Home>>รีวิว>>รีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y จอสวย กับหน่วยประมวลผลจาก AMD
ภาพผู้ชายสวมเสื้อนอกสีน้ำเงินเข้มแขนยาวทับเสื้อยืดคอกลมสีขาว กำลังใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y อยู่ โดยภาพแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนทางซ้ายเป็นการใช้งานตอนกลางคืนภายในห้อง ส่วนทางขวาเป็นการใช้งานช่วงเช้าหรือกลางวัน ภายในอาคาร
รีวิว

รีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y จอสวย กับหน่วยประมวลผลจาก AMD

ขึ้นปีใหม่ สิ่งที่ผมตั้งหน้าตั้งตารอเลยก็คือ โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ที่มีการใช้ CPU ตัวใหม่ล่าสุดนี่แหละครับ ซึ่งตัวแรกของปีเลย ก็หนีไม่พ้น ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ตัวนี้ ที่ใช้ CPU AMD Ryzen 5 7530U ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดในตอนนี้ อยู่ในระดับที่เรียกว่า Mid-range แต่ได้แรม 16GB Storage ความจุ 512GB และจอสวยๆ แบบ OLED ความละเอียด 2.8K ขนาด 14 นิ้ว DCI-P3 100% กับน้ำหนัก 1.39 กิโลกรัม ทั้งหมดนี้ในราคา 32,990 บาท

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS Thailand ให้ยืมมาลองกันครับ

ดีไซน์ของ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ในภาพรวม

ก็ต้องยอมรับว่า ASUS ออกแบบกล่องโน้ตบุ๊กของ ASUS ZenBook มาได้ค่อนข้างดีทีเดียว ดูมีความเรียบหรู สิ่งที่เราจะได้มาในกล่อง ก็จะเป็นตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ซองใส่โน้ตบุ๊กสำหรับพกพา อะแดปเตอร์แบบ USB-C 65 วัตต์ และ USB dongle แปลง USB-A เป็น 1GbE LAN

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ที่ปิดฝาจอเก็บไว้อยู่

ตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y มีความเรียบง่าย ดีไซน์สีเทาดำสวย (แต่ ASUS เรียกมันว่า Jade Black แล้วบอกว่าเป็นเฉดสีน้ำตาลอ่อน เล่นเอาผมงง 🤣🤣) วัสดุตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียม มีโลโก้ตัว A ที่สื่อถึงแบรนด์ ASUS อยู่ และมาพร้อมกับพอร์ตเชื่อมต่อค่อนข้างครบเครื่อง คือ ด้านซ้ายมีพอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) และช่องระบายความร้อนของตัวเครื่อง ส่วนด้านขวาจะมีทั้งพอร์ต HDMI 2.0b มาให้ 1 พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับจอแสดงผลภายนอก ช่องเสียบออดิโอคอมโบแจ็ก 3.5 มม. พอร์ต USB-C ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 อีก 2 พอร์ต ซึ่งรองรับ Power Delivery ด้วย มีสล็อตอ่าน MicroSD card และไฟ LED อีก 2 ดวงแสดงสถานะการทำงานและการชาร์จแบตเตอรี่

ด้านใต้ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y

มองจากด้านใต้ของตัวเครื่อง เราจะเห็นว่ามีการติดตั้งยางกันลื่นไว้ 3 จุด ซึ่งนอกจากเอาไว้เพื่อให้สามารถวางโน้ตบุ๊กได้อย่างมั่นคงบนพื้นผิวโต๊ะมากขึ้นแล้ว ก็ยังช่วยยกตัวโน้ตบุ๊กให้สูงจากพื้นผิวเล็กน้อย เพื่อให้ช่องระบายความร้อนสามารถดูดอากาศเย็นเข้าไปในตัวเครื่องเพื่อระบายความร้อนได้ นอกจากนี้ด้านใต้ตัวเครื่องบริเวณด้านหน้า เราจะเห็นลำโพงสเตริโอติดตั้งอยู่ด้วย

ภาพระยะใกล้ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y บริเวณจุดพับของจอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวลาที่กางจอออกมาแล้ว ขอบด้านล่างของจอจะมายกด้านท้ายของโน้ตบุ๊กให้สูงขึ้นเล็กน้อย

