Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) สเปกดี จอสวย ราคาไม่ถึง 3 หมื่น
โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) เมื่อกางจอออกมาใช้งาน
รีวิว

รีวิว ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) สเปกดี จอสวย ราคาไม่ถึง 3 หมื่น

สำหรับคนที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊กสำหรับทำงาน สเปกดี ทำงานได้รอบด้านในระดับนึง ในราคามิตรภาพหน่อย ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) ตัวนี้น่าจะตอบโจทย์หลายๆ คน เพราะได้ทั้ง AMD Ryzen 9 5000 series แรม 16GB และ SSD 512GB พร้อมจอ OLED สวยสด 2.8K ตัวโน้ตบุ๊กก็ดีไซน์สวย พอร์ตที่ให้มาก็ดูครบเครื่องดี ภายใต้งบประมาณไม่ถึง 30,000 บาท เป็นโน้ตบุ๊กที่น่าเก็บไว้พิจารณาจริงๆ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) ตัวที่รีวิวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืมมารีวิวและเล่าประสบการณ์ในการใช้งานอีกเช่นเคย

ดีไซน์ของ ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA)

แกะกล่องตัวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) นี่ปุ๊บ สิ่งที่เราจะได้เห็นภายในกล่องก็คือ ตัวโน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นสีน้ำเงินเข้มที่เขาเรียกชื่อเก๋ๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า Quiet blue และมีอะแดปเตอร์แบบ Wall charge กำลังไฟ 90 วัตต์ แบบหัว DC กลม (19V 4.74A)

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) พับหน้าจอเก็บไว้อยู่ มีอะแดปเตอร์ DC และสายไฟ วางอยู่ด้านบน

ตัวดีไซน์ของโน้ตบุ๊กเนี่ย คงเพราะเป็นซีรีส์ Vivobook Pro 14 OLED นั่นแหละ มันเลยดีไซน์ออกมาเหมือนๆ กับ ASUS Vivobook Pro 14X OLED ที่ผมเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ ดีไซน์จะมีความเรียบหรู และที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ โลโก้ ASUS Vivobook ที่ทำเป็นแผ่นนูนขึ้นมาครับ และแม้ว่าตัวเครื่องโน้ตบุ๊กจะดีไซน์ทรงเหลี่ยมๆ ตามมาตรฐาน แต่ขอบและมุมต่างๆ มีการทำให้โค้งมน หรือไม่ก็ทำเป็นเทเปอร์ลบเหลี่ยมไป เพื่อให้การสัมผัสดูดีด้วย

แม้ว่าโดยสเปกแล้ว โน้ตบุ๊กตัวนี้จะไม่ได้มีการ์ดจอแยก แต่ด้วยความที่ปัจจุบันพวกหน่วยประมวลผลมันก็มีประสิทธิภาพสูงกันแล้ว และเจ้านี่ก็เห็นๆ อยู่ว่ากินไฟระดับ 90 วัตต์เลยทีเดียว มันก็ต้องมีระบบระบายความร้อนที่ดีหน่อย ซึ่งจะเป็นแบบดูดอากาศภายนอกจากด้านใต้เครื่อง และระบายลมร้อนออกบริเวณด้านหลังของตัวเครื่อง เราจึงได้เห็นด้านใต้ของตัวเครื่องมีช่องระบายอากาศอยู่ และมีแผ่นยาง 2 ชิ้น บริเวณด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อใช้ยกตัวโน้ตบุ๊กให้สูงกว่าพื้นผิวที่วางเอาไว้ เพื่อจะได้ดูดอากาศได้ดี

แต่ดีไซน์แบบนี้ จะไม่เหมาะสำหรับใครก็ตามที่กะว่าจะใช้โน้ตบุ๊กตัวนี้แบบวางบนตัก หรือ วางบนพื้นผิวนุ่มๆ เช่น เตียงหรือหมอน เพราะอาจจะทำให้ช่องระบายอากาศที่ด้านใต้ของตัวเครื่องถูกปิดได้ แล้วจะส่งผลต่อเรื่องความร้อนของตัวโน้ตบุ๊กได้นะครับ

ส่วนด้านหน้าของตัวโน้ตบุ๊ก ทั้งซ้ายและขวา เราจะเห็นช่องลำโพงด้วย ก็เป็นลำโพงคู่สเตริโอของ harman/kardon

