อันนี้บอกเลยว่าวู่วาม เพราะไปเห็นโฆษณาบน Facebook แล้วเกิด “เอ๊ะ” ในใจ ว่า สมาร์ทวอทช์ที่ราคา 1,990 บาท (ราคาที่เขาโม้ว่าลดแล้ว) แต่บอกว่าวัดความดันโลหิตได้แม่น 90% มันจริงแท้แค่ไหน ตอนแรกก็คิดว่ามิจฉาชีพหลอกไหม แต่เช็กแล้ว ยี่ห้อนี้คือมีขายกันจริงๆ บนเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออย่าง Mercular.com ด้วย ฉะนั้น ก็เลยไม่รอช้า วู่วามซื้อมาลอง เพื่อที่จะได้เขียนเป็นข้อมูลให้รู้ว่า มันโอเคไหม
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
อันนี้ซื้อมาเองเลย แบรนด์เขาไม่ได้สนับสนุนอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ซื้อเพราะความอยากรู้ว่ามันทำได้ตามที่โฆษณาไหม จะได้เป็นข้อมูลสำหรับคนอื่นๆ ที่สนใจ (เพราะเห็นคนสนใจในแชทบน Facebook เยอะมาก) ได้อ่านกันเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ
ดูก่อนว่า Pure Health Life HR 2 เป็นยังไงบ้าง
สมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 นี่มีให้เลือกหลายสี (จำไม่ได้แล้วมีอะไรบ้าง จำได้แค่ ดำ กับ กรมท่า) ผมมีสมาร์ทวอทช์อีก 2 เรือน สมาร์ทแบนด์อีกเรือน สีดำหมดเลย ฉะนั้นผมเลยเลือกที่จะซื้อสีกรมท่าครับ ความประทับใจแรกคือ เฮ้ย! สีกรมท่าสวยอะ
ภายในกล่อง สิ่งที่เราจะได้ก็จะมีตัวสมาร์ทวอทช์ ที่เป็นแบบหน้าปัดกลมขนาดหน้าปัด 46 ม.ม. สายนาฬิกาที่เป็นแบบสายนาฬิกาทั่วไป ความกว้าง 22 ม.ม. วัสดุเป็น Silica Gel น่าจะหาเปลี่ยนได้ไม่ยาก แค่สีอาจจะไม่เข้ากับตัวเรือนอะ และมีมาให้แค่ขนาดเดียว ฉะนั้นหากใครที่ข้อมือเล็กๆ มาใช้ อาจจะสายเหลือยาวจนดูแปลกๆ ไปก็ได้ แล้วก็มีสายชาร์จที่เป็นหัวชาร์แบบแม่เหล็กเฉพาะรุ่น คู่มือการใช้งาน กับฟิล์มกันรอยสำหรับติดหน้าจอ

ตัวเรือนตอนแรกคิดว่าเป็นพลาสติก แต่ว่าสเปกบอกว่าเป็น Zinc alloy ครับ มีน้ำหนักประมาณ 36.5 กรัม ค่อนข้างเบาทีเดียว หน้าจอของสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 เป็นแบบหน้าปัดกลม จอสัมผัส ความละเอียดไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีสมราคาค่าตัว ฟิล์มกันรอยไม่ได้ติดมาให้เลย ต้องมาติดเอง ซึ่งเอาจริงๆ ติดไม่ยาก แต่ตอนติด ผมดันติดผิดด้าน (ลืมอ่าน) ผลคือฟิล์มเสียสิจ๊ะ ช่างมัน ใช้ๆ ไปเหอะ

ตัวสมาร์ทวอทช์มี 2 ปุ่ม อยู่ทางขวามือ ปุ่มบนเอาไว้เปิด-ปิดหน้าจอสมาร์ทวอทช์ ส่วนปุ่มล่างเป็น Shortcut เข้าสู่ตัวเลือกโหมดการออกกำลังกาย

ด้านหลังเราจะเห็นเซ็นเซอร์แสงสีเขียวที่เอาไว้สำหรับวัดการเปลี่ยนแปลงเลือดในเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง ที่เขาเรียกว่าเทคนิค PPG (Photoplethysmography) และมีขั้วทองเหลือสำหรับใช้เชื่อมต่อกับหัวชาร์จด้วยแรงแม่เหล็ก