การออกแบบของ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y นอกจากจะเป็น ErgoLift ที่เมื่อกางหน้าจอทำมุมพร้อมใช้งานแล้ว ขอบด้านล่างของหน้าจอจะช่วยยกด้านท้ายของตัวเครื่องโน้ตบุ๊กให้สูงขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้คีย์บอร์ดทำมุมอยู่หน่อยๆ ให้พิมพ์ได้สะดวกขึ้น หากเราต้องการจะกางหน้าจอให้สุด ก็สามารถทำได้ถึง 180 องศาเลย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ ASUS ต้องเอาช่องระบายความร้อนไปอยู่ทางซ้ายของตัวเครื่องนั่นเอง

หน้าจอแสดงผลของ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y นี่เป็นแบบ OLED ขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 ที่ดูจะเป็นอัตราส่วนการแสดงผลของหน้าจอโน้ตบุ๊กยอดนิยมแล้วในตอนนี้ ขอบจอ 3 ด้าน (บน-ซ้าย-ขวา) ค่อนข้างบางมาก แต่ก็ยังสามารถใส่กล้องเว็บแคมความละเอียด 1080p มาให้ได้พร้อมไมโครโฟน แต่จะไม่มี Privacy shutter ที่เอาไว้ปิดเลนส์กล้องมาให้นะ ซึ่งจริงๆ ฟีเจอร์นี้หลังๆ เริ่มมีให้เห็นกันบนโน้ตบุ๊กต่างๆ มากขึ้น

คีย์บอร์ดก็ตามขนาดนิยม คือ เป็นแบบที่แป้นพิมพ์แต่ละแป้นใหญ่ดี และมีไฟ LED backlit ให้ด้วย สามารถปรับความสว่างได้ 3 ระดับ หรือจะปิดไม่ใช้ก็ได้ ตำแหน่งของปุ่มต่างๆ รวมถึงขนาดของปุ่ม ก็ถือว่าใช้งานได้สะดวกดี จะขัดๆ อยู่ก็ตรงที่ปุ่ม Power และปุ่ม Delete นี่อยู่ในแถวเดียวกัน ซึ่งทำให้ถ้าเอาปุ่ม Power ไปวางไว้ตรงมุมบนขวาสุด คนก็อาจจะเผลอกดปุ่ม Power ตอนที่อยากกดปุ่ม Delete ก็ได้ เขาก็เลยเอาปุ่ม Power ไปอยู่ทางซ้ายแทน มันก็เลยดูแปลกๆ หน่อย เพราะเราๆ ท่านๆ จะคุ้นชินว่าปุ่ม Power มันจะอยู่ตรงมุมบนขวาสุดของตัวเครื่องซะมาก แต่จะไม่ไปอยู่รวมกับแป้นพิมพ์ใดๆ … อ้อ! ปุ่ม Power นี่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ใช้งานกับ Windows Hello ได้นะครับ Touchpad ที่ให้มา มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีฟีเจอร์ ASUS NumberPad 2.0 สามารถใช้งานเป็น Numpad ให้ด้วยได้เลย

โดยรวมแล้ว เรียกว่าดีไซน์เรียบหรู น้ำหนักกำลังโอเค สำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊กทั่วๆ ไป ก็ถือว่าบางและเบาในระดับนึงครับ แต่หลังๆ นี่ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า ดีไซน์ของโน้ตบุ๊กของ ASUS นี่จะค่อนข้างมาสไตล์คล้ายๆ กันมากขึ้น คือ ถ้าเป็นตระกูลเดียวกัน เช่น ZenBook หรือ Vivobook อะไรแบบเนี้ย ดีไซน์จะเหมือนๆ กันเลย

สเปกของ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y

จริงๆ รุ่นนี้เขามีตัวเลือกของสเปกหลายแบบครับ แต่สำหรับรุ่นที่เอาเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะมีแค่สเปกเดียวเลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของตลาดประเทศไทยเลยที่จะมีรุ่นให้เลือกไม่เยอะมาก โดยรุ่นที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทย มีสเปกแบบนี้ครับ

