เอาจริงๆ Chromebook เป็นอะไรที่ผมไม่ได้ลองใช้มานานมาก ครั้งล่าสุดที่ได้ลองใช้น่าจะหลายปีมาแล้ว ซึ่งงวดนี้ ASUS เขาเอามาปรับให้มีความพรีเมียมมากขึ้นทั้งเรื่องการออกแบบ วัสดุที่นำมาใช้ สเปกของตัวเครื่อง โดยตั้งเป้าให้ ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ตัวนี้เป็นโซลูชันโน้ตบุ๊กสำหรับนักเรียนและครูผู้สอน ซึ่งจะมีความสะดวกทั้งการใช้งาน เพราะสามารถเปิดพร้อมใช้ได้รวดเร็วพอๆ กับพวกแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน แล้วหลายๆ โรงเรียนในตอนนี้ ก็เริ่มเอาโซลูชันด้านการเรียนของ Google อย่าง Google Classroom ก็จะใช้งานร่วมกับ Chromeboox ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีโซลูชันอย่าง Chrome Education Upgrade ให้เลือกใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการบริหารจัดการอุปกรณ์อีกด้วย
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ตัวนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS Thailand มาให้ลองใช้งานครับ แอบเสียดายว่ามีเวลาลองใช้ประมาณสัปดาห์เดียว เลยอาจจะไม่ได้ลองโน่นนี่นั่นได้ละเอียดมาก แต่ก็จะพยายามเขียนเล่าประสบการณ์ในการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ให้มากที่สุด โดยพยายามเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วไปครับ
แกะกล่องดูดีไซน์ของ ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401)
ถึงจะเรียกว่า Chromebook ก็เหอะ แต่เอาเข้าจริงๆ ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) มันก็คือโน้ตบุ๊กเราดีๆ นี่แหละครับ ดีไซน์มันก็จะคล้ายๆ กับโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไป แต่ด้วยความที่มันคงจะถูกออกแบบมาให้ใช้งานสำหรับสถานศึกษา ให้นักเรียนและครูอาจารย์ได้ใช้กัน เขาก็เลยคิดเผื่อเรื่องการเชื่อมต่อต่างๆ ให้ครบถ้วน และฟีเจอร์ต่างๆ ให้พร้อมมากที่สุดเป็นอันดับแรก

ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ก็ดีไซน์ออกมาตามชื่อรุ่นครับ คือ Flip หมายความว่าสามารถพับหน้าจอได้ 360 องศา ใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กก็ได้ เป็นแท็บเล็ตขนาดเขื่อง (และหนัก) ก็ได้เช่นกัน หน้าจอเป็นขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1,920×1,200 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 รองรับการสัมผัสได้ 10 จุดสบายๆ แต่ก็แลกมาด้วยการที่หน้าจอเป็นแบบกระจก ก็จะสะท้อนแสงใดๆ เข้ามาได้ง่ายหน่อย มีสไตลัสแถมมาให้ด้วยเอาไว้ขีดๆ เขียนๆ ได้ ตามสเปกบอกว่ามี Color gamut หรือขอบเขตของสีอยู่ที่ 100%sRGB ซึ่งก็ถือว่าไม่เลวเลย

ด้านบนของหน้าจอ ก็มีกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p มาให้ และแน่นอนว่ามาพร้อมกับ Privacy shutter ที่สามารถเลื่อนปิดเลนส์กล้องได้ในระดับกายภาพ หมดห่วงว่าจะมีใครแอบมาแฮกกล้องเว็บแคมแล้วมาแอบดูเรา

