Home>>รีวิว>>รีวิว Microsoft Surface Pro 9 (Core i5-1235U 8/256) โน้ตบุ๊ก 2-in-1 ค่าตัวครึ่งแสน
Microsoft Surface Pro 9 และ Keyboard cover วางอยู่บนโต๊ะไม้
รีวิว

รีวิว Microsoft Surface Pro 9 (Core i5-1235U 8/256) โน้ตบุ๊ก 2-in-1 ค่าตัวครึ่งแสน

Microsoft Surface Pro เป็นโน้ตบุ๊กดีไซน์ที่ผมชอบนะ คือ ประสิทธิภาพพอสมควร แต่บางเบา พกพาสะดวก ใช้งานแบบ 2-in-1 ได้ ทั้งเป็นโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต แต่นับตั้งแต่ผมใช้ Microsoft Surface RT และ Microsoft Surface Pro 3 แล้ว ผมก็ได้แค่แตะๆ ผ่านเครื่องที่ยืมเพื่อนๆ มาเล่นครับ เพราะ Microsoft Surface Pro ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ราคาแรงมากๆ รุ่นนึงเลยทีเดียว ล่าสุดทาง Microsoft เขาให้ยืม Microsoft Surface Pro 9 มาลองเล่น ก็ขอถือโอกาสลองแบบจริงๆ จังๆ แล้วมาเล่าให้อ่านกันดีกว่าว่าประสบการณ์ในการใช้งานเป็นยังไงบ้าง และอะไรที่จะทำให้เราจ่ายครึ่งแสนกว่า เพื่อใช้งาน

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

Microsoft Surface Pro 9 ตัวนี้ ผมได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง PR ของ Microsoft ให้ยืมมารีวิวครับ ใหม่เอี่ยม แกะกล่องจริงๆ และแน่นอนว่าจะเล่าประสบการณ์ในการใช้งานให้ได้อ่านกันอย่างเต็มที่เลย

ดีไซน์ของ Microsoft Surface Pro 9

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า Microsoft Surface Pro เนี่ย เวลาเขาขาย จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ตัว Microsoft Surface Pro ตัว Keyboard cover และ Surface Pen ครับ แต่เวลาซื้อออนไลน์ เขามีแบบเป็นแพ็กเกจ ที่ขายตัว Surface Pro กับ Keyboard หรือ 3 ชิ้นรวมกันเลยด้วย และบอกก่อนเลยว่า Microsoft Surface Pro 9 นี่ ราคาไม่ใช่ถูกๆ ครับ ตัวที่ผมได้มารีวิว เป็นเซ็ตครบครับ คือ มีทั้งตัว Microsoft Surface Pro 9, Keyboard cover และ Surface Pen

Microsoft Surface Pro 9 พร้อมอะแดปเตอร์ และสายไฟ AC

แกะกล่องของ Microsoft Surface Pro 9 ออกมา สิ่งที่เห็นในกล่องก็จะมีตัว Microsoft Surface Pro 9 และกล่องใส่ชุดอะแดปเตอร์แบบ 65 วัตต์ ซึ่งเป็นหัวชาร์จแบบ Microsoft Surface ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร มองในแง่นึงก็ต้องยอมรับว่า Microsoft เขาออกแบบมาได้ดีจริง เพราะผ่านมาหลายปีมากแล้ว ก็ยังใช้หัวชาร์จแบบเดิมได้

Microsoft Surface Pro 9 แสดงหน้าจอ Desktop อยู่

ตัว Microsoft Surface Pro 9 ดีไซน์เป็นเหมือนกับแท็บเล็ตตัวนึงที่มีขนาดหน้าจอ 13 นิ้ว มาพร้อมกับเทคโนโลยี PixelSense Flow Display มีความละเอียด 2,880×1,920 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผล 3:2 ให้ความสว่างสูงสุด 450 nits และมีอัตราการรีเฟรชภาพสูงสุด 120Hz และมีลำโพงสเตริโออยู่ด้านซ้ายและขวา ออกแบบมาให้ซ่อนเนียนอยู่ตรงขอบของหน้าจอดีมาก

บริเวณขอบจอด้านบนของ Microsoft Surface Pro 9 เห็นเลนส์กล้องเว็บแคม และรูไมโครโฟน

ขอบหน้าจอด้านบน เราจะเห็นกล้องเว็บแคม 1080p เซ็นเซอร์อินฟราเรดสำหรับ Windows Hello และไมโครโฟนแบบสเตริโอ 2 ตัวด้วย

