ในยุคที่การประชุมออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับทุกคน ภาคธุรกิจที่กำลังมองหาโซลูชันการประชุมออนไลน์ที่ให้ความละเอียดสูง พร้อมร่วมประชุมออนไลน์บนแพลตฟอร์มยอดนิยมต่างๆ อาทิ Zoom, Skype, Microsoft Teams, Cisco Webex และ Google Meet ได้ สามารถมอง QNAP KoiBox-100W นี่เป็นตัวเลือกดูได้ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
QNAP KoiBox-100W ที่พูดถึงในบล็อกตอนนี้ ได้ความเอื้อเฟื้อจากทาง QNAP Thailand ให้ยืมมาแบบครบเซ็ตเต็มเหนี่ยวเลยครับ
ถ้าเอาเฉพาะแพ็กเกจของ QNAP KoiBox-100W เลยเนี่ย ภายในกล่องก็จะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง QNAP KoiBox-100W ที่จะมีอะแดปเตอร์ 36 วัตต์มาให้ พร้อมกับตัวรีโมตคอนโทรล และสาย LAN ที่ผมเดาว่าน่าจะเป็น Cat 5e มาให้อีกเส้นนึง เพราะตามสเปกแล้ว พอร์ต LAN ของเจ้านี่เป็นแบบ Gigabit LAN ครับ

ตัวเครื่อง QNAP KoiBox-100W มีลักษณะเป็นกล่องสีเทาดำ มีขนาดประมาณพวก Set top box ของทรูวิชันส์ ประมาณนั้นเลย ตัวบอดี้ทำจากพลาสติก ทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างเบาครับ บนตัวเครื่องเห็นสติกเกอร์แปะเอาไว้ว่า Intel Celeron โดยสเปกของเจ้านี่คือใช้หน่วยประมวลผลเป็น Intel Celeron แบบ Dual-core 1.8GHz ไม่ระบุว่าเป็นรหัสไหนอย่างไร


ด้านหน้าของตัวเครื่อง เป็นแบบเรียบง่าย มีไฟ LED สำหรับแสดงสถานะ และมีปุ่มกดสำหรับเปิดและปิดการพักหน้าจอ คือ มันไม่ได้ปิดเครื่องนะ มันแค่พักหน้าจอไป คล้ายๆ ปุ่มเปิดปิดจอทีวีบนรีโมตคอนโทรลครับ
ส่วนด้านหลังของตัวเครื่อง เราจะเห็นพอร์ตการเชื่อมต่อเพียบเลยครับ ประกอบไปด้วยช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC พอร์ต HDMI 1.4b พอร์ต USB-A 4 พอร์ต ที่เป็นมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) พอร์ต RJ45 รองรับ Gigabit LAN รูสำหรับจิ้มเพื่อรีเซ็ตเครื่อง และสล็อตตัวล็อก Kensington เผื่อใครต้องการล็อกเครื่องเอาไว้กันมีคนแอบมาอุ้มไป


เราสามารถเปิดฝาครอบตัวเครื่องออกมาได้ไม่ยาก ใช้แค่ไขควงหรือเอาเหรียญบาทมาไขก็ได้ครับ ด้วยดีไซน์หัวน็อตที่ทำให้ไม่ต้องง้อเครื่องมือมาก ถามว่าทำไมเราต้องเปิดฝาครอบตัวเครื่องออกมา? นั่นก็เพราะว่า QNAP KoiBox-100W นั้นมาพร้อมกับ SSD แบบ M.2 2242 ความจุจุ๋มจิ๋ม 30GB ที่เป็นแฟลชเมมโมรีเอาไว้เก็บพวกระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ใดๆ ที่ให้มาเป็น Default แต่เราสามารถเพิ่มความจุให้กับตัวเครื่องได้ ผ่าน SSD แบบ SATAIII 2.5″ ซึ่งเราจะเพิ่มความจุเอาไว้ก็เพื่อให้เราสามารถบันทึกการประชุมได้ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ รวมถึงไฟล์ต่างๆ ในห้องแชทของการประชุม
⚠️ ในการลองใช้ของผมงวดนี้ ไม่ได้ใส่ SSD เพื่อบันทึกข้อมูลใดๆ นะครับ ผมขี้เกียจไปฟอร์แมต SSD เอามาใส่ เพราะที่ผมใช้งานอยู่มันมีข้อมูลเก็บเอาไว้อยู่เยอะง่ะ