คีย์บอร์ดดูแล้วก็ไม่แตกต่างอะไรจากโน้ตบุ๊กทั่วไปมาก ตำแหน่งการวางปุ่มต่างๆ ก็เป็นอะไรที่เราคุ้นเคย แต่ความแตกต่างก็คือ ปุ่มฟังก์ชันต่างๆ ที่อยู่แถวบนสุดที่ปกติจะเป็นตำแหน่งของปุ่มฟังก์ชัน (F1 – F12) ที่ถูกแทนที่ด้วยฟังก์ชันลัดสำหรับ ChromeOS นั่นเอง เดี๋ยวตอนรีวิวจะมาเล่าให้อ่าน ว่าแต่ละปุ่มมันทำอะไรได้บ้างนะ ข้อสังเกตอีกเรื่องคือ ช่องระบายความร้อนจะอยู่ตรงบริเวณด้านบนของคีย์บอร์ด ที่ใกล้ๆ กับบานพับของหน้าจอข้างขวาครับ
Touchpad มีขนาดใหญ่ และใช้งานได้ค่อนข้างลื่นดีครับ มันรองรับ Multitouch และ Gesture ด้วย และแน่นอน เดี๋ยวตอนรีวิวประสบการณ์ใช้งานค่อยมาพูดถึงกัน
ผมสังเกตเห็นแผ่นยางที่ถูกติดตั้งไว้ตรงจุดต่างๆ ของบริเวณคีย์บอร์ด อันนี้เป็นเพราะว่าดีไซน์แบบ Flip ที่ทำให้เราอาจจะเอาฝั่งที่เป็นคีย์บอร์ดมาวางบนโต๊ะแทน แผ่นยางพวกนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถวางตัวเครื่องไว้บนพื้นผิวจำพวกโต๊ะได้อย่างสบายใจ ไม่เลื่อนไหลง่ายๆ อย่างไรก็ดี ผมตั้งข้อสังเกตว่าหากเทียบกับด้านใต้ของตัวเครื่องแล้ว แผ่นยางนี่ขนาดต่างกันเยอะมากครับ ก็รู้สึกว่ามันไม่น่าจะเหมาะที่จะพับหน้าจอแล้วเอาคีย์บอร์ดวางเป็นฐานแทนซักเท่าไหร่

ด้านใต้ของตัวเครื่องเป็นดีไซน์ที่มีช่องระบายอากาศ เอาไว้ดูดอากาศเย็นเข้าเพื่อเอาไปช่วยระบายความร้อนของตัวเครื่อง มีแผ่นยางกันลื่นติดตั้งเอาไว้ 3 จุด เพื่อช่วยให้ตัวเครื่องสามารถยึดกับพื้นผิวใดๆ ที่เราวางตัวโน้ตบุ๊กตัวนี้เอาไว้ได้ ไม่ให้เลื่อนไหลไปง่ายๆ และมีลำโพงสเตริโออยู่ด้านซ้ายและขวา จูนเสียงโดย harman/kardon


ด้านซ้ายของตัวเครื่อง มีสล็อตสำหรับใส่สไตลัสซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ชาร์จไปในตัว มีพอร์ต Thunderbolt 4/USB-C พอร์ตนึง พอร์ต HDMI 2.1 ช่องเสียบออดิโอแบบคอมโบ 3.5 ม.ม. และสล็อตอ่าน MicroSD card ส่วนด้านขวาจะมีช่องสำหรับใส่ตัวล็อก Kensington พอร์ต Thunderbolt 4/USB-C พอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ปุ่ม Volum ปุ่ม Power และไฟ LED แสดงสถานะการใช้งาน ตัวพอร์ต Thunderbolt 4/USB-C ทั้งสองพอร์ตนี่จะรองรับ Power Delivery ด้วย
นอกจากนี้ ด้วยความที่เขาวางตำแหน่งของโน้ตบุ๊กตัวนี้ว่าเอาไว้ใช้ในสถานศึกษา เขาก็ออกแบบมาให้ถึกทนด้วยมาตรฐาน US MIL-STD 810H military-grade standard ครับ ทดสอบทั้งการพับบานพับหน้าจอ ซึ่งว่ากันว่าทนทานถึง 20,000 ครั้ง การเสียบอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้าพอร์ตต่างๆ ซึ่งว่ากันว่าสามารถเสียบเข้าออกได้ถึง 5,000 ครั้ง ลองกดแป้นพิมพ์รัวๆ ที่สามารถพิมพ์ได้เป็น 10 ล้านครั้ง