อะไรคือ PixelSense Flow Display

เป็นเทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสแบบ Multitouch ของ Microsoft ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการรองรับการสัมผัสหลายจุดพร้อมกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตรวจจับสิ่งอื่นๆ เช่น Surface Pen หรือวัตถุอื่นๆ ได้อีกด้วย เป็นเทคโนโลยีที่ Microsoft เขาพัฒนาร่วมกับ Samsung

ด้านหลังของตัว Microsoft Surface Pro 9 เราจะเห็นกล้องดิจิทัลความละเอียด 10 ล้านพิกเซล รองรับการถ่ายวิดีโอระดับ Full HD และ 4K บริเวณด้านล่างของตัวเครื่อง จะเป็น Kickstand ที่สามารถกางออกมาเพื่อให้ตัว Surface Pro สามารถวางตั้งได้ โดยสามารถกางทำมุมได้สูงสุดเกือบ 180 องศาเลยทีเดียว

ถ้าเรากางตัว Kickstand ออกมาแล้ว เราจะเห็นว่ามันมีฝาปิดอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งหากเราใช้นิ้วกดไปตรงจุดที่มันเป็นรอยบุ๋มกลมๆ แล้ว จะเปิดฝาออกมาได้ เราก็จะเห็น SSD แบบ M.2 2230 อยู่ เหมือนจะอัปเกรดได้ไม่ยาก แต่น็อตที่ใช้ยึดเป็นแบบดาว 6 แฉกขนาดเล็ก ที่ไม่ได้หาซื้อได้ทั่วไป (แต่ไขควงไฟฟ้าของ Xiaomi มีหัวไซส์นี้นะ) และตัว M.2 2230 นี่ก็ไม่ค่อยเห็นขายกัน ไอ้พวกที่ขายกันออนไลน์ที่ผมเจอ ก็เป็นร้านที่ดูไม่น่าเชื่อถือซักเท่าไหร่

รอบๆ ตัวเครื่อง ด้านบนเราจะเห็นปุ่ม Power และ Volume ด้านซ้ายเป็นพอร์ต Thunderbolt 4/USB 4.0 หัวแบบ USB-C จำนวน 2 พอร์ต ด้านขวาเป็นช่องสำหรับเสียบหัวชาร์จที่เขาเรียกว่า Surface Connect ส่วนด้านล่าง จะเป็นช่อง 2 ช่องสำหรับเสียบกับ Keyboard cover

ภาพระยะใกล้ของบริเวณด้านล่างของ Microsoft Surface Pro 9 เป็นช่องสำหรับใส่ Keyboard cover

ดีไซน์ของ Keyboard cover เดี๋ยวนี้ทำดีนะ เมื่อก่อนจะเป็นแบบที่ขั้วทองเหลืองจะเห็นกันอยู่บนขอบตัวเครื่องเลย แต่เดี๋ยวนี้มันแอบซ่อนอยู่ในช่องเสียบคีย์บอร์ดแล้ว

สเปกและประสิทธิภาพของ Microsoft Surface Pro 9

Microsoft Surface Pro 9 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลตัวล่าสุดของ Intel คือ Gen 12 แต่ด้วยดีไซน์ที่บางเบาขนาดนี้ก็เลยเลือกใช้รหัส U ครับ โดยตัว Microsoft Surface Pro 9 ที่ผมได้มารีวิว จะไม่ใช่ตัวท็อปนะ แต่พิจารณาจากสเปกแล้ว ก็ต้องบอกว่าถือว่าเป็นรุ่นที่พอเหมาะกับการใช้งานที่สุด คือ แรม 8GB และความจุ 256GB นั่นเอง สเปกอื่นๆ ก็ตามตารางด้านล่างนี้ครับ

