Home>>รีวิว>>รีวิว Dime! by KKP ทางเลือกการลงทุนสำหรับรายย่อย สะดวก รวดเร็ว ซื้อหุ้นอเมริกาได้ เริ่มต้นที่ 50 บาท
ภาพกราฟิกรูปสมาร์ทโฟนขอบตัวเครื่องสีเขียว หน้าจอมีโลโก้คำว่า Dime ทางขวามือมีข้อความภาษาอังกฤษเขียนว่า Democratize Finance with Innovation
รีวิว

รีวิว Dime! by KKP ทางเลือกการลงทุนสำหรับรายย่อย สะดวก รวดเร็ว ซื้อหุ้นอเมริกาได้ เริ่มต้นที่ 50 บาท

เอาจริงๆ บอกตรงว่าผมตกข่าวมาก สำหรับ Dime! by KKP นี่ คือ เขาเปิดตัวไปตั้งกะปลายปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งมาเห็นตอนน้องที่รู้จักเขาโพสต์ถึงบน Facebook แล้วพบว่า มันน่าสนใจครับ คือ เปิดบัญชีได้สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องไปธนาคาร สามารถฝากเงิน ซื้อเงินดอลลาร์ได้ ลงทุนในกองทุนรวม และซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาได้ ด้วยการลงทุนขั้นต่ำแค่ 50 บาท และมีไม่มีขั้นต่ำค่าธรรมเนียมอีก ก็เลยถือโอกาสขอลองเปิดบัญชีและลองลงทุนแบบกรุบกริบดูว่าเป็นยังไงบ้าง และเก็บเอามาเล่าสู่กันอ่านครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

บล็อกตอนนี้ ไม่ได้มีใครสนับสนุนให้เขียน ลองเอง เอาประสบการณ์มาเล่าเองครับ อย่างมากก็อาจจะได้สิ่งตอบแทนเวลาที่ผู้อ่านบล็อกของผมเกิดสนใจ และไปเปิดบัญชี Dime! by KKP แล้วกรอกรหัสชวนเพื่อนของผม ผมก็อาจจะได้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ ครับ (เดี๋ยวมีอธิบายตอนรีวิวด้วย) ซึ่งก็มีลิมิตแหละ ว่าได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

และขอย้ำ อันนี้คือการรีวิวประสบการณ์ในการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาผ่านแอป Dime! by KKP ผมไม่เคยมีประสบการณ์ในการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาโดยตรงมาก่อน (ปกติผมลงทุนผ่าน Jitta Wealth Thematic DIY และ Thematic Optimize) และบล็อกตอนนี้ไม่ใช่บทความแนะนำการลงทุน จำไว้ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดีก่อนจะตัดสินใจลงทุนใดๆ การที่คุณลงทุนตามผม ไม่ได้การันตีผลตอบแทนใดๆ นะ บอกเอาไว้เลย

ในยุคที่ประเทศไทยเรากำลังจะมีธนาคารไร้สายขา หรือ Virtual bank ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว การลงทุนต่างๆ เนี่ย เริ่มสะดวกสบายมากขึ้น และมีตัวเลือกมากขึ้นครับ การเปิดบัญชีเพื่อลงทุนกับ Dime! by KKP นี่คือง่ายดายมาก แค่ไปดาวน์โหลดแอปมาจาก Apple App Store หรือ Google Play Store มาติดตั้ง ก็สามารถเปิดบัญชีได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องไปธนาคารแล้ว ใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น ขั้นตอนก็ตามมาตรฐานพวกแอปด้านการลงทุน ก็คือ ต้องยืนยันด้วยตัวผ่านกระบวนการ KYC (Know Your Customer) ซึ่งก็ไม่ยุ่งยาก ก็มีการกรอกเลขบัตรประชาชน รหัสเลขเซอร์หลังบัตร และหากคุณมีการเปิดใช้บริการ NDID ผ่านพวกแอปธนาคารเช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ แล้วก็มีสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนอีกหน่อย ก็จบแล้ว จากนั้นก็จะมีการประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเรา ซึ่งผมแอบรู้สึกว่าแบบสอบถามมันออกแนวแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพเลยอะ 🤣🤣