ASUS Vivobook Pro 14 OLED ตัวนี้ เน้นเรื่องความครบเครื่องเพื่อใช้ทำงานหลากหลายมากกว่าความบางเบา ตัวเครื่องจะไม่ได้บางมาก และน้ำหนักก็ถือได้ว่าประมาณนึงเลย คือ 1.4 กิโลกรัม แต่แลกมาด้วยพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ที่ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นพอร์ต USB 2.0 แบบ USB-A จำนวน 2 พอร์ตที่อยู่ด้านซ้าย เอาไว้สำหรับต่ออุปกรณ์จำพวกคีย์บอร์ดและเมาส์ และมีไฟ LED บอกสถานะการทำงานของเครื่องและการชาร์จแบตเตอรี่ กับด้านขวาที่มีช่องเสียบแบบคอมโบแจ็ก 3.5 มม. สำหรับชุดหูฟังพร้อมไมโครโฟน สล็อตอ่าน MicroSD card พอร์ต USB-C ที่เป็น USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) พอร์ต HDMI 1.4 พอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 1 เช่นกัน และช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC

ที่แอบเสียดายก็คือ พอร์ต USB ที่ให้มา มันเป็นแค่ USB 3.2 Gen 1 นี่แหละ แหม่ น่าจะให้มาซัก Gen 2 ก็ยังดี (แต่มันมีเหตุผลของมันครับ ซึ่งผมจะพูดถึงในส่วนของสเปกและประสิทธิภาพ) และพอร์ต USB-C ที่ให้มา ก็ไม่ได้มีสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามันรองรับ Power Delivery ด้วยนะ อ่านจากสเปกแล้ว ก็ไม่เห็นว่ามันจะรองรับการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ด้วยครับ

สเปกและประสิทธิภาพของ ASUS Vivobook Pro 14 (M3401QA)

มาดูกันที่สเปกของตัวโน้ตบุ๊กตัวนี้กันบ้าง เอาจริงๆ แล้ว มันมี 3 สเปกให้เลือกครับ แต่รุ่นที่ผมได้มารีวิวคือตัวท็อปของซีรีส์นี้ครับ สนนราคาขายจากหน้าเว็บไซต์ของ ASUS ก็คือ 28,990 บาท สเปกที่ได้ก็จะมีดังนี้

หน่วยประมวลผลAMD Ryzen™ 9 5900HX Mobile Processor (8-core/16-thread, 20MB cache, up to 4.6 GHz max boost)
กราฟิกAMD Radeon™ Graphics
จอแสดงผล14 นิ้ว 2.8K ความละเอียด 2,880×1,800 พิกเซล แบบ OLED อัตราส่วนการแสดงผล 16:10 รีเฟรชเรต 90Hz ความสว่างสูงสุด 600 nits คอนทราสต์เรโช 1,000,000:1 100% DCI-P3 color gamut PANTONE validated
หน่วยความจำ16GB DDR4 แบบ on-board
ความจุของสื่อบันทึกข้อมูล512GB M.2 NVMe PCIe 3.0 SSD
พอร์ตการเชื่อมต่อ1×USB 3.2 Gen 1 Type A
1×USB 3.2 Gen 1 Type-C
2×USB 2.0 Type-A
1×HDMI 1.4
1×คอมโบแจ็ก 3.5 มม.
1×DC-in
MicroSD card reader
กล้องเว็บแคม 720p
การเชื่อมต่อเครือข่ายWiFi 6 802.11ax
Bluetooth 5
แบตเตอรี่63Wh
น้ำหนัก1.4 กิโลกรัม
ระบบปฏิบัติการWindows 11 Home

ข้อสังเกตคือ ตัวหน่วยประมวลผล AMD Ryzen 9 5900HX ไม่ใช่ CPU รุ่นใหม่ล่าสุดครับ มันเปิดตัวมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับพวกโน้ตบุ๊กตัวนึง เทียบๆ ก็เอาไว้ชนกับ Intel Core i9-10980HK น่าจะได้ครับ แต่ถ้าเป็น CPU Intel Gen 11th ที่อยู่ในปีเดียวกัน น่าจะเอาไปชนกับ Intel Core i7-11800H ครับ การเลือกใช้ CPU รุ่นที่ไม่ได้ใหม่ล่าสุดแต่เป็นตัวท็อปๆ หน่อย ก็ทำให้สนนราคาของตัวโน้ตบุ๊กไม่แพงมาก แต่ยังให้ประสิทธิภาพดีเหลือพอสำหรับการใช้งานนั่นเอง

หน้าจอผลการทดสอบความเร็วของ SSD ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4

ในส่วนของหน่วยความจำ ก็ให้มามากพอสำหรับการใช้งานแล้วครับ 16GB ถือว่าพอแล้วสำหรับการใช้งานกับระบบปฏิบัติการ Windows 11 และเนื้อที่เก็บข้อมูลก็ให้มาเป็น SSD แบบ NVMe PCIe 3.0 ความเร็วเมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 ก็ได้ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential สูงสุดอยู่ที่ 1,886.63MB/s และ 1,572.76MB/s ตามลำดับ ซึ่งถือว่าไม่ช้า และไม่ได้เร็วเวอร์วัง แต่ก็เหลือพอสำหรับการใช้งานโดยทั่วๆ ไปแล้ว ซึ่งพอผมได้เห็นความเร็วของ SSD แล้ว ก็เลยพอจะเข้าใจว่าเพราะอะไร เขาถึงได้ให้พอร์ต USB-A และ USB-C อย่างละพอร์ตเป็นแค่ USB 3.2 Gen 1 นั่นก็เพราะ พอใช้งานพร้อมๆ กันทั้งสองพอร์ต มันคือแบนด์วิธสูงสุดที่ SSD น่าจะรับไหวนั่นเอง

ลองดูประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลบ้าง AMD Ryzen 9 5900HX เป็น CPU แบบ 8-core 16 threads ครับ คะแนนแบบ Single core เนี่ย เรียกว่าสูสีกับ Intel Core i7-1165G7 ครับ แต่พอมาเปรียบเทียบแบบ Multi core ปุ๊บ คือ ชนะขาด ด้วยความที่ตัว CPU มันก็ไม่ได้ด้อยกว่าเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่จำนวน Core และ Thread มันเยอะกว่านั่นเอง

ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน่วยประมวลผลด้วยโปรแกรม PCMark 10

ลองเปรียบเทียนประสิทธิภาพในการทำงานในภาพรวมด้วยโปรแกรม PCMark 10 ที่เอาไว้วัดประสิทธิภาพในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานทั่วไป เช่น การรันแอป การท่องเว็บ ทำวิดีโอคอลล์ ทำงานเอกสาร รวมถึงงานด้านมัลติมีเดียโน่นนี่ คะแนนได้ออกมาที่ 6,279 คะแนน ครับ คะแนนในส่วนของการทำงานทั่วไปและการทำงานเอกสาร เรียกว่าสูสีกับ ASUS Vivobook Pro 14X OLED ที่ใช้ Intel Core i7-12650H เลย แต่คะแนนฝั่ง Digital content creation นี่แอบแพ้ไปหลายขุมเช่นกัน แต่ก็เข้าใจได้โน้ตบุ๊กตัวนั้นมันได้การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX3050Ti อะ และเจ้านี่ราคาถูกกว่ากันสองหมื่นบาทเลยนะเออ

โดยรวม ก็ต้องเรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพดี สำหรับคนที่มีงบแค่พอประมาณ สิ่งที่เราได้คือ โน้ตบุ๊กที่ครบเครื่องทั้งเรื่องการเชื่อมต่อ และประสิทธิภาพที่สามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งความบันเทิงส่วนตัว การใช้งานออฟฟิศ ตลอดไปจนถึงกรณีที่เราอาจจะต้องมีการรีทัชภาพ ตัดต่อวิดีโอบ้าง

ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS Vivobook Pro 14 (M3401QA)

หลังๆ ผมเปลี่ยนโน้ตบุ๊กประจำตัวมาเป็น ASUS ZenBook Duo 14 ซึ่งก็มีน้ำหนักใกล้ๆ เคียงกับ Vivobook Pro 14 ตัวนี้ ก็เลยทำให้ผมไม่ได้รู้สึกว่าเจ้านี่มันหนักอะไรมาก แต่ก็ต้องเรียกว่ามันคือโน้ตบุ๊กที่มีน้ำหนักพอสมควรนะ ในโลกที่หลายๆ ค่ายเขาเริ่มพยายามหาทางลดน้ำหนักของโน้ตบุ๊กให้เข้าใกล้ 1 กิโลกรัมเรื่อยๆ แต่ก็ต้องเข้าใจเช่นกันว่า ASUS เขาน่าจะพยายามหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ ความครบเครื่องของพอร์ตเชื่อมต่อ และแบตเตอรี่