หน่วยประมวลผล12th Gen Intel® Core™ i5-1245U processor
กราฟิกIntel® Iris® Xe graphics
หน่วยความจำ8GB LPDDR4x
เนื้อที่เก็บข้อมูล256GB SSD M.2 2230
หน้าจอแสดงผล13 นิ้ว PixelSense™ Flow Display 2,880×1,920 พิกเซล
อัตรารีเฟรชภาพ 120Hz รองรับ Dolby Vision IQ
ความสว่างสูงสุด 450 nits หน้าจอกระจก Gorilla Glass 5
กล้องกล้องหน้า เว็บแคม 1080p
กล้องหลัง 10 ล้านพิกเซล
ระบบเสียงไมโครโฟนคู่ far-field
ลำโพง 2 วัตต์ รองรับ Dolby Atmos
พอร์ตเชื่อมต่อThunderbolt 4/USB 4.0 แบบ USB-C 2 พอร์ต
Surface Connect port
Surface Keyboard port
เน็ตเวิร์กWiFi 6E 802.11ax
Bluetooth 5.1
แบตเตอรี่46.5 Wh
น้ำหนักตามสเปก 879 กรัม (ไม่รวม Keyboard cover)
ชั่งเอง 860 กรัม (ไม่รวม Keyboard cover)
ชั่งเอง 1,150 กรัม (รวม Keyboard cover)

สนนราคาค่าตัวของ Microsoft Surface Pro 9 รุ่นที่ผมได้มารีวิว แบบรวม Keyboard cover แล้วก็คือ 52,090 บาทครับ ที่ผมเลือกพูดถึงราคาแบบรวม Keyboard cover ก็เพราะ ซื้อมาใช้ทั้งที ก็ควรจะซื้อเป็นเซ็ตแบบที่พร้อมใช้งานเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปสิครับ แต่ถ้าใครอยากจะได้ Surface Pen ด้วย เซ็ตนั้นจะอยู่ที่ 55,790 บาทครับ

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 x64 ของ Microsoft Surface Pro 9

SSD ที่ Microsoft เลือกใช้กับ Microsoft Surface Pro 9 นั้นถือว่าสเปกโอเคครับ คือ ความเร็วสูงสุดในการอ่านและเขียนแบบ Sequential คือ 3,462.5MB/s และ 2,474.4MB/s ตามลำดับ เร็วปรี๊ดดีอยู่ แต่อยู่ในระดับประมาณ PCIe Gen 3×4 แต่ก็ถือว่าเหลือพอแล้วสำหรับการทำงานทั่วๆ ไป

ประสิทธิภาพของ CPU ของ Microsoft Surface Pro 9 ถือว่าไม่เลวนะ ในฐานะ Intel Gen 12th ถ้าดูคะแนนแบบ Single core เราจะเห็นได้ว่าผลการประเมินนั้นถือว่าประสิทธิภาพใกล้ๆ กับ Intel Core i7-1165G7 เลยทีเดียว ในขณะที่กินพลังงานต่ำกว่า (15 วัตต์สำหรับ Core i5-1245U เทียบกับ 28 วัตต์ของ Core i7-1165G7) และพอไปวัดประสิทธิภาพแบบ Multi core ปุ๊บ คือชนะขาดครับ เพราะจำนวน Core ของ Core i5-1245U มันคือ 10-core 12-thread เทียบกับ Core i7-1165G7 ที่ 4-core 8-thread มันกินกันขาดเลย

คะแนนจาก Cinebench R23 ของ Microsoft Surface Pro 9 อยู่ที่ Single core 1,576 คะแนน และ Multi core 8,015 คะแนน เทียบกับ Single core ของ Core i7-1165G7 ที่ 1,532 คะแนน และ Multi core ที่ 4,904 คะแนน จะเห็นได้เลยว่า CPU Gen 12th นี่มันเจ๋งกว่า Gen 11th ขนาดไหน (เอาเป็นว่าผมใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็น Gen 11th อยู่ นี่แทบอยากจะไปขายทิ้ง ซื้อตัวใหม่ที่เป็น Gen 12th อ้ะ)

ผลการวัดประสิทธิภาพของ Microsoft Surface Pro 9 ด้วยโปรแกรม PCMark 10

ลองวัดประสิทธิภาพด้วยโปรแกรม PCMark 10 ต่อครับ คะแนนในส่วน Essentials ที่วัดความสามารถในการใช้งานทั่วๆ ไปไม่ว่าจะเป็นการรันแอป การท่องเว็บ ประชุมออนไลน์ ได้ 9,151 คะแนน ก็ถือว่าพอสมควรอยู่ ส่วนคะแนนด้าน Productivity ที่ประเมินเรื่องการทำงานประเภทเอกสาร สเปรดชีท ได้ 6,192 คะแนน ก็ถือว่าไม่น้อย แต่คะแนนในส่วนของ Digital Content Creation ที่พูดถึงการตกแต่งภาพ การตัดต่อวิดีโอ อะไรพวกนี้ นี่ต่ำตามคาด คือ 5,539 คะแนน ส่งผลให้คะแนนรวมอยู่ที่ 4,872 คะแนน ถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กราคาพอๆ กัน แต่เน้นไปที่ประสิทธิภาพฮาร์ดแวร์มากกว่าความบางเบา