ใครที่ลงทะเบียนเปิดบัญชี Dime! by KKP แล้ว อย่าลืมกรอกรหัสชวนเพื่อนของผม 7V2RBSNO นะคร้าบ

นายกาฝาก
หน้าจอของแอป Dime by KKP ในขั้นตอนการยืนยันตัวตน โดยสามารถเลือกแอปผู้ให้บริการเพื่อยืนยันตัวตนได้ มีการแสดงรายการธนาคารที่ให้บริการยืนยันตัวตนที่เราเคยได้ลงทะเบียนเอาไว้ ได้แก่ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย Bualuang mBanking โดยธนาคารกรุงเทพ และ SCB Easy โดยธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย สิ่งที่เราจะได้ก็คือ บัญชีเงินฝาก (พร้อมเลขบัญชี) ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ที่โฆษณาว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 3% ต่อปี แบบมีดอกจัน 🤣🤣 โดยมีรายละเอียดแบบนี้ครับ

ยอดเงินฝากอัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)
ส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท3.00%
ส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท1.00%
ส่วนที่เกิน 100,000 บาท0.50%
หมายเหตุ: อัตราดอกเบี้ยในตารางขั้นต้น เป็น ณ วันและเวลาที่เขียนบล็อกตอนนี้ อาจมีเปลี่ยนแปลงได้ แนะนำให้ตรวจสอบกับทางเว็บไซต์ผู้ให้บริการอีกครั้ง

จะเห็นว่าดอกเบี้ยดูเหมือนจะเยอะ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่หรอกครับ ถ้าฝากไม่เกิน 100,000 บาท ก็ยังถือว่าได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่เรตดีกว่าดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปอยู่ แต่ถ้าเกิน 100,000 บาท ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงสุดของบรรดาเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ส่วนยอดระหว่าง 30,000 – 100,000 บาท ก็ต้องบอกว่ามีบางธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยดีกว่า 1.00% อยู่หลายแพ็กเกจครับ (จะไม่ขอพูดถึงในบล็อกตอนนี้นะ เพราะไม่เกี่ยวกับเนื้อหา)

หน้าจอแอป Dime by KKP ที่กำลังแสดงผลกราฟิกรูปตัวการ์ตูน เป็นผู้ชายใส่เสื้อสีเข้ม สวมหมวกแก๊บสีแดงและถุงมือสีแดง มีข้อความเขียนว่า อย่าลืมแชร์ตัวละคร Dime! ของคุณ หรือจะย้อนกลับไปเพื่อแชร์หน้าอื่นก็ได้นะ

กิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ของแอป Dime! by KKP ก็คือ ตอนที่เราเปิดบัญชีเสร็จ มันจะมีการสร้างอวตารของเราเป็นตัวการ์ตูน ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการประเมินการยอมรับความเสี่ยงของเราครับ และมันก็จะมีเนื้อหาแนววิเคราะห์บุคลิกภาพของการเป็นนักลงทุนของเราเลยครับ ลองอ่านดูได้ว่าตรงไหม 🤣🤣

แอป Dime! by KKP ก็ถือว่ามีการปรับปรุงในแง่ของ User Interface และ User Experience อยู่เป็นระยะๆ นะ เพราะตอนที่ผมดาวน์โหลดมาใช้งานและรีวิวเบื้องต้นไปทาง Twitter เมื่อสัปดาห์ก่อน ตอนนั้นผมยังบ่นอยู่เลยว่าไอคอนเมนูด้านล่าง มันเข้าใจยาก น่าจะมีข้อความกำกับด้วยว่าอะไรเป็นอะไร มาวันนี้ ที่ผมเขียนบล็อก มันมีกำกับแล้วจ้า ก็ถือว่าโอเค

เมนูหลักๆ จะประกอบไปด้วย 5 ตัวเลือก

*️⃣ หน้าหลัก ก็จะแสดงไอคอนพวกเนื้หาที่น่าสนใจอยู่ด้านบน ตามมาด้วยข้อมูลตลาดหุ้นต่างๆ และรายการโปรดที่แสดงพวกข้อมูลหุ้นหรือกองทุนใดๆ ที่เราบันทึกเอาไว้ (มันจะมีข้อมูลที่ใส่มาให้ก่อนหน้าแล้ว ไปเอาออกเองได้ถ้าไม่ชอบ)