การใช้งาน QNAP KoiBox-100W โดยพื้นฐานก็จะคล้ายๆ กับโซลูชันการประชุมออนไลน์อื่นๆ คือ มันก็จะเชื่อมต่อกับจอทีวีเพื่อแสดงผล และควบคุมผ่านรีโมตคอนโทรลที่แถมมาให้ หรือใครจะเสียบคีย์บอร์ดและเมาส์เพิ่ม เพื่อใช้งานก็ได้ ซึ่งผมแนะนำวิธีหลังมากกว่า เพราะสะดวกดี เนื่องจากตัวรีโมตคอนโทรลจะไม่สามารถสั่งงานได้เต็ม 100%
ด้วยความที่ QNAP KoiBox-100W มีตัวเลือกการเชื่อมต่อทั้งผ่าน Gigabit LAN และ Wireless LAN โดยรองรับ WiFi 6 AX201 ด้วย ทำให้หมดห่วงเรื่องการนำไปใช้งาน และเรื่องแบนด์วิธครับ คือ ด้วยมาตรฐานแล้ว เหลือเฟือเลยสำหรับการใช้ประชุมออนไลน์ ที่เหลือก็แค่ว่าระบบเน็ตเวิร์กเราวางเอาไว้ให้สามารถใช้แบนด์วิธได้เต็มที่จริงไหมเท่านั้นแหละ ถ้าต้องการความเสถียรสูงสุด ก็เสียบสาย LAN ซะ แต่ถ้าไม่สะดวกลากสาย LAN ก็ใช้ Wireless LAN ได้เช่นกัน

การใช้งาน QNAP KoiBox-100W นั้น โดยหลักๆ ทำได้สองแบบครับ คือ ใช้งานภายใต้แพลตฟอร์ม KoiMeeter ซึ่งก็เป็นแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์เหมือนๆ พวก Zoom กับ Microsoft Teams นั่นแหละ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KoiMeeter นี่ สามารถไปดูได้จากเว็บของ QNAP เองครับ แต่แพลตฟอร์มนี้ก็จะเหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ นะ คือ มีแบบให้ใช้ฟรี ภายใต้ฟีเจอร์ที่จำกัด และมีแบบที่เสียค่าบริการเดือนละ $1.99 ต่อ 1 ผู้ใช้งาน ซึ่งถือว่าไม่แพง (Microsoft Teams ค่าบริการเบื้องต้น $2.00 ต่อ 1 ผู้ใช้งาน แม้จะไม่จำกัดระยะเวลาที่ใช้ประชุมต่อครั้ง แต่จำกัดระยะเวลาประชุมที่เซ็ตอัพรวมไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อเดือน)

อีกแบบนึงก็คือ การเข้าไป Join meeting บนแพลตฟอร์มอื่นๆ เลย เช่น Zoom และ Microsoft Teams เป็นต้น ซึ่งเราสามารถเลือกเข้าได้ผ่านตัวเลือก Cloud meeting ครับ แล้วก็เลือกแพลตฟอร์มที่เราต้องการจะเข้าร่วม ซึ่งการที่ QNAP KoiBox-100W สามารถเข้าร่วมประชุมออนไลน์กับพวกแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้นั้นก็เป็นเพราะมันมีเบราว์เซอร์ Google Chrome ติดตั้งไว้ในตัวนั่นเอง
เอาจริงๆ จุดขายของ QNAP KoiBox-100W นี่ก็คือตัวแพลตฟอร์ม KoiMeeter นี่แหละครับ เพราะมันรองรับแบบ 100% จากตัวฮาร์ดแวร์เลย และรองรับการเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัว QNAP KoiBox-100W ตัวอื่น, QNAP NAS ที่มีการติดตั้งแอป KoiMeeter (ต้องเป็นรุ่นที่รองรับ ซึ่งดูได้จากเว็บไซต์ QNAP) ตลอดไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ติดตั้งแอป KoiMeeter ด้วย

