พูดถึงที่สูบลมไฟฟ้าแบบพกพาได้ คนอาจจะนึกถึงรุ่นยอดฮิตของ Xiaomi ที่ผมเคยรีวิวไปเมื่อสองปีก่อน เผอิญว่าจากทริปสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมไปเจอที่สูบลมไฟฟ้าพกพายี่ห้อ Carsun ราคาพันต้นๆ (ประมาณ 1,1xx บาท ผมจำราคาไม่ได้เป๊ะ) ตัวนี้พิจารณาจากสเปกแล้ว ดูดีทีเดียว ใช้สูบลมได้ มีไฟฉุกเฉินในตัว ทำหน้าที่ปล่อยลมยางออกได้ และถ้าฉุกเฉินจริงๆ ก็เป็นพาวเวอร์แบงก์ได้อีกตะหาก คำถามคือ ใช้แล้วมันดีจริงไหม บล็อกตอนนี้ไปหาคำตอบกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ที่สูบลมไฟฟ้าพกพา Carsun C3106 ตัวนี้ ซื้อมาเอง กะรีวิวครับ และถ้ามันดีก็กะว่าจะเก็บไว้ใช้ด้วย มีที่สูบลมพกพาไว้ใช้หลายๆ อัน ก็ไม่ใช่ปัญหาใช่ปะล่ะ อีกอย่าง ของ Xiaomi ที่ซื้อมามันก็เก่าแล้ว ตั้ง 2 ปีแล้ว เริ่มใช้แป๊บๆ แบตก็เตือนว่าอ่อนแล้ว อาจจะถึงเวลาต้องเปลี่ยนง่ะ

เอาจริงๆ กล่องของที่สูบลมไฟฟ้าพกพา Carsun C3106 นี่ถือว่าดูดีทีเดียวนะ ภายในกล่องที่เราจะได้ก็มีตัวที่สูบลมไฟฟ้าแบบพกพา คู่มือ และสายชาร์จแบบ USB-A to USB-C ครับ

ตัวที่สูบลมไฟฟ้า ดีไซน์ก็เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงกะทัดรัด ออกแบบมาค่อนข้างดีนะ ด้านหน้ามีจอ LCD ขนาดใหญ่เอาไว้แสดงผลสถานะการใช้งาน ด้านขวามือมันมีตัวสายสูบลมเหน็บไว้ ส่วนด้านซ้ายมีปุ่มสำหรับเอาไว้ปล่อยลมยางครับ

ส่วนด้านหลังมีแผ่นยางปิดเอาไว้อยู่ ถ้าแกะออกมาเนี่ย ก็จะเห็นหัวแปลงต่างๆ ที่เอาไว้สูบลมลูกบอลงี้ สูบลมห่วงยางงี้ เข้าใจออกแบบที่เก็บดีครับ พกที่สูบลมไปอันเดียว ก็พร้อมสำหรับใช้งานทุกสถานการณ์ได้เลย

ด้านบนของที่สูบลมเราจะเห็นไฟ LED พอร์ต USB-A ที่เอาไว้ใช้อุปกรณ์อื่นได้ พอร์ต USB-C ที่เอาไว้สำหรับชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้ามาที่ที่สูบลม และรูเกลียวสำหรับเอาสายสูบลมมาต่อเพื่อใช้สูบลมนั่นเอง

ด้านซ้ายของตัวที่สูบลม เราจะเห็นปุ่มสำหรับปล่อยลมออก มันเอาไว้เวลาที่เราเสียบท่อสูบลมแล้ว แต่เราอยากจะปล่อยลมออกจากห่วงยาง หรือ ยางล้อ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์เวลาที่เราสูบลมไปแล้ว รู้สึกว่ามันเกินกว่าที่คิด อยากเอาออกซะหน่อยเพื่อให้ได้แรงดันลมตามที่ต้องการ