ข้อสังเกตที่ผมเห็นตอนนี้ก็คือ ขอบจอของตัวสมาร์ทวอทช์ค่อนข้างหนาครับ และความละเอียดของหน้าจอก็ไม่ได้สูงมาก ถ้าเทียบกับพวกสมาร์ทวอทช์ราคาพรีเมียมหน่อย ก็เรียกว่าสู้ไม่ได้ แต่สำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป ก็ไม่ได้รู้สึกติดขัดอะไรครับ โดยรวม
ประสบการณ์ในการใช้งานสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2
ก็อย่างที่บอกว่าสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 เป็นหน้าจอสัมผัส ใช้งานไม่ยุ่งยาก มีแอปต่างๆ ให้เลือกใช้งานอยู่พอสมควร เช่น การออกกำลังกาย การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด การวัดความดันโลหิต ฯลฯ แต่ความน่ารำคาญคือ เราจะต้องแตะเลือกก่อนว่าเราอยากจะใช้แอปอะไร แล้วหน้าปัดก็จะหมุนตรื๊ดๆ มา แสดงไอคอนของแอปนั้นอยู่ตรงกลาง แล้วเราค่อยแตะไอคอนตรงกลางอีกรอบ แอบวุ่นวาย

เราสามารถปรับการตั้งค่าของสมาร์ทวอทช์ได้หลากหลาย เช่น ความสว่างของหน้าจอ การสั่งแจ้งเตือน ใช้โหมดไฟฉาย เป็นต้น และตัวสมาร์ทวอทช์ก็มีหน้าจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลต่างๆ ได้ เช่น กิจกรรมที่เกิดขึ้นประจำวัน ทั้งจำนวนก้าว การนอนหลับ การออกกำลังกาย และค่าต่างๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ค่า SpO2 อะไรแบบนี้


เมื่อเชื่อมกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปแล้ว เราก็สามารถรับการแจ้งเตือนต่างๆ บนสมาร์ทวอทช์ได้ ซึ่งมันสามารถแสดงผลได้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ไทย หรือแม้แต่ภาษาจีนได้สบายๆ

และอย่างที่บอกว่าการใช้งานสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 ก็ต้องใช้งานคู่กับแอปครับ เราสามารถดาวน์โหลดได้จากการสแกน QR code ที่มากับคู่มือการใช้งาน ซึ่งก็คือแอปที่ชื่อว่า Da Fit ที่มีให้ดาวน์โหลดทั้งบน Android และ iOS เลย ตรงนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่าตัวแอปเนี่ยพัฒนาโดยบริษัทจีนนะครับ และจากการค้นข้อมูลก็ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ต้นทางจริงๆ ของ Pure Health Life HR 2 น่าจะเป็น OEM ของจีน ที่แปะยี่ห้อ Pure Health มากกว่าจะเป็นสมาร์ทวอทช์ที่พัฒนาโดยแบรนด์ไทยนะ


แต่ตัวแอป Da Fit ก็ถือว่าใช้งานได้ค่อนข้างดีนะ มี User interface ที่ค่อนข้างเรียบง่าย ชัดเจน สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 ได้ค่อนข้างรวดเร็ว สามารถดาวน์โหลด Watch face หรือ หน้าปัดนาฬิกา ไปใช้ได้อย่างไม่ยาก และมีให้เลือกค่อนข้างเยอะอยู่ มีสวยๆ หลายอัน และมีหน้าปัดเวอร์ชันที่เราสามารถปรับตั้งเองได้ประมาณนึง ใส่รูปที่เราอยากใช้ได้ เลือกได้ว่าอยากให้มีอะไรแสดงบนหน้าปัดนาฬิกาบ้าง แต่จำกัดอยู่ที่พวกข้อมูลอย่าง เวลา การนับก้าว การนอน อัตราการเต้นของหัวใจ อะไรแบบนี้ มันไม่มีให้แสดงเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่แฮะ และมันวางของพวกนี้ได้ในตำแหน่งที่จำกัด ไม่ใช่ออกแบบมาเป็น Object ให้ขยายหรือย่อได้ตามใจและเลือกตำแหน่งวางได้ตามใจ เสียดาย ไม่งั้นจะครบถ้วนมาก