*️⃣ สินทรัพย์ ก็จะแสดงภาพรวมของสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามี ประกอบไปด้วยตัวเงินสด กองทุน และหุ้น โดยมีการแสดงรายละเอียดเลยว่ามีอะไรเท่าไหร่บ้าง และในกรณีของกองทุนและหุ้น ก็จะแสดงรายละเอียดกำไร-ขาดทุน ณ ปัจจุบันด้วย ถ้าเราแตะไปที่เงินสด กองทุนหรือหุ้น มันก็จะเข้าไปดูรายละเอียดของรายการนั้นๆ

*️⃣ เงินสด ก็จะแสดงข้อมูลของเงินสด ที่ปัจจุบันประกอบไปด้วย Dime! Save ที่เป็นเหมือนกระเป๋าเงินบาทของเรา มีเงินในนี้ก็จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากด้วย (ตามรายละเอียดที่ผมเขียนถึงไปด้านบน) กับ Dime! USD ที่เป็นกระเป๋าเงิน USD ที่เราแลกมา ทั้งสองกระเป๋า จะมีการแสดงรายการธุรกรรมที่เกิดขึ้นด้วย

*️⃣ ลงทุน เป็นหน้าจอเอาไว้หาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนหรือหุ้นเพื่อตัดสินใจลงทุน ทาง Dime! by KKP เขาก็จะมีการคัดเลือกตัวที่น่าสนใจโดยนักวิเคราะห์ของเขาเอาไว้ให้ด้วย

*️⃣ ฉัน เป็นหน้าจอที่แสดงอวตารของเราเอง เอาไว้อ่านบทวิเคราะห์บุคลิกภาพการลงทุนของเราได้ และตั้งค่าต่างๆ ของเราได้

การลงทุนไม่ยุ่งยากครับ เลือกกองทุนหรือหุ้นตัวที่เราสนใจ เราจะได้เห็นรายละเอียดของกองทุนหรือหุ้นนั้นครับ ถ้าเป็นกองทุนเราก็จะได้เห็นกราฟราคา และคำอธิบายสรุปไม่ว่าจะเป็น ระดับความเสี่ยง ประเภทของกองทุน จุดเด่น (ตามการแท็กโดย KKP) และข้อมูลสัดส่วนการลงทุน ที่ให้เห็นว่าไปลงทุนสินทรัพย์ไหนบ้าง ในกลุ่มอุตสาหกรรมไหน และสัดส่วนสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นยังไง เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อกองทุนนั้นๆ

แต่ถ้าเป็นหุ้น ข้อมูลที่เราได้เห็นก็คือกราฟราคาหุ้น จุดเด่นของหุ้น ซึ่งก็คือพวกหมวดหมู่ต่างๆ ที่แท็กโดยทาง KKP และค่าสถิติสำคัญต่างๆ ของหุ้นนั้นๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นนั้นๆ

จุดเด่นที่สำคัญของการลงทุนผ่าน Dime! by KKP ในมุมมองของผมก็น่าจะเป็น

🟢 สามารถลงทุนซื้อหุ้นอเมริกาได้ในแบบเศษหุ้น (Fractional share) ทำให้สามารถเริ่มลงทุนได้ด้วยเงินแค่ 50 บาท (หรือ $1.50) ไม่ต้องซื้อหุ้นทั้งตัว ซึ่งปกติราคาจะแพงเอาเรื่องครัว ตั้งแต่ระดับหุ้นละพันนิดๆ ไปจนถึงหุ้นละเป็นหมื่นบาท แต่ด้วย Dime! by KKP เราจะสามารถซื้อหุ้นบริษัทดังๆ แพงๆ เช่น Apple ได้แบบ 0.04 หุ้น อะไรแบบนี้