อธิบายด้านหน้าอีกนิดนึงครับ มันมีจอ LCD และปุ่มสำหรับกดสั่งงานต่างๆ ซึ่งจะคล้ายๆ กับของที่สูบลม Xiaomi ซะนี่กระไร ซึ่งอะไรต่อมิอะไรบนตัวเครื่องมันก็มีตามรูปด้านบนนะครับ
จอ LCD แสดงสถานะของการใช้งานที่สูบลมไฟฟ้าพกพา ก็จะสามารถแสดงข้อมูลได้ดังนี้
📂 หน่วยการวัดแรงดันลม แสดงเป็น PSI, BAR, KPA, kg/cm2 ได้ จะได้เหมาะสมกับสเปกของอะไรก็ตามที่เรากำลังสูบลมอยู่
📂 ตัวเลขแสดงแรงดันลม ณ ขณะนั้น กับ ตัวเลขแรงดันลมที่ตั้งค่าเอาไว้ ซึ่งเมื่อสูบลมได้ถึงแรงดันลมที่กำหนด เครื่องจะหยุดทำงานเองโดยอัตโนมัติ
📂 โหมดการเติมลม เลือกได้เป็นลูกบอล จักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และกำหนดเอง ซึ่งเอาไว้ให้เราสามารถตั้งค่าที่เหมาะสมสำหรับการเติมลมแต่ละอย่างได้ แล้วเราก็แค่เปลี่ยนโหมดการเติมลมให้เหมาะกับสิ่งที่เราจะสูบลมก็พอ
📂 ระดับแบตเตอรี่ เอาไว้แจ้งเตือนว่าแบตเตอรี่เต็มอยู่ไหม หรือใกล้หมด ต้องชาร์จแบตเตอรี่แล้ว
📂 ปุ่มสั่งงานต่างๆ ได้แก่ ปุ่ม Power เปิด-ปิดการทำงาน ปุ่มเพิ่มและลดการตั้งค่าแรงดันลม ปุ่มเปลี่ยนหน่วยการเติมลม ปุ่มเปลี่ยนโหมดการเติมลมและเปิด-ปิดไฟ LED
การใช้งานไม่ยุ่งยากครับ กดปุ่ม Power ค้างเอาไว้ เพื่อเปิดใช้งาน จากนั้นก็เลือกโหมดการเติมลมที่ต้องการ และหากตัวเลขแรงดันลมมันไม่ได้ตามสเปกที่ต้องการก็กดเพิ่มหรือลดตามใจชอบ อย่างไรก็ดี ตัวเลข Default ของโหมดการเติมลมแต่ละโหมด คือ ค่ามาตรฐานที่จะใช้เติมลมสิ่งเหล่านั้น (ลูกบอล ยางรถจักรยาน ยางรถยนต์ ฯลฯ) อยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนค่าเป็นเท่าไหร่ พอเราเปลี่ยนโหมดหรือปิดแล้วเปิดใหม่ มันก็จะกลับมาเป็นเลข Default เหมือนเดิม ยกเว้น โหมดเติมลมแบบกำหนดเอง ที่จะค่าสุดท้ายที่เราตั้งค่าเอาไว้

ลองเอาไปใช้งานมา ทั้งสูบลมให้กับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway-Ninebot Kickscooter P65U จักรยานไฟฟ้า Deco Z1 และรถยนต์ Mitsubishi Mirage ได้ข้อสรุปมาตามนี้ครับ
📂 ปั๊มลมกำลังสูงเอาเรื่อง 20 ลิตร/นาที แรงเวอร์มาก ผมว่าแรงกว่าของ Xiaomi ซะอีก แต่แลกมาด้วยเสียงที่ดังโคตรเช่นกัน
📂 ตัววัดแรงดันลม จะว่าแม่นก็แม่น จะว่าไม่แม่นก็ไม่แม่น คืองี้ ถ้าสูบลมพวกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหรือจักรยาน ตัวเลขที่ได้ก็ดูเป๊ะอยู่นะ (ผมวัดเทียบกับตัวเลขที่วัดได้จากที่สูบลมไฟฟ้าของ Xiaomi) แต่พอเอาไปสูบยางรถยนต์ คือ แอบเพี้ยนหนัก ผมตั้งไว้แค่ 35psi แต่พอสูบเสร็จ วัดค่าดู (ด้วยที่วัดแรงดันลมของ FOBO Tire) ปรากฏว่ามันวิ่งไปที่ 38psi เลยจ้า (ลองใช้ที่สูบลมไฟฟ้าของ Xiaomi แล้วก็ได้เท่ากัน) ถ้าผมอยากสูบลมแค่ 35psi ผมต้องตั้งไว้แค่ 32psi แทน
📂 แบตเตอรี่ดูจะอึดเอาเรื่อง คงเพราะว่ามันมีแบตเตอรี่ 2,000mAh สองชุด รวมเป็น 4,000mAh ปกติใช้ของ Xiaomi สูบลมรถยนต์นี่คือลุ้นมากครับว่าแบตเตอรี่จะหมดไหม แต่เจ้านี่สูบยิงยาว 4 ล้อ (จาก 30psi -> 35psi) คือแบตเตอรี่ยังดูเต็มๆ อยู่เลย
📂 ที่สูบลมมีความครบเครื่อง คือ หัวปกติมันสูบลมจักรยาน มอเตอร์ไซค์ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รถยนต์ ได้อยู่แล้ว แต่หากจะสูบลมลูกบอล ห่วงยาง หรือ จักรยานรุ่นเก่าๆ มันก็มีหัวต่อมาให้แล้ว และดีไซน์ให้เก็บไว้ในตัวที่สูบลมด้วยเลย ทำให้พกพาสะดวกมากๆ