สเปกรายละเอียด
หน่วยประมวลผลAMD Ryzen™ 5 7530U Processor
กราฟิกชิปAMD Radeon™ Graphics
หน่วยความจำ16GB LPDDR4x แบบ on-board (อัปเกรดไม่ได้)
เนื้อที่เก็บข้อมูล512GB NVMe M.2 PCIe® 3.0 SSD
หน้าจอแสดงผล14 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) แบบ OLED
อัตราส่วนการแสดงผล 16:10 อัตราการรีเฟรชภาพ 90Hz
การเชื่อมต่อ1×USB 3.2 Gen 2 Type-A
2×USB 3.2 Gen 2 Type-C (รองรับ Power Delivery)
1×HDMI 2.0b
1×3.5mm combo audio jack
MicroSD card reader
ระบบเน็ตเวิร์กWiFi 6E (802.11ax) Dual band 2×2
Bluetooth® 5
แบตเตอรี่75Wh 4-cell Li-on
น้ำหนัก1.39 กิโลกรัม
ระบบปฏิบัติการWindows 11 Home

ถือว่าตัวเลือกที่ ASUS เลือกนำเข้ามาจำหน่ายนั้น ไม่ใช่ตัวท็อป แต่ก็มีสเปกที่ดีมากพอสำหรับการทำงานทั่วๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น CPU AMD Ryzen 5 ที่มี 6 คอร์ 12 เธรด หน่วยความจำที่ให้เริ่มต้นที่ 16GB เลย และความจุของ Storage ที่ 512GB ซึ่งก็เรียกว่าเหลือเฟือในสำหรับหลายๆ กรณี และหากไม่พอ ก็ไปหาพวก Portable SSD แบบ USB-C มาเสียบต่อได้ แบนด์วิธของ USB 3.2 Gen 2 ที่ 10Gbps เนี่ย ก็ให้ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดระดับ 1GB/s ได้สบายๆ แล้ว

ที่แอบขัดใจนิดหน่อยก็คือ มันอัปเกรดหน่วยความจำเพิ่มไม่ได้ และก็ไม่แน่ใจว่าตัว SSD ก็อัปเกรดไม่ได้ด้วยหรือเปล่าด้วยนะ ซึ่งเรียกว่ามันเป็นข้อจำกัดจริงๆ ของโน้ตบุ๊กสมัยนี้ที่เน้นบางเบา เขาเล่นบัดกรี RAM ลงไปบนเมนบอร์ดเลยอะ ลองคิดว่าถ้าอยากจะใช้คอมพิวเตอร์ไปนานๆ ในอนาคตอีก 3-4 ปีข้างหน้า เราอาจจะอยากได้หน่วยความจำ 32GB ก็ได้ (เดี๋ยวนี้เว็บต่างๆ แดกแรมจะตายไป)

ลองวัดประสิทธิภาพโดยทั่วไปของ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y

ในขณะที่ CPU รุ่นใหม่ๆ เขาออกมาให้รองรับ PCIe 4.0 ที่รองรับแบนด์วิธของสื่อบันทึกข้อมูลได้สูงๆ แล้ว แต่ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y นี่เลือกใช้ M.2 NVMe SSD แบบ PCIe 3.0 ซึ่งเมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 แล้ว ได้ความเร็วสูงสุดในการอ่านและเขียนแบบ Sequential อยู่ที่ 1,841.44MB/s และ 1,603.92MB/s ตามลำดับ ซึ่งก็ไม่ได้เรียกว่าช้านะ ยังแอบรู้สึกได้ว่ามันกั๊กๆ อยู่นิดๆ แต่ก็โอเคแหละ สมน้ำสมเนื้อกับแบนด์วิธที่พอร์ต USB มันให้ได้แหละนะ เขาคงมองว่าเอามาเร็วกว่านี้ ก็ได้ใช้ประมาณนี้แหละ ส่วนใหญ่

ต้องไม่ลืมว่าสื่อบันทึกข้อมูลนี่ไม่ได้ทำงานตลอดเวลาเหมือนหน่วยความจำ ลองไปเปิด Task manager ดูครับ ว่ากราฟของ Disk มันวิ่งเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นคนที่ทำงานที่ต้องดึงข้อมูลจากสื่อบันทึกข้อมูลตลอดเวลา แต่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ใช้สื่อบันทึกข้อมูลตลอดเวลาครับ ขณะตอนที่ผมเขียนบล็อกนี้อยู่นี่ Disk ผมวิ่ง 1% – 3% เอง ดังนั้น ถ้าไม่ได้ช้ามากจริงๆ ก็ไม่น่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมในแบบที่เรารู้สึกได้แหละ (เดี๋ยวรอดูผลการวัดประสิทธิภาพในภาพรวมด้วย PCMark 10 ได้)