🟢 ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ทำให้เราไม่ต้องซื้อหุ้นที่ละไม่ต่ำกว่าจำนวนหนึ่ง เพื่อให้คุ้มค่าธรรมเนียม เช่น บางที่เขาจะมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำอยู่ที่ $4.99 ต่อครั้ง ซึ่งปกติแล้วค่าคอมมิชชัน $0.08/หุ้น ดังนั้นหากจะซื้อให้คุ้ม ก็ต้องซื้อประมาณ 63 หุ้น ถ้าสมมติว่าเราซื้อหุ้นราคา $50 ก็เท่ากับเราต้องซื้อทีละ $3,150 หรือเป็นแสนบาทเลยจ้า (นี่ยังไม่นับค่าธรรมเนียมตลาด 0.00229% ของมูลค่าขายหลักทรัพย์นะ) แต่ Dime! by KKP นี่จะมีค่าคอมมิชชัน 0.15% ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย VAT 7% ของค่าคอมมิชชัน และค่าธรรมเนียมตลาด 0.00229% ของมูลค่าหลักทรัพย์ รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องค่าธรรมเนียม ไปอ่านที่เว็บไซต์ Dime! by KKP นะ

🟢 Dime! by KKP เขาจะไม่คิดค่าคอมมิชชันของรายการซื้อหรือขายครั้งแรกของแต่ละเดือน อยากซื้อหรือขายก้อนใหญ่ ก็คงต้องพิจารณาขายกันเป็นธุรกรรมแรกของเดือนนี่แหละ

🟢 การลงทุนซื้อหุ้นอเมริกา มันต้องแลกเงินจากบาทเป็นดอลลาร์ก่อน ปกติมันก็จะต้องใช้เวลา กว่าที่จะโอนเงินไปเพื่อไปแลกเป็นดอลลาร์ แล้วกว่าเงินจะพร้อมให้เราซื้อ มันจะใช้เวลาประมาณ 2-4 วัน แล้วแต่ผู้ให้บริการ แต่ Dime! by KKP มีฟีเจอร์เรียกว่า Dime! Fast ที่พอเรากดแลกเงินปุ๊บ ไม่กี่วินาทีถัดมา ตัวเลขเงินก็จะมาอยู่ในบัญชีเราเพื่อพร้อมซื้อหุ้นอเมริกาแล้ว

🟢 การซื้อหุ้นในอเมริกา มันจะต้องมีการส่งเอกสารเรื่องภาษีที่เรียกว่า W-8BEN ด้วย บางที่เขาคิดค่าธรรมเนียม 2,000 บาท ต่อ 3 ปีปฏิทิน แต่ของ Dime! by KKP เขายื่นให้ฟรี

🟢 ฝากเงินไทยเอาไว้ใน Dime! Save ก็จะได้ดอกเบี้ยด้วย ซึ่งอาจจะดีกว่าหรือเทียบเท่ากับการฝากบัญชีออมทรัพย์ทั่วๆ ไปเลย

แต่ผมก็มีข้อสังเกตที่ใครที่จะมาใช้บริการ Dime! by KKP ควรทราบนะครับ

🔴 Dime! by KKP ดูจะเหมาะกับนักลงทุนรายย่อย ลงทุนกันทีละไม่เยอะ เป็นพวกที่ลงทุนเดือนนึงหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ค่าคอมมิชชันกับค่าธรรมเนียมจะไม่โหดร้าย แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อ-ขายกันทีเป็นหลักแสนบาท และเน้นซื้อพวกหุ้นราคาแพงกว่า $53 ค่าคอมมิชชันอาจจะโหดได้ เพราะว่ามันคิดที่ 0.15% ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ขายเลย ซึ่งผู้ให้บริการบางรายเขาคิดแบบ Fixed rate ที่ $0.08/หุ้น ไม่ว่าหุ้นจะราคาเท่าไหร่ก็ตาม ทำให้ถ้าเราซื้อหุ้นราคาแพงๆ และซื้อขายทีละเยอะๆ ค่าคอมมิชชันก็จะถูกกว่าของ Dime! by KKP อยู่มาก

🔴 ตัวเลือกในการลงทุนของ Dime! by KKP ยังค่อนข้างจำกัด หากต้องการกระจายความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ อาจจะต้องไปพิจารณากองทุนรวมของไทยหรือ ETF ในอเมริกาที่เขาจะมีนโยบายลงทุนตามอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะปัจจุบันเขาลงทุนได้แค่เฉพาะกองทุนรวมในไทย ETF ในอเมริกา กับหุ้นอเมริกาเท่านั้น (หวังว่าในอนาคตอาจจะมีเพิ่มเข้ามาอีก)

