QNAP NAS ตัวล่าสุดที่ QNAP Thailand ส่งมาให้รีวิว ตัวนี้มีความน่าสนใจครับ คือ มันเป็น NAS ที่มีสเปกโอเค คือ Intel Celeron N4505 ที่เป็น CPU ค่อนข้างใหม่ (เปิดตัวไตรมาสแรกปี 2564) พร้อมความสามารถในการอัปเกรดได้หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นแรมที่อัปเกรดไปได้สุดที่ 16GB และมีสล็อตสำหรับ SSD NVMe M.2 เป็น PCIe Gen 3×1 แล้วก็มีสล็อต PCIe Gen 3×2 มาให้อีกสล็อต เผื่อจะอัปเกรดใส่อะไรเพิ่ม มาดูกันดีกว่าว่าของจริงเป็นยังไง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
QNAP TS-462 ตัวที่รีวิวงวดนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก QNAP Thailand ให้ยืมมาลองใช้ แล้วรีวิวให้ได้อ่านกันครับ
แกะกล่องออกมาก่อนครับ สิ่งแรกที่เราจะได้เลยก็แค่นอนครับ คือตัวเครื่อง QNAP TS-462 ซึ่งมีดีไซน์ในแนวที่ใช้มาตั้งแต่สมัย TS-453B ครับ แต่ว่ามีสีที่แตกต่างไป คือ ใช้ขาวคาดทอง แทนที่จะเป็นดำคาดน้ำเงิน หรือ ขาวคาดเขียวไข่เป็ด (Teal) แบบที่เคยใช้กันมาก่อนหน้า อันนี้พอแกะกล่องออกมา ภรรยาผมเห็นก็ชมว่าสีสวยน่ารักเลย คือ เป็นรุ่นแนว Home use กับ SOHO (Small Office Home Office) จริงๆ

ด้านหน้าเราจะเห็นปุ่มเปิดอยู่ด้านบน ไล่ลงมาก็จะเป็นไฟ LED แสดงสถานะต่างๆ ที่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็มีสถานะการทำงาน สถานะของเน็ตเวิร์ก การก๊อปปี้ข้อมูลผ่าน Quick copy และไฟการทำงานของฮาร์ดดิสก์ในแต่ละถาด ส่วนมุมด้านล่างขวามือก็จะเป็นพอร์ต USB-A เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) และปุ่ม Quick copy เอาไว้สำหรับก๊อปปี้ข้อมูลจาก Flashdrive และ External storage เข้าไปที่ตัว NAS อย่างรวดเร็วในการกดปุ่มเดียว ซึ่งถือว่าดีนะ รองรับแบนด์วิธระดับถ่ายโอนข้อมูลได้สูงสุด 1GB ต่อวินาทีเลยทีเดียว ใครที่อาจจะมี Portable SSD จะโอนข้อมูลขนาดใหญ่มากๆ จิ้มแล้วทำงานไวแน่นอน

ด้านหลังของ QNAP TS-462 เราจะเห็นพัดลมขนาดใหญ่ที่เอาไว้ระบายความร้อนในภาพรวมของระบบจำนวน 1 ตัว ด้านบนจะมีสล็อต PCIe Gen 3×2 ให้ 1 สล็อต เอาไว้ใส่อุปกรณ์เสริม เช่น การ์ดเน็ตเวิร์ก 10GbE เพื่อขยายแบนด์วิธสำหรับเชื่อมต่อ เป็นต้น
ถัดมาก็จะมีพอร์ต USB 3.2 Gen 2 ให้อีกพอร์ตนึง และพอร์ต USB 2.0 ให้อีก 2 พอร์ต เผื่อใครจะต่อพวกคีย์บอร์ดและเมาส์แบบใช้สาย เพราะเจ้านี่สามารถเสียบต่อจอแสดงผลภายนอกได้ผ่านพอร์ต HDMI 2.0 (รองรับถึงความละเอียดระดับ 4K 60Hz เลย) เผื่อใครอยากจะใช้ QNAP NAS ทำเป็น Home media server ภายในบ้านนั่นเอง และมีสล็อตสำหรับใส่ตัวล็อก Kensington ในกรณีที่มีคนเอาไปใช้นอกสถานที่ (เช่น เอาไปใช้ร่วมกับโทรทัศน์ หรือ ป้ายโฆษณา LED) จะได้ไม่มีใครมาแอบอุ้มไปทั้งเครื่องได้

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เจ้านี่เป็นรุ่นสำหรับ Home user และ SOHO มันเลยออกแบบถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยใดๆ มาก มันจะมาฝาพลาสติกปิดอยู่ด้านหน้า โดยมีตัวล็อกแบบเลื่อนเฉยๆ อยู่ทางซ้ายมือ พอปลดล็อกออกมา ออกแรงเลื่อนนิดเดียว ฝาก็หลุดออกมาง่ายๆ เพราะมันปิดด้วยแรงดูดของแม่เหล็ก ตัวถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ ไม่มีกุญแจล็อกใดๆ
ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ สามารถใช้ได้กับฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5 นิ้ว และ 2.5 นิ้ว แบบ SATAIII ใครอยากเร็ว เลือกใส่เป็น SSD แบบ SATAIII ได้ด้วยนะครับ เพียงแต่ถ้าว่าใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5 นิ้ว มันก็จะเป็นดีไซน์ Tooless คือ ไม่ต้องขันน็อตใดๆ ก็สามารถยึดฮาร์ดดิสก์ไว้กับถาดได้ แต่หากเราใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ 2.5 นิ้ว ก็จะต้องขันน็อตกันซักหน่อย ซึ่งพวกน็อตพวกนี้ เขาก็ให้มาในกล่องนั่นแหละ

อะ มาพูดถึงของในกล่องซักหน่อยครับ ก็จะมีอะแดปเตอร์ DC แบบ 90 วัตต์ มาให้ ปลั๊กไฟเป็นแบบ 3 ขา หัวแบน และขาสายดินเป็นหัวกลม ก็ตามสไตล์ปลั๊กไฟคอมพิวเตอร์ที่เราคุ้นเคย แต่จริงๆ ปลั๊กแบบนี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานปลั๊กไฟของไทยแล้วนะ (ของเราจะเป็นหัวกลม 3 ขา) มีสาย LAN หัว RJ45 แบบ Cat 5e มาให้เส้นนึง ซึ่งพร้อมใช้งานกับ 2.5GbE แล้ว น็อตสำหรับขันล็อกฮาร์ดดิสก์ คู่มือการติดตั้งใช้งานแบบรวดเร็ว หรือ Quick installation guide กับตัวแผ่น Extended warrantee

ด้วยความที่ตัวเครื่องออกแบบมาให้อัปเกรดได้ ทั้งหน่วยความจำ ใส่ SSD NVMe M.2 และการ์ด PCIe ก็เลยทำให้เจ้านี่ถูกออกแบบมาให้ถอดได้ง่าย แค่ขันน็อตที่ด้านหลัง 3 ตัว จากนั้นเปิดฝาด้านหน้าออก แล้วก็เลื่อนกรอบตัวเครื่องไปด้านหลังนิดนึง ก็พร้อมจะอัปเกรดแล้ว เพียงแต่ว่าถ้าเราจะอัปเกรดหน่วยความจำหรือ SSD NVMe M.2 เราต้องถอดฮาร์ดดิสก์ที่ใส่เอาไว้ออกให้หมดก่อน ตอนถอดออกมา ก็จำให้ดีๆ นะครับ ว่าอันไหนอยู่ถาดไหน คือ แม้ผมจะจำได้ลางๆ ว่า QNAP มันมีฟีเจอร์ที่สามารถตรวจจับได้แล้วว่าลำดับฮาร์ดดิสก์มันเป็นยังไง ผมก็ยังไม่อยากแนะนำให้เสี่ยงสลับตำแหน่งของฮาร์ดดิสก์จริงๆ