ด้วยความที่มีทั้งพอร์ต USB 2.0 เป็น USB-A มาให้สองพอร์ต สำหรับเผื่อใครอยากจะเสียบเมาส์และคีย์บอร์ดแยกออกมา และใครอยากเชื่อมต่อแบบไร้สาย ก็มีรองรับบลูทูธ 5 ด้วย ส่วนกรณีที่เราต้องการเชื่อมต่อกับพวกแฟลชไดร์ฟหรือ External HDD/SSD ที่ต้องการแบนด์วิธมากกว่า มันก็มีพอร์ต USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) มาให้ และพร้อมทั้ง USB-A กับ USB-C เลย แต่แอบเสียดายตรงที่ว่า พวก External SSD สมัยนี้ ที่เป็นแบบ NVMe เขาจะมีความเร็วระดับ 1,000MB/s กันแล้ว แต่แบนด์วิธ 5Gbps เนี่ย มันให้ความเร็วสูงสุดแค่ 625MB/s เท่านั้น ก็จะทำให้เราได้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าใครจะรู้สึกถึงความแตกต่าง ก็คงต้องถ่ายโอนข้อมูลที่เป็นไฟล์วิดีโอขนาดใหญ่ๆ เป็นหลัก 100GB แหละ เพราะไฟล์ 10GB เนี่ย ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลมันแค่ราวๆ 6 วินาทีเอง

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) เมื่อกางจอออกมาใช้งาน

คีย์บอร์ด มีขนาดแป้นพิมพ์ที่ใหญ่พอที่จะทำให้สามารถพิมพ์ได้สะดวก ระยะห่างระหว่างแป้นพิมพ์ก็เพียงพอ ไม่ทำให้เวลาพิมพ์แล้วนิ้วมันไปโดนแป้นอื่นโดยไม่ตั้งใจ เลย์เอาต์ของปุ่มต่างๆ ถือว่าทำออกมาได้ดี และไม่รู้เพราะมีคนบ่นเยอะไหม เรื่องที่ ASUS ดันชอบเอาปุ่ม Power ไปไว้ระหว่างปุ่ม Prt Sc และ Delete แทนที่จะเอาไว้ด้านบนขวาสุดของแป้น งวดนี้เขาก็เอาไปไว้ด้านบนขวาสุดแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) เมื่อมองจากทางขวา

ด้วยความที่ดีไซน์ให้ช่องระบายความร้อนไปอยู่ด้านท้าย ก็เลยทำให้ไม่สามารถออกแบบให้กางจอแบบ 180 องศาได้ครับ โน้ตบุ๊กตัวนี้ สามารถกางหน้าจอได้กว้างสุด 130 องศาโดยประมาณ (ผมใช้แอป Level ของ iPhone 14 Pro เป็นตัววัด)

หน้าจอแสดงผลของ ASUS Vivobook Pro 14 (M3401QA) ตัวนี้ ก็เป็นแบบ OLED ให้ความสว่างได้สูงสุดๆ ระดับ 600 nits เลย เอาไปใช้งานกลางแจ้งก็ยังสู้แดดไหว แถมเขาให้ขอบเขตสีกว้างระดับ 100% DCI-P3 อัตรารีเฟรชภาพ 90Hz เพียงพอสำหรับทั้งทำงานเอกสาร รวมถึงการตัดต่อวิดีโอ และยังได้รับการรับรอง PANTONE Validated ด้วย ก็มั่นใจเรื่องความแม่นยำของการแสดงผลสีได้

ลองเอา Spyder X Elite มาทำการวัดทั้งในเรื่องความสว่างและขอบเขตของสี ผลที่ได้ก็ตามรูปด้านล่างครับ คือ ขอบเขตสี 100% sRGB และ DCI-P3 เลย ส่วน NTSC นั้นอยู่ที่ 92% และ AdobeRGB อยู่ที่ 94% ครับ ดูแล้วชัดเจนมากว่าเอาโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) ตัวนี้ไปใช้งานทั่วไป รวมถึงเพื่อความบันเทิง เช่น ดูภาพยนตร์ และ คลิปวิดีโอต่างๆ น่าจะสบายๆ เลย ส่วนการทำงานด้านกราฟิก แม้ว่าขอบเขตสีอาจจะไม่ได้ครอบคลุมครบถ้วนสำหรับคนทำงานด้านกราฟิก แต่ก็เพียงพอสำหรับการทำงานกราฟิกทั่วๆ ไปสบายๆ อยู่นะ

ส่วนทัชแพดก็มีขนาดใหญ่ ใช้งานสบาย รองรับ Multi-touch ของระบบปฏิบัติการ Windows 11 ได้เต็มที่ แต่แม้ว่าตัวรุ่นของโน้ตบุ๊กนี้จะเขียนว่าเป็น Pro แต่มันก็จะไม่ได้มีฟีเจอร์ใดๆ อย่างเช่น NumberPad หรือ ASUS Dial เพิ่มเข้ามาครับ มันคือ ทัชแพดที่เป็นทัชแพดอย่างเดียวเลย You only have one job จริงๆ

ภาพมุมบนของคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA)

เช่นเดียวกับโน้ตบุ๊ก ASUS ตัวอื่นๆ มันก็จะมีแอปชื่อ MyASUS ที่เอาไว้ให้เราใช้ปรับแต่งตัวโน้ตบุ๊กได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงผล ไมโครโฟน ลำโพง การชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ปัจจุบันนี้ ค่ายผู้ผลิตโน้ตบุ๊กเขาก็หันมาให้ความสำคัญของโปรแกรมแนว Utilities ที่ช่วยปรับแต่งโน้ตบุ๊กนี่มากขึ้นครับ ASUS นี่เป็นยี่ห้อแรกๆ ที่ผมเห็นเขาทำเลยแหละ และด้วยโปรแกรม MyASUS นี่ เราก็จะสามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ได้ดังนี้

*️⃣ ตั้งระดับแบตเตอรี่ที่ต้องการชาร์จ ไม่จำเป็นต้องชาร์จเต็ม 100% เพราะการเสียบสายชาร์จค้างเอาไว้ ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมได้ไวขึ้น แต่หากตั้งไว้ที่ซัก 60% หรือ 80% ก็จะช่วยถนอมอายุแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานมากขึ้น

หน้าจอแอป MyASUS ในส่วนของหน้า Home ที่แสดงทางลัดสำหรับการเข้าถึงตัวปรับตั้งค่าต่างๆ และเมนูสำหรับการปรับตั้งค่า

*️⃣ ปรับตั้งการทำงานของพัดลมให้เหมาะสมกับการใช้งาน อยากได้แบบเน้นเงียบๆ เน้นทำงานเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องร้อนเกินไป หรือให้ทำงานแบบปรับความเร็วให้เหมาะสมกับการทำงาน

*️⃣ เปิดปิดฟีเจอร์ AI Noise-cancellation ให้ลำโพงและไมโครโฟนสามารถตัดเสียงรบกวนได้อย่างชาญฉลาด เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่จำเป็นต้องประชุมออนไลน์

*️⃣ การปรับตั้งค่าการทำงานของหน้าจอ ทั้งเรื่องการแสดงผลสี ฟีเจอร์ Target Mode ที่สามารถทำให้หน้าต่างโปรแกรมเฉพาะที่กำลังใช้งานอยู่สว่างขึ้น ในขณะที่หน้าจอส่วนอื่นๆ จะมืดลง ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ได้ ทำให้สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานขึ้น การทำหน้าจอบางส่วนให้มืดลงได้นั้นเป็นอานิสงส์จากการที่ใช้จอ OLED นั่นเอง

*️⃣ เชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ เช่น ScreenXpert ที่ให้เราสามารถ Cast หน้าจอ Desktop ไปยังอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ เพื่อใช้เป็นเหมือนจอเสริมแบบไร้สาย แต่มีค่าบริการแบบ Subscription หากเราต้องการ Cast หน้าจอที่ความละเอียดสูงได้ หรือฟีเจอร์อย่าง Link to MyASUS ที่ให้เราสามารถถ่ายโอนข้อมูลต่างๆ ระหว่างอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาที่ตัวโน้ตบุ๊กได้แบบไร้สาย อ่าน SMS หรือ รับสายจากสมาร์ทโฟนผ่านโน้ตบุ๊กได้เลย … อย่างไรก็ดี ฟีเจอร์คล้ายๆ กันนี้ Microsoft เขามีแอปชื่อ Phone Link ให้ใช้แล้ว แต่ว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง Microsoft กับ Samsung ฟีเจอร์อย่างเช่น การเอาหน้าจอสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต มาแสดงบนตัวคอมพิวเตอร์ หรือการเปิดแอปบนสมาร์ทโฟนจากคอมพิวเตอร์ มันยังใช้ได้กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่รองรับของ Samsung นะ ฉะนั้น การที่ ASUS มี MyASUS ก็จะเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ตรงนี้ได้ อีกอย่างนึงคือ Phone Link ไม่รองรับการถ่ายโอนไฟล์อื่นๆ นะ ทำได้แค่ดูรูปและเซฟรูปจากสมาร์ทโฟนมาที่คอมพิวเตอร์

และมีฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากครับ ต้องไปลองเล่น MyASUS กันเอาเอง เอามาเล่าตรงนี้ เดี๋ยวไม่ได้รีวิวโน้ตบุ๊ก กลายเป็นรีวิวโปรแกรม MyASUS ไปแทน 🤣🤣

สำหรับคนที่วางแผนจะซื้อโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 มาใช้ทำงาน ก็จะขอพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องหน่อย นั่นคือ กล้องเว็บแคม ลำโพง และไมโครโฟนของโน้ตบุ๊กตัวนี้ซักหน่อยครับ ซึ่งอย่างที่ได้บอกตอนพูดถึงสเปกไปแล้ว ว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้มาพร้อมกับเว็บแคมแบบ 720p เท่านั้น ซึ่งก็เรียกว่าเป็นสเปกที่ออกแบบมาสำหรับประชุมออนไลน์แหละ อารมณ์คือ ยังไงซะภาพก็ต้องโดนบีบอัดอยู่แล้ว ไม่ต้องไประดับ 1080p หรอก อะไรแบบนี้

โน้ตบุ๊กสมัยนี้เขาค่อนข้างเน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว เขารู้ว่าผู้ใช้งานกังวลเรื่องโดนผู้ไม่หวังดีแอบมาใช้กล้องเว็บแคมแอบดู หรือแอปหรือโปรแกรมบางตัว แอบเปิดเว็บแคมโดยไม่บอก เขาก็มี Privacy shutter ที่เป็นตัวปิดเลนส์กล้องแบบกายภาพมาให้เลย และยังมีปุ่มปิดการทำงานของกล้องเว็บแคมแบบซอฟต์แวร์อยู่บนคีย์บอร์ดอีกด้วยนะ

คุณภาพของกล้องเว็บแคม 720p ก็ต้องบอกว่าพอใช้ได้แหละครับ ตามจำนวนพิกเซลที่มันมีและขนาดของเซ็นเซอร์ที่ใหญ่มากก็ไม่ได้อีก เพราะจอของโน้ตบุ๊กมันมีความบางค่อนข้างมาก จะยัดโน่นนี่นั่นเข้าไปเยอะๆ ก็ลำบาก ขนาดสมาร์ทโฟนเดี๋ยวนี้ อยากให้ภาพออกมาดูดี เซ็นเซอร์ก็ต้องบะเริ่มมาก แถมโมดูลกล้องก็ปูดมาซะ ใช่ไหมล่ะ

จุดขายอีกอย่างคือ AI Noise-cancellation ของ ASUS ทำงานได้ค่อนข้างดีครับ และมีตัวเลือกให้ใช้เยอะ ทั้งปิดไม่ใช้งาน เปิดใช้แบบทั่วไป คือให้รับเสียงพูดได้จากรอบทิศทางแบบปกติ เปิดใช้แบบพูดประชุมคนเดียว หรือมีผู้ร่วมประชุมด้วยหลายคน ซึ่งหลักการของมันก็คือ ใช้ AI ในการตัดเสียงที่คิดว่าเป็นเสียงรบกวนออกไปครับ โดยมันจะพิจารณาว่ามันใช่เสียงพูดไหม ระยะของเสียงมันไกลไหม เช่น ถ้าผมเซ็ตเป็นประชุมคนเดียวเนี่ย มันก็จะเน้นเสียงของผมที่พูด ซึ่งอยู่ใกล้ และไม่สนเสียงที่อยู่ไกลๆ หรือเสียงที่ไม่ใช่เสียงพูด ดูวิดีโอตัวอย่างภาพจากเว็บแคม และเสียงจาก AI Noise-cancellation ได้ครับ