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4

ถัดมาก็ลองวัดประสิทธิภาพของภาพรวมของระบบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ที่วัดประสิทธิภาพของการใช้งานในการทำงานที่คนทั่วๆ ไปน่าจะได้ใช้งานจริงๆ เช่น การรันโปรแกรม การท่องเว็บ การประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ การทำงานกับพวกโปรแกรมเอกสาร การตกแต่งภาพ การตัดต่อวิดีโอ อะไรพวกนี้

ผมขอเอาไปเทียบกับ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว และราคาเปิดตัวก็แพงกว่า ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ตัวนี้อยู่ 3,000 บาท ก็บอกเลยว่า แม้หน่วยความจำจะยังเป็นแค่ LPDDR4X และ SSD ก็ความเร็วช้ากว่าแบบชัดเจนมาก แต่ด้วยความสดใหม่ของหน่วยประมวลผล เลยทำให้คะแนนประสิทธิภาพที่วัดได้จาก PC Mark 10 นี่ คะแนนค่อนข้างดีทีเดียวครับ

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ด้วยโปรแกรม PCMark 10

คะแนนในส่วนของ Essentials ซึ่งเป็นคะแนนวัดการทำงานประเภทรันโปรแกรม ท่องเว็บ ประชุมวิดีโอออนไลน์ นี่ได้ 10,330 คะแนน ใกล้เคียงกับของ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 แต่คะแนนในส่วนของ Productivity ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานประเภทเอกสาร พวกโปรแกรมแนว Microsoft Office ได้มากถึง 9,499 ถือว่าทำได้ดีกว่า ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 (ที่ได้ 6,426 คะแนน) พสมควร และคะแนนในส่วนของ Digital Content Creation ได้ 5,054 ซึ่งก็ต่ำกว่า ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 อยู่ราวๆ 10%

แต่โดยรวมแล้ว คะแนนรวมของ PCMark 10 นี่คือได้ 5,675 คะแนน ซึ่งสูงกว่ารุ่นคล้ายกันอย่าง ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ที่ออกมาเมื่อปีก่อนอยู่เล็กน้อย (อันนั้นได้ 5,224 คะแนน) จะเห็นว่า ความเร็วของสื่อบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกัน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่างกันมากนัก

มาดูกันที่ประสิทธิภาพของ CPU กันบ้างครับ คะแนนที่ได้จากโปรแกรม Cinebench R23 คือ แบบ Single core ได้ 1,416 คะแนน และแบบ Multi core ได้ 6,340 คะแนน ซึ่งต่ำกว่า Intel Core i5-1240P ที่เป็น CPU รุ่นเก่ากว่า 1 ปี อยู่เล็กน้อยด้วย นั่นอาจจะเป็นเพราะนอกจากคะแนนของแต่ละ Core จะแพ้แล้ว จำนวน Core และ Thread ใน CPU AMD Ryzen 5 7530U นี่ก็แค่ 6-core 12-thread เท่านั้น เมื่อเทียบกับ Intel Core i5-1240P ที่ให้มา 12-core (4P+8E) 16-thread

ในภาพรวมแล้ว ถ้าพิจารณาคะแนนที่ผลการทดสอบด้วยโปรแกรมจำพวก Benchmark อย่างเดียว แล้วรู้สึกว่าการจ่ายเพิ่ม 3,000 บาท แต่ได้สเปกในส่วนของ Storage (ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential ดีกว่าประมาณ 3 เท่า) และ RAM (เป็น LPDDR5X) ที่สูงกว่าละก็ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 นี่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่านิดหน่อย

ประสบการณ์ในการใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y

เริ่มตั้งแต่ตอนเปิดใช้งานเลย โน้ตบุ๊กตัวนี้ไม่ได้ให้กล้อง IR มา ดังนั้นจะไม่สามารถใช้ Windows Hello แบบสแกนใบหน้าเพื่อล็อกอินเข้า Windows ได้ แต่ว่าปุ่ม Power มันทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งก็ช่วยให้เราล็อกอินได้สะดวกดี และในฐานะที่ผมใช้โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo UX482UA ที่มีกล้อง IR ในการสแกนใบหน้าแล้ว ก็ต้องบอกว่า สแกนลายนิ้วมือนี่สะดวกกว่าครับ