พิจารณาจากสเปกที่ได้ และราคาที่ต้องจ่ายแล้วละก็ ก็ถือว่าแพงโหดเอาเรื่องเลยทีเดียว สมแล้วที่ Microsoft ตั้งราคาเอาไว้ระดับพรีเมียมครับ แต่สิ่งที่คุณจะได้ก็คือ ความสะดวกในการพกพา และความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย เพราะ Microsoft Surface Pro 9 ถูกออกแบบมาให้กะทัดรัดมาก แต่ยังได้ประสิทธิภาพสูงประมาณนึงจาก CPU Intel Core i5-1245U 10-core 12-thread และการรองรับ Surface Pen ที่เหลือเราก็ต้องตัดสินใจว่า เรายอมจ่ายแพงแลกกับสเปกที่ไม่สูงมาก แต่ได้เรื่องพกพาเต็มเหนี่ยว หรือเราคิดว่าแบกไหว เทอะทะหน่อยก็โอเค แต่ขอสเปกสูงไว้ก่อน เพราะต้องทำโน่นนี่นั่นเยอะ หรือ งบไม่เยอะ ขอสเปกแค่พอประมาณ เทอะทะหน่อยไม่ว่า แต่ไม่อยากจ่ายแพง แล้วละครับ

ประสบการณ์ในการใช้งาน Microsoft Surface Pro 9

Microsoft Surface Pro 9 นี่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มองหาคอมพิวเตอร์ที่พกพาไปไหนมาไหนสะดวก และใช้ทำงานแบบทั่วๆ ไป แบบที่ไม่ต้องเน้นใช้พลังงานในการประมวลผลมาก เช่น ทำงานเอกสาร นำเสนองาน ท่องเว็บ หรือใช้งานเพื่อความบันเทิงอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน หากจำเป็นต้องทำงานหนักหน่วงบ้าง ก็ยังพอไหว (แต่อาจจะต้องซื้อรุ่นที่มีแรม 16GB หรือใช้ Core i7-1265U)

Microsoft Surface Pro 9 และ Keyboard cover วางอยู่บนโต๊ะไม้

ด้วยขนาดที่กะทัดรัด และดีไซน์ของ Kickstand ที่ทำออกมาดีมาก ทำให้เราสามารถใช้งาน Microsoft Surface Pro 9 ได้ในหลากหลายอิริยาบถเลย ไม่ว่าจะวางบนตัก ถือไว้ทำงาน รวมถึงหากต้องวางบนโต๊ะ ก็ใช้พื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่ด้วยความละเอียดหน้าจอระดับ 2.8K และอัตราส่วนการแสดงผล 3:2 ทำให้ทำงานหลายๆ อย่างได้ค่อนข้างสะดวก

Surface Pen ที่วางอยู่ในที่เก็บ Surface Pen บน Keyboard cover ของ Microsoft Surface Pro 9

นับตั้งแต่ Microsoft Surface Pro 3 เป็นต้นมา สำหรับผมแล้วคีย์บอร์ดและทัชแพดของ Keyboard cover นี่คือทำออกมาได้ดีครับ ปุ่มกดพิมพ์ได้ถนัดดี การวางเลย์เอาต์ของปุ่มถือว่าทำออกมาได้โอเค ภายใต้พื้นที่จำกัดขนาดนี้ ถือว่าดีไซน์มาดีมาก และมีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งตัว Keyboard cover ของ Microsoft Surface Pro 9 นี่ก็จะมีที่เก็บ Surface Pen ด้วย และมันก็จะทำหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่ให้ Surface Pen ไปด้วยในตัว

