวเป็นคุณหมอท่านนี้ แต่พอ Twitter จะเก็บตังค์ คุณหมอก็เลยเลือกที่จะไม่จ่าย เพราะแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ได้คิดอยากได้ Verified badge อยู่แล้ว แต่มิจฉาชีพฉวยโอกาสนี้มาปลอมตัวเป็นคุณหมอ แล้วหลอกคนอื่น จะทำยังไง 🤨🤨
อนาคตของ Verified badge สำหรับหน่วยงานรัฐ องค์กรพหุภาคี มูลนิธิ และองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ก็น่าจะต้องจ่าย
สำหรับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระดับพหุภาคี (Mutilateral organizations) เช่น สถานทูต องค์กรสังกัดสหประชาชาติ อะไรแบบนี้ เขาจะได้ติ๊กถูกสีเทาครับ มันคนละแบบกับ Legacy verified account ที่กำลังจะโดนถอน

ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็น Timeline ว่าทาง Twitter จะเอายังไงนะครับ แต่ทิศทางน่าจะค่อนข้างชัดเจนว่าต้องจ่าย เพราะเขาระบุไว้ในหน้าเว็บ Verified Organizations (twitter.com) ว่างี้ครับ
Any organization that purchases a subscription to Verified Organizations will receive a gold checkmark and square avatar if they are a business or non-profit, or a grey checkmark and circular avatar if they are a governmental or multilateral organization.
Twitter
พูดง่ายๆ คือ ติ๊กถูกสีเทาจะยังอยู่ เพื่อแสดงถึงบัญชีหน่วยงานรัฐบาลหรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และองค์กรระดับพหุภาคี แต่น่าจะต้องจ่ายเงินครับ และเขามีการพูดถึงองค์กระประเภท Non-profit ด้วย ซึ่งในที่นี้เราก็มักจะนึกถึงพวกมูลนิธิ และองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า Twitter นี่กะจะเก็บเงินระดับ $1,000++ ต่อเดือน (ไอ้ ++ ที่ผมว่า หมายถึงกรณีที่องค์กรสาธารณกุศลจะให้ Verified badge กับบัญชีของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย) เลยเรอะ แล้วเขาจะมีปัญญาจ่ายไหม แล้วถ้าเกิดไม่จ่าย โดนริบติ๊กถูกคืน แล้วมีคนมาปลอมบัญชีแอบอ้าง เกิดความวุ่นวาย แบบนี้จะทำยังไง
มันน่าคิดจริงๆ … แต่ถ้าให้คิดไวๆ ถ้าองค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องมี Verfied badge ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะต้องไปสมัคร Twitter Blue ที่ถูกกว่าแทน จะได้ไหม? หรือทีม Twitter จะไม่ยอมรับ เพราะผิดเกณฑ์ แล้วบังคับให้ต้องสมัครเป็น Verified organization ซึ่งโคตรแพงกว่ามากให้ได้ อย่าลืมนะ พวก Non-profit ก็ไม่ได้มีทุนหนาทุกองค์กร และส่วนใหญ่ก็ดำเนินการด้วยเงินบริจาค การจะเอาเงินเขาไปเดือนละ $1,000 นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะครับ