สำหรับคนทำงานสายกราฟิกและตัดต่อวิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้งานโปรแกรม Adobe After Effect, Adobe Photoshop, Adobe Premier Pro และ Adobe Lightroom เนี่ย น่าจะอยากหาเมาส์ที่มาช่วยให้การทำงานสะดวกสบายขึ้น และ ASUS ProArt Mouse MD300 นี่ก็อาจจะเป็นทางเลือกนึงก็ได้นะ ช่วงนี้เขาโปร ซื้อแล้วแถมแผ่นรองเมาส์ ASUS ProArt Mouse Pad (PS201) มูลค่า 1,320 บาทด้วย มาดูกันว่า เจ้าเมาส์ตัวนี้เขามีดีอะไรยังไง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
เมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300 และแผ่นรองเมาส์ ASUS ProArt Mouse Pad (PS201) ที่เห็นในรีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS Thailand เขาให้ยืมมาใช้งานเพื่อรีวิวให้ได้อ่านกันนะครับ
แกะกล่องเมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300
ภายในกล่องของเมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300 เนี่ย ก็จะมีตัวเมาส์ซึ่งเป็นสีดำ สายชาร์จแบบ USB-A to USB-C ตัวแปลง USB-A เป็น USB-C ใบรับประกัน และคู่มือการใช้งานแบบเบื้องต้น ซึ่งสอนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเชื่อมต่อกับ PC การอัปเดตเฟิร์มแวร์ อะไรพวกนี้ และมีการบอกเอาไว้ว่า ซอฟต์แวร์ที่ใช้ปรับแต่งเมาส์คือ Amory Crate ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประเภท Utilities ที่เอาไว้ปรับแต่งพวกอุปกรณ์ของค่าย ASUS ที่เน้นไปทาง Gaming เป็นหลัก

ตัวเมาส์ ดูมีการออกแบบตามหลักการยศาสตร์ประมาณนึง เพื่อให้จับได้ถนัดมือ แต่ข้อสังเกตคือ เมาส์ตัวนี้มีปุ่ม และ Scroll wheel เยอะมากครับ คือ นอกจากจะมีปุ่มเมาส์ซ้ายและขวาแล้ว ก็มีปุ่มเมาส์ตรงกลางอยู่ตรงใต้ Scroll wheel ด้านบน นี่ยังไม่นับที่มี Scroll wheel ด้านบนตามาตรฐานอันนึงแล้ว ด้านข้างก็มีอีก 2 อัน และทุกอันก็สามารถเป็นปุ่มคลิกได้หมดอีกด้วย



ด้านใต้ของตัวเมาส์ เราจะเห็นเซ็นเซอร์ของเมาส์ และสวิตช์อีก 2 ตัว ตัวนึงเป็นปุ่มกดที่เอาไว้สลับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ ซึ่งสามารถตั้งได้สูงสุด 3 ตัว ด้านขวาเป็นสวิตช์สำหรับเลือกโหมดการเชื่อมต่อ ซึ่งเลือกได้ระหว่างการใช้ระบบไร้สายคู่กับ USB dongle หรือ Bluetooth

ในกรณีที่จะเชื่อมต่อผ่าน USB dongle ก็สามารถเปิดฝาปิดใต้เมาส์ที่ถูกยึดเอาไว้ด้วยแม่เหล็กเพื่อเอามาเสียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ครับ
ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ProArt Mouse MD300
ออกตัวก่อนเลยว่าหากคุณจะซื้อเมาส์ตัวนี้มาใช้ คุณต้องติดตั้งโปรแกรม Armoury Crate ของ ASUS ก่อนนะครับ ถ้าไม่ติดตั้ง คุณจะหงุดหงิดกับการใช้งานมาก เพราะตอนที่ผมลองใช้ตอนแรกๆ ไม่ได้คิดจะติดตั้งโปรแกรมอะไร ผลก็คือ ทุก Scroll wheel ของเมาส์ตัวนี้ มันจะกลายเป็น Scroll ขึ้นและลงเท่านั้น ซึ่งตอนที่ใช้มือขวาจับเมาส์อยู่เนี่ย นิ้วโป้งมันจะไปโดนตัว Scroll wheel อันนึงที่ ASUS เรียกว่า Dial ได้ง่ายๆ เลย

แล้วไอ้ Scroll wheel ด้านข้างทั้งสองอันเนี่ย มันค่อนข้างลื่นมากครับ คือ ถ้าเราลอง Scroll ดูจะรู้สึกได้ว่ามันไม่มีสะดุดอะไรใดๆ เลย มองในแง่ดีก็คือ Scroll ได้ความรู้สึกดีมาก แต่ไอ้ Dial เนี่ย นิ้วโป้งมันไปโดนเอาง่ายๆ ผลก็คือ กลายเป็นหน้าจอจะโดน Scroll ขึ้นหรือลงนิดหน่อยได้ตลอดเวลา
และการติดตั้งโปรแกรม Armoury Crate เนี่ย ก็จะช่วยให้เราปรับแต่งค่าต่างๆ ของเมาส์นี้ได้อีกเยอะ รวมถึงการอัปเดตเฟิร์มแวร์ด้วย ดังนั้น ยังไงก็ควรจะต้องติดตั้งโปรแกรมครับ แต่ความขำก็คือ เมาส์ตัวนี้มันเป็นอุปกรณ์ในตระกูล ProArt แทนที่ ASUS จะให้ดาวน์โหลดโปรแกรม ProArt Creator Hub เพื่อใช้ปรับตั้งค่า มันดันให้การปรับตั้งค่าไปอยู่ในโปรแกรม Armoury Crate แทน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าโปรแกรมนั้นมันมีหมวดของการตั้งค่าเมาส์กับคีย์บอร์ดอื่นๆ อยู่แล้วหรือเปล่านะ? แต่การตั้งค่า ASUS Dial มันก็มีให้เซ็ตใน ProArt Creator Hub นี่นา ผมจำได้ว่าเคยใช้ตอนรีวิวโน้ตบุ๊กที่ตัวทัชแพดมันมี ASUS Dial ด้วย

ปัญหาของการเลือกใช้โปรแกรม Armoury Crate ในการตั้งค่าเมาส์ ProArt Mouse MD300 นี่ก็คือ Position ของตัวโปรแกรมที่เอาไว้เป็นศูนย์กลางในการตั้งค่าต่างๆ ของพวกอุปกรณ์ของ ASUS ในสาย Gaming นี่แหละ คือ พอเปิดโปรแกรมขึ้นมา สิ่งที่เราได้เห็นในหน้า Dashboard ก็คือ ทุกอย่างของสาย Gaming เลยครับ ไม่ว่าจะเป็น Game launcher, การดาวน์โหลด Wallpaper ต่างๆ, โปรไฟล์ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการปรับตั้งค่าของเมาส์เลย มันคงไม่มีปัญหาอะไร หากคุณคือคนที่ใช้โน้ตบุ๊กสาย Gaming ของ ASUS และใช้อุปกรณ์ในตระกูล Aura อยู่แล้ว มันก็แค่เท่ากับเพิ่มเมาส์มาอีกตัว แต่ถ้าคุณคือคนที่ซื้อเมาส์ตัวนี้มาแค่ตัวเดียวเพื่อกะใช้ทำงาน อาจจะรำคาญความรกและเยอะของโปรแกรมนี้ครับ

แต่โอเคแหละ พอติดตั้งโปรแกรม Armoury Crate แล้ว ปุ่มต่างๆ ของเมาส์ ASUS ProArt MD300 นี่ก็จะกลายเป็นค่า Default ของโปรแกรม ซึ่งก็ใช้งานไม่หงุดหงิดแล้วครับ ตัว Scroll wheel ด้านข้าง อันที่อยู่ด้านหน้าจะทำหน้าที่ Scroll หน้าจอไปทางซ้ายและขวา ส่วนอันที่อยู่ใกล้นิ้วโป้ง จะทำหน้าที่เรียก ASUS Dial ขึ้นมาใช้งาน และเราก็สามารถไปตั้งค่าเพิ่มเติมได้อีกด้วยว่าอยากให้ปุ่มไหนทำอะไร Scroll wheel ตัวไหนทำหน้าที่อะไรบ้าง อันนี้ปรับตั้งค่าได้ค่อนข้างละเอียดดีอยู่

ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องความเยอะและรกของสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งค่าเมาส์ละก็ ตัวโปรแกรมก็ให้ตั้งค่าได้ละเอียดดีมากเลยนะครับ ถ้าเราตั้งค่าปุ่มตรงกลางของเมาส์ให้เป็นปุ่มสลับค่า DPI ละก็ เราก็จะสามารถตั้งค่าได้ด้วยว่าจะให้ค่า DPI เป็นเท่าไหร่ เลือกได้ 2 ค่า ก็จะเหมาะกับคนที่ต้องการขยับเมาส์ได้ไวๆ ในการใช้งานทั่วไป และพอจะต้องทำงานกราฟิก ก็ปรับให้ค่า DPI ให้เหมาะสมได้ด้วย

เมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300 นี่มีค่า Polling rate สูงสุดอยู่ที่ 1,000Hz เลย แต่สามารถปรับตั้งผ่านซอฟต์แวร์ให้มีค่าได้ตั้งแต่ 125Hz 250Hz 500Hz และ 1,000Hz การตั้งค่าให้สูงจะช่วยทำให้เมาส์บอกค่าตำแหน่งของเมาส์ไปยังคอมพิวเตอร์ได้เร็วขึ้น การเคลื่อนไหวของเคอร์เซอร์ของเมาส์ก็จะแม่นยำขึ้นด้วย
นอกจากนี้ก็ยังตั้งค่าความเร็วการตอบสนองของปุ่มของเมาส์ได้ ตั้งค่าความเร็วของตัว Dial (ต้องมีการตั้งค่าปุ่มให้เป็น Dial ก่อนนะ) ได้อีก แต่ที่คนทำงานหลายหน้าจอจะชอบที่สุดก็คือ ฟีเจอร์ Seamless DPI ที่ให้เราปรับค่า DPI ของเมาส์บนแต่ละจอให้แตกต่างกันได้ เหมาะสำหรับคนที่ใช้จอหลายขนาด หลากความละเอียดในการแสดงผล
จริงๆ แล้ว ระบบปฏิบัติการ Windows มันมีฟีเจอร์ลับอยู่อันนึงเอาไว้ให้อุปกรณ์จำพวก Microsoft Surface Dial หรือเมาส์ใดๆ ที่รองรับฟีเจอร์นี้ สามารถเรียกใช้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า Microsoft Wheel ขึ้นมาได้ครับ ซึ่งพอเรียกขึ้นมาแล้วเราก็จะเห็นวงกลมที่มีทางลัดสำหรับคำสั่งต่างๆ ที่เราไปตั้งค่าเอาไว้ใน Windows settings ได้

แต่ ASUS Dial เนี่ย มันจะทำได้มากกว่า เพราะเขามีการทำงานร่วมกับ Adobe เพื่อให้ ASUS Dial สามารถสั่งงานบางอย่างในโปรแกรมของ Adobe ได้ เช่น การเปลี่ยนขนาดของ Brush การเลื่อน Timeline อะไรพวกเนี้ยได้ง่ายๆ เลย ซึ่งแม้ว่าจะมี Scroll wheel ให้ใช้แค่อันเดียว แต่การที่เราสามารถตั้งค่าเครื่องมือที่ใช้บ่อยๆ ให้มีการปรับเปลี่ยนค่าได้รวดเร็วผ่าน ASUS Dial ได้ ก็น่าจะช่วยเซฟเวลาได้เยอะอยู่

อย่างไรก็ดี ผมเป็นสายใช้โปรแกรมของค่าย Affinity สำหรับงานกราฟิก เพราะค่าไลเซ่นส์ถูกกว่ามากมาย และก็ทำงานได้ตอบโจทย์ของผมอยู่แล้ว และหากจะตัดต่อวิดีโอก็ใช้ DaVinci Resolve เพราะมันฟรีและก็เพียงพอต่อการใช้งานเช่นกัน ผมก็เลยไม่สามารถลองใช้ฟีเจอร์ ASUS Dial ในงานจริงๆ ได้นะครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของ ASUS เอาละกัน
อย่างไรก็ดี ผมยังรู้สึกว่าซอฟต์แวร์ของ ASUS ยังก๊งๆ ครับ คือ ผมลองเปลี่ยนจากการใช้ Dial ให้ไปเป็น Microsoft Wheel แทน เพื่อลองดูความแตกต่างในการใช้งาน จากนั้นก็พยายามเปลี่ยนกลับมาใช้ ASUS Dial ผลก็คือ แม้ว่าจะตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่พอกดปุ่ม Dial กลับยังกลายเป็นการเรียกใช้ Microsoft Wheel อยู่ดี งงใจมาก
จุดเด่นอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300 ตัวนี้ก็น่าจะมีดังนี้ครับ
🔹ตัว Scroll wheel อันที่ใกล้กับนิ้วโป้งที่ผมบอกว่าโดนจนหมุนได้ง่ายๆ เนี่ย เขาออกแบบมาให้สามารถปรับได้สูงถึง 100 ระดับต่อการหมุน 1 รอบ ทำให้เหมาะสำหรับการใช้เป็นทางลัดในการปรับตั้งค่าเครื่องมือต่างๆ ของโปรแกรมตระกูล Adobe ได้ค่อนข้างดี

🔹ปุ่มเมาส์ทั้ง 3 ปุ่ม ทั้ง ซ้าย กลาง ขวา เขาว่าใช้สวิตช์ระดับโปรของ Omron เลยครับ อายุการใช้งานสูงสุด 50 ล้านคลิกเลยทีเดียว
🔹แบตเตอรี่ของเมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300 นี่เป็นแบบชาร์จได้ ชาร์จทีนึงใช้งานได้ยาวนาวสูงสุด 150 วัน และหากดันแบตเตอรี่หมดกะทันหัน การชาร์จแบบ 1 นาที จะสามารถใช้งานทั่วๆ ไปได้สูงสุด 8 ชั่วโมง หรือ ใช้งานหนักๆ ได้ราวๆ 3 ชั่วโมง เราสามารถดูระดับแบตเตอรี่ได้ทางโปรแกรม Armoury Crate ที่มันจะมีการสร้าง Tray icon เอาไว้

โดยรวมถือว่าเป็นเมาส์ที่ดี มีลูกเล่นเยอะนะ แต่มีข้อแอบน่ารำคาญตรงโปรแกรม Armoury Crate ที่ดันมีโน่นนี่ของพวกสาย Gaming เพิ่มเข้ามาซึ่งไม่เกี่ยวกับเมาส์ซักเท่าไหร่ ซึ่งจะผิดกับเมาส์ของ Logitech หรือ Microsoft ที่มีซอฟต์แวร์สำหรับการปรับตั้งค่าเมาส์โดยตรงมากกว่า นี่ยังไม่นับที่ซอฟต์แวร์ดูอ๊องๆ อีกอะ
แผ่นรองเมาส์ ASUS ProArt Mouse Pad (PS201)
แผ่นรองเมาส์ที่แถมมาให้ ขนาดใหญ่มากครับ น่าจะถูกใจสำหรับคนทำงานที่ต้องขยับเมาส์เยอะมากๆ เพราะไซส์นี่แบบเท่ากระดาษ A3 กันเลยทีเดียว แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีโต๊ะขนาดเล็กแบบผมอะนะ

ด้านบนของแผ่นรองเมาส์สีดำ เป็นผ้าที่มีผิวสัมผัสที่ดีมาก และไม่ค่อยซับน้ำ หากทำน้ำหก รีบเช็ดน้ำออกก็ได้ วัสดุเป็นแบบแอนตี้แบคทีเรีย ลดการเติบโตของพวกเชื้อโรคด้วย ส่วนด้านหลังเป็นซิลิโคนกันลื่นสีเทา ช่วยให้วางบนโต๊ะแล้วหนึบดีมาก เวลาขยับเมาส์แล้วไม่เคลื่อนที่ไปมาได้ง่ายๆ ตัวผิวของแผ่นรองเมาส์ก็มีการออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ที่ช่วยให้เซ็นเซอร์สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของเมาส์ได้ดีขึ้น แม่นยำขึ้นด้วย

ด้านที่เป็นสีเทาเนี่ยเขาว่าเอามาใช้แทน Gray card ที่ช่างภาพเอาไว้ในการ Calibrate ค่า White balance ของกล้องได้ด้วยนะ (อ้างอิงข้อมูลฟีเจอร์นี้จากเว็บไซต์ของ ASUS) แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความที่ผิวสัมผัสมันเป็นซิลิโคน และมันต้องเอามาวางบนโต๊ะ บนพื้นผิวอยู่บ่อยๆ มันก็จะเลอะง่ายมาก และพอเลอะแล้ว คราบสกปรกมันฝังลึกในซิลิโคนแล้ว ก็ไม่ได้ทำความสะอาดได้ง่ายๆ ด้วยนะ ฉะนั้น จะให้เอามาใช้ Calibrate ค่า White balance นี่ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเวิร์กมากน้อยแค่ไหน

ตรงด้านบนของแผ่นรองเมาส์ ตรงมุมด้านซ้ายและขวา มันจะมีแผ่นแม่เหล็กฝังอยู่ด้านใต้ของแผ่นหนังที่เย็บติดกับตัวแผ่นรองเมาส์ เอาไว้สำหรับใช้ติดแผ่นหนังที่แถมมาให้ เพื่อเอามาให้จัดระเบียบสายไฟ หรือ สายชาร์จ หากจำเป็น หรือสำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊กของ ASUS ที่มีการแถม ASUS Pen ซึ่งมักจะมีแม่เหล็กฝังอยู่ ก็สามารถเอามาวางตรงบริเวณนี้เพื่อให้อยู่กับที่ ไม่กลิ้งไปไหนง่ายๆ ได้ด้วยเช่นกัน
บทสรุปการรีวิวเมาส์ ASUS ProArt Mouse MD300
สนนราคาค่าตัว 4,990 บาท ถือว่าไม่ใช้ถูกๆ นะครับสำหรับเมาส์ตัวนี้ แต่ก็มีลูกเล่นที่น่าสนใจ และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับ Creator ได้ค่อนข้างดี แต่จะเหมาะกับคนที่ใช้โปรแกรมสาย Adobe มากที่สุด แต่ต่อให้ไม่ได้ใช้โปรแกรมพวกนี้ ความสามารถในการปรับตั้งปุ่มต่างๆ ได้เยอะ และก็มีทั้งปุ่มและ Scroll wheel ให้ใช้เยอะ ก็ทำให้เอาไปใช้อำนวยความสะดวกในงานอื่นๆ ได้อีกมากด้วย ยิ่งถ้าซื้อทันได้ของแถมเป็นแผ่นรองเมาส์ ProArt Mouse Pad (P201) ด้วยยิ่งคุ้มครับ