เห็นวางขายกันเยอะ ก็อยากได้มาใช้มั่ง ก็อยากรู้ว่ามันดีกว่าพัดลมแบบเดิมๆ อย่างยี่ห้อ Hatari ที่เราใช้กันแค่ไหน นอกเหนือไปจากที่มันเป็น IoT (Internet of Things) ที่สามารถสั่งโน่นนี่ได้ผ่านแอป และพวก Voice assistant ต่างๆ เขามีรุ่น Pro และ 3 ออกมาแล้ว ผมก็ไปซื้อ Mi Smart Standing Fan 2 มาใช้ครับ เพราะราคายังพอเป็นมิตรกับเขาอยู่บ้าง คือสองพันกว่าบาท ซื้อมาแล้ว ก็ลองใช้ แล้วเอามารีวิวให้อ่านกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
พัดลม Mi Smart Standing Fan 2 ที่รีวิวงวดนี้คือซื้อมาใช้เองครับ รีวิวกันแบบเปรียบเทียบจากความคาดหวังของผู้ใช้งาน (ตัวผมเอง) เลย
ก่อนอื่นบอกเลยว่า กล่องของพัดลม Mi Smart Standing Fan 2 ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย ส่วนนึงก็เพราะว่ามันถูกออกแบบมาแบบ Minimal มากๆ และสามารถแยกชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาเพื่อใช้ประกอบภายหลังได้อีก และอีกอย่างก็คือ ตัวพัดลมมันแอบเล็กพอสมควรครับ คือ พัดลมที่เราเห็นๆ กัน ตัวเล็กๆ จะมีขนาดหน้าบาน 16 นิ้ว พวกใหญ่ๆ หน่อยก็ 18 นิ้ว แต่เจ้านี่มีขนาดหน้าบาน 13 นิ้วเท่านั้น

แกะกล่องออกมา เราก็จะเห็นมันมีชิ้นส่วนต่างๆ อยู่ในกล่องแบบนี้ครับ คือ ตัวฐานพัดลม ตัวกรอบพัดลมที่ประกอบไปด้วย กรอบหน้า กรอบหลัง และใบพัดลม ตัวคอพัดลมที่แยกเป็นสองชิ้น คือ ชิ้นที่มีมอเตอร์พัดลม กับชิ้นที่เป็นคอเฉยๆ แล้วก็มีถุงใส่คู่มือ สายไฟ AC และตัวล็อกใบพัดลมมาให้
การประกอบคอพัดลมทำได้ไม่ยาก มันมีตัวสลักล็อกและปุ่มสำหรับกดเพื่อคลายล็อกมาให้อย่างดีแล้ว ข้อสังเกตนิดนึงคือ ตัวคอมันจะมีการทำร่องสลักเอาไว้สำหรับเสียบประกบชิ้นส่วนให้พอดี เพราะมันต้องขั้วสำหรับจ่ายไฟด้วยนะ การถอดประกอบคอนี่มีไว้เพื่อกำหนดความสูงของพัดลมครับ คือ เจ้านี่มันสามารถใช้งานได้ 2 ความสูง แต่ในขณะที่พัดลมทั่วไปเขาจะออกแบบมาให้ยืดและหดคอได้ เจ้านี่ออกแบบมาเป็นแบบต้องถอดประกอบคอเอา


ถ้าเราไม่ประกอบคอให้สูง เราจะได้พัดลมแบบตั้งพื้นความสูง 60 เซ็นติเมตร แต่ถ้าเราประกอบคอเข้าไปหมด ก็จะได้ความสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเอาจริงๆ ก็เรียกว่าสูงพอๆ กับพัดลมปกติครับ แต่ว่ามันเพิ่มความสูงมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว


ข้อสังเกตนิดนึงเกี่ยวกับตัวพัดลม Mi Smart Standing Fan 2 จากผมก็คือ วัสดุที่นำมาใช้เป็นพลาสติก มีน้ำหนักเบา แม้จะดูสีขาวเรียบสวยสไตล์ Minimal แต่มันก็จะดูก๊องแก๊งนิดนึง และการประกอบคอเนี่ย ดูแล้วมันจะไม่แน่นหนามาก ถ้าเราเอามือไปจับแล้วลองโยกดู จะเห็นได้ว่าตรงช่องระหว่างคอกับฐานพัดลม มันมีพื้นที่ให้ตัวได้หน่อยนึง คอก็จะโยกเยกๆ ได้นิดหน่อย






การใส่ตะแกรงพัดลมและใบพัดลมของพัดลม Mi Smart Standing Fan 2 ทำได้ไม่ยากครับ ต่อให้ไม่มีคู่มือก็พอทำเองได้ เพราะค่อนข้างตรงไปตรงมา และคล้ายๆ กับการประกอบใบพัดลมของพัดลมทั่วๆ ไป ข้อสังเกตคือ ใบพัดลมมันจะดูดีไซน์แปลกตา เพราะมีใบ 2 ชุด คือ ชุดด้านในจะเป็นใบ 5 แฉกเหมือนพัดลมปกติ แต่พอเป็นด้านนอก มันกลับเป็นใบ 7 แฉก ซึ่งทาง Xiaomi บอกว่ามันดีไซน์เพื่อให้เพิ่มการไหลเวียนของอากาศ ให้กระแสลมเป็นสามมิติ มีความอ่อนโยนมากขึ้น ว่าเข้าไปนั่น


ที่แปลกใจอีกอย่างคือ ตอนที่เห็นในซองพลาสติกที่แถมมา มันมีน็อตกะประแจแบบ 4 แฉกมาให้ด้วย ก็งงว่าอะไร เอามาทำไม เพราะเท่าที่ลองประกอบ มันก็ไม่มีอะไรที่ต้องยึดด้วยน็อตเลยนี่นา แถมน็อตก็อันน้อยมาก ก็ต้องไปอ่านคู่มือดูว่ามันคืออะไรกันแน่ ก็บางอ้อว่า มันเอาไว้ยึดอิตะแกรงพัดลมครับ คือ ถ้าเป็นพัดลมทั่วไป มันจะมีตัวล็อก แต่อันนี้ต้องขันน็อตยึดครับ จริงๆ จะไม่ขันก็ได้นะ เพราะตะแกรงมันก็มันสลักล็อกประมาณนึงอยู่แล้ว แต่เขาให้มาแล้วก็ขันๆ ไปเหอะ แต่ดีไซน์แบบนี้ผมไม่ชอบ เพราะการขันน็อตทำให้ถอดตะแกรงออกมาทำความสะอาดยากขึ้นไปอีก เพราะต้องใช้เครื่องมือมาขันน็อตออก ใครขยันทำความสะอาด แต่ขี้เกียจขันน็อต ไม่ต้องใส่ก็ได้นะ