ถ้าอยากจะใช้ QNAP KoiBox-100W ให้เต็มรูปแบบ ก็ควรจะมีการเสียบอุปกรณ์เสริม ได้แก่ตัวกล้องเว็บแคม และชุดลำโพงพร้อมไมค์ด้วยนะครับ ทาง QNAP เขาส่งมาให้ผม เป็นแบบไฮโซนิดๆ ก็คือกล้องเว็บแคม Logitech Brio 4K กับชุดลำโพงพร้อมไมค์สำหรับการประชุมออนไลน์ Jabra Speak 510 ก็เสียบกับพอร์ต USB-A ที่มีมาให้กับกล่องนั่นแหละ

การโทรหาอุปกรณ์กันเอง ก็ใช้สิ่งที่เรียกว่า KoiCode ซึ่งก็คือตัวเลขที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กับเบอร์โทรศัพท์ของเรานั่นแหละครับ แค่กรอกเลขนี้แล้วโทรออก ก็เป็นอันเรียบร้อย ในด้านคุณภาพของภาพที่ได้ ก็บอกได้เลยว่าสูงสุดคือระดับ 4K แต่ว่าจะได้จริงแค่ไหนนั้น ก็อยู่ที่แบนด์วิธของระบบเครือข่ายที่เราใช้เชื่อมต่ออยู่ด้วยเป็นหลัก