ดีไซน์ที่ผมชอบคือ การที่ออกแบบให้พอร์ต Thunderbolt 4/USB-C เนี่ยมีฝั่งละพอร์ต เพราะการที่มันรองรับ Power Delivery หมายความว่าเราสามารถใช้พอร์ตนี้ในการชาร์จแบตเตอรี่ได้ การที่มีพอร์ตทั้งสองฝั่ง ทำให้เราสามารถเสียบสายชาร์จฝั่งไหนก็ได้ เลือกให้มันสอดคล้องกับตำแหน่งของรูปลั๊กไฟ หากต้องการจะต่อจอเสริมที่เป็น USB-C ก็เลือกเสียบได้ตามลักษณะการวางจอเช่นกัน
สเปกของ ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401)
ปกติผมก็อยากจะวัดประสิทธิภาพของตัวโน้ตบุ๊กด้วย แต่ว่าด้วยความที่เป็น ChromeOS มันก็จะหาตัววัดประสิทธิภาพยากๆ หน่อย และก็เอาไปเปรียบเทียบกับพวกระบบปฏิบัติการอื่นๆ ยาก ดังนั้น ผมจะขอพูดถึงเฉพาะสเปกแทนนะครับ ซึ่งตัวที่ผมได้มารีวิวนี่จะเป็นสเปกตามนี้ครับ
สเปก | รายละเอียด |
---|---|
หน่วยประมวลผล | Intel® Core™ i5-1235U Processor 1.3 GHz (12M Cache, up to 4.4 GHz, 10 cores/12 threads) |
หน่วยความจำ | 8GB LPDDR4X on board ไม่สามารถอัปเกรดได้ |
เนื้อที่เก็บข้อมูล | WDC PC SN530 SDBPNPZ-256G-1002 ความจุ 256GB ความเร็วในการอ่านข้อมูลแบบ Sequential 2,400MB/s ความเร็วในการเขียนข้อมูลแบบ Sequential 950MB/s (อ้างอิง: Western Digital) |
หน้าจอแสดงผล | 14 นิ้ว IPS LCD 16:10 1,920×1,200 พิกเซล 144Hz รองรับการสัมผัส 10 จุด 100% sRGB |
พอร์ตเชื่อมต่อ | 2 × Thunderbolt 4/USB-C PD (USB 3.2 Gen 2) 1 × USB-A (USB 3.2 Gen 2) 1 × HDMI 2.1 1 × MicroSD card slot 1 × 3.5mm Audio combo jack |
การเชื่อมต่อไร้สาย | WiFi 6E (802.11ax) Dual-band 2*2 Bluetooth 5.1 |
แบตเตอรี่ | 63Wh 4-cell Li-ion ที่ชาร์จแบบ USB-C 45 วัตต์ |
น้ำหนัก | 1.8 กิโลกรัม |
ในแง่สเปก เรียกว่าไม่แย่เลยครับ ใช้ CPU เป็น Intel Gen 12th ซะด้วย หน่วยความจำ และเนื้อที่เก็บข้อมูลก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์โอเค เสียดายตรงที่อัปเกรดแรมไม่ได้ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร พอร์ตการเชื่อมต่อก็เรียกว่าครบเครื่อง และทันสมัยอยู่ รองรับ WiFi 6E และ Bluetooth 5.1 เรียบร้อย แอบขัดใจตรงที่น้ำหนักตัว 1.8 กิโลกรัมนี่แหละ ขอย้ำอีกที
ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401)
แรกเริ่มเดิมที Chromebook จะเป็นโน้ตบุ๊กที่ประสิทธิภาพไม่ได้สูงมาก ใช้หน่วยประมวลผลบนสถาปัตยกรรม ARM ผมเองก็เคยมี Chromebook ตัวนึง เป็น Samsung Series 5 รุ่นแรกสุดของ Chromebook เลยครับ (ตอนนี้แบตเตอรี่เสื่อมและอัปเดตไม่ได้แล้ว กำลังจะเอาไปทิ้งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว) ผ่านมา 10 ปี ตอนนี้ Chromebook นี่แยกออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ ครับ คือ ราคาประหยัด สเปกไม่แรง แต่ด้วยความที่ ChromeOS มันก็ไม่ได้ต้องการสเปกสูงๆ มาก มันก็ยังพอจะรันได้สบายๆ อยู่ในระดับนึง พวกนี้มักจะมากับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM กับ ราคาพรีเมียม ที่สเปกแรงเลย ใช้หน่วยประมวลตระกูล x86 อย่าง Intel Core i เลยทีเดียว ซึ่ง ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) นี่เป็นแบบหลังครับ