สล็อต PCIe Gen 3×2 ที่ให้มา จะอยู่ตรงด้านบนของตัวเครื่อง อันนี้ไม่ต้องไปรื้ออะไรออกมากเพื่อใส่การ์ด ก็แค่ต้องเอาฝาปิดด้านหลังออกเท่านั้นแหละ อุปกรณ์เสริมที่ทาง QNAP เขาจะแนะนำให้ใช้กับสล็อตนี้ ก็จะเป็นการ์ด LAN 2.5/5/10GbE เพื่อเอาไว้เพิ่มแบนด์วิธให้กับตัว NAS และตัวการ์ด Wireless adapter เพื่อเพิ่มความสามารถของ WiFi 6 ให้กับ QNAP TS-462 ตัวนี้ ซึ่งพอได้มาตรฐาน 802.11ax แล้ว มันก็เผลอๆ ได้แบนด์วิธดีกว่า 1GbE อีกนะเออ (ความเร็วสูงสุดคือ 2.4Gbps อะ ใกล้ๆ 2.5GbE เลยครับ)

การติดตั้งใช้งานครั้งแรกยังง่ายเช่นเคย ด้วย Smart Installation Wizard ของ QNAP ครับ และอีกส่วนนึงก็มาจากการที่เขาเปลี่ยนเอาขั้นตอนการสร้าง Storage pool และ Volume ไปไว้หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว ก็ทำให้มันจบไว พร้อมใช้แหละ แต่พอติดตั้งครั้งนี้ แอบแปลกใจ เพราะพอเริ่มต้น เข้าสู่หน้าจอเช็กเฟิร์มแวร์ มันดันขึ้นมาให้เลือกแค่สองตัวเลือก คือ เช็กอัปเดตแบบออนไลน์ และ อัปเดตแบบใช้ไฟล์เฟิร์มแวร์ที่ดาวน์โหลดมา มีให้เลือกแค่สองตัวนี้ พอเช็กแบบออนไลน์ มันก็บอกว่า เฟิร์มแวร์ 5.0.0.1911 นี่คือล่าสุดแล้ว แต่จริงๆ แล้ว มันมีเวอร์ชัน 5.0.1.2145 อะ แล้วคือ ไม่มีตัวเลือกให้ใช้เฟิร์มแวร์ปัจจุบันด้วยนะ สุดท้าย ผมก็ต้องไปดาวน์โหลดไฟล์เฟิร์มแวร์มาจากเว็บไซต์ QNAP เพื่ออัปเดต

และเป็นไปตามที่คิดครับ คือ พออัปเดตเสร็จปุ๊บ กลับมาเริ่มใหม่ คราวนี้ติดตั้งต่อได้แล้ว เพราะสามารถเลือกที่จะอยู่กับ Current version ได้แล้วล่ะ ฉะนั้นใครที่เพิ่งซื้อ QNAP NAS มาใหม่ แล้วเจออาการคล้ายๆ กันนี้ วิธีแก้ก็คือไปดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ของรุ่นนั้นๆ มาติดตั้งเองด้วยตัวเลือก Uploaded version นะครับ
ด้วยความที่เดี๋ยวนี้พวกผู้ไม่หวังดี (ก็แฮกเกอร์ทั้งหลาย) เขาก็มุ่งโจมตี QNAP NAS กันเยอะ ทาง QNAP เองเขาก็มีมาตรการรับมือหลายระดับเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เลิกให้ใช้ admin เป็นผู้ใช้งานเริ่มต้น เราต้องสร้าง User ใหม่มาเป็น admin ตั้งแต่ตอนติดตั้ง ตลอดไปจนถึงการจัดลำดับความสำคัญของการอัปเดตแอป โดยเพิ่มส่วนที่เป็น Required updates เข้ามา อันนี้จะเป็นการอัปเดตที่ QNAP บอกว่า ไม่อัปเดตแล้ว อาจจะมีปัญหาได้ เพราะเขาอัปเดตมาเพื่อแก้ปัญหาหรืออุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยนั่นเอง