Surface Pen เมื่อติดอยู่ด้านหลังของ Microsoft Surface Pro 9

แต่ใครที่ไม่ได้ซื้อ Keyboard cover แต่ยังอยากใช้ Surface Pen อยู่ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีที่เก็บนะ เพราะ Microsoft Surface Pro 9 เขามีจุดที่สามารถให้เอา Surface Pen ไปแปะติดอยู่ได้ตรงด้านหลังของตัวเครื่องครับ แรงแม่เหล็กก็ถือว่าแรงดีอยู่ ดูดติดแน่น แต่มันมีประเด็นหน่อยตรงที่ หากเรากาง Kickstand ออกมา Surface Pen ก็จะเด้งออกมาด้วยครับ เพราะตำแหน่งที่แปะ Surface Pen ได้แน่นๆ มันมีแค่จุดเดียว เราอาจจะเลื่อน Surface Pen ให้ขึ้นมาอีกหน่อยได้ เพื่อให้กาง Kickstand ได้โดยที่ยังแปะ Surface Pen ได้อยู่ แต่มันก็จะไม่ได้ดูดติดดีเท่าไหร่

แต่ข้อจำกัดด้านดีไซน์ของ Microsoft Surface Pro 9 ก็คือ มันยังไม่สามารถชาร์จ Surface Pen ได้โดยตรงนั่นแหละครับ มันทำได้แค่ผ่านตัว Keyboard cover (มันจะมีเซ็ต Keyboard cover พร้อม Surface Pen) หรือผ่านตัว Charger (ที่น่าจะได้มาหากซื้อ Surface Pen อย่างเดียว)

ใช้ Surface Pen ในการวาดรูปด้วยโปรแกรม Paint บน Microsoft Surface Pro 9

ตัว Surface Pen นี่คือ Surface Slim Pen 2 นะครับ ถ้าจะให้เรียกชื่อเต็มๆ รองรับแรงกดได้ 4,096 ระดับ เท่าที่ลองใช้ขีดเขียนๆ ดูคือน่าประทับใจมาก น่าจะถูกใจคนชอบขีดๆ เขียนๆ จริงๆ นอกจากนี้ ตัวเทคโนโลยี PixelSense Flow Display ของ Microsoft กับการที่ Kickstand สามารถกางได้ในระดับที่เกือบจะเอน 180 องศา นี่ ช่วยให้เราสามารถขีดเขียนหรือวาดรูปได้สะดวกมากๆ และแม้เราจะเอามือไปวางบนหน้าจอ พอเราใช้ Surface Pen ร่วมด้วยแล้ว มันก็จะตรวจจับอุ้งมือได้ ซึ่งต่างจากพวก Stylus ที่มีให้บนโน้ตบุ๊กอีกหลายๆ รุ่นนะครับ เช่น Stylus ที่แถมมาให้กับ ASUS ZenBook Duo 14 ที่ผมใช้อยู่ ที่แม้ว่าจะพอขีดๆ เขียนๆ ได้ แต่การตรวจจับอุ้งมือนี่ไม่มีเลย ใช้งานแอบยากนิดนึง การตอบสนองก็เร็วไม่เท่าด้วย เป็นต้น

หน้าจอโปรแกรม Affinity Photo 2 กำลังตกแต่งภาพด้วยการเปลี่ยนพื้นหลังของภาพนางแบบผู้หญิงเป็นทิวเขา

ทีนี้ถามว่า Core i5-1245U แรมแค่ 8GB เอามาทำงานพวกกราฟิกไหวไหม ตัดต่อวิดีโอรอดหรือเปล่า ก่อนอื่นต้องบอกว่าถ้าอยากจะทำงานหนักๆ แบบนั้น แบบจริงจัง อาจจะต้องพิจารณาเลือกสเปกที่แรงกว่านี้ครับ แต่ถ้าถามว่า มันพอทำงานได้ไหม ผมก็ต้องตอบว่าพอได้ เช่น ถ้าผมจำเป็นต้องตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ ใส่ซับไตเติ้ล ตกแต่งภาพแก้ไขโน่นนิดนี่หน่อย มันก็ยังพอไปไหวอยู่

ผมลองติดตั้งโปรแกรม DaVinci Resolve แล้วตัวโปรแกรมก็ทำการตรวจสอบว่าฮาร์ดแวร์พอไปไหวไหมสำหรับการใช้งาน ซึ่งผลก็คือ มันบอกว่าไปไหวอยู่ แต่ผมตั้งข้อสังเกต 2 จุดใหญ่ คือ แม้ว่าหน้าจอจะเป็นแบบความละเอียดสูง แต่ขนาดของหน้าจอมันแค่ 13 นิ้วเท่านั้น ตัว Windows มันเลยต้องมีการปรับขนาดของการแสดงผลเป็นขยาย 200% เพื่อให้พวกไอคอน เมนู และข้อความต่างๆ มันใหญ่พอสำหรับใช้งาน ซึ่งส่งผลให้เวลาใช้งาน DaVinci Resolve ที่พวก Tools ต่างๆ มันค่อนข้างแน่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันก็เลยดูรกๆ หน่อย