ใครคุ้นชินกับ ChromeOS ในอดีต แล้วไม่ได้ใช้งานมานานแบบผม ให้ลืมภาพอดีตไปให้หมดก่อนเลยนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ ChromeOS มันไม่ได้มีแค่เฉพาะเบราว์เซอร์ Google Chrome แล้ว มันสามารถรันแอปของพวกระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้สบายๆ ด้วย ดังนั้นให้คิดง่ายๆ ว่า มันจะคล้ายๆ กับคุณได้ใช้ Desktop mode ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อยู่เลยครับ โดยติดตั้งแอปต่างๆ ได้ผ่าน Google Play Store เลย

ฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องการใช้งานทั่วๆ ไปครับ สามารถทำได้สบายๆ อยู่ งานเอกสารก็มีแอป Microsoft 365 ที่มีทั้ง Word, Excel และ PowerPoint ส่วนอีเมลก็มี Microsoft Outlook ซึ่งแอปขำตรงที่มันจะมีการแจ้งเตือนว่าแอปนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว ตรงนี้ผมก็งงว่าเขาหมายความว่าไง เพราะเท่าที่สังเกต คนที่พัฒนาแอปมันคือ Microsoft อะ และแอปก็อัปเดตล่าสุดวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาแท้ๆ อย่างไรก็ดีมันก็มีข้อจำกัดตรงที่ตัวแอปมันเป็นเวอร์ชันสำหรับอุปกรณ์พกพา ไม่สามารถใช้งานในระดับซับซ้อนแบบพวกเวอร์ชันสำหรับ Windows หรือ macOS ได้นะครับ และแม้ว่าจะมีตัวเลือกฟ้อนต์ที่หลากหลายอยู่ ถ้าเลือกให้ดีๆ ก็สามารถใช้ฟ้อนต์แบบเดียวกันกับเอกสารที่ทำบน Windows หรือ macOS ได้ แต่บางตัวมันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ และการจะเพิ่มฟ้อนต์เข้าไปในระบบมันก็ไม่ง่ายนัก

เดี๋ยวนี้แอปบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็มีหลายตัวที่ทำโน่นนี่ได้หลากหลาย ทั้งตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ และหากยังไม่พอ เดี๋ยวนี้ก็มีพวก Web app จำนวนมากที่สามารถใช้งานแทนโปรแกรมต่างๆ ได้อีก เช่น Photopea.com ที่เป็นโปรแกรมตกแต่งภาพออนไลน์ รองรับไฟล์งานต่างๆ รวมถึง .PSD ของ Adobe Photoshop ด้วย แถมใช้ได้ฟรีอีกตะหาก

ในแง่ของประสิทธิภาพ ก็บอกเลยว่า Intel Core i5-1235U ที่เป็น Intel Gen 12th 10 cores (8 efficient cores 2 performance cores) 12 threads กับแรม LPDDR4X 8GB นี่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานอยู่ครับ อย่างไรก็ดี หน่วยความจำ 8GB นี่ หากใครเป็นผู้ใช้งาน Windows ก็อาจจะจำได้ว่าพวกเบราว์เซอร์นี่กินแรมมากเป็นพิเศษ เพราะเว็บไซต์ต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาสอยแรมไปเยอะ แต่จะว่าไป ต่อให้รันเป็นแอปก็ไม่ได้แตกต่างกันนะครับ หน่วยความจำมีแค่ 8GB ก็เลยทำให้ Swap memory โดนใช้เยอะหน่อย แต่เท่าที่ลองใช้งานมา ก็ไม่รู้สึกติดขัด หรือหน่วงอะไร แม้แรมจะโดนซัดไปหมดแล้วก็ตาม

ทุกแอปของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ดาวน์โหลดมา เราสามารถแสดงผลมันได้ 3 แบบ คือ Phone, Tablet และ Resizable ก็ตามชื่อนั่นแหละ Phone ก็คือแสดงผลเหมือนกับสมาร์ทโฟน Tablet ก็แสดงผลเหมือนกับแท็บเล็ต ส่วน Resizable นี่เอาไว้ขยายขนาดของหน้าต่างโปรแกรมได้เหมือนโปรแกรมบนเดสก์ท็อปใดๆ ผมตั้งข้อสังเกตว่า บางแอป เช่น Twitter เหมือนจะไม่ใช่ Native Android app ครับ สังเกตได้จากการที่มันไม่มีตัวเลือกให้เปลี่ยนรูปแบบการแสดงผล แต่เวลาคลิกดูตรงไอคอนจุดสามจุด มันจะมีตัวเลือกเหมือนกับการเปิดบนเบราว์เซอร์แทน
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกแอปที่จะมีให้ดาวน์โหลดบน Google Play Store ครับ เพราะบางแอป เช่น Lazada หรือ Shopee ก็ไม่มีให้ดาวน์โหลดนะ ซึ่งแอบแปลกใจเหมือนกัน เพราะ Aliexpress นี่มีให้ดาวน์โหลด และขนาด JD Central ที่ปิดตัวเองไปตั้งกะต้นเดือน ก็ยังมีให้ดาวน์โหลดอยู่เลย

แต่จุดเด่นของ Chromebook ที่ตอนนี้ยังเหนือพวกโน้ตบุ๊กที่รัน Windows อยู่ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่มันมีพวกแอป Mobile banking และแอปลงทุนต่างๆ ให้ใช้ ซึ่งหลายๆ ธนาคารเริ่มถอนตัวออกจาก Internet banking (หมายถึง บริการธนาคารออนไลน์ผ่านเบราว์เซอร์) แล้วหันไปโฟกัสที่ Mobile banking แล้ว ทำให้การเข้าถึงบริการธนาคารผ่านเว็บอาจทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่าผ่านแอป และ ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ที่เป็น Chromebook นี่ก็เลยทำให้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้สบายๆ อยู่ ส่วนพวกแอปลงทุนต่างๆ บางตัวก็มีเฉพาะบน Android และ iOS อยู่แล้ว และบางบริการ เช่น Streaming by Settrade นี่ ถ้าเอาสะดวก เรียบง่าย ก็ใช้ผ่านแอป ถ้าอยากได้ Full function ก็มีเวอร์ชันเว็บให้ใช้ ซึ่ง Chromebook ก็สามารถใช้บริการได้อยู่

โดยพื้นฐาน ถ้าจะแค่ทำงานเอกสาร ท่องเว็บ ตัดต่อคลิป ตกแต่งกราฟิกเล็กๆ น้อยๆ เนี่ย ก็ไม่น่าจะต้องใช้ถึงขั้น Intel Core i5-1235U ไหมนะ แต่ทำไมเขาถึงให้สเปกมาขนาดนี้? คำตอบน่าจะเป็นเรื่องของการเล่นเกมละมั้ง เขาถึงได้ให้จอที่มีรีเฟรชเรตสูง 144Hz มานี่ไง ก็ลองเอาไปเล่นเกมโน่นนี่นั่นได้ครับ แต่ถ้าใครจะเอามาเล่นเกม แนะนำให้ปรับการแสดงผลเป็นแค่ Tablet นะครับ จะค่อนข้างไม่มีปัญหามาก และหากใครต้องการที่จะใช้งานแบบแท็บเล็ตจริงๆ ก็พับจอไปข้างหลังเลยครับ ระบบจะตรวจจับว่ากำลังใช้งานในโหมดแท็บเล็ต และจะแสดงผลเป็นเต็มจอแบบแท็บเล็ตที่อัตราส่วนหน้าจอ 16:10 เองโดยอัตโนมัติเลย ผมลองเอามาเล่นเกม ROV ก็โอเคอยู่นะ แต่ถือเล่นยากมาก เพราะมันคือแท็บเล็ตหนัก 1.8 กิโลกรัม!!!