🔴 การซื้อหุ้นอเมริกา มันต้องพิจารณาทั้งต้นทุนราคาหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน ณ ตอนที่เราแลก USD มาซื้อด้วยนะครับ ต่อให้หุ้นขึ้น ถ้าเกิดบาทแข็งขึ้นมา มูลค่าของหุ้นนั้นๆ เป็นเงินบาท อาจจะไม่ได้ขึ้น หรือเผลอๆ อาจจะลดลงด้วย ถ้าบาทแข็งโด่มากๆ จริงๆ และราคาหุ้นก็ดันร่วงอีก ยิ่งบรรลัยเลยนะครับ การซื้อหุ้นอเมริกา มันเลยมีความเสี่ยงมากกว่าซื้อหุ้นไทย เพราะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามาด้วยนั่นเอง

🔴 สำหรับคนที่ไม่เคยลงทุนหุ้นในต่างประเทศมาก่อน ผมแนะนำให้ศึกษาเรื่องภาษีด้วย เช่น กำไรจากการขายหุ้นในต่างประเทศ หากเรานำเงินกำไรนั้นกลับมาประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกันกับปีภาษีที่เราขายหุ้นได้เงิน เราจะต้องเอากำไรนั้นมาคำนวณภาษีเงินได้ และจ่ายภาษีด้วย แต่หากเอาเงินกลับมาคนละปีภาษี จะไม่ต้องเสียภาษี ผมแนะนำให้ดูคลิปด้านล่างนี่ จะได้ข้อมูลเพิ่ม

การซื้อขาย ถ้าเป็นกองทุนรวมในประเทศไทย เราก็แค่กดเลือกกองทุนที่ต้องการจะซื้อ แล้วก็เลือกจำนวนเงินที่เราต้องการลงทุน ซึ่งจะมีขั้นต่ำมากน้อยแล้วแต่กองทุน ต่ำสุดก็ 1 บาท แต่บางกองทุนก็อาจจะมีขั้นต่ำ 1,000 บาทเลยก็ได้ ก็ต้องเลือกให้เหมาะกับจำนวนเงินที่เราลงทุนไหวละนะครับ

แต่ถ้าเป็น ETF ของอเมริกา หรือ หุ้นอเมริกา จะสามารถเลือกซื้อได้ 3 แบบ ซึ่งเลือกได้ตามความสะดวกของเรา และมีข้อดีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป คือ

ภาพส่วนหนึ่งของหน้าจอแอป Dime! by KKP ในส่วนเลือกประเภทคำสั่ง มีให้เลือก 3 แบบ คือ ระบุจำนวนเงินบาท ระบุจำนวนเงิน USD และ ตั้งราคาเอง (Limit order)

*️⃣ ระบุจำนวนเงินบาท สะดวกสำหรับคนที่ขี้เกียจคิดเยอะ ฝากเงินเอาไว้ใน Dime! Save อยากซื้อเมื่อไหร่ อยากซื้อกี่บาท ก็ระบุเป็นยอดเงินบาทไป เดี๋ยวระบบ Dime! Fast จะไปแลกเป็น USD ไปซื้อให้โดยอัตโนมัติ ข้อจำกัดของการซื้อวิธีนี้คือ เราจะซื้อในราคาหุ้น ณ ตอนที่เราส่งคำสั่งซื้อ หากซื้อนอกเวลาทำการ ก็จะได้ราคาที่ Match ได้ตอนเปิดตลาดเมื่อซื้อได้ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ราคาที่เราอยากได้เป๊ะๆ ไม่งั้นเราต้องนั่งเฝ้าหน้าจอเพื่อกดซื้อ ซึ่งหากราคาหุ้นมันแกว่งไว ก็ยากที่จะได้เป๊ะๆ อะ และเราอาจจะไม่ได้แลก USD ในเรตที่ดีที่สุด เพราะมันจะแลกด้วยเรต ณ ตอนที่เราส่งคำสั่งซื้อเช่นกัน … การซื้อด้วยวิธีนี้ ขั้นต่ำคือ 50 บาท