นอกจากนี้ก็มีฟีเจอร์ที่สามารถแสดงข้อมูลต่างๆ ได้ตามที่พวกแอปแนวๆ Health ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทวอทช์ หรือ สมาร์ทแบนด์ เขาใช้กัน แน่นอนว่าฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทวอทช์นี่ Pure Health Life HR 2 นี่มีหมดครับ นับก้าว วัดอัตราการเต้นของหัวใจ (ทั้งแบบตามสั่ง และแบบวัดต่อเนื่อง) นอกจากนี้ก็ยังวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ได้ และที่เป็นจุดขายที่เขาเอามาโฆษณากันบน Facebook โครมๆ ก็คือ วัดความดันโลหิตได้ครับ
คำถามจึงมีอยู่ว่ามันใช้ได้จริงแค่ไหน? แต่เขามาขายกันแบบจริงจังแบบนี้ มันก็ต้องทำได้ประมาณนึงใช่ไหมอะ ไม่งั้นก็เสี่ยงโดนฟ้องว่าหลอกลวงผู้บริโภคสิ เนอะ




ก่อนอื่น ลองวัดสองค่ามาตรฐานที่สมาร์ทวอทช์เขาทำได้ เพราะเป็นอะไรที่วัดกันด้วยเทคนิคที่เรียกว่า PPG อยู่แล้วครับ นั่นก็คือ อัตราการเต้นของหัวใจ และค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือที่เรียกว่า SpO2 นั่นเอง ผลที่ได้ จากการวัดหลายๆ หน และวัดจากแขนข้างเดียวกัน ก็ต้องบอกว่าสามารถทำได้ค่อนข้างใกล้เคียงกันครับ อย่างในรูปด้านบน จะเห็นว่าอัตราการเต้นของหัวใจวัดจากสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 ได้ 74 ครั้งต่อนาที ส่วนเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วก็ได้ 72 ครั้งต่อนาที และค่า SpO2 นี่อยู่ที่ 98% เทียบกับ 99%


ทีนี้มาถึงคราวของการวัดความดันโลหิตบ้างครับ ผมลองวัดหลายครั้ง ทั้งตอนที่กำลังนั่งพักผ่อน (ที่ความดันควรจะปกติ) และหลังออกกำลังกายหมาดๆ (ลองไปวิ่งๆ กระโดดๆ) ที่น่าจะทำให้ความดันสูงขึ้นเล็กน้อย ผลที่ได้ เมื่อเทียบกับเครื่องวัดความดันแบบใช้ตามบ้าน ที่เป็นแบบใช้ Air pressure ตามวิธีการมาตรฐาน ก็มีค่าแตกต่างอยู่ราวๆ 10% ซึ่งเป็นที่มาที่ทางร้านเขาเคลมว่าวัดแม่นยำ 90% นั่นแหละ
คำถามจึงอยู่ที่ว่า เทคนิค PPG นี่มันสามารถเอามาใช้วัดความดันโลหิตได้ไหม ผมก็ไปลองค้นๆ ดูงานวิจัยมา มันก็มีคนทำเอาไว้แหละ เรื่องการใช้เทคนิค PPG ในการวัดความดันโลหิต เช่น Cuffless Single-Site Photoplethysmography for Blood Pressure Monitoring – PMC (nih.gov) และ Blood Pressure Estimation from Photoplethysmogram Using a Spectro-Temporal Deep Neural Network – PMC (nih.gov) เพื่อความแม่นยำเนี่ย จะเห็นว่าเขามีการใช้ Depp Neural Network (เป็น Subset ของ Machine learning) เข้ามาช่วยให้การประมาณค่ามันมีความแม่นยำมากขึ้น