หน้าจอแสดงผลแบบ OLED 2.8K ความละเอียด 2,880×1,800 พิกเซล ให้ภาพสีสวยสดกว่าจอ IPS LCD แบบเดิมมากๆ ครับ สีดำก็ดำสนิทดีจริงๆ ความสว่างก็สุดยอดมาก แต่จอนี่แม้ว่าจะไม่ใช่ทัชสกรีน แต่ก็เป็นจอเงาแว้บเลยครับ แอบสะท้อนแสงเข้าตาได้ง่ายๆ ในกรณีที่จอไม่ใช่ทัชสกรีนเนี่ย ผมชอบจอแบบด้านมากกว่า แต่เข้าใจว่าจอ OLED มันจะแสดงศักยภาพได้ดีที่สุดกับจอแบบเงาๆ ใสๆ แบบนี้มั้ง

หน้าจอ Display information ของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ในส่วนการตั้งค่าเลือกรีเฟรชเรตได้ระหว่าง 60Hz และ 90Hz

อัตราการรีเฟรชของภาพสูงสุดอยู่ที่ 90Hz แต่เราก็สามารถเลือกเป็น 60Hz ได้ (ซึ่งจะประหยัดพลังงานกว่า) แม้ว่าจะสู้พวกโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่เดี๋ยวนี้ไปถึงระดับ 144Hz, 165Hz หรือมากกว่านั้นกันแล้ว แต่ก็ถือว่ามากเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป รวมถึงการตัดต่อวิดีโอ และการเล่นเกมแบบง่ายๆ แบบ (สเปกของโน้ตบุ๊กไม่ได้เอาไว้เล่นเกมจริงจังอยู่แล้วอะนะ)

ตามสเปก เขาบอกว่าจอ OLED ตัวนี้ผ่านการรับรองจาก PANTONE® เรื่องความถูกต้องของสี และให้สีสันระดับ 100% DCI-P3 เลย ฉะนั้นในเมื่อผมมี Spyder X Elite แล้ว ก็ต้องขอเอามันมาวัดหน่อยครับว่าจริงไหม ซึ่งเมื่อลองวัดดูแล้วก็พบว่าได้ค่า Color gamut ค่อนข้างโอเคเลยละครับ 100% sRGB 90% NTSC 92% AdobeRGB และ 100% DCI-P3 ตามสเปก เอามาใช้ทำงานด้านกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสีไม่ตรงมาก

แต่บอกนิดนึงก่อนว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้มีการ Calibrate หน้าจอมาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นวางใจได้ครับ พร้อมเอาไปใช้งานด้านกราฟิกโดยไม่ต้องไป Calibrate เพิ่ม แต่ใช้ไปนานๆ ก็อย่าลืมไป Calibrate นะ หรือในกรณีที่งานของคุณมีความจำเป็นต้อง Calibrate จอเพื่อให้ได้โปรไฟล์ตามที่ต้องการจริงๆ นั่นก็อีกเรื่อง เพราะตอนที่ผมเอา Spyder X Elite ไปลอง Calibrate ดู มันก็ได้โปรไฟล์ของสีจอมาอีกแบบนะ

ในกรณีที่ใช้งานเครื่องหนักๆ มากๆ พัดลมของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ตัวนี้ เสียงดังพอตัวเลยนะครับ ลองวัดจากระดับของหูในขณะที่ใช้งานได้แถวๆ 54dBA เลย ในห้องนอนผมที่ไม่ได้เปิดทีวี เสียงพัดลมดังสุดของเจ้านี่คือ ได้ยินชัดเจน แม้จะระยะห่างออกไป 3-4 เมตรอะ คิดดู

ระดับความดังต่างๆ

🎙️ ระดับความดังที่ 30dB คือประมาณเสียงกระซิบ
🎙️ ระดับความดังที่ 40-60dB คือการสนทนาปกติของผู้คน
🎙️ ระดับความดังที่ 80dB คือเสียงรถในการจราจรที่หนาแน่น ค่อนข้างหนวกหู
🎙️ ระดับความดังที่ 80-90dB คือพวกเสียงเครื่องจักรในโรงงาน

ถ้าพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานทั่วไป ผมนึกถึงการท่องเว็บก่อนเลยครับ ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันในปัจจุบันว่าโปรแกรมจำพวกเบราว์เซอร์นี่แหละ กินแรมได้โหดไม่แพ้พวกโปรแกรมตกแต่งภาพหรือตัดต่อวิดีโอเลย ผมนี่พูดอยู่ประจำว่า ถ้าจะซื้อคอมพิวเตอร์ที่รันระบบปฏิบัติการ Windows เอามาท่องเว็บแบบเปิดแท็บเยอะๆ จนเคยตัว แนะนำว่าขั้นต่ำเลือกที่มีหน่วยความจำ 16GB ขึ้นไปเลย เพราะ 8GB นี่ไม่พอแล้วสำหรับความต้องการของเว็บไซต์สมัยนี้ และการที่โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y นี่ให้แรมมา 16GB แต่แรกเลย ก็ถือว่าโอเค แต่เสียดายตรงที่มันอัปเกรดไม่ได้ครับ