สำหรับคอเกม อีกวิธีนึงในการเล่นก็คือ Cloud gaming service อย่าง GeForce NOW ครับ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายวัน รายเดือน และ รายปี ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ NVIDIA

สำหรับการใช้งานอื่นๆ เช่น การต่อจอแสดงผลเพิ่ม ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ตัวนี้ก็รองรับทั้งผ่านพอร์ต HDMI และ Thunderbolt 4/USB-C เลยครับ ผมลองเอาจอ Lenovo L15 มาเสียบด้วยสาย USB-C เส้นเดียว ก็สามารถแสดงผลเป็นจอเสริมในโหมด Extended desktop ได้เลย และเราสามารถปรับรายละเอียดต่างๆ ได้ อาทิ อัตรารีเฟรชหน้าจอ (อยู่ที่ว่าจอที่เราเอามาเสียบมันรองรับแค่ไหน) ขนาดของการแสดงผลของหน้าจอ ทั้งในแง่ความละเอียดการแสดงผล การขยายพวกไอคอนและขนาดตัวอักษร (คล้ายๆ การ Scale หน้าจอของ Windows) การหมุนของหน้าจอ (ในกรณีที่เราอยากได้จอแสดงผลในแนวตั้ง) อะไรแบบนี้


แล้วถ้าเราอยากจะปริ้นต์เอกสารล่ะ? พอไปที่การตั้งค่า Printer and scan คลิกไปเพื่อจะเพิ่ม Printer ก็เห็นได้ว่ามันเจอ EPSON L3150 ที่เป็น Network printer ของผมเลยครับ แค่กด Save ปุ๊บ ก็พร้อมใช้งาน เวลาจะพิมพ์ เราก็แค่เลือกว่าจะพิมพ์ออกเครื่อง Printer เครื่องไหน เท่านั้นเลย แต่อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ มันไม่ใช่ Printer ทุกเครื่องที่จะใช้งานได้ เวลาเราจะซื้อ เราต้องดูด้วยว่ามันรองรับ Google Cloud Print ไหม แล้วก็ต้องไปตั้งค่าด้วย พอดีเครื่อง Printer ที่บ้านผมอะ มันเซ็ตเอาไว้แล้ว

ตัว ChromeOS มันอนุญาตให้เราสามารถเพิ่มผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งคนได้ และหากเราต้องการจะให้ลูกหลานได้ใช้ด้วย เราก็สามารถสร้างบัญชีสำหรับเด็กได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราตั้งค่าจำพวก Parental control ช่วยดูแลเรื่องการใช้งานของลูกหลานได้ (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการตั้งค่าจากเว็บไซต์ของ Google)

ด้วยความที่ ChromeOS มันเป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดย Google มันก็จะทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่รันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ค่อนข้างเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ Smart unlock ที่ให้เราปลดล็อก ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ตัวนี้ได้จากอุปกรณ์ที่รันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของเรา หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน WiFi Hotspot แบบง่ายๆ เมื่อตัวโน้ตบุ๊กมันตรวจพบว่าสมาร์ทโฟนของเราที่เซ็ตเป็น Connected device เอาไว้แล้ว

คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) จัดว่าพิมพ์ได้สะดวกมือดีครับ มีจุดขายที่เป็นไฟ RGB สามารถเปลี่ยนสีได้ด้วย แต่ก็ดั๊น มีข้อจำกัดว่าไม่รู้จะเปลี่ยนสียังไง เพราะข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ASUS บอกว่า มันอยู่ที่ Google gaming keyboard UI อะ