ด้วยสเปกหน่วยประมวลผล Intel Celeron N4505 และหน่วยความจำที่อัปเกรดขึ้นไปได้สูงสุด 16GB และสามารถอัปเกรดสเปกอื่นๆ ได้ เช่น ใส่ SSD NVMe M.2 เพื่อเข้ามาทำ Read & write cache หรือใครอยากจะลองทำ Qtier ดู ก็สามารถทำได้ การมีสล็อต PCIe เพิ่มเข้ามา ก็ช่วยเรื่องการอัปเกรดด้านเน็ตเวิร์กในอนาคต จะเพิ่ม 2.5GbE เข้าไป เพื่อขยายแบนด์วิ หรืออาจจะเพิ่มเป็น 5GbE หรือ 10GbE ในกรณีที่ต้องการแบนด์วิธมากกว่านั้น หรือผู้ใช้งานตามบ้าน อยากได้ความสะดวกแบบไม่ต้องเดินสาย ใช้ Wireless adapter ก็ได้ เป็นต้น มันจึงตอบโจทย์เรื่องการใช้งานตามบ้าน และ SOHO ที่เน็ตเวิร์กไม่ได้ซับซ้อน แต่ต้องการความยืดหยุ่น ในขณะที่ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายมากนัก
สเปกระดับนี้ อยากจะทำอะไรก็สามารถทำได้ครับ สำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน จะดาวน์โหลด Plex Media Server มาติดตั้ง เพื่อใช้งานเป็น Home media server ทำการสตรีมวิดีโอแบบ On-demand ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ก็ทำได้สบายๆ (แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของแอป เพื่อให้สามารถสตรีมวิดีโอดูบนอุปกรณ์ได้นะ คือ $4.99 จ่ายทีเดียวจบ หรือใครจะสมัครเป็น Plex Pass ไปเลย ก็มีให้เลือกแบบ จ่ายรายเดือน รายปี หรือ ตลอดชีพ (ผมใช้แบบตลอดชีพ แต่ตอนนั้นแพงมาก เกือบหกพันบาท เดี๋ยวนี้ราคาถูกลงไปเยอะเลย แง)

นอกจากนี้ หากเราอัปเดตเป็น QTS 5.0.1 ขึ้นไปแล้ว ตัว NAS ก็จะรองรับไฟล์ฟอร์แมต exFAT เลยด้วย ฟรี (เมื่อก่อนต้องซื้อไลเซ่นส์เป็นเงิน $3.99 ครับ แถมเป็นไลเซ่นส์แบบผูกไปกับตัว NAS ด้วย ย้ายเครื่องต้องซื้อใหม่) ถือว่างวดนี้ประหยัดเงินไปได้อีกนิด