แม้ว่ามันไม่ได้มีการ์ดจอแยก แต่ประสิทธิภาพของ CPU ก็ดีพอที่จะเอามาใช้ทำงานจำพวกตกแต่งภาพ หรือ ตัดต่อวิดีโอ ได้ประมาณนึง แต่สำหรับคนที่ต้องการใช้งานแค่แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ก็ถือว่าเพียงพอครับ ผมลองกับโปรแกรมอย่าง Affinity Photo 2.0.4 หรือ DaVinci Resolve 18.1.3 ที่เป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุดเรียบร้อย ก็เรียกว่าพอใช้งานได้ครับ

ตัวคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y กับดีไซน์ ErgoSense ซึ่งขนาดของแป้นพิมพ์เนี่ย จะเท่าๆ กับคีย์บอร์ดบนเครื่องเดสก์ท็อป พิมพ์ค่อนข้างสะดวก ให้ประสบการณ์พิมพ์ที่แม่นยำ โดยเฉพาะกับคนที่ถนัดการพิมพ์แบบสัมผัส และแม้ว่าจะเป็นคีย์บอร์ดแบบปุ่มยาง แต่ความรู้สึกในการพิมพ์ก็ไม่ได้แย่อะไรนะครับ แม้ว่าจะสู้ Mechanical keyboard ไม่ได้ก็เหอะ ส่วนตัว Touchpad นี่ถือว่ามีขนาดใหญ่ และมีการเคลือบผิวเพื่อให้การสัมผัสใช้งานลื่นไหล และป้องกันรอยนิ้วมือด้วย ก็ถือว่าใช้แล้วโอเค ถ้าจำเป็นต้องใช้งานแบบ Gesture ที่ต้องใช้ 2-4 นิ้วพร้อมกัน ก็ยังมีพื้นที่พร้อมให้วางนิ้วได้

ทัชแพดของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y เมื่อเปิดใช้งาน NumberPad 2.0 จะเห็นแป้นพิมพ์ตัวเลขและเครื่องหมายคำนวณต่างๆ แสดงอยู่

NumberPad 2.0 ของ ASUS แค่แตะที่ไอคอนรูปเครื่องคิดเล็กตรงมุมบนด้านขวาของ Touchpad มันจะเปิดการใช้งานแป้นตัวเลขขึ้น เราจะเห็นแป้นตัวเลขเป็นไฟ LED ครับ และสามารถใช้นิ้วแตะเพื่อกดตัวเลขหรือเครื่องหมายคำนวณต่างๆ ได้ ทำให้โน้ตบุ๊กขนาดจอ 14 นิ้วที่ปกติจะไม่มีแป้นพิมพ์ตัวเลข ก็จะมีแป้นพิมพ์ตัวเลขให้ใช้งานสะดวกสำหรับคนที่ทำงานกับตัวเลขเยอะๆ โดยไม่ต้องหาอุปกรณ์เสริมมาติดตั้งเพิ่มเติม

ในการรับชมภาพยนตร์ คลิปวิดีโอต่างๆ รวมถึงการฟังเพลง ในแง่ของคุณภาพของภาพ คงไม่ต้องพูดอะไรมากแล้ว จอแสดงผลแบบ OLED สีตรง ครอบคลุม DCI-P3 100% คือสุดยอดครับ อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 ทำให้เรามีพื้นที่ในการแสดงผลแนวตั้งมากขึ้นเวลาทำงาน แต่พอดูภาพยนตร์ที่เป็น 16:9 ก็จะเห็นขอบดำที่ด้านบนและล่างนิดหน่อย ตรงที่เป็นส่วนสีเขียวในรูปด้านล่างครับ แต่ถ้าเอามาดูเนื้อหาที่เป็น 21:9 ละก็ แถบสีดำก็จะใหญ่ขึ้นเป็นส่วนที่เป็นสีเขียวบวกสีน้ำเงินครับ