การสั่งงาน ถ้าจะเอาแบบละเอียด แนะนำให้ดาวน์โหลดแอป Mi Home มาใช้ครับ ตั้งค่าการเชื่อมต่อไม่ยาก เอาแบบง่ายสุดก็คือ ต่อเข้า WiFi ของตัวพัดลมก่อน จากนั้นก็เลือกว่าจะเพิ่ม Mi Smart Standing Fan 2 เข้ามา แล้วเลือก Connect manually กับเลือก SSID และรหัสผ่านของ WiFi บ้านเรา เดี๋ยวมันก็จะ Detect ตัวพัดลมเจอมันจะเชื่อมต่อได้เอง
แอปนี้จะทำให้เราสามารถสั่งเปิด-ปิดพัดลมได้ เลือกระดับแรงลมได้ 100 ระดับ (ใช่ครับ อ่านไม่ผิด เลือกได้ 100 ระดับ) เพราะมันเป็นมอเตอร์แบบ DC ทำให้ปรับระดับความเร็วในการหมุนได้ละเอียดสุดๆ แต่สำหรับคนที่ชอบการปรับแบบเบอร์ 1-2-3-4 แบบพัดลมดั้งเดิม ก็ดูในแอปครับ Level 1 จะความเร็วระดับ 1 ส่วน Level 2 ความเร็วก็จะอยู่ที่ 35 ถ้าเป็น Level 3 ก็จะ 70 และสุดท้าย Level 4 คือ เต็ม 100 เลย
นอกจากนี้ ฟีเจอร์อื่นๆ ที่เราใช้งานจากแอปได้ก็คือ
💨 ปรับลักษณะของแรงลม เป็นแบบ Direct breeze หรือ ลมเป่าแบบดั้งเดิม ออกมาตรงๆ แรงสม่ำเสมอตามที่ตั้งไว้ หรือ Natural breeze ที่จะเป่าลมออกมาแรงค่อย สลับกันไป เหมือนลมธรรมชาติ
💨 สั่งงานให้พัดลมหมุนซ้ายหรือขวา หรือส่ายไปมาได้ (Oscillation)
💨 ตั้งดีเลย์ตอนปิด
💨 ล็อกปุ่มกันเด็กเผลอไปกดปุ่มเล่น
💨 อัปเดตเฟิร์มแวร์ของพัดลม
💨 ตั้งเวลาเปิด-ปิด ของพัดลม โดยเลือกได้ว่าจะเปิดตอนกี่โมง ปิดตอนกี่โมง ของวันไหนของสัปดาห์บ้าง
💨 ตั้งค่าทำงานอัตโนมัติแบบ If-then ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์เวลาที่เรามีอุปกรณ์อื่นๆ ของ Mi อยู่ด้วย เช่น ถ้าเซ็นเซอร์อุณหภูมิบอกว่าอุณหภูมิสูงเกินที่ตั้งไว้ ให้เปิดพัดลม เป็นต้น
นอกจากนี้ ก็ยังสามารถสั่งงานพัดลมได้จากปุ่มที่อยู่ตรงด้านหลังของตัวพัดลมอีกด้วย โดยจะมีปุ่มแบบในรูปด้านล่าง อธิบายว่าปุ่มไหนทำอะไรได้บ้าง จากซ้ายไปขวาดังนี้ ปุ่มตั้งเวลา ปุ่มปรับการส่ายของพัดลม ปุ่มปรับแรงพัดลมและโหมดการทำงานของพัดลม และสุดท้ายคือปุ่มเปิดปิดพัดลม นอกจากนี้ ก็ยังเห็นไฟ LED สำหรับแสดงสถานะการทำงานของพัดลม โหมดการทำงานของพัดลม การเชื่อมต่อ WiFi และความแรงของพัดลมด้วย

มาพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานจริงบ้างครับ ผมขอสรุปออกมาแบบนี้
😊 ดีไซน์ Minimal สำหรับคนชอบแต่งบ้านสไตล์นี้ คือ น่าจะเหมาะ ขนาดพัดลมไม่ใหญ่ ไม่กินที่มากด้วย เรียกว่าโอเค
😊 สั่งงานผ่านแอปได้ มีฟีเจอร์ให้เล่นเยอะ กินไฟต่ำ เขาว่าแค่ 15 วัตต์ แต่พอดีผมไม่มีอุปกรณ์วัด เลยไม่สามารถยืนยันผลได้ครับ ต้องขออภัย
🤔 การปรับส่ายของพัดลม ทำได้สูงสุด 140 องศา แต่เพราะเป็นการสั่งงานจากแอป มันก็จะปรับละเอียดได้ไม่เท่ากับพัดลมแบบดั้งเดิม ที่อยากให้มันหยุดสายเมื่อไหร่ก็ดึงสลักขึ้น แต่มันก็สะดวกดีตรงที่ไม่ต้องเดินไปปรับ
🤔 ปรับก้มเงยได้แค่ 39 องศา ไม่เยอะเท่าไหร่ ยังดีที่ปกติผมไม่ได้ปรับก้มเงยซักเท่าไหร่
🤔 แรงลมไม่ได้แรงแบบที่โม้ ที่บอกว่าอะไรนะ ไปได้ไกลสุด 14 เมตร อะไรแบบนี้ ในมุมของผม บอกเลย ระยะหวังผลคือประมาณ 1-1.5 เมตร และอาจจะต้องเปิดระดับ 3 หรือระดับ 4 เท่านั้น ระดับต่ำกว่านั้น ไม่ค่อยมีประโยชน์ ถ้ากะจะเปิดพัดลมเพื่อคลายร้อน ผมกับภรรยามีความเห็นตรงกันว่า มันเหมาะสำหรับ “ช่วยระบายอากาศ” มากกว่า “คลายร้อน” คือ เปิดแอร์ไม่ต้องเย็นมาก แล้วใช้เจ้านี่ช่วยเป่า แบบนี้โอเค
😡 ดีไซน์ให้ปรับสูงต่ำด้วยการถอดชิ้นส่วนคอพัดลมออก ทำให้ปรับได้แค่ 2 ระดับ และแม้ว่าจะถอดหรือประกอบไม่ยาก แต่มันยุ่งยากตอนที่จะต้องไปหยิบมาประกอบ หรือถอดไปเก็บ
😡 เสียงพัดลมดังกว่าที่คิด คือ ถ้าเปิดแค่ไม่เกินระดับ 3 ก็จะเสียงไม่ดังมาก แต่พอถึงระดับ 4 ปุ๊บ เสียงดังเลย ไม่ได้ดังจากมอเตอร์นะ แต่ดังจากการที่ลมมันพุ่งออกมา ผมลองวัดด้วยเครื่องวัดความดังเสียงได้สูงสุดกว่า 70dBA เลยครับ ถ้าไปวัดใกล้ๆ กับตัวพัดลม (ในสเปกบอกไม่เกิน 50dBA ไม่รู้ว่ามันวัดจากตรงไหน) แต่เอาเป็นว่า ถ้าจะนอนแล้วเปิดพัดลมตัวนี้แบบระดับ 4 น่าจะรำคาญเสียงลมจนนอนไม่หลับกันบ้างล่ะ
บทสรุปการรีวิวพัดลม Mi Smart Standing Fan 2
บอกเลย ราคา 2,177 บาท ไม่ได้ถูกเลยนะ มันแพงเพราะเทคโนโลยี ความเป็น IoT อะไรแบบนี้ แต่ตัวพัดลม มันก็อย่างที่ผมบอก คือ เหมาะเอามาใช้ช่วยระบายอากาศ เอามาเปิดคู่กับแอร์เพื่อให้ประหยัดพลังงาน เพราะการใช้พัดลมช่วยกระจายความเย็นจะช่วยประหยัดพลังงานของแอร์ แต่ถ้าหน้าร้อน อยากได้พัดลมเอามาเป่าคลายร้อน นี่ไม่น่าจะใช่คำตอบ ยกเว้น คุณจะเอามาใช้เพื่อการส่วนตัว เป่าระยะประชิด 1-1.5 เมตร เปิดแรงสุด ทนฟังเสียงลมหน่อย
ถ้าอยากคลายร้อน แต่อยากสั่งเปิดปิดผ่านแอปได้ ตั้งเวลาเปิดปิดได้ ผมว่าใช้พัดลม Hatari รุ่นธรรมดาๆ นี่พันต้นๆ เอง ได้ลมแรงกว่าเยอะ แล้วเอามาใช้คู่กับ Smart plug ครับ เปิดพัดลมเบอร์ที่ต้องการทิ้งเอาไว้ แล้วเปิดปิดปลั๊กผ่านอิ Smart plug นี่ก็โอเคเช่นกัน ผมก็ใช้แบบนั้นอยู่กับพัดลมตัวนึงที่บ้าน