ถ้าซื้อ QNAP TS-462 มาแล้ว คิดว่าใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เช่น เอาไว้แค่เก็บไฟล์ให้คนแค่ 4-5 คน ได้ไปใช้งานกันเฉยๆ อยากใช้ประโยชน์ให้เต็มเหนี่ยวกว่านี้ ก็แนะนำให้ไปลองค้นๆ ดูใน App Center ครับ ว่ามีแอปอะไรให้ลองบ้าง บางทีคุณก็อาจจะอยากลองดาวน์โหลด Container Station หรือ Virtualization Station มาทำการจำลองเครื่องบน QNAP NAS เพื่อใช้ทดสอบโน่นนี่ หรือลองเขียนโปรแกรม หรือบางคนอาจจะอยากทำแพลตฟอร์ม IoT ก็มี QIoT Suite ให้ดาวน์โหลดไปใช้ ผมเองมีช่วงนึงก็เอา QNAP NAS มาทำ Pi-hole ครับ (ปกติเขาจะใช้กับอุปกรณ์ Rasberry Pi แต่ด้วย Container Station เราก็สามารถจำลอง Pi-hole บน QNAP NAS ได้) เอาไว้สำหรับบล็อกพวกโฆษณาต่างๆ โดยให้ทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ WiFi ที่บ้าน มันไปวิ่งผ่าน QNAP NAS แล้วให้ Pi-hole ช่วยกรองโฆษณาออกไปได้ ได้ผลชะงัดมาก ตอนหลัง ผมลองเอา QNAP NAS ไปรัน AdGuard แทน (สุดท้าย ผมติดใจ เลยไปสมัคร AdGuard ตลอดชีพแทน เพราะมันใช้งานนอกบ้านได้ด้วย สะดวกกว่าการพยายามทำให้ QNAP NAS ไปช่วยบล็อกโฆษณาตอนผมใช้งานนอกบ้าน)
และอย่างที่ได้บอกไว้ในตอนต้น สำหรับคนใช้ตามบ้าน QNAP TS-462 ถ้าเซ็ตอัปให้ดีๆ มันคือ Multimedia Server ภายในบ้านได้เลยนะครับ เพราะตัวมันเอง สามารถเชื่อมต่อกับจอทีวีได้ผ่านพอร์ต HDMI 2.0 ที่รองรับ 4K 60Hz คนรักที่จะดูหนังความละเอียดสูงๆ คือน่าจะฟิน และหากจำเป็นต้องสตรีมมิ่งให้อุปกรณ์อื่นด้วย ก็ทำได้สบายๆ เช่นกัน การที่สามารถอัปเกรด Wireless adapter ได้ สำหรับบางบ้านที่มี WiFi 6 อยู่ คือจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการติดตั้งครับ เพราะไม่ต้องลากสาย LAN ไปให้วุ่นวาย พวกบ้านที่อยากทำห้อง Home theatre น่าจะชอบ
บทสรุปการรีวิว QNAP TS-462
ผมยังไม่ได้เห็นราคาของ QNAP TS-462 นี่ แต่ไปคุ้ยๆ บน Google เห็นมีคนขายอยู่ในราคาประมาณเกือบๆ 19,000 บาท รวม VAT 7% ครับ ก็ถือว่าไม่ได้แรงมากนะ แต่เป็นรุ่นแรม 2GB ซึ่งเอาจริงๆ ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานตามบ้าน แต่ผมก็อยากให้ใช้ซัก 4GB ขึ้นไปก็จะทำโน่นนี่นั่นได้เยอะกว่า และใครที่ต้องการรันแอปเยอะๆ หรือมีผู้ใช้งานจำนวนมาก อาจจะพิจารณาอัปเกรดไปที่ 16GB ไปเลยครับ ตอนนี้แรมหาไม่น่าจะยากด้วย เพราะรุ่นนี้รองรับ DDR4 แล้ว
อย่างไรก็ดี นี่คือราคาแบบที่ยังไม่มีฮาร์ดดิสก์นะครับ เวลาจะซื้ออย่าลืมไปเช็กด้วยว่าเราอยากได้ฮาร์ดดิสก์กี่ลูก แต่ละลูกความจุเท่าไหร่ และมันควรจะเป็นฮาร์ดดิสก์สำหรับใช้กับอุปกรณ์จำพวก NAS ด้วย (เช่น WD Red หรือ Seagate IronWolf) ถ้าจะใส่ครบ 4 ลูกเลย ถ้าเป็น 6TB ตอนนี้ ก็ลูกละ 4,000 บาท โดยประมาณนะครับ 4 ลูกก็ราคาเกือบๆ ได้ NAS เครื่องนึงแล้ว 🤣🤣 ฉะนั้น เผื่องบเอาไว้ด้วยล่ะ