ผมลองเช็กกับทาง Pure Health เพราะเห็นเขาว่ามีข้อจำกัดเรื่องการวัดความดันได้สูงสุดไม่เกิน 160 มิลลิเมตรปรอท เขาก็ตอบมาตามรูปด้านบนครับ สังเกตว่ามีการพูดถึงการใช้ AI ช่วยประมวลผลด้วย หูยยยย ใช้ AI เลยเหรอ … แต่ในทางปฏิบัติ ก็ต้องบอกว่าวัดได้คาดเคลื่อนในระดับ 10% ซึ่งเขาว่าได้ตามมาตรฐาน ผมก็ไปลองหาดูว่า มาตรฐานมันเป็นยังไง ก็ไปเจอการอ้างอิงมาตรฐาน ANSI/AAMI/ISO ในบทความนี้ A Universal Standard for the Validation of Blood Pressure Measuring Devices: Association for the Advancement of Medical Instrumentation/European Society of Hypertension/International Organization for Standardization (AAMI/ESH/ISO) Collaboration Statement – PMC (nih.gov) เขาบอกว่า อุปกรณ์วัดความดันโลหิตถือว่าวัดได้ในระดับโอเค หากค่าที่วัดได้นั้นคลาดเคลื่อนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิเมตรปรอท โดยที่อย่างน้อย 85% ของการวัด จะต้องมีค่าคลาดเคลื่อนไม่เกินนี้ แต่การเปรียบเทียบว่าคลาดเคลื่อนหรือไม่นั้นจะต้องเทียบกับเครื่องวัดความดันโลหิตที่เป็นตัวอ้างอิง (ซึ่งก็ควรจะเป็นตัวที่ได้รับการสอบเทียบมาแล้ว) และต้องเทียบจากค่าเฉลี่ย 3 ครั้ง ดังนั้น การที่ผมเทียบกับเครื่องวัดแบบใช้ตามบ้านนี่ ก็ยังเรียกได้ว่า วัดได้ใกล้เคียงกับเครื่องวัดแบบใช้ตามบ้านในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้านี่ก็ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์นะครับ เพราะมันมีข้อจำกัดอยู่ เช่น วัดค่าความดันเกิน 160 มิลลิเมตรปรอทไม่ได้ เป็นต้น
นี่ยังไม่นับที่ลองวัดความดันของภรรยา ที่ปกติก็เป็นคนความดันต่ำครับ เครื่องวัดความดันแบบที่ใช้ที่บ้านนี่ยังวัดได้สบายๆ แต่พอเอา Pure Health Life HR 2 นี่มาวัด ปรากฏว่ากลายเป็น 126/83 อะไรแบบนี้เลย ซึ่งตัวเลขเวอร์วังมาก

ผมลองสอบถามไปกับทางเพจ Pure Health แล้ว เขาก็บอกว่า หากเป็นคนความดันต่ำ อาจจะต้องตั้งค่า ค.ศ. เกิดให้เป็นปี 1990 และมีการส่งกราฟิกอธิบายเรื่องการตั้งค่าส่วนบุคคล ตรงปีเกิด และน้ำหนัก เพื่อให้สามารถตรวจได้แม่นยำขึ้น โดยจากข้อความที่เห็น ผมได้ข้อสรุปว่าสำหรับคนที่ผนังเลือดนั้นดีกว่าอายุจริงหรือเสื่อมกว่าอายุจริง ก็อาจจะต้องไปตั้งค่าปีเกิดและน้ำหนักใหม่ เพื่อให้ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ สะท้อนออกมาใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ผมลองทำตามที่แนะนำแล้ว ค่าที่ได้ก็ยังออกมาไม่ถูกต้องอยู่ดีนะ
และในความรู้สึกส่วนตัวของผมคือ ถ้ามันแม่นยำจริงๆ เราก็ไม่ควรจะต้องไปปรับตั้งค่าปีเกิด หรือ น้ำหนัก ให้เพี้ยนไปจากความเป็นจริง เพื่อให้ค่าที่วัดได้มันแม่นยำสิ จริงไหม … อันนี้จึงสอดคล้องกับที่ผมเจอข้อมูลก่อนหน้า ที่ว่าการใช้เทคนิค PPG เพื่อวัดความดันโลหิต มันน่าจะอยู่ในแค่ระดับงานวิจัย และยังต้องปรับปรุงอีกเยอะครับ
สรุปจากที่ผมได้ลองก็คือ มันวัดความดันโลหิตได้ด้วยเทคนิค PPG ที่น่าจะอยู่ในชั้นงานวิจัย และมีความแม่นยำในระดับนึงสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนที่สภาพร่างกายปกติ แต่หากมีความผิดปกติเช่น ความดันสูงมากๆ หรือ ความดันต่ำมากๆ ก็อาจจะเพี้ยนได้ ฟีเจอร์นี้เลยค่อนข้างไปทางกิมมิกที่อาจจะเวิร์กสำหรับบางคนมากกว่า เช่น มันเวิร์กกับผมประมาณนึง แต่ไม่เวิร์กกับภรรยาผม เป็นต้น