และที่ผมต๊ะไว้ตอนต้นเกี่ยวกับปุ่มฟังก์ชันต่างๆ ของคีย์บอร์ด ที่มันมาแทนที่ฟังก์ชันคีย์ของคีย์บอร์ดสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows เนี่ย ก็เอาไว้ทำงานสำหรับสั่งฟังก์ชันต่างๆ ของตัวระบบปฏิบัติการ ChromeOS และแอปแอนดรอยด์เป็นหลักนะ ได้แก่ ปุ่ม Back ปุ่ม Refresh (คล้ายๆ ปุ่ม F5 นั่นแหละ) ปุ่ม Full screen (ทำหน้าที่เหมือน F11) ปุ่ม App switch กดปุ๊บมันจะแสดงรายการแอปทั้งหมดที่เราเปิดอยู่ในหน้าจอเดียวให้เราเลือกว่าจะไปใช้แอปไหน ปุ่ม Screen capture เอาไว้จับภาพหน้าจอได้ง่ายๆ ที่พอจับภาพเสร็จแล้วมันจะเซฟลงไปในโฟลเดอร์ที่เรากำหนด (Default คือโฟลเดอร์ Download) ปุ่มปรับความสว่างของหน้าจอ ปุ่มปิดลำโพงและปรับระดับเสียง และสุดท้ายปุ่มล็อกหน้าจอ (ต้องกดค้างแป๊บนึง มันจะเข้าสู่การล็อกหน้าจอ)


เกือบลืมพูดถึงสไตลัสที่แถมมากับตัวโน้ตบุ๊ก ซึ่งมีสล็อตใส่มาให้เรียบร้อย และตัวสล็อตนี้ก็ทำหน้าที่เป็นจุดชาร์จแบตเตอรี่ให้ในตัว ซึ่งแม้ว่าเราจะใช้แบตเตอรี่จนหมด แต่การชาร์จแค่ 15 วินาทีก็ให้พลังงานแบตเตอรี่ได้เพียงพอสำหรับการใช้ขีดๆ เขียนๆ ได้ 45 นาทีแล้ว อันนี้เข้าใจว่าให้มาเพื่อให้ตัวโน้ตบุ๊ก ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) เป็นโน้ตบุ๊กอเนกประสงค์สำหรับการเรียน ซึ่งเวลาเด็กๆ เรียน มันก็จะมีบ้างแหละที่จะต้องขีดๆ เขียนๆ วาดโน่นนี่ สไตลัสมันก็จะมาตอบโจทย์นี้