*️⃣ ระบุจำนวนเงิน USD คือ เราได้มีการแลกเงิน USD มาเก็บเอาไว้แล้ว เอาเงิน USD นี่แหละไปซื้อหุ้น (หรือ ETF อเมริกา) ข้อดีคือ เราสามารถไปแลก USD ทิ้งเอาไว้ตอนเรตดีๆ (บาทแข็ง) ได้ เพื่อที่เวลาเราไปซื้อ จะได้ต้นทุนถูกๆ หน่อย แต่ข้อจำกัดก็ยังเป็นเรื่องที่เราจะซื้อในราคาหุ้น ณ ตอนที่เราส่งคำสั่งซื้อ หรือ ราคา Match ตอนเปิดตลาด นั่นแหละครับ … การซื้อด้วยวิธีนี้ ขั้นต่ำคือ $1.5

*️⃣ ตั้งราคาเอง (Limit Order) คือ ให้เราได้กำหนดราคาของหุ้นที่ต้องการจะซื้อ เช่น อยากซื้อหุ้น Apple ในราคาหุ้นละ $138 ถ้าไม่ได้ราคานี้ก็จะไม่ Match (ไม่ซื้อ) ข้อจำกัดของการซื้อแบบนี้คือ ต้องซื้อเป็นหุ้นเต็มขั้นต่ำ 1 หุ้น แต่ข้อดีก็คือ เราจะสามารถซื้อได้ ณ ราคาที่ต้องการ ไม่ต้องลุ้น

Dime! by KKP เขามีโปรโมชันในการส่งเสริมการขาย ให้ลูกค้าชวนคนมาเป็นลูกค้าเพิ่ม โดยมีรางวัลตอบแทนสูงสุด 1,000 บาท ซึ่งให้ในรูปแบบของหุ้นอเมริกาครับ โดยมีลำดับขั้นคือ ชวนเพื่อนมาเป็นลูกค้าได้ 1 คน ได้หุ้นมูลค่า 50 บาท ถ้าได้ 3 คน ได้เพิ่มอีก 100 บาท ถ้าชวนได้ถึง 6 คน ได้เพิ่มอีก 200 บาท ถ้าชวนได้ 10 คน จะได้อีก 250 บาท และสุดท้าย คือ 15 คน ได้อีก 400 บาท

หน้าจอแอป Dime! by KKP แสดงความยินดีที่ได้รางวัลหุ้น Tesla มูลค่า 50 บาท

โดยหากเราได้รางวัลจากการชวนเพื่อนมาตามจำนวนที่กำหนด แอปก็จะขึ้นตัวเลือกให้เรา 3 ตัว เราก็เลือกครับ แต่เอาจริงๆ จากที่ผมอ่านข้อมูลรายละเอียดจากแอปแล้ว เขาใช้วิธีกำหนดลำดับของรางวัลให้กับเรา ว่าเราได้เป็นลำดับที่เท่าไหร่ (ยกตัวอย่างเช่น ภาพด้านบน รางวัลที่ผมได้ตอนชวนเพื่อนคนแรกสำเร็จ ผมได้เป็นลำดับที่ 929) จากนั้นก็เอามาหาร 25 แล้วดูว่าเศษจากการหารเป็นเท่าไหร่ เราก็จะได้หุ้นตัวที่เขากำหนด แหม่ เราก็นึกว่าอยู่ที่โชคจากตัวที่เราเลือก เชอะๆ … ซึ่งอ้างอิงจากแอป เขาระบุไว้แบบนี้

เศษชื่อย่อหุ้นชื่อหุ้น
0AAPLApple Inc.
1MSFTMicrosoft Corporation
2GOOGAlphabet Inc.
3AMZNAmazon.com, Inc.
4TSLATesla, Inc.
5JNJJohnson & Johnson
6METAMeta Platforms, Inc.
7VVISA Inc.
8XOMExxon Mobil Corporation
9PGProcter & Gamble Company
10MAMastercard Incorporated
11CVXChevron Corporation
12PFEPfizer Inc.
13BACBank of America Corporation
14KOCoca-Cola Company
15PEPPepsiCo, Inc.
16DISThe Walt Disney Company
17MCDMcDonald’s Corporation
18NKENike, Inc.
19SPOTSpotify Technology S.A.
20GRABGrab Holdings Limited
21NVDANVIDIA Corporation
22TMToyota Motor Corporation American Depository Shares
23FFord Motor Company
24MMM3M Company