ภาพกราฟิกแบบง่ายๆ ที่แสดงพื้นที่การแสดงผลแบบอัตราส่วนการแสดงผลต่างๆ

ในด้านคุณภาพเสียง ลำโพงได้รับการจูนจาก harman/kardon และได้รับการรับรองมาตรฐาน Dolby Atmos ด้วย ผมลองเอามาฟังคลิปและเพลงต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่า ลำโพงเล็กๆ ของ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y นี่ถือว่าให้เสียงได้ค่อนข้างโอเคนะ ดังเอาเรื่อง วัดความดังได้แบบระดับ 80-90dBA เลย เรียกว่าดังหนวกหูอะ (ไม่แนะนำให้ฟังที่ความดังระดับนี้นานๆ) แต่แน่นอนว่าถ้าอยากจะได้เสียงคุณภาพกิ๊งๆ ไปเลย เสียงย่านต่ำเป๊ะๆ เบสตึบๆ ก็คงจะต้องไปหาลำโพงดีๆ มาต่อเพิ่มครับ

โปรแกรม MyASUS บนโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y

จุดขายอื่นๆ ของตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y ก็คือตัวโปรแกรม MyASUS ที่ช่วยให้เราสามารถปรับแต่งอะไรต่อมิอะไรในโน้ตบุ๊กได้เพิ่มเติม เช่น

🔹Battery Care Mode ที่เมื่อก่อนเขาเรียก Battery Optimization ซึ่งกำหนดได้แค่ว่าจะให้ชาร์จแบบไหน ระหว่าง 60%, 80% และ 100% ซึ่งนอกจากจะเลือกยากแล้ว บางทีก็ลืมมาเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งาน แต่คราวนี้เขาออกแบบมาใหม่ให้ใช้งานง่ายขึ้น ไม่ต้องคิดเยอะ มีให้เลือกแค่ เปิดใช้งาน ซึ่งจะกำหนดการชาร์จเอาไว้ไม่เกิน 80% และหากมีความจำเป็นต้องชาร์จเต็ม 100% ก็ไปเปิดใช้ Instant Full-Charge Mode ซึ่งจะทำให้โน้ตบุ๊กชาร์จไปที่ 100% เต็มได้ และ Battery Care Mode จะกลับมาเปิดใช้งานโดยอัตโนมัติอีกครั้งใน 24 ชั่วโมง

🔹Fan Profile เอาไว้ตั้งค่าว่าจะให้พัดลมหมุนเร็วขนาดไหน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในระดับต่างๆ จะเน้นให้เสียงเงียบ หรือเน้นให้ตัวโน้ตบุ๊กเย็นให้มากที่สุดเข้าไว้ เสียงดังก็ช่างมัน

🔹การปรับค่าสีและโหมดการแสดงผลขอหน้าจอ OLED

🔹การตั้งค่าลำโพงและไมโครโฟน ซึ่ง ASUS เขามีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนทั้งจากไมโครโฟน เพื่อให้เสียงพูดคุยของเราชัดเจน ทั้งการใช้งานแบบบันทึกเสียง หรือการประชุมออนไลน์ ตัดเสียงรบกวนใดๆ ที่มาจากลำโพงของตัวเครื่องอันเป็นผลมาจากไมโครโฟนของคู่สนทนา การเลือกโหมดเสียง หรือการเร่งระดับเสียงให้ดังขึ้น ซึ่ง ASUS เขาเคลมว่าด้วยความสามารถของแอมป์อัจฉริยะ จะสามารถเพิ่มระดับเสียงให้ดึงขึ้นได้ 350% โดยที่เสียงยังคงสมจริง และเสียงไม่แตก

🔹และฟีเจอร์อื่นๆ เช่น ความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผ่านแอป Link to MyASUS เพื่อถ่ายโอนไฟล์ รวมถึงการแคสต์หน้าจอแบบไร้สายไปยังอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อให้มันทำตัวเป็นจอแสดงผลไร้สายได้ ผ่าน GlideX (แบบฟรีจะทำได้แค่ผ่าน WiFi และได้สูงสุด 720p ถ้าอยากได้ FullHD หรือความละเอียดสูงกว่านั้นจมีค่าใช้จ่าย $2.99/เดือน สำหรับ Pro หรือ $5.99/เดือน สำหรับ Ultra