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับสไตลัสของ ASUS ที่ผมเคยใช้กับโน้ตบุ๊กอย่าง ASUS ZenBook 14 Duo UX482 ที่ผมใช้อยู่ ผมว่าสไตลัสตัวนี้แอบหน่วงไปหน่อย เอามาใช้ค่อยๆ ขีดๆ เขียนๆ คือพอได้ แต่ถ้าจะเอาไปใช้งานระดับโปร อยากให้แบบลากเส้นแล้วเส้นวิ่งไล่ตามปลายปากกาสไตลัสเลยเนี่ย คุณจะผิดหวังเอา บอกเลย แอบเสียดายอยู่เหมือนกันนะ
ในแง่ของการใช้งานเรียนออนไลน์ที่ต้องมีการประชุมออนไลน์ผ่านแอปอย่าง Microsoft Teams, Zoom หรือ Google Meet อะไรพวกนี้ สามารถรองรับได้หมด เพราะมันลงแอปของแอนดรอยด์ได้นี่แหละ อย่างไรก็ดี ความสามารถของมันก็จะแอบมีข้อจำกัดมากกว่าแอปบนระบบปฏิบัติการ Windows เต็มตัวอยู่บ้าง แต่โดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการแชท การแชร์หน้าจอ อะไรพวกนี้ ก็ทำได้เหมือนกันอยู่ แต่ผมก็สังเกตว่าในบางกรณีแอปก็แอบเด้ง ปิดตัวเองไปซะเฉยๆ เวลาแชร์หน้าจอที่ความละเอียดสูงๆ เวลาที่เราเปิดแสดงผลในโหมด Resizable ครับ จากประสบการณ์ในการใช้แอปต่างๆ รวมถึงการเล่นเกม ก็อยากแนะนำว่าให้ใช้งานในโหมด Phone หรือ Tablet เป็นหลักจะดีกว่า เพราะไม่ใช่ทุกแอปจะออกแบบมาดีสำหรับการปรับขนาดหน้าจอได้ แล้วเราก็ตอบไม่ได้ว่าแอปอันไหนออกแบบมาดีด้วยจนกว่าเราจะได้ลองเอง แอปไหนเราต้องใช้บ่อยๆ ก็ลองปรับการแสดงผลเป็น Resizable ดู เพื่อจะได้ดูว่ามันโอเคไหม แอปเด้งไหม ก็ได้ครับ
ลำโพงเขาว่าจูนโดย harman/kardon เท่าที่ลองฟัง ก็คุณภาพเสียงดีทีเดียวครับ เอามาดูหนัง ฟังเพลง เสียงก็ดังดีใช้ได้ เรียกว่าไม่จำเป็นต้องไปหาลำโพงมาต่อเพิ่มใดๆ ยกเว้นเราอยากจะได้ดังกว่านี้ ได้เสียงเบสตึบกว่านี้ ก็หาลำโพงดีๆ มาต่อเพิ่มได้ ส่วนเรื่องแบตเตอรี่เนี่ย ถือว่า Chromebook กินแบตเตอรี่น้อยกว่าพวกระบบปฏิบัติการอย่าง Windows อยู่ไม่น้อยครับ แบตเตอรี่ 100% นี่คือผมใช้งานต่อเนื่องได้ราวๆ 6 ชั่วโมงหรือมากกว่าสบายๆ (อยู่ที่เราใช้งานอะไร)
บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401)
ผมยังไม่ทราบราคาค่าตัวของโน้ตบุ๊กตัวนี้ ณ เวลาที่เขียนบล็อกตอนนี้ แต่พิจารณาจากราคาของรุ่นก่อนหน้าที่เป็น CPU Intel Gen 11th แล้ว ตัวนี้ก็น่าจะมีค่าตัวระดับ 30,000 บาท ขึ้นไปนี่แหละ ถือว่าเป็นราคาที่แรงเอาเรื่องเลย เพราะฮาร์ดแวร์มันก็พรีเมียมประมาณนึงจริงๆ นี่แหละครับ ถ้ามองในแง่ความสามารถในการใช้งาน จากที่ผมลองใช้งานดูมาพักนึงแล้วเทียบประสบการณ์ในการใช้งานกับโน้ตบุ๊กที่รันระบบปฏิบัติการ Windows ก็ต้องบอกว่า ในแง่ของการใช้งานทั่วๆ ไป ถือว่าไม่ได้แย่ แต่มันก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่างอยู่เช่นกัน
ด้วยความที่โน้ตบุ๊ก ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) ใช้ระบบปฏิบัติการ ChromeOS มันก็มีข้อดีในแง่ของการประหยัดพลังงาน เอาไปใช้งานได้ยาวนานกว่าโน้ตบุ๊กที่รัน Windows ที่สเปกคล้ายๆ กัน ทำงานคล้ายๆ กัน เปิดเครื่องก็รวดเร็วคล้ายๆ กับพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต สามารถรันแอปของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้เกือบหมด ซึ่งหลายๆ แอปเนี่ยก็ไม่มีเวอร์ชันบน Windows ถือเป็นข้อดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกโปรแกรมบน Windows จะมีเวอร์ชันสำหรับแอนดรอยด์ด้วยเช่นกัน
ถ้าไม่ติดเรื่องที่จะต้องใช้โปรแกรมที่รันบน Windows โดยเฉพาะ หรือ ต้องทำงานกับโปรแกรม Microsoft Office แบบซับซ้อนมากๆ พวก Chromebook แบบนี้ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี หากต้องการโน้ตบุ๊กที่ใช้งานได้ระยะเวลายาวๆ พร้อมใช้งานแบบเปิดแป๊บเดียวก็ติดเลยจริงๆ แต่ Chromebook ระดับพรีเมียมนี่ราคายังแอบแพง แถม ASUS Chromebook Flip CX34 (CX3401) นี่ก็แอบหนักอีกตะหาก ผมว่าถ้า ASUS ทำให้มันมีความพรีเมียมในแง่ของประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ แต่ว่าน้ำหนักให้กดลงมาเหลือซัก 1 กิโลกรัมได้ จะถือว่าดีมากเลยครับ