ในกรณีที่เราประชุมผ่านตัว QNAP KoiBox-100W นั้น มีอีกฟีเจอร์นึงที่น่าสนใจคือ หากเราใช้เบราว์เซอร์ แล้วเปิด IP address ของตัว QNAP KoiBox-100W ขึ้นมา หรือเข้าถึงตัว QNAP KoiBox-100W ผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต มันก็จะเข้าสู่แพลตฟอร์ม KoiMeeter แล้วให้เราเลือกบทบาทของเรา ซึ่งมีให้เลือก 3 บทบาท คือ
🟢 Meeting Presenters ที่ให้เราสามารถเลือกแชร์หน้าจอจากคอมพิวเตอร์ของเราไปแสดงบนตัว QNAP KoiBox-100W ได้ และผู้ร่วมประชุมคนอื่นๆ ก็จะสามารถเห็นได้ด้วยเช่นกัน
🟢 Meeting Attendees เป็นฟีเจอร์ที่สะดวกมาก คือ มันจะเอาภาพจากหน้าจอบนเครื่อง QNAP KoiBox-100W มาแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ของเราเลย ซึ่งทำให้สะดวกเวลาที่ประชุม เพราะบ่อยครั้ง แม้ว่าเราจะมีจอทีวีใหญ่ๆ ไว้แสดงพวกไฟล์นำเสนองานที่ผู้ร่วมประชุมคนอื่นๆ แชร์ให้ดู แต่ตำแหน่งที่นั่งของเราอาจจะไกลไป หรืออาจจะถูกใครบังอยู่ แต่ด้วยฟีเจอร์นี้ ภาพมันจะมาปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ของเราเลย
🟢 Access Cloud Meeting เอาไว้อำนวยความสะดวกเวลาที่เราจะล็อกอินเข้าการประชุมผ่าน Meeting invitation link หรือพวก Meeting ID ที่เราอาจจะได้มาจากอีเมล ซึ่งทำให้เราป้อนข้อมูลพวกนั้นผ่านคอมพิวเตอร์ได้เลย
อย่างไรก็ดี ใครที่จะใช้ QNAP KoiBox-100W ต้องเข้าใจก่อนว่า มันเหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นโซลูชันสำหรับการประชุมออนไลน์ภายในห้องประชุมหรือห้องทำงาน มากกว่าการจะใช้ในพื้นที่ส่วนตัวเช่น ห้องรับแขกหรือห้องนอนนะครับ โดยเฉพาะหากเราต้องการจะเปิดกล้อง เพราะมันไม่ได้มีฟีเจอร์ในการเบลอแบ็กกราวด์เหมือนกับการประชุมออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์หรือพวกสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อะไรพวกนั้นนะครับ ความเป็นส่วนตัวมันจะต่ำกว่า
จุดเด่นอีกเรื่องของ QNAP KoiBox-100W ก็คือ มันรองรับระบบ SIP (System Initiation Protocol) ด้วย ดังนั้นพวกอุปกรณ์ในระบบนี้ก็จะสามารถเชื่อมต่อเข้ามาเพื่อร่วมประชุมได้ด้วยนั่นเอง
สำหรับการประยุกต์ใช้งานนั้น ทาง QNAP อธิบายเอาไว้ว่า QNAP KoiBox-100W นั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้ดังนี้
🟢 ประชุมออนไลน์แบบมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นหมู่คณะ เช่น ใช้ในห้องประชุมขนาดเล็กหรือขนาดกลาง มีกล้องเว็บแคมที่สามารถเก็บภาพทั้งห้องเอาไว้ได้ จุดเด่นของ QNAP KoiBox-100W นี่ก็คือ การที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแคสต์ภาพหน้าจอขึ้นไปที่ QNAP KoiBox-100W ได้ หรือในกรณีที่กำลังดูการนำเสนออยู่ ก็สามารถเอาภาพจาก QNAP KoiBox-100W มาแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ของผู้เข้าประชุมได้ ดังนั้นจะประชุมหรือจะฝึกอบรมก็เหมาะทีเดียว
🟢 ประชุมออนไลน์ผ่านอุปกรณ์พกพา ทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้แอป KoiMeeter โทรเข้ามาที่ QNAP KoiBox-100W ที่อยู่ในห้องประชุมนั่นแหละ
🟢 อาจารย์ก็สามารถนำเสนอเอกสารประกอบการสอนไปยังหน้าจอทีวีหรือโปรเจ็กเตอร์ได้แบบไร้สาย และแน่นอน นักเรียนนักศึกษาก็สามารถเปิดเบราว์เซอร์เพื่อดูการนำเสนอผ่าน QNAP KoiBox-100W บนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์พกพาเช่น สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตัวเองได้ด้วย
🟢 เรียนออนไลน์หรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัว ถ้าซื้อ QNAP KoiBox-100W เพื่อการทำงานแล้ว อยากใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ก็เอาไปให้ลูกๆ ใช้เข้าเรียนออนไลน์ด้วยก็ได้นะ เพราะอย่างที่บอก มันรองรับทั้ง Zoom และ Microsoft Teams ที่เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมอยู่แล้ว และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงผ่านเบราว์เซอร์ได้ เจ้านี่ก็รองรับด้วยเช่นกัน และด้วยความที่มันสามารถแคสต์หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ขึ้นบนจอทีวีหรือโปรเจ็กเตอร์ที่เชื่อมต่อกับ QNAP KoiBox-100W ได้ เราก็สามารถแคสต์พวกหนังหรือซีรีส์ขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน

สนนราคาของ QNAP KoiBox-100W คือ 25,900 บาท ยังไม่รวมกล้องเว็บแคมและชุดลำโพงพร้อมไมโครโฟนนะครับ ถ้าซื้อครบเซ็ต เอากล้องดีๆ บวกลำโพงพร้อมไมโครโฟนดีๆ กับชุดคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สาย ก็อาจจะตกราวๆ 30,000 – 35,000 บาท แล้วแต่ว่าจะเลือกสเปกไหนยังไง ตัว QNAP KoiBox-100W รองรับบลูทูธ 5.2 ด้วย ฉะนั้น หากต้องเชื่อมต่อกับลำโพง หรือชุดลำโพงพร้อมไมโครโฟน ก็สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สาย ใครที่ต้องการประชุมแบบเป็นส่วนตัวหน่อย จะใช้ชุดหูฟังพร้อมไมโครโฟนแบบไร้สายก็ได้เช่นเดียวกัน