แต่ต้องบอกก่อนว่าฟีเจอร์พวกนี้ไม่ใช่ว่าคู่แข่งเขาไม่มีกันนะครับ บางอย่าง เช่น ฟีเจอร์ที่คล้ายๆ Battery Care Mode เนี่ย พวกผู้ผลิตโน้ตบุ๊กยี่ห้อต่างๆ ก็เริ่มใส่เข้ามาแล้ว และผมเคยเขียนบล็อกของผมชื่อ ยืดอายุแบตเตอรี่ให้โน้ตบุ๊กของคุณ ด้วยการจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่บนโน้ตบุ๊กยี่ห้อต่างๆ ส่วนฟีเจอร์จำพวกไมโครโฟนและลำโพงตัดเสียงรบกวนเนี่ย บางยี่ห้อเขาก็มีให้ โปรแกรมจำพวกประชุมออนไลน์บางตัวก็มีให้ หรือไมโครโฟนที่เราจะใช้นี่แหละก็มีให้ แต่การที่มันมีซอฟต์แวร์กลางทำหน้าที่นี้ให้เลย มันก็จะดีกว่า และประหยัดกว่านั่นเอง และสุดท้าย ฟีเจอร์อย่าง Link to MyASUS นี่ก็คล้ายๆ กับ Phone Link (แต่ฟีเจอร์ยังถูกจำกัด เพราะสัญญาแบบ Exclusive กับ Samsung และ HONOR) ส่วนการแคสต์หน้าจอเนี่ย ก็มีโปรแกรมอย่าง Spacedesk ช่วยได้ฟรีๆ อยู่ ฉะนั้นการมีอยู่ของ MyASUS มันไม่ได้มีฟีเจอร์โดนเด่นกว่าคนอื่นมาก แต่มันมีจุดเด่นคือการเป็น One-stop service ของทุกฟีเจอร์มากกว่า

ในแง่ของการเชื่อมต่อ นอกจากจะรองรับ Bluetooth 5 แล้ว ตัว WiFi ก็เป็น WiFi 6E (802.11ax) ด้วย เรียกว่าใหม่มากแล้ว (บ้านผมยังเป็น WiFi 5 อยู่เลย เพราะไม่มีความจำเป็นต้องรีบอัปเกรดตอนนี้) ฉะนั้นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ก็ต้องบอกเลยว่ายังอยู่กับเราได้อีกยาว

แบตเตอรี่ 75Wh ตามสเปกเขาบอกเลยว่าใช้งานได้นาน 22 ชั่วโมง ภายใต้การทดสอบอะนะ แต่ในการใช้งานจริง ผมคิดว่าถ้าเปิดใช้งานต่อเนื่องยาวๆ ให้มองไปที่ราวๆ 4 ชั่วโมงไว้ก่อนเลย แต่เขามีฟีเจอร์ชาร์จไว้ จาก 0-60% ได้ใน 49 นาที และแม้ว่าตัวอะแดปเตอร์ 65 วัตต์ที่เขาแถมมาให้จะใหญ่ไปหน่อย ไม่ค่อยอยากพก เราก็ไปซื้ออะแดปเตอร์แบบ GaN ที่ตัวเล็กและเบากว่ามาใช้แทนได้ครับ พกสะดวกกว่ามาก

บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y

ตัวนี้เป็นตัวเลือกที่สูสีกับ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ที่ออกมาปีที่แล้ว และมีราคาถูกกว่า 3,000 บาท โดยได้ CPU เจนใหม่กว่า แต่เมื่อวัดจากประสิทธิภาพโดยรวมแล้ว ไม่ได้เหนือกว่ามากนัก ส่วนนึงก็น่าจะเพราะเจอสเปก SSD กับ RAM ด้อยกว่าพอตัว (ความเร็ว SSD ต่ำกว่าเยอะ และ RAM ก็เจนเก่ากว่า 1 รุ่น) ฉะนั้นก็ต้องบอกว่าในงบไม่เกิน 36,000 บาทเนี่ย จะเลือก UX3402 หรือ UM3402Y ตัวนี้ ก็อยู่ที่ว่าคุณพร้อมจ่าย 3,000 บาทไหม และชอบ Intel หรือ AMD โดยส่วนตัวถ้า 3,000 บาทไม่ใช่ปัญหา ผมว่า ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 นี่น่าสนใจกว่านะ แต่ ASUS ZenBook 14 OLED UM3402Y นี่ก็คือได้ประสิทธิภาพพอกันในราคาถูกกว่า 3,000 บาท ถ้าเราไม่ใส่ใจรายละเอียดเรื่องความเร็วของ SSD และรุ่นของ RAM

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า