ข้อจำกัดของ AI Noise-cancellation ก็คือ เนื้อเสียงของเราจะเพี้ยนไปครับ เพราะสัญญาณเสียงบางส่วนมันโดน AI ลบออกไป คือ ยังฟังรู้เรื่อง แต่น้ำเสียงมันเพี้ยนได้ โดยเฉพาะกรณีที่มันมีเสียงรบกวนเยอะๆ อย่างเช่นในวิดีโอด้านบน ผมท้าทาย AI เลย ด้วยการเปิดเพลงคลอครับ ไอ้เสียงดนตรีเนี่ย เดาว่า AI จัดการได้ง่ายๆ แหละ แต่เสียงพูดของมนุษย์ล่ะ เสียงร้องมันก็คือเสียงพูดนะ ปรากฏว่า ถ้าผมเซ็ตเป็นแบบพรีเซ็นต์คนเดียวคือ มันตัดเสียงเพลงออกได้หมดจดจริงๆ แต่น้ำเสียงผมก็จะแอบเหมือนหุ่นยนต์ขึ้น

ลำโพงของตัวเครื่อง ให้เสียงดังดีครับ จูนเสียงมาโดย harman/kardon ก็ให้เสียงที่โอเค จริงๆ ก็ต้องเรียกว่าตอบสนองเสียงในย่านความถี่ต่างๆ ได้ดี แต่ย่านความถี่ต่ำ เพราะข้อจำกัดของตัวลำโพง ก็จะแสดงเสียงเบสออกมาได้ไม่บึกบึนครับ จริงๆ ต้องเรียกว่าถ้าไม่เงี่ยหูตั้งใจฟังให้ดีๆ อาจจะไม่ได้ยินด้วย แต่ถ้าจะเอาไว้ประชุมออนไลน์ หรือเปิดคลิป YouTube ฟัง Podcast ผมว่าสบาย

อีกเรื่องนึงที่ต้องพูดถึงคือ แบตเตอรี่และการชาร์จแบตเตอรี่ ในส่วนของแบตเตอรี่ ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ 63Wh ผมใช้ ASUS ZenBook Duo 14 (UX482) ที่มีแบตเตอรี่ 70Wh แต่มี 1 จอกับอีก 1 ScreenPad เรียกว่า 1.5 จอก็ได้ ใช้งานสองจอพร้อมกัน ก็ทำงานได้แบบสบายๆ 4 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ฉะนั้น ขั้นต่ำๆ ใช้งาน 4 ชั่วโมงคือสบายๆ และอาจจะได้มากกว่านั้นอีก เพราะใช้จอ OLED ที่สามารถทำให้จอบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งานมืดลงได้ (จอภาพคือกินแบตเตอรี่โหดมาก สำหรับเวลาใช้งานโน้ตบุ๊ก) แต่พอพูดถึงการชาร์จแบตเตอรี่ ก็แอบรู้สึกว่าทำไม ASUS เขาไม่ทำ USB-C Power Delivery 100 วัตต์ มาให้เลย จะได้ใช้อะแดปเตอร์แบบ USB-C ได้ และหาซื้อสำรองได้ง่าย เอาไปใช้ชาร์จสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตก็สะดวก เวลาที่ต้องพกไปเดินทาง เรียกว่าเป็นข้อติอันนึง

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA)

ถ้ามีงบประมาณซักสามหมื่นบาท อยากได้โน้ตบุ๊กครบเครื่อง ประสิทธิภาพดี เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ครบเครื่อง จอสีสวย เอาไปทำงานทั่วไปก็ได้ งานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอนิดๆ หน่อยก็โอเค ไม่หนักจนเกินไปสำหรับพกพา ASUS Vivobook Pro 14 OLED (M3401QA) ตัวนี้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจตัวนึงครับ

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กตัวนี้ หากสนใจ ไปดูได้ที่เว็บไซต์ Vivobook Pro 14 OLED (D3401, AMD Ryzen 5000 Series) (asus.com)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า