สำหรับการออกกำลังกาย สมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 มันไม่รองรับ GPS ครับ เลยต้องใช้วิธีการคำนวณเป็นหลักครับ เวลาเราใส่ข้อมูลส่วนสูง อายุ และระยะก้าวแล้ว มันก็จะอาศัยการนับก้าวเพื่อคำนวณระยะที่เราเดินหรือวิ่งได้ เมื่อเทียบกับระยะเวลา มันก็จะคำนวณการเผาผลาญแคลอรี่และระยะทางที่เดินหรือวิ่งได้นั่นเอง ก็น่าสนใจตรงที่มัน Track กิจกรรมกีฬาได้ทั้ง เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก แบดมินตัน บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ ก็ไม่แน่ใจว่ามัน Track ด้วยวิธีไหนนะ พอดีหลายๆ กิจกรรมผมไม่ได้ทำ ก็เลยไม่ได้ลอง
นอกจากนี้ แม้ว่าตัวสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 จะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ สามารถแสดงรายชื่อเพลงและควบคุมการเล่นไฟล์มัลติมีเดียบนสมาร์ทโฟนได้ เวลามีคนโทรเข้ามา ก็แสดงการแจ้งเตือนได้ แต่จะไม่สามารถกดรับโทรศัพท์จากสมาร์ทวอทช์ตัวนี้ได้นะครับ กดวางสายได้ กดปิดเสียงโทรได้ ประมาณนี้ ยังไงเราก็ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมารับโทรศัพท์นะ เพราะมันไม่ได้มีไมโครโฟน และลำโพงในตัวน่ะ
ฟีเจอร์อื่นๆ ของสมาร์ทวอทช์ตัวนี้ก็เช่น ใช้เป็นชัตเตอร์กล้อง ฝึกกำหนดลมหายใจเพื่อให้ผ่อนคลาย อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะได้ใช้ประโยชน์บ้างละนะ
ด้านแบตเตอรี่ให้มา 200mAh สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็มภายใน 1 ชั่วโมง และสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ 5-7 วันครับ ซึ่งก็ดูแล้วได้ตามนั้นจริงๆ แหละครับ และยิ่งหากเราไม่ได้เปิดใช้พวก Notification ของแอปต่างๆ ด้วย แบตเตอรี่ยิ่งอึดเข้าไปใหญ่เลยครับ
บทสรุปการรีวิวสมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2
สมาร์ทวอทช์ Pure Health Life HR 2 ตัวนี้ จริงๆ ก็เรียกว่ามีฟีเจอร์ในระดับสมาร์ทแบนด์มากกว่า แต่ดีกว่าตรงที่ได้ขนาดของหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเกิดจะซื้อมาเพื่อ Track การออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ การนอนหลับ ฯลฯ พวกนี้ ด้วยราคานี้ ผมว่าพวกสมาร์ทแบนด์แบบยี่ห้อดีๆ อย่าง HUAWEI Band 7 เนี่ย ก็น่าจะดีกว่าครับ ราคาถูกกว่าด้วย ต่างกันตรงที่วัดความดันโลหิตไม่ได้ แต่ก็อย่างที่บอก ฟีเจอร์นี้มันยังอยู่ในระดับงานวิจัยซะมากกว่า ออกแนวกิมมิกมากกว่าครับ
แต่ถ้าใครยังสนใจอยากจะได้อยู่ดี ลองทักไปทาง Facebook Page PureHealth ดูได้ครับ แอดมินนี่เหมือนจะประจำการ 24 ชั่วโมงเลย เพราะผมทักไปซื้อตอนสี่ทุ่ม เขาก็ยังตอบ เรียกว่าปิดการขายกันก่อนเที่ยงคืนอะ แล้วก็ตอบค่อนข้างไวดีครับ