ตัดต่อวิดีโอด้วยโปรแกรม DaVinci Resolve บน Microsoft Surface Pro 9

และอย่างที่ผมบอก ถ้าเกิดแค่อยากจะใส่ซับไตเติ้ลให้วิดีโอ หรือ ตัดวิดีโอท่อนนั้นมาต่อท่อนนี้ เล็กๆ น้อยๆ Microsoft Surface Pro 9 ตัวนี้พอเอาอยู่ แม้จะแค่ Core i5-1245U แรม 8GB แต่ถ้าเกิดอยากจะตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงๆ ใส่เอฟเฟ็กต์ หรือ Layer เยอะๆ ผมว่าไม่เหมาะแน่นอนครับ

ผลการวัดขอบเขตของสีของจอ Microsoft Surface Pro 9 แบบ sRGB

นอกจากนี้อีกเหตุผลนึงที่ทำให้ Microsoft Surface Pro 9 นี่ไม่ได้เหมาะกับการทำงานกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอแบบจริงจังก็คือเรื่องของจอแสดงผลครับ ที่ได้ตามสเปกคือขอบเขตสีแบบ sRGB 100% แต่ NTSC มัน 76% AdobeRGB 80% และ DCI-P3 84% นะครับ มันคือ พอใช้ทำโน่นนี่ได้บ้าง แต่ถ้าจะใช้แบบจริงจังคงไม่ใช่

ดีไซน์ของโน้ตบุ๊กที่บางเบา ก็ทำใจเอาไว้อย่างนึงเลยว่าพวกพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ก็จะไม่ค่อยมีให้ใช้ Microsoft Surface Pro 9 นี่ก็เช่นกัน เพราะว่ามันก็มาพร้อมกับพอร์ต Thunderbolt 4/USB 4.0 แบบ USB-C แค่ 2 พอร์ตเท่านั้น ในขณะที่อุปกรณ์เชื่อมต่อจำนวนมากที่หลายๆ คนใช้กัน มันยังมีรูปแบบเป็น USB-A ซะเยอะอยู่ ข่าวดีก็คือ หลายๆ อุปกรณ์ก็เริ่มมีรูปแบบเป็น USB-C มากขึ้นแล้ว และถ้าเราจะต่อพวก คีย์บอร์ด เมาส์ ลำโพง หรือ หูฟัง จากภายนอกเพิ่ม ก็ใช้แบบไร้สายเอาแล้วกันนะครับ เขารองรับบลูทูธ 5.1 อยู่ มองในแง่ดีคือ อะไรเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ เปลี่ยนไปใช้แบบไร้สายมันก็ดี เพราะจะได้ไม่ต้องมีสายเกะกะ รกรุงรัง แต่สำหรับคนที่มีอุปกรณ์เดิมๆ อยู่ อาจจะรู้สึกว่าต้องลงทุนเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่

ลำโพงของ Microsoft Surface Pro 9 ถือว่าน่าประทับใจ เสียงดังดี ระบบเสียงรองรับ Dolby Atmos ให้มิติเสียงที่ดีมาก ตอบสนองต่อย่านความถี่ได้ครบถ้วนดีรวมถึงย่านต่ำ และแม้ว่าลำโพงจะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถให้เสียงได้ดีกว่าที่คิดมากทีเดียว ชนิดที่เรียกว่าแทบไม่ต้องต่อลำโพงภายนอกเพิ่มอะ ต่อให้เราจะดูหนังหรือฟังเพลง มันก็โอเคในระดับนึงเลย

ภาพเครื่องเกม Game & Watch ของ Nintendo มีลักษณะเป็นเครื่องเกมกดพกพาขนาดเล็ก หน้าจอมีขนาดเล็ก เป็นรูปเกม Mario วางอยู่บนคีย์บอร์ดสีเทาดำ