ตัวที่สูบลมไฟฟ้าพกพา Carsun C3106 นี่ก็ยังมีฟีเจอร์ทำตัวเป็นไฟฉายได้ด้วย ซึ่งมันมีไฟ LED อยู่หลายดวง ทำให้ความสว่างนี่ถือว่าสว่างใช้ได้เลยทีเดียว เพียงแต่ว่าแสงจากไฟฉายจะไม่ได้เป็นแบบเป็นลำๆ ออกไปเป็นเส้นตรง โฟกัสไปที่จุดใดจุดหนึ่งนะ แต่จะเป็นแนวกระจายให้สว่างไปรอบๆ มากกว่า ดูตัวอย่างจากภาพด้านบนได้ครับ
นอกจากนี้มันยังเปิดเป็นไฟฉุกเฉินสีแดงกระพริบถี่ๆ หรือ กระพริบช้าๆ เพื่อใช้ขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเตือนก็ได้

อีกฟีเจอร์นึงที่น่าสนใจคือ เจ้าที่สูบลมไฟฟ้าพกพา Carsun C3106 ตัวนี้ มันทำตัวเป็นพาวเวอร์แบงก์ได้ด้วยครับ โดยสามารถจ่ายไฟสูงสุด 5V2A ให้กับอุปกรณ์ได้ ถือว่าในกรณีที่ฉุกเฉินสุดๆ จริงๆ เจ้านี่ก็สามารถช่วยต่ออายุแบตเตอรี่ให้กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเราได้อยู่นะ จะกี่มากน้อยก็เท่านั้น ผมลองเอามาใช้ชาร์จ Samsung Galaxy Z Fold 2 ดู มันก็ดูจะจ่ายไฟสูงสุด 5V2A ได้ตามสเปกนะครับ ตัวเลขที่ผมวัดได้คือ 5V 1.58A (การดึงกระแสไฟได้มากหรือน้อย อยู่ที่ตัวอุปกรณ์ที่เราชาร์จ และตัวเลขอาจจะดรอปลงเล็กน้อยเพราะมันต้องผ่านตัววัดกระแสไฟ)
บทสรุปการรีวิวที่สูบลมไฟฟ้าพกพา Carsun C3106
ราคา 1,1xx บาท ผมว่าคุ้มนะ ดีไซน์อาจจะดูก๊องแก๊งกว่าของ Xiaomi แต่ลูกเล่นต้องถือว่าเยอะกว่า แถมยังสามารถสูบลมได้ค่อนข้างไวกว่า และไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่บ่อยเท่าของ Xiaomi ด้วย ในความเห็นของผม ถ้าไม่ติดเรื่องยี่ห้อ ผมว่าตัวนี้ก็โอเค แต่ผมไม่รู้ว่า MR. DIY มีขายทุกสาขาไหมนะสิ เพราะผมไปลองดู 3 สาขา เจอแค่สาขาเดียว คือ สาขาแถวบ้านอะ อันนี้คือ เจอด้วยความบังเอิญด้วยนะ เพราะไม่ได้ตั้งใจจะไปซื้อเจ้านี่ แต่พอเจอแล้วก็เลยซื้อติดมือมาลองเฉยๆ