อย่างผมอะ ได้ลำดับ 929 เอา 25 หาร ก็ได้ 37 มีเศษ 4 ก็เลยได้หุ้น Tesla นั่นเองครับ พอรู้แล้วว่าจะได้อะไร ก็รอตลาดเปิด เดี๋ยวเขาก็จะเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อหุ้นให้เรา ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น และ ราคาหุ้น ณ วันนั้นด้วยเช่นกัน เราก็จะได้จำนวนหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่ารางวัลนิดหน่อย เพราะมันมีค่าคอมมิชชันกับค่าธรรมเนียมด้วย แต่หากหุ้นขึ้น เราก็จะได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกันนะครับ เช่น ของผมเนี่ย ได้หุ้น Tesla มาแค่ $1.42 แต่ผ่านไปไม่กี่วัน ราคาหุ้นมันขึ้นไป 31.72% มูลค่าเลยกลายเป็น $1.87 เลยได้มูลค่าเพิ่มมา 11.09 บาท (จากรางวัลที่ได้ 50 บาท) เป็นต้น

ขออ้อนวอนอีกรอบ 🤣🤣 ถ้าเกิดสนใจอยากใช้แอป Dime! by KKP แล้วคิดว่าบล็อกของผมตอนนี้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ อย่าลืมกรอกรหัสชวนเพื่อนของผม 7V2RBSNO นะคร้าบ

นายกาฝาก

ทีนี้มาดูกันว่าพอร์ตผม หลังจากลองเล่นไปประมาณ 1 สัปดาห์ทำการเป็นยังไงบ้าง ก็ลงเงินไปกรุบกริบ 10,000 บาทถ้วน และได้หุ้นมาจากการชวนเพื่อนประมาณ 350 บาท ก็ออกมาประมาณนี้ครับ

หน้าจอแอป Dime! by KKP แสดงรายการหุ้นสหรับอเมริกา 6 หุ้นที่อยู่ในพอร์ตของผม

พิจารณาจากทั้งประสบการณ์ในการใช้งานแอป รูปแบบการลงทุน ค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิชชันต่างๆ ผมก็ต้องบอกว่ามันเหมาะกับคนที่ลงทุนไม่มากจริงๆ นั่นแหละ เน้นการทยอยออมหุ้นไปเรื่อยๆ โดยใช้จำนวนเงินไม่มาก ไม่อยากให้ไปคิดเยอะเรื่องค่าธรรมเนียม แบบที่กะจะซื้อหรือขายแค่เดือนละหนเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม เพราะนั่นจะทำให้คุณพลาดจังหวะที่ดีไป เช่น ราคาหุ้นที่เหมาะสม เพราะเอาจริงๆ ก็อย่างที่บอก เขาออกแบบมาให้เหมาะกับคนที่ลงทุนด้วยเงินไม่เยอะอยู่แล้ว ค่าธรรมเนียมมันก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น

หน้าจอแอป Dime! by KKP แสดงสรุปการซื้อหุ้น Qualcomm จำนวน 1.289628 หุ้นที่ราคาเฉลี่ย $134.34 โดยมีมูลค่าหุ้นที่ซื้อจริง $151.67 มีค่าคอมมิชชัน $0.23 และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT) $0.02

จะเห็นว่าผมซื้อหุ้นด้วยเงินประมาณ 5,000 บาท หรือ $151.92 ก็จะมีค่าคอมมิชชันรวม VAT แล้ว แล้วมันก็ตก $0.25 เท่านั้นเอง หรือประมาณ 0.165% ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินก็ 8.2275 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ ตอนที่ผมซื้อ USD คือ 32.91 บาท/ดอลลาร์) ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับค่าธรรมเนียมซื้อหุ้นไทยนะ (ของไทย หากยอดซื้อขายต่อวันต่ำกว่า 5 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมถูกสุดคือกรณีบัญชีเติมเงิน 0.157% + VAT 7% หรือก็คือ 0.168%)

ฉะนั้นอยากให้คิดซะว่า การฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมแรกของเดือนคือของแถมแหละ (ซึ่งก็ไม่ได้แถมเยอะนะ ลองคิดว่าถ้าเราซื้อหุ้น 5,000 บาท ค่าธรรมเนียมมันแค่ 8 บาทกว่าเองอะ 🤣🤣)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า