กล้องดิจิทัลเป็นยังไงบ้าง? กล้องหลัง 10 ล้านพิกเซล ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าดีเลิศมากเช่นกัน ส่วนนึงเป็นเพราะโปรแกรม Camera ของระบบปฏิบัติการ Windows มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ถ่ายภาพแบบเดียวกับพวกสมาร์ทโฟนที่มักจะมี AI หรือ ซอฟต์แวร์ ช่วยปรับแต่งภาพให้ดีขึ้น แต่กล้อง 10 ล้านพิกเซลของ Microsoft Surface Pro 9 ก็ถือว่าให้ภาพออกมาโอเคอยู่นะ เอามาใช้ถ่ายภาพประกอบงานเอกสารโน่นนี่ได้แหละ แต่เลนส์กล้องด้านหลัง คือเลอะคราบมันจากลายนิ้วมือได้ง่ายมาก ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะสังเกตได้จากภาพถ่ายที่ได้ จะมีความฟุ้ง เบลอะๆ ครับ

ส่วนกล้องหน้าแบบ Full HD ถือว่าไม่เลวนะ ผมได้ลองแล้ว เอามาใช้ประชุมออนไลน์ถือว่าดีเลย ไมโครโฟนก็เรียกว่าค่อนข้างชัดดีทีเดียว แต่ด้วยความที่ Microsoft เป็นคนทำอะ มันก็จะไม่ได้มีลูกเล่นอะไรเพิ่มเติมนัก เวลาประชุมออนไลน์ ถ้าอยากให้ไมโครโฟนตัดเสียงรบกวนภายนอกด้วย พวก Noise cancellation อะไรพวกเนี้ย ต้องไปหวังพึ่งแพลตฟอร์มใดๆ ที่เราใช้ว่ามันจะมีฟีเจอร์นี้ครับ

ในส่วนของแบตเตอรี่ Microsoft Surface Pro 9 นี่ได้รับการรับรอง Intel EVO platform ซึ่งแสดงว่าแบตเตอรี่ต้องอึดประมาณนึง แต่จากที่ผมลองใช้งาน แบตเตอรี่มันจะอึดมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ว่าเราเอามันไปทำงานอะไรครับ ถ้าเกิดให้มันทำงานโหดๆ ตลอดเวลาเลย เท่าที่ผมลอง มันก็จะใช้งานต่อเนื่องได้ราวๆ 4.5 ชั่วโมง แต่ถ้าท่องเว็บ พิมพ์เอกสาร อะไรพวกนี้ โอกาสที่จะใช้งานได้ถึง 6 ชั่วโมงก็สบายๆ อยู่

ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ สามารถทำได้ทั้งผ่าน Surface connect port พร้อมอะแดปเตอร์ 65 วัตต์ที่แถมมาให้ หรือคุณจะไปซื้ออะแดปเตอร์แบบ GaN แบบ 65 วัตต์ ที่เป็น USB-C มาเสียบกับพอร์ต Thunderbolt พอร์ตใดพอร์ตนึงก็ชาร์จได้ทั้งนั้น

บทสรุปการรีวิว Microsoft Surface Pro 9

ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กแบบ 2-in-1 ที่สามารถใช้งานได้ทั้งในฐานะแท็บเล็ตและโน้ตบุ๊ก ซึ่งระบบปฏิบัติการ Windows 11 ก็ถือว่าได้ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานแบบแท็บเล็ตดีมากขึ้นแล้ว ประสิทธิภาพถือว่ามีพอสมควร แต่ถ้ามองที่ราคาค่าตัวก็ถือว่าแรงเอาเรื่อง แต่นั่นคือสิ่งที่เราต้องเลือกว่าอยากจะได้โน้ตบุ๊กที่ทำงานได้หลากหลาย แต่ยังพกพาสะดวก โดยยอมจ่ายแพง หรืออยากได้สเปกแรง ในราคาสมค่าตัว แต่แลกมาด้วยความเทอะทะและน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาอย่างน้อยๆ 300-400 กรัม หรือมากกว่า

ใครที่ไม่ได้ใช้งานจำพวกตกแต่งกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอ แต่เน้นทำงานเอกสาร ท่องเว็บ เช็กอีเมล แต่ยังต้องขีดๆ เขียนๆ จดโน่นนี่ นำเสนองานบ่อยๆ หรือผู้บริหารที่ต้องมีพกโน้ตบุ๊กไปทำงาน อ่านอีเมล อนุมัติงาน ประชุมออนไลน์ ต้องการความคล่องตัวในการใช้งานเป็นสำคัญที่สุด Microsoft Surface Pro 9 ถือว่าเป็นตัวนึงที่ตอบโจทย์เลยทีเดียว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า